เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ลองกิน “มตสึนาเบะ” ครั้งแรก หม้อไฟไส้วัว เมนูถิ่นแสนอร่อยที่ฮากาตะ

Story by ทีมบรรณาธิการ

ถ้าบอกว่าการได้กินของอร่อยระหว่างท่องเที่ยว คือความทุกข์ของนักเดินทาง ทุกคนจะเห็นด้วยไหม

 

 

 

 

ต้องขอออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้เป็นนักท่องเที่ยว ผมจะไม่นิยามตัวเองอย่างนั้น เพราะด้วยอาชีพของผมทำให้ต้องเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ อยู่เสมอ อย่างน้อยก็เดือนละครั้ง ไปทั่วประเทศเลยก็ว่าได้แล้วแต่ว่าที่ทำงานจะให้ผมไปที่ไหน แต่ก็มีแวะไปเที่ยวตามที่เที่ยวต่างๆ บ้าง ทำนองว่างานเสร็จแล้วก็แวะเสียหน่อยระหว่างทาง แต่ถ้าถามว่าตั้งใจเที่ยวเลยไม่ ก็คงบอกว่าไม่ ด้วยเหตุที่บอกมาผมจึงขอนิยามตัวเองว่าคือนักเดินทางมากกว่า

 

 

 

 

แต่ก่อนผมเคยสงสัยพ่อว่าทำไมชอบถามพนักงานว่าร้านนี้อะไรอร่อย ยังไงพนักงานก็ต้องบอกว่าอร่อยทุกอย่าง หรือไม่ก็เชียร์แต่ของแพงๆ เท่านั้น จนโตมาถึงได้รู้ว่าที่เค้าแนะนำคือเค้าต้องมั่นใจระดับนึงเลยนะ เช่นกันตามสถานที่ต่างๆ ก็จะมีเมนูประจำถิ่นที่แต่ละร้านอยากจะนำเสนอให้กับนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว ถ้าให้นึกเร็วๆ ก็ ปลาช่อนสิงห์บุรี หมูชะมวงเมืองจันท์ เต้าหู้ดำราชบุรี ไข่ครอบที่สงขลา ข้าวเกรียบปากหม้อญวนที่สกลนคร เมื่อเดินทางไปต่างถิ่นถ้าไม่ใช่คนจำเจหรือหมกมุ่นกับการกินผัดกะเพราทุกมื้อก็ต้องมีบ้างที่จะได้กินอะไรที่ไม่ได้หากินได้ในชีวิตปกติ ดังนั้นอาหารกับการเดินทางมันคู่กันอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

 

 

 

เรื่องของเรื่องคือช่วงต้นปีที่แล้วได้ไปเมืองฟุกุโอกะ เป็นช่วงที่ตั๋วเครื่องบินไปฟุกุโอกะราคายังไม่แรงนัก แม้ว่าจะเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือช่วงซากุระก็ยังไม่แพงเท่าไร แต่ที่แพงคือที่พัก เป็นการไปเที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรกของผม ด้วยเพราะมีสปอนเซอร์พาไปไม่อย่างนั้นก็คงไม่ได้ไป แต่จริงๆ แล้วผมชอบญี่ปุ่นมาตลอด ชอบอ่านมังงะ ดูอนิเมะ ดูซีรีย์ภาพยนตร์ญี่ปุ่น เพิ่งจะได้ไปก็คราวนี้เอง โปรแกรมของทริปนี้คือไปไหนก็ได้ในเกาะคิวชูโซนเหนือเพราะซื้อบัตร JR PASS แบบ 5 วันมา จะเป็น 5 วันที่ขึ้นรถไฟของบริษัท JR แบบเหมาๆ เราปักหลักอยู่ที่ฮากาตะแล้วก็ไปที่คุมาโมโต้ นางาซากิ ยุฟุอิน ดาไซฟุ โมจิโกะ

 

 

 

 

ก่อนไปก็คิดว่าคงไม่เสียเงินเรื่องอาหารมากนัก เพราะอาหารญี่ปุ่นส่วนมากก็หากินที่ไทยก็ได้ เพราะอย่างนั้นจะกินอะไรก็คงไม่ต่างกันไม่ตื่นเต้นเท่าไรหรอก วันแรกผมประเดิมมื้อแรกในญี่ปุ่นด้วยไก่ทอดที่สวนสาธารณะ ก่อนไปจบที่ข้าวหมูทอดทงคตซึ ซึ่งก็ไม่ได้ว้าวอะไรมากรสชาติไม่ต่างจากร้านอาหารญี่ปุ่นขึ้นห้างในไทย หรือร้านแถวสุขุมวิทสีลมเท่าไร ยิ่งพอวันต่อๆ มาได้ลองไปกินตามร้านต่างๆ อย่างข้าวแกงกะหรี่ ร้านราเมง หรือร้านเนื้อย่างก็ยังรู้สึกเฉยๆ

 

 

 

 

ถ้าจะว้าวก็จะเป็นอาหารที่ร้านสะดวกซื้อมากกว่า เราซื้ออาหารจากร้านสะดวกซื้อตั้งแต่วันแรกเลยมีอะไรอยากลองเยอะมาก ทั้งบะหมี่ ข้าวปั้น ของทอด ขนมปัง ขนมถุง นม น้ำชา น้ำผลไม้ เพื่อนร่วมทริปเองก็บอกว่าทุกครั้งที่เค้ามาก็อาศัยอาหารจากร้านสะดวกซื้อนี่แหละไม่ค่อยกินในร้านเท่าไร ตอนแรกๆ ก็คิดว่าทำไมฟังดูเศร้าจัง แต่พอเข้าวันที่สาม ที่สี่ ก็โอเคมันอร่อยจริงๆ น่ะแหละ หลากหลาย แล้วก็ราคาถูกด้วย

 

 

 

 

อีกสิ่งที่ผมว้าวมากคือข้าวกล่องรถไฟหรือเอกิเบน (คำว่า ‘เอกิ’ ที่แปลว่าสถานีรถไฟ กับคำว่า ‘เบน’ ที่ย่อมาจากเบนโตะ) ที่สถานีต่างๆ จะมีร้านขายเอกิเบนโดยเฉพาะเลย แต่ละร้านก็จะมีเอกิเบนหลากหลายมากๆ ราคาก็มีหลากหลายเช่นกัน

 

 

 

 

แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังไม่หมดความพยายาม เราพยายามหาข้อมูลว่าแต่ที่ที่จะไปมีอะไรน่ากินบ้าง แต่ก็มักจะพลาดไปเรื่อยๆ อย่างซูชิเนื้อม้าที่คุมาโมโต้ก็ไม่ได้กิน ข้าวตุรกี (ข้าวพิลาฟผัดกินกับหมูทอดคงทตสึและสปาเก็ตตี้) ที่นางาซากิก็ไม่ได้กิน แต่ก็ได้ลองกินอาหารตามร้านต่างๆ ก็พบว่ามีอร่อยครึ่งหนึ่ง เฉยๆ ครึ่งหนึ่ง แปลกจัง หรือว่าที่เราคิดว่าอาหารญี่ปุ่นนี่สามารถหากินได้ที่ไทยเป็นเรื่องจริง ทริปนี้จะมีอาหารร้านสะดวกซื้อกับเอกิเบนเป็นเซฟโซนจริงๆ เหรอ

 

 

 

 

จนกระทั่งวันที่กลับมาจากนางาซากิพอถึงฮากาตะพวกเรารู้สึกหิวและเพลียจากการเดินทาง เลยอยากจะหาร้านกินข้าวและนั่งพัก บริเวณสถานีฮากาตะอยู่ติดกับห้างสรรพสินค้ามีร้านอาหารมากมายโดยเฉพาะชั้นใต้ดิน ก่อนหน้านี้พวกเราได้แต่เดินมองแต่ยังไม่มีโอกาสได้แวะไป อย่างที่บอกว่าได้หาข้อมูลมาบ้างก็ได้รู้ว่าฮากาตะนอกจากจะต้องกินราเมงเส้นแบบฮากาตะ หรือเมนไทโกะ (ไข่ปลาหมัก) แล้วก็ยังมีมตสึนาเบะเป็นอาหารประจำถิ่น ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ ก็คือเป็นหม้อไฟที่มีกะหล่ำปลีกับไส้วัวเป็นหลัก มีใบกุ้ยช่าย พริกซอย กระเทียมหั่นแว่นเป็นส่วนประกอบ ทั้งหมดอยู่ในน้ำซุปเดือดๆ ในหม้อนาเบะ

 

 

 

 

พวกเราเลือกร้านนึงเพราะราคาไม่แรงนัก ในร้านมีคนเกือบเต็มทุกโต๊ะ หลังจากได้โต๊ะพนักงานเอาเมนูที่มีภาษาอังกฤษมาให้ดู ผมชี้ให้เค้ารู้ว่าพวกเราจะเลือกเซ็ตมตสึนาเบะสำหรับ 2 คน ตกราคาคนละ 1180 เยน ถ้าคิดเป็นเงินไทยก็คนละเกือบๆ 300 บาท ในเมนูมีให้เลือกระหว่างซุปมิโสะหรือโชยุ เราเลือกแบบมิโสะเพราะอยากได้น้ำซุปที่รสเข้มข้นหน่อย ในเซ็ตจะมีข้าวหรือโซบะให้เลือกสำหรับกินตอนท้ายกับนาเบะด้วย

 

 

 

 

 

 

 

ไม่นานหลังจากนั้นพนักงานเอาเตาแก๊สพกพามาวางบนโต๊ะ ตามด้วยหม้อสเตนเลสขนาดใหญ่ ในหม้อมีใบกุ้ยช่ายและพริกซอยเรียงอยู่ด้านบนกะหล่ำ ริมขอบหม้อมีก้อนสีขาวๆ เรียงอยู่รอบๆ ตอนแรกเข้าใจว่าเป็นมันหมูแต่พอดูดีๆ ไม่คุ้นกับสิ่งนี้เลย สรุปมันคือไส้วัว (มันไม่ได้มาเป็นวงๆ เหมือนไส้ที่ร้านปิ้งย่างเกาหลี) ใจเราอยากให้เค้าเรียงใบกุ้ยช่ายสวยเหมือนในรูปในเมนูหน่อย

 

 

 

 

พวกเรารอสักพักน้ำซุปสีเหลืองก็เดือด กะหล่ำค่อยๆ ยุบตัวลงไป ผมพบว่าพอกะหล่ำยุบลงไปหน้าตาของนาเบะก็เริ่มเหมือนรูปในใบเมนูแล้ว พอน้ำเดือดจัดเราค่อยๆ กดวัตถุดิบลงไป ด้วยความไม่แน่ใจว่าไส้วัวนี่ต้องต้มนานแค่ไหนเลยใช้เวลาสักพักใหญ่ น้ำซุปที่เดือดไอที่ลอยขึ้นมาพากลิ่นของใบกุ้ยช่ายลอยขึ้นเด่นขึ้นมา ระหว่างนั้นพวกเราก็เหลือบดูโต๊ะอื่นว่ากินอะไรกัน เหมือนไม่ค่อยมีใครกินมตสึนาเบะกันเลย หรือว่าเค้านิยมกินเฉพาะตอนหน้าหนาวเท่านั้นจริงๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

พอกะหล่ำปลีเริ่มใสแล้วตักใส่ถ้วยของเรา พยายามให้มีทุกอย่างทั้งกะหล่ำปลี กุ้ยช่าย ไส้วัว และพริก เราซดน้ำซุปก่อน น้ำซุปร้อนๆ เข้มข้นมาก กลิ่นและรสของกะหล่ำปลีกับกุ้ยช่ายทำให้รู้สึกสุขภาพดีเหมือนกำลังกินแกงจืด แต่พอกินไส้วัวเข้าไป โอ้โหด้วยความนุ่มของมันทำให้มันกระจายเต็มปากหลังจากเคี้ยวไปแค่ครั้งเดียว คนที่ไม่ชอบความมันน่าจะเลี่ยนอยู่ไม่น้อย แต่ซดน้ำซุปจนเจอกระเทียมกับพริกที่ช่วยชูรสชาติให้มีมิติมากขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

น้ำซุปร้อนมากจนต้องค่อยๆ กิน ด้วยเพราะหรี่ไฟเตาแก๊สไม่เป็นจะบอกให้เค้าปิดเตาก็พูดไม่เป็นอีก พอต้มไปนานเข้าน้ำเริ่มงวดรสชาติก็เข้มขึ้น พนักงานเอาน้ำซุปมาเติมให้ คงเพราะเห็นว่าทำไมสองคนนี้มันปล่อยให้น้ำเดือดจนพร่องไปขนาดนี้ได้ยังไง แล้วยิ่งพอพนักงานเติมน้ำ น้ำซุปก็ยิ่งข้นขึ้นไปอีก เราฉวยโอกาสนั้นพยายามสื่อสารกับพนักงานว่าขอเส้นโซบะมากินกับนาเบะ พนักงานก็เข้าใจด้วยเก่งจัง สักพักเส้นโซบะสองจับ (ทุกคนเรียกลักษณะนามของเส้นโซบะว่ายังไง ผมเคยเรียกแต่ขนมจีน) ก็มาเสิร์ฟ ผมแบ่งให้กับเพื่อนคนละจับ รู้สึกดีที่สั่งเป็นเส้นโซบะมาเพราะสามารถกินกับนาเบะที่ตอนนี้รสจัดขึ้นเยอะได้ ผมคีบเส้นโซบะมาจุ่มน้ำซุปในถ้วยแล้วซูดเส้นเข้าปาก ตามด้วยน้ำซุปเข้มข้นร้อนๆ (ตอนที่พิมพ์อยู่นี่ต้องกลืนน้ำลายไปด้วย)

 

 

 

 

พวกเราอิ่มแบบอิ่มมาก ปากมันแผล็บ ผมรู้สึกดีที่ได้มาลองกิน เพราะถ้าไม่ลองต้องรู้สึกเสียดายแน่ๆ สิ่งที่ผมเสียดายอีกอย่างคือผมจำชื่อร้านไม่ได้ ปกติผมจะเขียนรีวิวลงกูเกิ้ลแมพลงรูปที่ต่างๆ ที่ผมไป เพื่อจะได้จำได้ด้วยว่ากินอะไรที่ไหนวันไหนบ้าง แต่ทริปที่ไปญี่ปุ่นผมไม่ได้เขียนรีวิวร้านอาหารเลยไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม

 

 

 

 

(จากการมาเขียนเรื่องนี้ทำให้ต้องกลับไปรื้อรูปดูและค่อยๆ หาว่าร้านไหนในสถานีฮากาตะที่เสิร์ฟแบบนี้ ถ้วยชามแก้วหน้าตาแบบนี้ จนในที่สุดก็ได้รู้ว่าคือร้าน Oragasoba เป็นร้านที่เน้นเมนูโซบะ เลยมีเส้นโซบะให้กินกับนาเบะ และเป็นเหตุผลที่คนอื่นๆ ในร้านไม่กินนาเบะ เพราะเค้าตั้งใจมากินโซบะกัน ในที่สุดผมก็ได้เขียนรีวิวร้านนี้หลังจากผ่านไปเกือบสองปี)

 

 

 

 

มตสึนาเบะเลยกลายเป็นอาหารที่ติดอยู่ในใจเสมอมา (รูปโปรไฟล์ที่ใช้ในอินสตาแกรมก็เป็นรูปตอนกินมตสึนาเบะที่ร้านนี้) เวลามีใครไปฟุกุโอกะผมจะแนะนำให้กินมตสึนาเบะทุกครั้ง ผมลองเสิร์ชดูว่าที่ไทยมีมตสึนาเบะขายที่ไหนบ้าง ก็เจอว่ามีบ้างตามร้านอาหารญี่ปุ่นแถวสุขุมวิทไม่ก็สีลม จนวันนึงผมได้ไปแถวสุขุมวิทเลยลองเสิร์ชว่ามีร้านไหนขายมตสึนาเบะบ้าง จนเจอว่ามีร้านอิซากายะร้านนึงมีมตสึนาเบะด้วยเลยลองไปกิน

 

 

 

 

 

 

 

 

สิ่งที่เห็นอย่างแรกคือราคาเกือบ 400 บาทสำหรับหนึ่งที่ ราคาสูงกว่าที่ฮากาตะอีก แต่ก็พอเข้าใจว่าอาจจะเป็นวัตถุดิบนำเข้าเลยแพงกว่า ที่ร้านไม่มีซุปให้เลือกที่ได้มาเป็นน้ำซุปใสๆ ผมเคยกินแต่เส้นโซบะแต่ที่ร้านไม่มีเลยสั่งเส้นอุด้งมาแทน ปรากฏว่าตอนมาเสิร์ฟร้านไม่มีเป็นหม้อไฟแต่เป็นชามมาให้เลย หมายความน้ำซุปก็จะไม่ข้นไปกว่านี้แล้วเพราะไม่ได้ต้มต่อแล้ว ข้อเสียคือกินไปช่วงท้ายๆ น้ำซุปก็จะค่อยๆ เย็นลง เส้นอุด้งก็นอนนิ่งแช่อยู่ในน้ำซุปแล้วเส้นก็ให้มาเยอะพอกินไปก็อิ่มเส้น มาทางไส้ก็ให้น้อย ชิ้นเล็กและเหนียวกว่าที่เคยกินที่แรก

 

 

 

 

ผมจะไม่ใช้คำว่าไม่อร่อยแล้วกัน มันคงอร่อยสำหรับคนที่เคยกินที่นี่ครั้งแรก แต่ผมที่เคยกินที่อร่อยกว่านี้มาแล้วก็คงคาดหวังมาก หรือเป็นผมเลือกร้านไม่ดีเอง ถ้าเลือกร้านที่ขายอาหารญี่ปุ่นหรือราเมงไปเลยน่าจะอร่อยกว่านี้ ตอนนี้คิดว่าถ้าไม่กลับไปกินที่ฮากาตะก็คงต้องตระเวนไปกินตามร้านต่างๆ ในไทยจนกว่าจะเจอร้านที่ให้รสชาติที่คุ้นเคย หรือรอให้ร้านนั้นมาเปิดสาขาที่ไทย (เข้าใจคนที่ตามไปกินเวลาร้านแฟรนไชส์ญี่ปุ่นมาเปิดสาขาที่ไทยเลย)

 

 

 

 

ทั้งหมดที่เขียนนี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมบอกตั้งแต่ต้นว่า เวลาเราไปกินของอร่อยไกลๆ แล้วอยากกินอีกครั้งนึงมันลำบาก ไอ้มีความสุขตอนได้กินมันก็มีมันก็ใช่ แต่ปัญหาคือมันหากินที่อื่นอีกไม่ได้ ทำนองเดียวกันกับอยากกินอาหารกลางวันในโรงอาหารที่เคยกินสมัยอยู่มอต้น หรือร้านสุกี้ที่ปิดไปช่วงโควิด หรือหมูหวานของคุณยายที่เสียไปแล้ว พอคิดแบบนี้มตสึนาเบะดูจะยังพอหากินได้ง่ายกว่าไปเลย

 

 

 

 

 

 

 

 

มาถึงตอนนี้ทุกคนพอจะเห็นด้วยหรือยังว่าการได้กินของอร่อยระหว่างท่องเที่ยว คือความทุกข์ของนักเดินทางจริงๆ

 

 

 

 

เรื่องและภาพโดย: หลานยายนิด
ชายที่กำลังเข้าสู่วัยกลางคน พยายามจะทำอาหารในวัยเด็ก เพื่อที่จะทำให้ตัวเองย้อนเวลาไปมีความสุขเหมือนวันวาน

Share this content

Contributor

Recommended Articles

Food Storyกินดื่มที่จอร์เจียไม่เพลียพุง
กินดื่มที่จอร์เจียไม่เพลียพุง

ท่องเที่ยวเปิดประสบการณ์ในดินแดนผลิตไวน์แห่งแรกของโลก

 

Recommended Videos