Chickpea Tofu ของฮิตของคนรักสุขภาพ ทำง่ายมาก!
ถั่วลูกไก่ เป็นถั่วเมล็ดแข็ง เปลือกหนาที่มีคุณประโยชน์เยอะเกินตัว ทั้งโปรตีนที่มีคุณภาพ วิตามิน แร่ธาตุและใยอาหารสูง แคลอรี่ต่ำ ทั้งยังมีไขมันดีที่จำเป็นต่อแก่ร่างกาย ถือเป็นตัวช่วยของคนที่กำลังลดน้ำหนัก เหมาะกับสายสุขภาพหรือสายมังสวิรัติทั้งหลาย เนื้อเต้าหู้มีความแน่น เด้ง หนึบ กลิ่นถั่วไม่แรง ต่างจากเต้าหู้ที่ทำจากถั่วเหลือง ตอบโจทย์คนที่เบื่อหรือยี๋เต้าหู้ขาว กำลังมองหาเต้าหู้ทางเลือกอื่น ๆ รวมถึงใครที่แพ้โปรตีน ไม่ชอบรสและกลิ่นจากถั่วเหลือง เต้าหู้ถั่วลูกไก่น่าจะตอบโจทย์ได้ดีทีเดียว
เต้าหู้ถั่วลูกไก่ เรียกง่าย ๆ ได้ว่า เต้าหู้พม่า ที่เรียกเช่นนี้เพราะเป็นเต้าหู้ที่คนพม่าเค้ากินกันเป็นปกติ บ้างก็กวนกินเป็นซุปถั่วข้นคล้ายโจ๊ก (ถั่วพูอุ่น) นำมาราดบนเส้นใหญ่ (อั๊ปเปรี้ยว) บ้างก็หั่นเป็นชิ้นเต๋าแล้วนำมายำ (วันดาบู้) หรือนำมาทอดเป็นเฟรนช์ฟรายด์กรอบ ๆ จิ้มกับน้ำจิ้มถั่วรสเผ็ดเค็มก็อร่อย เรียกว่านำไปทำเมนูได้สารพัดทั้งกินสด ผัด ยำ ย่างหรือทอด
วิธีทำเต้าหู้ถั่วลูกไก่มีอยู่ 2 วิธีหลักๆ คือทำจากเมล็ดถั่วลูกไก่และทำจากแป้งถั่วลูกไก่สำเร็จรูป หากทำจากแป้งถั่วลูกไก่ให้กวนแป้งกับน้ำรวมกัน อาจเติมเกลือเพิ่มรสชาติ หรือเติมผงขมิ้นเพิ่มสีสัน กวนจนแป้งสุกและข้นหนืด เทใส่ถาด รอจนเย็นตัวจึงนำมาตัดเป็นชิ้น ๆ ในไทยเองอาหารลักษณะเช่นนี้เห็นจะพบได้มากแถบจังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอนและตาก อีกทั้งจังหวัดแถบติดชายแดนทั้งหลายด้วย ดั่งที่ได้ผ่านตาจากคอนเทนต์ ข้าวแรมฟืน โถ่พูอุ่น แป้งเคี่ยวหอมเนียนนวลถิ่นเหนือ by KRUA.CO นอกจากทำจากถั่วลูกไก่แล้ว เต้าหู้ชนิดนี้ยังทำจากข้าว ไม่ก็ถั่วลิสงหรือถั่วอื่นๆ ได้อีกด้วย ส่วนถ้าตั้งต้นจากเมล็ดถั่วลูกไก่ ให้นำถั่วไปแช่น้ำจนพองตัว จากนั้นนำมาปั่นและกวนจนข้นหนืด เทลงพิมพ์ รอให้เซ็ตตัวก่อนตัดแบ่งเช่นกัน
สำหรับสูตรในครั้งนี้เพื่อความคราฟต์และคงความดั้งเดิม เราจะตั้งต้นจากเมล็ดถั่วลูกไก่ แต่ถ้าใครต้องการง่ายกว่านี้แนะนำใช้แป้งถั่วลูกไก่สำเร็จรูปแทนก็ได้ไม่ผิด บอกเลยว่าวิธีทำเต้าหู้ถั่วลูกไก่นั้นง่ายกว่าเต้าหู้จากถั่วเหลืองหลายเท่า ใช้วัตถุดิบน้อยเพียงแค่ 2 อย่าง คือ เมล็ดถั่วลูกไก่ (Chickpea) และน้ำ สัดส่วนวัตถุดิบและอุปกรณ์ตามนี้เลย…
– ถั่วลูกไก่แห้ง 200 กรัม
– น้ำ 600 กรัม
– อุปกรณ์ เครื่องปั่นน้ำ ผ้าขาวบาง ถาดหรือพิมพ์สี่เหลี่ยมขนาด 8×10 นิ้ว หรือตามชอบ
STEP 1
ล้างถั่วลูกไก่ให้สะอาด โดยซาวถั่วในน้ำประมาณ 2-3 รอบ คัดเมล็ดที่ฝ่อออก ใส่ถั่วที่ล้างแล้วลงในอ่างผสมหรือกล่องที่มีฝาปิด ใส่น้ำกรองลงไปให้ท่วมสูงประมาณ 2 เท่าของถั่ว แช่ทิ้งไว้นาน 6 ชั่วโมงหรือข้ามคืนจน (หากแช่ข้ามคืนให้เก็บไว้ในตู้เย็น) ถั่วจะดูดน้ำจนพองตัวขึ้นเป็นสองเท่า เทน้ำออก ล้างถั่วให้สะอาดอีกรอบ พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ
STEP 2
ถั่วพร้อมแล้ว ไปเริ่มปั่นกันเล้ยยย ปั่นถั่วกับน้ำจนเนื้อละเอียดดี โดยให้แบ่งปั่นประมาณ 2 – 3 รอบจะทำให้ได้เต้าหู้ที่มีความเข้มข้นดีเชียวแหละ พยายามเฉลี่ยปริมาณน้ำของแต่ละรอบให้เท่าๆ กันแค่นั้นพอ
STEP 3
กรองน้ำถั่วผ่านผ้าขาวบาง บีบเอาน้ำออกจากถั่วให้ได้เยอะที่สุด จนให้เหลือแต่กากถั่วแห้ง ๆ เลยยิ่งดี กากถั่วนี้มีโปรตีนและใยอาหารสูง เราสามารถนำไปผสมในทอดมัน เนื้อบดเบอร์เกอร์ หรือทำเบเกอร์รี อย่างมัฟฟินหรือคุกกี้ก็ได้
STEP 4
น้ำถั่วลูกไก่เมื่อทิ้งไว้ซักระยะ แป้งจากถั่วจะนอนก้น ให้เราคนแป้งจนละลายเข้ากันดีเสียก่อน จากนั้นเทใส่หม้อ ยกหม้อตั้งบนไฟกลาง ในช่วงแรกหมั่นคนส่วนผสมบ่อยๆ ไม่อย่างนั้นอาจจะไหม้ติดก้นหม้อได้ พอเริ่มเดือด ให้ลดเป็นไฟอ่อน แล้วคนต่อไปเรื่อยๆ จากน้ำถั่วเหลวๆ จะค่อยๆ ข้นและหนืดขึ้นลักษณะคล้ายเรากวนแป้งเปียก ขั้นตอนนี้ห้ามหยุดเด็ดขาด ! เพราะถ้าหยุดคนส่วนผสมจะเดือดและกระเด็ดขึ้นมาโดนมือเราได้ กวนประมาณ 10-15 นาที (เพิ่ม/ลด เวลาได้ตามความชอบ) จนส่วนผสมข้นหนืดขึ้นหรือได้ความข้นตามต้องการ ใครชอบกินเนื้อเต้าหู้นิ่มหน่อยก็ให้ลดเวลาคนลง ใครอยากได้เต้าหู้เนื้อเฟิร์มก็เพิ่มเวลาคนให้นานมากขึ้น
STEP 5
เมื่อเนื้อข้นตามต้องการแล้ว ให้รีบเทส่วนผสมใส่ถาดหรือภาชนะที่เตรียมไว้ทันที เพราะเต้าหู้จะเซ็ตตัวเร็วมาก เคาะถาดเล็กน้อย รีบเกลี่ยหน้าให้เรียบ เสร็จแล้ววางไว้ที่อุณหภูมิห้องจนเต้าหู้เย็นสนิท
STEP 6
เมื่อเต้าหู้เย็นสนิทดีแล้ว ก่อนตัดเป็นชิ้นๆ แนะนำให้แช่เต้าหู้ไว้ในตู้เย็นซักหนึ่งคืนจะทำให้ตัดง่ายขึ้น ถ้าใครชอบเต้าหู้แบบนิ่มจะตัดเก็บไว้เลยก็ได้เช่นกัน
สามารถเก็บเต้าหู้ถั่วลูกไก่ไว้ได้โดยหากเป็นเต้าหู้เนื้อนิ่มให้ใส่ไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดสนิท เทน้ำกรองลงไปให้ท่วม ปิดฝาแล้วแช่เก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา ส่วนถ้าเป็นเต้าหู้เนื้อแข็งให้เก็บใส่ในกล่องมีฝาปิดหรือถุงซิปบล็อค แช่เก็บไว้ในตู้เย็น สามารถเก็บได้นานประมาณ 2 สัปดาห์
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos