
คุยกับต้นตำรับซอสพริกศรีราชาอายุเท่ากับประชาธิปไตยของไทย
คนส่วนใหญ่น่าจะรู้กันแล้วว่า Sriracha Sauce ซอสศรีราชาฝาเขียวที่โด่งดังไปทั่วโลกนั้นไม่ได้ผลิตโดยคนไทย แม้จะใช้ชื่อตามอำเภอหนึ่งของจังหวัดชลบุรีก็ตาม โดยเดวิด ทราน (David Tran) ผู้ก่อตั้งแต่พัฒนาสูตรซอสพริกศรีราชาได้เปิดเผยว่า เขาตั้งชื่อซอสว่าซอสศรีราชา เพราะได้แรงบันดาลใจจากซอสศรีราชาของประเทศไทยนั่นเอง
แม้จะไม่มีการระบุไว้ชัดเจนว่า ‘ซอสพริกศรีราชา’ ที่เป็นแรงบันดาลใจของเดวิด ทราน นั้นเป็นซอสพริกยี่ห้อไหน แต่เรื่องนี้ก็เป็นจุดตั้งต้นให้เราออกตามหาซอสพริกศรีราชาขนานแท้ของประเทศไทย ว่าเป็นซอสพริกยี่ห้อไหน ถูกผลิตโดยใครเป็นคนแรกกันแน่
น่าเสียดายที่เราไม่สามารถสืบค้นและยืนยันได้ว่า ซอสพริกศรีราชาเจ้าแรกของประเทศไทยเป็นใครมาจากไหน แต่เราได้เจอกับ ผู้ผลิตซอสพริกศรีราชาที่มีการดำเนินธุรกิจมานานที่สุดในประเทศ (เท่าที่มีหลักฐานยืนยัน) นั่นก็คือ ‘ซอสพริกศรีราชาตราเหรียญทอง’ นั่นเอง

ในช่วงบ่ายวันหนึ่ง ท่ามกลางอากาศร้อนๆ เดือนมีนาคม ทีมครัวจึงเดินทางไปยัง หัตถกรรมมาคาร ห้องแถวไม้เก่าแก่บนถนนเฟื่องนคร ตรงข้ามกับวัดราชบพิตร เพื่อมาคารวะผู้ผลิตซอสพริกศรีราชาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและยังคงดำเนินกิจการอยู่ ณ ที่แห่งนี้ และเพื่อพบกับ คุณลคุฑ และคุณสุลักขินท์ สุวรรณประสพ ทายาทรุ่นที่ 3 และรุ่นที่ 4 ของซอสพริกศรีราชาตราเหรียญทองค่ะ

คุณสุลักขินท์ สุวรรณประสพ (ซ้าย) และ คุณลคุฑ สุวรรณประสพ (ขวา)
แรกเริ่มเป็นซอสพริกศรีราชา
“เดิมเราทำมาทั้งแต่รุ่นทวดแล้วครับ คือทวดกับย่าท่านเป็นคนศรีราชา แล้วก็เหมือนทำแจกเพื่อนที่โน่น เพื่อนก็ชมว่าดีนะ ทำขายดีกว่า ต่อมาย่ามาเจอกับปู่ ปู่ท่านเป็นพนักงานกรมชลฯ พอไปตรวจงานที่ศรีราคา เจอย่าแล้วก็ได้แต่งงานกัน หลังจากนั้นก็ชวนกันมาทำที่กรุงเทพฯ แล้วก็ทำเรื่อยมา” คุณสุลักขินท์ สุวรรณประสพ หรือ พี่ชาย เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเล่าประวัติแสนเรียบง่ายของซอสพริกศรีราชาให้เราฟัง
แม้จะเป็นประวัติของธุรกิจ แต่ซอสพริกศรีราชาตราเหรียญทองก็เป็นธุรกิจที่พัฒนาและส่งต่อมาตามสายเลือด จึงคล้ายกับเป็นประวัติของวงศ์ตระกูลด้วยในอีกแง่มุมหนึ่ง

“เท่าที่ทราบนะครับ ใช่ ชื่อศรีราชาถูกตั้งมาตามหลักเดียวกับวูสเตอร์ซอส (Worcester sauce) ซึ่งเป็นซอสที่มีที่มาจากเมืองวูสเตอร์ (เมืองวุร์สเตอร์ [Worcestershire] ประเทศอังกฤษ – ผู้เรียบเรียง) เราเลยตั้งชื่อซอสแบบเราว่า ซอสศรีราชา
“มีเรื่องที่เล่ากันว่า เดิม กรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านเสด็จฯ มาเยี่ยมมารดาท่านที่ศรีราชา แล้วก็มีคนนำไปถวาย ตอนนั้นเรายังเรียกว่าน้ำพริกด้วย ท่านก็มีรับสั่งว่า หน้าตาอย่างนี้ไม่ใช่น้ำพริก ถ้าเป็นฝรั่งจะเรียกว่าซอส พอเป็นซอสเราก็เลยตั้งชื่อตามเมืองไปเลย แบบซอสวูสเตอร์ เราเลยใช้ชื่อเป็นซอสพริกศรีราชาตั้งแต่นั้นมา แต่ทีนี้ คำว่าศรีราชาเป็นชื่ออำเภอ เราจดลิขสิทธิ์ไม่ได้ ใครๆ ก็สามารถใช้ชื่อซอสศรีราชาได้ จึงมีซอสศรีราชามากมายตั้งแต่ตอนนั้น”
ซอสพริกศรีราชาของแต่ละยี่ห้อมีลักษณะเด่นต่างกัน อาจเรียกได้ว่าแทบไม่เหมือนกันเลยแม้แต่เจ้าเดียวเลยเสียด้วยซ้ำ กระทั้งซอสพริกศรีราชา 4 ยี่ห้อซึ่งมีที่มาจากต้นตระกูลเดียวกันอย่างตราเหรียญทอง, ตราศรีราชาพานิช, ตราภูเขาทอง และ ตราสามภูเขา ก็ยังมีเอกลักษณ์ที่ต่างกันออกไป


แผนภาพตระกูลทิมกระจ่าง ซึ่งเป็นต้นตระกูลผู้ผลิตซอสพริกศรีราชามากถึง 4 ยี่ห้อ
(ข้อมูลและรูปภาพจาก ชมรมคนรักศรีราชา)
ซอสพริกศรีราชาตราเหรียญทอง
ผู้ปรุงคนแรกในสยาม
“เรื่องสูตรผมไม่แน่ใจเลยนะ มันมีการเล่าไปมาเป็นทอดๆ ไม่ได้มีข้อมูลแน่ชัด แต่ที่รู้คือ น้ำพริกในไทยแทบทั้งหมดมักเป็นน้ำพริกตำ แต่ศรีราชาน่าจะเป็นพริกที่นำมาหมักแล้วปั่น ไม่เหมือนกัน เมื่อก่อนบดด้วย ครกแบบที่ใช้โม่แป้งเลยครับ คุณพ่อเล่าให้ฟังว่าก็ต้องนั่งโม่กันไป วันหนึ่งได้สัก 2 ไหก็หมดแรงแล้ว
“พอคุณทวดเสีย และคุณย่าก็เสียตั้งแต่ช่วงที่คุณพ่อผมอายุประมาณ 6 ขวบ คนที่ทำต่อก็คือคุณปู่ ทำที่บ้านหลังนี้แหละ ทำมาเรื่อยจนคุณปูเสียชีวิตในปี พ.ศ.2514 หลังจากนั้นคุณพ่อก็มาสืบต่อสูตรจนถึงปัจจุบัน
“เมื่อก่อนเราไม่ได้มีการชำระประวัติหรือจดบันทึกไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร จนตอนที่เราจะใช้ป้ายว่า ผู้ปรุงคนแรกในสยาม ทาง อย. (สำนักงานอาหารและยา – ผู้เรียบเรียง) ก็มีฟีดแบ็กมาว่า ถ้าเราใช้แบบนี้มันจะพิสูจน์ได้ยาก เราก็ไปหาประวัติมายืนยันได้ว่าในปี พ.ศ.2475 เราไปประกวดงานอุตสาหกรรมแล้วได้รางวัลมา ตอนนั้นก็คือตอนที่ไทยเราเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็คือ เป็นสัญลักษณ์ว่า ไทยเราพัฒนาแล้ว มีการประกวดงานอุตสาหกรรม เป็นประเทศทันสมัย มีการจัดประกวดขึ้นเราก็ส่งสินค้าเราเข้าร่วม แล้วก็ได้รางวัลมา ทาง อย. เขาก็เลยบอกว่าโอเค ถ้าอย่างนั้นคุณก็ใช้ปี พ.ศ.2475 แล้วกัน แล้วก็ใช้ตามนั้นมาเรื่อย
“เห็นฉลากที่อยู่ด้านบนนั้นไหมครับ เป็นป้ายสำหรับออกงาน ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นฉลากจากปี พ.ศ.2577 เพราะว่ายังมีเหรียญแค่ 2 เหรียญ เป็นเหรียญที่ได้จากการประกวดในปี พ.ศ.2575 และปี 2576 ยังใช้คำว่าน้ำพริกอยู่เลย แล้วก็ใช้คำว่าผู้ปรุงคนแรก หลังจากนั้นเราก็เปลี่ยนเป็นฉลากที่มี 5 เหรียญ และต่อมาก็เป็นฉลากที่มีเหรียญเต็มอย่างปัจจุบัน คือเราเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ตามรางวัลที่ได้ แล้วก็ใช้เป็นแบรนด์เหรียญทองมาตลอด
“ตัวแบรนด์จริงๆ ผมเชื่อว่าคงจะเริ่มมานานกว่านั้น เพราะรูปตอนต้นที่ผมหาได้ ที่เก่าแก่ที่สุดน่าจะประมาณ 120 ปีแล้ว เป็นรุ่นคุณทวด แต่เราก็ไม่ได้มีปีมายืนยัน เพราะเราประมาณเอาจากอายุของคนในรูป ถ้านับรุ่นตอนนี้ซอสพริกสูตรเราถือว่าเป็นรุ่นที่ 4 แล้วครับ เริ่มจากรุ่นคุณทวด คุณย่า คุณพ่อ แล้วก็ต่อมาที่รุ่นผมครับ”

เป็นเรื่องน่าทึ่งทุกครั้งที่เราได้เห็นว่าแบรนด์เก่าแก่หลายสิบปียังคงดำเนินธุรกิจมาอย่างคงเส้นคงวาจนถึงปัจจุบัน เพราะมันเป็นการแสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ หรือแบรนด์หนึ่งๆ ยอมมีที่ทางอยู่ในชีวิตประจำวันของคนอย่างแน่นเหนียวทั้งกับผู้ผลิตและผู้บริโภค ธุรกิจจึงอยู่มาได้นานขนาดนี้
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ปัจจุบัน (พ.ศ.2568) ซอสพริกศรีราชาตราเหรียญทองถือว่าดำเนินกิจการมาแล้วกว่า 93 ปี หากรวมกับปีก่อนหน้าที่ไม่ได้มีการบันทึกประวัติไว้อย่างเป็นทางการ ก็เป็นไปได้ว่า ซอสพริกศรีราชาอาจวางจำหน่ายมาแล้วมากกว่า 100 ปี อย่างที่คุณลคุฑ ทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งปัจจุบันอายุเกือบ 90 ปี เล่าว่ามีโอกาสได้ช่วยคุณพ่อ (รุ่นที่ 2 ของแบรนด์) บรรจุซอสใส่ขวด ติดฉลาก และนั่งสามล้อไปส่งซอสถึงหน้าบ้านของลูกค้าประจำตั้งแต่ยังเด็ก

สองสูตรดั้งเดิมที่ผลิตได้แค่เดือนละ 1 ครั้ง
เคล็ดไม่ลับแห่งความอยู่ยั้งยืนยง
“เรามี 2 สูตรแบบนี้มาตั้งนานแล้วคับ เป็นสูตรตามสายพันธุ์พริกที่ใช้ เป็นพริกชี้ฟ้าแดง สูตรเผ็ดน้อย กับพริกจินดาแดง สูตรเผ็ดมาก ผมเคยลองพริกอื่นหลายตัวแล้ว ทำเล่นๆ แต่ว่าไม่เวิร์ก พริกขี้หนูทำไม่ได้ เหม็นเขียว ส่วนพริกเหลืองก็หวานไปเลย สุดท้ายเราก็เลยขายเท่านี้แหละ กำลังผลิตเราก็ไม่ได้มาก เราผลิตได้แค่เดือนละครั้งด้วยซ้ำ สมมติถ้าซื้อพริกวันนี้ เราต้มวันนี้แล้วดองไปก่อนประมาณ 2 อาทิตย์ โม่อีก 3 วัน โม่หยาบ โม่ละเอียด แล้วผสมซอส แค่นี้ก็กินเวลาไปแล้ว 20 วัน ดังนั้นเราผลิตได้ไม่มาก ผลิตกันตามรอบ ถ้าเดือนนี้ขายหมดแล้วก็คือหมด เดือนหน้าค่อยว่ากันใหม่ (หัวเราะ) ส่วนของหมดทุกงวดครับ ไม่ทันของใหม่ออกทุกงวด แต่ก็สุดกำลังที่เราจะทำได้แล้ว เราทำถี่กว่าเดิมก็ไม่ได้ เพราะเราไม่ได้มีพื้นที่ในการดอง”
ด้วยข้อจำกัดด้านสถานที่ ทำให้หัตถกรรมมาคารแห่งนี้ต้องทำงานทุกอย่างด้วยมือมนุษย์จริงๆ สมชื่อ ขั้นตอนเดียวที่มีการใช้เครื่องจักรคือการบดเนื้อพริก นอกจากนั้น การคัดเลือกวัตถุดิบ การบรรจุ หรือแม้กระทั่งการติดฉลากแต่ละขวดๆ ล้วนเป็นงานแฮนด์เมดทั้งหมด เพื่อจำกัดให้กำลังของเครื่องจักรทั้งหมดให้ไม่เกินมาตรฐานการผลิตในระดับอุตสาหกรรมครัวเรือน จะได้ไม่ต้องย้ายกำลังการผลิตออกไปจากห้องแถวแห่งนี้


“ถ้ารุ่นผมนะ ผมพอแค่นี้แล้ว ถ้ารุ่นต่อไป ลูกชายอยากขยาย ก็ให้ลูกชายทำ แล้วแต่เขา ถ้าเขาจะทำก็ต้องพิจารณากันอีก ต้องเทรนก่อนว่าทำได้ดีหรือเปล่า ถ้าทำแล้วมือไม่ถึง ก็ให้จบๆ ไปเถอะ (หัวเราะ) ถ้าทำต่อแล้วเสียชื่อ ลูกค้าหาย เจ๊ง ก็ให้เจ๊งไปตอนนี้เลยดีกว่า จริงไหมละ”
แม้จะเล่าถึงเรื่องการผลิตแบบเจือปนด้วยอารมณ์ขันตลอดการสนทนา แต่สิ่งหนึ่งที่เรารับรู้ได้ชัดเจนจากเรื่องเล่าและกิจวัตรของคุณสุลักขินท์
“บางช่วงก็เจอปัญหาเรื่องวัตถุดิบบ้าง จะเรียกว่าขาดไปเลยก็คงไม่ใช้ แต่ที่เจออยู่แทบทุกปีคือพริกราคาแพง อย่างช่วงที่น้ำท่วมปี 54 พริกกิโลกรัมละ 500 บาท จะหยุดทำไปเลยก็ไม่ได้ เพราะเรามีลูกค้าประจำที่ต้องใช้อยู่ตลอด เราส่งร้านอาหารอยู่ด้วย พอมีลูกค้ารอ เราเลยกัดฟันทำ ทำเดือนเดียวขาดทุนไปทั้งปีเลย (หัวเราะ) ปีนั้นติดลบแหลกราญ เข่าอ่อนเลย”
รสชาติ เรื่องเล่า และความเก๋าของซอสพริกศรีราชาตราเหรียญทองทำให้สินค้ากลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในหมู่ผู้บริโภครุ่นใหม่ แม้ว่ากำลังการผลิตจะจำกัดไว้เท่าเดิม แต่การมีอยู่และดำเนินไปของธุรกิจกลับขยับขยายมากขึ้นจนเกิดเป็นฟีดแบ็กจากลูกค้าประจำอยู่บ้างด้วยเหมือนกัน

“ตอนนี้มีส่งที่ The Mall ด้วย ที่ Gourmet Market ส่งเป็นขวดให้เขา แต่เราก็ส่งให้ได้ไม่เยอะ สาขาหนึ่งแค่ไม่กี่ขวด ก็เลยไม่ได้โปรโมตหนัก แล้วก็มีที่ติดต่อมาสั่งเป็นออเดอร์ใหญ่อีก เราก็อยากส่งให้นะครับ แต่เราก็ทำเยอะกว่านี้ไม่ได้ แล้วหลักๆ ก็คือ เราพยายามจัดสรรให้หน้าร้านเรามีขายตลอด มีช่วงหนึ่งที่มีลูกค้าหิ้วไปขายในแพล็ตฟอร์มออนไลน์เยอะมากจนหน้าร้านหมด พอมีลูกค้ามาซื้อที่หน้าร้าน เราก็ต้องตอบไปว่าหมด ในออนไลน์มีนะ แต่ราคาแพงกว่าหน้าร้านไปเป็นเท่าตัว มันก็ไม่ค่อยดี ดังนั้นตอนนี้เราก็เลยให้ความสำคัญกับหน้าร้านที่สุด คือหน้าร้านต้องมีจนกว่าใกล้ๆ รอบต่อไปจะออก”
อะไรทำให้ซอสพริกศรีราชาตราเหรียญทองไม่เหมือนใคร ต้องมีลูกค้ามาตามหาตลอด? – เราถาม
“รสชาติครับ” คุณสุลักขินท์ตอบกลับมาแทบจะทันที
“รสชาติของเราไม่เหมือนใคร ต้องชิมเอง เราไม่ได้โม่เป็น homoginized ดังนั้นซอสเราจะยังเป็นเนื้อพริกอยู่ รสเปรี้ยวของเรามาจากน้ำส้มสายชู และการหมัก ส่วนผสมหลักของเรามีแค่พริก น้ำตาล เกลือ น้ำส้มสายชู กระเทียม แค่นี้เลย ถ้ามาซื้อที่หน้าร้าน เราจะมีให้ชิมเลยครับ เพราะตอนนี้ลูกค้าต่างชาติก็มีเยอะ เดี๋ยวนี้แทบจะมาเยอะกว่าคนไทยอีก น่าจะมาจากการรีวิว แล้วก็มีการไปแชร์กันอยู่เรื่อยๆ ผมก็ต้องมีตัวอย่างให้ลองไว้ตรงนี้ จะอธิบายว่าเผ็ดแค่ไหนอย่างไร มันอธิบายยาก ต้องลองเองดู คนเรารับความเผ็ดได้ไม่เท่ากัน เรามีแค่ 2 สูตร เผ็ดน้อย กับเผ็ดมาก แต่เผ็ดน้อยเราก็เผ็ดแล้วนะ (หัวเราะ) พริก 1 กิโลกรัมเราทำได้แค่ 2 ลิตร ก็ประมาณได้ว่า ซอสขวดเล็ก 1 ขวด มีพริก 1 ขีด ก็เผ็ดแล้วแหละ
“ลูกค้าส่วนใหญ่น่าจะเอาไปกินกับไข่เจียว ไข่ดาว แต่ถ้าส่วนตัว เมนูที่ผมชอบที่สุดนะ คือหอยทอด หอยทอดโนเนมอะไรก็ได้ ใส่นี่ลงไป อร่อยแน่นอน อย่างนั้นเลย หรือที่ง่ายที่สุด คือมันฝรั่งทอด ผมจะเทสต์กับมันฝรั่งทอดกรอบ ซองเหลือง ซองส้ม ที่ขายทั่วๆ ไป แกะซองออกมาจิ้มเลย เป็นการเทสต์แต่ละรอบการผลิตว่าโอเคไหม ซึ่งกินคู่กันก็อร่อยเหมือนกันนะครับ”
เราจินตนาการถึงรสชาติของมันฝรั่งทอดรสเกลือยี่ห้อโปรด จิ้มกับซอสพริกศรีราชาตราเหรียญทองที่เผ็ด-เปรี้ยวแล้วเกิดน้ำลายสอ ถ้าได้กินแกล้มกับเครื่องดื่มเย็นๆ สักแก้วระหว่างดูซีรีส์เรื่องโปรดน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เพอร์เฟกต์ทีเดียว
ธุรกิจที่เป็นกิจกรรมบำบัดของพ่อ
และเป็นศูนย์กลางของครอบครัว
ซอสพริกศรีราชาตราเหรียญกับถนนเฟื่องนครนั้นเหมือนเป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร เพราะได้เริ่มต้นผลิตและตีแบรนด์อย่างเป็นทางการที่ตึกนี้ ในขณะที่ลูกค้าประจำกำลังเลือกซื้อของกับคุณสุลักขินท์ คุณลคุฑก็เล่าความหลังให้เราฟังว่า ตนอยู่ที่ตึกแถวห้องนี้มาตั้งแต่เล็กและระลึกรู้ว่าเป็น ‘คนแถวนี้’ อยู่เสมอทุกช่วงชีวิตไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงานก็ล้วนแต่อยู่ในย่านนี้เป็นหลัก จนถึงปัจจุบันที่มาตรฐานอุตสาหกรรมเริ่มเรียกร้องเงื่อนไขที่ซับซ้อนขึ้นสำหรับการทำอุตสาหกรรมอาหาร คุณสุลักขินท์ซึ่งเป็นหัวเรือหลักในปัจจุบันจึงตัดสินใจว่าจะไม่ขยับขยายฐานการผลิตไปไหน แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยการผลิตได้เพียงเดือนละ 1 ครั้งก็ตาม

“จริงๆ ซอสของเราก็ไม่ได้กำลังการผลิตเยอะ ตราบใดที่เรายังทำอยู่ตรงนี้ เราขยายไม่ได้ เพราะพื้นที่ตรงนี้มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้ขยายเป็นโรงงานอาหารไม่ได้ ดังนั้นทุกอย่างที่ทำ เราทำเองทั้งหมด เคยคุยกันว่าจะย้ายออกไปผลิตที่อื่นเหมือนกัน แต่คุณแม่ไม่แฮปปี้ครับ (หัวเราะ)
“คุณแม่อยากให้มาหาทุกวัน ที่ร้านมันก็เป็นที่ที่ทำให้ทุกคนในบ้านได้เจอกัน พ่อแม่ ผม น้องสาว เป็นธุรกิจเพื่อหล่อเลี้ยงจิตใจคนในบ้าน เป็นที่ๆ พ่อได้มานั่งเจอคน เป็นความสุขของเขา ผมทำเดือนหนึ่งได้ประมาณ 600 ลิตร ตีว่าขายได้ลิตรละ 100 บาท ก็ได้ประมาณเดือนละ 60,000 บาท ค่าแรงคนงาน 2 คน คนละ 15,000 บาท ก็เกือบครึ่งแล้ว คือถ้ามองเป็นตัวเงิน มันไม่ใช้ธุรกิจที่อยู่ได้หรอกนะครับ
“ผมได้ช่วยขายมาตั้งแต่ขวดใหญ่ราคาประมาณ 18 บาท 20 บาทเองมั้ง ก็ขึ้นมาทีละน้อย ขึ้นมาเรื่อยๆ ครั้งล่าสุดที่ขึ้นคือ ผมเป็นคนตัดสินใจขึ้นราคาเอง เพราะราคาเดิมที่คุณพ่อขายอยู่คือตัวธุรกิจเองจะอยู่ไม่ได้เลย เมื่อก่อน ก่อนที่ผมจะเข้ามาทำเต็มตัว เวลาไปเดินซื้อพริกกับพ่อ พอซื้อจนเงินหมดผมก็เติมเงินให้นะ (หัวเราะ) เมื่อก่อนเติมเยอะกว่านี้อีก เรียกว่าเติมกันหลายหมื่นเลย ตอนนี้ขึ้นราคาแล้ว ก็ยังเติมเงินเข้าไปอยู่ แต่ค่อยเติมน้อยลงหน่อย”
เราเหลือบมองราคาขายที่ติดไว้บนชั้น ซอสพริกศรีราชาขวดเล็กสุด 200 มิลลิลิตร ราคาเพียง 35 บาท ส่วนขวดใหญ่สุดก็ใหญ่จริงๆ ด้วยขนาดเท่ากับขวดกลมที่กะด้วยสายตาก็คงกินได้ทั้งครอบครัวไปอย่างน้อย 3-4 เดือน ที่ร้านก็ขายในราคาแค่ 100 บาทเท่านั้น

“ผมเริ่มเข้ามาดูแทนคุณพ่อแบบเต็มตัวในช่วง 2-3 ปีก่อน เพราะคุณพ่อเกิดอุบัติเหตุ ขาหัก มาเปิดร้านไม่ได้ ส่วนงานผมเป็นธุรกิจส่วนตัว ช่วงเช้าเราก็พอจะเคลียร์งานให้เรียบร้อย แล้วเข้ามาทำงานที่นี่ช่วงบ่ายได้
หลังจากนั้นก็ได้มาทำเต็มตัวเลย ถามว่าเราหยุดทำได้ไหม จริงๆ ถ้าจะหยุดทำซอสไป มันไม่ได้กระทบเรื่องรายรับของเราเลย แต่มันมีหลายเหตุผลที่ทำให้ไม่อยากหยุด
“ผมไม่หยุดทำ และไม่ย้ายไปไหน เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นที่ที่พ่อจะได้ลงมาเฝ้าร้าน มาเจอผู้คน ช่วงเช้าเราจะพยายามให้คุณพ่อได้ออกมาอยู่หน้าร้านเองซัก 2-3 ชั่วโมง หลังจากกินข้าวแล้วก็เป็นเวลาพัก เพราะตอนนี้พ่อก็อายุ 80 กว่าแล้ว เริ่มหลงลืมบ้างตามอายุ คุณหมอก็บอกว่า อย่าเพิ่งให้คุณพ่อหยุดทำงานนะ ให้ทำงานไว้ก่อน เพื่อให้คุณพ่อได้มีกิจวัตรตามเดิม ดังนั้นเงินที่เราเติมเข้าไปในธุรกิจก็คุ้ม เหมือนค่ากิจกรรมบำบัดให้พ่อ ดีกว่าการปล่อยให้พ่อนั่งนิ่งๆ ทั้งวัน ต้องไปจ้างพยาบาล ต้องไปอยู่ศูนย์เฉพาะ อันนี้พ่อยังได้ทำโน่นทำนี่ ได้อยู่ใกล้กัน”
คุณลคุฑผู้เป็นรุ่นที่ 3 ของธุรกิจใช้ชีวิตกึ่งเกษียณในวัยเกือบ 90 ปีทำงานแบบพนักงานต้อนรับกะสั้น เข้าออกงานตามแรงกายเท่าที่จะไม่ลำบาก แต่ยังคงเล่าประวัติร้านได้ฉะฉานและมีแววตาเป็นประกายอยู่เสมอทุกครั้งที่ได้เล่าเรื่องซอสพริกศรีราชาตราเหรียญให้ผู้คนได้ฟัง
ในอดีต ซอสพริกศรีราชาตราเหรียญทองเป็นธุรกิจหลักอย่างหนึ่งของครอบครัวที่ส่งเสียให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้เล่าเรียนและใช้ชีวิตมาแล้วหลายต่อหลายรุ่น ณ ปัจจุบันที่ธุรกิจไม่ได้สร้างกำไรใหญ่โต ลูกหลานที่เคยได้รับประโยชน์จากธุรกิจซอสพริกจึงยังอุ้มชูธุรกิจนี้ไว้ด้วยความรักและความผูกพัน

“จริงๆ ส่วนตัวผมก็ชอบแหละ มีลูกค้ามาหา ได้เจอคน ได้คุยกับคน ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่ทำถ้าเยอะกว่านี้ คนหาซื้อจากที่ไหนก็ได้ มันก็อาจจะไม่สนุกก็ได้นะ
“พอผมอยู่ตรงนี้ ก็เจอคนมากมายเลย ได้คุยกัน มาจากไหน มาจากสายสองโน่นแหนะ ต้องนั่งรถมาซื้อ แต่ถ้าทำเยอะกว่านี้ ต้องมานั่งคิดว่าขายอย่างไรให้หมด ต้องมีเรื่องการตลาดมาอีก ไม่สนุกแล้ว ผมขอแค่นี้พอ ปีนี้ผม 50 แล้ว ใช้เวลาทำงานเพื่อหาเงินมาเยอะแล้ว แก่แล้ว ถ้าวันหนึ่งลูกผมอยากรวยจากการขายซอส ก็คงจะบอกว่า ลูกไปรวยรุ่นลูกเองนะ (หัวเราะ)”

บ่ายคล้อยที่แสงแดดเริ่มอ่อนแรงละเปลี่ยนทิศ ที่หัตถกรรมมาคารยังมีลูกค้าแวะเวียนมาอยู่เรื่อยๆ ทั้งลูกค้าขาประจำที่แวะมาหยิบของที่ต้องการอย่างคุ้นเคย จ่ายเงินแล้วออกร้านไปภายในชั่วพริบตาราวกับว่าทำสิ่งนี้มาแล้วเป็นร้อยๆ ครั้ง ทั้งลูกค้าต่างชาติที่เดินมาตามรีวิวและ Google map สนุกกับการได้ชิมซอสพริกเก่าแก่ และยกโทรศัพท์มือถือขึ้นเก็บบรรยากาศสุดคลาสิกภายในร้านไว้ตลอดการสนทนา
คงไม่เกินจริงนักหากจะบอกว่า ซอสพริกศรีราชาตราเหรียญทอง แม้จะสร้างเม็ดเงินได้ไม่มาก และมีกำลังการผลิตน้อยนิดเมื่อเทียบกับซอสพริกในท้องตลาด แต่ก็ทำหน้าที่เป็นชีวิตชีวาและเป็นชีพจรหนึ่งของย่านเฟื่องนครมาเนิ่นนาน
นานพอกับที่คนไทยได้ทำความรู้จักกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยเลยทีเดียว


ร้าน หัตถกรรมมาคาร (ซอสพริกศรีราชา ตราเหรียญทอง)
พิกัด : 109 ถนนเฟื่องนคร ตรงข้ามวัดราชบพิตร กรุงเทพ
Google Map : https://maps.app.goo.gl/412VXA6mzKyDDWQX9
โทร : 0831515150
Line : @sriracha2475
เวลาเปิด-เปิด : จันทร์-ศุกร์ 10:00-16:00 หยุดวันเสาร์และอาทิตย์ (เวลาในการให้บริการอาจเปลี่ยนแปลง กรุณาโทรสอบถามล่วงหน้า)
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos