เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ชาที่ทำให้ตัวหอมตั้งแต่หัวยันหลี มีจริงนะ!

Story by กฤติน ศรีบุตร

รู้จักกับ 'ชากายหอม' หรือ 'ชาถวายตัว' ชาจากดอกไม้และสมุนไพรนานาชนิดที่จะเสริมเสน่ห์เรือนกายให้หอมละมุนน่าหลงใหล

โบราณว่ากายาหญิงใดหอมดั่งดอกไม้… เปรียบเสมือนนางฟ้านางสวรรค์ลงมาจุติ เรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นจริงครับ เขาว่ากันว่าสมัยก่อนหญิงสาวชาววังนั้นกลิ่นกายหอมตั้งแต่ปลายผมจนถึงปลายหลีเลยละ (มันเกินไปไหมเนี่ย) ฟังแล้วดูเป็นเรื่องที่พิลึกพิลั่นพอควร แต่ก็เอาเถอะ แล้วเขามีวิธีการอย่างไรล่ะถึงจะทำให้หอมได้อย่างว่า…

 

 

 

 

 

 

 

เชื่อว่าบางคนคงตาเป็นประกายแล้ว วันนี้ผมได้เดินทางมายังร้านอาหารย่านสาทร เหตุเพราะผมรู้ว่าที่นี่มีชาสมุนไพรสูตรลับ เมื่อดื่มแล้วจะทำให้ตัวเราหอมเหมือน ‘ดอกไม้’ โดยเชฟปิ๊ก คณิน สินพันธ์ เชฟที่มีหัวใจรักอาหารไทยแและเชี่ยวชาญในอาหารไทยแห่งร้าน ‘เรือนนพเก้า’ จะเป็นผู้เล่านำพาเราไปรู้จักเจ้าชาตัวนี้

 

 

 

 

 

 

 

‘ชาถวายตัว’ บางคนอาจรู้จักในนามว่า ‘ชาภุมรินทร์ถวิลหา’ ‘ชาตัวหอม’ หรือชื่อเรียกแบบชาวบ้านปรัมปราว่า ‘ชาหลีหอม’(อันที่จริงต้องใช้พยัญชนะ ห. ตัวเดียว) และมีการบันทึกลงในประวัติศาสตร์ไทย เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา หรือเรียกสั้นๆ ว่าหม่อมเจ้าสาย ลดาวัลย์ (พระนามเดิม) เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งพระอรรคชายาเธอ มีหน้าที่ควบคุมดูแลห้องพระเครื่องต้นของเสวยคาวหวาน ดูแลเครื่องบรรณาการต่าง ๆ

 

 

 

 

 

 

 

“ถ้ากล่าวเป็นชื่อของท่านแล้ว น้อยคนที่จะรู้จักท่านในชื่อท่านเอง แต่หากกล่าวเป็นชื่ออาหาร เชื่อว่าคงรู้จักกันดีอย่าง น้ำพริกลงเรือ ทับทิมกรอบ หรือกระทั่งข้าวผัดสับปะรด ด้วยพระปรีชาสามารถจึงคิดค้นทำสูตรชาถวายตัวให้สำหรับนางในของวัง ก่อนที่จะถวายตัว โดยท่านเชื่อว่าเมื่อดื่มเข้าไปแล้ว ชาตัวนี้ขับเหงื่อออกมา เหงื่อแรกจะขับของเสีย เหงื่อที่สองจะเป็นกลิ่นหอมของดอกไม้” เชฟปิ๊กเล่า

 

 

 

 

 

 

 

พอรู้เหตุผลนี้เข้าใจเลย ทำไมบางคนก็เรียกว่าชาหลีหอม ฮ่าๆ แต่ตามความเชื่อของผม อย่างที่รู้กันดี เรื่องกลิ่นตัวหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ ส่วนใหญ่มักจะมาจากจุดซ่อนเร้นต่างๆ ในร่างกาย ข้อพับเอย รักแร้เอย แม้กระทั่งจุดที่ว่า (ตรงนั้นแหละ) ถ้าจะตัวหอมก็คงต้องอาบน้ำ ล้างส่วนนั้นๆ ให้สะอาด ถึงจะไม่มีกลิ่น แล้วจะให้หอมเหมือนดอกไม้คงมีทางเดียวดนั่นคือประโคมน้ำหอม น้ำปรุง น้ำอบ เพียงแค่ดื่มชามันจะได้ผลจริงหรือ !?

 

 

 

 

”พวกเครื่องหอมนี้มันก็ได้แค่เพียงพรมผิวกายแหละครับ ไม่นานกลิ่นก็จางแล้ว อย่าลืมว่ากลิ่นเหงื่อ กลิ่นฮอร์โมนที่ออกมาตามรูขุมขนก็มักมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ตามมา สิ่งเหล่านี้เราควบคุมมันไม่ได้ แต่ชาตัวนี้ช่วยเรื่องกลิ่นที่ถูกขับออกมาจากภายใน ซึ่งจะต่างกัน” เชฟปิ๊กเล่าต่อ

 

 

 

 

 

 

 

‘ชาถวายตัว’ ที่ได้กล่าวมาในก่อนหน้านี้ โดยท่านจะนำดอกไม้และสมุนไพรกว่า 6 ชนิดมาผสมรวมกัน ประกอบไปด้วย

 

 

 

 

ขลู่ – ช่วยขับเหงื่อให้ไหล พร้อมขับของเสียออกจากทางเหงื่อ และขับปัสสาวะ
ใบบัวบก – ช่วยการไหลเวียนโลหิต เมื่อเลือดไหลเวียนดีเหงื่อก็จะออกง่ายขึ้น ลดความเครียด และคลายความกังวลได้
ดอกกระดังงา – บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ ชูกำลัง บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย กระหายน้ำ แก้ลมวิงเวียน
ดอกจำปี – กลิ่นของจำปีมีฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้สดชื่น นอนหลับได้สนิท บรรเทาอาการไอ บำรุงถุงน้ำดี ขับปัสสาวะ ดอกจำปา – บำรุงหัวใจ แก้ธาตุที่ไม่ปกติ บำรุงธาตุ ระงับอาการเกร็ง และช่วยขับปัสสาวะ
ลีลาวดี – ช่วยถ่ายเสมหะและโลหิต ช่วยขับเหงื่อแก้ร้อนใน

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อผสมวัตถุดิบเหล่านี้เรียบร้อยแล้ว เราเติมน้ำเดือดใส่ลงไป แช่เป็นเวลา 5-10 นาที เพื่อดื่ม ซึ่งสามารถเติมน้ำได้ตลอดจนชาไร้กลิ่นและสีจึงจะเปลี่ยนชาใหม่ เนื่องจากไม่มีส่วนผสมของใบชาจึงไม่ทำให้ขมเลยสามารถเติมน้ำได้ตลอด(คนไทยในสมัยก่อนมักเรียกเครื่องดื่มที่มีสมุนไพรแห้งแช่กับน้ำร้อนว่าชา) อย่างที่เชฟได้พูดไปในความข้างต้น ’ชาถวายตัว’ จะถูกเสิร์ฟให้กับนางใน เมื่อถึงคราเข้าเรือนหลับนอนกับนาย ด้วยฤทธิ์ของชาจะส่งผลได้ดีก็ต่อเมื่อมีเหงื่อออก เหตุนี้จึงทำให้ตัวหอม ผมว่าก็คงคล้ายกับแขกที่กินเครื่องเทศอยู่เป็นประจำ กลิ่นเครื่องเทศก็จะถูกสะสมและปล่อยออกมา

 

 

 

 

 

 

 

“แต่ขึ้นอยู่กับอาหารที่กินด้วย คนสมัยนั้นเขาดื่มกันทั้งวัน กลิ่นที่ออกมาก็แล้วแต่ตัวบุคคล โดยกลิ่นดอกไม้ต่างๆ จะถูกขับออกมาในรูปแบบของเสีย เหงื่อที่ออกมาตามรูขุมขนนี่แหละ หรือกระทั่งปัสสาวะ” เชฟปิ๊กเล่า “แต่ก็ไม่ได้หอมเหมือนน้ำหอมขนาดที่ว่าต้องเหลียวหลัง บางคนอาจไม่หอมก็เป็นได้ และไม่เพียงแต่ผู้หญิง ผู้ชายก็สามารถดื่มได้เช่นเดียวกันครับ โดยถ้าเป็นผู้ชายก็จะช่วยเรื่องการขับถ่ายทางปัสสาวะ ส่วนกลิ่นหอมของดอกไม้ก็มีเช่นเดียวกัน”

 

 

 

 

เท่าที่ได้ลองดื่ม รสชาติที่ได้โดยส่วนตัวผมบอกเลยว่าชาไม่ขม ดื่มง่าย (ดื่มได้ทั้งวันไม่มีปัญหา) หอมกลิ่นกระดังงาเด่นขึ้นมา มีกลิ่นของใบไม้เล็กน้อย สดชื่น ดื่มได้ตลอด แต่ถ้าถามว่ากลิ่นตัวของผมเป็นยังไง…

 

 

 

 

 

 

 

“เหมือนเดิมครับ เพราะว่าผมดื่มไปแค่แก้วเดียว” ><

 

 

 

 

ใครอยากตัวหอม แวะซื้อเป็นเซตกลับไปดื่มที่บ้านได้ (เอาไว้ดื่มนะ อย่าเอาไปอาบ) และหากได้แวะมาที่เรือนนพเก้าแนะนำให้สั่ง ‘ขนมทองโบราณ’ มาดื่มคู่กับชาถวายตัว เป็นขนมที่ทำจากไข่ขาว กะทิ และอัลมอนด์ ที่มีประวัติมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นเมนูที่ไม่ค่อยได้เห็นที่ไหน และไม่ได้มีเพียงชาและขนมหวาน ที่ร้านยังมีเมนูอาหารคาวอีกหลากหลายเมนู โดยทุกเมนูล้วนมีเรื่องเล่าจากประวัติศาสตร์

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนใครที่เคยมาดื่มแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง หลีหอมจริงไหม เอ๊ย!! ตัวหอมจริงไหม? มาคอมเมนท์บอกด้วยล่ะ ><

 

 

 

 

ขอตัวไปจิบชาต่อก่อนจ้า

 

 

 

 

เรือนนพเก้า 
พิกัด ซอย สาทร 6 สีลม บางรัก 
เปิด-ปิด 11:30-22:00 น.
โทร : 02 116 3317
Line : @ruennoppagaobkk

Share this content

Contributor

Tags:

ชา, สมุนไพร, อาหารโบราณ

Recommended Articles

Food Storyชวนทำชากุหลาบโฮมเมด ทำง่าย สวย ชื่นใจ
ชวนทำชากุหลาบโฮมเมด ทำง่าย สวย ชื่นใจ

เก็บความหอมหวานของกุหลาบจากสวนไว้ในรูปแบบของชาที่ดื่มแล้วรู้สึกสวยขึ้นทันที

 

Recommended Videos