
ชวนมาเปิดโลกอาหารเชียงตุง กินอาหารเหนือลำๆ ที่ซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ 9
เมื่อพูดถึงอาหารเมียนมา หลายคนน่าจะนึกถึงอาหารแบบย่างกุ้ง พุกาม มัณฑะเลย์ หรือ อินเล แต่เมียนมาเป็นประเทศที่มีความหลากหลายสูงมาก เพราะมีกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอาจแยกย่อยออกไปได้มากถึง 160 กลุ่ม แต่ละชาติพันธุ์ล้วนมีวัฒนธรรม ความเชื่อ และรสนิยมที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่ยิ่งได้สำรวจก็ยิ่งสนุกและน่าค้นห้า
หมุดหมายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเราอยากแนะนำให้คนที่ชอบสำรวจวัฒนธรรมอาหารรอบโลกมาลองฝากท้องดูสักหน (แล้วจะติดใจมาอีกหลายหน) ก็คือ “ร้านใบบัว” ร้านอาหารเชียงตุงและอาหารเหนือแห่งย่านห้วยขวางที่เปิดมาแล้วเกือบ 30 ปีค่ะ

เชียงตุง เป็นเมืองหนึ่งที่ตั้งอยู่ในรัฐฉาน (Shan State) ประเทศเมียนมา มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่และไทเขิน ในอดีต เชียงตุงเป็นเมืองที่มีความสำคัญด้านการค้าขายระหว่างประเทศมากเพราะเป็นเส้นทางที่คาราวานพ่อค้าชาวจีนยูนนานหรือจีนฮ่อใช้เดินทางไปมาระหว่างเมืองสิบสองปันนาและอาณาจักรล้านนา ทั้งยังมีประวัติศาสตร์การเมืองที่เกี่ยวพันกับอาณาจักรล้านนาและประเทศจีนอย่างซับซ้อนอีกด้วย
ตามประสาคนกินเพื่ออยู่ ฉันเชื่อว่า การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่จะอยู่ในใจเราไปได้นานที่สุด คือ คือการเรียนรู้ผ่านอาหาร วันนี้ฉันเลยอยากชวนทุกคนมาเรียนรู้วัฒนธรรมเชียงตุง ผ่านอาหารอร่อยๆ ที่ “ร้านใบบัว อาหารเชียงตุงและอาหารเหนือ” ร้านโปรดประจำออฟฟิศ KRUA.CO กันค่ะ

วันนี้เรามีโอกาสได้เจอกับคุณนัท – ภคิณ เชียงรัชฎ์ ทายาทรุ่นที่ 2 ของร้านใบบัว ที่ก้าวเขามารับช่วงต่อจากคุณแม่อย่าง นันทพันธ์ เชียงรัชฎ์ หรือ “ป้าออน” ในความคุ้นเคยของบรรดาลูกค้าขาประจำ ในระหว่างที่เรากำลังซู๊ดเส้นข้าวแรมฟืนอุ่นอย่างเอร็ดอร่อย เราจึงได้ฟังเรื่องราวอาหารเชียงตุงจากคุณนัทเป็นเครื่องเคียงที่ทำให้อาหารอร่อยขึ้นอีก 5 เท่าเป็นอย่างน้อย

“ผมเริ่มทำร้านนี้ต่อจากคุณแม่มาประมาณ 6-7 ปีแล้วครับ จริงๆ แม่เขาก็ไม่ได้อยากให้เรามาทำร้านต่อ เพราะมันเป็นงานที่เหนื่อย เขาอยากให้เราทำงานออฟฟิศเหมือนคนอื่นไป เราอยู่กับร้านนี้มาตั้งแต่อนุบาล 2 น่าจะได้ เราได้ชิม ได้กิน ได้คลุกคลีกับอาหาร แต่พอเราโตมาเราก็เลยชอบอาหาร จนสุดท้ายก็มีโอกาสได้ไปเรียนด้านอาหาร ทีนี้พอเราเรียนจบก็เลยตั้งใจว่าจะมาทำต่อที่ร้านเลยครับ” คุณนัทเล่าจุดเริ่มต้นของการเข้ามารับช่วงต่อให้ฟัง ทั้งยังบอกว่าสุดท้ายป้าออนก็ถือโอกาสนี้เกษียณตัวเอง ย้ายกลับไปใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่จังหวัดเชียงรายแล้วเรียบร้อย

“คุณแม่ผมชาวไทเขิน แต่ว่าอพยบจากเชียงตุงมาอยู่ฝั่งประเทศไทยตั้งแต่รุ่นคุณตาคุณยาย มาอยู่ที่เชียงรายเป็นหลัก หลังจากนั้นช่วงสาวๆ ก็มีโอกาสมาทำงานที่กรุงเทพ เริ่มจากการมาเป็นลูกจ้างเขา แล้วก็ขยับขยายมาเปิดร้านเพราะว่าทำกับข้าวให้คนแถวที่พักทานแล้วทุกคนชอบกัน
“ด้วยความที่พอเขามาอยู่กรุงเทพแล้ว ที่แรกที่เราอยู่กันคือลาดพร้าว 71 ซึ่งโซนนี้ยังไม่ใช่ชุมชนแบบนี้เลย มองผ่านๆ แทบจะเป็นป่าด้วยซ้ำ แต่ก็ยังพอมีคนเหนืออาศัยอยู่บ้าง ก็เลยเปิดร้านอาหาร กลุ่มเป้าหมายก็คือคนไทใหญ่ ไทเขินเลยครับ พอนานๆ เขาก็มีกลุ่มคนเหนือที่เขาทานเป็น แล้วพอมาถึงยุคนี้ก็จะเป็นคนจีนเยอะ เพราะบางเมนูของเราก็ใกล้เคียงกับอาหารจีนบางอย่าง”

ป้าออนเห็นว่า บรรดาอาหารในร้านนั้นมีที่มาหลากหลาย ไม่ใช่แค่อาหารของชาวไทเขิน หรือชาวไทใหญ่เพียงอย่างเดียว จึงตีความว่าอาหารของร้านใบบัวเป็นอาหารเชียงตุง ทำโดยคนเชียงตุง ในรสชาติแบบเชียงตุงแท้ๆ เมื่อปัจจุบันที่ร้านถูกเปลี่ยนมือมาอยู่ในรุ่นลูกอย่างคุณนัทแล้ว ร้านก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของอาหารเชียงตุงไว้อย่างเข้มงวดอยู่เสมอ
“อาหารเชียงตุงจริงๆ ก็ คนจะนิยมทานแป้งเป็นหลักครับ ข้าว ทั้งข้าวเหนียวและข้าวสวย ถั่วหลายๆ แบบ พวกเส้นต่างๆ ข้าวซอย ใช่หมดเลย กินเป็นทั้งมื้อว่างและมื้อหลัก อาจจะด้วยความที่เมื่อก่อนหมูอาจะไม่ได้มีเยอะ อาหารทะเลไม่ต้องพูดถึง ไม่มีแน่นอน เพราะภูมิประเทศเขาเป็นภูเขาและแม่น้ำ ไม่มีทะเล ที่ฟังแม่เล่ามาอีกทีก็คือ คนเชียงตุงสมัยก่อนเขาก็จะนิยมกินแป้ง ต้องแป้งเยอะๆ หนักๆ จะได้อยู่ท้อง มีแรงทำงาน
“ร้านเรา คุณแม่ก็ทำมาค่อนข้างนาน ดังนั้นผมจะไม่เปลี่ยนสูตรเลย ร้านเราไม่เคยทำทางลัด ไม่เคยลดต้นทุน เราใช้วัตถุดิบจากเชียงตุงทั้งหมด อย่างถั่ว ข้าวสาร พวกนี้ เวลาส่งมาจากเชียงตุง พอของถึงกรุงเทพแล้วผมก็ต้องขับรถกระบะไปรับมา ทีละ 10 20 กระสอบ มันก็มีความยากตรงที่เราต้องควบคุมรสชาติและวัตถุดิบให้ดั้งเดิมให้ได้ ทุกวันนี้ก็ยังต้องคุยกับคุณแม่เรื่อยๆ
“อย่างข้าวแรมฟืนยำ เมนูนี้เป็นเมนูยอดนิยมของที่ร้าน ต้องมีขายทุกวัน แม่ครัวที่นี่ต้องตื่นมาตั้งแต่ตีสามนะครับ เพราะส่วนผสมมันไม่ต่ำกว่า 10 อย่าง น้ำมะเขือเทศที่เป็นเบสน้ำซุปเราก็เคี่ยวนาน ข้าวฟืนที่เป็นตัวแป้งก็เคี่ยวนาน รสชาติมันเลยมีความซับซ้อน เหมือนเป็นงานศิลป์งานหนึ่งเหมือนกัน กว่าจะออกมาสักจานหนึ่ง”

ข้าวแรมฟืน เป็นวัฒนธรรมร่วมในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเชียงตุง สิบสอบปันนา ไล่เรียงมาจนถึงภาคเหนือของประเทศไทย มีลักษณะเป็นแป้งเคี่ยวที่นุ่มและหอม โดยทั่วไปจะปรุงกันอยู่ 4 แบบ คือ ข้าวแรมฟืนยำ ข้าวแรมฟืนจิ้ม ข้าวแรมฟืนอุ่น และข้าวแรมฟืนทอด และแน่นอนว่าร้านใบบัวก็มีขายทั้ง 4 แบบ (ยกเว้นข้าวแรมฟืนทอดที่ตอนนี้มีขายเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์)

ข้าวแรมฟืนยำ เป็นแป้ง 3 สีที่เกิดจากการเคี่ยววัตถุดิบจนนิ่ม เหลว ละเอียด แล้วเทลงพิมพ์ให้เซ็ตตัว สีขาว ทำมาจากข้าวชนิดพิเศษซึ่งต้องนำเข้ามาจากเชียงตุงเท่านั้น สีเหลือง ทำมาจากถั่วกาละแป (ถั่วสีเหลือง) ส่วนสีม่วง ทำมาจากถั่วดิน (ถั่วลิสง) เมื่อได้ข้าวแรมฟืนที่เซ็ตตัวแล้ว ก็จะนำมาดัดเป็นชิ้นๆ แล้วยำกับเครื่องปรุงสารพัด ไม่ว่าจะเป็นพริกต้ม พริกคั่ว ถั่วเน่า ขิง น้ำมะเขือเทศ กากเต้าหู้ ถั่วลิสงคั่วป่น เกลือ กระเทียมเจียว น้ำมันฮวาเจียว น้ำสู่ ฯลฯ แถมข้าวแรมฟืนแต่ละสีเหมาะกับสัดส่วนเครื่องยำที่ต่างกัน ฉันยืนดูทุกครั้งก็นึกทึ่งอยู่ตลอดว่าวัฒนธรรมการกินของคนเชียงตุงนั้นช่างรุ่มรวยและละเมียดละไมเสียเหลือเกิน


เครื่องปรุง 4 อย่างนี้ เป็นเครื่องปรุงเฉพาะในครัวของคนไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ และอีกบางชาติพันธุ์เท่านั้น ได้แก่ ถั่วเน่า ถั่วเหลืองหมักด้วยเชื้อราดี ให้รสอูมามิและกิ่นเฉพาะตัว น้ำสู่ น้ำส้มสายชูที่หมักจากอ้อย ให้รสเปรี้ยวและกลิ่นหอม กากเต้าหู้ ฟองที่ช้อนขึ้นมาระหว่างการเคี่ยวข้าวฟืนเหลือง ให้รสมัน กลิ่นถั่ว และซีอิ๊วตราเสือ ซีอิ๊วทองถิ่นจากเชียงตุง

ข้าวฟืนจิ้ม ก็ใช้ข้าวฟืนหั่นชิ้นเช่นกัน แต่จะหั่นให้เป็นเต๋าใหญ่ เพื่อให้เคี้ยวได้เต็มปากเต็มคำขึ้น เสิร์ฟคู่กับน้ำจิ้มซึ่งปรุงใหม่ถ้วยต่อถ้วยจากเครื่องปรุงเซ็ตเดียวกันกับข้าวฟืนยำ ข้าวฟืนขาวที่ทำจากข้าว มีรสอ่อน เหมาะกับน้ำจิ้มที่ปรุงโดยมีถั่วเน่าเป็นฐานรสชาติ ถั่วเน่าเมอะกลิ่นหอมฉุยถูกนำมาผสมน้ำให้เหลวแล้วใช้เป็นเครื่องปรุงหลัก ใครที่ไม่ชอบกลิ่นถั่วเน่าอาจจะต้องเลี้ยวไปหาสีอื่น (ส่วนลูกข้าวนึ่งอย่างฉันหลงกลิ่นถั่วเน่าสุดใจ แค่นึกถึงก็น้ำลายสอ) ข้าวฟืนสีม่วงทำจากถั่วดิน เนื้อแน่น หนัก มัน แต่เคี้ยวเพลิน จึงเหมาะกับน้ำจิ้มที่มีเบสเป็นถั่วลิสงคั่วปั่น เพื่อเพิ่มเท็กซ์เจอร์และตัดเลี่ยน ส่วนข้าวฟืนสีเหลือง ทำจากถั่วกาละแปะ นิยมเสิร์ฟคู่กับน้ำจิ้มที่มีเบสเป็นกากเต้าหู้ หรือฟองที่ได้จากการเคี่ยวข้าวฟืนเหลือง ซึ่งแม่ครัวจะต้องตักสะสมไว้ทีละนิดๆ ตลอดระยะเวลาการเคี่ยวหลายชั่วโมง วิธีกินก็คือ คีบก้อนข้าวฟืนนิ่มๆ ไปจิ้มกับน้ำจิ้มก่อน ข้าวฟืนแบบนี้รสชาติชัดกว่าแบบยำ แต่ถ้าถามว่าอันไหนอร่อยกว่า ฉันเลือกไม่ได้เลยค่ะ คะแนนสูสีเกินไป

ข้าวฟืนอุ่น จานนี้เป็นเมนูลูกรักของฉันมาแต่ไหนแต่ไรตั้งแต่ที่ยังอยู่เชียงใหม่ พอย้ายเข้ากรุงเทพแล้วเจอว่ามีร้านที่มีขาย ฉันดีใจราวกับถูกรางวัลเลยค่ะ โครงสร้างของจานนี้คือ เส้นที่ราดด้วยข้าวแรมฟืนซึ่งไม่ได้ทิ้งไว้จนเซ็ตเป็นตัว แต่อุ่นให้นุ่มนิ่มเหมือนโจ๊กอยู่ตลอด แล้วปรุงด้วยเครื่องสารพัด ที่ขาดไม่ได้คือซีอิ๊วตราเสือซึ่งเป็นของดีที่คนเชียงตุงเขารู้กัน

อีกเมนูที่ฉันแนะนำให้ลองคือข้าวซอยน้อยค่ะ จานนี้กินง่าย หน้าตาเป็นมิตร คือเป็นแป้งนึ่งบางๆ คล้ายกับปากหม้อ เมื่อก่อนที่ร้านจะมีสเตชั่นข้าวซอยน้อย ทำแป้งให้ดูกันสดๆ ที่น่าร้าน ชวนตื่นตามาก เพราะเป็นการนำถาดกลมๆ มาใส่แป้งลงไปบางๆ แล้วลอยไปหม้อน้ำร้อน ราว 2-3 นาทีแป้งก็จะสุก จะเลือกกินเป็นข้าวซอยน้อยธรรมดา พับเป็น 4 ส่วนแล้วจิ้มกับน้ำจิ้มพริกต้มรสเผ็ดนัวก็ได้หรือจะเพิ่มความแฟนซีเข้าไปโดยการสั่งเป็นข้าวซอยน้อยทรงเครื่อง ใส่ไข่ เนื้อสัตว์ และผักเพิ่มไปก็ได้

ส่วนตัวฉันชอบข้าวซอยน้อยธรรมดามากกว่า เพราะเป็นวิธีกินที่ทำเราได้สัมผัสกับความนิ่มและหอมของแป้งดีที่สุด เห็นหน้าตาเรียบๆ แบบนี้ แป้งข้าวซอยน้อยของร้านใบบัวพิเศษมากนะคะ เพราะเป็นแป้งที่ทำเอง โม่เองจากข้าวที่ส่งตรงมาจากเชียงตุง ที่สำคัญคือโม่นานหลายชั่วโมงทีเดียวกว่าจะได้แป้งที่ละเอียดเนียนนุ่มขนาดนี้

เมนูที่ฉันเพิ่งจะเคยลองกิน ก็คือ ยำหมี่เหลือง ใช้หมี่ไข่มายำคล้ายๆ กับข้าวแรมฟืนเลยค่ะ แต่จานนี้จะมีกลิ่นน้ำมันฮวาเจียวหอมเด่นขึ้นมา เสิร์ฟกับหมูทรงเครื่องที่จะคล้ายๆ น้ำพริกอ่องแต่มีกลิ่นเครื่องเทศที่ซับซ้อนกว่า จานนี้ก็เป็นอีกจานที่เข้าใจง่าย สำหรับมือใหม่มาด้วยใจกล้าๆ กลัวๆ ฉันแนะนำให้เริ่มที่จานนี้เลย

อีกเมนูที่ฉันแทบไม่เคยได้เห็นในกรุงเทพฯ กระทั่งในจังหวัดทางเหนือก็ไม่ได้มีให้ซื้อกินได้ทั่วไป นอกจากจะต้องดั้นดนไปในชุมชนที่มีชาวไทเขิน ไทใหญ่ หรือไทลื้ออยู่เท่านั้น ก็คือข้าวยั่งห่วย (บางที่ก็เรียกว่า หย่งฮวย หรือ ยางห่วย) ทำจากถั่วหรือข้าว บด แล้วเคี่ยวให้สุกนุ่ม ก่อนปรุงรส ห่อใบตองแล้วนึ่งให้หอม จานนี้แป้งมีกลิ่นต้นหอมใบตอง และมีรสเค็มอ่อนๆ กินกับน้ำจิ้มกินกับน้ำจิ้มพริกต้มรสเผ็ดนัวแล้วเข้ากันดี

เมนูหนึ่งที่เป็นของโปรดฉันมากๆ คือไก่อุ๊บ ข้าวเหลือง เป็นเซ็ตแฮปปี้มีลที่จะประกอบไปด้วย ไก่อุ๊บ ไก่ที่ปรุงโดยการตั้งหม้อน้ำน้อยๆ ใส่เครื่องสมุนไพรปริมาณมาก แล้วอบน้ำไปเรื่อยๆ จนไก่สุกนุ่มละลายในปาก น้ำขลุกขลิก กลิ่นรสของเครื่องแกงเครื่องเทศซึมเข้าไปในเนื้อไก่ทุกอณู กินกับข้าวเหลือง

ข้าวเหลือง คือข้าวเหนียวที่หุงด้วยน้ำต้มดอกปูดหรือดอกกุ๊ด ดอกไม้ป่าชนิดหนึ่งซึ่งจะทำให้ข้าวเป็นสีเหลืองทองและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว กระซิบไว้หน่อยว่าข้าวเหลืองจะมีเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์เท่านั้น ใครมาผิดวันอาจจะอดกินได้นะคะ

ส่วนเมนูดูโอ้ที่ฉันอยากแนะนำอีกเซ็ตหนึ่ง คือเมนูที่อยู่ในวัฒนธรรมอาหารเชียงตุง และก็อยู่ในวัฒนธรรมอาหารเหนือด้วย นั่นก็คือ เซ็ตน้ำเงี้ยวและข้าวกั๊นจิ๊นค่ะ ตอนฉันเด็กมากๆ ฉันจำได้ว่า น้ำเงี้ยวและข้าวกั๊นจิ๊นเป็นเมนูที่มักจะขายอยู่ในร้านเดียวกันเพราะใช้วัตถุดิบเหมือนกันหลายอย่างโดยเฉพาะเลือด (เหมือนหอยทอดขายคู่ผัดไทย หรืออะไรทำนองนั้น)

นำเงี้ยวที่นี้เป็นน้ำเงี้ยวข้นคลั่ก หอมกลิ่นถั่วเน่า สไตล์เดียวกับน้ำเงี้ยวเชียงราย เส้นน้ำเงี้ยวก็เป็นเส้นข้าวแบนๆ บางๆ นุ่มๆ ที่สั่งทำขึ้นเป็นพิเศษ แบบเดียวกับที่ชาวเชียงรายกินข้าวซอยน้ำเงี้ยวเป๊ะ

ส่วนข้าวกั๊นจิ้นคือข้าวคลุกเลือดหมูห่อใบตองแล้วนึ่งจนสุก เสิร์ฟกับกระเทียมเจียว พริกทอด และผักสด รสชาติเค็มอ่อนๆ และหอมกลิ่นเลือดสุก เซ็ตนี้ขอบอกเลยว่ากินแล้วเหมือนได้กลับบ้าน ชาวเหนือที่กินน้ำเงี้ยวในกรุงเทพร้านไหนก็ไม่แล้วใจ ร้านใบบัวคือจุดหมายที่คุณควรจะมาโดยด่วนที่สุดค่ะ

นอกจากนี้ อาหารในร้านยังมีอีกสารพัดเมนูที่ควรมาลอง กระทั่งฉันเองที่เทียวมาฝากท้องอยู่หลายปีก็ยังลองไม่ครบทุกเมนู ไม่ว่าจะเป็นปลาทอดยัดไส้พริกเกลือ ขนมวงทอด ไปจนถึงอาหารเหนือแบบบ้านๆ ที่หากินรสถูกปากในกรุงเทพได้ไม่ง่าย อย่าง คั่วหน่อ คั่วมะถั่วมะเขือ ผักกาดจอ แกงปลี ฯลฯ

รับประกันโดยคนเมืองไกลบ้านที่ได้กินอาหารเหนือติดหวานที่ไรก็ช้ำหัวใจทุกที การันตีเลยว่าร้านใบบัวจะไม่หักอกคุณแน่นอนค่ะ

ด้วยเหตุที่ยืนหนึ่งคู่ย่านห้วยขวางมานานหลายสิบปี ร้านใบบัวจึงมักจะเป็นจุดนัดพบ รวมผล ของชาวไทเขิน ไทใหญ่ และพี่น้องชาติพันธุ์อื่นๆ อยู่เนืองๆ (คล้ายๆ กับที่ร้านอาหารไทยเป็นจุดนัดพบของคนไทยในต่างประเทศอย่างไรอย่างนั้น) ปัจจุบันแม้บรรยากาศนั้นจะเบาบางลงไปด้วยมีร้านอาหารเพิ่มขึ้น และลูกค้าประจำรุ่นเก่าๆ โยกย้ายไปอยู่ย่านอื่นตามเงื่อนไขของชีวิต กระนั้นร้านใบบัวก็ยังเป็นจุดพักจักของคนไกลบ้านที่โหยหารสชาติธรรมดาๆ ของบ้านเกิดอยู่เสมอค่ะ

“อย่างคุณแม่ถ้าเจอคนบ้านเดียวกันเขาก็จะดีใจ จะคุยกัน ซับพอร์ตกันเลย เมื่อก่อนที่เปิดร้านใหม่ๆ ที่นี่จะเหมือนศูนย์รวม จนมาถึงช่วงประมาณ 10 ปีที่แล้วก็ยังใช่ แต่ในปัจจุบันมันเหมือนกลายเป็นร้านปกติไปแล้ว เพราะคนที่มารวมกันทีนี่ เขาก็เติบโตกันแล้ว มีครอบครัว เลี้ยงลูก ร้านนี้เลยกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ให้คิดซะว่าร้านนี้เป็นร้านข้าวแกงร้านหนึ่งเลยครับ แต่เป็นร้านข้าวแกงที่มีเมนูแปลกๆ (หัวเราะ)

“ส่วนลูกค้ากลุ่มอื่น ต้อบอกว่าเมื่อก่อนนี้แทบไม่มีลูกค้าคนกรุงเทพเลยครับ สมัยก่อนเราจะเป็นเหมือนร้านลับ แล้วก็มีแต่คนกลุ่มเล็กๆ ที่มาทาน อย่างวันเสาร์-อาทิตย์นี่ คนจะมาจากที่ไกลๆ ทั้งนั้นเลยนะครับ ตั้งใจมากินโดยเฉพาะ เขามาเขาก็จะตาลุกวาว อยากกินไปหมดทุกอย่าง แต่เดี๋ยวนี้คนก็เริ่มเปิดรับมากขึ้นครับ คนรุ่นใหม่ที่เขาอยากลองก็มี หรือแม้แต่รายการอาหาร การรีวิวทางสื่อก็มีผลเหมือนกัน สำหรับใครที่อยากลอง เริ่มแรกผมจะบอกว่าต้องเปิดใจหน่อย (หัวเราะ) เพราะมันมีถั่วเน่า มีของหมักดองอะไรหลายอย่าง แต่ถ้าทานแล้วชอบ ติดใจ รับรองว่าจะชอบยาวเลยครับ”
ร้านใบบัว อาหารเชียงตุง, อาหารเหนือ
พิกัด : ซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ 9 ห้วยขวาง
Location : https://g.co/kgs/wvtvNne
Facebook : https://www.facebook.com/BaibuaNorthernThaifood/
โทร : 02 690 3166
เวลาเปิด-ปิด : 11:00 – 21:00 ทุกวัน
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos