เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

‘พริก’ เผ็ดนี้มีประโยชน์

Story by ศรีวิการ์ สันติสุข

สารแคปไซซินในพริกอุดมด้วยประโยชน์ ยิ่งรวมกับวิตามินเอ วิตามินซี เบต้าแคโรทีน ที่มีมากมายในพริก การกินไปเผ็ดไปร้อนไปจึงส่งผลดีหลายอย่างกับร่างกาย

ความโดดเด่นของพริก แน่นอนว่าต้องยกให้เรื่องความเผ็ด เพราะในพริกมีสารแคปไซซินที่เป็นสารที่ให้ความเผ็ดร้อน แคปไซซินจะกระจายอยู่ทั่วทุกส่วนของพริก แต่ส่วนที่พบมากที่สุดหรือพูดง่ายๆ ว่าเผ็ดมากที่สุดก็คือไส้ของพริก แถมเจ้าสารนี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษทนความร้อนได้ดี แม้จะผ่านกระบวนการทำให้สุกหรือเอาไปตากแดดร้อนๆ จนแห้ง ความเผ็ดของพริกก็ไม่ได้บันยะบันยังลงเลย

 

แต่นอกจากความเผ็ด พริกยังมีคุณประโยชน์อีกมากมาย ซึ่งส่วนมากก็เป็นผลมาจากเจ้าสารแคปไซซินอันทรงคุณค่านี้เอง ประโยชน์ที่มีต่อหลายระบบในร่างกายทำให้แคปไซซินถูกนำไปเป็นส่วนประกอบของยาหลายชนิด และเมื่อมันมีอยู่อย่างมหาศาลในพริก การกินพริกจึงเท่ากับเราได้รับประโยชน์จากแคปไซซินไปเต็มๆ ซึ่งหลายข้อได้ยินแล้วก็ทึ่ง จึงขอสรุปว่าการกินไปซี๊ดไปน้ำตาไหลไปปากเบินไปของทุกคน นอกจากความอร่อยสะใจในความเผ็ดร้อนที่สัมผัสได้ชัดๆ แล้ว ยังมีประโยชน์แฝงที่คุ้มค่าความทรมานปาก (แต่อร่อย) มากจริงๆ

 

 

ช่วยลดน้ำหนัก

 

ในแคปไซซินมีสารเธอร์โมเจนิก ซึ่งเป็นสารก่อความร้อนในร่างกาย ส่งผลดีและช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญ จึงช่วยให้น้ำหนักลดเร็วขึ้น พริกยังมีกรดแอสคอร์บิกที่ช่วยเร่งให้ร่างกายเปลี่ยนไขมันเป็นพลังงานได้ ผลการศึกษาจากประเทศญี่ปุ่นระบุว่าการกินพริก 10 กรัม ช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญในร่างกายได้อย่างรวดเร็วและนานถึง 30 นาที วิตามินซีที่มีสูงมากในพริกก็ยังช่วยขยายเส้นเลือดในลำไส้และกระเพาะอาหาร ทำให้ร่างกายดูดซึมอาหารได้ดีและทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น

 

บรรเทาอาการเจ็บปวด

 

แคปไซซินกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดตามธรรมชาติ ลดอาการปวดฟัน บรรเทาอาการเจ็บคอและการอักเสบของผิวหนัง มีการใช้สารแคปไซซินเป็นส่วนประกอบในขี้ผึ้งเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด บวม จากผื่นแดงบนผิวหนัง รวมทั้งอาการปวดจากเส้นเอ็น โรคเก๊าต์ หรือโรคข้อต่ออักเสบ

 

บำรุงสายตา

 

พริกมีวิตามินเอและซีสูง ยิ่งบวกกับสารเบตาแคโรทีน (มีในพริกทั้งสีแดง เหลือง เขียว) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงและป้องกันความเสื่อมของจอประสาทตา ก็จัดว่าช่วยบำรุงสายตาได้ดีทีเดียว แต่การจะได้ประโยชน์จากวิตามินเอและวิตามินซีจากพริก ควรต้องกินพริกสด แนะนำให้เลือกกินพริกเผ็ดน้อยอย่างพริกหยวก พริกหวาน ยกเว้นคนกินเผ็ดเก่งมาก จะกินพริกขี้หนูก็ได้เลย

 

ช่วยลดน้ำมูก ทำให้หายใจสะดวก

 

แคปไซซินมีคุณสมบัติช่วยลดน้ำมูกหรือลดปริมาณสารที่ขัดขวางระบบการหายใจ ในผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด ไซนัส หรือโรคภูมิแพ้ต่างๆ ช่วยบรรเทาอาการไอ สารเบตาแคโรทีนก็ยังช่วยป้องกันการติดเชื้อต่างๆ บริเวณเนื้อเยื่อบุผนังช่องปาก จมูก ลำคอ และปอด

 

เสริมสร้างภูมิต้านทาน

 

พริกอุดมไปด้วยวิตามินเอและวิตามินซี สารอาหารที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันและช่วยป้องกันไข้หวัดได้ แล้วยังมีสารเบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราให้แข็งแรงขึ้นด้วย

 

 

ลดน้ำตาลในเลือด

 

แคปไซซินช่วยยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสได้ โดยมีการทดลองให้หญิงวัยหมดประจำเดือน 10 คน ดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม เจาะเลือดเก็บข้อมูลก่อนดื่มและหลังดื่มที่เวลา 15 นาที 30 นาที และ 60 นาที วันต่อมาให้ดื่มน้ำตาลกลูโคสเหมือนเดิม แต่เพิ่มการกินพริกเข้าไปด้วย พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดวันที่กินพริกร่วมด้วย ต่ำกว่าวันที่ไม่กินประมาณ 20% ซึ่งสรุปได้ว่าพริกน่าจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

 

ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น

 

แคปไซซินสามารถยับยั้งการหดตัวของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ได้ดี เบต้าแคโรทีนและวิตามินซีในพริกยังช่วยเพิ่มการยืดตัวของผนังหลอดเลือดให้รับแรงดันต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ช่วยเสริมสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรงขึ้น ลดอาการหลอดเลือดอุดตันและหลอดเลือดตีบ

 

ควบคุมคอเลสเตอรอล

 

แคปไซซินช่วยป้องกันไม่ให้ตับสร้างคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-Low density lipoprotein) และส่งเสริมให้มีการสร้างคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL-high density lipoprotein) มากขึ้น ทำให้ปริมาณไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดต่ำลง  

 

ป้องกันโรคโลหิตจาง

 

โรคโลหิตจางเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก ในพริกมีธาตุเหล็กประกอบอยู่พอสมควร มีทองแดงที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี แล้วยังมีกรดโฟลิกที่ช่วยเสริมให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแข็งแรง จึงช่วยป้องกันโลหิตจางได้

 

ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

 

วิตามินซีในพริกมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไนโตรซามีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร และยังช่วยสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่หยุดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง อีกทั้งเบต้าแคโรทีนที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระก็สามารถลดอัตราการกลายพันธุ์ของเซลล์ และช่วยทำลายเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอดและมะเร็งช่องปาก

 

ข้อมูล:

 

Share this content

Contributor

Tags:

รสเผ็ด, เครื่องปรุง

Recommended Articles

Food Storyมารู้จัก ‘หัวน้ำปลาแท้’ หมัก 18 เดือน รสอูมามิที่หมักจากธรรมชาติ
มารู้จัก ‘หัวน้ำปลาแท้’ หมัก 18 เดือน รสอูมามิที่หมักจากธรรมชาติ

น้ำปลาตราปลาหมึก แบรนด์น้ำปลาไทยที่อยากให้ทุกคนได้กินน้ำปลาอร่อยจากธรรมชาติ

 

Recommended Videos