เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

รู้จักอาหารโบราณ ผ่านหนังสือที่ควรมีไว้ในชั้นหนังสือทุกบ้าน

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

อยากรู้จักอาหารโบราณ ผ่านหนังสือที่ไม่ใช่ตำราอาหาร อ่านเล่มไหนดี?

เมื่อพูดถึงหนังสืออาหาร ใครต่อใครก็พากันนึกถึงตำราอาหาร หนังสือสูตรอาหารไปเสียหมด ทั้งที่ที่จริงแล้วหนังสืออื่นๆ ทั้งสารคดีและเรื่องแต่งก็เก็บรายละเอียดเรื่องอาหารไว้มากมายไม่แพ้กัน แถมหนังสือที่เป็นบันทึก เป็นนวนิยายเหล่านี้ยังอ่านเพลิน อ่านง่าย หยิบมาอ่านได้ตลอดไม่ว่าจะเป็นคนก้นครัวหรือเป็นแค่นักกินธรรมดาๆ เพราะเรื่องราวของอาหารที่สอดแทรกอยู่ในแต่ละหน้าล้วนชวนอ่าน ชวนกิน และชวนทำไม่แพ้ตำราอาหารเล่มไหนๆ

 

 

 

 

อ้อ ระหว่างอ่านหนังสือในลิสต์ที่แนะนำนี้ อย่าลืมเตรียมขนมนมเนยไว้ใกล้มืออย่าให้ขาด เพราะรับรองว่านอกจากจะได้ความรู้เรื่องอาหารแล้ว เรายังจะได้ความหิวมาเป็นของแถมด้วยแน่นอน

 

 

 

 

เตือนแล้วนะ!

 

 

 

 

ชีวิตในวัง (ม.ล. เนื่อง นิลรัตน์)
สำนักพิมพ์แจ่มใส

 

 

 

 

 

 

 

 

‘ชีวิตในวัง’ เป็นผลงานการเขียนของหม่อมหลวงเนื่องที่เล่าถึงชีวิตในวังตามชื่อ ความพิเศษของบันทึกนี้มี 2 ประการ ก็คือ หนึ่ง วังที่ว่านี้ได้แก่วังสวนสุนันทา ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาในปัจจุบัน และสอง นี่เป็นการเขียนบันทึกเมื่ออายุมากแล้ว มุมมองของการเขียนจึงเป็นการย้อนมองไปยังอดีตของตัวเอง ของวัง และของอาหารในความทรงจำ

 

 

 

 

หม่อมหลวงเนื่องถูกถวายเข้าวังตั้งแต่เด็ก เพราะท่านย่าหรือคุณย่าของหม่อมหลวงเครื่องทรงเป็นหัวหน้าห้องเครื่อง (ครัว) เมื่อถวายเข้าวังแล้วชีวิตตั้งแต่เด็กจนโตจึงคลุกคลีอยู่กับอาหารชาววังไม่มีขาด จึงสะสมองค์ความรู้นี้ไว้มากที่สุดอีกคนหนึ่ง

 

 

 

 

หม่อมหลวงเนื่องเริ่มเขียนหนังสือเมื่ออายุย่างเข้าเลขเจ็ด โดยมีผลงานตีพิมพ์อย่างเป็นทางการครั้งแรกลงนิตยสารต่างๆ ในยุคนิตยสารผู้หญิงยังเฟื่องฟู (ช่วงพ.ศ. 2528) โดยใช้ชื่อคอลัมน์ว่า ‘ชีวิตในวัง’ เป็นไปได้ว่าข้อเขียนของหม่อมหลวงเนื่องนี่แหละที่ทำให้อาหารการกินอย่างชาววังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง จากเดิมที่เป็นความรู้ซึ่งจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เท่านั้น

 

 

 

 

หนังสือ ‘ชีวิตในวัง’ ไม่ได้มีสูตรอาหารเป็นแกนหลัก ดแต่ก็การพูดถึงอาหารนานาเมนูอยู่แทบจะทุกหน้า ไม่ว่าจะเป็นปลาทูต้มเค็ม เมี่ยงลาว แสร้งว่ากุ้ง ฯลฯ รับรองจะต้องถูกใจคนรักอาหารไทยโบราณอย่างแน่นอน

 

 

 

 

นอกเหนือจากชีวิตในวังแล้ว หม่อมหล่วงเนื่องยังใช้บั้นปลายชีวิตเขียนหนังสืออย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นซีรีส์ ‘ชีวิตนอกวัง’ จำนวน 17 เล่ม ให้ได้ตามอ่านกันอย่างจุใจ

 

 

 

 

เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก (ทิพย์วาณี สนิทวงศ์ฯ)
สำนักพิมพ์บูรพาสาสน์

 

 

 

 

 

 

 

 

อีกหนึ่งหนังสือดีที่ควรมีติดบ้าน ไม่ว่าจะชอบทำอาหารหรือไม่ ก็คือ ‘เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก’ หนังสือเล่มบาง ชุด 4 เล่ม ผลงานการบันทึกของ คุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ

 

 

 

 

หนังสือเซ็ตนี้ก็เป็นงานเขียนอีกชิ้นหนึ่งที่เริ่มเขียนตอนอายุมาก จึงเป็นการเล่าย้อนอดีตด้วยสายตาและน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความคำนึงหา

 

 

 

 

ชีวิตวัยเยาว์ของคุณทิพย์วาณีอาศัยอยู่บ้านเจ้าคุณปู่พร้อมกับพี่น้องอีกหลายคน เมื่อเย็นย่ำลงมาเด็กๆ ก็จะรวมตัวกันไปขอให้ผู้ใหญ่ในบ้านเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ฟัง คำว่า ‘เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก’ จึงไม่ได้หมายถึงเมื่อคุณทิพย์วาณียังเด็ก แต่หมายถึงเมื่อเจ้าคุณปู่ คุณลุง คุณป้า และผู้ใหญ่ในบ้านยังเด็ก เรื่องเล่าในเล่มนี้จึงเล่าย้อนไปไกลหลายสิบปี แม้จะไม่ได้มีโวหารฉวัดเฉวียนอย่างนักเขียนอาชีพ แต่หนังสือเซ็ตนี้ก็ยังมีคุณค่ามหาศาลเพราะมันบันทึกเรื่องราวในอดีตไว้ผ่านปากคำของลูกหลานผู้เล่าโดยตรงนั้นเอง

 

 

 

 

เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็กเป็นหนังสืออ่านง่าย เพราะเขียนขึ้นมาโดยใช้แนวคิดแบบเดียวกันกับหนังสือสำหรับเด็กของฝรั่ง ซึ่งเป็นหนังสือที่คุณทิพย์วาณีชื่นชอบ มันจึงเล่าเรื่องโบร่ำโบราณด้วยภาษาง่ายๆ เหมาะกับ ‘สตรีสาร’ ซึ่งเป็นปลายทางที่ตีพิมพ์ในตอนนั้น และภายหลังเมื่อถูกหยิบมารวมเล่ม หนังสือเซ็ตนี้จึงเหมาะกับเด็กนักเรียน นักศึกษา จนได้ชื่อว่าเป็น ‘1 ใน วรรณกรรม 50 เรื่องที่ต้องอ่านก่อนโต’

 

 

 

 

แม้ว่า ‘เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก’ จะไม่ได้มีเรื่องอาหารมากเท่า ‘ชีวิตในวัง’ แต่ก็เป็นความเพลิดเพลินที่ชวนหิวเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเมนู น้ำข้าวตัง ข้าวคลุก เมี่ยงคำ ฯลฯ จึงนับว่าหากใครที่สนใจเรื่องชีวิตครอบครัวและชีวิตการครัวในยุครัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ควรมีหนังสือเซ็ตนี้ติดบ้านไว้เหมือนกัน

 

 

 

 

สี่แผ่นดิน (หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช)
สำนักพิมพ์ชัยฤทธิ์ (พิมพ์ครั้งแรก)

 

 

 

 

 

 

 

 

สี่แผ่นดินเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่น่าจะโด่งดังที่สุดในประเทศไทยอีกเรื่องหนึ่ง นอกจากนิยายแล้ว ตัวมันเองยังถูกดัดแปลงให้เป็นทั้งบทละคร ละครเวที ฯลฯ อีกมากมาย ผลงานการประพันธ์ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ทำงานได้ดีเสมอกับความนิยมอย่างคนไทย “แม่พลอย” จึงกลายเป็นตัวละครขวัญใจที่เราต่างต้องเอาใจช่วยให้เธอมีชีวิตที่ดีกันทั้งนั้น

 

 

 

 

นอกจากแง่มุมในด้านประวัติศาสตร์และการเมืองตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 แล้วที่ถ่ายทอดไว้อย่างเข้มข้นแล้ว สิ่งที่มีเสน่ห์ไม่แพ้กันก็คือวิถีชีวิตของชาววังที่ถูกเล่าไว้โดยละเอียด แน่นอนว่าเรื่องอาหารการกินก็มีอยู่ไม่น้อย อย่างการเจียนหมากจีบพลู ขนมจันอับ ไข่แมงดาทะเลเคลือบน้ำตาล หรือแม้กระทั่งแรกเริ่มมีน้ำแข็งในประเทศไทย ตัวละครอย่างแม่พลอยก็ได้เล่าไว้อย่างครบถ้วนและน่าตื่นเต้น

 

 

 

 

แม้จะมีข้อวิจารณ์เช่นว่า ผู้แต่งนั้นเป็นชาย ไม่ได้ใช้ชีวิตในวังอย่างแม่พลอย จึงเป็นไปได้ว่าภาพทั้งหมดคือการเล่าเรื่องจากเรื่องเล่าของผู้อื่นอีกที แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสำบัดสำนวนและความสามารถของหม่อมราชวงคึกฤทธิ์ก็เสกสร้างแม่พลอยให้มีมิติไม่ต่างจากคนจริงๆ และเสกสร้างอาหารบนหน้ากระดาษให้ชวนหิวได้ไม่ต่างจากอาหารจริงๆ เลยด้วยเช่นกัน

 

 

 

 

เมนูบ้านท้ายวัง และ เงาของเวลา (‘รงค์ วงษ์สวรรค์)
สำนักพิมพ์ สารคดี / The writer’s secret

 

 

 

 

 

 

 

 

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงหนังสืออาหารที่ไม่ใช่ตำราอาหาร เราจะมองข้ามสำนวนเพรียวนมของพญาอินทรีย์อย่าง ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ไปไม่ได้ โดยเฉพาะอัตชีวประวัติ 2 เล่มอย่าง ‘เมนูบ้านท้ายวัง’ และ ‘เงาของเวลา’

 

 

 

 

ชื่อว่า ‘เมนูบ้านท้ายวัง’ ก็ย่อมจะเข้าใจได้ว่านี่ไม่ใช่ข้อเขียนอย่างคนในวัง มันจึงเป็นบันทึกที่สำคัญอีกเล่มสำหรับคนรักอาหารโบราณเพราะนี่เป็นหนังสือเพียงไม่กี่เล่มที่เก็บเอาชีวิตและอาหารของคนธรรมดาเอาไว้ โดยเฉพาะคนในพื้นที่โพธารามซึ่งเป็นบ้านของยายผู้เป็นที่รัก

 

 

 

 

ยำดอกข้าวสาร ไข่ต้มจิ้มปลาแดก อึ่งเค็มเสียบไม้ และแย้ผัดเผ็ด เป็นเมนูที่เราจะไม่สามารถเห็นได้ในตำราอาหารชาววังอย่างแน่นอน บันทึกของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ สองเล่มนี้จึงเก็บเกี่ยวสิ่งที่ขาดหายไปจากหนังสือ 3 เซ็ตข้างต้นไว้

 

 

 

 

แม้กระทั่ง ‘เงาของเวลา’ ข้อเขียนซึ่งตีพิมพ์ลงนิตยสารลลนาในช่วงต่อกัน แม้ไม่ได้เจาะจงพูดถึงอาหารของยายเป็นหลักมากเท่า ‘เมนูบ้านท้ายวัง’ แต่ก็เต็มไปด้วยเรื่องความละเมียดละไมในอาหารการกินของคนธรรมดาเช่นกัน คล้ายกับจะเป็นบันทึกที่ยืนยันว่า คนบ้านนอกบ้านนาที่เขาว่าก็มีวัฒนธรรมในการครัวที่งดงามและละเอียดลออไม่แพ้กับคนจากวังไหนๆ

 

 

 

 

เมนูบ้านท้ายวัง และ เงาของเวลา จึงเป็นข้อเขียนจากคนธรรมดาที่แทรกมาอยู่ในลิสต์นี้ได้อย่างสมศักดิ์ศรี ไม่น้อยหน้าตำรำตำราจากห้องเครื่องไหนๆ เลยทีเดียว

 

 

 

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

 

 

 

 

 

 

 

 

Share this content

Contributor

Tags:

ประวัติศาสตร์อาหาร, หนังสือ, อาหารโบราณ

Recommended Articles

Food StoryThai Fish Book หนังสือปลาไทยจากยอดฝีมือ อ่านแล้วจะสนุกกับการกินปลาไทยขึ้นอีกเยอะ
Thai Fish Book หนังสือปลาไทยจากยอดฝีมือ อ่านแล้วจะสนุกกับการกินปลาไทยขึ้นอีกเยอะ

รีวิวหนังสือปลาที่เป็นมากกว่าตำราอาหาร จาก Kensaku และ Blackitch

 

Recommended Videos