เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

สี่ร้อยปีของ ‘พริก’ กับประวัติศาสตร์ใหม่อาหารไทย

Story by ศรีวิการ์ สันติสุข

คนไทยกินเผ็ด อาหารไทยก็เผ็ด แต่จริงๆ แล้วคนไทยรู้จักและกินพริกหลังชาติอื่นนานมาก

นึกถึงอาหารไทย ใครๆ ก็คงจะนิยามว่าเผ็ดจัดจ้าน (โดยเฉพาะชาวต่างชาติ) ส่งผลให้ ‘คนไทยกินเผ็ด’ เป็นภาพจำของคนส่วนใหญ่ และเราคนไทยเองก็ไม่ปฏิเสธเสียด้วย ว่ากันจากประสบการณ์ส่วนตัว ฉันเจอคนไทยกินเผ็ดมากกว่าคนไม่กินเผ็ดแบบสู้กันไม่ได้ และแม้แต่คนที่บอกว่าไม่กินเผ็ดก็ยังกินผัดกะเพรา (เผ็ดน้อย แต่ก็ใส่พริกนั่นละ) ยังเติมพริกป่นในก๋วยเตี๋ยว (นิดนึง แต่ก็เติม) นึกๆ ดูฉันยังไม่เคยเจอคนที่ไม่กินเผ็ดแบบไม่แตะพริกไม่แตะพริกไทยเลยสักคน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะอาหารไทยนั้นผูกโยงอยู่กับวัตถุดิบที่มีความเผ็ด ตั้งแต่เผ็ดจริงจังอย่างพริก เผ็ดเบาลงหน่อยอย่างพริกไทย ไปจนถึงเผ็ดร้อนน้อยๆ จากสารพันเครื่องเทศและสมุนไพร ฉะนั้น จะบอกว่าเราชาวไทยคุ้นชินกับความเผ็ดกันตั้งแต่เล็กแต่น้อยก็ว่าได้

 

 

 

 

พริกในไทย

 

 

 

 

ความเป็นชาติกินเผ็ดนี่เองทำให้หลายคนอาจจะคิดว่าไทยคือต้นกำเนิดของการปลูกหรือการกินพริก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่เผ็ดที่สุด แต่ไม่ใช่ค่ะ นอกจากพริกจะไม่ได้เป็นพืชท้องถิ่นของเราแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นคือคนไทยเพิ่งจะรู้จักและลิ้มรสพริกกันเมื่อ 400 ปีที่แล้วนี่เอง ในขณะที่มนุษย์โลกอื่นๆ เขากินพริกก่อนเรามานับพันๆ ปี

 

 

 

 

หลักฐานทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่า ชาวอินเดียนในเม็กซิโกกินพริกเป็นอาหารมานานกว่า 9,000 ปีแล้ว เพราะอุจจาระที่เป็นก้อนแข็งที่พบที่เมือง Huaca Prieta มีซากเมล็ดพริกอายุประมาณ 9,000 ปี การศึกษาวิถีชีวิตของชนเผ่า Olmec, Toltec และ Aztec ก็แสดงให้รู้ว่าคนเหล่านี้รู้จักปลูกและบริโภคพริก นักประวัติศาสตร์ยังขุดพบซากของต้นพริกอายุกว่า 2,000 ปี ในเทวสถานของเปรูด้วย แม้แต่ลายปักเสื้อผ้าของคนอินเดียนที่อาศัยอยู่ในเปรูเมื่อ 1,900 ปีก่อน ก็มีลวดลายปักเป็นต้นพริก และเมื่อกองทัพสเปนบุกอาณาจักร Aztec นายพล Cortez ได้เขียนจดหมายเล่าว่า กษัตริย์ Aztec ทรงโปรดเสวยพระสุคนธรสที่มีพริกปน เรียกได้ว่าการกินพริกเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชาว Aztec และภาษาอังกฤษของพริกว่า Chili นั้น ก็เป็นภาษาของชาวแอซเตค

 

 

 

 

พริกในไทย

 

 

 

 

ส่วนว่าพริกออกเดินทางไปทั่วโลกและเข้ามาถึงบ้านเราได้ยังไง น่าจะเดาไม่ยาก ใช่แล้ว เพราะคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นั่นเอง เมื่อเขาเดินทางไปเสาะหาเครื่องเทศในทวีปอเมริกา ปีเตอร์ มาร์ทิล ลูกเรือคนหนึ่งก็เก็บพริกจากอเมริกาติดมือกลับมา ง่ายๆ แบบนี้เลย พริกที่ปีเตอร์เก็บมาจากทวีปอเมริกาถูกนำมาปลูกที่สเปนเมื่อ พ.ศ. 2096 ปรากฏว่าได้ผลผลิตดี ผู้คนในยุโรปจึงมีโอกาสได้ลิ้มรสความเผ็ดของพริก และขยายการบริโภคพริกไปสู่พื้นที่อื่นๆ ของโลกตั้งแต่อาหรับ อินเดีย ฯลฯ

 

 

 

 

พริกในไทย

 

 

 

 

พริกในไทย

 

 

 

 

พ.ศ. 2143 พริกจากอินเดียก็แพร่หลายไปยังประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย คะเนกันว่าพริกถูกนำเข้ามาโดยพ่อค้าชาวโปรตุเกสช่วงต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือไม่ก็เป็นในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม จนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ได้มีการติดต่อซื้อขายกับชาวต่างชาติในยุคนั้น ซึ่งมีทั้งจีน อินเดีย และยุโรป หลังจากนั้นพริกก็ฝังตัวอยู่ในวัฒนธรรมการกินของชาวไทยแบบแยกกันไม่ออก

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนการเข้ามาของพริก ชาวไทยเองก็คุ้นชินกับรสเผ็ดดี วัตถุดิบเผ็ดที่มีใช้ในครัวไทยอยู่แล้วก็คือพริกไทย เพราะมีหลักฐานขุดพบที่แหล่งโบราณคดีถ้ำผี จังหวัดแม่ฮ่องสอน กำหนดอายุได้ราว 4,000-5,000 ปีมาแล้ว ในขณะที่วัตถุดิบรสเผ็ดอื่นๆ อย่าง ดีปลี พืชตระกูลมะแขว่น ก็มีการนำมาใช้ในอาหารกันอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่จีนไปถึงหมู่เกาะทางตอนใต้ของผืนแผ่นดินใหญ่ เครื่องจิ้มหลักในวงข้าวของคนไทดำในเวียดนาม ยังเป็นมะแขว่นตำละเอียดผสมเกลือ แสดงถึงร่องรอยวิธีกินที่สืบเนื่องมายาวนาน

 

 

 

 

พริกในไทย

 

 

 

 

พริกในไทย

 

 

 

 

กระทั่งพริกแพร่เข้ามาและเป็นที่นิยม จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอาหารครั้งใหญ่ นอกจากทำให้รสชาติอาหารเผ็ดฉุนขึ้น จนน่าจะส่งผลให้อาหารไทยโดยรวมมีรสชาติจัดจ้านขึ้น พริกยังมาพร้อมวัฒนธรรมอาหารใหม่ๆ ที่ต่อมาก็กลายเป็นความคุ้นชินของชาวไทย เป็นเหตุให้อาหารไทยยุคหลังพริกผูกพันเกี่ยวข้องกับพริกแบบขาดกันไม่ได้ และทำให้อาหารไทยในปัจจุบันขึ้นชื่อเรื่องความเผ็ดนั่นเอง

 

 

 

 

พริกในไทย

 

 

 

 

ทว่านอกจากพริกที่มาทีหลังดังกว่า ของเผ็ดดั้งเดิมอย่างพริกไทย ดีปลี มะแขว่น ก็ยังไม่ได้หายไปจากสำรับ เพียงแต่อาจจะจำกัดอยู่ในแวดวงท้องถิ่นมากกว่าจะ ‘แมส’ แบบพริก อย่างเช่นแกงพริกในสำรับภาคใต้นั้น คำว่า ‘พริก’ ในชื่อแกงยังคงหมายถึงพริกไทย และลักษณะก็เป็นแกงที่ใส่พริกไทยดำตำผสมในพริกแกงด้วยปริมาณที่มากที่สุดกว่าแกงอื่นๆ หรือพริกลาบของภาคเหนือก็ไม่ได้หมายความเพียงพริก แต่เป็นเรื่องของการชุมนุมเครื่องเทศอย่างมากมาย อาจจะมากที่สุดในโลกเสียด้วยซ้ำ

 

 

 

 

ภาพ www.satvyk.com/ www.tuigarden.co.nz / www.fanclubthailand.co.uk / www.ipinimg.com/originals / www.i.redd.it / www.foodthailand55.weebly.com/ www.1.bp.blogspot.com/ www.img.wongnai.com / www.vegetablegrowersnews.com/ www.chichesterpost.co.uk/ www.cf.shopee.co.th/

 

 

 

 

ที่มา: https://www.technologychaoban.com/thai-local-wisdom/article_179567 / https://www.silpa-mag.com/history/article_25402 / https://mgronline.com/science/detail/9480000161062

 

 

 

 

บทความเพิ่มเติม

 

 

 

 

‘พริก’ เผ็ดนี้มีประโยชน์

 

 

 

 

พริกไทยขาว พริกไทยดำ รู้ไหมต่างกันอย่างไร

 

 

 

 

‘พริกฮวาเจียว’ วัฒนธรรมเผ็ดปากชาลิ้นสไตล์เสฉวน

 

 

 

 

น้ำพริกนิตยา 50 ปีตำนานพริกแกงแห่งบางลำภู

 

 

 

 

 

 

 

 

Share this content

Contributor

Tags:

ประวัติศาสตร์, รสเผ็ด

Recommended Articles

Food Storyเรื่องวุ่นๆ ของเฟรนช์ฟรายส์ที่ (ดัน) ไม่ได้มาจากฝรั่งเศส?
เรื่องวุ่นๆ ของเฟรนช์ฟรายส์ที่ (ดัน) ไม่ได้มาจากฝรั่งเศส?

พบกับต้นกำเนิดของมันฝรั่งทอดแสนอร่อยที่ครองใจคนทั่วโลก