รู้จักอาหารอินเดียเหนือจรดใต้กับทีม KRUA x อายุน้อยร้อยร้าน ไปอินเดียยังไม่ได้ก็ไปกินอาหารอินเดียแทนก่อน
ปีนี้เป็นอีกปีที่ทีมงาน KRUA.CO พากันบ่นโหยหาการแพ็กกระเป๋าหนีงานไปเที่ยวต่างประเทศกันทุกภาคส่วน โดยปกติแล้วเราจะสลับๆ กันแพ็กกระเป๋าอยู่เนืองๆ แต่สองสามปีให้หลังมานี้ทุกคนต่างพร้อมใจกันอยู่ติดที่หนีโควิดแบบไม่ต้องนัดหมาย
กระนั้นก็ตาม คอนเทนต์อาหารต่างประเทศก็โผล่มาเนืองๆ อยู่เช่นกัน คล้ายกับเป็นช่องทางบำบัดความคิดถึง เมื่อสบโอกาสดีในวาระที่ตกลงปลงใจจะทำคอนเทนต์อาหารอินเดีย เราก็ไม่รอช้าสรรหาจัดทริป ‘อินเดียทิพย์’ โดยมีจุดประสงค์เพื่อตะลุยกินอาหารอินเดียกันให้สาแก่ใจ
ทริปอาหารอินเดียแบบ ‘อินเดียทิพย์’ ครั้งนี้ เราได้ไกด์เฉพาะกิจ คุณ ทศพร สิงหกฤตพิศาล แห่งเพจ อายุน้อยร้อยร้าน นักกินที่กินมาแล้วมากกว่าร้อยร้าน มาช่วยจัดโปรแกรมอาหารอินเดียแบบเหนือจรดใต้ พร้อมพาทัวร์กินกันจนต้องร้องขอชีวิต และนี่คือบันทึกการเดินกินฉบับรวบรัด เผื่อเป็นลายแทงให้ทุกท่านได้ลอกการบ้าน ไปเอ็นจอยกับอาหารอินเดียในกรุงเทพฯ แบบไม่ต้องสุ่มหาร้าน
เตรียมกระเพาะอาหารและยาลดกรดให้พร้อม เราจะออกเดินทางไปอินเดีย (ทิพย์) กัน ณ บัดนี้!
ร้านที่ 1 New Lucky Restaurant
สถานที่ : ริมคลองโอ่งอ่าง ถนนจักรเพชร ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ (Google Map : https://goo.gl/maps/xR9ScsfCxeT6Win5A)
เวลาเปิด – ปิด : 10.00-22.00
ร้านอาหารอินเดีย – เนปาล ติดกับคลองโอ่งอ่าง ที่อาจยังไม่ป๊อปมากในหมู่คนไทย เพราะบรรยากาศร้านไม่ Instagramable มาก แต่ถึงเครื่องสุดๆ อาหารบางอย่างที่ดูไม่น่าจะถูกปากกลับกลายเป็นจานที่ทุกคนโหวตว่าเยี่ยมยุทธที่สุด ส่วนตัวแล้วคิดว่าเป็นรสชาติโฮมเมดแบบคุณย่าคุณยายทำให้กิน (นั่นหมายถึงอาจจะหนักเค็มบ้างในบางจาน คือเป็นความเค็มที่อร่อยจนต้องขออนุญาตคุณหมอเอาสุขภาพไตไปแลกของอร่อยมาเป็นการชั่วคราว) ครั้งหน้าใครมาตะลุยย่านพาหุรัด ลิสต์ New Lucky Restaurant ไว้เป็นหนึ่งในหมุดหมายกันด้วยนะคะ
เมนูที่ได้ลองกันในวันนั้นก็มีตระกูลผัดมันฝรั่งอย่าง Aloo Bhindi มันฝรั่งผัดกับกระเจี๊ยบเขียว Aloo Karela มันฝรั่งผัดกับมะระขี้นก Aloo Baigan มันฝรั่งผัดมะเขือม่วง อาหารจานผัดที่หน้าตาดูไม่ค่อยน่าคบหาแต่รสชาตินำโด่งจนหมดเกลี้ยงทุกจาน โดยเฉพาะมันฝรั่งผัดมะระขี้นกที่ความเค็มกับความขมเข้ากันดีมากๆ ผัดมาแห้งร่วนทุกจาน ต้องขอซูฮก อีกจานผัดที่ได้ลองคือ Fish Fry Chili ปลาผัดพริกแบบอินเดีย เป็นเนื้อปลาทอดชิ้นๆ ผัดกับพริกและเครื่องเทศ จานนี้ก็กินเพลินดีเหมือนกัน
ส่วนตระกูลแกงก็ได้แก่ Daal Fried แกงถั่วเลนทิลรสชาติกลมกล่อม Egg Curry แกงไข่ต้มทอด (แบบเดียวกับไข่ลูกเขย) น้ำแกงแบบใส และ Egg Masala ปรุงไข่ด้วยการต้มทอดเช่นกันแต่เป็นแกงแบบขลุกขลิก น้ำแกงข้นจากหัวหอมและมะเขือเทศ แน่นอนว่าต้องสั่ง Chicken Kurma กุรุหม่าไก่ กับ Butter Chicken บัตเตอร์ชิกเกน เมนูอาหารอินเดียยอดนิยมของคนไทยด้วย (ไม่สั่งก็กลัวจะผิดตำรา)
ยังค่ะ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะเมนูปะนีร์ (ชีสคอตเทจแบบอินเดีย) ก็เรียงกันมาครบ ทั้ง Sashi Paneer แกงรสชาติอ่อนแบบชาววัง (Sashi แปลว่า ‘royal’ หรือ ‘อย่างราชสำนัก’ ซึ่งน่าจะหมายถึงราชวงศ์โมกุล) และ Palak Paneer แกงชีสกับปวยเล้ง แกงสีเขียวเข้มที่คุ้นหูคุ้นตาอีกเมนูหนึ่ง
ชาวอินเดียเหนือกินคาร์โบไฮเดตแบบแป้งทอดเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเราจึงสั่ง Puri โรตีแป้งโฮลวีตทอดแบบ Deep Fried และ Ajwain Paratha แป้งทอดในกระทะแบน เพิ่มกลิ่นหอมด้วยเมล็ดอัจเวนหรือเทียนเยาวพาณี ซึ่งเป็นเครื่องเทศที่กลิ่นหอมคล้ายไทม์
อ้อ แน่นอนว่าต้องสั่ง Pani Puri ลูกบอลแป้งทอดใส่ไส้มันฝรั่งผัดด้วย – กำลังฮิต
ร้านที่ 2 Little Bhutan
สถานที่ : ริมคลองโอ่งอ่าง ถนนจักรเพชร ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ (Google Map : https://goo.gl/maps/XEr5iQ2GzmNNYxTN9)
เวลาเปิด – ปิด : 10.00-22.00
มีเวลาเดินย่อยไม่ถึง 10 ก้าว ก็เจอกับร้านถัดไป ซึ่งแม้จะตั้งชื่อว่าทริป ‘อินเดียทิพย์’ แต่ก็ขอวอกแวกไปหาอาหารภูฏานด้วยสักหน่อย เพราะที่นี่เป็นร้านอาหารภูฏานร้านแรกและยังคงเป็นร้านเดียวในปัจจุบัน อาหารภูฏานคืออาหารอย่างคนภูเขา เพราะภูมิประเทศ และวิถีชีวิตส่วนใหญ่เป็นลักษณะแบบนั้น จึงเน้น Dairy Product เพื่อเพิ่มพลังงาน และแน่นความเผ็ดของพริกเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็ค่อนข้างถูกปากคนไทยทีเดียวค่ะ
เมนูห้ามพลาดหมายเลขหนึ่งก็คือ Ema Datshi หรือพริกผัดชีส ใช้ชีสและพริกชนิดพิเศษที่นำเข้ามาจากภูฏาน เป็นความเผ็ด มันและเค็มที่แปลกลิ้นแต่อร่อยดีพิลึก และแน่นอนว่า เมนูห้ามพลาดหมายเลขสองก็ต้องเป็น Momo หรือเกี๊ยว ซึ่งมีทั้งแบบนึ่งและแบบทอด ความพิเศษคือโมโม่แบบภูฏานจะต้องกินกับน้ำพริก ซึ่งก็เป็นพริกท้องถิ่นชนิดพิเศษเหมือนกัน
นอกจากชีส ดั้งเดิมแล้วคนภูฏานนิยมกินเนื้อสัตว์ตากแห้ง เพราะเก็บรักษาง่าย เหมาะกับวิถีชีวิต เพราะฉะนั้นวันนี้เราจึงสั่ง Shakam Paa เนื้อแห้งผัดพริก และ Shakam Dashi เนื้อแห้งผัดชีสมาด้วย ตบท้ายด้วย Suja ชาเนยเค็ม Booster เพิ่มพลังแบบฉบับเมืองหนาวที่พอมากินในเมืองร้อนอย่างบ้านเราแล้วรู้สึกแปลกๆ บอกไม่ถูก (แต่หลายคนในทริปก็ซดเอาๆ จนหมดแก้วเหมือนกันนะ)
และถ้าหากกินมันเนยและมันชีสจนหน้าเปลี่ยนสีแล้ว ขอแนะนำเมนูช่วยชีวิตอย่าง Hogay Salad สลัดแตงกวารสเผ็ดสดชื่น ตัดเค็มด้วยการโรยชีสนิดๆ กินตบท้ายแล้วอยากจะขอบคุณบรรพบุรุษของชาวภูฏานที่คิดค้นเมนูนี้ขึ้นมาสร้างความบาลานซ์ให้มื้ออาหาร //ยกมือไหว้แบบไทยแลนด์
ร้านที่ 3 HAJI ALI
สถานที่ : โครงการ Baan Silom ซอยสีลม 19 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก (Google Map https://goo.gl/maps/VmnMZixnuTspsWsc8)
เวลาเปิด – ปิด : 10.30-22.30 (ยกเว้นวันศุกร์ มีปิดร้านช่วง 12.30-13.30 ด้วย)
เปลี่ยนบรรยากาศเข้าเมืองกันบ้าง ด้วยการย้ายจากคลองโอ่งอ่างเข้ามาย่านสีลม แถมยังกินอาหารแบบคนเมืองอย่าง Mumbai Street Food อาหารข้างทางแบบจานด่วนที่ได้รับอิทธิพลมาจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและความเป็นอังกฤษเข้ามาด้วย
เพราะฉะนั้นจึงเริ่มต้นกันที่ Pav Bhaji ฟาสต์ฟู้ดลูกครึ่งอินเดีย-อังกฤษที่นิยมเสิร์ฟในถาดหลุม เป็นแกงผักที่กินคู่กับขนมปังก้อน ก่อนจะกินต้องโรยหอมแดงและบีบมะนาวเพิ่มรสชาติ แล้วต่อด้วย Dahi Sev Puri ขนมแป้งทอดที่เป็นญาติกันกับ Pani Puri สุดฮิต แต่ไส้ด้านในเป็นโยเกิร์ตเย็นๆ โรยหน้าด้วย Sev หรือขนมแป้งทอดเป็นเส้นๆ คล้ายเส้นบะหมี่กึ่ง เมนูที่ทุกคนต่างกรี๊ด แต่บางคนกรี๊ดเพราะชอบมาก ส่วนอีกบางคนกรี๊ดเพราะงงมากว่าฉันกำลังกินอะไรอยู่ (แต่ที่จริงมันก็สดชื่นดีนะ)
เมนูของคาวของร้านนี้เป็นเหมือนทางผ่านเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วเราเจาะจงมาเติมน้ำตาลต่างหาก ไม่ว่าจะเป็น Kulfi ไอศกรีมนมหอมกลิ่นกระวานเขียว และเมนู Faloodaa ที่คนมักเรียกกันว่าซ่าหริ่มอินเดียซึ่งเราสั่งมาลองถึง 2 รส คือ Malai Kulfi Faloodaa รสไอศกรีมนม และ Rose Faloodaa รสกุหลาบ พอได้กินแล้วฉันคิดว่าควรเรียกว่า รวมมิตรแบบอินเดียมากกว่า แถมยังคุ้น ๆ ว่าในประเทศใกล้ๆ เราอย่างกัมพูชาหรือเวียดนามก็มีขนมหน้าตาแบบนี้ด้วยเหมือนกัน
และที่พลาดไม่ได้ ห้ามพลาดเป็นอันขาด แบบที่ทุกคนในทริปลงความเห็นกันว่าจะต้องกลับมากินเมนูนี้อีกแน่นอน ก็คือเมนูครีมทั้งหลาย ครีมเนื้อหนาแบบ Super Thick รสหวานละมุนและแช่มาแบบเย็นเจี๊ยบ เสิร์ฟในถ้วยมีก้านแบบถ้วยไอศกรีม เลือกทอปปิ้งและรสชาติตามชอบ ทั้ง Dry Fruit Cream เสิร์ฟกับถั่วอบกรอบและผลไม้แห้ง Mix Fruit Cream เสิร์ฟกับผลไม้สด ผลไม้แห้ง และถั่วนิดหน่อย หรือจะเป็น Mango Creama ที่เสิร์ฟกับมะม่วงก็อร่อย อร่อยมาก อร่อยแบบตะโกน! จิตวิญญาณของเด็กอ้วนหลงรักสิ่งนี้!!
ร้านที่ 4 D Hana Bhawan
สถานที่ : ซอยพุทธโอสถ ถนนมหาเศรษฐ์ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก (Google Map : https://goo.gl/maps/v6YE3iBP45pJonai7)
เวลาปิด – ปิด : 10.00-23.00
เดินจากสีลมไปซอยพุทธโอสถ มีเวลาให้ระบบย่อยอาหารได้เตรียมตัวราว 10 นาทีก็ถึงร้านถัดมา ซึ่งเป็นร้านอาหารอินเดียใต้ ดูจากเมนูในร้านแล้วก็พบว่าความป๊อปปูลาร์เป็นศูนย์ คือเป็นเมนูอาหารอินเดียที่แทบจะไม่เคยได้ยินผ่านหูมาก่อนเลยถ้าไม่ใช่แฟนตัวยง
ความรู้ใหม่ในวันนี้ก็คืออาหารอินเดียใต้รสชาติคุ้นปากกว่าที่เราคิด เพราะความเป็นพื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรที่มีภูมิอากาศคล้ายกับบ้านเรา แถมด้วยการได้รับอิทธิพลอาหารแบบทมิฬมาด้วย พูดง่ายๆ ก็คืออาหารใต้บ้านเราก็น่าจะเป็นลูกหลานท้ายแถวของอาหารอินเดียใต้นี่แหละ
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของร้านอาหารอินเดียใต้ร้านนี้คือ Sambar ซุปเปรี้ยวใส่ถั่วเลนทิลและมะเขือเทศ กับ Chutney เครื่องปรุงหอมมันมะพร้าว ทั้ง Coconut Chutney ชัดนีย์มะพร้าว และ Spicy Coconuy Chutney ชัดนีย์มะพร้าวรสเผ็ด ที่เป็นของฟรีสำหรับทุกคน เหมือนกับที่ร้านข้าวมันไก่ต้องให้น้ำจิ้มกับน้ำซุปอะไรเทือกนั้น
เมนูชุดแรกที่ถือว่าควรสั่งเมื่อมาเยือนร้านอินเดียใต้ก็คือ Dosa แผ่นแป้งทอดขนาดใหญ่หน้าตากระเดียดไปทางขนมเบื้องญวน เป็นอาหารท้องถิ่นแบบอินเดียใต้ เราเลยสั่ง Rava Masala Dosa โดซาแป้งสาลีไส้มันฝรั่งผัดเครื่องเทศ และ Rava Mysore Dosa โดซาแป้งเซโมลินาทาด้วยเครื่องเทศเฉพาะแบบเมืองไมซอร์
อีกเมนูที่ที่หน้าตาเข้าใจง่าย ก็คือ Uthappam หรือที่เรียกกันว่าพิซซ่าอินเดีย เป็นโดซาอีกประเภทหนึ่งเหมือนกันแต่ไซซ์เล็กๆ ไม่โฉ่งฉ่างมาก เสริมความป๊อปด้วยทอปปิ้งป๊อปๆ ด้วยการสั่งเป็น Onion Masala Paneer Uthappam ก็เป็นเมนูที่กินง่ายกินเพลินแบบสมองไม่ต้องรับข้อมูลใหม่ๆ จนโอเวอร์โหลด อีกเมนูที่ดูจะทำความเข้าใจง่ายก็คือ Lemon Rice หรือข้าวหมกมะนาว เป็นข้าวหมกรสชาติเปรี้ยวชื่นใจ เสริมกลิ่นด้วยเมล็ดมัสตาร์ดหอมๆ แถมด้วย Vada แป้งถั่วทอดมีรูคล้ายกับโดนัท ปรุงรสด้วยเกลือ หัวหอม และเครื่องเทศ ใครอยากเริ่มต้นอาหารอินเดียใต้ 3 เมนูนี้ก็ดูเฟรนด์ลีดีนะคะ
ส่วนใครมาสายแข็ง สายปราบเซียน ไกด์เฉพาะกิจของเราแนะนำเมนู Uppma โจ๊กแห้งยอดนิยมในอินเดียใต้ที่ทุกคนโหวตกันว่าปราบเซียนเพียงหน้าตาเท่านั้น แต่รสชาติอูมามิหวานนวลคุ้นลิ้นมากๆ ใครที่ชอบกินคูสคูส (couscous) อยู่แล้วต้องชอบเมนูนี้แน่ เพราะมันทำมาจากแป้งเซโมลินา (Semolina) เหมือนกัน
หรือถ้ายังยากไม่พอก็ขอผายมือไปยัง idly แป้งหมักที่นำไปนึ่งจนขึ้นฟู เหมือนเป็นลูกผสมระหว่างขนมถ้วยฟูกับขนมจีนแป้งหมัก แม้หน้าตาจะคุ้นมากแต่ส่วนใหญ่โหวตกันว่ารสชาติมึนงงอย่างบอกไม่ถูก
ตบท้ายด้วย Butter Milk หางนมปั่นกับสมุนไพร รสเค็มเปรี้ยว 3 เมนูนี้ถ้าใครผ่านได้ทุกด่านตั้งแต่กินครั้งแรก นับว่าเป็นสายฮาร์ดคอร์ตัวจริง
ร้านที่ 5 Delhi Sweets
สถานที่ : ซอยพุทธโอสถ ถนนมหาเศรษฐ์ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก (Google Map : https://goo.gl/maps/kG47TNQPijtMr3Zn8)
เวลาเปิด – ปิด : 09.00-21.00
กินคาวแล้วไม่กินหวานก็อาจจะไม่ครบถ้วนตามตำรา เราจึงมาหาอะไรเบาๆ (?) กินกันคั่นเวลาที่ Delhi Sweet ได้แก่ของหวานตระกูลนมอย่าง Peda นมปั้นก้อนรสหวาน Rasmalai ก้อนชีสในน้ำนม Rasgulla ก้อนชีสในน้ำเชื่อม Rajbhog ก้อนชีสสอดไส้ผลไม้แห้ง Milk cake ฟัดจ์รสนมกับเครื่องเทศ และแน่นอนว่าต้องมี Gulabjamun ก้อนไขมันนมทอดในเนยกี แช่น้ำเชื่อมดอกกุหลาบหอมๆ
สารภาพตามตรงว่าเราไม่ได้เซียนของหวานอินเดียกันมาก แบบที่ว่าถ้าหลับตาชิมก็ยังอาจจะงงๆ ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ของหวานที่ร้าน Delhi Sweets ก็เป็นอีกร้านหนึ่งที่ทำได้รสชาติดีแทบทุกอย่าง
โดยเฉพาะเมนูที่เป็นเซอร์ไพรส์อย่าง Jalebi แป้งทอดกรอบแช่น้ำเชื่อมที่เห็นวิธีทำแล้วหลายคนอาจจะตื่นตะลึงในความหวาน กระนั้นก็อย่าเพิ่งมองข้ามเพราะ Jalebi ร้านนี้กินแบบทอดใหม่ๆ เป็นความหวาน กรอบ และอุ่นที่อร่อยมาก อร่อยแบบที่ทุกคนพูดกันติดปากว่าหวานมาก หวานมาก แต่ก็พากันกินไม่หยุด ตบท้ายด้วย Laddu ขนมไหว้เทพอันเลื่องลือ อร่อยตามมาตรฐาน แต่วันนี้แทบไม่มีใครสนใจเลยเพราะโดน Jalebi แย่งซีนไปหมดแล้ว!
อย่าลืมสั่ง Masala Chai ชานมเครื่องเทศร้อนๆ มาจิบคู่กับขนมด้วยนะคะ เดี๋ยวจะไม่ครบสูตร
ร้านที่ 6 Mashallah Restaurant
สถานที่ : ซอยเจริญกรุง 45 แขวงสี่พระยา เขตบางรัก (Google Map : https://goo.gl/maps/Z6QF4FyKv3PRNrsY7)
เวลาเปิด – ปิด : 10.30-22.00
ส่งท้ายทริปกันที่ร้านอาหารปากีสถานที่เรารีเควสพิเศษว่าขออาหารพื้นเมืองแบบเปศวาร์โดยเฉพาะ คุณเชฟก็ใจดีเล่นใหญ่ให้เราถึง 9 เมนู ประกอบกับอาหารของ Mashallah แต่ละจานไซซ์ใหญ่เบิ้ม จึงเป็นการปิดท้ายทริปที่อลังการน่าประทับใจ
เริ่มต้นกันที่เมนูเนื้อแพะ ซึ่งต้องดอกจันท์เล็กน้อยว่าภาษาอังกฤษแบบอินเดียจะเรียกเนื้อแพะว่า Mutton ถ้าเป็นศัพท์อาหารแบบสากล Mutton จะหมายถึงเนื้อแกะโตเต็มวัยเสียเป็นส่วนใหญ่
เมนูเนื้อแพะที่สั่งกันในวันนี้ได้แก่ Mutton Biryani ข้าวหมกแพะ Mutton Karahi ผัดแพะกระทะร้อน และ Mutton Paya ขาแพะตุ๋นจนเปื่อยล่อนออกจากกระดูก ทั้ง 3 เมนูนี้กินง่ายกว่าที่คิด แม้กระทั่งกับคนที่ไม่เคยกินเนื้อแพะมาก่อน เพราะเทคนิคการปรุงและการใช้เครื่องเทศ เนื้อไม่มีกลิ่นสาปเลยแม้แต่น้อย
ความโดดเด่นของร้านนี้คือบรรดาอาหารที่ตุ๋นหรือเคี่ยวจนเปื่อย นอกจากขาแพะแล้วก็ยังมี Chicken Korma กุรุหม่าไก่ที่มีเฉดต่างจากกุรุหม่าแบบอินเดียเล็กน้อย Chicken Choley แกงไก่กับถั่วรสเข้มข้น และ Beef Nihari สตูเนื้อแบบปากีสถาน ทุกจานคือนุ่มละลายในปากและหอมเครื่องเทศมากๆ กินง่ายและรสชาติคุ้นปากคนไทยแน่นอน
แต่สิ่งที่ไม่คุ้นก็คือเมนู Kabab ที่เรามักมีภาพจำว่าเป็นเนื้อย่างเสียบไม้หมุนๆ แต่จริงๆ แล้ว Kabab แปลว่าเนื้อสัตว์ที่นำไปย่าง ปิ้ง หรือทอด เพราะฉะนั้น Kabab ไม่จำเป็นต้องเสียบไม้แต่อย่างใด อย่างเช่น Chapli Kabab เคบับเนื้อสับปั้นก้อนทอดแบบชาวปาทานซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในปากีสถานตอนเหนือ รสชาติเนื้อสับหอมกลิ่นเครื่องเทศ ทอดมาได้ไม่แห้งเกินไป เป็นเมนูมหาชนที่เด็กกินได้ผู้ใหญ่กินดี
แน่นอนว่าทุกอย่างต้องกินกับแป้งนาน ทั้ง Plain Naan และ Garlic Naan หรือนานกระเทียม แม้จะเป็นเมนูพื้นๆ แต่ขอบอกเลยว่านานกระเทียมร้านนี้อร่อยมากแบบนัมเบอร์วัน
สุดท้ายก็ต้องบอกคนที่จะลอกการบ้านทริปนี้ก่อนว่า การกินในวันนี้คือการกินมาราธอนแบบ 6 ร้าน รวม 57 เมนูภายในวันเดียว ซึ่งหากเป็นห่วงสุขภาพระบบย่อยอาหารก็ต้องบอกว่าไม่ควรทำตามเป็นอย่างยิ่ง ถึงทุกร้านจะเป็นร้านที่คัดสรรมาแล้วโดยนักกินตัวยง แต่การกินอย่างบ้าคลั่งแบบนี้ก็เป็นความอร่อยที่ทรมานท้องไส้พอสมควร
อย่างไรเสียก็ต้องบอกว่าแพลน ‘อินเดียทิพย์’ ของเรานี้ก็ได้เปิดโลกอาหารอินเดีย บำบัดอาการอยากแพ็กกระเป๋าออกนอกประเทศได้พอสมควร ดังนั้นจึงขอเอาเกียรติของนักกินฝึกหัดเป็นประกันว่า ตามลายแทงร้านทริปนี้แล้วไม่มีผิดหวังแน่นอนค่ะ
คนมักจะพูดกันว่าอาหารอินเดีย ถ้าไม่หลงรักไปเลย ก็เกลียดไปเลย ซึ่งจริงๆ แล้วฉันไม่ค่อยเห็นด้วยหรอกนะคะ เพราะอาหารของทุกชาติก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามวิถีและสิ่งแวดล้อม ใครที่เคยลองอาหารอินเดียแล้วไม่ถูกใจ หาโอกาสเปิดหูเปิดตาแล้วเปิดใจลองใหม่อีกสักตั้งนะคะ
(สำหรับวันนี้ขอตัวไปกินยาลดกรดและยาธาตุน้ำขาวก่อนค่ะ ทริปหน้า KRUA.CO จะพาไปเที่ยวทิพย์ประเทศไหนอีก ฝากติดตามด้วยนะคะ)
อ่านบทความเพิ่มเติม
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos