เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

แพท พัทริกา นักเขียนและนักเดินทางผู้เชื่อว่าอาหารคือประตูสู่อินเดียที่ดีที่สุด

Story by ศรีวิการ์ สันติสุข

ว่าด้วยอาหารแขกกับสาวไทยหัวใจอินเดียเจ้าของเพจ 'ชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก'

ถ้าคุณสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับอินเดีย ฉันเชื่อว่าจะต้องรู้จัก แพท พัทริกา ลิปตพัลลภ นักเขียนนักเดินทางผู้หลงใหลอินเดียเจ้าของหนังสือและเพจชื่อน่ารัก ‘ชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก’ แล้วยังเป็นเจ้าของรอยยิ้มกว้างแบบที่เพียงแค่เห็นรอยยิ้มกับทรงผมและเสื้อผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของเธอ พลังงานบวกก็แผ่ซ่านจนทำให้ต้องยิ้มตาม

 

 

 

 

หลังจากเดินทางไปอินเดียเมื่อ 16 ปีที่แล้ว แพทก็หลงเสน่ห์อินเดียจนกลับไปอีกกว่า 30 ครั้ง นำเรื่องราวมาเขียนเป็นหนังสือและเปิดเพจว่าด้วยอินเดียในแง่มุมต่างๆ ที่เธอพบเห็นและอยากบอกเล่า แต่เมื่อไม่นานมานี้เอง เธอโฟกัสไปที่เรื่องราวของอาหารอินเดีย โดยมาในช่องทาง tiktok รวมทั้งใน IG ของเธอด้วย แน่นอนว่าฉันสะดุดใจกับการเริ่มต้นนี้จนต้องมานั่งคุยกับเธอ

 

 

 

 

pattrica

 

 

 

 

แม้วันที่มีนัดพูดคุยกันอากาศจะร้อนจนชวนหงุดหงิด แต่แพทก็ส่งยิ้มกว้างในแบบของเธอให้ทันทีเปิดประตูเข้ามา ก่อนจะลงนั่งเล่าเรื่องราวสนุกๆ ของเธอกับอาหารอินเดีย แล้วยังสั่งอาหารอินเดียให้กินเพื่อจะได้สัมผัสรสชาติตามที่เธอเล่า พร้อมเฝ้ามองปฏิกิริยาของฉันในขณะที่ลองชิมด้วยสีหน้าและแววตาร่าเริง ที่ทำให้ฉันเชื่ออย่างสนิทใจเมื่อเธอบอกว่าชอบทำความเข้าใจผู้คนด้วยการเฝ้าดู

 

 

 

 

เธอว่าจุดเริ่มต้นคือการไปอินเดียเมื่อปีที่แล้ว แล้วเกิดสงสัยเรื่องอาหารอินเดียจนไปเกาะรถเข็นลุงข้างทางคนหนึ่ง ไปยืนทอดแป้งกับเขาแล้วรู้สึกสนุก เพราะไม่เพียงคุยเรื่องอาหาร บทสนทนายังโยงไปถึงเรื่องอื่นๆ จนเหมือนได้ใช้ชีวิตกับคนอินเดียไปด้วย วันนั้นเธอถ่ายคลิปกับลุงเอาไว้ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำช่องอาหารอินเดีย ทำไปได้สักระยะก็ได้รับรีแอคจากคนเยอะมาก ส่วนมากเป็นคำถาม ซึ่งเธอออกตัวว่าไม่ใช่กูรูอาหารอินเดีย ยังมีเรื่องที่ไม่รู้อีกเยอะ เมื่อไม่รู้ก็สนุกที่จะหาคำตอบ เพื่อจะได้ทำความเข้าใจ

 

 

 

 

“เราบอกเสมอว่าอาหารคือประตูสู่อินเดียที่ดีที่สุด เลยอยากเล่าเรื่องอาหารให้คนฟัง แล้วก็อยากย่อยข้อมูลของอาหารอินเดียให้คนเข้าใจง่ายที่สุด เพื่อคนจะได้เข้าใจอินเดียในมิติต่างๆ ผ่านอาหาร”

 

 

 

 

pattrica

 

 

 

 

ย้อนกลับไปสักนิด ทำไมต้องเป็นอินเดีย ทำไมไม่เป็นประเทศอื่น

 

 

 

 

แต่ละคนจะมีพื้นที่ที่ไปแล้วรู้สึกว่าเป็นที่ของตัวเอง บางคนไปเกาหลี ญี่ปุ่น ไปอยู่นั่น อินเดียเคมีโดนเราสุด อินทุกเรื่อง อยากเข้าใจทุกเรื่อง ให้อภัยได้ทุกเรื่อง สมัยไปแรกๆ เจอคนอินเดียโกง เราจะโกรธใส่ แอกเกรสซีฟใส่แบบไม่รู้ตัว แต่พอเริ่มทำความเข้าใจว่าทำไมเขาต้องโกง เพราะบ้านเขาคนจนเยอะ จะทำยังไงให้อยู่รอด ก็ต้องหารายได้จากนักท่องเที่ยว เลยมีการหลอกบ้างโกงบ้าง ซึ่งไม่ใช่ทุกคน พอเราเปิดใจ คิดโพสิทีฟ สิ่งดีๆ จะเริ่มมาหาเรา ตอนแรกเราก็เนกาทีฟแหละ แต่ละวันมีแต่เรื่องอะไรไม่รู้ ปวดหัว แต่พอเปลี่ยนทัศนคติ สิ่งที่เข้ามาเปลี่ยนหมดเลย เพราะสิ่งสำคัญคือความคิด ความคิดเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน สิ่งที่เข้ามาหาเปลี่ยน คนรอบตัวก็เปลี่ยน

 

 

 

 

อีกอย่างที่ชอบอินเดีย เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ เราชอบความท้าทายนั้น คือมันไม่มีระเบียบวินัยใดๆ และเราทำได้แค่โอนอ่อนไปกับเขา อย่างจะไปนอนที่หนึ่ง การันตีว่าแอร์เย็น อาหารดี แต่ไปถึงแล้วไม่ใช่เลย โวยไปก็เท่านั้น คาแรกเตอร์คนอินเดียเขาก็จะแบบ.. ทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ฟัง ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พอเจอบ่อยๆ ก็เข้าใจว่าอย่าไปโวย รับสภาพเถอะ ตัวอย่างสถานการณ์อะไรแบบนี้มันฝึกคน ถ้าเราอยู่ในที่ที่มีทางเลือกมาก เราก็จะเลือกอยู่นั่นแหละ แต่อินเดียไม่ใช่ มันเป็นที่ที่เราเลือกไม่ได้ เราอยู่ได้ตามสิ่งที่เขามีให้ เป็นการดัดนิสัย ฝึกตัวเอง ความประหลาดแบบนี้ทำให้เราเที่ยวแล้วสนุก มันไม่มีกฎตายตัว ดำเนินชีวิตอย่างธรรมชาติและอย่างสบาย ไปทุกครั้งรู้สึกว่าเราใช้ชีวิตง่ายขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะมองตรงข้ามกับคนอื่น

 

 

 

 

pattrica

 

 

 

 

pattrica

 

 

 

 

จุดเริ่มต้นกับอาหารอินเดีย

 

 

 

 

ไปอินเดียช่วงแรกก็กินยาก กินแต่ฟาสต์ฟู้ด ซื้อบิสกิตติดไว้ ถ้าต้องกินอาหารอินเดียก็จะกินอย่างเดียวคือชิกเก้นติกกา-ไก่ย่างหมักเครื่องเทศ แต่พบว่าระหว่างเดินทางสิ่งสำคัญคืออาหารการกิน ถ้ากินไม่อิ่มหรือไม่อร่อย พลังงานที่ใช้ในการเดินทางจะเป็นไปตามที่เรากิน กินแค่อยู่รอดเราก็เดินทางไม่สนุก รู้สึกมันอั้นๆ พลังตก ก็เลยค่อยๆ บอกตัวเองว่าถ้าอยากเดินทางในอินเดียทั้งชีวิตต้องกินง่าย ต้องรู้จักกินอาหารอินเดีย เลยเริ่มกินโรตี กินแกง

 

 

 

 

แล้วคนอินเดียให้ความสำคัญกับเรื่องอาหาร ครัวคือหัวใจของบ้าน อาหารคือหนึ่งในหัวใจของการมีชีวิตอยู่ ครอบครัว เพื่อนบ้าน สังคม ทุกอย่างเชื่อมโยงกับอาหารหมด คนอินเดียกินกันวันละ 7-8 มื้อ เขาไม่ได้กินแค่มื้อหลัก ยังมีมื้อบ่าย มื้อย่อย ที่เรียกว่าชาท ซึ่งแปลว่าอาหารว่างของคนอินเดีย เป็นอาหารที่มากับ 5 รสคือเปรี้ยว หวาน เค็ม ฝาด เผ็ด มีโยเกิร์ตมากับปูรีที่เป็นแป้งกลมๆ ถั่ว เครื่องเทศ อย่างปานีปูรีที่คนไทยคุ้นเคยก็เป็นหนึ่งในชาท และเป็นอะไรที่เขากินทั้งวัน

 

 

 

 

ในเมื่ออาหารเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าไม่เข้าใจการกิน ไม่ทำความเข้าใจอาหารอินเดีย แล้วเราจะเข้าใจคนที่นั่นได้ยังไง เพราะเราไม่ใช่แค่ไปเที่ยวแต่มันคือการไปใช้ชีวิตจริงๆ ไม่ได้แปลว่าอยากย้ายไปอยู่ แต่ทุกครั้งที่ไปคือเราใช้ชีวิตเหมือนคนในประเทศของเขา ฉะนั้นเราต้องเข้าใจคนของเขาให้ได้ เข้าใจคนได้ก็เข้าใจเมืองได้ เข้าใจประเทศ ส่วนหนึ่งคือเริ่มด้วยอาหาร ทำความรู้จักอาหาร กินให้มากขึ้น เพราะเวลาเจอคนอินเดียชวนไปกินข้าวนอกบ้านด้วยกัน หัวข้อบนโต๊ะมักจะเริ่มมาจากอาหารที่อยู่ตรงหน้า ทำไมถึงต้องใส่เครื่องเทศตัวนี้ด้วย ทำไมขนมหวานถึงต้องมีแผ่นเงินๆ แปะอยู่บนขนมด้วย พอคุยไปเรื่อยๆ บทสนทนามันก็จะโยงไปเรื่องอื่น แกงที่แม่เขาทำให้กินตอนเด็กเป็นยังไง ในครัวที่บ้านแต่ละคนเป็นแบบไหน โตมายังไงกันบ้างจากรัฐของตัวเองที่มีวัฒนธรรมแยกย่อยต่างกันไป

 

 

 

 

อาหารสำหรับเราเลยสำคัญมากถ้าอยากเข้าใจคนอินเดีย เราพูดเสมอว่าอาหารคือประตูสู่อินเดียที่ดีที่สุด เพราะอาหารไม่ใช่แค่เครื่องเทศ แค่อร่อยไม่อร่อย แต่มีเรื่องราวทั้งสภาพอากาศ ภูมิประเทศ เทศกาลต่างๆ ถ้าเราเข้าใจอาหารได้ เราจะรู้จักแทบทุกมิติของอินเดียเลย

 

 

 

 

pattrica

 

 

 

 

เสน่ห์ของอาหารอินเดีย

 

 

 

 

บรรยากาศของการกิน อย่างสตรีทฟู้ดอินเดียจะเห็นไวป์ผู้คน เสียงดัง เคลื่อนไหวตลอด คนโยนแป้ง หยิบจับโน่นนี่ จ้วงน้ำ บางคนว่าสกปรกแต่เราว่ามันเป็นเสน่ห์ที่เรียลมาก บ่งบอกถึงความเป็นอินเดียที่ชัดเจนในเรื่องของกลุ่มผู้ใช้แรงงานในประเทศเขา หรืออย่างไวป์ของการไปนั่งกินตามบ้านคน คนทั้งครอบครัวจะมากินด้วยกัน แล้วเขาทรีตเราเหมือนครอบครัว สอนเราให้เข้าใจว่าแต่ละอย่างคืออะไร กินยังไง ให้เรารู้สึกว่าไม่แปลกแยก รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน

 

 

 

 

อีกอย่างคือการใช้เครื่องเทศที่เราเรียกมาซาล่า ซึ่งหมายถึงเครื่องเทศที่นำมาบดผสมรวม นี่คือศาสตร์ชั้นสูงของคนอินเดียเลยนะ คนนอกอาจจะคิดว่าเอะอะคนอินเดียก็ใส่มาซาล่าๆ แต่จริงๆ แล้วการใส่เครื่องเทศแต่ละตัวมีเหตุผลของมัน เพราะมีฤทธิ์ร้อนเย็นต่างกัน ทั้งมาซาล่าแบบเอาไว้ปรุงรสในขนม มาซาล่าที่ใช้ใส่เครื่องดื่ม มาซาล่าใส่แกง มาซาล่าแต่ละอย่างต่างกัน และต้องมีสัดส่วนของเครื่องเทศที่นำไปผสมแบบลงตัว ไม่งั้นรสชาติจะไม่ใช่ ทำรสผิดเอาไปใส่แกง รสแกงก็จะประหลาด นี่คือเสน่ห์ของศาสตร์อาหารอินเดีย

 

 

 

 

pattrica

 

 

 

 

เปิดใจด้วยจานไหน เพราะอาหารอินเดียขึ้นชื่อเรื่องกินยาก

 

 

 

 

พวกแกงเครื่องเทศ เมื่อก่อนไม่กินเลย สีสันมันจัด แล้วดูแหยะๆ เพราะผสมโยเกิร์ต เราไม่ชอบโยเกิร์ต ก็ค่อยๆ ลองทีละนิด เริ่มจากแกงเบสิกอย่างบัตเตอร์ชิกเก้นเคอรี่ มันจะเนยๆ ครีมๆ เพราะมีส่วนผสมของเนย นม ครีม มะเขือเทศ มีความตะวันตกนิดๆ เลยเข้าถึงง่ายหน่อย พอเริ่มเบื่อก็ลองอย่างอื่น เคบับ-ของย่าง ก็อร่อย และนอกจากแกงข้างทางก็ยังมีการกินตามบ้านคน ซึ่งรสชาติคนละเรื่องเลย ข้างทางรสชาติจะหนักไปหมด เครื่องเทศหนัก เครื่องปรุงหนัก แต่อาหารที่ทำกันตามบ้านจะเบากว่า เครื่องเทศนอกบ้านใส่ 1 ช้อนโต๊ะ ในบ้านใส่แค่ 1 ช้อนชา เวลากินตามบ้านคนอินเดียเลยจะรู้สึกว่ารสชาติสบายท้อง

 

 

 

 

pattrica

 

 

 

 

จานไหนกินยากที่สุด

 

 

 

 

กินได้ทุกอย่าง เพราะไม่ยี้กับจานไหนเลย ตั้งแต่ที่เริ่มเปิดใจ เราจะทำความเข้าใจว่าทำไมสีต้องเละเทะขนาดนี้ ทำไมต้องใส่ปานีร์เยอะขนาดนี้ กระวานเขียวมากขนาดนี้ กินไปเรียนรู้ไปทำความเข้าใจไปก็เลยไม่ยี้ เรามองว่าคนที่ชอบไปอินเดียต้องทำความรู้จักอาหารอินเดียให้มาก แล้วการเดินทางจะสนุกขึ้นอีกเยอะ สตรีทฟู้ดอินเดียคือวัฒนธรรมการกินที่ยิ่งใหญ่ มันคือหนึ่งในจิตวิญญาณของความเป็นประเทศอินเดีย จะชนชั้นไหน จะอาชีพไหน พ่อค้าเพชร เด็กล้างรถ โยคีไร้บ้าน อยากกินแกงโชเล่บาทูเล่ (แกงถั่วลูกไก่กินกับแป้ง) เจ้าดังข้างทางเหมือนกันหมด

 

 

 

 

pattrica

 

 

 

 

..แต่หลายคนจับคู่อาหารอินเดียกับคำว่าท้องเสีย

 

 

 

 

เราเข้าใจความกลัวเรื่องนี้ของคนไทยนะ ไปเที่ยวก็ไม่อยากเอาสุขภาพไปเสี่ยง แต่เอาจริงๆ กินแล้วท้องเสีย มันไม่ได้เป็นเฉพาะอาหารอินเดีย มันสามารถเกิดได้ทุกที่ที่อาหารอาจจะสกปรกจริง ซึ่งสำหรับอินเดีย คนเขาเยอะ พ่อค้าสตรีทฟู้ดต้องประหยัดทุกอย่างให้มากที่สุด ประหยัดทรัพยากร คน ภาชนะ น้ำ ทำให้มันง่ายที่สุด เพื่อที่ราคาจะได้ถูกที่สุด ซึ่งมันตอบโจทย์คนบ้านเขา แต่มันไม่ได้มีแค่สตรีทฟู้ดไง ร้านในอินเดียยังมีอีกหลายระดับ ระดับกลาง ระดับหรู มีคาเฟ่ มีร้านมิชลิน มีทุกแบบ เราเลือกได้ หรือถ้าอยากลองสตรีทฟู้ดจริงๆ คุณก็เลือกได้ เลือกร้านที่เขาไม่เอามือจ้วงลงไปในหม้อ ก็มี

 

 

 

 

กับอีกสาเหตุของการท้องเสียก็คือมาจากเครื่องเทศ เพราะจุดประสงค์หนึ่งในการใส่เครื่องเทศ นอกจากรสชาติและวัฒนธรรมที่ส่งต่อมาก็คือเรื่องการช่วยย่อย คนอินเดียให้ความสำคัญกับการย่อยมาก อย่างโดยทั่วไปเรามักจะพูดกันว่า you are what you eat แต่ของอินเดียคือ you are what you digest กินแล้วย่อยไหม ย่อยยังไง เครื่องเทศแต่ละตัวจะช่วยย่อยต่างกันไป เหมาะกับฤดูต่างกันไป หน้าร้อนไม่ควรใส่ตัวที่ฤทธิ์ร้อน หน้าหนาวให้ใส่เครื่องเทศฤทธิ์ร้อนเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น คราวนี้พออาหารอินเดียที่ใส่เครื่องเทศแบบหนักมือ โดยเฉพาะทางแถบอินเดียเหนือเนี่ย คนไทยกินแล้วไม่คุ้นเคย ลำไส้ปรับตัวไม่ทันก็ท้องเสียได้ มีเพื่อนเคยไปเที่ยวกันสามคน ท้องเสียคนเดียวอีกสองคนไม่เสีย มันก็แล้วแต่ลำไส้ของแต่ละคน

 

 

 

 

 

 

 

 

อินเดียเหนือใส่เครื่องเทศเยอะ แปลว่าอาหารแต่ละภาคแตกต่างกัน

 

 

 

 

คือเราไม่ได้คุ้นเคยกับอาหารทุกภูมิภาคของอินเดีย เพราะประเทศอินเดียมันกว้างมาก ก็ค่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ แต่ค่อนข้างคุ้นเคยกับอาหารอินเดียเหนือและใต้ แน่นอนว่าแตกต่าง อย่างอินเดียเหนือเขาจะใส่เครื่องเทศแน่นๆ แป้งเยอะ มันฝรั่งเยอะ เพราะอากาศหนาวจัด ต้องเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย อาหารก็จะเป็นพวกปาราทา แป้งทอดกับเนยกีหรือน้ำมัน ส่วนทางใต้จะกินเบาลงหน่อย เน้นกินอาหารเป็นยา ก็จะเป็นพวกข้าวหมักผสมแป้งถั่วเอาไปนึ่ง หรือโดซา กินจิ้มกับชัทนีย์ ซอสมะพร้าว มิ้นต์ เพิ่มความเย็นให้ร่างกาย เขาจะมีเซ็ตทาลีในใบตอง มีของกินมาเป็นสิบอย่าง ซึ่งอิงกับอายุรเวทโบราณอินเดียที่เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตอย่างสมดุลทั้งการกิน การหายใจ โดยหลักของการทาลีจริงๆ จะมีลำดับก่อนหลัง เริ่มจากแกงตัวไหนไปผักตัวไหน แต่สุดท้ายต้องจบด้วยบัตเตอร์มิลค์เพื่อช่วยระบบลำไส้ เซ็ตทาลีแบบจัดเต็มต้องที่เทศกาลโอนัม ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เขาจะมีของกิน 30 อย่างวางบนใบตองยาว ใช้เวลาทำกัน 3 วัน

 

 

 

 

 

 

 

 

จานไหนที่ควรต้องกินให้ได้สักครั้ง

 

 

 

 

มีอยู่ 2 อย่างที่ชอบสั่งตลอดเพราะอยากเทสต์รสชาติแต่ละเจ้าไปเรื่อยๆ คือปานีร์ติกกา-ชีสสดย่างในเตาทันดูร์ของอินเดีย ติกกาคือการมาเป็นชิ้นเล็กๆ ปานีร์ก็จะเสิร์ฟมาเป็นก้อนเล็ก หมักเครื่องเทศย่างในเตาทันดูร์ กินจิ้มกับซอสมิ้นต์ อีกจานคือปาปรีชาท เป็นของว่างที่ผสมโยเกิร์ต ซึ่งเมื่อก่อนไม่กินเลยเพราะมันดูยี้ แต่นี่คือจานแรกที่ทำให้เราเปิดใจให้โยเกิร์ตในอาหารอินเดีย ตัวปาปรีคือแผ่นแป้งกรอบ มากับโยเกิร์ต มันฝรั่ง ถั่วลูกไก่ เครื่องเทศ รสเปรี้ยวหวาน เป็นชาทที่น่าสนใจ อย่างปานีปูรีที่คนไทยฮิตๆ กันก็เป็นชาทอย่างหนึ่ง

 

 

 

 

อีกตัวที่อยากให้ลองคือแคชมีลี่นานของทางแคชเมียร์ ปกติคนไทยชินกับนานกระเทียมเพราะคุ้นเคยกับขนมปังกระเทียม เราอยากให้ลองนานของทางฝั่งแคชเมียร์ เขาใช้ผลไม้แห้ง ใช้หญ้าฝรั่น เอาผลไม้แห้งมาปั้นรวมกับแป้งนานก่อนเข้าเตาทันดูร์ มันจะมีรสผลไม้แห้งติดหวานนิดๆ อร่อยมาก แต่ก็ต้องบอกว่าการกินแป้งนานจะแน่นท้องกว่าแป้งอย่างอื่นเพราะเขาใช้แป้งอเนกประสงค์

 

 

 

 

 

 

 

 

แนะนำคนที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะลองอาหารอินเดีย

 

 

 

 

ลองกินชัย-ชาเครื่องเทศก่อนเลย ชัยคือเครื่องดื่มประจำชาติอินเดียและใส่เครื่องเทศด้วย เริ่มด้วยเครื่องดื่มจะเข้าถึงง่ายเพราะคนส่วนใหญ่กินนมอยู่แล้ว ชัยคือการใส่เครื่องเทศเพิ่มเข้าไป หรือบางที่เขาก็ใส่แค่ชากับนม แต่จะต่างกันไปในเวลาที่ใช้ต้ม การใส่นมวัวหรือนมควาย แนะนำอย่างที่สุดว่านี่คือด่านแรกของการลองอาหารอินเดีย

 

 

 

 

 

 

 

 

คนที่ยังไม่ได้ไปอินเดียแต่อยากลองอาหารอินเดีย ควรไปร้านไหน

 

 

 

 

Royal India ที่พาหุรัด เป็นร้านอาหารอินเดียร้านแรกในไทย ตั้งแต่สมัยที่ครอบครัวอพยพมาจากปากีสถาน รสชาติจะเป็นแบบโฮมเมด ร้าน Chennai Kitchen เป็นอาหารอินเดียใต้ อยู่ตรงถนนปั้น เจ้าของมาจากรัฐทมิฬนาดูทางใต้ของอินเดีย การพรีเซนต์เจ๋งมาก โดซา ปูรี มาในถาดหลุม แค่เห็นเขายกออกมาจากครัวก็ตื่นเต้นแล้ว แล้วเป็นวิธีนั่งกินแบบของทางใต้ ต้องใช้มือ กิน กินกับเพื่อนสนุกดี

 

 

 

 

ร้านสมัยใหม่หน่อยก็ BABA ตรงทองหล่อ บริยานีขนุนอร่อยมาก ซาโมซ่าขนุนก็อร่อยมาก ใครมีงบ แนะนำอาหารอินเดียแบบเชฟเทเบิ้ลร้าน INDDEE หลังสวน เน้นสตอรี่เทลลิ่ง เล่าอินเดียทั้งประเทศผ่านแต่ละจาน หยิบแต่ละเมืองมาเล่าในจานต่างๆ เช่น เห็ดโมเรลพรีเซนต์แคชเมียร์ ต้องไปเก็บเห็ดในป่าเอามาตากแห้งเก็บไว้กินช่วงฤดูหิมะที่ถนนถูกตัดขาด เขาจะหยิบเอาวัตถุดิบต่างๆ มาเล่าในจานอาหาร ร้าน Gaa ตรงสุขุมวิท 53 ก็ดีมาก เป็นของเชฟการิมา ออโรรา เชฟมิชลินหญิงคนเดียวที่เป็นคนอินเดีย อาหารสนุก เข้าถึงง่าย ถ้าสนใจอินเดียอายุรเวทไปที่ร้าน Suananda Vegetarian Garden ตรงถนนปั้น

 

 

 

 

ถ้าอยากกินชัย มาที่นี่เลย Mama Restaurant คลองโอ่งอ่าง สิ่งที่เราทำทุกวันเวลาไปอินเดียคือไปหาชัยวาลา (คนต้มชัย) แต่ละเจ้า บางทีไปนั่งดูเขาต้มเป็นครึ่งชั่วโมงจนเขาไล่ออกจากร้าน เพราะลูกค้าคนอื่นที่เข้ามาใหม่ไม่มีที่นั่ง ไปดูว่าเขาใส่อะไร ต้มนมนานขนาดไหน มีเทคนิคยังไง แล้วเอามาลองต้มเองที่บ้าน เราชอบชัยมาก แม้แต่ในกรุงเทพฯ ก็จะไปลองว่าชัยแต่ละร้านเป็นยังไง ลองดมว่าผสมอะไรบ้าง แล้วมาเจอชัยของร้านนี้ที่ยกให้เป็นเบอร์ 1 ของกรุงเทพฯ เลย

 

 

 

 

ส่วนใครอยากลองขนมอินเดียแต่กลัวความหวานตัดขา เวอร์ชั่นไม่หวานก็มี แนะนำเลยให้ลองลัดดูมหัศจรรย์ของเชฟการิมา นอกจากเขาทำร้านอาหารแล้ว เขาทำแบรนด์ขนมชื่อ Marigold ด้วย เป็นขนมอินเดียฟิวชั่น มีลัดดูที่เราหยิบกินไป 6 อันระหว่างนอนดูซีรี่ส์เกาหลี เพราะมันไม่หวาน ใช้วัตถุดิบธรรมชาติทั้งหมด ทุกวันนี้ยังตกใจตัวเอง กินเข้าไปได้ยังไง 6 ชิ้นในหนึ่งชั่วโมงเศษๆ

 

 

 

 

ขอบคุณสถานที่: ร้าน Mama Restaurant ริมคลองโอ่งอ่าง

Share this content

Contributor

Tags:

อาหารอินเดีย, อินเดีย

Recommended Articles

Food Storyกินดีอยู่ดีตามหลักอายุรเวทอินเดีย
กินดีอยู่ดีตามหลักอายุรเวทอินเดีย

รู้จักหลักการกินตามสมดุลของธาตุ ที่จะทำให้คุณสุขภาพดีขึ้น

 

Recommended Videos