เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ชวนอ่าน Writer’s Taste หนังสือที่จะทำให้คุณอร่อยกับเบียร์ได้มากกว่าที่เคย

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

รู้จักเบียร์ทุกสาแหรกผ่านปลายปากกาของนักเขียน-นักดื่ม ‘อุทิศ เหมะมูล’

หนังสือ Writer’s Taste ดื่มประวัติศาสตร์ จิบวิวัฒนาการ สำราญรสเบียร์ (New Edition)
ผู้เขียน อุทิศ เหมะมูล
พิมพ์ครั้งที่ 2 (ครบรอบ 10 ปี) มิถุนายน 2566
สำนักพิมพ์ จุติ
ราคาปก 550 บาท
สั่งซื้อได้ที่ https://shope.ee/8zc4Ld7Njr

 

 

 

 

หนังสืออาหารเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมในไทยมาเสมอ ทั้งหนังสือแปลและหนังสือจากนักเขียนชาวไทย ทั้งตำราอาหารที่ได้รับความนิยมในอดีต และบันทึกการทำ-กิน-สืบสาวหาที่มาของอาหารทั้งไทยเทศที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เรื่อยไปจนถึงวรรณกรรมที่หอมกรุ่นกลิ่นอาหารอยู่ในทุกหน้ากระดาษ เรียกได้ว่าคนไทยจริงจังกับเรื่องการกินอยู่เสมอไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน

 

 

 

 

แต่หนังสือที่ว่าด้วยเบียร์ล่ะ จะมีสักกี่เล่ม?

 

 

 

 

เมื่อ Writer’s Taste หนังสือเบียร์เล่มโปรดจากนักเขียนคนโปรดอย่าง อุทิศ เหมะมูล ถูกตีพิมพ์ใหม่อีกครั้ง เราจึงต้องขอแนะนำเล่มนี้ไว้ติดชั้นหนังสือของกัลยาณมิตรนักดื่มทุกคนด้วยความปรารถนาดียิ่ง

 

 

 

 

หรือถ้าคุณเป็นคนไม่ชอบดื่มเบียร์ หนังสือเล่มนี้ก็ยิ่งเหมาะกับคุณมากขึ้นไปอีก เพราะที่ผ่านๆ มา คุณอาจจะไม่ชอบดื่มเบียร์ เพราะยังไม่เจอเบียร์ที่ถูกใจเท่านั้นเอง

 

 

 

 

 

 

 

นักเขียนและนักดื่มผู้มาก่อนกาล

 

 

 

 

ขึ้นชื่อว่าเป็นปลายปากกาของ ‘อุทิศ เหมะมูล’ เมื่อเล่าถึงเรื่องใดก็กลายเป็นเรื่องน่าฟังน่าอ่านอยู่ร่ำไป (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่คุณชอบหรือไม่ชอบก็ตาม) และเมื่อเป็นเรื่องของเบียร์เรายิ่งอ่านเพลินไปใหญ่ เพราะนอกจากเขาจะเป็นนักเขียนมืออาชีพแล้ว เขายังเป็นนักดื่มเบียร์ตัวยงอีกด้วย

 

 

 

 

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2563 อุทิศ เหมะมูล ได้ตีพิมพ์ รวมบทความวิจารณ์วรรณกรรม คนชำรุดหรือมนุษย์โรแมนติก’ ของเขาซ้ำอีกหน แต่หนนี้ต่างออกไปจากเดิมตรงที่ว่า ตัวหนังสือเองถูกตีความให้เป็นคราฟต์เบียร์บรรจุขวดในชื่อ ‘Damaged Romance โรแมนติกชำรุด’ IPA ที่หอมฟุ้งกลิ่นผลไม้แต่หนักแน่นด้วยกลิ่นกาแฟ คงนับได้เป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งได้ว่า อุทิศ เหมะมูล จริงจังกับการเขียนและการดื่มมากเพียงใด

 

 

 

 

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ข้อเขียนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของ Writer’s Taste ถูกตีพิมพ์เป็นคอลัมน์ประจำในนิตยสาร Writer Magazine (บรรณาธิการคือ บินหลา สันกาลาคีรี และ วรพจน์ พันธุ์พงศ์) ในช่วงปี 2556 และกลายเป็นหนังสือรวมเล่มในปี 2557 – เหลือเชื่อว่าในช่วงเกือบ 10 ปีก่อนที่คนไทยยังกินเบียร์เพียง 2-3 ยี่ห้อ เราจะมีหนังสือว่าด้วยเบียร์ที่ดีและครอบคลุมที่สุดเล่มหนึ่งถูกตีพิมพ์ออกมาแล้ว ถ้าจะเรียกว่า Writer’s Taste เป็นหนังสือที่มาก่อนกาลก็คงจะไม่ผิดเท่าไรนัก

 

 

 

 

 

 

 

มายาคติว่าด้วยเบียร์

 

 

 

 

สาเหตุที่เราโฆษณาหนักหนาว่า Writer’s Taste เป็นหนังสือที่จะทำให้คุณดื่มเบียร์ได้อร่อยขึ้น มีอยู 2 ข้อ คือ หนึ่ง Writer’s Taste เป็นหนังสือที่อธิบายวงศาคณาญาติของเบียร์ได้อย่างลุ่มลึก และ สอง Writer’s taste เล่าเรื่องเบียร์อย่างมีจริตจะก้าน แต่ไม่ไว้เชิง

 

 

 

 

ข้อที่หนึ่งที่บอกว่า Writer’s Taste อธิบายเรื่องเบียร์อย่างลุ่มลึก ก็เพราะว่าหนังสือเล่มนี้อัดแน่นไปด้วยข้อมูลทั้งภาพใหญ่และภาพย่อย คุณจะได้รู้ว่าสาแหรกของเบียร์มีอะไรและอย่างไรบ้าง เบียร์ลาเกอร์และเบียร์เอลต่างกันอย่างไรทั้งในแง่ของการผลิตและกลิ่นรส คุณจะได้รู้ว่าความหอม ขม เข้ม บาง และสีสันของเบียร์นั้นมีเป็นสิบเป็นร้อย ซึ่งแตกต่างกันไปตามประวัติศาสตร์และความนิยมของคนทำกับคนกิน

 

 

 

 

 

 

 

จริงๆ แล้วเท่านี้ก็เพียงพอสำหรับการเป็นหนังสือเบียร์ดีๆ สักเล่มหนึ่ง หากแต่นั่นยังไม่ใช่สิ่งที่เรารักที่สุดในหนังสือเล่มนี้

 

 

 

 

ในฐานะคนอ่าน สิ่งที่ทำให้เราอยากแนะนำหนังสือเล่มนี้ให้กับคนอื่นๆ ต่อก็คือการเล่าเรื่องเบียร์อย่าง ‘ไม่ไว้เชิง’ ของผู้เขียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้พบนักในวงสนทนาประสานักดื่ม เช่น การออกปากว่าเบียร์ตลาดดาษดื่น (ที่มักถูกจัดอันดับไว้ต่ำสุดในตารางเมื่อเทียบกับคราฟต์เบียร์อื่นๆ) นั้นก็ไม่ได้มีรสชาติที่แย่ และรสนิยมในการดื่มดราฟต์เบียร์แปะตราสิงห์สาราสัตว์นั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิดบาปหยาบช้าแต่ประการใด

 

 

 

 

อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าเราเชิดชูเบียร์สิงห์สาราสัตว์ว่าเป็นเบียร์หัวตาราง แต่เราเชิดชูที่ว่า Writer’s Taste เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องเบียร์อย่างจริงใจ ซึ่งทำให้เราถอดมายาคติในการดื่มออกไปได้มาก และมันทำให้เรามองดราฟต์เบียร์-คราฟต์เบียร์ ทุกแก้วทุกขวดที่ได้ลิ้มรสด้วยสายตาที่เปิดกว้างกว่าเดิม

 

 

 

 

 

 

 

ลายแทงคราฟต์เบียร์ทั่วไทย-ทั่วโลก

 

 

 

 

อีกความดีงามหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ที่คงไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือการพูดถึงยี่ห้อเบียร์ชัดๆ แบบไม่ต้องเดา และการชี้พิกัดร้านเบียร์โรงเบียร์ทั่วไทยแบบผู้บริโภคมาแนะนำเอง เมื่อประกอบกับลีลาการเขียนที่เหมือนเพื่อนนักดื่มมาชวนไปชนแก้ว ก็ยิ่งทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นมิตรกับคนอ่านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักดื่มตัวยงหรือคนเพิ่งเริ่มดื่มเบียร์ก็ตาม

 

 

 

 

นอกจากเบียร์ฝีมือ brewer ชาวไทยแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังมีลายแทงและเรื่องเล่าของเบียร์นอกให้อ่านด้วยพอสังเขป แน่นอนว่าหนังสือเล่มเดียวคงไม่สามารถรีวิวทุกโรงเบียร์ทั่วโลกได้ แต่เรื่องราวของกระแสคราฟต์เบียร์ในอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ ซึ่งถูกเล่าผ่านประสบการณ์การตระเวนดื่มของผู้เขียนก็ทำให้เราเห็นภาพความแบ่งบานของเบียร์อย่างเป็นสากลทั่วโลก และแน่นอนว่ามันทำให้เราตั้งคำถามถึงความเติบโตของคราฟต์เบียร์ในไทยด้วย

 

 

 

 

 

 

 

จดหมายเหตุคราฟต์เบียร์ไทย

 

 

 

 

ในช่วง 2-3 ปีให้หลังมานี้ กระแสคราฟต์เบียร์ในไทยนับได้ว่าเป็น Food Trend ที่ต้องจับตามอง ทั้งในแง่ของผู้ผลิตรายย่อยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แง่ของรสนิยมการดื่มของผู้บริโภคที่เปิดกว้างหลากหลายขึ้น และแน่นอนว่าต้องมีแง่ของกฎหมายที่ยังอยู่ในช่วงลูกผีลูกคน ณ ปัจจุบันด้วย

 

 

 

 

เนื่องจากพิมพ์ครั้งแรกของ Writer’s Taste เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เมื่อถึงวาระการตีพิมพ์ซ้ำ ผู้เขียนอย่างอุทิศ เหมะมูล ก็ได้ชำระและเพิ่มเติมเนื้อหาว่าด้วยคราฟต์เบียร์ไทยให้ร่วมสมัยมากขึ้น Writer’s Taste ปกที่แนะนำในครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การพิมพ์ครั้งที่ 2 แต่เป็น New Edition ที่คนมีปกแรกแล้วก็ยังควรซื้อเล่มนี้เก็บด้วยประการทั้งปวง

 

 

 

 

 

 

 

New Edition นี้ก็ไม่ใช่สิ่งใดอื่นนอกจากการอัปเดตสถานะของร้านเบียร์โรงเบียร์ที่เคยได้เล่าไว้ รวมถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของคนทำเบียร์ บางคนจาก Home Brew ก็กลายเป็นเจ้าของธุรกิจ บางคนโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ตีแบรนด์บรรจุขวดกลับเข้ามาขายในไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย บางร้านลดจำนวนสาขาลง หรือกระทั่งว่าบางร้านบรรยากาศเปลี่ยนไป ไม่ได้เป็นที่ซ่องสุมของคอเบียร์เหมือนในอดีต

 

 

 

 

 

 

 

เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังสือฉบับ New Edition สมบูรณ์ขึ้นก็คือส่วนที่มีชื่อว่า ‘เสรีภาพในการทำและดื่มเบียร์ของประชาชนไทย’ ที่เล่าถึง timeline ของการต้มเบียร์ในไทยตั้งแต่เป็นเบียร์ใต้ดินมาจนถึงการขับเคลื่อนกฎหมาย ตั้งแต่โดนไล่จับมาจนถึงการนั่งเป็น ส.ส. ในสภา ในเชิงหนึ่ง Witer’s Taste จึงกลายเป็นจดหมายเหตุฉบับอุทิศ เหมะมูล ที่บันทึกความเป็นไปของแวดวงคราฟต์เบียร์ไทยไว้ได้เป็นอย่างดี

 

 

 

 

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งจากหนังสือเท่านั้น แต่คงมากพอจะยืนยันได้ว่า Writer’s Taste เป็นหนังสือดีอีกเล่มหนึ่งที่ควรมีไว้ติดบ้าน (รวมถึงติดร้านและติดโรงเบียร์ด้วย) ไว้สำหรับอ่านแกล้มเบียร์แก้วโปรด รับรองว่าเมื่ออ่านจบแล้วโลกของเบียร์สำหรับคุณจะเปลี่ยนไปอย่างไม่น่าเชื่อเลยเชียว

Share this content

Contributor

Tags:

คราฟท์เบียร์, หนังสือ, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, เบียร์

Recommended Articles

Food Storyแจกสูตร สาโททำง่าย หมัก 12 วันพร้อมชนแก้ว
แจกสูตร สาโททำง่าย หมัก 12 วันพร้อมชนแก้ว

วิธีทำสาโท หรือน้ำขาว น้ำหมักจากข้าวแบบไทยๆ สูตรพื้นฐานสุดๆ