เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ประวัติศาสตร์รสขมของน้ำตาล เรื่องการค้าทาสในอุตสาหกรรม

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

ความขมที่ปนในความหวาน เมื่อน้ำตาลคือจุดเริ่มต้นการค้าทาสและระบบอุตสาหกรรม

จากน้ำอ้อยสู่น้ำตาล และการขนส่งความหวานไปทั่วโลก

 

 

 

 

 

 

 

ก่อนหน้าที่มนุษยชาติจะรู้จักการผลิตน้ำตาล เราใช้น้ำผึ้งเป็นเครื่องปรุงรสหวาน ส่วนความหวานจากอ้อยก็ใช้กันอย่างจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ชนชาติ และร้อยทั้งร้อยเป็นเพียงการเคี่ยวเพื่อให้ได้รสหวาน หรืออย่างมากที่สุดก็เป็นการคั้นน้ำอ้อยดื่มเท่านั้น แถมรสหวานของน้ำอ้อยเป็นรสหวานอันแสนจำกัด น้ำอ้อยเมื่อคั้นมาแล้วก็จำต้องดื่มกันสดๆ ในที่นั้น ไม่สามารถขนย้ายออกไปได้ไกลๆ เพราะน้ำอ้อยเน่าเสียง่าย

 

 

 

 

มนุษย์รู้จักกับอ้อยมานานราว 5,000 ปีแล้ว แต่จำกัดอยู่ในเฉพาะเกาะนิวกินี เอเชียอาคเนย์ และอินเดียเท่านั้น จนเมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชมาทำศึกกับอินเดียใน 2,500 ปีให้หลัง ชาวกรีกจึงมีโอกาสได้ลิ้มรสหวานของอ้อยบ้าง และบันทึกถึงพืชชนิดนี้ไว้ว่า ‘ให้น้ำผึ้งได้แม้ไม่มีตัวผึ้ง’

 

 

 

 

หลังจากนั้นอีกเกือบ 1,000 ปี จึงได้มีการคิดค้นวิธีการทำน้ำตาลทรายสีขาวขึ้นโดยแพทย์ในวิทยาลัยจันดิ ชาปูร์ แต่ก็เป็นน้ำตาลสีเข้มที่ให้รสขม เพราะยังมีกากน้ำตาลผสมอยู่ น้ำตาลในยุคนั้นจึงไม่ได้รับความนิยมมากนัก และไม่ได้อยู่ในฐานะของเครื่องปรุงที่ให้รสหวานอย่างปัจจุบัน

 

 

 

 

จนภายหลัง เมื่อเกิดการพัฒนาวิธีการทำน้ำตาลทรายให้ขาวสะอาดและมีรสหวานบริสุทธิ์ขึ้นด้วยการตกผลึก น้ำตาลทรายจึงกลายเป็นผลผลิตรสหอมหวานที่มีมูลค่าสูงลิบ

 

 

 

 

ทองคำขาว กับการปลูกความหวานบนดินแดนใหม่

 

 

 

 

 

 

 

น้ำตาลทรายเมื่อแรกผลิตได้นั้นมีมูลค่าสูงจนได้ฉายาว่าเป็นทองคำขาว วิทยาการการผลิตน้ำตาลทรายยังจำกัดอยู่เฉพาะในตะวันออกกลาง เมื่อมีการเดินทางเพื่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า ชาวยุโรปที่เพิ่งรู้จักน้ำตาลทรายก็มีความต้องการซื้อสูง แม้ว่าน้ำตาลทรายจะยังอยู่ในฐานะของยาก็ตาม

 

 

 

 

ภายหลังเมื่อชาวยุโรปรู้จักน้ำตาลมากขึ้นในฐานะเครื่องปรุงรสหวาน ก็เรียกได้ว่ายิ่งต้องการน้ำตาลทรายมากขึ้นไปอีก เพราะน้ำตาลทรายกลายเป็นเครื่องแสดงฐานะ แสดงความร่ำรวย เพราะมันเป็นอาหารที่มีราคาแพงไม่ต่างกับเครื่องเทศที่นำเข้ามาจากประเทศอื่นๆ ถึงขนาดที่ว่ามีแฟชั่น ‘ฟันผุ’ คือใครที่มีฟันดำ ฟันผุ ก็เป็นเหมือนเครื่องการันตีสถานะกลายๆ ว่ามีเงินซื้อน้ำตาลมากินได้มากจนฟันผุนั่นเอง

 

 

 

 

ในขณะที่ความนิยมของน้ำตาลเพิ่มขึ้น วิทยาการการผลิตน้ำตาล รวมถึงพื้นที่ปลูกอ้อยก็ขยับขยายมากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

 

 

 

วิทยาการการเปลี่ยนน้ำอ้อยให้เป็นน้ำตาลได้เผยแพร่ไปสู่ชาวอาหรับ และในฐานะผู้รู้เรื่องการผลิต เมื่อเดินทางย้ายถิ่น หรือกระทั่งไปค้าขายที่ไหน ชาวอาหรับก็จะเอาวิทยาการการผลิตน้ำตาลติดตัวไปด้วยเสมอ นอกจากนี้ยังมีคณะฑูตจากจีนเดินทางเข้ามาดูงาน ศึกษาเรื่องการผลิตน้ำตาลไปจากอินเดียด้วย ไม่ช้าไม่นานหลังจากนั้น ทั้งอินเดียเหนือ จีน เปอร์เซีย และอียิปต์จึงรู้จักการผลิตน้ำตาลอย่างถ้วนหน้า

 

 

 

 

นอกจากวิทยาการการผลิตน้ำตาลแล้ว สิ่งที่แพร่ออกไปไม่แพ้กันก็คือการปลูกอ้อย – อันที่จริงต้องบอกว่า อ้อยน่าจะนับได้ว่าเป็นพืชพรรณอีกชนิดหนึ่งที่แพร่หลายไปมากที่สุดทั่วโลกทีเดียว

 

 

 

 

นับตั้งแต่ที่โปรตุเกสและสเปนเริ่มล่องเรือเดินทางสำรวจหาแผ่นดินใหม่ๆ ในช่วงศตวรรษที่ 15 ก็เริ่มมีการนำอ้อยไปปลูกยังที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว อ้อยนั้นมีข้อได้เปรียบกว่าเครื่องเทศราคาแพงที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้นอย่างหนึ่งว่ามันปลูกขึ้นได้ง่าย ใช้ทุนน้อย ไม่ต้องดูแลประคบประหงมมาก เมื่อเก็บเกี่ยว (ตัด) ต้นอ้อยไปแล้ว แต่รากยังแข็งแรงดีอยู่ ไม่นานต้นอ้อยใหม่ๆ ก็จะแทงยอดออกมาเติบโตให้เก็บเกี่ยวได้อีก มันจึงเหมาะมากๆ ที่จะเป็นสินค้าเกษตร

 

 

 

 

พอถึงช่วงปลายของคริสตศตวรรษที่ 15 สเปน (คณะของโคลัมบัส) ตั้งใจจะเดินทางไปยังอินเดีย แต่ดันเดินเรือไปพบกับทวีปอเมริกาเสียก่อน จึงได้ใช้ ‘ดินแดนใหม่’ (New Land) แห่งนี้เป็นฐานที่มั่นใจการเพาะปลูกอ้อย และเริ่มตั้งโรงงานน้ำตาลขึ้นในช่วงต้นของศตวรรษที่ 16

 

 

 

 

ทางด้านโปรตุเกสก็ไม่แพ้กัน แม้ตั้งใจจะเดินทางไปยังอินเดียเหมือนกัน แต่โปรตุเกสก็ได้ไปค้นพบบราซิลและใช้ผืนดินแห่งนั้นเป็นที่ปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล ส่วนทางฝั่งอังกฤษซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเจ้าอาณานิคมแห่งยุคก็ไม่น้อยหน้า เพราะได้ปักหมุดให้เกาะจาเมกาเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลของตัวเอง และฝรั่งเศสก็เข้ายึดเกาะฮิสแปนนิโอลา (ประเทศเฮติ) ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน

 

 

 

 

จึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า น้ำตาล หรือ ‘ทองคำขาว’’ นี่แหละที่เป็นชนวนให้นานาประเทศเริ่มขยายการยึดครองอาณานิคมใหม่ๆ ในเขตอเมริกาและแคริเบียน ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติเลยทีเดียว

 

 

 

 

แรงงานผลิตน้ำตาล ความตาย และนรกบนดิน

 

 

 

 

 

 

 

(ภาพแสดงการขนส่งทาสบนเรือ)

 

 

 

 

สิ่งที่จำเป็นสำหรับการผลิตน้ำตาลไม่แพ้พื้นที่เพาะปลูก ก็คือกำลังคนเพื่อใช้เป็นแรงงานในการปลูกอ้อยและทำงานในโรงงานน้ำตาล หากแต่ว่าชาวพื้นเมืองในทุกประเทศที่ถูกยึดครองต่างถูกโรคติดต่อที่มากับนักเดินทางเล่นงานจนหมดท่า ดังนั้นนายทุนโรงงานน้ำตาลจึงต้องแก้ปัญหาเรื่องแรงงานให้ได้ และทางออกของเรื่องนี้ก็คือการซื้อทาสจากแดนไกลเข้ามาทำงาน และนี่จึงเป็นบ่อเกิดแห่งโศกนาฏกรรมขนาดใหญ่และยาวนานครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

 

 

 

 

ชนวนเริ่มต้นของการซื้อขายคนเพื่อใช้อย่างแรงงานทาส น่าจะเกิดขึ้นเพราะ ‘เฮนรี่’ นักเดินเรือชาวโปรตุเกสเดินทางตามหาแผ่นดินแห่งน้ำตาลที่ใหม่ จนมาเจอเข้ากับแอฟริกาตะวันตก และค้นพบชาติพันธุ์พื้นเมือง ผิวสีดำเข้ม รูปร่างสูงโปร่งแข็งแรง จึงได้เริ่มนำคนเหล่านั้นขึ้นเรือมาขายในฐานะของสินค้าเป็นครั้งแรก

 

 

 

 

อันที่จริงการใช้แรงงานทาสมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่านั้น และมักเป็นไปด้วยเหตุผลทางสงคราม เป็นต้นว่า เมื่อสู้รบกันจนมีฝ่ายแพ้ชนะ ผู้ชนะก็จะกวาดต้อนเชลยมาเป็นแรงงานทาส แต่การค้าทาสที่ผูกติดอยู่กับสีผิว และค้าอย่างจริงจังเป็นสินค้าที่ขนส่งกันข้ามทวีปเห็นจะเริ่มต้นมาจากความพยายามในการผลิตน้ำตาลนี่เอง

 

 

 

 

งานในไร่อ้อยและในโรงงานน้ำตาลเป็นงานหนัก จึงหาคนทำได้ยาก ประกอบกับแรงงานทาสที่ขนส่งมาจากแอฟริกามีภูมิต้านทานต่อโรคติดต่อสูงกว่าคนพื้นเมืองในประเทศอื่นๆ แรงงานทาสผิวดำจึงเป็นกำลังหลักในอุตสาหกรรมเหล่านี้ และเมืองการค้าน้ำตาลรุ่งเรืองขึ้น โรงงานน้ำตาลมีมากขึ้น ไร่อ้อยมีมากขึ้น การค้าทาสก็สูงขึ้นตามไปด้วยเป็นเงา

 

 

 

 

ไม่เพียงแต่เหล่าคนขวาเจ้าอาณานิคมเท่านั้นที่ไปกวาดต้อนแรงงานทาสขึ้นเรือ ความขัดแย้งระหว่างเผ่าก็มีส่วนเปลี่ยนให้คนกลายเป็นแรงงานทาสด้วยเช่นกัน เป็นต้นว่า เมื่อคนพื้นเมืองมีความขัดแย้งกัน ก็ต้องการอาวุธที่มีประสิทธิภาพ และเมื่อไม่มีเงินสำหรับซื้ออาวุธเหล่านั้นจากชาวยุโรป สเปน หรือโปรตุเกส นักรบในเผ่าก็เลือกใช้วิธีแลกเปลี่ยนทาสกับอาวุธเหล่านั้นแทน หรือกระทั่งว่าเมื่อมีการสู้รบระหว่างเผ่า ผู้ชนะก็ส่งผู้แพ้ให้กับคนขาวเพื่อแลกกับอาวุธ และแลกกับการปกป้องคนในกลุ่มของตนไว้ไม่ให้ต้องขึ้นเรือไปเป็นทาสในครั้งนี้

 

 

 

 

แรงงานทาสแอฟริกาเป็นที่ต้องการมาก ธุรกิจค้าทาสจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อได้รับอนุญาตจากอำนาจรัฐหรือประมุขของรัฐ (ราชวงศ์) อย่างเป็นทางการ อย่างเช่นพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 ซึ่งทรงเคยต่อต้านการใช้แรงงานทาส ก็ยังทรงเปลี่ยนพระทัยในภายหลังเพราะรสชาติอันหอมหวานของน้ำตาลนั่นเอง

 

 

 

 

การได้มาซึ่งแรงงานทาสแต่ละครั้งเต็มไปด้วยภาพน่าหดหู่ เมืองชนเผ่าพื้นเมืองขัดขืนเพราะไม่ต้องการไปเป็นทาส ก็จะมีการล่ามโซ่และขังกรงเพื่อป้องกันการขัดขืน ทาสที่ถูกต้อนมาจะถูกลำเลียงขึ้นเรือ โดยให้นอนสลับหัวท้ายเพื่อประหยัดพื้นที่ขนส่งมากที่สุด

 

 

 

 

แม้การเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจะกินเวลายาวนาน แต่ก็มีการบันทึกว่าทาสบนเรืออาจได้กินข้าวคลุกเศษอาหารเพียงวันละ 1 มื้อเท่านั้น ส่วนการขับถ่ายก็ทำกันใต้ท้องเรืออย่างสะเปะสะปะ แรงงานทาสราวเกือบครึ่งจึงเสียชีวิตก่อนได้ขึ้นฝั่งด้วยโรคติดต่อและการขาดน้ำ ขาดอาหาร ทาสผู้หญิงหลายคนถูกข่มขืน และทาสที่เสียชีวิตทั้งหมดจะถูกโยนร่างลงทะเลไปเสีย

 

 

 

 

 

 

 

(ภาพประกอบ การประทับตราบนตัวทาส และโปสเตอร์เชิญชวนให้เข้าร่วมงานประมูลทาส)

 

 

 

 

เมื่อมาถึงฝั่ง ผู้ค้าจะแบ่งแรงงานเหล่านั้นเป็นประเภท อย่างเช่นผู้หญิง เด็ก และชายหนุ่มร่างกายกำยำล่ำสั่น เพราะทาสแต่ละประเภทมีราคาและความต้องการต่างกันไป หลังจากนั้นทาสที่มีลักษณะดีก็จะถูกชำระล้างกายให้ดูดีขึ้น และ ‘ประทับตรา’ บริษัทค้าทาส เพื่อให้พร้อมขึ้นเวทีรอคนมา ‘ประมูล’ ไปเป็นสมบัติส่วนตัวต่อไป

 

 

 

 

แรงงานทาสถือเป็นสมบัติของผู้ซื้อโดยสมบูรณ์ คือผู้ซื้อสามารถใช้งาน ขายต่อ หรือแม้กระทั่งกำจัดแรงงานทาสด้วยวิธีใดก็ได้ การขายทาสต่อๆ กันในครัวเรือนและในระบบธุรกิจก็เป็นเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน ผู้ซื้อจะสอบถามว่าทาสคนนั้นๆ ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดีหรือไม่ เคยผ่านงานอะไรมาบ้าง เป็นต้น

 

 

 

 

งานในไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลยุคนั้นโหดหินกว่าที่เราจะคิดภาพออก แรงงานทาสอาจป่วยตายได้ง่ายๆ เพราะยังไม่มีวิทยาการการรักษาโรคที่ดีอย่างในปัจจุบัน แรงงานทาสในไร่จะต้องตัดและมัดอ้อยให้ได้ถึงคู่ล่ะ 4,200 ต้นต่อวัน ส่วนแรงงานในโรงงานก็จะต้องหีบอ้อยทั้งวัน หากเผลอทำหีบหนีบมือก็จะไม่ได้รับการรักษา แต่กลับถูกตัดแขนทิ้งเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ให้ทำงานต่อไป ส่วนการเปลี่ยนน้ำอ้อยให้เป็นน้ำตาล แรงงานทาสก็จะต้องอยู่กับเตาเดือดๆ ควันร้อนและไอน้ำตลอดทั้งวัน หากพลาดพลังถูกน้ำร้อนลวกหรือถูกไฟคลอกก็นับเป็นความอันตรายถึงแก่ชีวิต

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ก็เป็นแรงงานทาสผิวดำนี้เองที่มีส่วนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว บริษัทค้าทาสหลายแห่งอู้ฟู่จนเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของอังกฤษ์และยุโรปอยู่พักใหญ่ พ่อค้าได้กำไรจากการค้าทาส นายทุนได้กำไรจากการผลิตน้ำตาล ส่วนชาวยุโรปและอังกฤษก็ได้ความหอมหวานมาเติมแต่งวัฒนธรรมอาหาร จนแบ่งบานกลายเป็นวัฒนธรรมการดื่มชา กาแฟ ช็อกโกแลต เบเกอรี แยม รวมถึงการถนอมอาหารอีกหลายชนิดบนหยาดเหงื่อแรงชีวิตของแรงงานทาสทั้งหลายนี่เอง

 

 

 

 

เครื่องดื่มที่ใช้เลือดทำให้มีรสหวาน

 

 

 

 

 

 

 

(ภาพประกอบ สุนทรพจน์ของโทมัส คลาร์กสัน)

 

 

 

 

แรงงานทาสผิวดำถูกซื้อขายอย่างเฟื่องฟูถึง 400 ปี แม้จะไม่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ แต่เท่าที่มีการรวบรวมสถิติการซื้อขายของบริษัทต่างๆ ก็คาดเดาได้ว่าน่าจะมีแรงงานทาสกว่า 2 ล้านคนที่ถูกขนย้ายออกจากแอฟริกา จนได้ชื่อว่าเป็นการย้ายถิ่นฐานครั้งใหญี่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ

 

 

 

 

ในช่วงศตวรรษที่ 18 มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้มีการจัดประกวดการเขียนบทความในภาษาละตินแทบทุกปี และในปี ค.ศ.1785 ที่จัดแข่งขันด้วยหัวข้อ ‘การบังคับให้ผู้อื่นเป็นทาสเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?’ โทมัส คลาร์กสัน (Thomas Clarkson) นักวิชาการผู้มีความสามารถด้านภาษาละตินก็คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งไป

 

 

 

 

ในช่วงนั้น ผลการสำรวจพบว่าชาวอังกฤษบริโภคน้ำตาลสูงถึง 18 ปอนด์ต่อปี เรียกว่ากำลังอยู่ในช่วงที่น้ำตาลเริ่มเป็นสินค้าเข้าถึงง่าย ราคาถูกลง ชาวอังกฤษจึงกำลังหลงใหลในรสหวานของน้ำตาลกันทั่วจักรวรรดิ แต่โทมัส คลาร์กสัน ตัดสินใจว่าจะไม่หยุดข้อเขียนของเขาให้อยู่ที่การเป็นบทความเท่านั้น คลาร์กสันจึงเริ่มเดินสายบรรยายและตีพิมพ์หลักฐานถึงความโหดร้ายในการค้าทาส เผยแพร่ให้กับนักบริโภคน้ำตาลชาวอังกฤษผู้ไม่เคยรับรู้ถึงความโหดร้ายเบื้องหลังรสหวานอันโปรดปรานแม้แต่น้อย

 

 

 

 

การบรรยายของคลาร์กสันมีลักษณะเด่นที่ว่า เขาจะเหวี่ยงแส้ไปมาระหว่างการบรรยาย รวมถึงนำกุญแจมือหรือโซ่ล่ามที่ใช้กับแรงงานทาสติดตัวไปแสดงระหว่างบรรยายด้วยเสมอ ส่วนข้อเขียนที่ตีพิมพ์ก็ไม่ใช่ข้อเขียนที่เขาชนะมาจากงานประกวด แต่เป็นข้อเขียนซึ่งได้มาจากปากคำของนายแพทย์และคนเรือที่เคยรวมเดินทางมากับเรือทาส มันจึงเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความป่าเถือนที่มนุษย์ทำต่อมนุษย์ด้วยกันได้เป็นอย่างดี

 

 

 

 

คลาร์กสันเรียกกระบวนการทำน้ำตาลว่า การทำ ‘เครื่องดื่มที่ใช้เลือดทำให้มีรสหวาน’

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

(ภาพสิ่งพิมพ์และของที่ระลึกจากบริษัท East India ที่ระบุว่าไม่ได้ใช้แรงงานจากทาส)

 

 

 

 

จากการประกวดเขียนบทความในวันนั้น คลาร์กสันเปลี่ยนตัวเองให้เป็นนักรณรงค์ และการรณรงค์อย่างจริงจังของเขาก็ค่อนข้างได้ผล ชาวอังกฤษเริ่มบอยคอตน้ำตาลจากแรงงานทาส แล้วหันไปซื้อน้ำตาลจากอินเดียซึ่งรับลูกการรณรงค์ด้วยการติดป้ายไว้ชัดเจนว่าเป็นน้ำตาลที่มาจากแรงงานเสรี ไม่ใช่แรงงานทาส

 

 

 

 

หลังจากคลาร์กสันเริ่มรณรงค์ไม่นาน ก็พอดิบพอดีกับช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้มข้นขึ้นจนไม่กี่ปีหลังจากนั้น ฝรั่งเศสจึงเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายให้ทาสผิวดำทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกับคนฝรั่งเศสทุกประการ

 

 

 

 

แน่นอนว่าการได้มาซึ่งอิสรภาพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ปฏิวัติฝรั่งเศสจะสำเร็จ แรงงานทาสได้มีสิทธิเท่าเทียมกับประชาชน แต่ก็มีการก่อกบฏอีกหลายต่อหลายครั้ง ฝรั่งเศสใช้เวลาปลุกปล้ำกันเองในประเทศนับร้อยปีกว่าจะได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับแรงงานทาสผิวดำทั่วโลกที่ต้องต่อสู้กับส่งครามผิวสีต่อ ทั้งเรื่องกฎหมายและเรื่องอื่นๆ ในเชิงปฏิบัติ

 

 

 

 

คลาร์กสันใช้เวลานานกว่า 2 ทศวรรษ อังกฤษจึงเกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงกฎหมายขึ้น ท้ายที่สุดในปี ค.ศ. 1807 อังกฤษก็ผ่านกฎหมายไม่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับธุรกิจค้าทาส บริษัทค้าทาสซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เข้าสู่ภาวะฟองสบู่แตกจนทำให้นักลงทุนจำนวนมากถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว

 

 

 

 

ส่วนทางสหรัฐอเมริกาก็ได้ประกาศให้อิสรภาพกับทาสทุกคนในประเทศเช่นกัน ในปี ค.ศ.1862 แม้ว่าจะผ่านไปแล้วหลายร้อยปี ทุกวันนี้เรายังคงได้ยินข่าวคราวเรื่องการกระทบกระทั่งและการเลือกปฏิบัติที่เกิดจากสีผิวอยู่เสมอ กระบวนการทำให้คนเป็นทาสกินเวลาเพียง 400 ปี แต่กระบวนการการรื้อถอนความเชื่อเรื่องสีผิวอันบริสุทธิ์ผุดผ่องก็ยังดำเนินต่อไปจนถึงทุกวันนี้

 

 

 

 

ทาส: ประวัติศาสตร์รสขมของแรงงานผู้สร้างโลก

 

 

 

 

 

 

 

ยุคน้ำตาลถูกขนานนามไว้ว่าเป็นยุคแห่งการค้าทาส ในขณะเดียวกันมันก็กลายเป็นหมุดหมายของอิสรภาพและการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยเช่นกัน นอกจากมิติด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว ความเฟื่องฟูของการทำน้ำตาลยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรากฐานเรื่องการผลิตเหล็กในรูปแบบต่างๆ ขึ้น เพราะโรงงานน้ำตาลนับได้ว่าเป็นการผลิตอย่างอุตสาหกรรมครั้งแรกๆ ของโลก

 

 

 

 

องค์ความรู้และประสบการณ์ในการทำเหล็กแท่ง เหล็กหล่อ ส่งเสริมให้มีโรงงานผลิตเหล็กอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และการผลิตเหล็กเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมน้ำตาลนี่เองที่กลายเป็นพื้นฐานของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ จนกลายเป็นกระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรมไปทั่วโลกจวบจนปัจจุบัน

 

 

 

 

ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม รสหวานของน้ำตาลก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ เกิดระบบผลิตแบบอุตสาหกรรม และเกิดการปฏิวัติขึ้นทั้งในทางสิทธิมนุษยชนและในมิติของเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เราทั้งโลกจึงต้องยอมรับกันโดยดุษฎีว่าเราต่างได้รับผลประโยชน์จากหยาดเหงื่อ แรงงาน และชีวิตของทาสผิวดำกันทั้งสิ้น

 

 

 

 

และทุกครั้งที่ได้ลิ้มรสความหวานของน้ำตาล ก็โปรดจงอย่าลืมว่าอาหารทุกคำที่เราได้กินเข้าไปมีแรงงานอยู่เบื้องหลังเสมอ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน การจ้างงานอย่างเป็นธรรม รวมถึงสวัสดิภาพแรงงานคือสิ่งที่เราทุกคนสามารถมีส่วนในการร่วมเรียกร้อง ตรวจสอบ และขับเคลื่อนให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ต้องมีอาหารคำไหนที่ปนเปื้อนไปด้วยเลือดและน้ำตาอย่างเช่นในประวัติศาสตร์รสขมของแรงงานทาสผิวดำอีกในอนาคต

 

 

 

 

ข้อมูลและภาพประกอบจาก

 

 

 

 

 

 

 

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

 

 

 

 

Share this content

Contributor

Tags:

น้ำตาล, ประวัติศาสตร์, วัฒนธรรมอาหารรอบโลก, วัตถุดิบ

Recommended Articles

Food Storyงาขี้ม้อน สุดยอดงาไทยที่มีโอเมกา 3 และ 6 เทียบเท่าปลาทะเลน้ำลึก
งาขี้ม้อน สุดยอดงาไทยที่มีโอเมกา 3 และ 6 เทียบเท่าปลาทะเลน้ำลึก

งาขี้ม้อนอุดมด้วยคุณประโยชน์พร้อมกลิ่นหอมมันเป็นเอกลักษณ์

 

Recommended Videos