ภาพ The Last Supper หรือพระกระยาหารมื้อสุดท้ายมีอะไรอยู่บนโต๊ะนั้นบ้าง และมืออาหารมื้อนี้เดินทางไปในแวดวงศิลปะและความบันเทิงข้ามกาลเวลากว่าครึ่งศตวรรษได้อย่างไร
หนึ่งในภาพวาดที่มีอิทธิพลต่อโลกซึ่งแอบซ่อนอยู่ในงานป๊อปคัลเจอร์มาโดยตลอด คือ The Last Supper ภาพวาดฝาผนังฝีมือของ เลโอนาร์โด ดาวินชี ศิลปินชาวอิตาเลียน ที่วาดขึ้นในปี 1495 โดยหยิบช่วงเวลาหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเป็นการฉลองพระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูกับสาวกทั้ง 12 องค์ พร้อมตรัสว่าหนึ่งในผู้ร่วมโต๊ะนั้นมีความคิดทรยศต่อพระองค์ ทำให้สมาชิกบนโต๊ะอาหารต่างอยู่ไม่เป็นสุขเพราะไม่รู้ว่าใครที่คิดไม่ซื่อกันแน่ ก่อนที่พระเยซูจะถูกตรึงกางเขนในวันต่อมาด้วยความร่วมมือของยูดาสซึ่งคือคนที่สองถัดไปทางขวามือของพระเยซูในรูปนี้นั่นเอง
ภาพ The Last Supper ดาวินชีตั้งใจวาดให้ ลุโดวิโก สฟอร์ซา ดยุกแห่งมิลานที่เปรียบเสมือนผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาแก่เขา อย่างไรก็ดีสิ่งที่ดาวินชีทิ้งเอาไว้ในภาพนี้ได้สร้างคุณูปการอันล้นพ้นเพื่อให้เกิดการศึกษาต่อ ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม วรรณกรรม แม้กระทั่งหลักทางคณิตศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากการถอดรหัสสู่วรรณกรรมระบือโลก The Da Vinci Code ของ แดน บราวน์ ไปจนถึงล้อเลียนเป็นโปสเตอร์หนัง The Expendables 2 และแน่นอนว่าภาพภาพเดียวนี้ยังต่อยอดไปสู่การค้นคว้าเรื่องอาหารที่ผูกโยงเข้ากับศิลปวัฒนธรรมแห่งยุคสมัยได้อีกด้วย จึงพอจะกล่าวได้ว่า ภาพ The Last Supper ได้แทรกซึมเข้ามาอยู่ในการเติบโตของผู้คนไม่ว่าจะยุคสมัยไหนและอยู่มุมใดของโลก
มีผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและประวัติศาสตร์จำนวนมาก พยายามวิเคราะห์ออกมาว่าอาหารบนโต๊ะนั้น ประกอบด้วยอะไรบ้าง อันดับแรกที่ปรากฏชัดเจนคือขนมปังแบบไร้ยีสต์กับไวน์ เนื่องจากอาหารทั้งสองชนิดนี้ถูกเล่าไว้ในพระคัมภีร์ด้วย โดยพระเยซูได้แบ่งขนมปังและไวน์ให้แก่สาวกโดยเปรียบว่าขนมปังนั้นดั่งร่างของท่านส่วนการดื่มไวน์ก็ประดุจการดื่มเลือดของพระองค์ ซึ่งการเปรียบเปรยดังกล่าวเป็นที่มาของพิธีศีลมหาสนิท ที่เหล่าคริสเตียนจะต้องกินขนมปังและไวน์องุ่น เพื่อระลึกถึงคุณของพระเจ้า เป็นการยอมรับให้พระเจ้าได้สถิตย์อยู่ในกายตน
นอกจากสิ่งที่ปรากฏในภาพแล้ว ยังเชื่อกันว่ามีอาหารที่มองไม่เห็นอีกหลายอย่าง เช่น ผลไม้ท้องถิ่นที่ว่ากันว่าถิ่นพำนักของพระองค์นั้นอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะองุ่น ผลมะเดื่อ และทับทิม แต่เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิซึ่งยังไม่ใช่ฤดูเก็บเกี่ยวของมัน จึงเชื่อกันว่าน่าจะเป็นผลไม้แปรรูปในลักษณะตากแห้ง ในขณะที่นักโบราณคดีชาวอิตาลียังตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ใน The Last Supper เกิดขึ้นก่อนเทศกาลปัสกา (Passover หรือเทศกาลที่ชาวยิวระลึกถึงพระเจ้าที่ช่วยปลดปล่อยจากการเป็นทาสในอียิปต์ เมื่อ 1,500 ปีก่อนคริสตกาล) เพียงเล็กน้อย จึงเชื่อว่าน่าจะมีอาหารที่เสิร์ฟในเทศกาลปัสกาวางอยู่บนโต๊ะด้วย ซึ่งน่าจะประกอบไปด้วย สมุนไพรรสขมกับถั่วพิสตาชิโอและ ‘ชาโรเซต’ หรืออาหารที่มีส่วนผสมของอินทผลัม ถั่วชนิดต่างๆ อบเชย และไวน์แดง
ชาโรเซตอินทผลัม
อย่างไรก็ดี การบูรณะภาพวาด The Last Supper เมื่อปลายศตวรรษที่ 20 ก็ได้ปรากฏอาหารอีกชนิดที่รูปร่างคล้ายปลาไหลย่างกับส้ม แต่นักวิชาการระบุว่าไม่น่าเป็นไปได้หากเทียบเคียงกับฉากหลังในกรุงเยรูซาเล็มตามเหตุการณ์ในพระคัมภีร์ แต่น่าจะเกิดจากการแอบใส่ลงไปเองของดาวินชีเพราะมันเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมในอิตาลีช่วงศตวรรษที่ 15 และอยู่ในลิสต์จ่ายตลาดของดาวินชีเองด้วย
อิทธิพลของ The Last Supper ในงานศิลปะสมัยใหม่
เพราะ The Last Supper เป็นภาพวาดที่ทรงอิทธิพลในระดับที่มีการตีความใหม่ไม่รู้จบ ตั้งแต่การถอดโครงสร้างไปวาดในเวอร์ชันแต่ละประเทศ เช่น ที่โบสถ์ St.Nikolaus Church พัทยา ก็เปลี่ยนเป็นลายเส้นแบบไทยๆ ถ้วยชามเป็นลายเบญจรงค์ และประดับประดาด้วยผลไม้เมืองร้อน หรือที่ไต้หวันก็มีลายเส้นสไตล์จีนกับถ้วยชามอาหารแบบจีน เป็นต้น
แต่อย่างที่กล่าวไปว่า The Last Supper เป็นจุดเริ่มต้นให้ศิลปินนำไปต่อยอดอยู่เสมอ ทำให้ภาพนี้ถูกดัดแปลงเพื่อใช้ในบริบทที่ต่างกันและทำให้อาหารที่ปรากฏในภาพภาพนั้นถูกปรับเปลี่ยนไปด้วย เช่น ในหนัง Viridiana ปี 1961 ของ หลุยส์ บุนเยล ที่ชนะรางวัลปาล์มทองปีเดียวกันนั้น เล่าเรื่องของสาวน้อยแสนดีที่ย้ายเข้ามาอยู่ในแมนชั่นสุดหรูหลังจากลุงของเธอฆ่าตัวตาย และสิ่งที่เธอทำก็คืออุทิศแมนชั่นนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ทั้งหลาย จนเป็นที่มาของฉาก The Last Supper ที่บุนเยลแสดงความร้ายกาจด้วยการให้ตัวละครเร่ร่อนทั้งหลายไปนั่งแทนที่ตำแหน่งของพระเยซูและสาวก ขณะที่อาหารบนโต๊ะอันศักดิ์สิทธิ์นั้นก็แทนที่ด้วยอาหารสุดหรูดูฟุ่มเฟือย จนไม่เป็นที่พอใจของคณะวาติกันในปีที่มันออกฉายเพราะเป็นการหมิ่นศาสนา และฉากนี้ก็รุนแรงทางความรู้สึกของชาวคริสต์จำนวนมากเพราะนี่เป็นครั้งแรกของโลกภาพยนตร์ที่มีการหยิบภาพ The Last Supper มาใช้อย่างมีนัยยะทางลบ
และงานทางฝั่งเอเชียซึ่งเป็นที่ฮือฮาคือ The Last Supper ในมุมมองของศิลปินชาวจีน จงฟานจือ (ZengFanzhi) เขาหยิบองค์ประกอบของภาพต้นฉบับมาถ่ายทอดมุมมองต่อสังคมจีนยุค 80 โดยผ้าพันคอสีแดงที่เหล่าตัวละครใส่นั้นเป็นภาพแทนของกลุ่ม Young Pioneer of China หรือกลุ่มหนุ่มสาวส่วนใหญ่ของประเทศที่ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่เหมือนลูกเสือชาวบ้านแต่ทำงานให้พรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งจงฟานจือถูกปฏิเสธการเข้าร่วมขบวนการดังกล่าว ในขณะที่ตัวละครซึ่งอยู่ในตำแหน่งของยูดาสนั้นเป็นคนเดียวที่สวมผ้าพันคอสีเหลือง ซึ่งเป็นภาพแทนของระบบทุนนิยม อำนาจ และเงินตรา โดยเป็นความทรงจำของศิลปินเมื่อพบว่าในช่วงเวลานั้นหนุ่มสาวจะมีใบหน้าที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกด้านชาเหมือนๆ กัน จึงเป็นที่มาของหน้ากากอันทำให้ไม่สามารถจำแนกตัวละครได้เหมือนต้นฉบับ ทั้งทุนนิยมและคอมมิวนิสต์เข้ามาปะทะกันที่จีนในช่วงเวลาที่จงฟานจือกำลังเติบโต และเขามองว่ามันเป็นการทรยศหักหลังชาวจีนที่ตกอยู่ในอาณัติของทั้งสองระบบ ซึ่งก็คือการหยิบยืมความหมายของการหักหลังและบรรยากาศอันสับสนจาก The Last Supper ของดาวินชีมาสื่อสารในบริบทใหม่
ในภาพนี้ จงฟานจือได้เปลี่ยนอาหารบนโต๊ะให้เป็นแตงโมทั้งหมด ในแง่หนึ่งมันได้ขับเน้นสีแดงของคอมมิวนิสต์ให้โดดเด่นขึ้น ขณะเดียวกัน แตงโมก็คือเศษเสี้ยวความทรงจำอันเลวร้ายของเขาเพราะขณะนั้นฐานะทางบ้านขัดสนจนกินได้แต่แตงโมที่เป็นผลผลิตท้องถิ่นในบ้านเกิดของเขา ความลึกซึ้งของภาพนี้ทำให้มันถูกซื้อไปในราคาที่สูงถึงกว่า 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว
แม้ว่าภาพวาด The Last Supper จะอยู่ที่ผนังโบสถ์ซานตา มารีอา แดลล์ กราซี ในมิลาน มากว่า 500 ปีแล้ว แต่ด้วยอัจฉริยภาพของดาวินชี ทำให้ยังมีการค้นพบความหมายและรายละเอียดใหม่ๆ ไม่รู้จบจนถึงปัจจุบัน แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการเล่าเรื่องอันเฉียบคมด้วยภาพภาพเดียวนี้ นำไปสู่การต่อยอดเป็นคุณค่าใหม่ๆ ให้กับโลกศิลปะอย่างไม่มีวันตาย
Contributor
Recommended Articles