
ละเลียดลิ้มรสชาพม่า อาหารพม่า ในร้านที่เหมือนยกโรงน้ำชาพม่ามาไว้กลางเมืองเชียงใหม่
Zinme หรือ ซินเหม่ เป็นชื่อที่ชาวพม่าในอดีตใช้เรียกเมืองเชียงใหม่ แม้ปัจจุบันชาวพม่าจะไม่ได้เรียกเมืองเชียงใหม่ด้วยชื่อนี้แล้ว แต่พี่น้องชาวพม่ากลุ่มหนึ่งที่อพยบโยกย้ายเข้ามาที่เมืองเชียงใหม่ ก็ยังใช้เป็นชื่อเรียกร้านน้ำชาแห่งนี้ที่ตั้งอยู่ในบรรยากาศเงียบสงบย่านวัตเกตุ อีกย่านน่ารักที่เราอยากชวนทุกคนมาเดินเล่นเมื่อมาแอ่วเชียงใหม่
ในช่วงเช้าของวันหนึ่ง เราแวะมาเดินเล่นย่านวัดเกตุ เพื่อฝากท้องมื้อเข้าไว้กับร้าน Zinmè Teahouse ตามคำแนะนำ (หรือคำป้ายยา) จากนักกินเจ้าถิ่นอย่าง พี่แอน-นฤมล ชมดอก แห่งเพจ Go2AskAnne

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วันเราได้ชิมชาพม่ารสเข้มข้นกลมกล่อมมาจากงาน Chiang Mai Food Festival 2025 และยังนึกในใจว่าควรได้ลองอาหารพม่าเต็มๆ มื้อที่ร้านนี้สักครั้งก่อนกลับกรุงเทพ เมื่อประจวบเหมาะกับว่าพี่แอนมีวันว่างจะพาเราตะลอนกิน เราจึงปักหมุดร้าน Zinmè Teahouse ไว้เป็นร้านแรกของวันทันที
ด้วยความที่เป็นร้านน้ำชา Zinmè Teahouse จึงเปิดตั้งแต่เช้าตรู่ กว่าเราจะพาตัวเองไปถึงร้าน หลายเมนูที่จดชื่อไว้ในใจตั้งแต่วันก่อนก็ขายหมดเกลี้ยงไปแล้ว โชคดีที่เรายังได้เจอ ฟิลิปส์ เรย์ เพื่อนชาวพม่าที่เป็นหัวแรกหลักในการออกแบบร้านน้ำชาแห่งนี้ตั้งแต่ต้น ระหว่างที่เลือกเมนูนั้น ดูเมนูนี้ เราจึงมีบทสนทนาเคล้ากลิ่นชาหอมกรุ่นมาเป็นองค์ประกอบให้มื้อเช้ามื้อนี้สมบูรณ์ขึ้นไปด้วย

ร้านน้ำชาอย่างพม่า โดยสายเลือดพ่อค้าชาพม่า
“ในอดีตร้านน้ำชาในพม่ามักจะเป็นร้านน้ำชาแบบจีน และแบบอินเดียครับ แต่หลังจากนั้น อาจจะเรียกได้ว่าหลังจากช่วงอาณานิคมแล้ว คนพม่าโดยเฉพาะในภาคกลาง ก็เริ่มรวมวัฒนธรรมชาจากจีน อินเดียและวัฒนธรรมของพม่าเราเองเข้าด้วยกัน กลายเป็นโรงน้ำชาในแบบของพม่า ที่มีทั้งอีจาโก้ย (แป้งทอดชิ้นใหญ่แบบปาท่องโก๋ – ผู้สัมภาษณ์และแปล) ซาโมซา แป้งนาน ชานม ในยุคนี้ ร้านน้ำชาหรือโรงน้ำชาจึงทำหน้าที่เป็นเหมือนศูนย์อาหารของชุมชนด้วย เมื่อใครเกิดหิว หรืออยากกินอะไรรองท้องขึ้นมา เราไม่ได้ไปร้านอาหาร แต่เราไปร้านน้ำชาแทน
“ตอนที่ผมเด็กๆ 5-6 ขวบ พ่อของผมค้าชามาก่อน เราส่งชาดำจากพม่าไปจีน ซึ่งเป็นชาตัวเดียวกับที่เราใช้ทำชานมแบบพม่านี่แหละ ทุกๆ เช้าผมก็จะได้เห็นโต๊ะในบ้านที่เต็มไปด้วยใบชา แก้วชา เพราะพ่อผมคั่วชาเองด้วย ท่านจึงต้องทดสอบรสชาติของชาทุกวัน ผมจะได้เห็นชาเป็นร้อยๆ แก้ววางอยู่ แล้วก็จะได้ชิมชาพวกนั้นกับพ่อด้วย
“นอกจากชาแล้ว พ่อก็ทำขนมอบด้วย ขนมที่เราขายอยู่ในร้านที่นี่ก็เป็นสูตรจากคุณพ่อทั้งหมด ทั้งเครื่องดื่ม อาหาร และขนมในร้านนี้จึงเป็นเหมือนรสชาติในวัยเด็กของผม ผมพยายามรักษารสชาติเดิมไว้ให้มากที่สุด แม้กระทั่งนมข้นจืด พ่อผมบอกว่าเป็นสไตล์ร้านน้ำชาในย่างกุ้ง ผมคิดว่าน่าจะเป็นช่วงปี 1970-1990 นะ”

ฟิลิปส์เล่าที่มาที่ไปของการทำร้านน้ำชา ซึ่งกลายเป็นสิ่งละอันพันละน้อยที่บรรจุประวัติศาสตร์ของเมืองและปัจเจกเข้าด้วยกันอย่างกลมกล่อม
“จริงๆ พ่อผมพูดกับผมตลอดเลยเรื่องการเปิดร้านน้ำชา คือพ่อไม่เคยอยากให้ผมทำร้านน้ำชาเลย (หัวเราะ) ตอนผมไปเรียนสถาปัตย์ฯ พ่อจึงถูกใจมากเพราะคิดว่าผมจะได้ไม่ต้องมาทำธุรกิจชาต่อจากพ่อ โดยเฉพาะร้านน้ำชาซึ่งพ่อบอกว่ามันเป็นงานที่เหนื่อยมาก
“มันอาจจะเป็นเรื่องที่ส่งต่อตามสายเลือดก็ได้นะ เพราะผมเองก็ชอบดื่มชาและชอบวัฒนธรรมร้านน้ำชามาก ตอนผมย้ายเข้าไปที่ย่างกุ้ง ช่วงที่อายุ 10-11 ปี ผมได้สัมผัสวัฒนธรรมร้านน้ำชาด้วยตัวเอง เพราะร้านน้ำชาเป็นพื้นที่ที่วัยรุ่นไปรวมตัวกัน เราคุยกันเรื่องเรียน คุยกันเรื่องงาน เวลาจะนัดกันไปที่ไหน เราก็นัดเจอกันที่ร้านน้ำชาก่อน เราทำทุกอย่างที่ร้านน้ำชาได้หมด มันเหมือนเป็นพื้นที่ทางชุมชนอย่างหนึ่ง
“มื้อเช้า มื้อเที้ยง มื้อเย็น ของว่าง จะเป็นมื้อไหนๆ เราก็ไปที่ร้านน้ำชาได้หมด ร้านน้ำชาในพม่าบางที่เปิด 24 ชั่วโมง และมีอีกหลายร้านมากๆ ที่เปิดตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงดึก กระทั่งว่าถ้ามีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอล เราก็ไปรวมตัวกันดูบอลที่ร้านน้ำชาได้ นั่นก็เป็นบรรยากาศร้านน้ำชาในความทรงจำของผมเหมือนกัน จริงๆ แล้ว ร้านน้ำชาในพม่าถือเป็นศูนย์ข่าว หรือเป็นสื่ออย่างหนึ่งได้เลย ถ้าคุณอยากรู้ว่าช่วงนี้มีอะไรเกิดขึ้นในชุมชนนั้นๆ บ้าง ร้านน้ำชาก็ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางที่ผู้คนมานั่งแลกเปลี่ยนเรื่องราวในแต่ละวันด้วย
“ผมคิดว่าถ้าเราพูดถึงวัฒนธรรมร้านชาแบบพม่า อาหารและเครื่องดื่มไม่ใช่องค์ประกอบทั้งหมด แต่เราต้องเติมความเป็นชุมชน การทำงานเพื่อสังคม และศิลปะเข้ามาด้วย สิ่งที่ทำให้ร้านน้ำชาเป็นร้านน้ำชาไม่ใช่แค่ชา แต่มันมีสิ่งอื่นด้วย อย่างที่บอกว่าในพม่า ชาเหมือนเป็นสื่อหรือเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะพาเราเชื่อมต่อกันเรื่องอื่นๆ ทั้งเรื่องสังคม ศิลปะ ธุรกิจต่างๆ

“ตอนผมเด็กมากๆ ผมจำได้ว่าในเมืองไม่ได้มีร้านเบียร์หรือผับมากนัก เราเลยมีร้านน้ำชาเป็นที่แฮงก์เอาต์ได้ตั้งแต่เช้าจนค่ำ เดี๋ยวนี้ถ้าเป็นตอนเย็นๆ คนอาจจะชอบไปแฮงก์เอาต์กันที่ร้านเบียร์มากกว่า เรียกว่าวัฒนธรรมร้านน้ำชาในแบบของผมอาจจะมีความ old school ไปบ้างแล้ว แต่ปัจจุบันในพม่าก็ยังถือว่ามีคนดื่มชาและใช้เวลาอยู่ร้านน้ำชาไม่น้อยเหมือนกัน”
ระหว่างที่คุยกันอย่างออกรส พนักงานชาวพม่านุ่งโสร่งเนี้ยบกริบก็ทะยอยยกน้ำชามาเสิร์ฟที่โต๊ะเราทีละแก้วๆ จนครบ รอบตัวเรามีลูกค้าอยู่ 3-4 โต๊ะ ซึ่งมีทั้งชาวพม่าที่มานัดพบกันแต่เช้า มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ ชวนให้รู้สึกว่าเรากำลังใช้เวลาอยู่ที่เมืองไหนสักเมืองในพม่าจริงๆ
โชเป๊ะโปมาน ธรรมดา แต่ทว่ากลับหวานน้อย
ฉันเคยไปเยือนพม่าเมื่อหลายปีก่อน แม้จะเป็นสัปดาห์สั้นๆ แต่จำได้ว่าใช้เวลากับร้านน้ำชาไปไม่น้อย และได้เห็นว่าชาวพม่าจริงจังกับการนั่งร้านน้ำชาไม่ต่างจากร้านน้ำชาทางปักษ์ใต้บ้านเรา เป็นบรรยากาศที่เทียบเคียงได้กับสภากาแฟยามเช้า หรือร้านกาแฟเก้าอี้เตี้ยตามริมถนนในเวียดนามอย่างไรอย่างนั้น
ชาวพม่าจริงจังกับการดื่มชาขนาดนี้ว่ามีคำศัพท์เรียกความเข้มข้น ความหวาน ความมันของชาแต่ละแบบ โดยที่ Zinmè Teahouse มีให้เลือกสั่งถึง 9 แบบตามความชอบ ฟิลิปส์เล่าว่า ชาแต่ละแบบเกิดจากความนิยมที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ และหากเราเงี่ยหูฟังให้ดี ชาเหล่านี้ล้วนมีเรื่องเล่าซ่อนอยู่ทั้งนั้น

“คำพวกนี้มันเป็นมันเป็นคำที่เราใช้เรียกรสชาติต่างๆ เช่น โปมาน (Pone mhan) ในภาษาไทยอาจจะเรียบได้กับคำว่าธรรมดา หรือปกติ คือเป็นชาที่มีความบาลานซ์ระหว่างความเข้ม ความหวาน และความมันเท่าๆ กัน ประมาณนี้ครับ
“จริงๆ ร้านชาทั่วไปจะมีอยู่ 4 แบบหลัก คือ จาเซ (Kya Saint) ชาเข้ม หวานน้อย โปมาน ชาธรรมดา โจเซ (Cho Saint) ชาอ่อน หวานมาก และเปาะเซ (Pot Saint) ชาอ่อน หวานน้อย ส่วนแบบอื่นๆ คือสิ่งที่เพิ่มมาจากรสนิยมของชุมชนหรือสังคมนั้นๆ
“เช่นว่า เมื่อศิลปินหรือนักเขียนสักคนอยากจะใช้เวลาอยู่ในร้านน้ำชานานๆ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น เพื่อนั่งดูผู้คนใช้ชีวิต เขาก็จะต้องการชาเข้มๆ เพื่อให้ตื่นตัวตลอด ร้านน้ำชาในพม่าก็จะมีชาใสที่เสิร์ฟฟรีทั้งวัน หรือ จ้าวปะดาว (Kyauk Pa Daung) ก็เป็นชื่อเมืองหนึ่งในภาคกลางพม่า เป็นเมืองที่ผลิตน้ำตาลได้มาก คนก็จะชอบกินหวาน จ้าวปะดาวก็จะเป็นชาค่อนข้างไปทางอ่อน แต่เน้นความหวาน เป็นสไตล์ของเมืองจ้าวปะดาว ความแตกต่างของชาแต่ละแบบก็จะสะท้อนวิถีชีวิตของคนในแต่ละเมือง แต่ละท้องที่ได้
“สิ่งที่เราไม่มีในพม่า ก็คือ โชเป๊าะโปมาน (Cho Pot Pone Mhan) เป็นชาใหม่ที่เราใส่ไว้ในเมนูของซินเหม่โดยเฉพาะ คำว่าโปมาน หมายถึงธรรมดาหรือปกติใช่ไหมครับ แต่ในประเทศไทย คนชอบสั่งเครื่องดื่มหวานน้อย เราเลยทำเมนู โชเป๊าะโปมาน หรือ ชาธรรมดาหวานน้อยขึ้นมา เพื่อให้เหมาะกับรสนิยมคนไทย ทั้งนี้มันก็สะท้อนชีวิตของเราในประเทศไทยด้วยเหมือนกัน เราย้ายจากพม่ามาที่นี่ เพื่อใช้ชีวิตปกติ แต่มันเป็นชีวิตปกติที่เราไม่ได้มีความสุขเท่าที่ควรจะเป็น ด้วยสถานการณ์ที่ประเทศเรา เราสูญเสียคนไปมาก ทั้งเพื่อนและครอบครัว เราพยายามมากๆ ที่จะใช้ชีวิตปกติที่นี่ เรามีเพื่อน เรามีธุรกิจ ได้ใช้ชีวิตปกติก็จริง แต่มันเป็นชีวิตปกติที่หวานน้อย เป็นชีวิตแบบโชเป๊าะโปมานครับ”
เรื่องเล่าพวกนี้ฟังแล้วเหมือนถูกสะกด ฉันจึงต้องยกมือสั่งโชเป๊าะโปมานมาอีก 1 แก้วโดยไม่ลังเล พร้อมๆ กับที่อาหารที่สั่งไว้อย่างวู่วามเริ่มทะยอยมาเสิร์ฟพอดี
มื้อเข้าอย่างพม่า
นอกจากชาร้อนสารพัดแบบแล้ว ที่นี่ยังมีชานมเย็น ชาซีลอน มาซาลาจาย และชาสกัดเย็นให้เลือกได้ตามชอบนะคะ ฉันยังไม่ได้ลองครบทุกเมนู แต่เท่าที่ลองมา 4-5 เมนู นับว่าถูกใจทั้งหมดค่ะ ชานมแบบร้อนก็ได้กลิ่นหอม ได้ความข้น มัน แบบต้นฉบับ ชาซีลอนกลิ่นชัด เสิร์ฟมาพร้อมกับหน้านมครีมมีหมอนมัน และชาสกัดเย็นที่เป็นชาน้ำผึ้งมะนาวก็สดชื่น ขึ้นอยู่กับว่าชอบแบบไหนและอยู่ในบรรยากาศใด ที่สำคัญคือ คนเราไม่จำเป็นต้องสั่งชาแค่แก้วเดียวในหนึ่งมื้อก็ได้นะคะ ; – )

ส่วนเมนูอาหาร จานแรกที่ฉันเห็นว่าไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง ก็คือ โมฮิงกา (Mohinga) ขนมจีนเส้นเล็กเสิร์ฟกับน้ำยาปลาแบบพม่า ฉันโปรดปรานเมนูนี้เป็นการส่วนตัวมานาน แต่ความพิเศษของโมฮิงกาที่นี่คือรสชาติน้ำยาที่ไม่ข้นคลั่ก แต่นัว กลมกล่อม กลิ่นหอมปลาชัด ในจานจะมีลูกชิ้นปลาและถั่วทอดมาด้วย แม้หน้าตาจะดูเป็นของทอดธรรมดาแต่ฉันบอกเลยว่านี่แหละค่ะที่ทำให้เมนูนี้เป็นคอมบิเนชั่นที่ครบมาก กินจนหมดชามแล้วก็ยังไม่รู้สึกเค็ม เลี่ยน หรือหนักท้องเลย ใครอยากให้อยู่ท้องขึ้นฉันแนะนำให้เพิ่มไข่ต้มซึ่งเป็นสูตรพิเศษของร้านไปด้วยค่ะ อร่อยมาก!

อีกเมนูยอดนิยมคือ นานจีโต๊ะ (Nan Gyi Thoke) หรือยำขนมจีน จะเป็นขนมจีนเส้นอวบอ้วนที่คลุกมากับซอสมันนัวซึ่งทำมาจากผงถั่วลูกไก่และไข่ และซุปใส จานนี้เส้นขนมจีนหนึบเด้งเคี้ยวเพลิน รสชาติกลมกล่อม สายเส้นต้องถูกใจแน่นอน

ถ้าใครชอบแป้งจี่ แป้งทอด ที่ร้านก็มีเมนูให้จับคู่กับ แป้งนาน (Naan Bread) และแป้งจาปาตี (Chapati) และ อีจาโก้ย (E Kyar Kway) หรือปาท่องโก๋พม่าได้ จะจับคู่บรรดาแกงต่างๆ อย่างแกงกะหรี่มันฝรั่ง แกงเนื้อ แกงถั่ว


หรือถ้ามองหาของหวานๆ กินเล่น ฉันแนะนำให้สั่ง นมมาไล (Noh Malai) หน้านมที่ผ่านการต้มมาจนข้นเป็นครีม หอมมัน หวานกลมกล่อม ทั้งหมดนี้สามารถจับคู่ไขว้กันได้หมด เรียกว่าครีเอตอาหารเช้าได้เป็นสิบๆ แบบตามแต่จะปรารถนาเลยค่ะ


เมนูบังคับอีกจานที่ฉันต้องสั่งทุกครั้งเมื่อไปร้านอาหารพม่า ก็คือ ยำใบชา หรือ ละเพ็ตโตะ (Laphet Thoke) ยำใบชาหมักกับสารพัดเครื่อง ทั้งผักสด กุ้งแห้ง กระเทียม พริกสด และถั่วกรุบกรอบ จานนี้กินง่ายครบรสรับรองว่าถูกปากคนไทย เหมาะกับการเติมคาเฟอีนสำหรับสายกินจุกจิก นั่งกินเพลินๆ แป๊บเดียวหมดจานเอาได้ง่ายๆ เลยละค่ะ

น่าเสียดายที่เช้าวันนั้นเรายังมีจุดหมายตระเวนกินกันอีกหลายร้าน ไม่อย่างนั้นคงได้นั่งลอยชายกันได้ถึงบ่าย เอาเป็นว่าใครมีโอกาสได้แวะไปย่านวัดเกตุก็แวะไปเติมคาเฟอีนให้หายคิดถึงพม่ากันได้นะคะ ร้านสวย อาหารอร่อย ราคาน่ารักจับต้องได้ รับประกันโดยทีม KRUA.CO (ที่มีเจ้าถิ่นแนะนำมาอีกที) ค่า

Zinme Teahouse
สาขาวัดเกต
Facebook : Zinmè Teahouse
พิกัด : ถนนเจริญราษฎร์ ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (ตึกเดียวกับร้านเสื้อผ้า Nussara)
Google Map : https://maps.app.goo.gl/pgLaUfN1kXmxbSB49
เวลาเปิด-ปิด : 07:00-16:00 (ทุกวัน)
สาขาวัดอุโมงค์
Facebook : Zinme Teahouse Umong
พิกัด : ซอย 4 วัดอุโมงค์ ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัด (หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนถึงวัดอุโมงค์)
Google Map : https://maps.app.goo.gl/ns3zvEjCLh8f9kxg8
เวลาเปิด-ปิด : 07:00-20:00 (ปิดวันจันทร์)
ภาพประกอบโดย ปาริชาติ เที่ยงกินรี
Contributor
Tags:
Recommended Articles
Recommended Videos