เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ส่อง ‘ปาท่องโก๋’ ของอร่อยเอเชีย ประเทศไหนกินคู่กับอะไรบ้าง

Story by ทีมบรรณาธิการ

เมนูแป้งทอดที่ไม่ว่าจะกินกับอะไรก็อร่อยไปซะหมด เห็นทีต้องขอลอกสูตรลับไปกินตามบ้างแล้ว

ถ้าถามถึงอาหารเช้ายอดฮิตของคนไทย เชื่อว่า ‘ปาท่องโก๋’ ต้องเป็นหนึ่งในคำตอบของหลายคนอย่างแน่นอน เวลาไปเดินตลาดยามเช้าจะต้องเห็นรถเข็นขายน้ำเต้าหู้ นมสด แถมปาท่องโก๋ทอดเป็นกองๆ และขั้นตอนการทำนั้นก็แสนอัศจรรย์ ช่างเชื้อชวนให้ต้องไปยืนมองอยู่นานสองนานราวกับต้องมนตร์สะกด

 

 

 

 

บางคนชอบกินปาท่องโก๋แบบเปล่าๆ บางคนชอบกินเป็นของหวานนำไปจิ้มนมข้น สังขยา หรือคู่กับเครื่องดื่มร้อนคลายหนาว และอีกจำนวนไม่น้อยกินคู่กับอาหารคาว เช่น โจ๊ก ใครไม่เคยกินก็อาจจะรู้สึกแปลกไปเลย จึงบังเกิดเป็นความสงสัยว่า นอกจากเป็นเมนูของหวานและของกินเล่นแล้ว ปาท่องโก๋ยังกินกับอะไรได้อีกบ้างนะ

 

 

 

 

และแล้วก็ได้พบว่า ปาท่องโก๋คือของทอดที่เข้าได้เกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะกินกับอะไรก็อร่อยไปเสียหมด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะที่ไทยเท่านั้น ประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชียเขาก็มีเมนูคู่ปาท่องโก๋มาอย่างยาวนาน มีทั้งที่คล้ายกับบ้านเราและแปลกใหม่ออกไป

 

 

 

 

ก่อนจะไปดูว่าแต่ละประเทศเขากินปาท่องโก๋คู่กับอะไรบ้าง ขอชวนทุกคนมารู้จักประวัติของปาท่องโก๋กันก่อนค่ะ

 

 

 

 

ปาท่องโก๋มาจากไหน

 

 

 

 

ปาท่องโก๋ เป็นอาหารที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน เรียกว่า ‘โหยวเถียว’ (油条) แปลตรงตัวได้ว่า เส้นน้ำมัน หมายถึง แป้งเส้นยาวทอดในน้ำมัน แต่ที่นิยมในไทยเราขนาดตัวจะสั้นกว่า แถมเนื้อสัมผัสกรอบนอกนุ่มในกว่าด้วย

 

 

 

 

อย่างที่หลายคนทราบ ปาท่องโก๋ เดิมทีเป็นชื่อของขนมที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าและน้ำตาลทราย ทรงสี่เหลี่ยม เนื้อสัมผัสคล้ายกับขนมถ้วยฟู เรียกว่า ‘ปากถ่องโก๊ว’ ในสำเนียงกวางตุ้ง หรือ ‘ไป๋ถังกาว’ ในสำเนียงจีนกลาง และเพี้ยนมาเป็น ปาท่องโก๋ในที่สุด

 

 

 

 

ส่วนปาท่องโก๋ที่เราคุ้นเคยกันนั้น ชื่อจริงๆ คือ อิ้วจาก๊วย ในสำเนียงแต้จิ๋ว เพี้ยนมาจาก ‘อิ่วจาไขว่’ หรือ ‘โหยวจ้าฮุ่ย’ ในสำเนียงจีนกลาง หมายถึง ของกินทำจากแป้งสาลีตัดเป็นท่อนๆ จับเป็นคู่ติดกัน แล้วทอดในน้ำมันให้พอง

 

 

 

 

พออ่านความหมายแล้วรู้เลยว่าเป็นปาท่องโก๋ที่คนไทยคุ้นเคยแน่นอน เพราะเอกลักษณ์ของปาท่องโก๋ต้องเป็นคู่ ซึ่งไม่ได้ทำแบบไร้เหตุผลนะคะ จริงๆ แล้วมันมีที่มาค่ะ

 

 

 

 

ตำนานเล่าว่า ปาท่องโก๋ มีลักษณะเป็นคู่ เพราะเป็นตัวแทนของสองสามีภรรยา สามีชื่อ ฉินฮุ่ย เป็นขุนนางในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ มีนิสัยฉ้อฉล ร่วมมือกับภรรยาใส่ร้ายป้ายสีให้ขุนนางอีกคนจนถึงแก่ความตาย ชาวบ้านโกรธแค้นจึงทำเป็นแป้งทอดคู่กัน พอจะกินก็นำมาฉีกออกจากกันให้สาแก่ใจ และตั้งชื่อขนมว่า โหยวจ้าฮุ่ย ซึ่งฮุ่ยก็หมายถึง ฉินฮุ่ยนั่นเองค่ะ

 

 

 

 

ปัจจุบัน โหยวเถียว หรือ ปาท่องโก๋ ก็กลายมาเป็นเมนูสุดฮิตกระจายไปทั่วเอเชีย หลายประเทศกินเป็นเมนูประจำชาติ และวันนี้ KRUA.CO ขอพาไปดูเคล็ดลับความอร่อยของประเทศอื่นๆ ให้ชาวครัวได้ลองกินตามดูค่ะ

 

 

 

 

ประเทศไหนกินคู่กับอะไรบ้าง

 

 

 

 

ประเทศไทย เริ่มต้นที่บ้านเราก่อนเลย อย่างที่เกริ่นไปต้อนต้นว่าปาท่องโก๋นิยมขายคู่กับน้ำเต้าหู้ นมสด มีขนาดตัวเล็ก อวบอั๋น เนื้อสัมผัสกรอบนอกนุ่มใน มักกินเป็นมื้อเช้าและมีเมนูที่กินคู่กันต่างออกไปแล้วแต่คนชอบค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

คลิกดูสูตรปาท่องโก๋

 

 

 

 

ปาท่องโก๋ + นมข้นหวาน
เมนูสุดคลาสสิก นำปาท่องโก๋ร้อนๆ จิ้มกับนมข้นหวาน มัน ละมุนลิ้น ถูกใจทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ เรียกได้ว่ากินกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษยันลูกหลาน

 

 

 

 

ปาท่องโก๋ + สังขยาใบเตย
อีกเมนูที่ได้รับความนิยมเยอะที่สุด ปาท่องโก๋จิ้มกับสังขยาใบเตย รสชาติหวาน มัน หอมใบเตยเตะจมูก รวมถึงดัดแปลงเป็นสังขยารสชาติอื่นๆ อย่าง ชาไทย ไข่เค็ม เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

 

 

ปาท่องโก๋ + ชา กาแฟ ไมโล หรือโอวัลติน
ปาท่องโก๋ทอดใหม่ๆ เหมาะเป็นคาร์โบไฮเครตให้พลังงานยามเช้า กินคู่กับเครื่องดื่มร้อนๆ กัดปาท่องโก๋หนึ่งคำ ดื่มเครื่องดื่มหนึ่งที หรือจะจุ่มลงในเครื่องดื่มให้ปาท่องโก๋ซับน้ำจนพองตัวนุ่มนิ่ม ก็ฟินไม่แพ้กันเลยค่ะ

 

 

 

 

ประเทศจีน มาต่อกันที่ประเทศต้นกำเนิดปาท่องโก๋กันค่ะ ชาวจีนเองก็นิยมกินเป็นอาหารเช้าคู่กับน้ำเต้าหู้เหมือนไทยเรา แต่จะขอเสนอเมนูที่แปลกสำหรับคนไทย อย่าง โตวฟูเหน่า (豆腐脑) หรือเต้าฮวยเค็ม

 

 

 

 

 

 

 

ปาท่องโก๋ + เต้าฮวยเค็ม
เต้าฮวยที่ปรุงรสด้วยซีอิ้วหรือซอสถั่วเหลือง ทำให้มีรสชาติออกเค็ม พบมากในปักกิ่ง บางพื้นที่ใส่น้ำมันพริก พริกป่น และถั่ว กินคู่กับปาท่องโก๋ หรือที่ชาวจีนเรียกว่า ‘โหยวเถียว’ มักจะมีลักษณะเป็นตัวยาว ฉีกหรือตัดเป็นชิ้นๆ ใส่ลงไป บางทีเราน่าจะลองเอามาใส่เต้าฮวยบ้านเราดูบ้างก็ดีนะคะ อาจจะอร่อยเหมือนกัน

 

 

 

 

ปาท่องโก๋ + หม่าล่าหม้อไฟ
เมนูที่กำลังฮอตฮิตในปัจจุบัน เมื่อร้านหม่าล่าหม้อไฟผุดขึ้นในประเทศไทยราวกับดอกเห็ด สังเกตเห็นว่าในร้านจะมีเมนูปาท่องโก๋ทอดที่ชาวไทยต่างสงสัยว่าทำไมถึงมาอยู่ในร้านหม้อไฟได้ อันที่จริงปาท่องโก๋เป็นส่วนประกอบของเมนูหม่าล่าในประเทศจีนมาอย่างยาวนาน เพื่อให้เป็นคาร์โบไฮเดรตในอาหารมื้อนั้นๆ ปาท่องโก๋ที่ดูดน้ำซุปหม่าล่าจนพองตัว กินเข้าไปแล้วบอกเลยว่าเข้ากันสุดๆ ทั้งเผ็ดร้อน ทั้งหอม มัน นัว แนะนำว่าควรลองสักครั้งค่ะ

 

 

 

 

ประเทศไต้หวัน ชาวไต้หวันเองก็มีวัฒนธรรมการกินปาท่องโก๋คล้ายกับชาวจีนและไทย คือนิยมกินคู่กับน้ำเต้าหู้ แต่น้ำเต้าหู้ไต้หวันนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากค่ะ อย่าง น้ำเต้าหู้เค็ม (咸豆漿)

 

 

 

 

 

 

 

ปาท่องโก๋ + น้ำเต้าหู้เค็ม
เมนูของหวานก็ไม่ใช่ของคาวก็ไม่เชิง ทำจากถั่วเหลือง ใส่น้ำส้มสายชูข้าว ซอสถั่วเหลือง กุ้งแห้ง หัวไชเท้าแห้ง หมูหยอง โรยด้วยผักชี กินคู่กับปาท่องโก๋ตัวยาวเกือบฟุต กลายเป็นอีกเมนูขึ้นชื่อที่ใครไปเที่ยวไต้หวันห้ามพลาด

 

 

 

 

ปาท่องโก๋ + ขนมปังอบ
‘เจียโหยวเถียว’ (夹油条) คือ ขนมปังอบโรยงาไส้ปาท่องโก๋ ขนมปังอบแป้งหนานุ่มห่อหุ้มปาท่องโก๋ตัวยาวเหยียด เนื้อกรอบ ตรงกลางกลวงเป็นโพลง เป็นเมนูดับเบิลแป้งสุดๆ หากลองกินไปสักชิ้นคงอิ่มไปทั้งวันอย่างแน่นอน

 

 

 

 

ประเทศฮ่องกง ด้วยเขตแดนติดกับทางตอนใต้ของประเทศจีน ทำให้รับอิทธิพลด้านอาหารของชาวจีนกวางตุ้งที่ขึ้นชื่อลือชา รวมถึงเมนูปาท่องโก๋แสนอร่อย

 

 

 

 

 

 

 

ปาท่องโก๋ + โจ๊ก
โจ๊ก (粥) สำเนียงกวางตุ้งออกเสียงว่า ‘จุก’ โจ๊กฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นโจ๊กที่มีความพิถีพิถันตั้งแต่วัตถุดิบตลอดจนขั้นตอนการปรุง ส่วนผสมของข้าวหอมมะลิเคี่ยวในน้ำซุปกระดูกหมูผสานจนเป็นเนื้อเดียวกัน มีหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น โจ๊กปลา โจ๊กหมู โจ๊กเนื้อ โจ๊กหอยเป่าฮื้อ และโจ๊กเครื่องในหมู กินคู่กับปาท่องโก๋ตัวยาว เนื้อนุ่ม ฉีกใส่ในโจ๊กให้ชุ่มฉ่ำ ชาวฮ่องกงทานเป็นทั้งอาหารเช้าและอาหารค่ำเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย

 

 

 

 

ในประเทศไทยเราก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบการกินโจ๊กคู่กับปาท่องโก๋เป็นอาหารเช้า แม้จะเป็นแป้งที่กินกับแป้ง แต่กลับอร่อยจนไม่รู้สึกผิดเลยค่ะ

 

 

 

 

ปาท่องโก๋ + ก๋วยเตี๋ยวหลอด
‘จาเหลิง’ (炸兩) หรือก๋วยเตี๋ยวหลอด ที่ไม่ใช่ไส้กุ้งหรือไส้หมู แต่เป็นไส้ปาท่องโก๋ มีลักษณะเป็นแป้งก๋วยเตี๋ยวหลอดเหนียวนุ่ม ห่อหุ้มปาท่องโก๋ ราดด้วยซอสรสชาติเค็มหวาน ทำจากซีอิ๊วดำเค็มและน้ำตาลทราย โรยด้วยต้นหอมและกุ้งแห้ง เมนูนี้ดูเหมือนจะคลีน ความจริงมันคือแป้งห่อแป้งอีกที ไม่อ้วนยังไงไหว อีกทั้งหลายคนแอบกระซิบว่ารสชาติอาจไม่คุ้นลิ้นคนไทยสักเท่าไหร่

 

 

 

 

ประเทศเวียดนาม อีกหนึ่งชาติที่เต็มไปด้วยเมนูปาท่องโก๋นับไม่ถ้วน เป็นได้ทั้งของหวาน เช่น ปาท่องโก๋ราดซอสช็อกโกแลต นูเทลลา แยม ฯลฯ และของคาวกินคู่กับเมนูประจำชาติ

 

 

 

 

 

 

 

ปาท่องโก๋ + เฝอ
เฝอ (phở) ถือได้ว่าเป็นเมนูประจำชาติของเวียดนาม มีลักษณะคล้ายก๋วยเตี๋ยว น้ำซุปมีส่วนผสมของสมุนไพรเครื่องเทศ กานพลู โป๊ยกั๊ก เมล็ดยี่หร่า ลูกผักชี และอบเชย เป็นต้น มีให้เลือกทั้งเฝอเนื้อ (phở bò) และเฝอไก่ (phở gà) เสิร์ฟพร้อมกับปาท่องโก๋ หรือที่คนเวียดนามเรียกว่า ‘เกว๋ย’ (quẩy) ตัวยาวคล้ายกับของจีน เนื้อค่อนข้างเหนียว ข้างในนุ่มกลวงเล็กน้อย คนเวียดนามจึงนำไปใส่เฝอ เพื่อดูดซับน้ำซุปจนพองเต็มที่ กลายเป็นปาท่องโก๋นุ่มนิ่มกัดทีน้ำซุปกระจายเต็มปาก อร่อยกว่ากินธรรมดาเสียอีก

 

 

 

 

คลิกดูสูตรเฝอเนื้อ

 

 

 

 

ปาท่องโก๋ + น้ำจิ้ม
ชาวเวียดนามมีน้ำจิ้มปาท่องโก๋สุดพิเศษ เรียกว่า ‘เนื้อกเจิ๊ม’ (nước chấm) มีส่วนผสมของน้ำปลา น้ำส้มสายชู น้ำตาล มะนาว น้ำเปล่า พริก กระเทียม ใส่แตงกวาและแคร์รอตตามชอบ รสชาติเปรี้ยวหวาน เผ็ดเล็กน้อย ไว้จิ้มปาท่องโก๋ร้อนๆ คล้ายกับน้ำจิ้มปาท่องโก๋ของชาวจันทบุรีนั่นเองค่ะ

 

 

 

 

ประเทศมาเลเซีย ชาวมาเลเรียกปาท่องโก๋ว่า ‘จะโก๊ย’ (cakoi) เป็นเมนูอาหารเช้าพร้อมกับโจ๊ก และเป็นขนมกินเล่น จิ้มกับสังขยา ที่เรียกว่า ‘กายา’ (Kaya) และเมนูอื่นๆ ที่คุ้นตาชาวไทย

 

 

 

 

 

 

 

ปาท่องโก๋ + บะกุดเต๋
‘บะกุดเต๋’ (Bak Kut The) สไตล์มาเลเซียได้รับอิทธิพลจากชาวจีนฮกเกี้ยน คือซี่โครงหมูตุ๋นยาจีน ใส่เห็ดหอม เห็ดเข็มทอง ฟองเต้าหู้ หรือบางที่ใช้เนื้อวัวหรือไก่ น้ำซุปจัดเต็มด้วยเครื่องยาแบบเน้นๆ เช่น ตังเซียม ชวงเกียง กำเซ่ง เก๋ากี้ เง็กเต็ก โป๊ยกั๊ก และอบเชย สีน้ำซุปออกเข้มจากซีอิ๊วดำหวาน เสิร์ฟร้อนในหม้อดิน พร้อมซีอิ๊วกับพริกขี้หนูเป็นเครื่องปรุงรส และที่ขาดไม่ได้ คือปาท่องโก๋ที่ต้องคู่กันมาเป็นสูตรตั้งแต่ต้นตำรับ ด้วยว่าในอดีตเนื้อสัตว์มีราคาแพง จึงใส่ปาท่องโก๋เข้าไปแทนเพื่อเพิ่มเนื้อ เพิ่มไขมันนั่นเอง

 

 

 

 

ประเทศสิงคโปร์ จริงๆ แล้ว สิงคโปร์มีเมนูบะกุดเต๋เหมือนกับมาเลเซีย แต่รสชาติและเครื่องเทศแตกต่างกันเล็กน้อย อย่างไรก็ตามยังมีเมนูที่น่าสนใจอื่นๆ ที่ควรได้ลองกิน เช่น 

 

 

 

 

 

 

 

ปาท่องโก๋ + เต้าส่วน
‘เต้าส่วน’ (豆爽) ขนมหวานสัญชาติจีนที่แพร่หลายในเอเชีย สิงคโปร์เองก็มีเต้าส่วนคล้ายกับที่ขายอยู่ในไทยเลย ต่างกันที่เต้าส่วนสิงคโปร์ไม่มีกะทิราดหน้า คนสิงคโปร์มักจะกินคู่กับปาท่องโก๋ทอดหั่นเป็นชิ้นพอดีคำใส่ลงไป

 

 

 

 

ในไทยเคยได้ยินคนพูดถึงเมนูนี้อยู่บ้าง คิดว่าคงต้องไปลองหากินตามชาวสิงคโปร์ดูแล้วละคะ

 

 

 

 

ปาท่องโก๋ + สลัดโรจั๊ก
‘โรจั๊ก’ (Rojak) คือ สลัดพื้นบ้านของชาวสิงคโปร์ นำเอาปาท่องโก๋ทอดกรอบๆ หั่นชิ้นพอดีคำ ใส่ผัก ผลไม้ต่างๆ ราดด้วยซอสที่ทำจากกะปิ น้ำตาล พริก และมะนาว ให้รสชาติกลมกล่อมทั้งเค็ม เผ็ด เปรี้ยว หวาน โรยด้วยถั่วลิสงบดและขิงซอย

 

 

 

 

เมนูนี้รับรองว่าแปลกใหม่มากสำหรับชาวไทยอย่างเรา ไม่ใช่แค่เอาปาท่องโก๋ไปเป็นส่วนเสริมของเมนู แต่ปาท่องโก๋เป็น พระเอกของมื้อนั้นต่างหาก อีกทั้งมีสารอาหารครบจบในจานเดียว

 

 

 

 

เห็นแล้วว่าปาท่องโก๋ฮอตฮิตในทวีปเอเชียมาก บางประเทศกลายเป็นอาหารประจำชาติ กินในชีวิตประจำวัน มีทั้งเมนูที่คล้ายกับไทยเรา และต่างจากไทยเราออกไปมากโข นอกจากนี้คิดว่ายังคงมีเมนูลับอื่นๆ ที่กินคู่กับปาท่องโก๋แล้วอร่อยแบบตะโกน และหากใครค้นพบเมนูปาท่องโก๋สุดแปลกแหวกแนว ก็อย่าลืมมาแชร์ให้เพื่อนๆ ลองไปกินตามกันด้วยนะคะ

 

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลจาก
เปิดสูตรบักกุ๊ดเต๋ อาหารจีนโพ้นทะเลยอดนิยม
มาชวนคุยเรื่องโจ๊ก
Xian Dou Jiang (鹹豆漿)
เอาบรรยากาศร้านฟู่หางโต้เจียงอันโด่งดังในไทเปมาให้ดู ปกติต่อคิวนานมากเผื่อใครอยากจะไปต่อคิวบ้าง
ชีวิตในจีน: รวมมิตรอาหารยามเช้าของคนจีนในชั่วโมงที่แสนเร่งรีบ และที่มา กว่าจะเป็น “ปาท่องโก๋” เรื่องเล่าจากปากคนจีน เล่าสู่อ้ายจง ตำนานที่หลายคนอาจไม่รู้
เต้าฮวย
รู้หรือไม่ “ปาท่องโก๋” จริงๆ ไม่ได้ชื่อนี้,หน้าตาแบบนี้ แล้วตัวจริงหน้าตายังไง?
Vietnamese Crullers (Quẩy)
ขนมโรจั๊ก

 

 

 

 

รูปภาพจาก
Eatbook
猛烈南瓜在飯桌
1Hanoi
Hakusan Porcelain’s Hirachawan
Miukee
STC Bak Kut Teh 新东洲肉骨茶
Stancy Teacher
VIET TRADER
CHLOE
อี้บะกุ๊ดเต๋ 義 肉 骨 茶
Taiwan66
tainan_shaniu

Share this content

Contributor

Tags:

วัฒนธรรมอาหารรอบโลก, อาหารจีน

Recommended Articles

Food Storyเครื่องบะกุดเต๋ มีอะไรบ้างนะ?
เครื่องบะกุดเต๋ มีอะไรบ้างนะ?

ชวนทำความรู้จักกับเครื่องยาและสรรพคุณ จากบะกุดเต๋หม้อโปรด

 

Recommended Videos