เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

Locall ฟู้ดเดลิเวอรีที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

บริการส่งอาหารน้องใหม่จากย่านประตูผี ที่ส่งอาหารจากชุมชน เพื่อชุมชน

หลายคนบอกว่าโรคระบาดคือสิ่งที่ทำให้ทุกคนรู้ว่าเราต่างเดือดเนื้อร้อนใจโดยเท่าเทียมกัน แต่อันที่จริงแล้ว โรคระบาดคือสิ่งที่ตอกย้ำความไม่เท่าเทียมในสังคมนี้ต่างหาก

 

ถ้าความทุกข์ร้อนของเราคือความเบื่อหน่ายที่ไม่ได้ออกจากบ้านไปไหน ไม่รู้จะดูซีรีส์เรื่องอะไร หรือไม่รู้จะกินอะไรดี ขอให้รู้ว่าเราคือคนโชคดี ที่ไม่ต้องกังวลว่ากำลังจะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน กำลังจะไม่มีไฟฟ้าใช้เพราะโดนตัดไฟ และกำลังจะไม่มีอะไรกินในมื้อต่อไป

 

หากว่ากันตามตรงแล้ว โรคระบาดในครั้งนี้คือสิ่งที่ชี้ให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำในประเทศของเรานั้นกว้างกว่าที่คิด และมันจะถูกถ่างให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ หากสถานการณ์และระบบเศรษฐกิจยังไม่มีวี่แววว่าจะกระเตื้องไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกับคนหาเช้ากินค่ำที่ต้องทำมาค้าขายให้ได้เงินกันวันต่อวัน

 

เมื่อธุรกิจอาหารถูกจำกัดด้วยข้อปฏิบัติบางประการ คนอยู่บ้านมากขึ้น ลูกค้าที่เคยเดินมาซื้อถึงหน้าร้านก็ลดลงอย่างน่าใจหาย ร้านรวงที่ยังมีบริการเดลิเวอรีอาจยังหายใจโล่งบ้างเมื่อหนทางทำเงินยังพอมี แต่กับร้านเล็กๆ ของคุณลุงคุณป้าที่ก้าวตามไม่ทันเทคโนโลยี โรคระบาดครั้งนี้คือความเดือดร้อนครั้งใหญ่ นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Locall บริการส่งอาหารน้องใหม่แห่งย่านประตูผี เสาชิงช้า เกิดขึ้นมาจากการวางแผนและทดลองระบบในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์

 

 

รู้จัก Locall

 

สำหรับคนที่คุ้นเคยกับบริการรับส่งอาหารอื่นๆ Locall อาจเป็นฟู้ดเดลิเวอรีที่ค่อนข้างแปลกอยู่สักหน่อย ข้อแรกคือ Locall เลือกส่งอาหารจากร้านในพื้นที่จำกัด คือเน้นร้านในชุมชนประตูผี – เสาชิงช้าเท่านั้น และขณะนี้ยังมีบริการส่งในพื้นที่จำกัดอยู่ที่ 16 เขต คือยานนาวา สาทร บางรัก ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบฯ พระนคร ดุสิต บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ธนบุรี คลองสาน และบางคอแหลม

 

ความแตกต่างประการที่สองคือ Locall กำหนดให้สั่งอาหารขั้นต่ำที่ 300 บาท เรียกได้ว่าสั่งทีหนึ่งสามารถกินได้ทั้งครอบครัว แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะใน 300 บาทนี้ เราสามารถเลือกสั่งจากร้านอาหารในรายชื่อนับสิบๆ ร้าน แถมยังสั่งกี่ร้าน กี่รายการก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านเด็ดร้านดังอย่าง มนต์นมสด, ข้าวเหนียวมะม่วง ก.พานิช, เทียนซ้งเป็ดย่าง, ผัดไทยลุงพาประตูผี, อู๋เย็นตาโฟ, วรารัตน์บ๊ะจ่าง หรือจะเป็นร้านเล็กแต่เก๋า ขวัญใจคนในท้องที่ อย่างเจ้ยุ้ยเผือกทอด บัวลอยสมหวัง, ขนมอร่อยๆ จากตี๋หงส์หยก โฮมเมด, หรือตามสั่งประจำซอยอย่าง ร้าน 24/9 และร้านป้าสามสาว แน่นอนว่ารายชื่อที่ร่ายยาวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

 

 

เทียนซ้ง เป็ดย่างเจ้าดังแห่งย่าน

 

 

 

เบื้องหลังความอร่อยจากร้านป้าสามสาว

 

 

ความแตกต่างประการที่สามคือ เมื่อเราสั่งอาหารผ่าน Locall เราจะได้คุยกับ คน คน และคน เนื่องจาก Locall มีระบบหลังบ้านที่จัดการด้วยพลังของเด็กรุ่นใหม่ไฟแรงทั้งหมด ดังนั้นแล้วข้อความที่ตอบกลับมาในไลน์ระหว่างสั่งอาหารจึงเป็นข้อความจากคนแทบทั้งหมด ไม่มีแช็ตบอตหรือ AI มาคอยตอบ พร้อมมีโพสต์อิตและข้อความน่ารักๆ แนบไปกับทุกออร์เดอร์ เป็นหลักฐานว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความอร่อยเหล่านี้ก็คือชีวิตชีวาและคำขอบคุณจากย่านที่ไม่ได้ผ่านโรบอตตัวใด ดังนั้นแล้ว หากจะสั่งรายละเอียดยิบย่อยอย่างเช่น จานนี้ไม่ใส่กระเทียม ส่วนจานโน้นขอเผือกทอดเยอะกว่าเต้าหู้ทอด ก็ย่อมจะทำได้เหมือนกัน

 

เหตุผลที่ทำให้ Locall เป็นบริการส่งอาหารที่มีความจำเพาะเจาะจงเช่นนี้ ก็เพราะว่าระบบของ Locall คือระบบที่ออกแบบมาโดยไม่ยอมทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว

 

 

Locall เพราะเราและชุมชนจะรอดไปด้วยกัน

 

Locall หรือ โลคอล คือบริการ Food Delivery ที่เกิดขึ้นภายใต้การทำงานของกลุ่ม SATARANA เครือข่ายธุรกิจที่ตั้งธงไว้ว่าจะพาชุมชนรอบข้างให้ก้าวไปด้วยกัน ไม่ว่าจะทำกิจการไหน

 

หลายคนอาจคุ้นตากับป้ายรถเมล์ดีไซน์สวย อ่านง่าย ที่พบเห็นได้ตามป้ายรถประจำทางทั่วกรุงเทพ นั่นเป็นผลงานจากลุ่ม MAYDAY จากร่มหลังคาของ SATARANA เช่นเดียวกัน หรือหากใครเป็นขาประจำย่านประตูผีก็ย่อมจะต้องผ่านหูผ่านตาชื่อของ Once Again Hostel โฮสเทลดีไซน์สวยที่กลมกลืนกับชุมชนสำราญราษฎร์ด้วยการเลือกใช้บริการของร้านรวงในชุมชนเพื่อให้ทุกคนได้เติบโตไปพร้อมกัน

 

วิกฤติโรคระบาดใหญ่แห่งปี 2020 ส่งผลกระทบกับทุกคนถ้วนหน้า ย่านที่เคยคึกคักด้วยนักชิมและนักท่องเที่ยวเริ่มเงียบเหงา ร้านรวงทยอยปิดตัวลง กระทั่งกับ Once Again Hostel ก็จำเป็นต้องพักมือก่อนชั่วคราว พร้อมกับการแบกรับพนักงานเก่าใหม่ในมือไว้อีกหลายชีวิต

 

 

“เรามองว่า ในพื้นที่ของเรา ประตูผี เสาชิงช้า หรือในซอยเดียวกับโฮสเทลเรา มันเคยคึกคักกว่านี้ เคยมีลูกค้ามากกว่านี้ แต่ตอนนี้มันเงียบมาก ๆ เราก็เลยคิดว่าการที่เราทำ Delivery เพื่อช่วยคนในย่านที่เราอยู่ มันน่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด และเราก็จะได้รอดไปด้วยกันด้วย”

 

สต๊าฟคนหนึ่งจากทีม Locall ซึ่งเมื่อสามสัปดาห์ที่แล้วเธอทำหน้าที่เป็นฟรอนต์คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวประจำอยู่ที่ Once Again Hostel เริ่มต้นเล่าให้เราฟังหลังจากเคลียร์งานเดลิเวอรีของวันจบลงในเวลาเกือบสองทุ่ม

 

“เรามีเวลาปรับตัวและวางแผนกันไม่มาก แต่สิ่งที่เราคิดว่าเราน่าจะทำได้ แล้วก็ดีต่อทุกฝ่ายมากที่สุด มีประโยชน์ที่สุด ก็คือด้านเดลิเวอรี เพราะถ้าสมมติว่าเราทำอย่างอื่นไปและอยู่รอดในวิกฤตินี้แล้ว สุดท้ายพอหมดช่วงโควิด เรากลับมาเป็นโฮสเทลอีกครั้ง แต่ร้านรอบ ๆ เราตายไป มันก็ไม่โอเคสำหรับทั้งเราและก็ทุกๆ คนด้วย”

 

“คือมันไม่ใช่ทุกร้านที่จู่ๆ จะกระโดดเข้ามาทำออนไลน์ ทำ Delivery ได้เลย” สต๊าฟอีกคนในทีมกล่าวขึ้นมา และเราเห็นด้วยมากๆ

 

“ปกติเขาขายได้ผ่านหน้าร้าน แต่ทุกวันนี้มันทำไม่ได้เพราะคนไม่ออกจากบ้าน คน work from home แล้วเขาไม่มีทางเลือกอื่น เราเลือกไปดึงร้านเหล่านั้นมา แล้วเราก็เป็นตัวกลางระหว่างร้านค้ากับลูกค้า นอกเหนือไปจากนั้นคือเรายังได้ช่วยคนในพื้นที่ อย่างพี่วินมอเตอร์ไซค์รอบๆ โฮสเทลเรา เขาก็ขาดรายได้เหมือนกัน เพราะว่าพอคนไม่ออกจากบ้าน เขาก็ไม่ได้ใช้วินมอเตอร์ไซค์ เราก็เลยให้เขามาเป็น biker สำหรับส่งอาหารให้เราด้วย เราอยากให้ทุกคนได้ผลประโยชน์ร่วมกัน โดยที่เราอยู่ตรงกลาง”

 

 

ด้วยเงื่อนไขทั้งหมดเหล่านี้ Locall จึงเกิดขึ้นโดยมีความรอมชอมเป็นสำคัญ ร้านค้าเก่าแก่ดั้งเดิมไม่จำเป็นจะต้องทำความรู้จักกับเทคโนโลยีที่ไวเกินกว่าโทรศัพท์ไร้อินเทอร์เน็ตจะเข้าถึง คนวิ่งส่งอาหารไม่จำเป็นจะต้องซื้อโทรศัพท์ใหม่เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ส่วนผู้ใช้บริการก็สามารถเลือกสั่งอาหารได้ทีละหลายร้าน แถมยังเลือกสั่งจานเด็ดจากร้านเล็กๆ ที่ไม่ยอมปรากฏตัวในแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน

 

มากคน มากความ (หมาย)

 

ทันทีที่เรามองเห็นเงื่อนไขยิบย่อยในการรวมร้านเล็กร้านใหญ่นับสิบร้านเข้ามาสู่ระบบเดียวกัน เราค่อนข้างมั่นใจว่านี่น่าจะไม่ใช่งานง่าย เพราะอีกนัยหนึ่งของการรอมชอม ก็คือการรวมเอาคนหลายๆ คนเข้าด้วยกัน และแน่นอนว่าเมื่อมากคนก็ย่อมจะมากความไปตามวิสัย

 

Locall เลือกใช้ส่วนล็อบบี้ของ Once Again Hostel เป็นพื้นที่กลาง หรือที่ทีมเรียกว่า Delivery Hub เป็นจุดที่อาหารจากทุกร้านจะถูกส่งมารวมกัน หลังจากนั้นทุกคนในทีมจะแปลงร่างเป็นมนุษย์พันมือ จัดเรียงออร์เดอร์จากร้านต่างๆ ลงถุงใบใหญ่แยกตามชื่อผู้รับ แล้วส่งต่อให้พี่ๆ วินมอเตอร์ไซค์หรือไรเดอร์คนอื่นๆ ได้ทำหน้าลำเลียงความอร่อยให้ถึงมือผู้สั่งอย่างสวัสดิภาพ

 

ส่งอาหารมาจะสามสัปดาห์แล้ว มีปัญหาอะไรบ้างไหม – เราถาม

 

“ถามว่าไม่มีปัญหาอะไรบ้างจะดีกว่า” หนึ่งคนในทีมตอบ ทำเอาที่เหลือปล่อยขำกันก๊ากใหญ่

 

“มีปัญหาทุกอย่าง มีปัญหาทุกวัน คือด้วยความที่เราให้ซื้ออะไรก็ได้ทั้งย่าน เวลาออร์เดอร์มาก็จะกระจายมากเลย บางร้านที่เขามาส่งให้เราที่นี่ไม่ได้ เราก็ต้องวิ่งไปรับของเอง ต้องแบ่งคนในทีมเราออกไปเป็นรันเนอร์ ไปรับอาหารมาที่นี่ด้วย

 

“มันมีปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเลยที่เราจะต้องแก้กันไปออร์เดอร์ต่อออร์เดอร์ หรืออย่างเรื่องพี่ๆ คนส่งอาหาร เรายังจัดการได้ยากพอสมควร ด้วยความที่คนขับเราคือวินมอเตอร์ไซค์ธรรมดาๆ เลย โทรศัพท์ไม่มีอินเทอร์เน็ตบ้าง โทรศัพท์จะพังแล้วบ้าง (หัวเราะ) คือบางคนเขาจะจำซอย จำถนนได้ แต่เขาดู Google Map ไม่ได้ ดังนั้นเราก็มีหน้าที่ที่จะต้องปรับจูนระหว่างกันไปว่าอันไหนได้อันไหนไม่ได้”

 

 

เดาว่าเดลิเวอรีแมนน่าจะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องเรียนรู้กันต่ออีกมาก เพราะเมื่อเราคุยกันมาถึงเรื่องนี้ทุกคนในทีมต่างพยักหน้ากันหงึกหงัก แต่ทุกความยุ่งยากเหล่านั้นล้วนมีเงื่อนไขหนักแน่นพอที่จะต้องยอมเรียนรู้กันและกันใหม่ตั้งแต่ต้น

 

“เราแค่อยากสนับสนุนคนในพื้นที่ อยากให้เขามีงานทำ มีรายได้ในช่วงนี้  แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดมาตั้งแต่แรก เราไม่ได้กำหนดว่าต้องมีคุณสมบัติแบบนี้ๆ อยู่แล้วถึงจะสมัครได้ เราไม่ได้มีสัญญา ไม่ได้มีอะไรสักอย่าง เหมือนว่า พอรู้เส้นทาง อยากทำงาน อยากมีเงินไปจ่ายค่าข้าววันนี้ เราก็ยินดีรับเลย เพราะเราอยากให้ทุกคนรอดไปด้วยกันจริงๆ” สต๊าฟในทีมอีกคนเสริมขึ้น ทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่ Locall ทำอยู่ คือการยอมเสียความสะดวกและลื่นไหลของงาน เพื่อแลกกับการจับมือให้ทุกคนในชุมชนได้เดินต่อไปด้วยกัน

 

“คือจริงๆ มันยากมาตั้งแต่เริ่มต้นเลย มันเป็นเรื่องยากมากที่เราจะคุยกับร้านอาหารซึ่งเจ้าของเป็นคนสูงอายุ แล้วก็ไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับการบริการแบบเดลิเวอรี”

 

แล้วเข้าไปคุยกับเขาแบบไหน เราเริ่มสงสัย

 

“ก็เข้าไปยกมือไหว้ (หัวเราะ) คือต้องใช้ภาษาที่ง่ายที่สุดเลย ให้เข้าใจได้เลย สวัสดีครับ ช่วงนี้เป็นไงบ้างครับพี่ ช่วงนี้ขายดีไหมป้า ผมกำลังจะทำบริการส่งอาหารแบบนี้ๆ อุดหนุนกันเท่าที่เราทำได้ ต้องไปคุยกับเขาเอง ทุกร้าน ทุกคน”

 

“ตอนนั้นพวกเราเข้าไปคุย เข้าไปถามความสมัครใจ บอกว่าเรากำลังจะทำบริการแบบนี้ เพื่อช่วยเหลือร้านค้าในชุมชน บางร้านเขาก็บอกว่า ทำอะไรทำเลย ไม่เอาด้วยล่ะ อ้าว (หัวเราะ)”

 

ทีม Locall เกือบทั้งทีมเป็นวัยที่เพิ่งพ้นจากรั้วมหาวิทยาลัยมาเพียงไม่กี่ปี การติดต่อกับเจ้าของร้านรุ่นเก๋าจึงเป็นอีกงานที่หนักไม่แพ้การดีลกับไรเดอร์ส่งอาหาร

 

แล้วเขาไปใจอ่อนตอนไหน เราถามต่อ

 

“ก็ไม่ใจอ่อนอ่ะค่ะ ทุกวันนี้เราก็ยังต้องเดินไปซื้อเป็นถุงๆ อยู่ (หัวเราะ) สุดท้ายเลยคือเราบอกเขาว่า ลุงไม่ต้องทำอะไรเลยค่ะ เดี๋ยวหนูโทรมาสั่ง ลุงเตรียมข้าวไว้ หนูมาจ่ายเงิน มาเอาของเอง เหมือนหนูมาซื้อปกติเลย ก็ต้องปรับตัวตามเงื่อนไขของคุณลุงคุณป้าด้วย เพราะอย่างที่บอกว่าไม่ใช่ทุกร้านที่พร้อมจะกระโดดเข้ามาในโลกออนไลน์เลย”

 

 

บทสนทนาหลังเลิกงานเริ่มเข้มข้นขึ้นเมื่อเราได้คุยกันถึงจุดเริ่มต้น แม้จะ Locall จะเพิ่งรันระบบมาไม่นาน แต่การเริ่มต้นจากศูนย์ย่อมทำให้ทุกคนมีเรื่องเล่ามากมาย สต๊าฟแต่ละคนเล่าถึงมุมมองปัญหาแบบแทบไม่ซ้ำกัน ปัญหาบางอย่างแก้ไขได้ แต่ต้องยอมรับว่าบางปัญหาก็ต้องโบกมือลากันตั้งแต่เริ่มต้น

 

“มันน่าเศร้าตรงที่ว่า ช่วงที่เรากำลังจะเปิดตัวแล้ว แต่บางร้านเขาต้องปิดร้านไปก่อนเพราะว่าเขาไม่มีเงินจะจ่ายพนักงานจริงๆ แล้วเขาไม่รู้ว่าความน่าเชื่อถือของเรามีมากน้อยขนาดไหน นึกออกไหมครับว่าเราเป็นใครก็ไม่รู้ อยู่ดีๆ เราก็บอกว่าเราจะไปทำอันนี้นะ บางร้านก็ปฏิเสธมาเลย บอกว่าคนที่คิดจะทำแบบนี้ก็เคยมีอยู่เหมือนกัน แต่ว่าตอนนี้ก็เจ๊งแล้วแหละ คือมันก็ยาก”

 

“แต่เราว่ามันไม่ผิดที่เขาจะคิดแบบนั้นนะ” อีกคนในทีมเสริมขึ้น ดูคล้ายกับว่านี่จะเป็นการสื่อสารกันระหว่างคนทำงานมากกว่าจะตอบบทสัมภาษณ์นี้ เพราะทุกคนในทีมเลือกมองหน้ากันและกันมากกว่าจะมองหน้าคนถาม

 

“เพราะเหมือนเราเริ่มจากการไม่มีอะไรเลยจริงๆ ร้านที่ยอมร่วมกับเราเราก็ขอบคุณมากๆ จริงๆ มันมองได้หลายมุม แต่ตอนนี้พูดได้เลยว่าโดยรวมคือร้านแฮปปี้กันมากขึ้นมาก และเขาเข้าใจแล้วว่าเราทำงานกันยังไงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้

 

“เรารู้สึกว่ามันท้าทายดีนะ คือการที่เราต้องมาทำสิ่งนี้มันคือการฝึกตัวเองมากๆ ในการเข้าไปคุยกับเขาแล้วก็ทำยังไงให้เขาเข้าใจในสิ่งที่เราทำอยู่ ซึ่งมันใหม่เกินยุคของเขาไปมากแล้ว แต่เราคิดว่า ด้วยความที่สถานการณ์มันเป็นแบบนี้ กำแพงกั้นหลายๆ อย่างมันก็น้อยลง  เขาก็แฮปปี้ อยากให้ความร่วมมือกับเรา

 

“จากร้านที่เขาไม่เคยมีความคิดจะเข้าระบบออนไลน์อะไรเลย แล้วการเข้าไปของเราเราไม่ได้เข้าไปเพื่อขายอย่างเดียว เราเข้าไปเพื่อบอกเขาว่าเราจะช่วยอะไรเขาได้ แล้วเขาจะช่วยอะไรเราได้เหมือนกัน คือทำให้เขารู้สึกว่าในวิกฤตินี้เขายังทำอะไรได้ เรายังทำอะไรได้ แล้วเราพึ่งพากันได้อย่างไร”

 

“ใช่ๆ เหมือนพอเราทำไปบ่อยๆ เขาขายดีขึ้น เขาเริ่มเข้าใจแล้วว่า อ๋อ เด็กพวกนี้มันทำแบบนี้ แล้วก็เอาไปส่งต่อให้ลูกค้าคนอื่นที่เขาอยากกินแต่เขามาซื้อเองไม่ได้ รู้สึกว่าร้านให้ความร่วมมือกันดีมาก ขออะไรได้หมด จากเดิมเราพยายามขอให้ร้านไม่ใส่ถุงมา บอกเขาว่า ไม่เป็นไรค่ะ เราไม่ได้ใช้ถุงพลาสติก ตอนแรกๆ เขาก็ไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้แทบทุกร้านจะถือตะกร้า ถือถาดมาส่งของให้เรา บางทีมาใส่ลังน้ำแข็งมาก็มีเหมือนกัน น่ารักมาก”

 

 

“ตอนนี้เดินไปซื้อของหน้าปากซอยนี่พ่อค้าแม่ค้ายิ้มทุกร้าน พวกเราเดินไหว้เป็น สส. เลย (ยิ้ม)”

 

ความเข้มข้นของเรื่องเล่าในตอนต้นถูกส่งท้ายด้วยรอยยิ้ม เป็นรอยยิ้มที่เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของทุกคนในย่าน และเป็นรอยยิ้มซึ่งบอกเราว่า “มากคนก็มากความ” ที่พูดกันเสมอนั้นเป็นเรื่องจริงอยู่ แต่เหนือไปจากปัญหายิบย่อยเหล่านั้นแล้ว การมีกันมากคนก็ย่อมเป็นการสร้างความหมายใหม่ให้กับกันและกัน และนั่นเป็นเรื่องที่คุ้มค่าเสมอ

 

Save you, Save Locals

 

เซอร์ไพรส์เล็กๆ ที่ Locall เลือกใช้ความเรียบง่ายส่งต่อคำขอบคุณจากคนในย่านให้กับผู้ใช้บริการทุกคน คือกระดาษโพสต์อิตธรรมดาๆ ที่เขียนข้อความด้วยลายมือทีละแผ่นๆ คือสิ่งที่ทำให้คนรับอาหารอิ่มทั้งท้องและอิ่มทั้งใจ กลายเป็นซิกเนเจอร์ที่ทำให้ Locall ถูกจดจำในรูปแบบของอาหารที่มาพร้อมกับรอยยิ้มไปด้วย

 

“คือตอนนี้เรารู้สึกว่าสถานการณ์บ้านเมืองมันแย่มาก เราอยากเป็นคนที่มอบความรู้สึกดีๆ ให้คนอื่นได้บ้าง ถึงโลกนี้มันจะแย่มากขนาดไหน แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างโพสต์อิตหนึ่งแผ่นก็อาจจะช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้นได้ อย่างสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านไป เราส่งดอกกล้วยไม้กับการ์ดกระดาษเล็กๆ สุขสันต์วันสงกรานต์แนบไปกับถุงใส่อาหารด้วย ลูกค้าพอรับไปก็เหมือนเขาไม่ได้คิดว่าจะได้อะไรแบบนี้ เกือบทุกคนถ่ายรูปแล้วก็ส่งกลับมาขอบคุณ บอกว่าน่ารักจัง ทำให้เขามีความสุข เราก็มีความสุขเหมือนกัน”

 

 

Good vibes ที่ถูกส่งต่อไปยังคนอื่นๆ เช่นนี้ ก็ไม่ได้มาจากที่ไหนอื่นไกล เพราะมันเป็นการสรุปเอาสิ่งดีๆ ที่ Locall ได้รับจากคนในชุมชนจากการเริ่มต้นทำบริการเดลิเวอรีครั้งนี้นั่นเอง

 

“ยกตัวอย่างอย่างร้านค้าเรามีเยอะ มีร้านที่ขายของคล้ายๆ กัน อย่างมีร้านหนึ่งที่ขายทั้งซาลาเปา ขนมจีบ แล้วก็บ๊ะจ่างด้วย แต่บ๊ะจ่างเรามีร้านหนึ่งที่ขายอยู่แล้ว ตอนเราไปคุยกับเขา เราก็ยังไม่ทันได้บอกเลยนะว่าเราขายบ๊ะจ่างอยู่แล้ว เขาบอกว่าผมเห็นว่าคุณมีบ๊ะจ่างของเจ้านั้นแล้ว ถ้าจะติดต่อร้านผมไปคุณไม่ต้องเอาบ๊ะจ่างผมไปขายก็ได้ มันจะได้ไม่ทับไลน์กัน เรายินดีที่จะขายแค่ขนมจีบกับซาลาเปาก็พอ คือเขาก็มองเห็นความลำบากของกันและกัน มันคือน้ำใจที่เรามีให้กัน เพื่อให้เรารอดไปด้วยกันทั้งหมด” สต๊าฟคนหนึ่งในทีมเล่าด้วยรอยยิ้ม และเพื่อนอีกคนหนึ่งก็ยืนยันในแบบเดียวกัน

 

“หรืออย่างมีร้านก๋วยเตี๋ยวที่เราไปคุยด้วย ตอนแรกเขาก็บอกเราตรงๆ เลยนะว่าร้านเขายังพอขายได้อยู่ ไปช่วยร้านอื่นก่อนก็ได้ ก็คือยินดีจะร่วมมือกัน แต่ถ้ามันต้องเลือกช่วยจริงๆ เขาอยากให้เราไปช่วยร้านเล็กก่อน เพราะเขายังพออยู่ได้บ้าง มันคือความเป็นคนในชุมชนเดียวกัน”

 

ทีม Locall เริ่มต้นด้วยการเป็นเด็กที่เติบโตและใช้ชีวิตในพื้นที่อื่น แต่เข้ามาทำงานในชุมชนประตูผี-เสาชิงช้า จากเดิมที่ Once Again Hostel เป็นเพียงที่ทำงาน ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่า การได้ทำงานร่วมกันกับทุกๆ ร้าน พาให้พวกเขาและพวกเธอเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้อย่างแท้จริง

 

“เรารู้สึกว่าพวกเราไม่ได้เข้าไปช่วยชุมชน เพราะทุกคนที่นี่คุยสนุกมาก เขาปฏิบัติต่อเราเหมือนเราเป็นลูกหลานคนหนึ่ง แล้วก็มีความห่วงใยให้เรา พอเราไปเอาอาหาร ไปสั่งอาหารที่ร้านเขา เขาก็จะมีของแถม หนูเอาอันนี้ไปกินสิลูก จนตอนนี้โต๊ะเราเต็มไปด้วยอาหารฟรีจากทุกร้าน (หัวเราะ) มีคุณลุงคุณป้าเอาผัดหอยลายมาสวัสดีปีใหม่ไทย มันรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนนี้มากๆ”

 

 

ก่อนบทสนทนาในยามดึกจะจบลง และทุกคนจะแยกย้ายกันกลับไปพักผ่อนที่บ้าน Locall ได้พูดถึงสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ พวกเขาทั้งทีมยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เวทมนตร์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีเฉพาะย่านนี้ แต่เป็นสิ่งล้ำค่าที่ไม่ว่าชุมชนไหนก็มีอยู่ เพียงแต่มันยังไม่ถูกไขลานให้รอยยิ้มได้เริ่มทำงานก็เท่านั้น

 

“เป้าหมายระยะสั้นของเราก็คือช่วยเหลือกันและกัน ช่วยคน ช่วยชุมชนให้ผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน แต่เป้าหมายใหญ่ของเราจริงๆ ก็คือเราต้องการเป็นโมเดลให้หลายๆ ชุมชนเห็นว่าเราสามารถช่วยเหลือจุนเจือกันในชุมชนได้นะ อยู่กันเองได้ เหมือนเป็นรูปแบบให้ใครก็ตามเอาไปทำได้

 

“การทำ Locall ทำให้เรารู้ว่า ถ้าเราให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันในชุมชนมันก็จะเหมือนช่วยเหลือกัน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดี มันทำให้เราไม่จำเป็นต้องง้อนายทุนหรือว่าบริษัทข้ามชาติขนาดนั้น เพราะเราร่วมมือกันได้ เราเห็นความร่วมมือในชุมชนที่ชัดเจนและสวยงามมากๆ ในเวลาแค่สองสามสัปดาห์เอง”

 

ขอขอบคุณ สโรชา เอิบโชคชัย, วันวิสาข์ คำบุญเรือง, พีรภัค จรเสมอ, พัชรกมล พรนิเสน, ณัฐวรรณ ล้วนใจบุญธรรม, และ ญาดา กลิ่นสนิท สต๊าฟส่วนหนึ่งจาก Locall ที่ร่วมให้สัมภาษณ์อย่างแข็งขันและเฮฮา แม้จะเป็นเวลาหลังเลิกงานที่ล่วงเลยไปดึกดื่นค่อนคืนก็ตาม

 

Locall

 

เวลาเปิด-ปิด: 10.00 – 19.00 ทุกวัน

 

สั่งอาหาร: https://lin.ee/mvYtOUt

 

โทร: 09 2620 5445

Share this content

Contributor

Tags:

Covid-19, คุยกับผู้ผลิต, ฟู้ดเดลิเวอรี

Recommended Articles

Food Story‘น้ำผึ้งรักษ์ป่า’ รสซับซ้อนของน้ำผึ้งใต้จากการเลี้ยงผึ้งอย่างรับผิดชอบที่สุด
‘น้ำผึ้งรักษ์ป่า’ รสซับซ้อนของน้ำผึ้งใต้จากการเลี้ยงผึ้งอย่างรับผิดชอบที่สุด

เก็บกระเป๋าล่องใต้ไปชิมน้ำผึ้งเดือนห้าจากป่าเบญจพรรณที่ชุมพร หวานซ่อนเปรี้ยวที่อวดความสมบูรณ์หลากหลายในพื้นที่

 

Recommended Videos