เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

7 วิธีกินข้าวคนเดียวอย่างไรไม่ให้เฉา

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

อย่าให้โควิด-19 มาพรากความเจริญอาหารไปจากเรา!

การกินอาหาร ในเชิงกายภาพนับเป็นการเติมพลังงานให้ระบบต่างๆ ของร่างกายให้ยังทำงานไปอย่างปกติสุข แต่ในด้านของหัวจิตหัวใจแล้ว มื้ออาหารที่ดีคือการเติมกำลังใจประจำวันได้สามารถต่อสู้กับโลกอันโหดร้ายได้ต่อโดยไม่อับเฉาเกินไป วัฒนธรรมชาบู หมูกระทะ จึงครองใจเหล่าคนขี้เหงามาเป็นอันดับหนึ่งอยู่เสมอ เช่นเดียวกันกับอาหารมื้อใหญ่ประจำบ้านที่เป็นชั่วโมงแสนอบอุ่นให้สมาชิกร่วมโต๊ะแต่ละคนได้บำบัดทุกข์ บำรุงสุขของกันและกันในแต่ละวัน

 

การกินข้าวโดยมีเพื่อนรวมวงถูกใจ นอกจากจะทำให้เกิดบทสนทนาดีๆ ขึ้นแล้ว ทางวิทยาศาสตร์ยังช่วยให้เรามีความอยากอาหารมากขึ้น กินได้เยอะขึ้น และแน่นอนว่าในสำรับกับข้าวแบบไทยๆ การกินข้าวร่วมกันหลายๆ คนนั่นยังเกี่ยวเนื่องไปถึงความหลากหลายครบครันของเมนูบนโต๊ะอาหารอีกด้วย

 

แม้ว่าจากการสำรวจจะยืนยันว่า ตัวเลขของคนที่กินข้าวคนเดียวอย่างเป็นกิจวัตร (คือมากกว่า 2 มื้อ ใน 1 วัน) มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนพฤติกรรมการกินคนเดียวทำให้บรรจุภัณฑ์อาหารต่างๆ ลดลงเหลือขนาด 1 เสิร์ฟ และทำให้ร้านรวงต่างๆ ปรับตัวต้อนรับคนกินคนเดียวมากขึ้นราวกับว่าการกินอาหารคนเดียวจะเป็นเรื่องธรรมดาใหม่ของคนยุคนี้ แต่ทางวิทยาศาสตร์กลับพบว่า การกินข้าวคนเดียวเป็นประจำนั้นทำให้เราเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคขาดสารอาหารได้ด้วย เรียกว่าการกินข้าวกับความเหงานั้นอาจส่งผลเสียต่อเราได้ทั้งร่างกายและจิตใจ

 

แต่ในช่วงที่ร้านอาหารเปิดขายเฉพาะอาหารสำหรับหิ้วกลับบ้าน และการรักษาระยะห่างระหว่างกันคือการแสดงความรัก เราไม่สามารถร่วมโต๊ะกินอาหารมื้อใหญ่ประหนึ่งการเฉลิมฉลองประจำวันได้แล้ว ก็คงต้องหาวิธีการกินข้าวคนเดียวให้ไม่อับเฉาเศร้าซึม เรียกว่าต้องเอนเตอร์เทนตัวเองเต็มที่เพื่อรักษาสุขภาพกายสุขภาพจิตให้พร้อมออกไปใช้ชีวิตในวันที่สถานการณ์โรคระบาดดีขึ้นจนกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม

 

มาฝึกกินข้าวคนเดียวอย่างชื่นบานกันดีกว่าพวกเรา

 

กินไป ดูซีรีส์อาหารไป

 

 

ในยามปกติ การกินไปดูซีรีส์ไปว่าสร้างความบันเทิงแล้ว ในยามโควิดบุกเมือง ซีรีส์นี่แหละเป็นตัวเลือกต้นๆ ที่ใครต่อใครมักชวนมารวมโต๊ะกินข้าวด้วย โดยเฉพาะซีรีส์เกี่ยวกับบรรดาอาหารต่างๆ พร้อมกับตัวละครที่โซ้ยอาหารซู้ดๆ ไปพร้อมๆ กับเรายิ่งชวนให้เจริญอาหารมากกว่าการนั่งกินข้าวจ่อยๆ คนเดียวอยู่มากโข เรียกว่าสมัครแอปพลิเคชันดูซีรีส์รายเดือนมาตั้งนาน ก็จะมาใช้กันจนคุ้มในช่วงกักตัวนี่แหละ ยิ่งหากได้ทำการบ้านมาก่อน เตรียมเมนูที่เหมือนกับในซีรีส์ตอนนั้นๆ มากินด้วยละก็ ยิ่งบันเทิงทุกประสาทสัมผัสเลยทีเดียว (พูดแล้วก็หิวเลย)

 

ซีรีส์แนะนำ: อร่อยเดียวดาย (Solitary Gourmet), ร้านอาหารเที่ยงคืน: บันทึกโตเกียว (Midnight dinner: Tokyo stories), ซามูไรหัวป่าก์ (Samurai Gourmet), เมื่อวานเจ๊ทานอะไร (Kinou Nani Tabeta), วุ่นรัก สาวนักกิน (Let’s eat)

 

กินไป อ่านหนังสือไป

 

 

ข้อนี้แนะนำสำหรับนักอ่านตัวยง หนอนหนังสือจะรู้กันว่าการกินอะไรเพลินๆ ระหว่างอ่านหนังสือนี่ทำให้เรากินได้เรื่อยๆ แบบขนมหมดซองไม่รู้ตัว ยิ่งหนังสือสนุกเรายิ่งหยิบขนมเข้าปากอย่างเมามัน ดังนั้นแล้ว หากจะลองหยิบหนังสือขึ้นมาสร้างความบันเทิงระหว่างมื้ออาหารลำพังแสนเงียบเหงามันจะผิดอะไรเล่า!

 

 

ข้อนี้มีเคล็ดลับเพียงว่าควรเลือกเรื่องหนังสือให้ไม่ขัดขวางการกินจนเกินไป อย่างจะอ่านนิยายฆาตกรรมแล้วจับศพไปทำอาหารต่อ อันนี้ก็อาจจะกลายเป็นว่าหนังสือจะช่วยลดความอยากอาหารลงไปอีกกระดับ (แต่ถ้าใครอ่านแล้วบันเทิงเริงใจก็นับว่าเป็นข้อยกเว้น)

 

จัดโต๊ะอาหารให้เพอร์เฟกต์ประหนึ่งร้านดัง

 

 

แม้ว่าจะเป็นการนั่งกินข้าวเพียงลำพังแต่จงอย่าร่วงโรย ลองเลือกหาผ้าปูโต๊ะสวยๆ เครื่องจานชามดีๆ ที่ซื้อมาเก็บไว้ไม่ค่อยได้ใช้ แจกันดอกไม้เข้าชุด พร้อมเปิดเพลงในสไตล์ที่เข้ากั๊นเข้ากัน เนรมิตโต๊ะกินข้าวตัวเดิมให้กลายเป็นร้านอาหารตามใจฉัน สาย Fine Dining อาจจะต้องการแบบเรียบหรูพร้อมเชิงเทียนสวยๆ ส่วนสายคาเฟ่ก็จงประโคมพร็อพเข้าไปให้สาแก่ใจ สายมินิมัล มากแต่น้อยก็อย่าลืมจัดแสงเงาให้เฉียบ แล้วรับรองว่าการนั่งกินข้าวคนเดียวของคุณจะกลายเป็นชั่วโมงชุบชูใจแบบที่ต้องนึกอิจฉาตัวเองขึ้นมาทีเดียวล่ะ

 

 

Trick: ใครที่นีกไม่ออกลองเสิร์ชแฮชแท็ก #homecafe หรือคีย์เวิร์ดประมาณนี้ดูจะได้ไอเดียแต่งโต๊ะที่ง่ายแต่สวยจนหัวใจเต้นตึกตัก

 

ตามใจตัวเองเสียให้เข็ด!

 

 

 

อีกวิธีหนึ่งที่เวิร์กมากๆ สำหรับการนั่งกินข้าวคนเดียวเงียบๆ ในห้องแบบไม่ต้องอับเฉา ก็คือการสรรหาอาหารถูกปากถูกใจมาบำรุงบำเรอตัวเองเสียให้เข็ด อยากกินพิซซ่าชิ้นใหญ่ใช่ไหม ได้! อยากกินชาบูก็ตั้งเตาคนเดียวมันเสียเลย! เสิร์ฟทุกอย่างที่ชอบและอยากกินแบบเต็มที่ไม่มีใครแย่ง แล้วจะรู้ว่าโมงยามแห่งการตามใจตัวเองนี้ช่างแสนดีหนักหนาจนลืมเหงาไปเลยชั่วขณะ ระวังจะติดใจเสียนิสัยไม่รู้ด้วยล่ะทีนี้ (คำเตือน: วิธีนี้ควรเก็บไว้เป็นท่าไม้ตายในวันที่แสนหมองหม่น อย่าตามใจตัวเองบ่อยๆ เพราะวันใดที่อาหารมื้อพิเศษไม่พิเศษอีกต่อไปแล้วชีวิตจะยากขึ้นไปอีกขั้น)

 

กินไป วิดีโอคอลไป

 

 

 

ถ้าเริ่มหมดมุกเอนเตอร์เทนตัวเองระหว่างกินข้าวคนเดียวลำพังแล้วละก็ ลองยกหูโทรนัดเพื่อนชาวเหงา นัดคนสนิท หรือนัดครอบครัวกินข้าวด้วยกันสักมื้อ วิธีนี้อาจจะดูแปลกๆ ไปบ้างแต่ว่าพอเริ่มทำบ่อยเข้าก็สนุกดีเหมือนกัน เพราะแต่ละนัดบรรยากาศจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพื่อนชาวแก๊งคอลกันทีเกือบสิบคนมันก็จะวุ่นวายแย่งกันพูดหน่อยๆ ส่วนวิดีโอคอลกับครอบครัว แม่ก็ยังบังคับให้กินข้าวเยอะๆ เหมือนเดิม ดีไม่ดีจะเป็นโอกาสไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบและอัปเดตชีวิตกันอย่างรีแล็กซ์สุดๆ ส่วนใครจะนัดกินข้าวกับคนรู้ใจก็อย่าลืมสร้างบรรยากาศโรแมนติกกิ๊กกั๊กไว้ล่วงหน้า ก็เป็นเซอร์ไพรส์แบบไม่ใกล้ชิดที่น่ารักไม่หยอกเลยนะ

 

ฝึก Mindful eating

 

 

Mindful eating หรือการกินอย่างมีสตินั้นเป็นวิธีการกินอาหารที่ถูกแนะนำมากในหมู่นักโภชนศาสตร์และนักกำหนดอาหาร เพราะกระบวนการของการกินอย่างมีสติไม่ได้อยู่แค่บนโต๊ะอาหารเท่านั้น แต่เริ่มต้นขึ้นจากการเรียนรู้ความรู้สึกหิวและอิ่มของตัวเอง การเลือกอาหารโดยใช้ประสาทสัมผัสพินิจพิจารณา การกินอาหารแต่ละคำอย่างรับรู้ว่าอาหารเหล่านั้นจะทำให้เกิดผลอย่างไรต่อร่างกายเราบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีโอกาสไหนเหมาะจะเริ่มฝึกกินแบบมีสติได้เท่ากับช่วงนี้ที่เรามีโอกาสได้กินข้าวคนเดียวแทบทุกมื้อ

 

 

เริ่มจากการกินเมื่อเริ่มหิว และหยุดกินเมื่อรู้สึกอิ่ม วางแผนมื้ออาหารและเลือกวัตถุดิบที่ให้สารอาหารครบถ้วน มีประโยชน์ต่อร่างกาย พิจารณารสชาติเปรี้ยวหวานมันเค็มที่พอดิบพอดี เพราะสุดท้ายแล้วสติจะช่วยบอกเราเองว่าอาหารแบบไหนและปริมาณเท่าใดที่จะบำรุงร่างกายเราได้อย่างพอเหมาะพอเจาะโดยไม่พาให้เกิดโทษ สิ่งสำคัญอาจย้อนแย้งกับวิธีแรกๆ อยู่สักหน่อย คือต้องวางมือถือ ปิดจอโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ ปิดเพลงและลดสิ่งรบกวนให้มากที่สุด เพื่อที่ว่าเราจะได้จดจ่อกับอาหารตรงหน้าให้มากที่สุดนั่นเอง

 

ฝึกใจให้ชินกับการไม่ทำอะไรเลย

 

 

ในยุคที่เรา ‘multitasking’ กันเป็นปกติ วิ่งออกกำลังกายไปฟังพอดแคสต์ไป กินข้าวไปดูโทรทัศน์ไป ทำงานไปฟังเพลงไป เพื่อใช้เวลา 24 ชั่วโมงของแต่ละวันให้คุ้มค่าที่สุด สมองของเราก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่าต้องทำงานหลายๆ อย่างให้ได้ในเวลาเดียวกันจนเคยชิน แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีคนเพียงจำนวนเท่าหยิบมือเท่านั้นที่สามารถทำหลายๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกันโดยยังคงประสิทธิภาพการทำงานไว้แบบเดิม แต่สมองเรากับเสพติดการ multitasking อยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งเวลากินข้าวที่ควรจะเป็นการกินเพื่อให้ได้กินเท่านั้น ดังนั้นที่สุดแล้ว การมีโอกาสได้กินข้าวเงียบๆ คนเดียวก็อาจเป็นเวลาอันเหมาะสมที่จะฝึกให้ใจเรากลับมาชินกับการทำอะไรทีละอย่างโดยไม่รู้สึกว่างเปล่าก็เป็นได้

 

แล้วจะรู้ว่า จริงๆ แล้วการกินอาหารคนเดียวก็ไม่แย่ไปเสียทั้งหมดหรอกค่ะ

 

ข้อมูลจาก

 

ttps://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0031938417301506

 

https://www.mnn.com/food/healthy-eating/blogs/10-ways-dine-solo-without-technologyhttps://www.nytimes.com/2019/10/30/smarter-living/how-to-eat-alone-and-like-it.html

Share this content

Contributor

Tags:

Cooking Therapy, Covid-19

Recommended Articles

Food Storyทำข้าวกล่องบริจาคยังไง ให้ถึงมือแบบไม่เหลือทิ้ง
ทำข้าวกล่องบริจาคยังไง ให้ถึงมือแบบไม่เหลือทิ้ง

จะทำข้าวกล่องต้องรู้ เลือกเมนูยังไง ปรุงแบบไหน บริจาคยังไงให้ไม่เหลือทิ้ง

 

Recommended Videos