เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

‘น้ำพริก มรดกรสแห่งเครื่องจิ้ม’ หนังสือรวมเรื่องเล่ารสเผ็ดนัวทั่วไทย โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

รสเผ็ดของน้ำพริกไทยนั้นรุ่มรวยและหลากหลายเกินกว่าที่คิด

อนุสรณ์ ติปยานนท์ หรือที่นักอ่านเรียกกันติดปากว่า อาจารย์ต้น เป็นหนึ่งในนักเขียนอาหารที่ผลิตผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งงานวรรณกรรมและงานสารคดี การคลุกคลีคุ้นเคยอยู่กับเรื่องปากะศิลป์จนถูกเรียกว่าเป็น Food Activist ทำให้มุมมองของอนุสรณ์มีทั้งความลุ่มลึกและละเมียดละไม ในขณะเดียวกันก็มีสายตาทีมองเห็นวีถีของผู้คนทั้งในวังและในบ้าน เมื่ออาจารย์ต้นเขียนหนังสือว่าด้วยอาหารก้นครัวอย่าง ‘น้ำพริก’ ฉันจึงจำเป็นต้องมีไว้ในครอบครองโดยไว ทั้งในฐานะนักอ่านและในฐานะคนรักน้ำพริก

 

 

 

 

 

 

 

คำถามที่เป็นที่ต้องการอันดับหนึ่งเมื่อแนะนำหนังสือ คือคำถามที่ว่า “หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับใคร” สำหรับฉัน ฉันเชื่อว่าน้ำพริกเป็นอาหารคู่สำรับไทยที่ทุกคนคุ้นเคย จะเป็นเจ้า เป็นผู้ดี เป็นเศรษฐีเมืองกรุง หรือเป็นพี่น้องชาติพันธุ์ริมชายแดน ทุกบ้านทุกพื้นที่ล้วนมีน้ำพริกตำรับพิเศษของตัวเองทั้งสิ้น แม้พริกจะเป็นพืชต่างถิ่นที่เดินทางเข้ามาอยู่ในครัวไทยได้เพียงไม่กี่ร้อยปีก่อนก็ตาม ในเมื่อรสเผ็ดของพริกได้ครองใจคนไทยอย่างกว้างขวางมาเสมอ คนทุกคนก็น่าจะเชื่อมต่อกับหนังสือเล่มนี้ได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นคนทำอาหารตัวยงหรือไม่ก็ตาม เพราะเราทุกคนล้วนมีประสบการณ์ตรงกับน้ำพริกมาแล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง – ถูกต้องไหมคะ

 

 

 

 

 

 

 

ถึงหนังสือจะดูเล่มใหญ่โต แต่ฉันอ่านจบภายในเวลาไม่นานเลยค่ะ ต้องยกความดีความชอบให้ผู้เขียนอย่างอาจารย์ต้น ที่นอกจากจะมีถ้อยคำเป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังเป็นนักอ่าน นักค้นคว้า และนักเดินทางตัวยง หนังสือเล่มนี้จึงเรียบเรียงและถ่ายทอดเรื่องพริกในครัวไทยได้อย่างกลมกล่อม แม้จะมีข้อมูลอัดแน่นทุกบททุกหน้าแต่ก็เพลิดเพลินลื่นไหลราวกับได้ดูหนังดูละครสนุกๆ สักเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

 

 

 

 

 

 

 

สาเหตุที่ฉันบอกว่าหนังสือเล่มนี้อ่านแล้วเหมือนได้ดูหนังดูละครก็เพราะว่า อาจารย์ต้นเขียนอย่างลำลอง จึงถ่ายทอดข้อมูลได้มีชีวิตชีวา ไม่แข็งทื่อราวกับเป็นหนังสือวิชาการ โดยเฉพาะลักษณะการเขียนซึ่งถ่ายทอดข้อมูลที่ตกตะกอนมาแล้วจากจากการอ่านและการพบปะผู้คน ผสมรวมกับความรู้สึกนึกคิดหรือกระทั่งความทรงจำของตัวเอง 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่สำคัญคือ การที่อาจารย์ต้นให้พื้นที่กับบรรยากาศ คำพูด และตัวตนของเชฟท้องถิ่นที่เป็นแหล่งข้อมูลในเรื่อง อย่างในตอนหนึ่งของบท ‘จารึกในรอยรส’ ที่อาจารย์ต้นยกคำพูดของ ส่วยเก ผู้เฒ่าจากอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขึ้นมาเปิดส่วนน้ำพริกภาคเหนือว่า 

 

 

 

 

“เรากินพริกกันมาแต่ปู่แต่ย่า เรากินพริกกันมานานเสียจนจำวันเวลาไม่ได้ เราไม่รู้หรอกว่าใครผู้ใดเป็นผู้นำพริกมา เรารู้แต่ว่า สำรหับเราแล้ว พริกนั้นมาจากนก

 

 

 

 

เท่านี้ก็ฉายให้เห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพริกได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง แถมอ่านไปอ่านมาเรายังได้เห็นตัวละครหนึ่งเพิ่มขึ้นมาในฉากนี้ นั่นก็คือบรรดาสัตว์เล็กๆ อย่างนกหรือหนู ซึ่งมีที่ทางอยู่ในเรื่องราวของพริกได้อย่างคาดไม่ถึง

 

 

 

 

 

 

 

เรื่องเล่าว่าด้วยน้ำพริกในหนังสือเล่มนี้ยังพาเราเดินทางไปเจอกับผู้คนอีกหลายกลุ่ม ไล่เรียงมาตั้งแต่ผู้บันทึกจดหมายเหตุในตำนานอย่าง ซีมง เดอ ลา ลูแบร์, นักเขียนระดับชาติอย่าง คึกฤทธิ์ ปราโมทย์, ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ผู้เขียนตำราทำกับข้าวรุ่นแรกของสยาม, ดร.อัง จูเลียน นักมานุษยวิทยาชาวกัมพูชา ไปจนถึงครูหมอโนราจากพัทลุง แม่ครัวนักทำถั่วเน่าชาวไทใหญ่จากแม่ฮ่องสอน แม่ละเอียด นักทำปลาร้าจากขอนแก่น ฯลฯ ภาพของคนแต่ละคน (โดยเฉพาะเชฟท้องถิ่นทั้งหลาย) ถูกฉายผ่านตัวหนังสือไว้อย่างมีชีวิตราวกับว่าเราได้ลงพื้นที่ไปทำความรู้จักกับทุกคนไปด้วยเลยค่ะ

 

 

 

 

ความสนุกอีกข้อหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ คือการที่น้ำพริกแต่ละอย่างพาเราไปรู้จักกับปกิณกะอื่นๆ ที่แวดล้อมถ้วยน้ำพริกอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นครก กระทะ เขียงไม้ทำมังที่ให้กลิ่นหอมเหมือนแมลงดานา รวมถึงเรื่องที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าเกี่ยวกับพริก อย่างเช่นอุจาระ – ทั้งของนกและของคน ก็ด้วยเช่นกัน

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากเนื้อหาในเชิงอ่านเอาความรู้แล้ว หนังสือเล่มนี้ยังรวบรวมสูตรน้ำพริกทั่วไทยไว้อีกเกือบ 40 สูตร ทั้งจากตำราอาหารโบราณและที่ได้รับถ่ายทอดจากพ่อครัวแม่ครัวท้องถิ่น สูตรเกือบทั้งหมดเป็นสูตรที่ทำได้ง่ายไม่ซับซ้อน แม้หลายสูตรอาจต้องใช้วัตถุดิบเฉพาะอย่างบ้างแต่เชื่อว่าในยุคที่ตลาดวัตถุดิบอาหารออนไลน์เติบโตเช่นนี้ วัตถุดิบทุกอย่างสามารถจัดแจกสั่งซื้อได้ไม่ยาก จะเรียกว่าเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กกึ่งๆ ตำราน้ำพริกก็ยังได้เลยค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สำหรับนักสะสมหนังสืออาหาร หนังสือเล่มนี้ยังพิมพ์ 4 สีทั้งเล่ม มีภาพประกอบสวยงาม ปกแข็ง เข้าเล่มแบบเย็บกี่สันโค้ง กางอ่านได้แบบ 180 องศา เรียกว่าความทนทานนั้นอยู่ในระดับที่เก็บได้อีกหลายสิบปีเป็นอย่างต่ำ คนรักหนังสืออาหาร ถ้าไม่มีเล่มนี้ติดบ้านไว้ เสียดายแย่นะคะ

 

 

 

 

 

 

 

ว่าแล้ว เย็นนี้ก็หาตำน้ำพริกแซ่บๆ นัวๆ กินสักถ้วยดีกว่าค่ะ เปิดหนังสือทำสูตรไหนดีนะ

 

 

 

 

หนังสือ : น้ำพริก มรดกรสแห่งเครื่องจิ้ม
ผู้เขียน : อนุสรณ์ ติปยานนท์
จัดพิมพ์โดย : ศูนย์สื่อศิลปะวัฒนธรรม องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) กรุงเทพมหานครราคา : 420 บาท
สั่งซื้อหนังสือ น้ำพริก มรดกรสแห่งเครื่องจิ้ม ได้ที่ : Chula Book

Share this content

Contributor

Tags:

น้ำพริก, หนังสือ, เครื่องจิ้ม

Recommended Articles

Food Story5 ซอสพริกรอบโลก ที่อยากให้ทำความรู้จัก
5 ซอสพริกรอบโลก ที่อยากให้ทำความรู้จัก

ดินแดนไหน ชาติไหนก็รัก ‘ซอสพริก’

 

Recommended Videos