เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

เดินเล่นนาเกลือ ชื่อชุมชนที่เพี้ยนมาจากคำว่า ‘น่ากลัว’

Story by พัชริดา พันธุมาศ

ชุมชนนาเกลือมีของดีมากมาย KRUA.CO ไปสัมผัสมาแล้ว!

KRUA.CO ได้รับโอกาสไปร่วมกิจกรรม ‘ศึกษา ย่านนาเกลือ’ ที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นแคมเปญที่ทางทีมปั้นเมืองทำร่วมกับคนในพื้นที่ เป้าหมายก็คือพัฒนาฟื้นฟูย่านเก่านาเกลือให้เป็นที่รู้จักและยังอนุรักษ์วิถีชิวิตวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนในชุมชนไว้ เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป ได้เข้ามาทำความรู้จัก แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ว่าเราจะสามารถฟื้นฟูพื้นที่แห่งนี้ไปในทิศทางไหนได้บ้าง

 

 

 

 

ครั้งแรกที่ได้ยินคำว่า ‘นาเกลือ’ ภาพที่ฉันจินตนาการไว้ คือภาพนาที่มีเกลือ แต่พอได้มาถึงก็เรียกได้ว่าผิดคาดเลย เพราะเมื่อได้ฟังประวัติคร่าวๆ จากป้าแอ๊ว-ศรีสุดา หนึ่งในทีมไกด์ที่เกิดและโตที่นาเกลือเล่าให้ฟังว่า ที่นี่ชื่อนาเกลือแต่ไม่มีเกลือแม้สักหนึ่งเม็ด เพราะจริงๆ คำว่านาเกลือนั้นน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า ‘น่ากลัว’ เนื่องจากในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นป่ารกชัฏ เต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ จนคนที่ผ่านไปผ่านมา มักจะพูดว่า “ตรงนี้น่ากลัวจริง” ใครๆ ก็บอกว่าน่ากลัวๆ จนเพี้ยนกลายเป็นนาเกลือในปัจจุบันนั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

ป้าแอ๊วยังบอกอีกว่า “อาหารทะเล ไปกินที่ไหนก็ไม่อร่อยสู้กินที่นาเกลือ เพราะคนนาเกลือได้ถ่ายทอดประสบการณ์การการทำอาหารทะเลจากรุ่นสู่รุ่น และโดยเฉพาะปูที่นาเกลือ อร่อยที่สุด เพราะในท้องทะเลเป็นพื้นทราย ปูจึงเนื้อแน่นเพราะออกกำลังบ่อย กินสดๆ ก็ยังอร่อย”

 

 

 

 

ได้ฟังแล้วฉันถึงกับต้องกลืนน้ำลายอึกใหญ่เลยทีเดียว อยากจะลิ้มลองเนื้อปูที่นี่จริงๆ

 

 

 

 

 

 

 

นอกเหนือจากอาหารทะเลแล้ว “ก๋วยเตี๋ยวที่นาเกลือ ก็อร่อยที่สุดไม่แพ้กัน” เพราะสมัยก่อนที่นี่มีชาวจีนแต้จิ๋วอพยพเข้ามาและนำเอาสูตรก๋วยเตี๋ยวมาด้วย วิธีการก็คือนำปลาอินทรีย์ทั้งตัวมาขูดเนื้อเอาไปทำลูกชิ้น ใช้ก้างต้มเป็นน้ำซุป ส่วนหนังปลาก็เอาไปทำเป็นปลากรอบ กลายเป็นก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามที่สมบูรณ์แบบ อร่อยเด็ดจนใครมีโอกาสมาที่พัทยาจะต้องมากินก๋วยเตี๋ยวที่นาเกลือให้ได้ ทีมปั้นเมืองยังบอกกับฉันอีกว่า ร้านก๋วยเตี๋ยวแถวเส้นถนนพัทยา-นาเกลือ เดินสุ่มไปร้านไหนก็อร่อยหมด

 

 

 

 

ส่วนทริปวันนี้ จุดหมายแรกที่เรานัดรวมตัวกันคือมูลนิธิสว่างบริบูรณ์ธรรมสถาน ซึ่งเป็นประธานของมูลนิธิสว่างที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คนในพื้นที่เรียกว่า ‘เซียนซือ’ หรือ ‘โรงเจ’ บ้าง แต่ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าคือที่ไหน ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งในและนอกพื้นที่ นอกจากมีองค์เซียนซือแล้ว ยังมีเทพเจ้ากวนอู เจ้าแม่กวนอิม และองค์เทพอีกหลายองค์ ที่ใครมาที่นี่ก็จะเข้ามาสักการะบูชา ไหว้ขอพร

 

 

 

 

 

 

 

ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นศิริมงคลแล้ว เดินมาไม่ไกลก็ถึงจุดหมายต่อไป คือตรอกไทยศิลป์-ตรอกโรงยา เป็นซอยเล็กๆ ที่มีบ้านไม้ 2 ชั้นหรือ ‘เหล่าเต็ง’ ในภาษาจีนแต๊จิ๋วที่แปลว่า ‘ชั้นบน’ เป็นตรอกที่ในอดีตเป็นเส้นทางในการทำมาค้าขายและสัญจร มีทั้งโรงยาฝิ่นและยังเฟื่องฟูไปด้วยวัตุดิบ เป็นแหล่งที่ผลิตวัตถุดิบหลายอย่างของคนจีนแต้จิ๋วที่มาพักอาศัยที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่ทำเส้นก๋วยเตี๋ยวสดๆ ทำเฉาก๊วย ทำขนมเปี๊ยะ ทำเต้าหู้ ก็อยู่ที่นี่กันหมด ซึ่งน่าเสียดายที่ปัจจุบันร้านต่างๆเลิกกิจการไปแล้ว จึงเหลือเพียงร่องรอยและเรื่องเล่าในอดีตจากปากของคนในพื้นที่ ที่เล่าถึงความทรงจำในวัยเด็กว่าซอยนี้เคยรุ่งเรืองและคึกคักขนาดไหน ส่วนที่มาของชื่อตรอกไทยศิลป์ นั่นก็เพราะว่าตรงต้นซอยมีร้านถ่ายรูปชื่อไทยศิลป์ ซึ่งปัจจุบันก็ไม่มีร้านถ่ายรูปนี้อยู่แล้ว

 

 

 

 

 

 

 

เดินมาเรื่อยๆ เข้าตามตรอกซอกซอย ผ่านตลาดนาเกลือที่ขายอาหารทะเลสด มายังชุมชนประมงของอ่าวนาเกลือ แวะเยี่ยมบ้านของคนที่ทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นศูนย์อนุรักษ์สัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็น ปูม้า ปลาหมึก ไข่หมึกกระดอง

 

 

 

 

ชาวประมงพื้นบ้านเล่าให้ฟังว่า “ปกติหมึกจะวางไข่กันที่อวน พอชาวประมงสาวอวนเก็บขึ้นมาก็จะรูดทิ้ง พวกพี่ๆ จึงขอความร่วมมือจากชาวประมง ให้เอาไข่หมึกมาให้อนุบาลไว้ ก่อนปล่อยคืนสู่ทะเล”

 

 

 

 

 

 

 

ฉันมีโอกาสได้พูดคุยกับหนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มประมงต้นแบบบ้านนาเกลือที่เล่าให้ฟังว่า “ปัญหาก็คือในปัจจุบันกลุ่มที่เลี้ยงน้อยกว่ากลุ่มที่จับ” กว่าจะได้ไข่หมึกมาก็ต้องอาศัยความร่วมมือและความสมัครใจของกลุ่มชาวประมงอื่นๆ ด้วย และไม่ใช่เพียงหมึก ทรัพยากรสัตว์น้ำบริเวณนี้ยังหายไปเยอะ ด้วยปัญหาอ่าวนาเกลือน้ำตื้นขึ้น พื้นที่ในการมาหากินเหลือเพียงแค่ครึ่งอ่าว ความต้องการที่มากขึ้นและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปแปลงไป ทำให้สัตว์ทะเลลดลงเมื่อเทียบกับแต่ก่อน การทำแบบนี้ก็เพื่ออนุรักษ์และเพื่อคงระบบนิเวศให้ยังคงหมุนเวียนต่อไปได้อย่างสมดุล ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของชาวประมงด้วย นี้ จึงไม่ใช่เพียงหน้าที่เพียงของคนใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

 

 

 

 

ฉันรู้สึกประทับใจในความมุ่งมันของพี่ๆ ชาวประมงพื้นบ้าน ที่ทำมันด้วยความรัก และได้มองเห็นความตั้งใจของคนตัวเล็กๆ ที่กำลังทำอะไรบางอย่าง แม้จะเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้ความอดทน แต่ฉันไม่ได้รู้สึกถึงความเหนื่อยล้า และยังได้รับพลังงานที่ดีกลับมา ต้องขอบคุณจริงๆ เพราะพวกเขาเหล่านี้คือแหล่งต้นน้ำ ที่ตั้งหน้าตั้งใจทำให้เราได้กินวัตถุดิบที่ดีและมีคุณภาพ การอนุรักษ์สิ่งที่พี่ๆ เขาทำไว้ คือสื่งที่เหล่าผู้บริโภคอย่างเราๆ ควรจะใส่ใจและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าเรายังอยากมีอาหารทะเลที่ทีดีและมีคุณภาพต่อไป

 

 

 

 

ฉันหวังเหลือเกินว่าในอนาคต สถานที่แห่งนี้จะถูกมองเห็นและได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากภาครัฐ รวมถึงได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านรอบข้างมากขึ้น มีพื้นที่ที่อำนวยความสะดวกให้การทำงาน หรือในอนาคตอาจจะสามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปเยี่ยมชมและได้เข้าไปฟังเรื่องราวการทำงานจากกปากของคนที่ทำงานอยู่ตรงนี้

 

 

 

 

 

 

 

เดินต่ออีกนิดก็ได้พบร่องรอยของนาเหลือในอดีตอีกแห่ง คือศาลาไม้เก่าที่มีชื่อว่าตลาดโบราณ 100 ปี หรือคนในพื้นที่นี่จะเรียกว่า ‘ตลาดไม่เคยหลับ’ เป็นตลาดที่แรกของพัทยา นาเกลือจริงๆ ที่ขายอาหารทะเลสดครบครันรวมไปถึงผักสด ในอดีต ชุมชนโดยรอบ หากใครอยากได้อะไร ก็จะต้องมาที่ตลาดแห่งนี้เท่านั้น น่าเสียดายอีกเช่นกันที่ตลาดแห่งนี้ถูกไฟไหม้ไปถึง 2 ครั้ง และปัจจุบันก็ไม่ได้มีการพัฒนาดูแลต่อเพราะเป็นพื้นที่ของเอกชน จึงเหลือไว้เพียงร่องรอยความคึกคักของตลาดเก่าในความทรงจำของคนนาเกลือ

 

 

 

 

 

 

 

พี่ไกด์เล่าให้ฟังเพิ่มอีกว่าในอดีตที่ตลาดแห่งนี้ยังมี ‘ส้วมทะเล’ เอาไว้รองรับคนมาเดินตลาด โดยถูกกั้นเป็นผนังเตี้ยๆ เหมือนส้วมในประเทศจีน ส่วนหัวจะโผล่ขึ้นมาเห็นวิวด้านหน้าที่เป็นท้องทะเลกว้างไกล พี่ไกด์ยังเล่าด้วยน้ำเสียงติดตลกว่า นอกจากจะเป็นที่ปรับทุกข์ทางกายแล้ว ยังเป็นที่ปรับทุกข์ทางจิตใจด้วย เพราะคนที่แวะเวียนมาก็จะอาศัยจังหวะนี้ในการพูดคุยสัพเพเหระทั่วไป นั่งกันยาวๆ ชมวิวทะเลด้านหน้าเพลินๆ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ไม่ใช่เพียงแค่ขาจรที่แวะเวียนมา อาจจะมีขาประจำมามากเลยทีเดียว ฮ่าๆๆ

 

 

 

 

 

 

 

ทางทีมปั้นเมืองได้เตรียมจุดพักเล็กๆ ให้เราได้นั่งพักหายใจหายคอกัน พร้อมเสิร์ฟน้ำมะนาวเย็นๆ จากร้านโบราณเจ้นาย มาพร้อมกับลูกชิ้นปลาเนื้อแน่น น้ำจิ้มสุดแซ่บ น้ำมะนาวรสชาติคล้ายบ๊วย มีกลิ่นหอมของมะนาว ดื่มแล้วสดชื่นจนทุกคนในทริปพยักหน้าและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “สดชื่นมากๆ” รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาทันที ถ้าไม่ต้องไปต่อ ฉันคงขอเติมอีกหลายแก้วแน่ๆ เพราะติดใจมาก

 

 

 

 

 

 

 

มีแรงเดินต่อแล้ว พ้นจากซอยใกล้กับตลาดเก่า 100 ปี ก็มาเดินชมอาคารเก่าถนนพัทยา-นาเกลือ แวะร้านรองเท้าศรีเมืองที่มีเจ้าของร้านคือคุณสุจินต์ ยืนต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมเล่าประวัติคร่าวๆ ของร้านให้ฟังว่า เป็นร้านที่มีมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ นอกจากขายรองเท้าแล้วยังรับตัดรองเท้าเพื่อแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่มีปัญหาที่ฝ่าเท้าแบบเฉพาะเจาะจง เรียกว่าเป็นร้านที่พิถีพิถันและใส่ใจลูกค้าในทุกขั้นตอน ลงมือทำด้วยใจรักของจริง เพราะแบบนี้จึงทำให้ร้านยังเป็นที่นิยมจนมีทั้งลูกค้าเก่าและใหม่เข้ามาใช้บริการเรื่อยๆ หากใครมีโอกาสได้แวะเวียนไปแถวๆ ถนนพัทยา-นาเกลือ อยากมีรองเท้าหนังสวยๆ ไม่ซ้ำใครก็สามารถมาใช้บริการที่ร้านได้

 

 

 

 

 

 

 

เดินต่อไม่ไกลก็มาถึงศาลเจ้าแม่ทับทิม อีกหนึ่งสถานที่ที่เป็นที่พึ่งพายามยากของคนในชุมชน ใครอยากขายที่ดินได้ หรือเจ็บป่วย ก็จะมาขอพรที่นี่ แล้วบนด้วยลิเกเพราะเจ้าแม่ชอบดูลิเก ใครได้มาแถวนี้มาก็ลองมาขอพรดูนะ

 

 

 

 

 

 

 

ทีมพาเราเดินกลับเข้ามาในซอยถนนพัทยา-นาเกลืออีกครั้ง เพื่อเยี่ยมชมร้านหนังสือมหากรี ซึ่งเจ้าของก็คือป้าแอ๊ว หนึ่งในทีมไกด์ของพวกเรานั่นเอง แต่เดิมเป็นร้านขายกะปิ น้ำปลามาก่อน ก่อนจะจับพลัดจับพลูได้มาขายหนังสือพิมพ์คู่กับสินค้า ขยับขยายมาขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร จนกลายเป็นร้านขายหนังสือพิมพ์รายใหญ่ในชุมชนนาเกลือมาจนถึงปัจจุบัน ที่ยังมีการขายหนังสือพิมพ์และนิตยสารอยู่บ้าง บรรยากาศร้านกว้างขวางออกแนววินเทจ และมีหนังสือหลากหลาย

 

 

 

 

 

 

 

ป๊าแอ๊วเล่าให้ฟังว่า “ช่วงที่ยอดขายพีคที่สุดคือช่วงที่มีข่าวการเสียชีวิต ของสุรพล สมบัติเจริญ ฟังจากวิทยุไม่มัน ต้องอ่านจากหนังสือพิมพ์ด้วย เป็นสาเหตุให้คนในชุมชนอ่านหนังสือเยอะขึ้น จากเมื่อก่อนรับมาแค่ 80 ฉบับ ต้องรับเพิ่มถึง 500 ฉบับ เพราะเป็นเรื่องที่ผู้คนต่างให้ความสำคัญ” ถ้าเป็นปัจจุบันก็คือยอดไลก์ยอดแชร์น่าจะเยอะมากเลยทีเดียว

 

 

 

 

 

 

 

ป๊าแอ๊วยังเล่าต่อด้วยรอยยิ้มว่า “เมื่อก่อนขายหนังสือสนุกมาก ขายเช้า ขายบ่าย ขายวันละ 2 รอบ พวกหนังสือรายสัปดาห์ อย่างสกุลไทย คู่สร้างคู่สม ขายหัวเราะ ขายดีมาก จัดหนังสือจนแทบไม่ต้องนอน”

 

 

 

 

ฟังแล้วก็เป็นเสน่ห์ของการติดตามข่าวสารสมัยก่อน ที่ต้องใช้เวลารอคอยหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ รออ่าน แต่สัมผัสของการจับกระดาษหนังสือพิมพ์และกลิ่นของหมึกนั้นกลายเป็นเรื่องความทรงจำไปแล้วสำหรับฉัน เพราะฉันเองก็จำไม่ได้แล้วเหมือนกันว่า ตัวเองซื้อหนังสือพิมพ์มาอ่านครั้งล่าสุดเมื่อไหร่

 

 

 

 

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ก็มาถึงยังที่หมายสุดท้ายของเส้นทางนี้คือบ้านสวนนาเกลือ ที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กๆ เป็นบ้านเรือนไทย 2 เรือน ล้อมรอบไปด้วยต้นไม้ที่ร่มรื่น คุณอ้อย ขจิตา เจ้าของบ้าน เล่าประวัติและที่มาที่ไปของบ้านสวนนาเกลือให้ฟังว่า เป็นที่ดินที่คุณพ่อซื้อไว้ บวกกับความชอบบ้านเรือนไทย จึงได้ปลูกเรือนไทยขึ้น ความตั้งใจคืออยากให้สถานที่แห่งนี้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงไก่ และปัจจุบันที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ขนาดย่อมของชุมชนนาเกลือ เปิดโอกาสให้คนที่สนใจสามารถเข้ามาทำกิจกรรมได้

 

 

 

 

ฟังเสร็จเราก็ได้ไปทำปิ้งงบต่อ อาหารชื่อแปลก ที่ฉันเองยังไม่เคยเห็นมีขายที่ไหน เป็นอาหารเก่าแก่ รสชาติคล้ายกับทอดมัน แต่ใช้การปิ้งแทนการทอด ส่วนผสมหลักๆ คือ เนื้อปลาอินทรีย์ หรือจะใช้ปลาชนิดอื่นก็ได้ ใส่กะทิเล็กน้อย พริกแกง น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ ถั่วฟักยาว ใบมะกรูด ใบโหระพา คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วนำใบตองมาห่อหัวท้าย กลัดด้วยไม้จิ้มฟัน ก่อนจะเอาไปปิ้งให้สุก ฉันได้ลองกินแล้ว รสชาติหอม เนื้อปลาอินทรีย์แน่นๆ และกลิ่นของพริกแกงกินกับข้าวสวยร้อนๆ ดีมากกกก

 

 

 

 

 

 

 

ไม่ปล่อยให้ท้องหิวนาน ทางทีมก็เตรียมอาหารทะเลมาให้พวกเราได้อิ่มหน่ำกันต่อ ทั้งปลาต้มมะกอก ปลาฉลามผัด หมึกน้ำดำ ลูกชิ้นปลาน้ำจิ้ม จากร้านลูกชิ้นปลา ป้าบล (ฉันถูกใจเมนูนี้สุดจนต้องไปเติมถึง 2 รอบ) ปิดท้ายด้วยของหวาน ข้าวเหนียวมะม่วง-เจ๊ติ๋ว หอมมันอร่อย ฉันและทีมถึงกับต้องเบิ้ลไปถึงสองกล่อง

 

 

 

 

อิ่มท้องแล้วก็มาถึงกิจกรรมสุดท้ายของทริปนี้ ที่ทางทีมปั้นเมืองจะให้พวกเรานั่งล้อมวงเป็นครึ่งวงกลม แลกเปลี่ยนความรู้สึกและความประทับใจของกิจกรรมนี้ ส่วนตัวฉันและทีมครัวดอทโคที่เราประทับใจตรงกันมากๆ นั่นก็คือ ‘แพสชั่น’ และ ‘ การเล่าเรื่อง’ ของป้าๆ น้าๆ ฉันนับถือในพละกำลังความกระฉับกระเฉงของไกด์นำเที่ยววันนี้มาก รู้สึกว่าอายุไม่ใช่อุปสรรคเลย นั่นคงเป็นเพราะทุกคนเต็มใจและอยากถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ให้คนรุ่นใหม่อย่างพวกเราฟัง เพื่อให้ได้ทำความรู้จักกับสถานที่แห่งนี้มากขึ้น ว่าเสน่ห์ของชุมชนนาเกลือนั้นมีมากเพียงใด

 

 

 

 

และฉันก็ได้สัมผัสและรับรู้ถึงความตั้งใจนี้ จนเหมือนได้ย้อนเข้าไปอยู่ในช่วงเวลานั้นด้วย อยากให้ผู้คนที่ได้แวะเวียนมาได้มีโอกาสฟังเรื่องราวที่อุบอุ่นแบบนี้บ้าง

 

 

 

 

 

 

 

ใครมีโอกาสมาพัทยา ฉันอยากชวนให้ลองมาสัมผัสบรรยากาศพัทยาในอีกหนึ่งมุม ที่ไม่ได้คึกคักและหนาแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยว แต่เป็นมุมที่สงบ อบอุ่น มีคุณลุง คุณป้า คุณน้า คุณอา คนในพื้นที่ชุมชนนาเกลือ พร้อมอ้าแขนต้อนรับคนที่มาเยี่ยมเยียน

 

 

 

 

ถ้าได้ไปแล้วประทับใจตรงไหน คอมเมนต์บอกเราได้นะคะ จะได้เป็นการบอกต่อสถานที่ท่องเที่ยวดีๆ แบบนี้ และยังช่วยกันอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชุมชนนาเกลือไว้ไม่ให้เหลือแค่เพียงเรื่องเล่า แต่เป็นสถานที่ที่เราต้องแวะมาให้ได้ทุกครั้งที่มาพัทยา

Share this content

Contributor

Tags:

ตลาดท้องถิ่น, ร้านอร่อยชลบุรี

Recommended Articles

Food Storyบันทึกของกินจุบจิบของผมที่ตรัง
บันทึกของกินจุบจิบของผมที่ตรัง

เมื่อนักวาดภาพประกอบออกเดินทาง บันทึกแสนอร่อยก็เกิดขึ้น