กินพืชเป็นหลัก นอกจากจะดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังดีต่อร่างกายด้วย ที่สำคัญคืออร่อยอีกต่างหาก ถ้ายังไม่เชื่อ เรามีสูตรมาให้ลองทำกัน
ยุคนี้นอกจากการออกกำลังกาย หลายคนยังดูแลเรื่องอาหารการกินมากขึ้น เราเริ่มเปิดรับทฤษฎีการกินใหม่ๆ จากต่างประเทศ นอกเหนือจากการกินมังสวิรัติ (Vegetarian) ที่รู้จักกันอยู่แล้วเช่น Vegan, Paleo diet, Raw food diet, Mediterranean diet, Ketogenic diet ฯลฯ ซึ่งจริงๆ ทฤษฎีเหล่านี้มีมานานแล้ว แต่เป็นที่นิยมในกลุ่มคนรักษาสุขภาพเท่านั้น
หลายทฤษฎีที่ว่ามามีหลักการคล้ายคลึงหรือทับซ้อนกันอยู่บ้าง โดยมีจุดยืนเดียวกันคือ ‘เพื่อคนกิน’ ไม่ว่าจะกินให้สุขภาพดีขึ้นหรือลดน้ำหนัก แต่มีทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจ คือการกินแบบ Plant-based diet ที่นอกจากจะโฟกัสที่ประโยชน์ของคนกินแล้ว ยังโฟกัสถึงสิ่งแวดล้อมหรือโลกของเราอีกด้วย
อะไรคือการกินแบบ Plant-based
Plant-based diet คือการรับประทานพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงกับธรรมชาติ พูดง่ายๆ คือกินผักผลไม้ โดยเฉพาะพวกธัญพืช ถั่วฝัก ถั่วเปลือกแข็ง ลดหรือหลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และอาหารแปรรูปต่างๆ วิถีการกินแบบ plant-based จึงไม่จำเป็นต้องไม่กินเนื้อสัตว์เลย อาจมีหรือไม่มีเนื้อสัตว์ก็ได้ แต่ถ้ามีก็เป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับผัก อันนี้คือข้อต่างของ plant-base diet และมังสวิรัติ
หลักการของ Plant-based diet มีง่ายๆ ดังนี้
- ใช้วัตถุดิบสดในการทำอาหาร ลดการกินอาหารสำเร็จรูปหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
- งดและหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ถ้าใช้ก็เป็นส่วนน้อยหรือตัวเสริมเท่านั้น
- เน้นการกินผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืช ถั่วฝัก ถั่วเปลือกแข็ง เป็นหลัก
- หลีกเลี่ยงการใช้วัตถุดิบผ่านกรรมวิธีแปรรูป การสกัด ขัดขาว เช่น น้ำตาลทราย แป้งสาลี
ทำไมการกิน Plant-based diet ถึงรักษ์โลก?
เพราะการบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลงถือเป็นการไม่สนับสนุนการทำปศุสัตว์ ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับสองของก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของโลกร้อนที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนี้ (จากสถิติองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกพบว่า การทำปศุสัตว์เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 2 รองจากภาคพลังงาน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี) ดังนั้นหากมนุษย์เรากินพืชเป็นหลักก็จะช่วยสร้างสมดุลไม่ให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป
Plant-based diet ดีอย่างไรต่อคนกิน
เราก็พอรู้กันมาบ้างแล้วว่าการกินอาหารที่ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุดเป็นผลดีกับร่างกาย เพราะมีสารอาหารและกากใยที่ร่างกายดูดซึมไปใช้งานได้ทันที มีผลงานวิจัยของ Dr. Dean Ornish และ Dr. John McDonugall ระบุว่าการกินอาหารพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง นักวิจัยมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดยังพบว่า ผู้ที่รับประทานผักผลไม้มากกว่าคนทั่วไปจะมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยลงอีก ทั้งการกินเนื้อสัตว์โดยเฉพาะที่ผ่านกระบวนการปรุงมากๆ เข้า จะมีสาร AGEs เป็นสารเร่งกระบวนการเสื่อมภายในร่างกาย ทำให้เกิดโรคกระดูก หัวใจ รวมถึงอวัยวะภายในต่างๆ
จากข้อสรุปทั้งหมดที่ว่ามาจะเห็นได้ว่าการกินวิถี Plant-based ไม่ได้เป็นการหักดิบไม่กินเนื้อสัตว์ไปเลยทีเดียว ยังสามารถเลือกกินเนื้อสัตว์ได้ (แต่ในปริมาณน้อย) เน้นไปที่การกินผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืชให้มาก ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อสุขภาพคนกินแล้ว ยังได้ช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นระยะยาวอีกด้วย
KRUA.CO เลยมีสูตรอาหาร plant-based ง่ายๆ มาให้ได้ลองทำกัน โดยสูตรเหล่านี้เป็นสูตรที่ไม่มีเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์เลย แต่ถ้าใครอยากปรับให้กินง่ายขึ้นมาหน่อยอาจใส่เนื้อสัตว์ลงไปบ้างก็ได้ เพราะสุดท้ายเราก็อยากใช้ชีวิตแบบมีสุขภาพดีๆ บนโลกที่น่าอยู่ตลอดไปเช่นเดียวกัน
สลัดมะเขือเทศเนื้อฉ่ำหวาน ใส่ความมันๆ เค็มๆ ของถั่วแระ ถั่วชิกพี กินกับน้ำสลัดเพสโต้หอมมัน มีเปรี้ยวนิดๆ เพื่อตัดเลี่ยน
บาบากานุช หรือดิปมะเขือม่วงของชาวตะวันออกกลาง จิ้มกินกับขนมปังพิตต้า มีเอกลักษณ์ที่กลิ่นหอมของมะเขือม่วงที่เอามาเผา ผสมกับกลิ่นหอมของตาฮินี (Tahini) หรือครีมงา เครื่องปรุงสำคัญในอาหารตะวันออกกลาง เมดิเตอร์เรเนียน และแอฟริกา นอกจากจะเป็นอาหารกินเล่นแล้ว ยังกินเป็นอาหารหลักสำหรับคนกินมังสวิรัติก็ยังได้
แกงกะหรี่ฟักทองแบบ vegan คือไม่ใช้ครีมหรือนมสด ใช้รสชาติหวานจากเนื้อฟักทอง หอมใหญ่ และกะทิ ใครเป็นสายมังสะแบบไม่ซีเรียสอาจใส่เนยกับครีมหรือโยเกิร์ตได้ก็อร่อยไปอีกแบบ เพิ่มเนื้อสัมผัสแกงด้วย dumpling ที่ทำจากถั่วชิกพีต้ม
เลนทิลเป็นถั่วเมล็ดแบนโค้ง เป็นอาหารโบราณของมนุษย์ตั้งแต่สมัยยุคหิน อุดมด้วยสารอาหารโดยเฉพาะโฟเลต ไฟเบอร์ และแมกนีเซียม เมนูนี้นำเลนทิลที่ผัดและปรุงรสกับมันฝรั่งมาปั่นให้เป็นเนื้อเดียวกัน ปั้นเป็นก้อนทอด ใช้แทนเนื้อสัตว์ในเบอร์เกอร์ได้อย่างแยบยล
ซุปถั่วขาวใส่ผักหลากหลายชนิด เน้นความหวานธรรมชาติจากถั่วและผัก ใครชอบรสกลมกล่อมนิดๆ อาจเพิ่มอกไก่หรือแฮมลงไปเล็กน้อยก็ได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
https://www.healthline.com/nutrition/plant-based-diet-guide#foods-to-avoid
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/715623
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos