เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

เมื่อโควิดทำให้เรา ‘ปลูกผัก’ ไว้กินเอง

Story by สุริวัสสา กล่อมเดช

ปลูกอาหารด้วยสองมือ แนวทางพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันเพราะการมาของโควิดทำให้เราได้เห็นการปรับตัวให้อยู่รอดในสภาวะไม่ปกติในช่วงกักตัวอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติหลายคนต่อสู้กับความเหงาหากิจกรรมมาชาเลนจ์ตัวเองและส่งต่อให้เพื่อนๆ ออกไปเจอธรรมชาติไม่ได้ก็ cf ต้นไม้กันรัวๆ พาธรรมชาติมาอยู่ใกล้ตัวจนกลายเป็นเทรนด์สีเขียวที่ช่วยเยียวยาจิตใจไม่ว่าใครก็มีต้นไม้ฟอร์มสวยไซส์เล็กไว้สร้างบรรยากาศในบ้าน ไปจนถึงเรื่องปากท้องอย่างการสร้างอาหารด้วยการปลูกผักกินเองในพื้นที่จำกัดจำเขี่ย

 

แม้องค์การสหประชาชาติเคยคาดการณ์ไว้ว่าการใช้ชีวิตแบบคนเมืองที่ขยายตัวขึ้นทั่วโลกทั้งยุโรป อเมริกาเอเชีย ทำให้คนเมืองต้องเผชิญกับการแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้น อาหารที่แพงขึ้น เกษตรในเมืองหรือ Urban Agriculture จึงเป็นทางรอดของคนเมืองที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้ตัวเองได้และจะกลายเป็นเทรนด์มาแรงในปี 2020 ทว่าภาวะวิกฤติโควิดที่ขยายวงกว้างก็เร่งเร้าให้คนตื่นตัวมากเสียยิ่งกว่าจะจำกัดอยู่แค่บริบทคนเมือง เช่นที่พี่แอ๊ด หัวหน้ากลุ่มธนาคารเมล็ดพันธุ์ของแผ่นดิน กลุ่มแบ่งปันแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์พืชผักเล่าให้เราฟังในมุมของคนที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา 

 

หลายคนเริ่มมองว่าเราจะอยู่รอดในวิกฤติแบบนี้ได้คือต้องมีที่ทำกินหรือแม้แต่คนเมืองคนกรุงเทพฯ ที่พื้นที่จำกัดเขาก็ยังมาเข้ากลุ่มเบิกเมล็ดพันธุ์ไปกันเยอะ เอาไปปลูกในกระถาง ระเบียง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นมะเขือ พริก ผักเลื้อยพวกถั่ว ถั่วพู แล้วก็พวกผักกินใบอย่างผักบุ้ง ปลูกผักมันเป็นการพึ่งพาตนเอง เป็นทางรอดที่ไม่ต้องไปหวังพึ่งใคร พอเกิดวิกฤติอย่างโรคระบาดหรือวิกฤติหนักอื่นๆ อย่างน้ำท่วม ถ้าเวลานั้นไม่มีพื้นที่ทำกินหรือไม่เริ่มสร้างอาหารด้วยตัวเอง มีเงินแต่ใช้ไม่ได้จะทำยังไง ไม่มีอะไรกินก็ไม่รอด”

 

โควิดทำให้คนเริ่มตื่นตัวที่จะสร้างอาหารเอง หลายคนก็เปลี่ยนพื้นที่สวนหย่อมเป็นผักสวนครัว พื้นที่คอนกรีตก็เปลี่ยนเป็นผักกระถาง ตั้งแต่เกิดโควิดมาก็มีสมาชิกเข้าร่วมกลุ่มเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าว่าจะซาเหมือนทุกคนอยู่ในช่วงเตรียมตัว ถ้ามันเกิดภัยพิบัติร้ายแรงอะไรขึ้นอีก มันเปลี่ยนความคิดเขาไปเลยจากเดิมที่อาจมองแค่ทำงานหาเงินให้ได้เยอะๆ ซื้อของใช้หรูหราก็เปลี่ยนมามองวิถีเรียบง่าย วิถีชีวิตเดิมๆ ที่เราสร้างอาหารกินเองได้ ไม่ต้องมีเงินเยอะแต่มีเรี่ยวแรงมีเมล็ดพันธุ์หย่อนลงดิน คนหันมาปลูกผักเยอะขึ้นยังช่วยกันขยายผลเก็บเมล็ดพันธุ์หมุนเวียนแบ่งปันกันอีก”

 

ความเหงา ความเครียด ในช่วงภาวะโควิดก็อาจเป็นอีกเหตุผลหลักที่ทำให้หลายคนใช้เวลาผ่อนคลายไปกับการลงมือทำอะไรใหม่ๆ และเลือกหันมาปลูกพืชผักพรวนดิน หย่อนเมล็ด เฝ้ามองการเติบโตพร้อมรับผลพลอยได้เมื่อมันงอกงาม

 

สราวุฒิ พลธรรม

 

นักวิชาการศึกษา

 

ช่วงที่มีเวลามันเครียดกับงานที่ออฟฟิศ เลยอยากจะใช้แรงงานไปขุดดินปลูกผัก คือเราชอบปลูกต้นไม้มันผ่อนคลาย คลายเครียด แล้วช่วงโควิดก็ทำอะไรไม่ได้มันเลยเครียด ด้วยสถานการณ์แบบนี้การที่เรามีผักกินมีนั่นมีนี่กิน มันเหมือนเรามีความมั่นคงทางอาหารด้วยสถานการณ์ที่เศรษฐกิจตกต่ำ บางคนตกงานเลยด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่จะทำให้เราอยู่ได้คือมีอาหารกิน มันก็เป็นเหตุผลนี้ด้วย ถึงเศรษฐกิจโลกจะผันผวนขนาดไหน แต่ถ้าเรายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมันก็อยู่ได้อะ แต่บ้านเรามันก็ไม่ได้มีเนื้อที่ใหญ่โตก็ปลูกเท่าที่ปลูกได้ข้างบ้านนี่ละ

 

 

ก็เลือกผักที่เราชอบกินมาปลูก เลยเลือกปลูกถั่วฝักยาวเพราะช่วงโควิดไปตลาดเจอถั่วฝักยาวแพงมากกกกกอยากซื้อมาทำแกงส้มกิน เพราะเป็นคนชอบกินแกงส้มผักรวมก็เลยปลูกถั่วฝักยาว แล้วก็ปลูกกระหล่ำปลีเปิดคลิปเจอคุณป้าเขาปลูกกระหล่ำปลีใส่กระถางมันน่ารักดี ดูสวย แล้วเราก็เฮ้ย มันปลูกในกระถางได้นี่ก็เลยอยากลอง ชอบกินอยู่แล้วด้วย หลักๆ เลยเลือกปลูกผักที่ชอบ วิธีปลูกส่วนใหญ่ก็ดูจากยูทูบ แม้แต่เพาะเมล็ดจนถึงลงแปลง ผักบุ้งนี้เก็บกินได้ไวสุดไม่นานก็เก็บกินได้ พอได้เก็บผักที่ปลูกเองมากินมันรู้สึกดี เพราะอย่างน้อยเราแน่ใจได้แน่นอนว่าไม่มีสารพิษ”

 

อรพรรณ นุ่มก่วน

 

ข้าราชการครู

 

ด้วยความที่เราเป็นครู ช่วงโควิดระบาดโรงเรียนปิดเทอมก่อนกำหนดและไม่สามารถเปิดสอนตามปกติได้เราเลยมีเวลามากขึ้น จริงๆ ก็คือว่างนั่นแหละ แล้วอยากหาอะไรทำที่มันแปลกใหม่สำหรับตัวเอง พอดีเราเป็นคนชอบดู youtube กับ ig ทำสวนผักของชาวต่างชาติอยู่แล้ว ชอบไอเดียการจัดสวน เทคนิคการปลูก ความพิถีพิถันเอาใจใส่ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่ละภาพที่ออกมาคือเจ๋งมากเลยถือโอกาสช่วงหยุดยาวนี้ลองทำสวนผักเล็กๆ ข้างบ้านดูมั่ง

 

แรกๆ เลยก็ปลูกผักไมโครกรีนเพราะใช้เวลาน้อยและปลูกง่าย เวลาปลูกก็จะเลือกผักที่มีสีสันแตกต่างกันให้มีทั้งเขียว แดง ขาว ม่วง เหลือง เพราะเวลานำมาแต่งจานกับถ่ายรูปจะได้สวยๆ คิดแค่นั้นเลยแต่ตอนนี้ลามไปปลูกต้นเหลียง มะระขี้นก บวบหอม ไชยา ชมจันทร์คูน ถั่วพู มะเขือเทศ สวิสชาร์ด กระเจี๊ยบเขียว ผักชีฝรั่งแรดิช ผักสลัดต่างๆ มะม่วงหาวมะนาวโห่ ยอ กะเพราแมงลัก ถั่วพุ่ม ผักบุ้ง คะน้า มะขาม (กินใบอ่อน) แค ตะไคร้ กระทือ พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า เมล็ดพันธุ์ก็หาซื้อตามร้านการเกษตรหรือร้านขายต้นไม้ทั่วไป แต่บางต้นก็ได้กิ่งพันธุ์มาจากคนที่เขาเห็นว่าเราสนใจปลูกผักจริงๆ แบ่งมาให้ก็มี

 

 

ปลูกเพิ่มเยอะขนาดนี้ไม่ใช่ว่าจะทำเป็นอาชีพหรืออะไรนะ แต่เราเป็นคนใจร้อน อยากเห็นพื้นที่ว่างข้างบ้านเขียวชอุ่มเต็มพื้นที่แบบพร้อมๆ กัน อยากให้โตมาแล้วสวยทั้งสวนเลย แล้วผักแต่ละชนิดที่เลือกปลูกก็เป็นผักที่กินประจำอยู่แล้ว ถือว่าเหนื่อยทีเดียวแต่คุ้มค่า ได้สวนสวย ได้เก็บกินด้วย แล้วการปลูกผักก็ไม่ยากอย่างที่คิด เราหาความรู้จาก youtube เนี่ยแหละ สมัครเข้ากลุ่มปลูกผักต่างๆ ใน facebook บ้าง พอเราได้เก็บผักที่ปลูกเองมาทำอาหารครั้งแรกคือตื่นเต้นมาก ไม่ได้ตื่นเต้นเพราะปลูกได้สำเร็จนะคะ ตื่นเต้นเพราะไม่รู้จะเอาผักที่ได้ไปทำอะไรกินก่อนดี (ฮา) แล้วผักที่เราปลูกเองมันปลอดสารแน่ๆ เราก็สบายใจที่จะกิน ได้กินผักสดจากต้น

 

การปลูกผักทำให้เราเปิดโลกและรับความรู้ใหม่ๆ รู้จักการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายและช้าลง อยู่กับตัวเองอยู่กับความเป็นจริงในชีวิตมากขึ้น ด้วยทำให้เรารู้จักการหาความสุขจากสิ่งที่จับต้องได้รอบตัวมากขึ้น ที่สำคัญการปลูกผักทำให้เราได้ ig โทนเขียวที่สวยมากค่ะ 🙂

 

ภาพโดย: อรพรรณ นุ่มก่วน, สราวุฒิ พลธรรม

Share this content

Contributor

Tags:

Covid-19, sustainable food

Recommended Articles

Food Storyจะรู้ได้ยังไง ว่ากำลังกินปลาทูแท้?
จะรู้ได้ยังไง ว่ากำลังกินปลาทูแท้?

 

 

Recommended Videos