food story
Rangoon Tea House ยกโรงน้ำชาอันดับ 1 ของเมียนมา มาไว้ที่ทองหล่อ
Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

ไม่ต้องไปถึงย่างกุ้ง ก็ได้สัมผัสบรรยากาศสุดชิคของโรงน้ำชาที่ดีที่สุดของเมืองได้
ใครที่เคยไปเที่ยวประเทศเมียนมา โดยเฉพาะเมืองย่างกุ้ง น่าจะเคยได้ยินชื่อ หรือกระทั่งเคยฝากท้องไว้กับโรงน้ำชาสุดชิคของเมืองอย่าง Rangoon Tea House กันมาบ้าง
แม้จะได้ชื่อว่าเป็น Tea House แต่วัฒนธรรมโรงน้ำชาหรือร้านน้ำชาในสังคมเมียนมานั้นต่างออกไป คือไม่ใช่แค่ร้านขายเครื่องดื่ม แต่ยังเสิร์ฟอาหารทั้งของว่างและจานหลัก รวมถึงเป็นพื้นที่ทางสังคมที่ชาวเมียนมาจะออกมานั่งแฮงก์เอาต์กันตั้งแต่เช้าจนค่ำ โรงน้ำชาจึงไม่ใช่แค่สถานที่ดับกระหาย แต่เป็นหมุดหมายหนึ่งของเมืองที่กำลังบอกเราว่า เมืองๆ หนึ่งมีบุคลิกอย่างไรบ้าง และ Rangoon Tea House ก็นับว่าเป็นเมียนมาในมุมมองที่เก๋ มีชีวิตชีวา และมีรสนิยมมากทีเดียว

สิ่งที่ทำให้ Rangoon Tea House น่าจับตามองมากๆ ก็คือการเป็นโรงน้ำชาที่เปิดมายาวนานกว่า 10 ปี และเป็นร้านแรกๆ ที่นำเสนอวัฒนธรรมโรงน้ำชาเมียนมาในแบบโมเดิร์น คือดั้งเดิมแล้ว ชาวเมียนมามักจะดื่มชาร้อนในถ้วยชาที่มีหูจับและจานรอง (porcelain cup) เพราะได้รับอิทธิพลการดื่มชามาจากอังกฤษและอินเดีย แต่ Rangoon Tea House เลือกจะเสิร์ฟชาร้อนในแก้วใส (glass) ให้คนดื่มได้เห็นสีน้ำชาสวยๆ หรือกระทั่งเสิร์ฟชาแบบใส่น้ำแข็งให้เย็นเจี๊ยบชื่นใจ จนกลายเป็นรูปแบบใหม่ของชาพม่าที่นิยมกันมาถึงปัจจุบัน – เห็นไหมละคะว่าร้านนี้เขาพิเศษจริงๆ
ตอนนี้ ใครยังไม่มีโอกาสได้ไปสัมผัสเมียนมาในมุมที่ชิคและเก๋อย่างนี้ก็ไม่เป็นปัญหาค่ะ เพราะ Rangoon Tea House เขายกบรรยากาศแบบนั้นมาไว้ที่ร้าน Rangoon Tea House สาขาล่าสุด ซึ่งเป็นการขยายสาขาออกนอกเมียนมาครั้งแรก อยู่ที่ซอยแสงชัย ตรงทองหล่อนี่เอง

ส่วนตัวฉันได้แวะเวียนไปฝากท้องกับ Rangoon Tea House สาขานี้มาแล้วหลายครั้ง และนึกรักในบรรยากาศ รายละเอียด และรสชาติอาหารของที่นี่เสมอ เมื่อมีโอกาสได้เจอกับคุณเธ็ท หรือ Htet Myet Oo เจ้าของร้าน Rangoon Tea House จึงอดไม่ได้ที่จะขอนั่งคุยด้วยยาวๆ ถึงมุมมองของการสร้างโรงน้ำชาแห่งนี้
หลายเรื่องพอได้ฟังแล้วทั้งน้ำชาและอาหารที่กินยิ่งอร่อยขึ้นไปอีก มาค่ะ ตามมาคุยกับคุณเธ็ทกัน
เมื่อลูกหมอขอกลับบ้านเกิด
“ก่อนหน้าที่จะเริ่มทำโรงน้ำชา ผมแทบจะไม่เคยได้อยู่ในเมียนมาเลย” แค่คุณเธ็ตเปิดเรื่องมาแบบนี้ ต่อมความอยากรู้เรื่องชีวิตคนอื่นของเราก็เริ่มทำงานทันที
“ผมไม่ได้เติบโตมาในเมียนมาครับ แต่โตที่อังกฤษ เพราะผมย้ายไปอยู่อังกฤษกับพ่อแม่ตั้งแต่ 4 ขวบ พอเรียนจบแล้วผมก็ตัดสินใจย้ายกลับมาเมียนมาเอง เพราะระหว่างที่อยู่อังกฤษ ผมมีโอกาสได้กลับไปเมียนมาอยู่บ่อยๆ แล้วก็อยากกลับไปอยู่เมียนมาตลอด ไม่รู้เพราะอะไร แต่ผมรู้สึกใกล้ชิดกับความเป็นเมียนมามากถึงแม้จะไม่ได้เติบโตที่นั่นเลย ผมรู้สึกว่าเมียนมาเป็นบ้านของผม เอาจริงๆ ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเมียนมามากกว่าคนอังกฤษมาตลอด

“พอตัดสินใจย้ายกลับ ก็เลยคิดเรื่องการทำธุรกิจด้วย แล้วก็เกิดความคิดเรื่องโรงน้ำชาขึ้นเพราะมันเป็นที่ที่ผมชอบที่สุดเวลากลับไปที่ย่างกุ้ง
“โรงน้ำชาในเมียนยมาเป็นอะไรที่เจ๋งดีนะครับ คือ มันเป็นที่ที่เราจะไปเพื่อนั่งจิบชาก็ได้ หรือจะไปกินอาหารมื้อหนักก็ได้ เป็นที่ที่คุณอาจจะใช้จ่ายแค่ร้อยสองร้อย หรือกินอาหารดีๆ หลายพันบาทก็ได้ คุณจะไปนั่งทำงานยาวๆ 3-4 ชั่วโมง หรือจะนัดเพื่อนไปกินข้าวสังสรรค์ก็ได้ คือ คนคนหนึ่งจะมีประสบการณ์กับโรงน้ำชาที่เดิมได้หลายแบบมากๆ
“อย่างเมื่อวานผมได้คุยกับลูกค้าคนหนึ่ง เธอเคยไปร้านที่ย่างกุ้งมาแล้ว แล้วก็มาที่นี่อีก เธอบอกว่าสิ่งที่ทำให้เธอชอบโรงน้ำชาของเรามากๆ ขนาดที่สามารถไปโรงน้ำชาได้หลายรอบในวันเดียว ก็คือ มันเป็นที่ที่เธอจะใส่ชุดนอนออกไปหามื้อเช้ากิน หรือเธอจะนัดคู่ค้ามานั่งคุยธุรกิจจริงจัง ดื่มเครื่องดื่มดีๆ ในตอนเย็นก็ได้ ซึ่งพื้นที่แบบนี้ ถ้าสังเกตให้ดีคือในทุกวัฒนธรรมมีหมด จะลอนดอน ฮ่องกง กรุงเทพฯ ผมก็อยากให้ Rangoon Tea House เป็นพื้นที่แบบนี้ของเมียนมาเหมือนกัน เลยทำโรงน้ำชาด้วยความรู้สึกแบบนี้มาตลอด เมนู ราคา บรรยากาศ การบริการของเราถูกสร้างมาด้วยแนวคิดแบบนี้ทั้งหมด”

ระหว่างนั้นเรามองบรรยากาศรอบตัว ตอนนี้มีลูกค้าอยู่หนึ่งโต๊ะที่ดูเหมือนจะมานั่งจิบชาคุยกันสบายๆ ยามบ่าย และมีโต๊ะเราอีกโต๊ะที่สั่งอาหารมา 5 อย่างด้วยความหิวเต็มพิกัดพร้อมกับยกกล้องมาถ่ายรูปแบบไม่พัก ก็เห็นตรงกับที่คุณเธ็ตพูดว่าร้านนี้เป็นพื้นที่ที่รองรับความต้องการอย่างหลากหลายจริงๆ
เฉลิมฉลองความเป็นเมียนมาอย่างภาคภูมิ

“ผมย้ายกลับเมียนมาตอนอายุประมาณ 25 กับภรรยาผมที่ตอนนั้นอายุ 22 แล้วโรงน้ำชาในเมียนมาเองก็มีเยอะมาก คิดว่าน่าจะมีจำนวนเยอะกว่าร้าน Starbucks ทั้งโลกรวมกันเสียอีก พอมองย้อนกลับไปมันก็ดูเป็นการตัดสินใจที่ใหญ่มากๆ เหมือนกัน แต่ตอนนั้นผมเต็มไปด้วยไอเดียและความอยากจะทำมากๆ คิดว่า 10 ปีที่แล้ว ในย่างกุ้ง หรือกระทั่งในเมียนมา ก็ไม่ได้มีร้านน้ำชาแบบนี้อยู่มากนัก
“โรงน้ำชาในพม่าส่วนใหญ่เป็นการสืบต่อกันรุ่นต่อรุ่น คือรุ่นก่อนๆ ทำมาอย่างไรก็ทำต่อไปแบบนั้น คนเมียนมาที่อยู่กับร้านน้ำชามาตลอดชีวิตคงไม่นึกสงสัยว่าทำไมเขาถึงสั่งติ่มซำในร้านน้ำชาได้ เพราะมันเป็นความคุ้นเคยของเขา แต่ผมเริ่มต้นด้วยการมองจากสายตาของคนนอก ผมจึงค้นหาว่ารากเหง้าของวัฒนธรรมชาในเมียนมามีภูมิหลังอย่างไร มาจากไหน ทำไมเราถึงมีทั้งอาหารอินเดีย อาหารจีน และอาหารชาติพันธุ์ขายอยู่ในที่เดียวกันได้ คุณคิดดูสิว่าคนเมียนมาเราใช้ตะเกียบกินซาโมซาน่ะ มันมีความเฉพาะตัวมากเลยนะ
“ผมอยากจะเล่าเรื่องเหล่านี้ อยากจะเฉลิมฉลองให้การมีอยู่ของวัฒนธรรมเมียนมาในมุมนี้ ดังนั้นผมกับภรรยาจึงมีแผนไว้ตั้งแต่เริ่มทำร้านว่า เราจะทำร้านอาหารพม่าที่สามารถเดินทางไปได้ทั่วโลก ลอนดอน นิวยอร์ก ปารีส กรุงเทพ แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเราโฟกัสกับการวางฐานธุรกิจในพม่าก่อน จริงๆ เราคิดจะขยายออกนอกประเทศหลายครั้งแล้วแต่ชีวิตก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายตลอด นึกออกไหมครับ มีโรคระบาดบ้างอะไรบ้าง จนสุดท้ายมานั่งคิดกันว่า ต้องทำแล้วล่ะ มัน Now or Never แล้วนะ”

“เรานึกถึงกรุงเทพฯ เป็นที่แรกเพราะอยากทำร้านเองทั้งหมด เราอยากคุมคุณภาพให้เป็นมาตรฐาน ไม่ได้อยากเป็นแฟรนไชนส์หรือหาคู่ค้าจากประเทศอื่นๆ แต่อยากนำเสนอตัวตนจริงๆ ของเราออกไปนอกประเทศ ดังนั้นจึงต้องเป็นที่ใกล้ๆ ที่เราสามารถเดินทางได้ตลอดเพื่อที่จะได้มาดูแลร้านได้ด้วยตัวเอง”
เราถือวิสาสะถามคำถามหนึ่งซึ่งค้างคาใจมานานกับคุณเธ็ต ว่าในขณะที่กรุงเทพฯ มีร้านอาหารเมียนมาเล็กๆ มีแผงขายข้าวแกงเมียนมาถูกๆ มากมายตามตลาด เพราะอะไร Rangoon Tea House จึงยังเลือกที่จะนำเสนออาหารเมียนมาในบรรยากาศนี้
“ด้วยความที่ผมเป็นคนเมียนมา ที่เติบโตมานอกประเทศเมียนมา เพราะฉะนั้นตอนที่ผมย้ายกลับไปผมเลยหมกมุ่นกับวัฒนธรรมเมียนมามาก และผมโชคดีที่ไม่เคยมีประสบการณ์โดนดูถูกเพราะเป็นคนเมียนมาเลย ซึ่งอาจจะต่างจากความเชื่อหรือประสบการณ์ของคนเมียนมาส่วนใหญ่ ดังนั้น ผมไม่มองว่าเรื่องราคาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด คุณค่าต่างหากที่ต้องมาก่อน”

“สำหรับผม เรื่องการตั้งราคามันเหมือนกับกรอบรูปนะครับ คือ ถ้าเราจะทำธุรกิจอาหาร ลองตัดเรื่องวัฒนธรรมหรือความรู้สึกออกไปก่อนเลยนะ เราต้องถามว่า อาหารของเราจริงๆ มันมีมูลค่าแค่ไหน คุณภาพมันดีไหม การบริการเราดีไหม บรรยากาศเราดีไหม อย่างชาของเรา เป็นชาที่เราพัฒนาสูตรกันหลายปีและเลือกวัตถุดิบที่ดีที่สุด ดังนั้น ผมจึงไม่กลัวที่จะขายชานมในราคาเดียวกับกาแฟพิเศษ หรือเมนูข้าวหมกของเรา เรายืนยันว่าเราจะต้องใช้วัตถุดิบที่พรีเมียมเท่านั้น คือถ้าให้ผมลดคุณภาพวัตถุดิบลงเพื่อให้ขายได้ในราคาที่ต่ำกว่านี้ ผมคงเลือกที่จะไม่ขายเมนูนี้ไปเลยดีกว่า
“กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่จะกินอาหารมื้อละ 50 บาทก็ได้ หรือจะกินอาหารมื้อหนึ่งแพงมากๆ ก็ยังได้ ความตั้งใจของเราคือแค่ทำให้ร้านของเราเป็นร้านที่คุณภาพดี แต่เข้าถึงได้ จับต้องได้ ซึ่งอันนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นความเชื่อส่วนตัวของผมมากๆ เหมือนกันว่าสุดท้ายลูกค้าจะเป็นคนบอกเราเองว่าเราขายในราคานี้ได้ไหม ผมคิดว่าการทำร้านอาหารมันไม่ใช่การตัดสินใจของเราคนเดียวนะ มันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของลูกค้าด้วย ลูกค้าไม่โกหกหรอก ถ้าเรานำเสนอของที่มีคุณค่าจริงๆ ลูกค้าจะกลับมาหาเราแน่นอน
“ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของ Rangoon Tea House ที่จะต้องนำเสนอวัฒนธรรมเมียนมาด้วย และผมจริงจังกับเรื่องนี้มาก ผมไม่อยากให้ร้านเราเป็นร้านที่ ‘โอ้ เจ๋งจัง’ แค่ครั้งเดียวแล้วคนไม่กลับมาหาเราอีก แต่ผมอยากให้คนเคยกินอาหารเมียนมา หรือคนที่เคยไปเมียนมามาแล้ว พูดถึงเราว่า ‘อาหารอร่อยจังเลย บริการก็ดี สถานที่ก็สวย ไม่นึกมาก่อนเลยว่าร้านอาหารเมียนมาจะมีแบบนี้ด้วย’ และสำหรับคนที่ไม่เคยสนใจอาหารเมียนมามาก่อนเลย ผมคิดว่า มันเป็นความรับผิดชอบของร้านเรา ที่จะทำให้คนอยากรู้จักอาหารของเรามากขึ้น แล้วเห็นว่าเราเป็นที่ๆ เขาจะสำรวจวัฒนธรรมอาหารเมียนมาได้ ผมคิดว่า แค่ทำไปจนได้ฟีดแบ็กแบบนี้ ผมถือว่างานผมสำเร็จแล้ว”
เติบโตในบรรยากาศอย่างเมียนมา ที่รายล้อมด้วยคนเมียนมา
ฉันนัดเจอเพื่อนที่นี่หลายหนและหลายกลุ่ม สิ่งหนึ่งที่แทบทุกคนประหลาดใจ คือพนักงานของร้านนี้ไม่พูดภาษาไทยเลยแม้แต่คนเดียว เพราะพวกเขาเป็นชาวเมียนมาแทบทั้งหมด นั่นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณเธ็ตตั้งใจไว้ตั้งแต่เริ่มเปิดร้านสาขานี้ด้วยเช่นกัน

“ความเป็นตัวตนของเรา ของวัฒนธรรมเมียนมา มันไม่ใช่แค่เรื่องอาหารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของบรรยากาศ ความรู้สึก และการบริการด้วย ที่นี่เราได้รับคำชมเรื่องการบริการอยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมภูมิใจมาก เพราะคนทำงานที่นี่คือชาวเมียนมาที่อยู่ในกรุงเทพอยู่แล้วแทบทั้งหมด และคนเมียนมาเราก็มีใจบริการ มีความถ่อมตนซึ่งเป็นเรื่องที่ผมว่าสำคัญมาก เพราะเขาคือคนที่นำเสนออัธยาศัยแบบนี้จนเป็นภาพลักษณ์หนึ่งของร้านเรา
“แต่ในอีกมุมหนึ่ง ผมก็มีความกดดันมากนะ กรุงเทพฯ ไม่ใช่ที่ที่ง่ายสำรับเราเลย เพราะเป็นเมืองที่มีแต่ร้านอาหารดีๆ และมีคนเมียนมาอาศัยอยู่เยอะมาก ลูกเค้าเราเป็นคนเมียนมาประมาณ 1 ใน 3 เลยนะ มันเหมือนการไปเปิดร้านอาหารอีตาลีในประเทศที่มีแต่คนอิตาลีอยู่น่ะ ความคาดหวังมันสูงมาก ในขณะที่… บางทีผมว่าคนเมียนมาก็อาจจะถ่อมตัวเกินไปจนการนำเสนอเมนูเกิดขึ้นได้ไม่มากเท่าที่ควร (หัวเราะ) คือทุกคนรู้ว่าโมฮิงกาคืออะไร ข้าวหมกคืออะไร แต่การมายืนอธิบายเมนูอย่างฉะฉานบางทีก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะกล้าทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่ก็เป็นเรื่องที่เราพยายามพัฒนากันมาตลอด 8 เดือนตั้งแต่เปิดร้าน จนตอนนี้เรียกได้ว่าเขาเป็นมืออาชีพอีกทีมหนึ่ง
“ผมรู้สึกดีมากที่ได้ทำงานกับคนกลุ่มนี้ มันทำให้ผมรู้สึกเหมือนอยู่บ้านเราตลอดเวลา และผมก็หวังมากๆ ว่าคนกลุ่มนี้จะได้เติบโตไปในสายอาชีพนี้ สมมติว่า 4-5 ปีหลังจากนี้ ธุรกิจเราโตขึ้น หรือมีร้านเมียนมาเปิดเพิ่มขึ้น ผมก็อยากเห็นพวกเขาได้เป็นผู้จัดการร้าน ได้เป็นเชฟต่อไปในอนาคตนะ
“ผมชอบเห็นแนวคิดหรือไอเดียของ Rangoon Tea House ไปปรากฏอยู่ในร้านชาอื่นๆ คุณเคยเห็นชาร์ตชาตามร้านชาไหม ที่อยู่ในเมนู?”

ชาร์ตชาที่ว่านี้ก็คือคู่มือสำหรับสั่งชาสารพัดแบบ เพราะคนเมียนมาดื่มชากันจริงจังมากขนาดที่ว่ามีชื่อเรียกเฉพาะของชานมแต่ละรส ชาเข้มมาก เข้มน้อย หวานมาก หวานน้อย มันมาก มันน้อย ฯลฯ เมนูในร้านน้ำชาจึงมักจะมีแผนภาพที่แสดงว่าชาแต่ละแบบมีส่วนผสมอะไรประมาณไหนไว้เพื่อให้ลูกค้าสั่งได้ตามความชอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นได้บ่อยๆ ตามร้านน้ำชาทั่วไปในเมียนมา
“เราเป็นโรงน้ำชาร้านแรกที่ใช้ชาร์ตแบบนั้น และตอนนี้มันอยู่ทั่วไปหมดเลย คือ ที่เราทำชาร์ตนั้นขึ้นมาไม่ได้เพราะว่าเราฉลาดที่สุดหรือสร้างสรรค์ที่สุดนะครับ แต่เป็นเพราะว่าผมไม่ได้โตในย่างกุ้ง เพราะฉะนั้นผมต้องการวิธีที่จะทำความเข้าใจความแตกต่างของชาแต่ละแบบ เราเลยวาดชาร์ตนั้นขึ้นมา เดิมทีคือเพื่อใช้กันเป็นการภายใน แต่สุดท้ายเราก็ใส่ชาร์ตนี้ลงไปในเมนูด้วย และตอนนี้มันก็กลายเป็นมาตรฐานในร้านน้ำชายุคใหม่ไปแล้ว ชอบการได้เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องแบบนี้
“ผมคิดว่า การที่เรามีคนเมียนมารุ่นใหม่ที่มีความฝั่นจะทำธุรกิจอาหาร จะเป็นเชฟ จะเปิดร้านอาหารเมียนมามากขึ้น เป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลย เพราะการที่คุณจะสร้างตลาดได้ พื้นที่ที่คุณอยู่ต้องมีองค์ความรู้ก่อน ถูกไหมครับ ดังนั้น ยิ่งมีร้านอาหารเมียนมาเพิ่มขึ้นเท่าไร คนก็จะคุ้นเคยกับอาหารเมียนมามากขึ้นเท่านั้น และร้านอาหารแต่ละร้านก็จะเกิดแรงบันดาลใจ เกิดการพัฒนา เกิดอะไรใหม่ๆ มากขึ้น หรือถ้าจะมีร้านอาหารเมียนมาที่ไม่ได้ดำเนินการโดยคนเมียนมาเลย ก็ยิ่งดี มันเหมือนกับคนไทยเปิดร้านอาหารอีสานได้ ทั้งๆ ที่เขาอาจจะไม่ใช่คนอีสาน แสดงว่าวัฒนธรรมอาหารนั้นๆ มันเป็นที่นิยมแล้ว มันเป็นการเติบโตไปอีกขั้นหนึ่งเหมือนกัน”

Recommended by Khun Htet!
หลังจากที่คุยกับคุณเธ็ตมายืดยาวจนอาหารเสิร์ฟครบทุกเมนูแล้ว ก็ถึงเวลาของการกินกันค่ะ

อย่างแรกที่ถึงปุ๊บควรสั่งปั๊บ ก็ต้องเป็นชาแน่นอนอยู่แล้วค่ะ ชาที่เราสั่งวันนี้เป็นชาซีชอน (Ceylon Tea 195 บาท) ที่เป็นซิกเนเจอร์ของทางร้าน เป็นชาพม่าที่เพิ่มความหอมมันด้วยนมข้นและหน้านม (milk skin) ถึงนมจะมาแบบมันนัวเข้มข้น แต่กลิ่นชาก็ยังหอมชัด จิบแล้วสดชื่นตื่นไปตลอดทั้งบ่ายเลยทีเดียว

อีกอย่างที่ฉันสั่งเสมอไม่ว่าจะไปร้านอาหารเมียนมาร้านไหนก็ตาม ก็คือยำใบชา (Tea Leaf Salad 250 บาท) ยำใบชาของที่นี่จะเสิร์ฟแบบยำมาแล้ว สิ่งที่ชอบเป็นพิเศษคือใบชาหมักที่รู้สึกได้เลยว่ารสชาติละมุนละไมและสะอาดปากกว่าร้านอื่นๆ เพราะเป็นยอดใบชาที่ทางร้านหมักเองแบบ Specialty และผักสดที่ซอยมาละเอียดยิบ จานนี้กินเล่นก็ได้ กินเป็นกับแกล้มก็ดี แต่สำหรับคนที่ไวต่อคาเฟอีนก็อย่ากินอร่อยเกินจน caffeine overdose นะคะ

ของกินเล่นประจำโรงน้ำชาแบบเมียนมาอย่างซามูซ่าก็ควรสั่งนะคะ (คนเมียมาเรียกสิ่งนี้ว่าซามูซ่า เป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากซาโมซาของอินเดียนั่นเองค่ะ) เราสั่งมาเป็นซามูซ่ามันฝรั่ง (Arloo Samosa 145 บาท) แป้งด้านนอกบางกรอบ ทอดมาพอดี ข้างในเป็นมันฝรั่งบดที่ปรุงด้วยเครื่องเทศแล้ว รสชาติกลมกล่อมไม่จัดจ้าน แต่สิ่งที่อร่อยคือน้ำจิ้มค่ะ เปรี้ยวหวานถูกต้องมาก

ยำเต้าหู้ถั่วลูกไก่ (Crispy Tofu Salad 190 บาท) จานนี้เป็นเต้าหู้ทอดกรอบนอกนุ่มใน เต้าหู้เป็นเต้าหู้โฮมเมด เนื้อละเอียดและมีรสมันจากถั่ว ตัดกันกับเครื่องยำซึ่งมีกลิ่นหอมๆ ของใบมะกรูดและผักสด กินเพลินใช้ได้เลยค่ะ

ถ้าอยากหนักท้องขึ้นมาหน่อย แนะนำให้สั่งเมนูนี้เลยค่ะ ทาโก้ปลา (Bama Fish Tacos 280 บาท) จานนี้แม้หน้าตาจะดูเป็นเม็กซิกัน แต่จริงๆ ส่วนผสมทั้งหมดเป็นเมียนมาแท้ๆ เช่นตัวแป้งโฮมเมดที่ใช้แป้งข้าวโพด ตัวแป้งจะเหนียวนุ่มกว่าทาโก้ทั่วไป ซอสด้านบนก็เป็นมะเขือเทศที่ยำแบบฉาน เป็นการหยิบอาหารชาติพันธุ์ในเมียนมามานำเสนอให้สนุกและเข้าใจง่าย ดังนั้นจะเรียกว่าเป็นอาหารฟิวชันก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว ฉันขอเรียกว่าเป็นอาหาร ‘ครีเอชัน’ แล้วกันค่ะจานนี้

สุดท้ายสำหรับคนที่อยากกินเอาอิ่ม ต้องเป็นข้าวหมกแกะ (Mutton Biryani 740 บาท) เลยค่ะ เมนูนี้เป็นเมนูยอดนิยมของทั้งสาขาที่ย่างกุ้งและที่กรุงเทพฯ เรียกว่าโต๊ะไหนๆ ก็ต้องสั่ง เป็นข้าวบาสมาติหรือข้าวเม็ดยาว หมกมากับเนื้อแกะที่เปื่อยนุ่มและไม่สาบ หอมกลิ่นเครื่องเทศ (เขาหมกกับนมแซฟฟรอนด้วยนะคะ) ด้านในมีลูกเกดหวานเปรี้ยวไว้ตัดเลี่ยนในบางคำ เสิร์ฟพร้อมผักดองและน้ำพริกปาลาฉ่องแบบพม่า ชัดนีย์แบบอินเดีย กับซุปใสรสเปรี้ยวสดชื่นที่ฉันเดาว่าน่าจะเป็นรสเปรี้ยวจากใบกระเจี๊ยบค่ะ


พรีเซนเทชันก็น่ารักค่ะ ปกติร้านอื่นๆ จะใช้แป้งซีลปิดช่องว่างระหว่างฝาหม้อกับหม้อเพื่อให้ข้าวไม่แห้งเกิน เแต่ของ Rangoon Tea House เขาจะขึงแป้งไว้แทนฝาหม้อ พอหมกจนข้าวสุก แผ่นแป้งก็จะโป่งออกมาเป็นโดม แล้วเขาก็จะยกมาเสิร์ฟเราทั้งโดมแบบนั้นเลยก่อนจะมาเปิดฝาโดมให้ที่โต๊ะ วินาทีที่ฝาแป้งถูกตัดออกควันก็จะลอยฉุย – สายคอนเทนต์โปรดจงเตรียมกล้องให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา!

นอกจากอาหารเล็กๆ น้อยๆ แบบ Tea House Snack แล้ว อาหารเมียนมาแบบจริงจังก็มี จะโมฮิงกา นานจีโตะ แกงเนื้อ แกงแพะ โรตี พารัตทา ฯลฯ ไปจนถึงค็อกเทลต่างๆ คือจะมากินเป็นมื้อไหน วาระหรือโอกาสใดก็ได้หมด ใครคิดถึงอาหารเมียนมา อยากลองกินอาหารเมียนมา หรือแม้กระทั่งหาที่นั่งเล่นสบายๆ แวะมาที่ Rangoon Tea House ได้เลยค่ะรับรองไม่ผิดหวังแน่นอน

Rangoon Tea House
Location : ซอยแสงชัย (สุขุมวิท 38) เวิ้งเดียวกับร้าน Ang Morr
Google Map : https://maps.app.goo.gl/LGw86vGFKSoWE7oW8
Facebook : https://www.facebook.com/RangoonTeaHouseBangkok
Instagram : https://www.instagram.com/rangoonteahouse.bkk
เวลาเปิด-ปิด : อาทิตย์-พฤหัสบดี 09:00-22:30 / ศุกร์-เสาร์ 09:00-23:00
Contributor
Recommended Articles