ย้อนดูวัฒนธรรมการแบ่งปันอาหารจากฟอร์เวิร์ดเมล Caffè Sospeso ถึงตู้ปันสุขในยุคโควิด
เมื่อราวสิบปีก่อนสมัยที่ฉันยังอ่านอีเมลทุกฉบับที่ถูกส่งเข้ามาใน inbox ฉันเคยได้อีเมลลูกโซ่ที่เล่าถึงวัฒนธรรม Suspended Coffee หรือ Caffè Sospeso วัฒนธรรมเก่าแก่นับร้อยปีจากประเทศอิตาลีที่เราสามารถจ่ายค่ากาแฟเผื่อหรือฝากเอาไว้ก่อน 1-2 แก้วสำหรับให้คนอื่นๆ ได้ดื่มกาแฟฟรีเพื่อเป็นกำลังใจในการเริ่มต้นวันที่ดีได้โดยที่เราเองก็ไม่มีทางรู้ว่าใครจะเป็นคนดื่มกาแฟแก้วนั้นและคนดื่มกาแฟแก้วนั้นก็ไม่มีทางรู้ว่าใครเป็นคนจ่ายเงินเผื่อไว้
ฉันจดจำอีเมลลูกโซ่ฉบับนั้นได้ค่าที่ว่าในช่วงสิบกว่าปีที่แล้วฉันไม่มีอีเมลส่งเข้ามาหามากนักนั้นก็ส่วนหนึ่งแต่เหตุผลหลักๆ อาจเป็นเพราะเรื่อง Caffè Sospeso เป็นเรื่องที่ทำให้ฉันเข้าใจว่าการ ‘ให้’ นั้นเป็นจุดเริ่มต้นของวันดีๆ ได้ทั้งกับผู้รับและกับตัวผู้ให้เอง
สารภาพตามตรงว่าฉันจำชื่อ Caffè Sospeso ไม่ได้หรอก ที่ฉันเล่าได้เป็นตุเป็นตะอย่างนี้ก็เพราะ ‘ตู้ปันสุข’ และดราม่าทั้งหมดทั้งมวลชวนให้ฉันตั้งคำถามกับวัฒนธรรม ‘การให้’ อีกครั้ง ฉันจึงต้องพึ่ง google เพื่อรื้อฟื้นอีเมลในความทรงจำกลับมา แม้ว่า Caffè Sospeso ไม่อาจตอบคำถามได้โดยกระจ่างแต่ก็นับว่ามีเรื่องให้คิดอยู่บ้างจนอยากชวนผู้อ่านมาร่วมขบด้วยกันในครั้งนี้
Caffè Sospeso กาแฟฝาก ‘ไว้ก่อน’
ในวัฒนธรรม Caffè Sospeso นั้นสิ่งที่น่าสนใจก็คือกระบวนการ ‘ฝาก’ ไว้กับร้านคือคนรับ และคนให้ไม่ได้ติดต่อปฏิสัมพันธ์กันโดยตรงอย่างการให้ในรูปแบบอื่นๆ ที่เราคุ้นชินจึงมีส่วนทำให้ผู้รับสามารถรับกาแฟฟรีได้อย่างสบายใจโดยที่ไม่ต้องรู้สึกว่าตัวเองกำลังร้องขอหรือกำลังสูญเสียศักดิ์ศรีในทางใดทางหนึ่ง
ลองนึกภาพดูว่าหากเราเป็นคนไร้บ้านที่อยากดื่มกาแฟสักแก้วแต่ต้องยืนถ่ายรูปรับมอบกาแฟกับป้ายโครงการและกับ ‘ผู้ใจบุญ’ ที่ส่งมอบกาแฟหนึ่งแก้วอันท่วมท้นไปด้วยความดีงามและบริสุทธิ์ก็คงเป็นความอึดอัดน่าดู และกาแฟแก้วนั้นก็คงจะไม่ได้สร้างวันดีๆ ให้กับคนรับแน่ๆ
แม้จะถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรม Hipster หรือเป็นความใจบุญที่แฝงความโลกสวยไม่รับไม่รู้ปัญหาอื่นๆ อยู่บ้าง แต่วัฒนธรรม Caffè Sospeso ก็ถูกส่งต่อผ่านไปยังประเทศอื่นๆ อีกมากมายจนมีเว็บไซต์ https://suspendedcoffees.com/ เกิดขึ้นเพื่อสื่อสารเจตนารับสมัครคาเฟ่และปักหมุดคาเฟ่ที่มีอุดมการณ์เดียวกันทั่วโลกเอาไว้เกือบ 2,000 ร้านทั่วโลกในปัจจุบัน
Little free pantry
นอกจากการฝากกาแฟอย่าง Caffè Sospeso แล้วการ ‘ฝาก’ แบบอื่นก็เกิดขึ้นอีกมากมายโดยเปลี่ยนของและตัวกลางที่รับฝากไว้ไปตามบริบทและเจตนาของผู้ทำแถมยังเป็นวัฒนธรรมที่แพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางเพราะหากพิจารณากันดูแล้วรูปแบบของการฝากของไว้ให้คนอื่นที่ต้องการมาหยิบไปใช้ได้เลยทันทีอย่าง Caffè Sospeso นี่ก็สามารถทำได้ง่ายกว่าวิธีอื่น ใช้บุคลากรและเวลาในการเตรียมการน้อยกว่าคนตัวเล็กตัวน้อยทั่วไป จึงสามารถลงมือ ‘ให้’ ได้เลยแบบที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองอย่างเช่น Little free library โครงการไม่แสวงหาผลกำไรที่ตั้งตู้หนังสือเอาไว้เพื่อให้ใครก็ได้มาหยิบไปอ่านตามความชอบใจ ส่วนใครที่มีหนังสืออยากจะแบ่งปันก็สามารถเอาหนังสือมาฝากไว้ในตู้เพื่อส่งต่อวัฒนธรรมการอ่านให้ผู้อื่นได้อีกต่อๆ ไป
นอกจากอาหารสมองอย่างหนังสือแล้วช่วงวิกฤติ Covid-19 ที่ผ่านมาวัฒนธรรม Little free pantry หรือตู้กับข้าวใบเล็กๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ที่ต้องใช้คำว่าอีกครั้งเพราะจริงๆ แล้ว Little free pantry ไม่ใช่เรื่องใหม่โดยเฉพาะกับในสังคมอเมริกา เพราะการแบ่งปันในลักษณะตู้แบบนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2016 เพื่อรองรับคนที่ตกหล่นหรือไม่กล้าไปรับอาหารจากโครงการ Food bank และ Little free pantry ก็ได้ไอเดียการอาหารมาจาก Little free library นั่นเอง
Little free pantry มีหลักคิดง่ายๆ คือ ‘Give what you can, take what you need’ ซึ่งแน่นอนว่ามันถูกแปลมาเป็น ‘หยิบแต่พอดีถ้าท่านมีใส่ตู้แบ่งปัน’ ซึ่งเป็นสโลแกนที่ติดอยู่บนตู้ปันสุขแทบทุกตู้ในประเทศไทย แต่ชื่อของตู้นี้กลับไม่ได้ถูกแปลความมาตรงตัวเพราะ Little free pantry นั้นบอกเพียงว่าเป็นตู้ที่สามารถหยิบได้ ‘ฟรี’ ในขณะที่ตู้ปันสุขของเรานั้นไม่มีคำว่าฟรีแต่มีคำว่าสุขแทน
สังคมไทยเป็นสังคมใจบุญ ตู้ปันสุขจึงแพร่ขยายไปรวดเร็วแทบทุกหัวมุมถนนในเวลา 2-3 สัปดาห์เท่านั้น พร้อมผลตอบรับเชิงบวกทั้งจากผู้ให้ที่ได้ทำบุญได้ช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลก และจากผู้รับที่ได้อาหารจากตู้มาพอประทังชีวิตในยามที่วิกฤติโรคระบาดทำให้บัญชีรายรับเหลือเงินศูนย์บาทอย่างช่วยไม่ได้ แต่ไม่เหนือความคาดหมายของคนใจร้ายอย่างฉันเท่าไรนัก เพราะท่ามกลางเสียงปรบมือและรอยยิ้มรอบตู้ปันบุญก็ย่อมจะต้องมีกระแสด้านลบ มีข่าวร้ายและมีคนหัวเสีย ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรมันเป็นเพียงแต่เรื่องที่ชวนให้ตั้งคำถามว่าตู้ปันบุญนั้นเหมาะจะอยู่กับสังคมไทยมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง
ตู้ปันสุขคือสุขของใคร
แม้ว่าตู้ปันสุขจะตามมาด้วยปัญหาดราม่าสารพัดแต่จำนวนตู้ก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเรียกได้ว่าในเวลาเพียงหนึ่งเดือนหลังจากภาพของตู้ปันสุขชุดแรกถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ก็มีตู้กระจายอยู่ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศได้อย่างไม่ยากเย็น สาเหตุข้อหนึ่งอาจเป็นเพราะว่ารูปแบบการทำงานของตู้ปันสุขนั้นตอบโจทย์มากกว่าการให้ในรูปแบบอื่นๆ นั่นคือมี ‘การประสานความร่วมมือ จากคนกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ผู้ให้ไปจนถึงผู้รับ’
ในขณะที่เจ้าของตู้หรือเจ้าของสถานที่นั้นลงทุนลงแรงเพียงครั้งเดียวก็จะเป็นช่องทางให้กับคนอื่นๆ ที่อยากร่วมแบ่งปันได้หยิบจับของกินของใช้มาใส่ตู้เพิ่มเติมได้ตลอดเวลา คนรับก็สามารถเข้าถึงอาหารพวกนั้นได้โดยแทบจะไม่มีเงื่อนไขด้วยเช่นกัน รูปแบบการทำงานของตู้ปันสุขจึงเปิดโอกาสให้ใครก็ได้เป็นผู้ให้จะให้อะไรก็ได้ และให้จำนวนเท่าใดก็ได้โดยไม่มีสายตามาจับจ้องว่าร่วมทำบุญมากหรือน้อย
ในขณะเดียวกันคนรับของจากตู้ปันสุขก็สามารถหยิบอะไรก็ได้ที่ตัวเองต้องการ แตกต่างจากการแจกข้าวกล่องที่หากรีเควสขอเมนูที่ต้องการก็อาจเกิดคำถามในใจที่ชวนกระอักกระอ่วนพาลทำให้คนให้รู้สึกไม่ดี และทำให้คนรับรู้สึกผิดไปด้วย แต่แน่นอนว่าที่พูดมาทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงภาพในอุดมคติเท่านั้น อย่างที่เห็นข่าวดราม่าจากตู้ปันสุขอยู่เรื่อยๆ ต่อเนื่องพอกับข่าวดีๆ ที่น่าชื่นใจ
ของในตู้ถูกกวาดจนเกลี้ยงด้วยฝีมือของคนไม่กี่คนหรือถูกหยิบไปอย่างระเกะระกะไม่เป็นระเบียบอย่างภาพอุดมคติที่วางไว้ ทำให้ผู้ให้หลายคนเริ่มเฝ้าดูตู้ปันสุขของตัวเองว่าจะมีผู้รับที่มีพฤติกรรมแบบไหนแวะเวียนมาหาบ้างกระทั่งเกิดเป็นคลิปไวรัลหลายกรณีนับตั้งแต่ภาพความละโมบของคนไปจนถึงการทะเลาะวิวาทหน้าตู้ปันสุข เพราะต่างจับจ้องในของชิ้นเดียวกันเมื่อคลิปหรือภาพเหล่านั้นถูกเผยแพร่สู่โลกออนไลน์ก็เกิดกระแสตีกลับว่านี่คือการสำเร็จความใคร่ทางจริยธรรมไปจนถึงการผลิตซ้ำมายาคติคนรวยใจดีและคนจนขี้โลภบนความอดอยากที่เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่ทำมาหากินไม่ได้
Little free pantry นั้นถูกแปะคำว่า ‘ฟรี’ เอาไว้แต่ตู้ปันสุขต้องแบกรับความสุขใจไปด้วยภาพที่ไม่ค่อยสุขเหล่านี้จึงทำให้ต้องเก็บมาคิดกันอีกทีว่าตู้ปันสุขนั้นเป็นสุขของใคร สุขของผู้ให้ สุขของผู้รับหรือจริงๆ แล้วในตู้เหล่านี้ไม่มีความสุขอยู่เลย?
มาตรการคืนความสุขให้ตู้
เมื่อตู้ปันสุขดูจะเป็นการปิดช่องโหว่ของมาตรการเยียวยาและความช่วยเหลือที่ไปไม่ถึงปลายทางได้จากการตั้งต้นของเอกชนและภาคประชาสังคม แนวคิดของตู้ปันสุขก็เริ่มเข้าหูเข้าตาส่วนกลางและภาครัฐมากขึ้น ทั้งการสนับสนุนสถานที่สำหรับติดตั้งตู้ปันสุขการสนับสนุนงบประมาณสำหรับซื้อของมาใส่ตู้ปันสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นห่วงว่าตู้ปันสุขจะไม่ทั่วถึงชวนให้เอียงคอสงสัยอยู่บ้างตรงที่ว่า ตู้ปันสุขนี้ควรจะเป็นเพียงแค่แผนสำรองช่วยอุดรอยรั่วจากนโยบายและการเยียวยาของภาครัฐไม่ใช่แผนหลักที่ต้องกระจายไปจนถึงประชาชนทุกคน
ซ้ำร้ายไปกว่านั้นการได้ยินว่าผู้นำบางคนต้องการติดกล้องวงจรปิดประจำจุดวางตู้ปันสุขยิ่งชวนให้เอียงคอจนปวด เพราะการจับตามองประชาชนที่กำลังอดข้าวมาหยิบของในตู้ที่ประชาชนคนอื่นซื้อมาวางไว้ให้ ควรเป็นสิ่งสุดท้ายที่รัฐบาลคิดจะทำให้สถานการณ์เช่นนี้แทนที่จะจับตาเฝ้าดูอาหารที่คนอื่นฝากไว้ อาจเป็นเวลาที่ประเทศไทยต้องมาใคร่ครวญกันอย่างละเอียดว่าการที่ตู้ปันสุขเกิดขึ้นและเป็นที่ต้องการของคนหิวทั่วประเทศกำลังบอกอะไรเราได้บ้าง?
ยังไม่นับภาพตู้ปันสุขที่เป็นภาพของ สส. ท่านหนึ่งติดหราอยู่อย่างยิ่งใหญ่ เป็นการอวดอ้างคุณความดีเข้าตัวในนามของตู้ปันสุข บนความอัตคัดของประชาชน และด้วยอาหารที่ประชาชนต้องซื้อแจกจ่ายเพื่อช่วยเหลือกันเอง แม้กับคนใจร้ายอย่างฉันเห็นแล้วยังต้องปวดหัวใจ
หรือตู้ปันสุขจะไม่ใช่คำตอบของความหิวโหย
จริงอยู่ว่าฉันเป็นคนค่อนข้างใจร้าย (อย่างที่ออกตัวไว้ก่อนตั้งแต่ต้น) แต่การออกมาพูดว่าตู้ปันสุขคือการสำเร็จความใคร่ทางจริยธรรมก็ดูจะใจร้ายเกินขอบเขตไปสักหน่อย เหตุผลข้อที่หนึ่งคือคำพูดนั้นจะทำลายความความตั้งใจดีๆ ของใครหลายคน และเหตุผลข้อที่สองคือเราควรยอมรับกันตามตรงว่าการที่ประชาชนช่วยเหลือกันเองผ่านการบริจาคนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ทำได้ไวและทำได้ทันที ตู้ปันสุขจึงตอบโจทย์มากๆ กับสถานการณ์ Covid-19 ในช่วงแรกและตราบใดที่มันยังทำหน้าที่ ‘ปันสุข’ ให้ทั้งผู้ให้และผู้รับเช่นเดียวกันกับ Suspended coffee เช่นเดียวกับ Little free libraryและเช่นเดียวกับ Little free pantry นั่นก็ย่อมจะไม่ใช่เรื่องเสียหายหรือโง่งมใดๆ แม้แต่น้อย
แต่ในขณะเดียวกันตู้ปันสุขก็ไม่ควรทำให้เราสบายอกสบายใจจนมองข้ามความเดือดร้อนที่แท้จริงที่ไม่ใช่แค่การมีคนไม่มีข้าวกินในวันนี้ แต่คือสาเหตุของความหิวโหยและขาดแคลน ทั้งหมดคือความไม่มั่นคงทางอาหารและความไม่มั่นคงในชีวิตและคือการตกหล่นของประชาชนผู้จ่ายภาษีให้กับรัฐ
หากจะพูดแบบกำปั้นทุบดินให้เป็นเรื่องเก่าซ้ำเดิมก็คงต้องบอกว่า หากสังคมมีโครงสร้างที่ไม่เหลื่อมล้ำอย่างสุดโต่ง มีนโยบายเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่ดี มีรัฐสวัสดิการที่เยียวยาและประคองให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ตามศักยภาพ ตู้ปันสุขก็คงจะเป็นส่วนเกิน เป็นเรื่องไม่จำเป็นเพราะในวันนั้นคงจะไม่มีใครลำบากจนต้องมาขอใครกิน
สิบกว่าปีผ่านมาจากฟอร์เวิร์ดเมลฉบับนั้นมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายทั้งใหญ่และเล็ก กระทั่งอีเมลที่ฉันใช้ในวันนั้นก็ถูกทิ้งร้างจนฉันลืมรหัสล็อกอินไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เปลี่ยนไปมากนักก็คือเรายังคงเรียนรู้เรื่องการให้ร่วมกันทั้งโลกและอาหารก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญเสมอไม่ว่าวันไหน
ฉันเป็นคนใจร้ายแต่ต้องลงใจยอมรับให้กับหัวใจของผู้ให้หลายคนไม่ว่าทั้งไกลหรือใกล้ เพราะการไม่ทนมองเห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้รับความเดือดร้อนอยู่เพียงลำพังก็คงนับได้ว่าเป็นคุณค่าข้อหนึ่งที่ทำให้ฉันพอจะชื่นอกชื่นใจในการถูกรายล้อมด้วยมนุษย์ หากแต่ท้ายที่สุดแล้วฉันก็ยังคงใจร้ายมากพอที่จะยืนยันว่าการบริจาคคือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านั้น แต่การผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายที่จะทำให้คนทุกคนมีข้าวกินอิ่มท้องได้ทั้งในยามวิกฤติและยามปกตินั่นต่างหากคือการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนและเป็นสุขได้อย่างแท้จริง
Contributor
Tags:
Recommended Articles
Recommended Videos