หากต้องส่งอาหารให้คนใกล้ชิดที่ติดโควิดแล้วต้องรักษาตัวอยู่บ้าน มากกว่าความอร่อยคือควรรู้ว่าอะไรที่ผู้ป่วยโควิดกินได้ และอะไรที่ไม่ควรกิน
ก่อนหน้านี้ในวันที่การรักษายังทั่วถึง โรงพยาบาลยังรับคนไข้ไหว รอบตัวฉันเองมีผู้ป่วยทั้งพี่ น้อง คนรู้จัก ในคนที่ได้รับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาล หรือ hospital มาแชร์ประสบการณ์ต่างๆ ในฐานะผู้ป่วย รวมถึงเรื่องอาหารการกิน หลายคนเล่าติดบ่นว่าอาหารไม่ถูกปาก จืดๆ ชืดๆ บางคนบอกได้กินไข่ต้มทุกวันไม่รู้ทำไม จนรอดจากโควิดเลยได้มานั่งฉลองมื้อใหญ่ที่บ้าน กินอาหารที่อยากจะกิน ใช่ว่าโรงพยาบาลดูแลไม่ดีนะคะแต่นั่นแหละ เป็นอาหารที่ผู้ป่วยควรได้รับ
ต้องยอมรับว่าข้อมูลอาหารสำหรับผู้ป่วยโควิดยังมีการเผยแพร่อยู่น้อยมากค่ะ ทั้งที่การกินนี่ละเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการรักษาด้วยยา เพราะอาหารบางชนิดอาจกระตุ้นให้อาการกำเริบโดยผู้ป่วยไม่รู้ กินยาไปอาการก็ไม่ทุเลาลงสักที ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลอาจมีนักกำหนดอาหารที่เข้ามาดูแลเรื่องอาหารการกินในแต่ละมื้อ แต่กับผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ช่วงนี้ต้องทำ Home isolation รักษาตัวอยู่บ้าน เพราะเตียงที่โรงพยาบาลไม่พอ แพทย์รับมือกับจำนวนผู้ป่วยไม่ไหว การรักษาที่บ้านโดยไม่มีทั้งหมอ พยาบาลหรือคนดูแลเรื่องอาหารอย่างใกล้ชิด จึงเป็นหน้าที่ของญาติ คนใกล้ตัวผู้ป่วยที่ช่วงนี้อาจทำหน้าที่ส่งข้าว ส่งอาหาร หรือแม้แต่เพื่อนบ้านที่มีน้ำใจซื้ออาหารมาให้ อาจต้องใส่ใจเรื่องอาหารของผู้ป่วยให้มากกว่าแค่ความอร่อย คือรู้ว่าอะไรที่ผู้ป่วยโควิดกินได้ และอะไรที่ไม่ควรกิน
โดยนักกำหนดอาหารอิสระ อาจารย์แววตา เอกชาวนา เคยให้ข้อมูลเรื่องโภชนาการสำหรับผู้ป่วยโควิดและเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สอดคล้องกันกับนายแพทย์วินัย โบเวจา แพทย์หัวหน้าศูนย์สุขภาพปอดอายุรแพทย์ด้านระบบทางเดินหายใจและภาวะวิกฤติทางเดินหายใจ โรงพยาบาลพยาไท 3 ที่ได้ออกมาให้ข้อมูลอาหารที่ผู้ป่วยโควิดควรระวังผ่านช่องยูทูบ‘โรคปอดและทางเดินหายใจ หมอวินัยโบเวจา’ เมื่อไม่นานมานี้
อาหารที่ผู้ป่วยโควิดไม่ควรกิน
- น้ำเย็น เครื่องดื่มรสหวาน เชื้อโควิดส่งผลกับระบบทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยมักมีอาการไอ มีเสมหะ เจ็บคอ มีน้ำมูก จึงไม่ควรกินน้ำเย็น น้ำหวาน น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ กาแฟ ฯลฯ เพราะรสหวานและความเย็นจะกระตุ้นให้จมูกบวม มีน้ำมูก เสมหะ คันคอ ทำให้อาการต่างๆ ไม่ทุเลาลง
- น้ำแข็ง นอกจากความเย็นที่ไม่ดีต่อผู้ป่วยแน่ๆ คือน้ำแข็งอาจมีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย และเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งอันตรายกับผู้ป่วยโควิดที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- อาหารรสจัด มันจัด อาหารรสจัด มันจัดทุกชนิด เช่น ผัดกะเพรา ผัดซีอิ๊ว ไข่ทอดน้ำมันเยิ้มๆ ส้มตำปลาร้า ทำให้เกิดอาการระะคายเคืองคอ คันคอ กระตุ้นให้อาการไอกำเริบมากกว่าเดิม
- ของทอด ขนมขบเคี้ยว เช่น ไก่ทอด เฟรนช์ฟรายส์ ขนมกรุบกรอบ ขนมปังกรอบ ทำให้ระคายเคืองคอ
- อาหารย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ใหญ่อย่างเนื้อหมู เนื้อวัว เครื่องใน เป็ด ฯลฯ เพราะจะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนักและรู้สึกพะอืดพะอม ยิ่งผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนร่วมด้วยก็ควรเลี่ยงอาหารประเภทดังกล่าว
- ของหมัก ดอง เช่น ปลาร้า ผลไม้ดอง ผักดอง รวมทั้งโยเกิร์ต ซึ่งปกติแล้วโยเกิร์ตนับเป็นอาหารที่มีประโยชน์เพราะมีจุลินทรีย์ดีต่อระบบย่อยอาหาร แต่ช่วงที่ร่างกายค่อนข้างเซนซิทีฟกับเชื้อไวรัสและแบคทีเรียเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอันตรายหากเชื้อดังกล่าวเข้าไปทำลายปอด เลยแนะนำให้เลี่ยงอาหารที่เกิดจากกระบวนการหมักทั้งหลายไปก่อน
อาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโควิด
- อาหารรสอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด หากเป็นผัดผักต่างๆ ต้องใส่น้ำมันให้น้อย เน้นกินอาหารย่อยง่ายและกินให้พออิ่ม ไม่มากเกินไป เพื่อไม่เป็นภาระให้ระบบย่อยทำงานหนัก กินน้อยแต่กินบ่อยครั้งได้
- ไข่ เนื่องจากไข่มีโปรตีนและช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ในแต่ละวันจึงควรกินไข่ให้ได้วันละ 1 ฟอง เน้นปรุงสุก เช่น ไข่ต้มไข่แดงต้องสุกจัด ไม่เป็นยางมะตูม หากเป็นไข่ทอดไม่ว่าจะเจียวหรือดาวก็ต้องสุกจัดและเลือกทอดด้วยน้ำเปล่าแทนน้ำมันหรือใช้น้ำมันให้น้อยสุด
- ผัก ผลไม้เปลือกหนา เพื่อเพิ่มวิตามินซี แต่ให้เลือกกินผลไม้เปลือกหนา เช่น กล้วย แก้วมังกร ส้มจีน มังคุด เลี่ยงผลไม้เปลือกบางอย่างแอปเปิ้ล องุ่น สาลี่ เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารพิษและพยาธิ หากติดเชื้อพยาธิขึ้นมามันจะเข้าไปที่ปอดของคนไข้โดยตรง ซึ่งเป็นจุดที่ต้องระวังมากสำหรับผู้ป่วยโควิด
- อาหารปรุงสุก สะอาด อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้เกิดท้องร่วงได้
- ดื่มน้ำอุ่น น้ำอุณหภูมิห้อง เน้นดื่มน้ำเปล่าอุ่นๆ หรืออุณหภูมิห้อง น้ำขิงอุ่นๆ ก็สามารถดื่มได้ หรือน้ำมะนาวคั้นผสมน้ำร้อนจิบอุ่นๆ แต่ต้องล้างทำความสะอาดเปลือกมะนาว
- หากเป็นน้ำผลไม้เลือกเป็นน้ำผลไม้กล่องพร้อมดื่ม เพราะผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อมาแล้ว
- นม ต้องเป็นนมกล่องพร้อมดื่ม UHT เพราะผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว และควรดื่มให้หมดทันที ไม่วางทิ้งไว้แล้วกลับมาดื่มต่อ
- อาหารกระป๋อง อาจฟังดูแปลกๆ แต่อาหารกระป๋อง เช่น ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล สามารถกินได้ เพราะอาหารกระป๋องผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว จึงมั่นใจได้เรื่องความสะอาด
อาหารเฉพาะโรคและวัย
- นอกจากเชื้อโควิด ในคนไข้บางรายอาจมีโรคประจำตัวที่ต้องระวังการกินเป็นพิเศษ เช่น คนไข้เบาหวาน ความดัน เก๊าท์ จึงต้องเลือกอาหารที่ไม่กระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบ และในผู้สูงวัยที่ระบบย่อยอาหารอาจทำงานได้ไม่ดีนัก จึงต้องเลือกอาหารย่อยง่าย กินเนื้อสัตว์แต่น้อย
หมายเหตุ:
- รายละเอียดในการลงทะเบียนเข้าระบบการดูแลรักษาที่บ้าน คลิกที่นี่ https://www.nhso.go.th/home
- คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องกักตัวรักษาที่บ้าน (Home isolation) รวมถึงกรณีผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด แต่มีความจำเป็นต้องอาศัยอยู่ภายในบ้านหลังเดียวกับผู้ติดเชื้อ คลิกดูรายละเอียดได้ที่นี่ https://www.gj.mahidol.ac.th/main/covid19/homeisolation/
ขอบคุณข้อมูลจาก
- อาจารย์แววตา เอกชาวนา และสสส. (https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30738)
- นายแพทย์วินัย โบเวจา: ช่องยูทูบ ‘โรคปอดและทางเดินหายใจ หมอวินัยโบเวจา’ (https://www.youtube.com/channel/UCo9jlraorVBa9MRXHqeOMbA) นอกจากนี้คุณหมอยังนำข้อมูลเกี่ยวกับโควิด 19 ในแง่มุมต่างๆ มาอัปเดตผ่านช่องยูทูบดังกล่าวเรื่อยๆ ใครสนใจสามารถรับชมได้ที่ช่องยูทูบของคุณหมอเลยค่ะ
อ่านบทความเพิ่มเติม
Contributor
Tags:
Recommended Articles
Recommended Videos