ร่วมเดินทางตามหาต้นกำเนิดและเปิดสูตรลับช็อกโกแลตวองก้า
จำกันได้หรือไม่ ภาพยนตร์ขวัญใจผู้คนตลอดกาลอย่าง Charlie and the Chocolate Factory (2005) หรือชื่อไทยว่าชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต กลับมาอีกครั้งในรูปแบบภาพยนตร์กลิ่นอายมิวสิคัล เรื่อง Wonka คราวนี้หยิบยกชีวิตของชายหนุ่ม วิลลี่ วองก้า เจ้าของโรงงานช็อกโกแลตสุดเพี้ยนที่ตกผู้ชมมานักต่อนัก ด้วยคาแรกเตอร์แสนประหลาดและความมหัศจรรย์พันลึกของโรงงานช็อกโกแลต ผลงานชิ้นเอกที่เขาสร้างมาทั้งชีวิต
หลายคนที่เคยดูชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลต คงทราบเรื่องราวของวองก้าในมุมเจ้าของโรงงานช็อกโกแลตที่ตามหาผู้สืบทอดเพียงเท่านั้น ซึ่งตัวเอกของเรื่อง คือ ชาร์ลี เด็กหนุ่มผู้กล้าหาญและซื่อสัตย์ แต่บทความนี้ จะขอพาทุกคนย้อนกลับไปก่อนกำเนิดโรงงานช็อกโกแลต เพื่อร่วมเดินทางตามหาว่าอะไรกันที่ทำให้เขากลายเป็น วิลลี่ วองก้า เจ้าของโรงงานช็อกโกแลตชื่อดังก้องโลก
“I’m something of a magician, inventor and chocolate maker.”
จุดเริ่มต้นความฝันเจ้าของโรงงานช็อกโกแลต
[มีการเปิดเผยส่วนสำคัญของเนื้อเรื่อง]
จากเวอร์ชันก่อนๆ ทำให้หลายคนคิดว่าเด็กชายที่ชื่อ วิลลี่ เริ่มชอบช็อกโกแลตจากขนม Trick or Treat ในวันฮาโลวีนหลังจากเขาได้กินช็อกโกแลตชิ้นสุดท้ายจากกองไฟที่พ่อเผาทิ้ง ทำเอาเด็กน้อยที่รับชมหัวใจแตกสลายไปตามๆ กัน ทั้งยังกล่าวถึงโทษของขนมหวานที่ส่งผลต่อสุขภาพฟัน ซึ่งอาจเข้าใจได้ในฐานะที่พ่อของวิลลี่เป็นทันตแพทย์ จึงเคร่งครัดเป็นพิเศษ แต่ถึงอย่างไร ขนม ลูกอม ก็เป็นของคู่กันกับเหล่าเด็กน้อยอยู่แล้วนี่คะ
สำหรับ Wonka (2023) ทำให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้ววิลลี่ เริ่มหลงใหลช็อกโกแลตจากฝีมือของแม่ผู้ให้กำเนิด เมื่อเรื่องเล่าย้อนอดีตไปยังวิลลี่วัยเยาว์ ความฝันแรกของเขาคือการเป็นนักมายากล แต่ฝันก็เปลี่ยนเพียงชั่วข้ามคืนหลังจากได้กินช็อกโกแลตของแม่ ที่เขาการันตีว่าอร่อยที่สุดในโลก ด้วยสูตรลับบางอย่างที่เธอไม่เคยบอกใคร รวมถึงตัววิลลี่เองจุดประกายให้เขาอยากเผยแพร่รสชาติช็อกโกแลตแสนอร่อยของตัวเองให้ทั้งโลกได้ประจักษ์
ทว่า หนทางการไปถึงความฝันนั้นดูจะยากลำบากเกินไปสำหรับครอบครัวยากจนอย่างเขา ที่อาศัยเรือเป็นบ้านไว้พักพิง ร่อนเร่ไปตามสายน้ำ แถมสุดท้ายยังเสียแม่ผู้เป็นโลกทั้งใบ ทิ้งไว้เพียงช็อกโกแลตแท่งสุดท้าย แต่ตัวละครวิลลี่ไม่เคยทำให้เรารู้สึกว่าเขานั้นตัวคนเดียว เหงา และโดดเดี่ยวแม้แต่น้อย กลับร่าเริง มีอารมณ์ขัน และเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นในการตามหาความฝัน ทั้งยังมอบพลังบวกให้กับคนรอบข้างเสมอ จึงเป็นเหตุผลที่ฉันตกหลุมรักตัวละครนี้เข้าอย่างจัง
รสชาติการเดินทางหวานปนขมราวกับรสช็อกโกแลต
“ผมใช้เวลากว่าเจ็ดปีท่องโลก เพื่อฝึกฝนให้เชี่ยวชาญ” การเดินทางตามหาวัตถุดิบสำหรับทำช็อกโกแลตของวิลลี่นั้นแปลกหลุดโลก และไม่เหมือนใคร (ตามสไตล์หนังแฟนตาซี คงไม่ต้องถามหาความสมจริงกันหรอกเนอะ) ไม่ว่าจะเป็น ส่วนผสมที่ได้จากสารสกัดของเมฆพายุ แสงแดดยามเช้า น้ำตาตัวตลก นมยีราฟ แมลงดอกไม้ และผลโกโก้จากลุมป้าแลนด์ เกาะของคนตัวจิ๋ว ที่ทั้งเกาะมีผลโกโก้เพียง 4 ผลเท่านั้น เรียกได้ว่าสเปเชียลสุดๆ
ความพิเศษและหายากของโกโก้ คงแอบอิงเรื่องจริงอยู่บ้าง หากเทียบกับหลักฐานในอดีตที่เชื่อกันว่า ช็อกโกแลต มีตั้งแต่ยุคอารยธรรมชาวมายัน เป็นเครื่องดื่มในวาระพิเศษ และใช้สักการะบูชาทวยเทพ ถือว่าเป็นเครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์ และเมื่อเข้าสู่ยุโรปช็อกโกแลตถูกนำมาดัดแปลงเติมน้ำตาล นม เป็นช็อกโกแลตร้อนอย่างในปัจจุบัน ซึ่งก็ยังหายากและมีราคาแพง จึงเป็นเครื่องดื่มสำหรับคนรวยอยู่ดี
คาดว่าบรรยากาศในภาพยนตร์เองก็จงใจให้ช็อกโกแลตเป็นของชั้นเลิศ ราคาแพง สังเกตได้จากคนซื้อมักสวมเสื้อผ้าดูดี บ่งบอกว่ามีฐานะ แต่ที่เห็นชัดคงเป็นตัวละครอย่าง นูเดิล สาวใช้กำพร้า เพื่อนคนแรกของวิลลี่ เธอไม่เคยกินช็อกโกแลตมาก่อนในชีวิต และไม่กล้ากินด้วยซ้ำ เพราะเธอไม่มีเงินแม้แต่เหรียญเดียว
นอกจากนี้ หนังยังเซ็ตฉากให้ แกลลอรี กูร์เมต์ เป็นสถานที่ผลิตและจำหน่ายช็อกโกแลตที่ดีที่สุด ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองที่ผู้คนต่างหลงใหลและคลั่งไคล้ช็อกโกแลต ด้วยความเป็นนักประดิษฐ์ นักมายากล และนักทำช็อกโกแลต ทำให้ช็อกโกแลตวองก้านั้นมหัศจรรย์ ไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่อง เช่น ช็อกโกแลตกินแล้วผมขึ้นดกดำ ช็อกโกแลตกินแล้วอารมณ์แปรปรวนสุดฤทธิ์ หรือช็อกโกแลตต้านแรงโน้มถ่วง กินแล้วบินได้เหมือนแมลงมีปีก และเป็นไปตามคาดช็อกโกแลตสูตรพิสดารของเขาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทำเอาชาวเมืองติดงอมแงม (ถ้าชีวิตจริงคงไม่กล้ากินกันแหงๆ )
ทว่า ทุกการเริ่มต้นย่อมมีอุปสรรคเสมอ เช่นเดียวกันกับตัวเอกของเรื่อง การจะเป็นราชาช็อกโกแลตไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อความเด่นเกินหน้าเกินตา วิลลี่ของเราจึงโดนเลื่อยขาเก้าอี้อย่างช่วยไม่ได้
ตัวละครวายร้ายจอมเจ้าเล่ห์ สลักเวิร์ธ พร็อดโนส และฟิคเคิลกรูเบอร์ สามเจ้าพ่อช็อกโกแลตรายใหญ่แห่งแกลลอรี กูร์เมต์ ผู้ผูกขายการขายช็อกโกแลต ใช้สารพัดวิธีขับไล่วิลลี่ออกไปจากเมือง เพราะยอมรับว่าช็อกโกแลตวองก้านั้น อร่อยเกินกว่าช็อกโกแลตธรรมดา แสนเรียบง่าย แต่ซ่อนไปด้วยความดำมืดของพวกเขา
สำหรับฉันไม่คิดเลยว่า ภาพยนตร์ฟีลกู๊ดแฟนตาซีจะนำเสนอประเด็นจิกกัดสังคมแฝงมาด้วย แม้จะแบบผิวเผินแต่มันสะท้อนความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของโลกให้เราได้ฉุกคิด การผูกขาดทางการค้าจากเจ้าสัวรายใหญ่เป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ อำนาจทางการเงิน โอกาสในการลงทุน ย่อมมีมากกว่าผู้ค้ารายย่อย หรือคนเพิ่งเริ่มธุรกิจเบี้ยน้อยหอยน้อยอย่างวิลลี่ ถ้าเทียบกับปัจจุบัน ช็อกโกแลตวองก้าคงนับเป็นธุรกิจ SME เล็กๆ
ยิ่งไปกว่านั้น หนังยังเล่นประเด็นความโลภของมนุษย์ เมื่ออำนาจของเงินใช้ซื้อได้แม้กระทั่งเกียรติและศักดิ์ศรี ในฉากที่ สลักเวิร์ธและพรรคพวก ติดสินบนตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ และบาทหลวงผู้ธำรงศาสนา ด้วยช็อกโกแลตที่มีค่าเปรียบดั่งเงินทอง ยิ่งตอกย้ำให้เห็นด้วยบทพูดของตัวละคร นูเดิล ตัวแทนชนชั้นผู้น้อยในสังคม
“คนโลภชนะคนจนตลอด มันเป็นวิถีของโลก”
เปิดสูตรลับช็อกโกแลตของแม่
สุดท้ายตามพล็อตหนังยอดนิยม ตอนจบก็ต้อง Happy Ending ตัวเอกของเราก็เอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างสวยงามด้วยการช่วยเหลือจากผองเพื่อน ความกล้าหาญ มุ่งมั่น และความหลงใหลในช็อกโกแลตขั้นสุด นำเอาช็อกโกแลตวองก้า ออกสู่สายตาชาวโลกได้สำเร็จ ทว่าความฝันสูงสุดของวิลลี่ ไม่จบแค่นี้ สิ่งที่เขารอคอยคือ คำสัญญาของแม่
“เมื่อลูกเปิดเผยช็อกโกแลตของลูกให้โลกเห็น แม่จะไปอยู่ข้างๆ ลูก”
แม้ความจริงจะเป็นไปไม่ได้ ที่คนตายไปแล้วจะกลับมาอีกครั้ง แต่ในจินตนาการทุกอย่างล้วนเป็นไปได้ เมื่อฉากสุดท้ายภาพแม่ผุดขึ้นมาอีกครั้ง แสดงว่าให้รู้ว่าวิลลี่ทำสำเร็จด้วยตัวเองแม้ไม่รู้สูตรลับของแม่ก็ตาม
ใครจะรู้ล่ะคะว่า สูตรลับที่ตามหามาเนิ่นนาน เดินทางไปทั่วโลกตั้งหลายปี แท้ที่จริงคำตอบมันอยู่กับเขามาตลอด เมื่อเขาตัดสินใจแกะช็อกโกแลตแท่งสุดท้าย…
‘ความลับ ไม่ใช่ช็อกโกแลต แต่คือคนที่เราแบ่งปัน’
ความลับดันไม่ใช่สูตรพิเศษหรือวัตถุดิบหายากอะไร แต่คือ การแบ่งปันความอร่อยให้กับคนอื่นๆ ต่างหากล่ะ (เอ้า!)
บางทีหนังอาจจะกำลังบอกให้เราลองค้นหาและสร้างสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องทำตามคนอื่น ถ้าหากเรามีความฝัน ความมุ่งมั่นมากพอ ท้ายสุดอาจได้ผลลัพธ์อันสวยงาม เหมือนช็อกโกแลตวองก้าก็ได้ค่ะ
ว่าแล้วก็ขอพาทุกคนไปแกะสูตรลับช็อกโกแลตพิลึกกึกกือ ฉบับวองก้ากันสักหน่อยค่ะ
Hoverchoc (โฮเวอร์ช็อก) กินแล้วบินได้
ส่วนผสม
– มาร์ชเมลโลว์ จากบึงเมลโลว์แห่งเปรู
– คาราเมล ปรุงรสจากน้ำตาอันขมขื่นของตัวตลกรัสเซีย
– เชอร์รี่ จากสวนแอมพีเรียลญี่ปุ่น
– แมลงดอกไม้
Silver Lining (ซิลเวอร์ไลท์นิ่ง) กินแล้วปิ๊งไอเดียเจ๋งๆ
ส่วนผสม
– เมฆพายุที่ควบแน่น
– แสงอาทิตย์
Big Night Out (บิ๊กไนท์เอาต์) กินแล้วอารมณ์แปรปรวน เหมือนไปสังสรรค์มาทั้งคืน
ส่วนผสม
– แชมเปญทรัฟเฟิล
– ไวน์ขาว
– ไวน์แดง
– วิสกี้ ฟัดจ์
– ไวน์พอร์ต
แต่สูตรลับนี้ไม่แนะนำให้ทำตามจริงๆ นะคะ
ใครสนใจเรื่องราวของ วิลลี่ วองก้า สามารถรอติดตามช่องทางดูภาพยนตร์เรื่อง Wonka ได้หลังออกจากโรงภาพยนตร์ หรือ ใครอินมากสามารถย้อนดูเรื่อง Charlie and the Chocolate Factory ได้ที่ Prime Video สำหรับสายรักการอ่านต้องหนังสือเรื่องนี้เลย โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์ โดย Roald Dahl ค่ะ
เรื่องโดย สุจินันท์ เอกชีวะ
รูปภาพจาก
A Guide To The Sweet Treats In “Wonka”
WONKA | Official Trailer
Wonka | Trailer #2
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos