
ในยุครุ่งเรื่องของนิตยสารอาหาร คนอ่านเขามองเห็นอะไรบ้างนะ
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เป็นยุคที่เศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูหรูหราอย่างที่คนยุคนี้อาจนึกไม่ถึง ทั้งจากการย้านฐานผลิตของโรงงานระดับโลกเข้ามาในไทย การส่งออกสินค้า แนวคิดเสรีการเงิน เงินบาทแข็งค่า ในยุคนั้นรสนิยมการบริโภคของคนไทยจึงก้าวกระโดดไปตามกำลังซื้อ ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะเจอกับวิกฤตต้มยำกุ้งซึ่งเป็นจุดพลิกผันสำคัญที่หลายคนน่าจะจำได้ไม่ลืม
ความเฟื่องฟูของยุคนั้นประจวบเหมาะกับขวบปีแรกของ นิตยสารครัว (โดยสำนักพิมพ์แสงแดด) ที่เริ่มตีพิมพ์และจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ในฐานะนิตยสารอาหารและการครัวน้องใหม่เมื่อ 30 ปีก่อน (ปีพ.ศ.2537-2538) ก็มีโฆษณากับเขาอยู่พอตัวเลยทีเดียว

จากเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2537 จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2538 12 เล่มแรกของการตีพิมพ์และจำหน่าย นิตยสารครัวมีโฆษณาอะไรน่าสนใจ และโฆษณาจาก 30 ปีที่แล้วบอกอะไรเราบ้าง มาดูกันค่ะ
เครื่องครัวยุคใหม่
ในยุคที่ผู้หญิงก้าวสู่ความเป็น Working Women อย่างเต็มตัว งานบ้านงานครัวก็ใช่ว่าจะถูกละเลย แต่กลับถูกนำเสนอให้เป็นงานที่ทันสมัย ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น โดยใช้เงินและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาแก้ปัญหา เครื่องครัวใหม่ๆ ที่ไม่เคยปรากฏในครัวไทยมาก่อนก็มีให้เห็นมากขึ้นในช่วงนี้ เพราะเป็นยุคที่ผู้หญิงเก่งต้องเก่งทั้งงานนอกบ้านและในบ้าน แต่ยังต้องนำแฟชั่นเฉิดฉาย จะมาทำครัวจนหน้ามันผมฟูเหมือนสมัยยังเป็นแม่บ้านเต็มเวลาไม่ได้แล้ว!

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เห็นในโฆษณายุคนั้นมีตั้งแต่หม้อทอด หม้อตุ๋น เครื่องผสมแป้ง โดยเฉพาะเตาไมโครเวฟที่ต้องตีพิมพ์โฆษณาคู่กับสูตรอาหาร เพราะในยุคนั้นคนยังมีประสบการณ์ในการใช้เตาไมโครเวฟไม่มาก โดยเฉพาะในการปรุงอาหารไทย สูตรอาหารจากไมโครเวฟในนิตยสารครัวยุคนั้นจึงมีตั้งแต่ผัดผักไปจนถึงแกงกะทิ เรียกว่าไมโครเวฟแทบจะทำได้ทุกอย่างไม่ต่างจากเตาแก๊สเลยทีเดียว
อาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุง

นอกจากเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว บรรดาวัตถุดิบเครื่องปรุงต่างๆ ก็หลากหลายขึ้น ทันสมัยขึ้น และมีกลิ่นอายของความเป็นอาหารต่างประเทศ อาหารนำเข้า เรียกว่าเป็นยุคที่แม่บ้านชนชั้นกลางสามารถทำพาสต้าหรืออาหารญี่ปุ่นกินในบ้านได้เป็นปกติ อาหารต่างประเทศไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะในหมู่ชนชั้นปกครองหรือตระกูลร่ำรวยอีกต่อไป ในขณะเดียวกันวัตถุดิบเครื่องปรุงอย่างไทยก็ถูกนำเสนอในรูปแบบที่สะดวกขึ้น ดูสะอาดสะอ้าน มีมาตรฐาน เก็บรักษาได้นานวัน

ความรุ่งเรืองของตลาดวัตถุดิบและเครื่องปรุงในยุคนั้นเฟื่องฟูจนมีการใช้ดารานักแสดงมาเป็นพรีเซนเตอร์ และยังน่าสนุกขนาดที่ว่า โฆษณาหลายตัวมีการแจกเงินรางวัล แจกทอง หรือกระทั่งแจกตั๋วเครื่องบินพร้อมโปรแกรมท่องเที่ยวต่างประเทศให้ผู้อ่านได้ร่วมชิงรางวัลกันด้วย

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ในขณะที่ตอนนี้เรากำลังมีเรื่องต้องทำความเข้าใจกับพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ล่าสุด นิตยสารจาก 30 ปีก่อนกลับตีพิมพ์โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันแบบโจ๋งครึ่มตรงไปตรงมา ไม่ต้องอ้อมค้อมเลี่ยงบาลีกันเหมือนยุคนี้ แถมยังออกแบบภาพโฆษณาได้สวยเก๋ดึงดูดสายตามาก เรียกว่ายุคนั้นน่าจะเป็นยุคทองของโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกยุคหนึ่งเลยก็ว่าได้

น้ำดื่มบรรจุขวด
อีกโฆษณาที่เปิดไปเห็นก็ประทับใจขึ้นมาเสียอย่างนั้น ก็คือโฆษณาน้ำดื่มบรรจุขวดที่เล่นกับความรู้สึกสดชื่นได้แบบสุดจะคลาสสิก

เตาแก๊ส
แม้เตาแก๊สจะไม่ใช่ของใหม่ในครัวไทยยุคนั้น แต่ก็ยังเป็นอุปกรณ์ครัวที่มีข้อกังขาเรื่องความปลอดภัยอยู่ไม่น้อย ดังนั้นโฆษณาแก๊สหุงต้มแทบทุกยี่ห้อจึงไม่ได้เน้นเรื่องราคาหรือคุณภาพในด้านอื่นๆ แต่กลับเน้นเรื่องความปลอดภัย เช่น คุณภาพของวาวนิรภัย หรือความแข็งแรงของตัวถัง

รถยนต์
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่ายุคนั้นเป็นยุคที่คนไทยมีเงินใช้จ่าย และเป็นยุคของการเดินทางไปทำงานนอกบ้าน รถยนต์จึงเป็นอีกสินค้าหนึ่งที่มียอดจำหน่ายสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เรียกว่าพอมีเงินสักก้อนใครๆ ก็ออกรถกันได้สบาย โฆษณารถยนต์และประกันภัยจึงมีให้เห็นด้วยเหมือนกัน

สินค้าเบ็ดเตล็ดสำหรับแม่บ้าน
เมื่อถูกวางตำแหน่งทางการตลาดให้เป็น “นิตยสารอาหารและการครัว” ในนิตยสารครัวจึงมีโฆษณาสินค้าอื่นๆ ที่เหล่าแม่บ้านมักจะเป็นคนตัดสินใจซื้ออีกมาก ไม่ว่าจะเป็นสกินแคร์ ของใช้ในห้องน้ำ อาหารสัตว์เลี้ยง ฯลฯ หรือแม้กระทั่งวิดีโอสอนทำอาหารจากเซเลปเชฟระดับประเทศที่จะมายกระดับให้ทุกคนเป็นแม่บ้านสุดสมาร์ทที่เก่งทั้งเรื่องงานและเรื่องในครัว (ซึ่งถ้ามองดีๆ จะเห็นว่าเป็นโฆษณาร้านแมงป่อง ร้านวิดีโอในตำนานต่างหาก)

Contributor
Tags:
Recommended Articles