เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ชาก๊กโป๋ว หอมๆ ร้อนๆ คู่โต๊ะติ่มซำของคนเบตง

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

รู้จักกับชาท้องถิ่นเบตง ที่ไม่ว่าจะไปนั่งแต่เตี้ยมร้านไหนก็ต้องได้กิน

เบตงเป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมจีนอย่างหลากหลายและแน่นเหนียว เพราะมีชาวจีนหลายถิ่นหลายสำเนียงอพยบมาตั้งรกราก สร้างเนื้อสร้างตัวกันหลายต่อหลายรุ่น ดังนั้นในยามเช้า ร้านอาหารเช้าอย่างจีนจึงพบเห็นได้ทั่วเมือง โดยเฉพาะร้านติ่มซำหรือแต่เตี้ยมที่แน่นขนัดตั้งแต่ยังไม่รุ่งสาง แหม ก็ในเมืองหนาวที่มองเห็นหมอกได้ตลอดทั้งปีแบบนี้ อะไรจะดีกว่าการได้เติมพลังด้วยติ่มซำนึ่งใหม่ๆ ร้อนๆ ตั้งแต่เช้าตรู่ จริงไหมคะ

 

 

 

 

และในแทบทุกร้านติ่มซำที่เบตง เราก็จะได้ลิ้มรสของน้ำชาท้องถิ่นอย่าง ‘ชาก๊กโป๋ว’ ด้วย ชาก๊กโป๋วเป็นชาสีเข้ม หอมกลิ่นเก๊กฮวย และมีรสหวานติดปลายลิ้นนิดๆ โดยมีเบสเป็นชาผู้เอ๋อร์ เมื่อได้จิบเป็นครั้งแรกก็รู้สึกได้ทันทีว่าเป็นชาที่ช่วยเบรกความมันของติ่มซำได้ยอดเยี่ยม ไม่แปลกใจที่ร้านติ่มซำทุกร้านในเบตงจะมีชาก๊กโป๋วไว้ให้เทดื่มเองเป็นกาๆ เลยค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

ถ้ามองกันตามส่วนประกอบแล้ว ชาก๊กโป๋วก็คือชาเบลนด์แบบหนึ่งนี่เองค่ะ บนฉลากชาก๊กโป๋วมักปรากฎอักษรจีน 3 ตัว คือ 菊普茶 ซึ่งหมายถึงส่วนประกอบหลักของชาชนิดนี้ ได้แก่ 菊 – ดอกเก๊กฮวย และ 普 จาก 普洱 – ผู่เอ๋อร์ และ 茶 – ชา ออกเสียงเป็นสำเนียงกวางตุ้งได้ว่า ก๊กโป๋วฉา (guk pou cha) จึงเป็นที่มาของชื่อชาชนิดนี้นี่เองค่ะ

 

 

 

 

นอกจากดอกเก๊กฮวยและชาผู่เอ๋อร์แล้ว ชาก๊กโป๋วตำรับเบตงยังมีชะเอมเทศเป็นส่วนผสมสำคัญอีกอย่างหนึ่งด้วยค่ะ ซึ่งก็น่าจะเป็นชะเอมเทศนี่แหละที่ทำให้ชามีรสหวานติดปลายลิ้นอยู่หน่อยๆ เป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของชาก๊กโป๋วแบบเบตงเขาล่ะ

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากจะรสชาติดีแล้ว ส่วนผสมของเบลนด์ทั้งสามอย่างนี้ยังมีสรรพคุณที่เหมาะกับการจิบคู่ไปกับการกินติ่มซำยามเช้าเสียด้วย ชะเอมเทศมีฤทธิ์ค่อนไปทางเย็น ช่วยระบายความร้อนของร่างกาย แก้ไอ ขับเสมหะ และทำให้ชุ่มคอ เก๊กฮวยช่วยแก้กระหาย ช่วยขับลม และช่วยย่อยอาหาร ส่วนชาผู่เอ๋อร์ก็ช่วยให้รู้สึกสดชื่นและช่วยลดการดูดซึมของคลอเลสเตอรอลในลำไส้ การจับคู่ชาก๊กโป๋วกับติ่มซำจึงเป็นภูมิปัญญาที่ละเมียดและลงตัวอย่างพอดิบพอดีทีเดียว

 

 

 

 

นอกจากในเบตงแล้ว ร้านติ่มซำบางร้านในมาเลเซียก็มีชาผู่เอ๋อร์ผสมเก๊กฮวยให้บริการด้วยเช่นกันค่ะ แถมบางร้านก็เรียกว่าชาก๊กโป๋ว (Kok Poh Tea) เหมือนในเบตงเลยด้วย แต่อาจใส่หรือไม่ใส่ชะเอมเทศแล้วแต่สูตร สันนิษฐานชาก๊กโป๋วทั้งในเบตงและในมาเลเซียน่าจะเป็นวัฒนธรรมร่วมของกลุ่มชาวจีนทางตอนใต้ที่อพยบมาในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันนั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

วิธีการชงชาก๊กโป๋วควรใช้น้ำที่ร้อนจนเดือด (100 องศาเซลเซียส) แบบเดียวกับที่ชงชาผู่เออร์ทั่วไป ใส่ชาลงในป้านชา เทน้ำร้อนลงแค่พอท่วมชาแล้วรินน้ำออกก่อน เพื่อเป็นการทำความสะอาดเอาฝุ่นผงที่ติดมากับชา

 

 

 

 

 

 

 

หลังจากนั้นจึงเทน้ำร้อนลงไปในกาอีกครั้งตามปริมาณที่ต้องการ แช่ชาไว้ราว 3 นาทีก็สามารถรินเสิร์ฟร้อนๆ ได้เลยค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

ชาก๊กโป๋วนี้มีเสน่ห์ตรงที่ว่า แต่ละน้ำที่ชงออกมาเราจะได้รสชาติที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เริ่มจากชาน้ำแรกๆ ที่มีสีเข้ม จะให้กลิ่นรสของชาผู่เอ๋อร์ชัดเจน เจือกลิ่นเก๊กฮวยมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่เมื่อชงน้ำต่อๆ ไปแล้ว กลิ่นชาผู่เอ๋อจะอ่อนลง ในขณะเดียวกันกลิ่นดอกเก๊กฮวยและรสหอมหวานของชะเอมเทศก็จะโดดเด่นขึ้นมาแทน จึงเป็นชาที่ให้ทั้งความกระปรี้กระเปร่าในน้ำแรกๆ ส่วนน้ำหลังๆ ก็จะให้ความชุ่มคอชื่นใจ จึงเหมาะจะเป็นเครื่องดื่มสำหรับเริ่มต้นเช้าวันใหม่พร้อมกับติ่มซำนึ่งร้อนๆ ทุกประการ

 

 

 

 

 

 

 

ปัจจุบันชาก๊กโป๋วกลายเป็นหนึ่งในของฝากยอดนิยมจากเบตงเลยค่ะ สามารถหาซื้อได้ทั้งจากร้านยาสมุนไพร ร้านยาแผนปัจจุบัน และร้านขายของฝากทั่วไปในตัวอำเภอเบตง หรือถ้าใครยังไม่สะดวกไปเบตงก็สามารถสั่งจากร้านออนไลน์ได้เลย มีทั้งแบบที่มาในหีบห่อสวยๆ เหมาะจะมอบเป็นของขวัญ และมีทั้งแบบราคาย่อมเยาเน้นความคุ้มค่า ใครอยากลองสัมผัสบรรยากาศแต่เตี้ยมส่วนตัวลองสั่งมาชงไว้ดื่มคู่กับติ่มซำที่บ้านได้เลยนะคะ รับรองว่าคุณจะได้รายการชาสามัญประจำบ้านเพิ่มมาอีกหนึ่งชื่อแน่นอนเลย

 

 

 

 

คลิกสั่งซื้อชาก๊กโป๋วได้ที่ [aff link] https://shope.ee/5AMV08PDM6

Share this content

Contributor

Tags:

ชา, เครื่องดื่ม, เบตง

Recommended Articles

Food Storyคู่มือเครื่องดื่มในร้านอิซากายะ อ่านจบพร้อมลงสนามจริง!
คู่มือเครื่องดื่มในร้านอิซากายะ อ่านจบพร้อมลงสนามจริง!

เครื่องดื่มในร้านอิซากายะมีอะไรบ้างนะ ไปทำความรู้จักกัน จะได้ไม่ต้องยืนงงในดงขวด

 

Recommended Videos