
การอพพบระลอกใหม่ กับความเปลี่ยนแปลงของอาหารเมียนมาในประเทศไทย
ประเทศเมียนมาเป็นอีกหนึ่งประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะในช่วงหลังเหตุการณ์รัฐประหารพม่า พ.ศ.2564 ที่มีการถ่ายโอนอำนาจจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD – National League for Democracy) ไปสู่พลเอกอาวุโส มี่นอองไลง์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา
ความอ่อนไหวทางการเมืองของเมียนมาย่อมส่งผลต่อประเทศรอบข้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมในการอพยพหรือโยกย้ายถิ่นฐานของชาวเมียนมา ระยะหลังมานี้ หลายคนคงพอสังเกตได้ว่า มีร้านอาหารเมียนมารวมถึงร้านอาหารชาติพันธุ์ต่างๆ เกิดขึ้นใหม่มากมาย ทั้งในกรุงเทพฯ และตามจังหวัดอื่นๆ เป็นสัญญาณถึงความเปลี่ยนแปลงบางประการที่เราพึงรับรู้ไว้ในฐานะของประเทศที่มีพรมแดนติดกัน
ความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านกำลังสื่อสารอะไรกับเราบ้าง KRUA.CO มีโอกาสได้พูดคุยประเด็นนี้กับ ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะของนักวิจัย คอลัมนิสต์ และนักเขียนผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองเมียนมา และนี้คือบทบันทึกส่วนหนึ่งจากการสนทนาในครั้งนั้นค่ะ

การอพยพสีเทาของชาวเมียนมา
การย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในประเทศไทยของชาวเมียนมา ทั้งที่เป็นการชั่วคราว และเป็นการถาวร คือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ชนิดที่ว่าเราแทบทุกคนล้วนเคยพบเห็น รู้จัก หรือกระทั่งจ้างงานชาวเมียนมาอย่างน้อยก็สักหนในชีวิต กระนั้นก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่มักไม่ได้สังเกตหรือสืบค้นว่า ชาวเมียนมาเพื่อนบ้านของเราเดินทางเข้ามาด้วยแรงบีบคั้นแบบใด และอย่างไร นี่คือประเด็นหนึ่งที่ ลลิตา หาญวงษ์ เห็นว่าสังคมไทยพึงรับรู้และสังเกตความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
“ต้องบอกตามตรงว่า คนพม่าที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ก็มีทั้งที่มีพาสปอร์ตและไม่มีพาสปอร์ต ถ้าแบบที่ถูกต้องเลย ส่วนใหญ่มักเป็นการจ้างนายจ้างหรือเอเจนซี่ฝั่งโน้น เพื่อส่งเขาเข้ามาเป็นแรงงานในประเทศไทย แต่ในยุคหลังที่เกิดสงครามขึ้นในพม่า เขาก็ต้องหาทางรอดของตัวเอง เราก็จะเห็นได้ว่ามีคนที่เข้ามาตามช่องทางธรรมชาติด้วยเหมือนกัน
“ข้อเท็จจริงหรือคือ ชายแดนไทย-พม่า ที่ติดกันอยู่มันยาวมาก และไม่มีกำแพงกั้น โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นแม่น้ำ ซึ่งมันตื้นมาก ในความเป็นจริงก็คือสามารถเดินข้ามกันได้หมด หรือคนส่วนหนึ่งก็เข้ามาผ่านด่านแม่สาย แม่สอด ด่านที่ถูกกฏหมายนี่แหละ ด้วยบัตรผ่านประจำวันที่เรียกว่า boarder pass ซึ่งแทบไม่ต้องใช้เอกสารอะไรในการออกเลย พอเข้ามาได้แล้ว เขาก็อยู่ต่อ ก็อยู่แบบผิดกฏหมายนั้นแหละพูดตามตรง เพราะมันก็เป็นหนทางให้เขามีชีวิตอยู่ได้
“ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ด้วยระบบส่วย ด้วยความไม่ตรงไปตรงมาของรัฐไทย ก็ทำให้คนเหล่านี้สามารถจ่ายค่าคุ้มครองให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นรายเดือน รายครั้ง แล้วใช้ชีวิตต่อได้แม้จะไม่ได้เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นเมืองชายแดนมันจึงเป็นเมืองที่มีความเทาๆ ตามมาตลอดเวลา ทุกชายแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แม่สอด ตาก รวมทั้งลงมาถึงกาญจนบุรี”

เฉพาะอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพียงพืนที่เดียว ก็มีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมายาวกว่า 75 กิโลเมตรโดยมีเพียงแม่น้ำเมยเป็นเส้นกั้น ทั้งยังมีหลักฐานว่า กลุ่มคนที่เข้ามาบุกเบิกทำกินอยู่ในอำเภอแม่สอดเป็นกลุ่มแรกๆ คือชาวกะเหรี่ยงมาซึ่งอพยพมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่หมู่บ้านพะหน่อเก ก่อนที่จะมีกลุ่มอื่นๆ อพยพตามมาจนขยายเป็นเมืองในที่สุด แม่สอดจึงเป็นเมืองชายแดนที่เกี่ยวข้องกับการอพยพและข้ามพรมแดนของชาวเมียนมามาเสมอนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
“แม่สอดเป็นเมืองที่มีคนเมียนมาพลัดถิ่นหรือ Myanmar diaspolar อยู่มากที่สุด เราต้องเข้าใจด้วยว่าความเทาๆ ของเมืองมันก็มีประโยชน์กับการดำเนินชีวิตของคนในมุมหนึ่งด้วยเหมือนกัน ถ้าสมมติว่าเขาอพยพเข้าไปในเมืองที่มันไม่ค่อยเทา แล้วเขาถูกจับ เขาก็ต้องถูกส่งกลับเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายใช่ไหม แต่ในเมืองที่มันมีความเทา สมมติว่า แต่ละเดือนเขาจ่ายค่าคุ้มครองให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ 300-400 บาท มันจบเลย คุณก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยที่คุณก็อยู่กับความเทาๆ อยู่กับเส้นแบ่งที่มันเบลอๆ แบบนี้ไปเรื่อยๆ ได้”
การอพยพระลอกสอง
ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน
“การอพยพของคนพม่าที่มาอยู่ในไทยรูปแบบที่ว่านี้มีมานานมากแล้วนะ คนในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะภาคเหนือไล่มาจนถึงแม่สอด ถึงระนอง คงพอจะเห็นภาพนี้กันอยู่แล้ว แต่หลังจากเกิดรัฐประหารขึ้น การเมืองไม่นิ่ง เศรษฐกิจแย่ เงินเฟ้อสูง ค่าเงินจัตพม่าร่วงกระหน่ำจนกำลังซื้อของคนพม่าก็หดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนสังคมของพม่ามากที่สุดในยุคปฏิรูปประเทศของอองซานซูจี เราจะเห็นได้ว่า คนกลุ่มนี้ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองเยอะมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้าร่วมขบวนการ CDM”
ขบวนการ CDM (Civil Disobedience Movement) หรือขบวนการทำอารยะขัดขืน คือกลุ่มชาวเมียนมาที่ต้องการต้านรัฐประหาร ซึ่งมีทั้งนักเรียนนักศึกษา ข้าราชการ กลุ่มวิชาชีพ และประชาชนทั่วไป ที่แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับการเคลื่อนไหวของรัฐบาลทหารพม่า โดยการหยุดให้บริการ และหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งหวังให้ระบบราชการและเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลทหารหยุดชะงัก และบีบบังคับให้รัฐบาลทหารคืนประชาธิปไตยให้ประเทศเมียนมา
“คนที่เข้าร่วมขบวนการ CDM หรือที่เรียกว่า CDMers ส่วนใหญ่เดินทางออกนอกประเทศ เชื่อไหมว่า CDM ในประเทศไทยเยอะมากนะ แต่พอเราไม่มีระบบ เราไม่เคยยอมรับคนกลุ่มนี้ เราก็จะไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร มีจำนวนเท่าไร มีความสามารถที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศเราได้มากน้อยแค่ไหน คุณก็จะได้เห็นหมอฟันมาเป็นแรงงานแบกหาม คุณจะเห็นพยาบาล ครู มาเป็นแม่บ้านเต็มไปหมด หรือคนที่มีกำลังซื้อมากๆ คนรวยที่อยู่ย่าน Golden valley แถวกันดอจี เดี๋ยวนี้มาอยู่ที่ทองหล่อแล้วค่ะ
“พอกำลังซื้อในประเทศก็ไม่มี นักท่องเที่ยวก็น้อยลง แต่ธุรกิจยังต้องดำเนินต่อไป เราก็จะเห็นชัดเจนเลยว่าร้านเชนจากพม่าขยายตามมาด้วย อย่างร้าน YKKO ก็มาเปิดสาขาอยู่ที่ชั้น 7 MBK ร้านนี้ขายอาหารที่ป๊อปปูลาร์มากในหมู่ชนชั้นกลางของพม่า ก็คือ ‘เจโอ’ ที่คล้ายๆ ก๋วยเตี๋ยว มันเป็นร้านอาหารที่มีสาขาเยอะมากในย่างกุ้ง ในมัณฑะเลย์ หรือไม่คุณไปดูพวกสถิติโรงเรียนอินเตอร์สิ คนพม่าเยอะขึ้นมาก”

ระลอกเดิม ระลอกใหม่
การอพยพของผู้คนและอาหารเมียนมาในไทยที่น่าจับตามอง
“ส่วนตัวมองอย่างนี้นะคะ วัฒนธรรมอาหารพม่าในสังคมไทยเรา อาจจะแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ชายแดน และพื้นที่ส่วนในอย่างกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ เราต้องแบ่ง 2 พื้นที่นี้ออกจากกัน
“ในพื้นที่ชายแดน เราจะเห็นการเติบโตของร้านอาหารพม่า ร้านอาหารของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่ามาเป็นสิบๆ ปีแล้ว แต่ด้วยความที่คนไทยเราอาจจะไม่ได้มีเซนซ์ของนักสำรวจ ไม่ได้ไปลองกิน ลองพูดคุย ก็คืออยู่ใครอยู่มันไป เราเลยไม่ได้ทำความรู้จักเขามาก แต่ก็รับรู้ถึงการมีตัวตนอยู่ อย่างที่แม่สอด มันเป็นเรื่องปกติมากที่เราจะเห็นร้านอาหารที่มันหลากหลาย
“มีร้านที่น่าสนใจเลย อย่างช่น ในแม่สอดมีชุมชนมุสลิมพม่าที่ใหญ่มาก มีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นมาจากปากีสถาน อพยพมาอยู่พม่า ดังนั้นก็จะมีทั้งคนปากีสถานเชื้อสายพม่าและคนปากีสถานเชื้อสายไทย ปะปนกันอยู่ในแม่สอด มีมัสยิดที่ใหญ่มาก และมีร้านน้ำชาที่น่าจะถือว่าดีที่สุดในแม่สอดอีกแห่งหนึ่ง ชื่อว่า ร้าน Lucky Tea Garden ก็เป็นร้านมุสลิม หรืออีกร้านชื่อว่าร้านมิงกะลาบาแม่สอด ที่จะขายอาหารหลายแบบ แล้วก็บรรยากาศสคล้ายๆ กับร้านน้ำชาที่ย่างกุ้งเลย ที่แม่สอดคุณจะเจอร้านอาหารแบบนี้เยอะมาก มีร้านอาหารกะเหรี่ยง ร้านจากเมืองพะสิม ร้านคะฉิ่น คือมันก็จะมีความหลากหลายของเขา
“ส่วนพื้นที่อย่างกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ เดี๋ยวนี้เราจะเห็นร้านเชนต่างๆ อย่างที่บอกไป รวมถึงมีร้านที่มีเป้าหมายเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ หรือชนชั้นกลางขึ้นไป อย่างเช่นร้าน Burbrit Myanmar เป็นร้านคราฟต์เบียร์ที่ดังมากในพม่า ก็มาเปิดอยู่ในโรงแรม Holiday Inn ตรงสุขุมวิท หรืออย่างร้าน Rangoon Tea House ที่มาเปิดตรงทองหล่ออย่างนี้เป็นต้น
“ยิ่งระยะหลังๆ มานี้ นอกจากร้านใหญ่ๆ ที่เป็นเชนจะเข้ามาเปิดแล้ว ก็มีร้านเล็กๆ มาเปิดด้วย อย่างแถวหลังราม หลัง ABAC ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น burmese town มาตั้งนานแล้ว ตอนนี้ทุกหย่อมหญ้าเป็นร้านอาหารพม่าหมดเลย แล้วเขาเป็นร้านเล็กๆ ร้านห้องแถว แต่เชื่อไหมว่าหัวกระไดไม่แห้ง ฟู้ดเดลิเวอรีวิ่งตลอด เพราะคนพม่าที่เขาย้ายมาอยู่ที่นี่เขา traumatize นะ เขาคิดถึงบ้าน การได้มีอาหารรสชาติคุ้นเคยมันก็คือการเยียวยาอย่างหนึ่ง
“อีกอย่างคือ ความเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นชาติพันธุ์มันจะถูกขับให้โดดเด่นที่สุดในช่วงของการสู้รบนี่แหละ มันก็เลยแสดงออกมาทางอาหารด้วย ฉันไม่อยากเป็นร้านอาหารพม่าแล้ว เราจึงมีร้านอาหารฉาน มีร้านอาหารคะฉิ่น มีร้านอาหารยะไข่ หลากหลายมาก และส่วนใหญ่ก็ทำออกมาค่อนข้างดี คือมีการนำเสนอให้สวยงาม สะอาด แบบร้านอาหารดีๆ หรืออาหารขึ้นห้าง ซึ่งเป็นรูปแบบที่คงจะทำให้คนเปิดใจลองได้ง่ายขึ้น”

อาหาร การเมือง เรื่องพม่า (ที่เราควรรู้)
“เชื่อไหมว่าช่วงปฏิรูปทางการเมือง มีการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2015-2016 ลงมา จนถึงยุคการบริหารของพรรค NLD คนพม่าที่อยู่ในไทยจำนวนมากมีความหวัง คือหวังว่าประเทศฉันจะดีขึ้น แล้วคนเหล่านี้ก็พากันกลับบ้าน อย่างเราเคยไปทวาย ได้ไปกินปลาทอดที่อร่อยมากๆ น้ำจิ้มซีฟู้ดที่อร่อยมากๆ แล้วคนทอดหรือเจ้าของร้านก็คือคนที่เคยเป็นแรงงานในครัวของร้านดังร้านหนึ่งในไทย เขาเล่าให้ฟังว่าเขาเคยทอดปลาวันๆ หนึ่งราว 400 ตัว ดังนั้นก็คือเขามาฝึกทักษะจากบ้านเรานี่แหละ ก่อนจะกลับไปเปิดร้านที่ทวาย พอกลับไปเจอกับทรัพยากรบ้านเขา เขาก็เลยมีทั้งฝีมือ ทั้งความขยัน ทั้งเงินทุนที่เขาเก็บกลับไป เขาก็ทำธุรกิจอยู่ได้ และอยู่ได้ดีด้วย เรียกว่าเป็นปลาทอดที่อร่อยที่สุดเท่าที่เคยกินมาในชีวิตเลยนะ
“แต่ว่าตอนนี้สภาพบ้านเมืองพม่ามันไม่เหมือนกับยุคนั้นแล้ว ส่วนตัวเรามองว่าตอนนี้สังคมพม่ามันแตกสลายไปหมด ประชาชนไม่มีความหวังเลยว่าประเทศชาติจะดีขึ้นหรือว่าจะฟื้นฟูกลับขึ้นมาได้เหมือนยุคที่ NLD เป็นรัฐบาล คนก็หนีกันหัวซุกหัวซุน นอกจากจะหนีกฎหมายเกณฑ์ทหารแล้วก็ยังต้องหนีเพื่อเอาชีวิตให้มันรอด คนพม่าที่อยู่พม่าก็อยากจะข้ามกลับมาประเทศไทยเพื่อหาเลี้ยงชีพ เพราะว่ามันไม่มีงานในพม่าแล้ว แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ก็กลายเป็นสนามรบไปหมด เราอาจจะคุ้นเคยชื่อของหาดงาปาลี หาดที่มีชื่อเสี่ยงที่สุดอีกแห่งหนึ่งของพม่า จากที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยว ตอนนี้สนามบินตรงนั้นก็ถูกยึดโดยฝ่ายต่อต้านไปแล้ว เรียกว่าหลังรัฐประหารนี่คือการเปลี่ยนสนามการค้าให้เป็นสนามรบเลย
“ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนี้ แน่นอนว่ามันก็ส่งผลกับประเทศเราด้วย การเข้ามาและมีอยู่ของชาวพม่าในประเทศไทยตอนนี้คือสิ่งที่เราต้องทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ และมองให้เห็น รวมถึงเรื่องความหลากหลายของชาติพันธุ์ที่ตอบคำถามเราข้างต้นว่าทำไมปัจจุบันมันถึงมีร้านอาหารคะฉิ่น ร้านอาหารฉาน ร้านอาหารกะเหรี่ยง มันก็ตอบให้เห็นเลยว่าการสร้างอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติของเขามันเข้มแข็งมากขึ้นหรือเปล่าในยุคหลังรัฐประหาร”

แน่นอนว่าการบ้านการเมืองเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน โดยเฉพาะในเมียนมาซึ่งเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ ชาติพันธุ์ ทั้งยังถูกบริหารด้วยขั้วอำนาจที่อาจเกิดเรื่องคาดไม่ถึงได้เสมอ แต่ถึงอย่างนั้น ในฐานะของประเทศที่มีพรมแดนติดกัน เราก็ยังสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจผ่านวัฒนธรรมที่สัมผัสได้และมีอยู่จริงอย่างเรื่องอาหารการกินอย่างคนเมียนมาที่กำลังแบ่งบานและเติบโตขึ้นมากในบ้านเรา
“เราว่าสังคมไทยยังไม่ได้รู้สึกว่าอาหารพม่ามันก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ใกล้เรามากๆ เลยอาจจะไม่ได้เห็นคุณค่าของอาหารพม่าเท่าที่ควรจะเป็น เราพยายามพูดตลอดว่าลองกินอาหารพม่ากันดูสิ มันมีอะไรที่เราจะเรียนรู้จากเขาได้อีกมาก คนไทยควรทำความรู้จักอาหารเมียนมา ด้วยว่ามันมีมิติทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับไทยอยู่เยอะ มันจึงเป็นประตูที่ทำให้เราได้เข้าใจความใกล้ชิดในเชิงวัฒนธรรมที่มันไม่มีพรมแดน
“ถ้าเรามองว่า อันนี้เป็นอาหารไทย อันนี้เป็นอาหารเมียนมา เราจะไม่เห็นความสอดคล้อง ความเชื่อมโยงสัมพันธ์ ทั้งในทางประวัติศาสตร์ ในทางวัฒนธรรมของคนทั้งสองประเทศเลย ซึ่งจริงๆ อาหารพม่าที่ใกล้กับอาหารเหนือ มันก็เหมือนอาหารลาวที่ใกล้กับอาหารอีสานน่ะ แต่มันอาจจะเป็นด้วยอคติของคนไทยด้วย คือเราแทบไม่เคยมองว่าพม่าเป็นบ้านพี่เมืองน้อง ซ้ำร้ายคือ คนไทยส่วนหนึ่งกลับมองว่าเขาเป็นศัตรู เป็นคู่แข่ง เป็นแรงงาน ด้วยอคตินี้มันเลยทำให้สังคมไทยเราไปได้ไม่สุดในเรื่องของความหลากหลายทางชาติพันธ์ุหรือวัฒนธรรม
“เราไม่ได้มองว่าร้านอาหารพม่าในระลอกที่ 2 เป็นเรื่องของวัฒนธรรมอย่างเดียวนะ แต่มันเป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์บาดแผล ความบอบช้ำ และประวัติศาสตร์สงครามในประเทศของเขาไปด้วยเหมือนกัน”

ข้อมูลจาก
– http://web.tak.go.th/page/amphur/6/แม่สอด
– https://www.matichon.co.th/columnists/news_3325238
– https://www.matichon.co.th/politics/news_4029011
Contributor
Recommended Articles