เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

น้ำผึ้งป่าบำรุงสุข “นักสะสมน้ำผึ้งไทย” ที่อยากบอกว่าน้ำผึ้งไม่ได้มีแค่แบบเดียว

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

ฟังเรื่องน้ำผึ้งป่าไทยที่ไม่ได้มีแค่รสหวานจ๋อย กับ เบนซ์-วีรวิชญ์ อินทร์ประยงค์ จาก BUM RUNG SUUK artisan natural honey

ใครที่ชื่นชอบการเป็นเดินงานเทศกาลอาหาร โดยเฉพาะงานที่ให้ความสำคัญกับผู้ผลิตที่ตั้งใจผลิตอาหารปลอดภัย ย่อมจะเคยเห็นมุมน้ำผึ้งสารพัดสีที่วางเรียงกันแน่นบนถาดไม้ยกสูงแบบโตก ล้อมรอบด้วยเก่าอี้เตี้ยอีกจำนวนหนึ่ง

 

 

 

 

และถ้าพอนึกออก ในบรรยากาศโตกสารพัดน้ำผึ้งแบบนั้น เราจะเห็นชายผมยาวคนหนึ่งหยิบขวดโน้น เปิดขวดนี้ ทะยอยให้คนทั้งวงได้กินน้ำผึ้งกันถ้วนหน้า พร้อมเล่าเรื่องเบื้องหลังน่าสนุก ที่ฟังแล้วเรามักจะรู้สึกว่าน้ำผึ้งขวดนั้นอร่อยขึ้นจนอยากหิ้วกลับบ้านขึ้นมาเสียอย่างนั้น

 

 

 

 

ชายคนนั้นก็คือ “เบนซ์-วีรวิชญ์ อินทร์ประยงค์” จาก “น้ำผึ้งบำรุงสุข” หรือ BUM RUNG SUUK artisan natural honey นั่นเองค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

นักสะสมน้ำผึ้งไทย

 

 

 

 

ใครๆ ต่างก็ขนานนามให้วีรวิชญ์เป็น “นักสะสมน้ำผึ้งไทย” เพราะตัวเขาเอง ซื้อ-ขาย-เก็บรักษาน้ำผึ้งป่าทั่วประเทศมานานกว่า 9 ปี จึงมีตัวอย่างน้ำผึ้งจากป่าต่างๆ ในปีต่างๆ เก็บไว้หลายร้อยชนิด ราวกับว่าเป็นห้องสมุดน้ำผึ้งก็ไม่ปาน

 

 

 

 

“นักสะสมน้ำผึ้ง มันเป็นเป็นฉายา เป็นเหมือนนามบัตรที่คนอื่นตั้งให้เรา (หัวเราะ) แต่จริงๆ เราเป็นพ่อค้านี่แหละ และเป็นนักทดลองด้วย เราชอบทำอะไรไปเรื่อย…”

 

 

 

 

ธุรกิจหลักของนำ้ผึ้งบำรุงสุข คืองานที่ตรงไปตรงมาอย่างการขายน้ำผึ้ง โดยเน้นว่าเป็นน้ำผึ้งป่า ที่ได้จากป่าต่างๆ ในประเทศไทย เบนซ์จึงชิงออกตัวว่าตัวเองมีตำแหน่งพ่อค้าเป็นอาชีพหลัก จะต่างจากพ่อค้าคนอื่นๆ บ้างก็ตรงที่วิธีการขายเท่านั้น

 

 

 

 

น้ำผึ้งบำรุงสุขแทบไม่เคยมีการขายออนไลน์ แถมยังไม่มีหน้าร้านประจำ เรียกได้ว่าจะได้ซื้อขายกันก็ต่อเมื่อบังเอิญไปเจอกันตามงานแฟร์หรือ Farmer’s Market เท่านั้น กระนั้นแบรนด์ก็ยังมีลูกค้าประจำที่ซื้อขายกันมานานหลายปี ด้วยว่าสิ่งสำคัญที่น้ำผึ้งบำรุงสุขมีเป็นบริการก่อนการขาย คือ “ประสบการณ์” ที่ทำให้ผู้บริโภคชิม-ซื้อ-ใช้ น้ำผึ้งด้วยมุมมองที่ต่างกันออกไป

 

 

 

 

ด้วยความที่เบนซ์เป็นนักสะสมน้ำผึ้ง เขาจึงยืนยันว่าทุกคนควรชิมน้ำผึ้งจนกว่าจะเจอรสชาติที่ชอบก่อนควักเงินจ่ายเสมอ ขั้นตอนการซื้อขายแบบน้ำผึ้งบำรุงสุขจึงเริ่มต้นด้วยการชิมและฟังเป็นหลัก ลูกค้าทุกคนจะได้ชิมน้ำผึ้งกันแบบไม่อั้น แกล้มไปกับเรื่องเล่ารอบขวดน้ำผึ้ง เช่นว่า น้ำผึ้งขวดนี้มาจากป่าไหน จังหวัดไหน มีกลิ่นรสอย่างไรเป็นพิเศษ

 

 

 

 

 

 

 

กว่าจะเป็น “น้ำผึ้งบำรุงสุข”

 

 

 

 

“ผมทำเรื่องการเกษตรมาก่อน หลังจากนั้นก็มาทำงานจักสาน แต่สุดท้ายพอเรามองหาความยั่งยืน ก็เลยกลับมาโฟกัสเรื่องอาหารเหมือนเดิม โดยเฉพาะเรื่องเกษตรอินทรีย์ ทำทั้งการสอน การขาย พยายามทำทุกมุม แต่พูดตรงๆ คือ ทำแล้วเราก็รู้สึกว่ามันค่อนข้างเหนื่อย ไม่น่าจะใช่สิ่งที่เราจะทำไปตลอด

 

 

 

 

“ผมชอบกินน้ำผึ้ง แล้วก็ไปเจอน้องคนหนึ่งที่ทำเรื่องน้ำผึ้ง แต่เป็นน้ำผึ้งต่างประเทศ เราได้เห็นไกด์ไลน์ของเขาแล้วก็รู้สึกว่า เห้ย… น้ำผึ้งไทยเราก็ดีไม่ใช่เหรอ ตอนนั้นผมมีน้ำผึ้งในมือหลายตัว ก็ลองเอามานั่งชิม มาขาย จากไม่กี่ตัว คนไม่รู้จัก เราก็พยายามขายไป ศึกษาไป

 

 

 

 

“หลักการขายก็คือ เราคุยกับลูกค้า ลูกค้าคุยกับเรา เราต่างเป็นครูของกันและกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน วันหนึ่งเราไม่ได้คุยกับลูกค้าแค่คนสองคน แต่เราคุยเป็นร้อยคน เราเข้าไปในพื้นที่ เจอพี่น้องชาติพันธุ์ เราก็เก็บข้อมูลเพิ่ม ช่วงเวลาที่เก็บข้อมูลจริงจังน่าจะ 7-8 ปีแล้ว”

 

 

 

 

ในระหว่างทางที่น้ำผึ้งบำรุงสุขสะสมลูกค้าและยอดขาย เบนซ์จึงได้สะสมตัวอย่างน้ำผึ้งและองค์ความรู้ว่าด้วยผึ้งหลากหลายรูปแบบไปด้วย เมื่อมาถึงวันนี้ น้ำผึ้งบำรุงสุขจึงได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์ที่มี know-how ว่าด้วยการชิม เก็บรักษา และธรรมชาติของน้ำผึ้งป่าไทยในเชิงปฏิบัติที่แข็งแรงที่สุดอีกแบรนด์หนึ่ง

 

 

 

 

“การเก็บข้อมูลของเราก็จะให้ความสำคัญกับเรื่อง sensory ด้วย เรามีธงว่าเราอยากทำเรื่องมาตรฐานน้ำผึ้งไทยเพื่อยกระดับ อย่างน้อยเรามี honey sensory taste เราก็จะทำข้อมูลได้ว่ารสชาติน้ำผึ้งไทยมีกี่แบบ จริงๆ ต่างประเทศเขาทำแบบนี้มานานแล้ว แต่เรารู้สึกว่าเงื่อนไขมันต่างกัน บ้านเราเป็นเขตร้อน ผลไม้ ดอกไม้ ต่างกัน และกลุ่มที่เราทำคือน้ำผึ้งธรรมชาติล้วนๆ เราไม่ได้โฟกัสไปที่กระบวนการเลี้ยงแล้วจับมาเข้าชาร์ตเพื่อชิมแล้วแยกรสชาติ เหมือนรูปแบบหลักสูตรของต่างประเทศ

 

 

 

 

“คือเกษตรกรที่จะเลี้ยงผึ้ง จะต้องมาเรียน แล้วก็ต้องรู้ว่า ของเขาเป็นรสไหน กลิ่นไหน มีดีเฟกต์ไหม มีกลิ่นควัน กลิ่นยาฆ่าแมลงไหม เพื่อให้เข้ากับมาตรฐานอุตสาหกรรม แต่ของเราเงื่อนไขมันต่างกัน ตอนนี้เราตั้งต้นว่า เราต้องรู้ก่อนว่าน้ำผึ้งแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด เป็นรสไหน กลิ่นไหน เพราะข้อมูลพวกนี้จะเปิดโอกาสให้กับชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น”

 

 

 

 

 

 

 

ผึ้งป่า แมลงเล็กๆ ที่เล่าเรื่องป่าผ่านรสชาติของน้ำผึ้ง

 

 

 

 

ซิกเนเจอร์อย่างหนึ่งของน้ำผึ้งบำรุงสุขก็คือการคัดสรรเฉพาะน้ำผึ้งป่าไทยจากพื้นที่ต่างๆ มาวางขายเท่านั้น โดยที่แบรนด์ยืนยันว่าน้ำผึ้งป่าไทยมีเอกลักษณ์และความหลากหลายไม่แพ้น้ำผึ้งดีๆ จากต่างประเทศ ที่สำคัญคือ น้ำผึ้งป่าเป็นสินค้าที่วีรวิชญ์มั่นใจว่า จะเล่าเรื่องป่าไทยได้ดีที่สุด

 

 

 

 

“อันหนึ่งที่เราต้องนิยามให้ตรงกันก็คือ น้ำผึ้งธรรมชาติ กับน้ำผึ้งป่า…” เขาชี้ชวนให้ดูความแตกต่างที่หลายคนอาจไม่เคยสังเกตและทำความเข้าใจมาก่อน

 

 

 

 

“ถ้าเป็นผึ้งที่ไม่ใช่ผึ้งเลี้ยง แต่ยังอยู่ในเขตเมือง เขตที่เป็นบ้านคน พื้นที่เกษตร ผมจะเรียกว่าน้ำผึ้งธรรมชาติ คือผึ้งหากินเองก็จริง แต่มีพืชอาหารที่ไม่ได้มาจากป่า ส่วนน้ำผึ้งป่า ก็คืออยู่กับป่า มีที่มาจากป่า เป็นป่าผืนไหน ป่าประเภทไหนก็แยกย่อยไปอีกที สำหรับเรา การนิยามแบบนี้ดีที่สุด ดีกับการเก็บข้อมูลด้วย

 

 

 

 

“น้ำผึ้งป่าจากทางเหนือก็จะหวานหอม มีติดเปรี้ยวบ้างเป็นบางที่ แล้วก็มีติดขมบ้างบางโซนเหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับว่าพันธุ์พืชตรงนั้นมีอะไร ส่วนน้ำผึ้งจากทางอีสาน ผมอาจยังไม่ค่อยได้พูดถึงและไม่ได้เลือกมาขาย เพราะพื้นที่ป่าทางนั้นอาจจะยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่เราชอบเท่าไร มันไม่ได้มีพืชอาหารเยอะ คือจริงๆ มีนะครับ อย่างโซนป่าภูพาน เขาใหญ่ แต่ไม่ได้มีมาก และรสชาติก็มีหลายแบบ ผึ้งใต้ก็ดีเหมือนกัน ไล่ตั้งแต่ชุมพรลงไป จนถึงใต้แบบชายแดนใต้เลยก็ดีเหมือนกัน ดีมากด้วย เพราะมันมีป่าดีที่มาก เป็นป่าปิด แต่ปัญหาคือตัวเราเองเอาดุ่มๆ เข้าไปไม่ได้ถ้าเราไม่ใช่คนในพื้นที่ ดังนั้นเราก็จะไม่ได้มามากเท่าไร

 

 

 

 

“โซนไหนที่เป็นพื้นที่เกษตร ใช้ยาฆ่าแมลง เราก็ไม่เอามาขายเลย เพราะเรารู้ว่ารสชาติน้ำผึ้งโซนนั้นเป็นแบบไหน แต่เราไม่ได้เอามาขาย และเรารู้ว่าถ้าเอามาวางแล้วก็อาจจะขายไม่ได้ สุดท้ายเราก็เป็นพ่อค้าคนหนึ่ง เราต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองเหมือนกัน ถามว่าเรามีตัวอย่างไหม เราต้องมีไว้ แต่เราเลือกมาขายไหม ไม่ดีกว่า”

 

 

 

 

ไม่เพียงแต่เล่าเรื่องราวของป่า พืชอาหาร และความสมบูรณ์ของพื้นที่เท่านั้น สิ่งสำคัญที่น้ำผึ้งป่าเล่าเรื่องออกมาอย่างซื่อตรงก็คือความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ซึ่งน้ำผึ้งบำรุงสุขเรียนรู้ผ่านการเก็บตัวอย่าง หมักบ่ม และจัดทำฐานข้อมูลของน้ำผึ้งในทุกๆ ปี

 

 

 

 

“ความโชคดีของเราคือเราเก็บตัวอย่างตั้งแต่วันแรกที่เราขาย ซึ่งพูดตามตรงก็คือ เราไม่ได้เริ่มแบบมีเป้าหมายอะไรเลย ไม่ได้อยากสร้าง know-how ไม่ได้อยากทำการตลาด ผมแค่มีความอยากรู้ส่วนตัวว่า น้ำผึ้งที่เก็บไว้แต่ละปีรสชาติมันจะเหมือนเดิมไหม ผมคิดแค่ว่า เราอยากทำเรื่องความยั่งยืนทางอาหาร เราก็ควรจะได้รู้ว่า น้ำผึ้งที่เรากินอยู่ เรากินอะไร ของที่ไหน แหล่งไหน

 

 

 

 

“ผลที่ได้จากการบันทึกด้วยความชอบ อยากมีฐานข้อมูลให้ตัวเองว่าปีหน้ารสชาติน้ำผึ้งจะเหมือนเดิมไหม ทำให้เราได้เจอจริงๆ ว่า พอเก็บมา 6-7 ปี น้ำผึ้งรสชาติเดิมที่เราเคยได้มามันหายไป รสชาติน้ำผึ้งป่าจึงสะท้อนกลับไปที่พื้นที่ว่า มีการเผาไหม ฝนตกเยอะไหม ความสมบูรณ์ของพื้นที่ยังมีไหม

 

 

 

 

“สิ่งเหล่านี้มันปรากฏออกมาในฐานข้อมูลของเรา เช่น ปีไหนฝนตกเยอะ ความชื้นเยอะ น้ำผึ้งจะเหลวและเป็นฟอง กลิ่นรสจะไม่หลากหลายเท่าเดิม ปีไหนที่แล้ง น้ำน้อยลง แต่ฝนยังตกต้องตามฤดูกาล ความหลากหลายก็จะเยอะขึ้น รสชาติน้ำผึ้งจะชัดขึ้น แต่ถ้าแล้งจนมีไฟป่า ไฟไหม้ มีฝุ่น มันก็ส่งผลกระทบต่อน้ำผึ้งในแง่ที่ว่าปริมาณน้ำผึ้งโดยรวมลดน้อยลงอีก บางปีเราพบว่าในบางพื้นที่ พันธุ์ไม้บ้างชนิดมันหายไป พอความหลากหลายของพืชอาหารหายไป เราลงทุนไปหลายหมื่นบาทแต่ได้น้ำผึ้งมารสชาติเดียวก็มี ปีนี้ผึ้งหน้าแล้งจากทางเหนือไม่มีเลย กลายเป็นว่าพื้นที่ที่น้ำผึ้งออกเยอะไปอยู่ที่ภาคใต้ ผึ้งเขาก็อาจจะหนีควันเหมือนคนเราก็ได้นะ

 

 

 

 

“ล่าสุด ปีที่ผ่านมาผมพาลูกค้าไปทำ Honey Journey กัน ไปตามหาน้ำผึ้ง ที่ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ประจำ ในพื้นที่นี้ ต้นไม้ใหญ่ 1 ต้น เคยมีผึ้งเกือบ 20 รัง อย่างน้อยที่สุดก็ต้อง 3-5 รัง แต่รอบนั้นทั้งหมู่บ้าน เหลือผึ้งอยู่รังเดียว สิ่งเหล่านี้สะท้อนอะไรได้บ้าง”

 

 

 

 

ท่ามกลางขวดน้ำผึ้งสารพัดสีสันที่วางเรียงรายอยู่ เบนซ์เท่าถึงแมลงเล็กๆ ผู้ผลิตความหอมหวานเหล่านี้ราวกับว่าพวกมันคือญาติสนิทมิตรสหายที่อยู่ต่างถิ่นต่างที่ ทว่าก็ทำงานร่วมกันมานานจนรู้จักและเข้าใจกันเป็นอย่างดี

 

 

 

 

 

 

 

อย่า “ผึ้ง” เข้าใจผิด

 

 

 

 

ฟังจากเรื่องเล่าของนักสะสมน้ำผึ้งคนนี้แล้ว ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าน้ำผึ้งเป็นอาหารที่อยู่ใกล้ตัวคนไทยมาก ด้วยอานิสงส์ของการเป็นเมืองร้อนที่มีพืชพรรณหลากหลาย ทำให้เรามีน้ำผึ้งป่า น้ำผึ้งธรรมชาติ รวมถึงน้ำผึ้งเลี้ยงให้ซื้อหากันอยู่ตลอดปี ทว่าเราในฐานะผู้บริโภค รู้จักน้ำผึ้งมากน้อยแค่ไหนกัน

 

 

 

 

ในฐานะพ่อค้าและนักสะสมที่มีประสบการณ์เกือบ 10 ปี เบนซ์บอกว่า นี้คือชุดความเชื่อว่าด้วยนำ้ผึ้งที่ถูกเข้าใจผิดอยู่เสมอ

 

 

 

 

“อันดับแรกคือ คนมักเข้าใจว่าน้ำผึ้งมันเหมือนกันหมด ต้องสีประมาณนี้ ความหนืดประมาณนี้ รสชาติประมาณนี้ ถ้าผิดจากความคุ้นเคยไป คนมักสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นน้ำผึ้งปลอม เพราะว่าเราโดนตีกรอบด้วยน้ำผึ้งอุตสาหกรรม ผึ้งที่ถูกเลี้ยงโดยพืชอาหารซ้ำๆ ไม่หลากหลาย สังเกตว่าน้ำผึ้งบรรจุขวดในท้องตลาดรสชาติจะไม่ได้ต่างกันมากเลย คนก็เลยฝังหัวว่าน้ำผึ้งมันก็เหมือนกันหมดแหละ รสชาติประมาณนี้ ลำไย ลิ้นจี่ ความชื้น ความหนืดต้องประมาณนี้ ทั้งที่ที่จริง น้ำผึ้งแท้หนืดก็ได้ ไม่หนืดก็ได้

 

 

 

 

“สองคือ น้ำผึ้งต้องสีเหลืองทอง แต่จริงๆ น้ำผึ้งแท้มีได้ทุกสี สีอ่อน สีเข้ม สีดำ มีได้หมด ผึ้งที่อาศัยอยู่ตามเขตเมือง เขตบ้านคน ไปกินน้ำหวานไหว้ศาลพระภูมิมา ให้น้ำผึ้งสีแดง สีเขียวก็ยังมีเลย

 

 

 

 

“สาม น้ำผึ้งตกตะกอนเป็นน้ำผึ้งปลอม เราต้องมาดูว่า ตะกอนที่เราเจอมันเป็นแบบไหน ที่เจอบ่อยเลยคือ เราเรียกว่าน้ำผึ้งตกทราย เป็นเนื้อทรายละเอียด ฟูๆ ขุ่นๆ มีทั้งทรายหยาบทรายละเอียด ที่เรียกว่า honey cream หรือ cristalize ซึ่งเกิดจากการที่ในน้ำผึ้งนั้นมีกลูโคสมากกว่าฟรุกโตส มันก็จะสะท้อนถึงกลุ่มพืชอาหาร เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ ส่วนถ้าน้ำผึ้งตกผลึก แบบใสๆ เม็ดๆ เหมือนเศษกระจก ก็เรียกว่าเจอน้ำผึ้งปลอมเข้าแล้ว (หัวเราะ)

 

 

 

 

“ต่อไป น้ำผึ้งแท้ต้องหวานหอม เป็นน้ำผึ้งรสชาติที่เราคุ้นเคย อย่างตระกูลน้ำผึ้งลำไยหรือลิ้นจี่ แต่จากที่ผมเก็บตัวอย่างมา น้ำผึ้งมีตั้ง 11 รสชาติ ที่เราแยกออกมาได้ น้ำผึ้งเปรี้ยว ไม่ใช่น้ำผึ้งเสีย รสของน้ำผึ้งมีทั้งหวานหอม หวานเย็น หวานนวล หวานเปรี้ยว หวานขม หวานเค็ม หวานเผ็ด น้ำผึ้งป่าพรุ น้ำผึ้งป่าชายเลน และกลิ่นสมุนไพร อันนี้เป็น flavour wheel ของบ้านเรานะ

 

 

 

 

“อีกอันคือ น้ำผึ้งมีฟอง คือน้ำผึ้งเสีย จริงๆ มันไม่ได้เสีย มันแค่เป็นน้ำผึ้งที่มีความชื้นสูงกว่า บางคนก็จะบอกว่า เป็นน้ำผึ้งที่มีการบีบตัวอ่อนลงไปด้วย ซึ่งสำหรับผมผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป การบีบตัวอ่อนลงไปทำให้เกิดฟองได้จริงไหม จริง แต่น้ำผึ้งในบางช่วง บางแห่ง ไม่ต้องบีบตัวอ่อนลงไปก็เกิดฟองได้เหมือนกัน เพราะมันมีความชื้นสูง ฟองพวกนี้เกิดจากการหมักจนมีแก๊ส พอเปิดฝามามีเสียงแก๊สออกมาเลย บางคนก็ชอบ บางคนก็ไม่ชอบ อันนี้เป็นเรื่องรสนิยมของแต่ละคนไป แต่ไม่ได้หมายความว่าน้ำผึ้งนั้นเสียแน่นอน

 

 

 

 

“น้ำผึ้งเปลี่ยนรสชาติไป ก็ไม่ได้แปลว่าน้ำผึ้งเสียเหมือนกัน น้ำผึ้งเป็นอาหารที่ไม่มีวันเสีย แต่มันเป็นน้ำตาลที่มีชีวิต ดังนั้นมันเมื่อความชื้นมันหายไป มันก็จะสามารถพัฒนาได้ทั้งสีและรสชาติ จะมีก็แต่กลิ่นที่ไม่ควรเปลี่ยนไปมาก นอกจากว่าเราจะไปเปิดดม เปิดใช้บ่อยๆ กลิ่นก็อาจจะหายไปได้ อย่างขวดแม่โขง 1 ขวด พอเก็บไปครบปีมันหายไปประมาณ 1 นิ้วกว่าเลยนะ แต่ข้อดีก็คือ รสชาติมันชัดขึ้น ซึ่งชัดขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่ามันดีขึ้นเสมอไปนะ บางตัวรสชาติแย่ลงก็มี บางตัวตอนได้มาปีแรก รสชาติไม่ดี แต่พอหมักบ่มแล้ว รสชาติดีขึ้นก็มี

 

 

 

 

“อีกเรื่องที่คนเข้าใจผิดก็คือ น้ำผึ้งมีแต่ในภาคเหนือ เพราะว่าอุตสาหกรรมน้ำผึ้งมาจากภาคเหนือแทบจะทั้งหมด เลยทำให้คนเข้าใจแบบนั้น น้ำผึ้งที่ผลิตจำนวนมากๆ และเราเจอได้ทั่วไปในท้องตลาดก็จะมีลำไย ลิ้นจี่ สาบเสือ สะเดา ประมาณนั้น น้ำผึ้งป่าก็มีเหมือนกันนะ แต่เขาไม่ได้บอกพืชอาหารของมันได้ชัดเจน ก็เรียกรวมๆ กันไป จริงๆ แล้วน้ำผึ้งมีทุกภาค และมีทุกเดือนด้วย

 

 

 

 

“สุดท้าย อันนี้เจอบ่อยที่สุด คือคำว่าน้ำผึ้งเดือน 5 อันนี้ผมคิดว่ามันน่าจะมาจากตำรำยาไทย ที่เขียนว่า น้ำผึ้งที่ดีที่สุดในการเอามาเข้ายา ต้องเป็นน้ำผึ้งเดือน 5 จากเกสร 108 แต่เราท่องจำกันมาแค่ว่าน้ำผึ้งที่ดีต้องเป็นน้ำผึ้งเดือน 5 ซึ่งในความเข้าใจของผมคือ น้ำผึ้งเดือน 5 มันคือน้ำผึ้งที่มีความชื้นต่ำที่สุด เลยรสชาติเข้มข้นที่สุด ไปๆ มาๆ เลยกลายเป็นว่า น้ำผึ้งเดือน 5 คือน้ำผึ้งที่คุณภาพดีที่สุด

 

 

 

 

“สำหรับผมแล้ว ผมรู้สึกว่าน้ำผึ้งก็ดีทุกเดือนนั้นแหละ เราแค่ยังไม่รู้จักเขามากพอ ถ้าบอกว่าน้ำผึ้งเดือน 5 รสชาติเข้มข้นที่สุด อันนั้นผมไม่เถียง แต่คำว่าน้ำผึ้งเดือน 5 ดีที่สุด คำว่าดีมันคืออะไรล่ะ?

 

 

 

 

“เดือน 5 ถ้าเปรียบเป็นผลไม้ มันก็จะเป็นช่วงของมะม่วง ทุเรียน เงาะ มังคุด ใช่ไหม รสชาติหวานฉ่ำ แต่ผลไม้อื่นๆ ดอกไม้อื่นๆ มันผิดอะไรล่ะ? บ้านเราเป็นเขตร้อน ความหลากหลายทางพันธุกรรมเยอะนะ ทำไมเราต้องไปกินแต่น้ำผึ้งเดือน 5 ด้วย”

 

 

 

 

 

 

 

ขายประสบการณ์ก่อนขายน้ำผึ้ง – การตลาดแบบบำรุงสุขที่อยากให้คนซื้อหาน้ำผึ้งของตัวเองให้เจอ

 

 

 

 

“อย่างที่บอกว่าน้ำผึ้งแต่ละที่ก็มีบุคลิกของเขา ประเภทของป่า ประเภทของดิน ดินเหนียว ดินลูกรัง ดินทราย ส่งผลให้พืชแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับช่วงเดือนอีก ดังนั้นคำถามสำคัญคือ ผู้บริโภคชอบแบบไหนล่ะ?”

 

 

 

 

เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้น้ำผึ้งบำรุงสุขแทบไม่ขายสินค้าออนไลน์เลย เพราะเบนซ์เชื้อว่า น้ำผึ้งที่เขาคัดสรรมาแล้วล้วนเป็นน้ำผึ้งที่ดีทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่า เราจะหาน้ำผึ้งของตัวเองเจอไหม

 

 

 

 

“ผมอยากให้มาเจอกัน ให้ได้ลองดมลองชิมก่อนซื้อมากกว่า เวลามีลูกค้าทักมาทางเพจว่า อยากได้น้ำผึ้งดีๆ ซัก 2 ขวด อันนี้ยากมากเลย เพราะเรามีตัวอย่างน้ำผึ้งอยู่เยอะ สมมติเรามีอยู่ 50 แหล่ง เราจะแนะนำลูกค้ายังไง พอถามกลับไปว่า ลูกค้าเอาไปทานกับอะไรครับ คนจะเริ่มงงแล้ว เพราะเขาไม่ได้คิดว่าน้ำผึ้งแบบไหนต้องใช้กับอะไร

 

 

 

 

“รสชาติน้ำผึ้งมันกว้างนะ อาจจะสื่อสารกันยาก แต่ถ้าเคยชิมแล้ว ชอบรสชาติประมาณนี้ หรือ เมนูที่เอาไปใช้น่าจะเป็นประมาณนี้ เช่น เบเกอรี โยเกิร์ต น้ำผลไม้ เราก็พอจะบอกได้ว่าอยากแนะนำน้ำผึ้งตัวไหน ถ้าใช้ใส่กาแฟ เราก็จะถามต่อได้ว่า ลูกค้ากินกาแฟแบบไหน กาแฟคั่วอ่อน คั่วกลาง คั่วเข้ม แต่ละแบบเหมาะกับตัวไหน ถ้าลูกค้าเอาไปทานกับอโวคาโด้ เราอยากจะเชียร์ตัวไหน”

 

 

 

 

ฉันไม่เคยรู้มาก่อนว่าการจะเลือกซื้อน้ำผึ้งสักขวด เราจะมีชอยส์ให้เลือกได้ตามความชอบและเงื่อนไขการใช้งานละเอียดถึงขนาดนี้ พอฉันตัดสินใจเลือกน้ำผึ้งสำหรับเบเกอรี นักสะสมน้ำผึ้งซึ่งตอนนี้ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าก็หยิบน้ำผึ้งขวดเล็กๆ มาให้ฉันได้ลองชิม

 

 

 

 

“ถ้าเป็นเบเกอรี ผมอยากแนะนำตัวของทุ่งหัวช้าง ลำพูน จะเป็นกลิ่นลำไยนี่แหละ แต่จะไม่ใช่ลำไยจ๋า เพราะมันไม่ใช่ลำไยในเขตเมือง” – ฉันได้ชิมน้ำผึ้งทุ่งหัวช้าง เทียบกับน้ำผึ้งลำไยทั่วๆ ไป และปรากฏว่า แม้จะชิมเพียงหยดเล็กๆ ฉันก็จับความแตกต่างของน้ำผึ้งทั้ง 2 ขวดได้ทันที

 

 

 

 

น้ำผึ้งทุ่งหัวข้างที่ฉันได้ชิมมีรสหอมหวานแต่ซับซ้อนกว่าน้ำผึ้งลำไยทั่วไป กลิ่นหอมลึกกว่า ทั้งสีก็เข้มกว่า แถมยังมีอาฟเตอร์เทสต์ติดเปรี้ยวสดชื่นอยู่เล็กๆ เป็นความหอมหวานที่มีมิติและชีวิตชีวา ชวนให้อยากทำโทสต์หอมๆ ซักแผ่น โปะไอศกรีมวานิลลา หรือไม่ก็ปิ้งซาวร์โดห์ ทาคอตเทจชีส วางลูกฟิกลงไป เพื่อจะได้ราดน้ำผึ้งขวดนี้ซักช้อนสองช้อนให้สมใจ

 

 

 

 

“เราสามารถจัดกลุ่มน้ำผึ้งได้หลากหลายมาก ตาม flavour wheel ตามช่วงเวลาในแต่ละปี ตามสถานที่ที่เราได้มา ตามอายุที่เราหมักบ่มไว้ ได้หมดแหละ มันค่อนข้างกว้าง ดังนั้นถามว่า ถ้าไม่ได้มาเจอกันตามงานเลย อยากทักอินบอกซ์เพจมาได้ไหม ก็ต้องบอกว่าแต่ แต่เราก็จะตอบได้แค่ประมาณหนึ่งเท่านั้น เอาจริงๆ ก็คือ อยากให้มาเจอกันตามงาน หรือมาชิมมากกว่า แต่ถ้าเคยเจอกันตามงานแล้ว เคยชิมน้ำผึ้งจากเราแล้ว มาบอกเราว่าอยากได้รสชาติประมาณนี้ ใกล้เคียงกับตัวไหนที่เคยซื้อไป เราก็พอจะมีรายชื่อให้ได้เหมือนกัน

 

 

 

 

“จากประสบการณ์การขายแบบนี้ อีกโจทย์หนึ่งที่เราอยากทำก็คือ สร้างมาตรฐานน้ำผึ้งไทยให้มันเกิด และสร้างเครือข่าย สร้างคนที่หา เก็บ และขายน้ำผึ้งแบบนี้ เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าเราไม่รู้จักน้ำผึ้ง เราจะขายน้ำผึ้งได้ยังไง

 

 

 

 

“เอาจริงๆ ถามว่าขายได้ไหม ก็ขายได้แหละ ขายได้ว่า นี่เป็นน้ำผึ้งเดือนห้า น้ำผึ้งแท้นะลูกค้า  มาจากอมก๋อยนะลูกค้า แต่มาจากอมก๋อยแล้วยังไงต่อ รสชาติแบบไหน เอาไปใช้แบบไหน ไม่รู้ แล้วเราจะไปตอบลูกค้ายังไง ดังนั้นถ้าเรามี know-how เราจะขายได้ดีขึ้น สนุกขึ้น เช่นว่า ปกติพี่ใช้น้ำผึ้งทำอะไรเป็นประจำ ตัวนี้เหมาะกับใช้แบบนี้นะ ถ้าพี่ใช้แบบนี้ ตัวนี้ไม่เหมาะแล้ว อยากแนะนำตัวนี้มากกว่า มันคือการ personalize ถ้าเราสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกคำถาม ลูกค้าจะไม่ชอบเราได้ยังไง”

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากการตั้งโตกน้ำผึ้ง ออกร้านขายตามงานแฟร์ทั่วไปแล้ว ตอนนี้น้ำผึ้งบำรุงสุขยังปันเวลาไปให้กับการสร้างเครือข่าย ทั้งเครือข่ายเกษตรกร ชุมชน และผู้บริโภค เพื่อยกระดับให้การขายน้ำผึ้งเป็นการขายเรื่องเล่าและประสบการณ์ที่จะทำให้ทุกคนสนุกและตื่นเต้นกับการชิม ซื้อ และใช้น้ำผึ้งในชีวิตประจำวันมากขึ้น ดังนั้นการส่งต่อความรู้ผ่านเวิร์กชอปก็เป็นอีกบริการหนึ่งที่น้ำผึ้งบำรุงสุขทำได้ดีไม่แพ้ใคร

 

 

 

 

“เราบอกว่า น้ำผึ้งเค็มมีนะ น้ำผึ้งหนืด น้ำผึ้งเหลว มีหมด แต่เราไม่มีตัวอย่างให้เห็น ให้ชิม ให้ดม เราจะทำให้ลูกค้าเข้าใจได้อย่างไร ดังนั้นนอกจากเรื่อง sensory ในภาพรวมแล้ว เราจึงต้องมีเครือข่ายเกษตรกรที่ทำข้อมูลให้เราได้ และมีตัวอย่างที่ลูกค้าสามารถชิมได้ตอนนี้ สัมผัสได้เดี๋ยวนี้เลย ดังนั้น 9 ปีที่เราลุยเก็บข้อมูลและตัวอย่างมา เราขายสิ่งที่เรามีก็คือประสบการณ์และองค์ความรู้ที่คุณสัมผัสได้เลย และเราสามารถ supplyให้ได้เกือบตลอด คุณคุ้มค่าแน่นอน แต่เราไม่ได้บอกว่าเราขายน้ำผึ้งถูกนะ

 

 

 

 

“คอนเสปต์ของเราคือ เราซื้อถูกขายแพง ซื้อแพงขายถูก คือเราไม่กดราคา ไม่ต่อราคา ชุมชนพอใจจะขายในราคาเท่าไร เรารับซื้อในราคาเท่านั้น แพงมากเราก็ซื้อเท่าที่ไหว ถ้าเราคาดีเราก็เหมาหมดเลย (หัวเราะ) แล้วเราก็เอามาถัวขายไม่ว่าต้นทุนจะได้มาแค่ไหน ดังนั้นราคาน้ำผึ้งเราจึงเท่ากันทุกขวด และราคานิ่งอยู่แบบนี้มา 8 ปี ปีนี้ปีที่ 9 แล้วนะ ราคาไม่เคยขยับเลย ถ้าเป็นน้ำผึ้งเก่าเก็บเกิน 3 ปี เราก็จะบวกเพิ่มขึ้นไปปีละ 100 บาท เป็นมาตรฐานนี้ แม้ว่าราคาต้นทางจะสูงขึ้นเราก็ยังไม่เคยปรับราคาขึ้น

 

 

 

 

“การคิดต้นทุนกำไรเราอาจจะไม่ตรงตามหลักการตลาดหรอก แต่มันทำให้เราอยู่ได้ คนซื้อซื้อได้ คนขายขายได้ เพราะเราอยากให้ลูกค้าเข้าถึงได้ทุกระดับ ไม่อย่างนั้นคนเงินน้อยก็จะได้กินแต่น้ำผึ้งที่เดิมๆ ซ้ำๆ และถ้าขวดไหนแพงกว่า ลูกค้าก็อาจจะเข้าใจว่าเป็นน้ำผึ้งที่ดีกว่า ทั้งที่จริงๆ น้ำผึ้งที่ดี คือน้ำผึ้งที่มีรสชาติแบบที่คุณชอบ

 

 

 

 

“การขายแบบนี้มันเป็นอะไรที่ต้องวัดใจกันเลยนะ ถ้าลูกค้าเข้าใจ ไม่แพง การตัดสินใจซื้อของแบบนี้มันเป็นเรื่องของราคาส่วนหนึ่ง แต่มันเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นด้วย  ทั้งลูกค้าที่เชื่อมั่นในการคัดเลือกของเรา และตัวเราที่เชื่อมั่นในความเปิดกว้างของลูกค้า”

 

 

 

 

 

 

 

ผึ้งตัวเล็กๆ จะพาคนๆ หนึ่งออกเดินทางได้ไกลแค่ไหน

 

 

 

 

“เราทำน้ำผึ้งเพราะอยากทำก็จริง ทำน้ำผึ้งแบบพ่อค้า แบบลูกทุ่ง แต่เราก็ตั้งธงไว้เหมือนกันว่าปีไหนเราจะโฟกัสเรื่องอะไร เมื่อก่อนเราขายแค่ว่าน้ำผึ้งจากแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ปีถัดมาเราขายเรื่องรสชาติที่ต่างกัน ปีถัดๆ มาเราเก็บข้อมูลว่าภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ มันต่างกันอย่างไร เรามีโจทย์ของเราทุกปี

 

 

 

 

“ปีที่แล้วโจทย์ของเราคือ ผึ้งแต่ละเดือนมีพรรณไม้ชนิดไหน เราก็จะจดข้อมูลว่า นายพรานคนนี้ส่งน้ำผึ้งดอกอะไร รสชาติไหน ช่วงเดือนไหน จังหวัดอะไร ปีนี้เราก็ยังโฟกัสเรื่องเดิม แต่เราต้องมีความแม่นยำมากขึ้น เช่นว่า ดอกไม้ชนิดเดียวกัน จากต่างถิ่น ต่างพื้นที่ ตัวไหนให้กลิ่นและรสชาติชัดที่สุดสำหรับเกสรดอกไม้ชนิดนี้ อีกอย่างที่เราจะทำในปีนี้ที่คือ เราก็จะทำในเรื่องของพรรณไม้ที่ให้รสชาติน้ำผึ้งแต่ละที่ว่าตรงนั้นมีพรรณไม้อะไร มันถึงเกิดรสชาติแบบนี้

 

 

 

 

“อีกอย่างตอนนี้ เราสนใจเรื่องการขยายพันธุ์ชันโรงในป่า โดยที่เราไม่ต้องรบกวนป่า ไม่ต้องตัดต้นไม้ ไม่กระทบป่า แต่ถ้าเราขยายพันธุ์พวกนี้ได้เยอะขึ้น เราจะสามารถส่งขายตัวชันโรงให้กับเกษตรกรในจังหวัด เพื่ออะไร เพื่อให้ชันโรงเป็นตัวผสมเกสร เพิ่มผลผลิตในพื้นที่นั้นๆ

 

 

 

 

“โจทย์ของเรากว้างขึ้นนะ มันไม่ได้อยู่ที่การทำน้ำผึ้ง และไม่ได้อยู่ที่การทำการค้าอย่างเดียว คือ ถ้าเราอยากได้เงินเยอะๆ เราออกอีเวนต์อย่างเดียวก็พอ ได้เงินแน่ ซื้อ ซื้อ ซื้อมา แล้ว ขาย ขาย ขาย มันง่ายที่สุดแล้ว แต่อันนี้เราอยากมาเจอองค์กร อยากมาเจอคน อยากมาส่งต่อและแลกเปลี่ยนความรู้มากกว่า ถามว่าเรื่องเงินสำคัญไหม ก็สำคัญเพราะเราก็เป็นพ่อค้าคนหนึ่ง แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ pain point หลักของเราเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว”

 

 

 

 

ไม้ว่าจะในฐานะของแบรนด์ พ่อค้า หรือนักสะสมน้ำผึ้ง สิ่งที่วีรวิชญ์มีมาเสมอและชัดเจนขึ้นตลอดคือ career path และเป้าหมายที่อยากให้ทั้งตัวแบรนด์ พราน พื้นที่ เครือข่ายเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมรวมถึงผู้ผลิตตัวจริงอย่างผึ้งป่าได้รับประโยชน์ไปด้วยกันจากธุรกิจของเขา เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่น้ำผึ้งบำรุงสุขเกิดขึ้นมา มันชีวิตของเขาเปลี่ยนไปไม่น้อย

 

 

 

 

“น้ำผึ้งสอนเรื่องธรรมชาติให้เรา ทำให้เราจากที่เคยเป็นคนใจร้อน ก็กลายเป็นคนใจเย็นมากขึ้น เมื่อก่อนเราทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ เราเข้าใจว่าเราต้องปรุงดิน ปรุงปุ๋ย ปรุงน้ำ แล้วเราจะได้ผลผลิตที่ดี แต่พอมาทำน้ำผึ้ง มันทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า สิ่งที่เราผลิต เราสร้างได้แค่ 60% นะ อีก 40% คือแมลง คือสัตว์ที่ผสมเกสร ที่ทำให้เราได้ผลผลิตเยอะขึ้น เราเลยมานั่งคิดว่า เราอยากเปลี่ยนความเข้าใจของเกษตรกรในบ้านเราว่าปุ๋ย ยา มันช่วยได้แค่ส่วนหนึ่งนะ ถ้าไม่มีแมลงต่างหาก ที่เราจะอยู่ไม่ได้เลย นี่คือสิ่งที่เราอยากส่งต่อด้วย

 

 

 

 

“น้ำผึ้งสอนให้เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจโลก เข้าใจธรรมชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้ เราเริ่มจากความไม่รู้เลย เราเริ่มจากการมีน้ำผึ้ง และเราชอบกิน แล้วเราก็รู้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องห่วงโซ่อาหาร เกษตรอินทรีย์ เราก็เข้ามาทำโดยที่ไม่ได้คิดอะไร แต่ตอนนี้เราได้สัมผัสไปถึงเรื่องแพทย์แผนไทย เวชสำอางค์ เรื่องอาหารการกิน เรื่องความเข้าใจของแต่ละชาติพันธุ์ น้ำผึ้งทำให้เราได้คุยกับเชฟ บาร์เทนเดอร์ บาริสต้า ผู้ป่วย แพทย์แผนไทย เวชสำอาง อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้บริโภค

 

 

 

 

“น้ำผึ้งทำให้เราได้เจอคนเยอะ ได้เดินทางมาไกล ไกลมาก ไกลจากที่เราฝันไว้เยอะเลย” เบนซ์ – วีรวิชญ์ ในนามของน้ำผึ้งป่าบำรุงสุข ปิดท้ายบทสนทนาของเราด้วยรอยยิ้ม 

 

 

 

 

(ส่วนฉันจบบทสนทนาด้วยการนึกถึงกรุน้ำผึ้งของแม่บนหลังตู้เย็น ซึ่งเป็นน้ำผึ้งเก่าเก็บที่ทุกคนในบ้านไม่กล้าใช้แต่ไม่กล้าทิ้งด้วยว่ามันผ่านเวลามานานหลายปีจนสีเข้มปี๋ —-

 

 

 

 

กลับบ้านครั้งหน้าเห็นทีจะต้องเปิดกรุมาทำ honey taste test บ้างซะแล้ว!)

 

 

 

 

ภาพประกอบจาก : Facebook BUM RUNG SUUK artisan natural honey

Share this content

Contributor

Tags:

คุยกับผู้ผลิต, น้ำผึ้ง

Recommended Articles

Food StoryKintaam ร้านไอศกรีมแซนด์วิชที่ทั้งคนทำและคนกินสนุกได้ ‘ตามอัธยาศัย’
Kintaam ร้านไอศกรีมแซนด์วิชที่ทั้งคนทำและคนกินสนุกได้ ‘ตามอัธยาศัย’

สองสาวจากเชียงใหม่กับไอเดียดีๆ ต่อยอดสิ่งที่รักสู่ร้านไอศกรีมแซนด์วิชสุดฮอต

 

Recommended Videos