เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

‘ส้มแก้ว’ ใหญ่รองจากส้มโอ โตกว่าส้มเขียวหวาน

Story by กฤติน ศรีบุตร

ส้มพันธุ์พื้นเมืองของไทย หากินยาก ผลโตเนื้อแน่นรสเปรี้ยวหวานฉ่ำ

ส้มไทยชื่อคุ้นหูมีมากมาย ทั้งส้มเขียวหวาน ส้มบางมด ส้มโอ ส้มตรา ส้มจี๊ด ส้มเช้ง ส้มโชกุน แต่บอกเลยว่านี่แค่ส่วนหนึ่ง เพราะจริงๆ แล้วนั้นยังมีส้มไทยอีกหลากหลายสายพันธุ์ที่บางชนิดก็สูญหายไป บางชนิดก็หาได้ค่อนข้างยากแล้วในปัจจุบัน อย่างส้มตรังกานู ส้มจุก ส้มเกลี้ยง มะกรูดหวาน และหนึ่งในส้มที่ยังพอหาได้บ้างแต่น้อยมากจนใกล้เคียงกับการสูญหายก็คือ ‘ส้มแก้ว’ ที่ถ้าไม่ใช่คนพื้นถิ่นจริงๆ หรือคนเฒ่าคนแก่ก็คงไม่คุ้นชื่อคุ้นหู

 

 

 

 

‘ส้มแก้ว’ ถือเป็นส้มโบราณหายาก เป็นส้มพื้นเมืองของทางภาคเหนือของไทย แต่ปลูกมากที่ตำบลบางสะแก จังหวัดสมุทรสงคราม และเป็นหนึ่งในผลไม้มงคล มีถิ่นกำเนิดในดินแดนมาลายา (Malaya) ปรากฏในประวัติศาสตร์ไทยมานานกว่า 300 ปี โดยมีการจดบันทึกลงใน ‘จดหมายเหตุลาลูแบร์’ (Du Royaume de Siam ว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม) ที่เขียนโดย ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในเอกสารได้เขียนถึงส้มไว้ 3 ชนิด ได้แก่ ‘ส้มโอ ส้มแก้ว มะกรูด’ อดีตปลูกกันมากบริเวณรอบๆ เขตพระนคร ธนบุรี และนนทบุรี ภายหลังส้มเขียวหวาน ส้มจีน ได้ถือกำเนิดขึ้น ส้มแก้วจึงเริ่มลดจำนวนลง อีกหลักฐานพบว่ามีการปลูกส้มแก้วในสวนโบราณที่ตั้งอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำยม คลองกระจง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ที่พบการปลูกส้มแก้วและส้มโบราณไว้หลายชนิดในสวนธรรมชาติ นี่จึงเป็นหลักฐานสำคัญว่าส้มแก้วนั้นเป็นผลไม้พื้นเมืองของประเทศไทย

 

 

 

 

 

 

 

 

ส้มแก้วถูกจัดอยู่ในตระกูลส้มแมนดาริน เนื้อเยอะ รสชาติหวานอมเปรี้ยวกำลังดี มักมีคำเปรียบเปรยถึงส้มแก้วว่า “ลูกใหญ่รองจากส้มโอ ลูกโตกว่าส้มเขียวหวาน” ซึ่งคำเปรียบเปรยนี้ก็จริงอย่างว่า แถมเปลือกของส้มแก้วก็หนาแต่ร่อนออกอย่างง่ายดาย ในยุคสมัยนี้มักหาคนปลูกส้มแก้วได้ยาก ที่เห็นปลูกๆ กันอยู่ก็จะเป็นสวนของคนเฒ่าคนแก่เป็นส่วนใหญ่ เพราะการดูแลนั้นต้องใช้ความพิถีพิถัน ยิ่งไปกว่านั้น ใน 1 ปีจะออกผลเพียงแค่ครั้งเดียว จึงทำให้คนปลูกกันน้อย

 

 

 

 

พี่ถนอมจิตร เจ้าของสวนถนอมจิต จังหวัดสมุทรสงคราม ที่เริ่มทำสวนตั้งแต่ปี 2538 และอยากลองนำส้มแก้วมาปลูกที่สวนดู เล่าให้ฟังว่า เริ่มลองปลูกประมาณปี พศ. 2550 “ส้มแก้วปลูกง่าย เลี้ยงง่าย หากอยู่ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ แร่ธาตุครบ และดูแลอย่างสม่ำเสมอ ก็จะให้ผลสวยลูกโต ต้นที่อยู่ที่สวนปลูกมาแล้วเกือบ 15 ปี”

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนเรื่องรสชาติของส้มแก้วนั้น ต้องบอกว่ารสชาติกำลังดี ไม่เปรี้ยวจัดหรือหวานจัดจนเกินไป แถมชิ้นใหญ่เนื้อเยอะ

 

 

 

 

“ช่วงแรกๆ มีน้อยคนมากที่จะรู้จัก ทุกวันนี้คนเริ่มรู้จักกันเยอะขึ้นเพราะบอกปากต่อปากกัน บางคนก็เข้ามาศึกษาที่สวน ลองชิมก็พากันติดใจเอาไปฝากกัน”

 

 

 

 

ปัจจุบันสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงครามได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอนุรักษ์สายพันธุ์ส้มแก้ว ทำให้ส้มแก้วกลายเป็นผลไม้ท้องถิ่นและได้อนุรักษ์ ‘ส้มแก้ว’ ให้เป็นผลไม้ท้องถิ่นของแม่กลอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คลิกดูสูตรม้าฮ่อส้มแก้ว

 

 

 

 

ใครชอบกินส้ม ลองมาสัมผัสความหอม ความหวาน และชิ้นใหญ่เต็มคำของส้มแก้ว รับรองว่าจะติดใจแน่นอน แต่นอกจากกินสด ส้มแก้วยังนำมาทำเมนูได้หลากหลาย ทั้งยำส้มแก้วกะทิ ต้มส้มปลาทูส้มแก้ว รวมถึงเมนูของว่างโบราณอย่าง ‘ม้าฮ่อ’ จากเดิมทีที่ใช้สับปะรด วันนี้เราจะใช้เป็นส้มแก้ว ด้วยกลีบที่ใหญ่จึงทำให้ม้าฮ่อส้มแก้วแตกต่างไม่ซ้ำใคร แต่สูตรนี้เอามาตัดแต่งให้มีขนาดพอดีคำ เหมาะสำหรับเป็นของว่างคำเล็กๆ

 

 

 

 

ใครติดใจรสชาติ อยากร่วมด้วยช่วยกันอนุรักษ์ส้มสายพันธุ์ไทยพื้นเมือง สวนถนอมจิตมีบริการเยี่ยมชมสวนดูการเก็บเกี่ยว อยากนำไปลองปลูกเองบ้าง ที่นี่ก็มีพันธุ์ส้มแก้วจำหน่าย หรือแค่อยากลองลิ้มรสชาติของส้มแก้วก็ยิ่งง่าย สั่งกับทางสวนได้เลย

 

 

 

 

สวนถนอมจิต
เว็บไซต์: https://www.dgtfarm.com/thanomjitfarm
โทร: 081-736-4301

Share this content

Contributor

Tags:

ประวัติศาสตร์อาหาร, ส้มแก้ว, อาหารโบราณ

Recommended Articles

Food Story‘ข้าวตอกตั้ง’ ขนมโบราณชูถิ่นกรุงเทพฯ ที่แม้แต่คนกรุงเทพฯ เองก็ไม่รู้จัก
‘ข้าวตอกตั้ง’ ขนมโบราณชูถิ่นกรุงเทพฯ ที่แม้แต่คนกรุงเทพฯ เองก็ไม่รู้จัก

ขนมไทยแต่หนหลัง หอม หวาน อร่อย หากินยาก

 

Recommended Videos