เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

เมนูอร่อยของเทียนา เจ้าหญิงผิวดำในโลกของดิสนีย์

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

ชวนไปรู้จักกับสาวผิวดำคนแรกในโลกเจ้าหญิงดิสนีย์ พร้อมกับเมนูเด็ดอย่าง Gumbo และ Beignets ที่เล่าเรื่องอะไรไว้มากกว่าที่คิด

หากยังจำกันได้ ก่อนที่จะมีแอเรียลผิวดำใน The Little Mermaid (2023 live action) ดิสนีย์เคยสร้างเจ้าหญิงผิวดำมาก่อนแล้วในปี 2009 นั่นก็คือเรื่อง Princess and the Frog ที่มีชื่อไทยว่า ‘มหัศจรรย์มนต์รักเจ้าชายกบ’ นั่นเอง

 

 

 

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Disney พยายามจะเล่าเรื่องอื่นนอกจากเรื่องคนขาว เพราะก่อนหน้า Princess and the Frog ดิสนีย์เองก็ได้มีเจ้าหญิงเจ้าหญิงจัสมินจาก Aladdin (1992) โพคาฮอนทัส จาก Pocahontas (1995) และ มู่หลาน จาก Mulan (1998) มาก่อน และทุกเรื่องก็ได้รับการตอบรับจากแฟนดิสนีย์เป็นอย่างดี แถมยังทำให้ภาพของดิสนีย์ดูหลากหลายและเป็นสากลมากขึ้นอีกต่างหาก

 

 

 

 

หากแต่ในกรณีของเทียน่า จาก Princess and the Frog กลับต่างออกไป ด้วยว่าเธอเป็นเจ้าหญิงสัญชาติแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกของดิสนีย์ และมีพื้นเรื่องที่คาบเกี่ยวกับทั้งนิทานปรัมปราและประวัติศาสตร์จริง นอกจากแก่นเรื่องอย่างความฝันและรักแท้แล้ว เทียนาจึงมีภูมิหลังด้านประวัติศาสตร์มาด้วย

 

 

 

 

และนี่คือเรื่องเล่าของเจ้าหญิงเทียนาที่ฉันอยากชวนทุกคนมาฟังกันค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

เจ้าหญิงคนแรกที่มีผิวดำ มีอาชีพ และมีปราสาทเป็นร้านอาหาร

 

 

 

 

นับตั้งแต่แอนิเมชันเรื่องแรกอย่าง Snow White and the Seven Dwarfs (1937) มาถึงปัจจุบัน เจ้าหญิงของดิสนีย์มักได้แรงบันดาลใจหรืออ้างอิงกับเรื่องเล่าคลาสสิกอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม นิทาน หรือแม้กระทั่งตำนานท้องถิ่น แต่กับ Princess and the Frog ดูเหมือนว่าดิสนีย์จงใจกระโดดออกจาก Comfort zone ของตัวเองอย่างจัง จึงเลือกที่จะย้อนศรนิทานเยอรมันสุดคลาสสิกเรื่อง ‘เจ้าชายกบ’ ของพี่น้องตระกูลกริมม์เอาเสียนี่

 

 

 

 

(นับตั้งแต่นี้คือการสปอยล์เนื้อเรื่องแทบทั้งหมด ใครยังไม่ได้ดู Princess and the Frog ตอนนี้ยังดูได้ทาง Disney+ hot star นะคะ)

 

 

 

 

จากนิทานต้นฉบับที่เขียนให้หญิงสาวได้จูบกับเจ้าชายกบจนคืนร่างเป็นหนุ่มรูปงาม ดิสนีย์เลือกจะพลิกเรื่องให้กลายเป็นว่า เมื่อเทียนาจูบกับเจ้าชายกบ (เจ้าชายนาวีนแห่งมัลโดเนีย) แล้ว ตัวเทียนาเองนั่นแหละที่ดันกลายร่างเป็นกบไปด้วยอีกคน หลังจากนั้นก็มีเรื่องราววุ่นวายสารพัดมาให้หนุ่มสาวได้พิสูจน์รักแท้ ถอนคำสาป และคลายปมเรื่องไปแบบ happily ever after ตามสูตรของดิสนีย์ แต่ถึงอย่างนั้นฉันก็ยังถือว่าเรื่องนี้เป็นหมุดหมายที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะมีการพลิกโครงเรื่องจากนิทานคลาสสิกแล้ว เทียน่าจาก Princess and the Frog ก็ยังเป็นเจ้าหญิงที่แหวกขนบเดิมไว้หลายอย่าง

 

 

 

 

ที่ว่าเธอเป็นเจ้าหญิงผิวดำนั้นก็ส่วนหนึ่ง (ซึ่งจะขอยกไปเล่าไว้ในตอนหลังนะคะ) แต่ส่วนสำคัญที่ทำให้ฉันชอบเทียน่าเป็นพิเศษก็เพราะว่า เธอไม่ได้ฝันถึงรักแท้ การผจญโลกกว้างนอกรั้ววัง หรือกอบกู้สันติสุขให้กับราษฎรอะไรอย่างนั้นหรอกค่ะ เธอแค่ฝันว่าจะมีธุรกิจร้านอาหารเป็นของตัวเองเท่านั้น แม้จะเป็นฝันธรรมดาๆ แต่ก็เป็นปมที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับเจ้าหญิงดิสนีย์คนไหนมาก่อนเลย

 

 

 

 

การเป็นคนผิวดำซึ่งมีเซ็ตฉากอยู่ในนิวออร์ลีนส์ รัฐหลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 1920s ทำให้ Princess and the Frog มีบริบททางสังคมซ่อนอยู่มากมาย เป็นต้นว่ามันเล่าเรื่องสถานะทางสังคมของคนดำในอเมริกันไว้ผ่านครอบครัวของเทียนาซึ่งมีคุณแม่เป็นพี่ช่างเย็บผ้า-พี่เลี้ยงเด็ก ให้กับครอบครัวคนรวยผิวขาว ส่วนผู้เป็นพ่อเองเป็นชนชั้นแรงงานที่ไม่ได้มีรายรับมากพอจะเก็บเงินไว้สานฝันในการทำร้านอาหารของตัวเองได้ และสุดท้ายก็ถูกส่งไปรบจนเสียชีวิตในหน้าที่

 

 

 

 

การจากไปของพ่อทิ้งความฝันในการลืมตาอ้าปากไว้ให้เทียน่าซึ่งเป็นคนรุ่นที่อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน ฝันธรรมดาๆ อย่างการเปิดร้านอาหารจึงกลายเป็นความทะเยอทะยานที่ทำให้เธอต้องทำงานอย่างหนัก เทียนารับจ๊อบเสิร์ฟอาหารทั้งกลางวันกลางคืน และนั่นก็ทำให้เธอกลายเป็นเจ้าหญิงที่ทำงาน มีอาชีพ และมีรายได้เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ดิสนีย์เลยทีเดียว 

 

 

 

 

 

 

 

การเขียนให้เจ้าหญิงเริ่มต้นมาจากแรงงานหาเช้ากินค่ำและฝันจะเติบโตไปเป็นผู้ประกอบการทำให้เธอเชื่อมโยงเข้ากับเด็กๆ (และผู้ใหญ่หลายคน) ได้ลึกซึ้งกว่าทุกฝันที่เคยมีมา คล้ายกับว่าดิสนีย์ในขณะนั้น (ราว 15 ปีก่อน) ก็กำลัง ‘ลองตลาดใหม่’ อยู่พอสมควร

 

 

 

 

กระนั้นชีวิตเจ้าหญิงผิวดำคนแรกของเราก็ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องสมหวังหรอกนะคะ แม้จะทำงานหนักแค่ไหนเธอก็ยังอยู่ในภาวะหน้าสามหลังสองแบบ Almost there คือเกือบจะถึงฝั่งฝันอยู่แล้วแต่ก็ไปไม่ถึงเสียที อย่างที่ปรากฎอยู่ในเพลง Almost There เพลงประจำตัวที่เทียนาร้องไว้ในฉากสำคัญของเรื่องนี้

 

 

 

 

‘…I remember Daddy told me
“Fairytales can come true
You gotta make ’em happen
It all depends on you”

 

 

 

 

So I work real hard each and every day
Now things for sure are going my way
Just doing what I do
Look out boys, I’m coming through

 

 

 

 

And I’m almost there
I’m almost there
People gonna come here from everywhere
And I’m almost there
I’m almost there’

 

 

 

 

เพลง Almost There ขับร้องโดย Anika Noni Rose

 

 

 

 

สุดท้ายเมื่อเธอได้ลงเอยกับเจ้าชายแล้วนั่นแหละ ร้านในฝันของเธอจึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในชื่อ Tiana’s Palace หรือ ปราสาทของเทียนา สมดังที่เธอตั้งใจไว้

 

 

 

 

แม้ว่ามันจะเป็นตอนจบที่ Happy Ending อย่างที่คนดูเชียร์อยู่ แต่ในฐานะคนที่เชื่อเรื่อง Strong Independent woman ฉันก็ยังขัดใจอยู่เล็กๆ เพราะดูเหมือนว่าก้าวสุดท้ายของความฝันนี้คือการต้องแต่งงานกับผู้ชายรวยหรืออะไรทำนองนั้นอยู่ดี (เอ้า!)

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อจะให้เกิดความยุติธรรมกับดิสนีย์สักหน่อย หากอ้างอิงจากเหตุการทางประวัติศาสตร์ แม้อับราฮัม ลินคอล์น จะลงนามเลิกทาสไว้ตั้งแต่ปี 1865 แต่หลังจากนั้นคนผิวดำก็ยังถูกเลือกปฏิบัติอยู่แทบจะไม่ต่างจากเดิม โดยเฉพาะในตอนใต้ที่มีทั้งกฎหมายจิมโครว์และกลุ่มคูคลักซ์แคลน ดังนั้นการที่เทียน่าจะตั้งตัวที่เมืองใต้สุดอย่างนิวออร์ลีนส์ ในช่วงปี 1920s ตามท้องเรื่อง คงถือได้ว่าเป็นเรื่องยากกว่าการตามหารักแท้หรือการจูบกบให้กลับมาเป็นเจ้าชายเสียอีก เพราะฉะนั้นการใช้ทางลัด อย่างการยืมอำนาจเงินทองมาจากเจ้าชายผู้ไร้บริบททางสังคมเพราะมาจากเมืองสมมติ จึงอาจจะเป็นการจบเรื่องนี้ได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้วละค่ะ

 

 

 

 

Gumbo และ Beignets สองเมนูที่เล่าเรื่องไปไกลกว่าความฝันของเทียนา

 

 

 

 

“You know the thing about good food? It brings folks together from all walks of life. It warms them right up and it puts little smiles on their faces, and when I open up my own restaurant, I tell you, people are gonna line up from miles around just to get a taste of my food!” – James (Tiana’s Father)

 

 

 

 

“Our food!” – Young Tiana

 

 

 

 

ข้างต้นนี้คือบทสนทนาชวนอบอุ่นใจระหว่างเทียนาและเจมส์ผู้เป็นพ่อ ซึ่งเชื่อว่าอาหารจะเชื่อมโยงคนจากทั่วทุกสารทิศเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความฝันว่าด้วยร้านอาหาร ดังนั้นนอกจากสถานะเจ้าหญิงสู้ชีวิตของเทียนาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลยในเรื่องนี้ก็คือเมนูอาหารของเธอค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

ดิสนีย์ให้ความสำคัญกับอาหารในการ์ตูนมาเสมอ แต่อาหารใน Princess and the Frog นั้นต่างออกไปจากเดิมตรงที่ว่า เมนูอาหารในเรื่องมันยึดโยงเข้ากับบริบททางสังคมและประวัติศาสตร์จริงๆ ไม่ใช่แค่พายหรือเค้กที่ทำมาประกอบฉากสวยๆ เท่านั้น

 

 

 

 

อย่าง Gumbo หรือ กัมโบ ซุปสูตรเด็ดของครอบครัวเทียนา ก็คือแกงอย่างหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ที่การใช้กระเจี๊ยบเขียวและรูส์ (แป้งผสมไขมัน) มาสร้างความข้นหนาให้กับน้ำแกง มีกลิ่นหอมเครื่องเทศ ใส่ไส้กรอก เนื้อสัตว์หรืออาหารทะเล แล้วต้มเคี่ยวหลายชั่วโมงเพื่อให้ได้รสเข้มข้นกลมกล่อม

 

 

 

 

กรรมวิธีและส่วนประกอบเช่นนี้คือการหลอมรวมเอาปากะศิลป์อย่างฝรั่งเศส แอฟริกัน สเปน เยอรมัน และชาวอเมริกันพื้นเมืองไว้ในเมนูเดียว สะท้อนให้เห็นความหลากหลายของหลุยเซียนาซึ่งเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส สเปน และเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีชาวเยอรมันอพยบจำนวนไม่น้อย ดังนั้นหากจะมีเมนูไหนซักเมนูที่จะมารับบทอาหารโซลฟู้ดของชาวหลุยเซียนาได้ดีที่สุด ก็คงจะเป็นกัมโบ้นี่แหละค่ะ

 

 

 

 

คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรกัมโบ

 

 

 

 

นอกจากกัมโบแล้ว อีกเมนูที่เราจะได้เห็นในฉากสำคัญของเรื่องก็คือ Beignets หรือ เบนเย แป้งสไตล์บริยอชทอดให้พองฟู แล้วโรยไอซิ่งหวานๆ ให้ทั่ว เป็นโดนัทไร้รูอย่างฝรั่งเศสที่เข้ามาในหลุยเซียนาช่วงศตวรรษที่ 18 และกลายมาเป็นขนมขายดีประจำเมืองนิวออร์ลีนส์มาจนถึงปัจจุบัน

 

 

 

 

ฉากสำคัญที่เทียน่าพยายามพิสูจน์ว่าเธอคู่ควรกับความฝันที่จะมีร้านอาหารเป็นของตัวเอง คือฉากที่เทียนาได้รับออร์เดอร์เป็นขนมเบนเยจำนวนมาก ที่จะทำเงินให้เธอมีเงินพอเช่าพื้นที่ทำร้านได้ ซึ่งฉากที่ว่านั้นก็คือวันก่อนเทศกาล Mardi Gras นั่นเองค่ะ

 

 

 

 

Mardi Gras เป็นภาษาฝรั่งเศสซึ่งแปลได้ว่า ‘วันอังคารอ้วน’ (Fat Tuesday) ซึ่งหมายถึงวันที่ผู้คนมักจะกินอาหารที่มีไขมันมากๆ ก่อนจะเข้าสู่ช่วงจำศีลอดอาหาร นับตั้งแต่พุธรับเถ้า (Ash Wednesday) ถึงวันอีสเตอร์ ซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติตามความเชื่ออย่างคริสตศาสนา

 

 

 

 

ช่วงจำศีลอดอาหาร นอกจากจะต้องกินอาหารเพียงมื้อเดียวแล้ว ยังควรงดเว้นอาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ เนย นม และไข่ด้วย พิธีกรรมนี้กินเวลายาวนานกว่า 40 วัน ดังนั้นในอดีตที่เทคโนโลยีความเย็นไม่ก้าวหน้าอย่างปัจจุบัน ครอบครัวที่มีอาหารสดพวกนี้อยู่จำนวนมากก็จะต้องหาวิธีใช้ให้หมดเพื่อไม่ให้ต้องทิ้งอาหารไปอย่างเปล่าประโยชน์ ดังนั้นขนมจำพวกแป้งทอดอย่างเบนเยที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยเนยนี่แหละค่ะเหมาะจะทำช่วง Mardi Gras มากที่สุด เพราะนอกจากจะช่วยกำจดเนย นม ไข่ ให้ทันเวลาแล้ว ยังเป็นการกินให้สาแก่ใจส่งท้าย ก่อนจะเข้าสู่ช่วงจำศีลอดอาหารนั่นเองค่ะ

 

 

 

 

หลังจาก Princess and the Frog แล้ว ดิสนีย์ยังไม่ได้พยายามจะให้เจ้าหญิงคนไหนหมกมุ่นกับการทำอาหารต่อ นอกจากจะเป็นเจ้าหญิงผิวดำ และเป็นเจ้าหญิงที่ทำงานหาเงินแล้ว เทียนาจึงยังคงครอบตำแหน่งเจ้าหญิงผู้ยืนหนึ่งเรื่องการทำอาหารมาจนถึงทุกวันนี้ด้วย และผลงานของเธอก็ไม่ธรรมดาเสียด้วย เพราะเธอมีตำราอาหารเป็นของตัวเอง และกำลังจะมีร้านอาหารของตัวเองที่ดิสนีย์แลนด์นิวออร์ลีนภายในเดือนกันยายน 2566 นี้ด้วย เรียกได้ว่าเธอมีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการทั้งในจอและนอกจอเลยค่ะ แฟนๆ เจ้าหญิงดิสนีย์รอลิ้มรสอาหารอร่อยๆ ที่ Tiana Palace ได้เลย

Share this content

Contributor

Tags:

อาหารกับภาพยนตร์

Recommended Articles

Food StoryWilly Wonka กับชีวิตที่หวานปนขมเหมือนรสช็อกโกแลต
Willy Wonka กับชีวิตที่หวานปนขมเหมือนรสช็อกโกแลต

ร่วมเดินทางตามหาต้นกำเนิดและเปิดสูตรลับช็อกโกแลตวองก้า