เสน่ห์ความสดชื่นของน้ำแข็งไสโบราณ
สำหรับฉันแล้วหวานเย็นเป็นของหวานสุดสนุก! ทั้งสีสันทั้งรสชาติอันแสนชื่นใจรวมถึงที่หวานเย็นเปิดโอกาสให้เราหยิบโน่นมาผสมนั่นใส่ในถ้วยของตัวเองได้ตามใจหวานเย็นถ้วยของเรากับถ้วยของเพื่อนจึงไม่เคยเหมือนกันและนั่นคือเสน่ห์ที่ตรึงใจให้ฉันหลงรักขนมหวานชนิดนี้มาแต่เล็กแต่น้อย ทว่าเมื่อโตขึ้นสักหน่อยความสนุกของหวานเย็นก็ขยายอาณาเขตออกไปไกลจากเรื่องราวเบื้องหลังและเครื่องเคราแปลกลิ้นที่ได้พบ
โดยเฉพาะหวานเย็นในร้านเก่าแก่ที่กำกับการปรุงโดยอากงอาม่านั้นมักมีเครื่องเคราให้ได้ว้าวเสมอสองอย่างที่ฉันติดใจคือ ‘โบ๊กเกี้ย’ และ ‘โอ้เอ๋ว’ ที่หากินยากขึ้นทุกวัน
หวานเย็นอย่างไหหลำที่ทำจากแป้งข้าว
ถึงโบ๊กเกี้ยจะกระจายความนิยมในหมู่คนรักของหวาน แต่น้อยคนจะรู้ว่ามันกำเนิดก่อเกิดมาจากไหน แท้จริงแล้วเจ้าเส้นสีขาวอ้วนป้อมคล้ายเกี้ยมอี๋นั้นทำจากอะไรกันแน่?สำคัญคือทำไมโบ๊กเกี้ยบางร้านจึงมีเส้น ‘บะหมี่เหลือง’ เป็นเครื่องเครา?
แนะนำตัวกันอย่างรวบรัด ‘โบ๊กเกี๊ย’ เป็นคำนามภาษาจีนไหหลำใช้เรียกเส้นแป้งสีขาวอวบลักษณะคล้ายลอดช่องหรือเกี้ยมอี๋ทำจากแป้งมันผสมแป้งข้าวเจ้า ปั้นเป็นตัวแล้วต้มจนสุกเนื้อหนึบเคี้ยวสู้ฟันเข้ากันกับน้ำเชื่อมและน้ำแข็งตำรับดั้งเดิมนั้น ในถ้วยหวานเย็นจะใส่เพียงโบ๊กเกี้ยสมุนไพรจีนต่างๆ น้ำเชื่อมและน้ำแข็ง ทว่าอย่างที่หลายคนรู้จักดีคือปัจจุบันร้านโบ๊กเกี้ยเจ้าดังมักมี ‘หมี่เหลือง’ เป็นตัวเลือกที่ขายดีเป็นลำดับต้นๆ เรื่องน่าสนใจก็คือบ้านเกิดของหมี่เหลืองหรือบะหมี่เหลืองนั้นเป็นของชาวจีนแต้จิ๋วและเมื่อเหล่าชาวแผ่นดินใหญ่อพยพย้ายถิ่นมาอยู่เมืองไทยหมี่เหลืองและเส้นโบ๊กเกี้ยจึงได้มาเจอกันในถ้วยหวานเย็นเรียกว่าเป็นการรวมรสชาติแบบจีนคนละสายที่เข้ากันดีเหลือเชื่อ กระทั่งหลายคนติดปากเรียกหวานเย็นตำรับนี้ว่า ‘หมี่หวาน’ และยกให้โบ๊กเกี้ยเป็นรองไปเสียอย่างนั้น
ร้านโบ๊กเกี๊ยเด็ดดังที่รู้จักกันดีนั้นมีจำนวนนับนิ้วได้ ลำดับแรกต้องยกให้ ‘โบ๊กเกี๊ยท่าดินแดง’ บริเวณย่านท่าดินแดงที่มีขาประจำต่อแถวรอซื้อกันแทบทุกวัน อีกร้านที่มีชื่อเสียงคือ ‘โบ๊กเกี๊ยบางลำพู’ บริเวณใกล้กับสะพานบางลำพูที่เปิดบริการความอร่อยมานาน 20 ปี ส่วนอีกหนึ่งร้านโบ๊กเกี้ยเลื่องชื่อนั้นอยู่ไกลถึงจังหวัดนครสวรรค์ ‘เจ๊เนี้ยวโบ๊กเกี้ย’ เป็นร้านขนมหวานจีนไหหลำเก่าแก่กลางย่าน ที่มีให้เลือกอร่อยทั้งโบ๊กเกี๊ยรังนกและ ‘เซงถึง’ หรือรวมมิตรสมุนไพรจีน อาทิ รากบัวพุทราเชื่อมแปะก๊วย ฯลฯ ราดน้ำเชื่อมหอมๆ โปะด้วยน้ำแข็งเกล็ดละเอียด ชาวจีนนิยมกินดับร้อนหรือปรับสมดุลธาตุในร่างกาย
หวานเย็นจากเมล็ดมะเดื่อรสชาติหวานเย็นแดนใต้
อีกหนึ่งตำรับหวานเย็นแบบจีนๆ ที่ฉันติดใจคือ ‘โอ้เอ๋ว’ วุ้นเนื้อเด้งนิ่มมีกลิ่นกล้วยอ่อนๆ ของขึ้นชื่อประจำเมืองภูเก็ตรวมถึงเมืองท่าใหญ่ริมทะเลทางใต้อย่างตรังและสงขลา เรื่อยไปถึงปีนังที่มีชาวจีนฮกเกี้ยนอาศัยอยู่หนาตา ซึ่งครั้งหนึ่งฉันเองเคยพบวุ้นโอ้เอ๋วเสิร์ฟกับน้ำเลม่อนในประเทศไต้หวันซึ่งมีชาวฮกเกี้ยนเป็นประชากรส่วนใหญ่ด้วยเหมือนกัน หากพูดว่าโอ้เอ๋วนั้นเป็นวุ้นตำรับฮกเกี้ยนจึงไม่ผิดนัก
ความพิเศษของโอ้เอ๋วอยู่ตรงวัตถุดิบสำคัญที่นำมาทำวุ้น ซึ่งได้จาก ‘เมล็ดโอ้เอ๋ว’ หรือเมล็ดผลมะเดื่อไต้หวัน (คนจีนเรียก ‘อ้ายหวี้’ ลักษณะคล้ายผลมะม่วงลูกป้อม) นำมาแช่น้ำจนได้เมือกใสๆ จากนั้นจึงคั้นเมือกนั้นกับกล้วยให้ได้กลิ่นหอมทิ้งไว้สักครู่ให้เซตตัวตัดเป็นชิ้นพอดีคำเสิร์ฟคู่กับ ‘น้ำนมแมว’ หรือน้ำเชื่อมที่มีกลิ่นรสพิเศษหอมนวลๆ แต่ไม่หวานจัดโปะด้วยน้ำแข็งเกล็ดหยาบหรือบางร้านอาจเติมเครื่องต่างๆ จนหน้าตาคล้ายกับน้ำแข็งไส เท่านี้ก็หวานเย็นชื่นใจทั้งยังได้สรรพคุณแก้ร้อนในจากตัววุ้นโอ้เอ๋วที่ชาวจีนฮกเกี้ยนส่งสูตรสืบทอดให้ลูกหลานมานานหลายร้อยปี
เรื่องน่าหวั่นใจก็คือ ปัจจุบันโอ้เอ๋ว ‘แท้ๆ’ ที่ทำจากเมล็ดมะเดื่อนั้นหากินได้ยากมาก ทั้งด้วยเมล็ดโอ้เอ๋วซึ่งต้องนำเข้าจากจีนแผ่นดินใหญ่หรือไต้หวันราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ และด้วยคนรุ่นใหม่ต่างเมินหน้าหนีหวานเย็นตำรับปู่ย่าตายาย กระทั่งอาจทำให้วุ้นกลิ่นกล้วยแสนอร่อยถ้วยนี้ต้องหายไปอย่างน่าเสียดายในสักวัน
ภาพ (โอ้เอ๋วกับน้ำเลม่อน) : อรุณวตรี รัตนธารี
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos