food story
TAKEUCHI แกงกะหรี่ที่จัดจ้านทั้งรสชาติและหน้าตา ในย่านหนังสือเก่าใจกลางกรุงโตเกียว
Story by ทีมบรรณาธิการ
เดินทอดน่อง Jimbocho ย่านร้านหนังสือเก่าแก่ แหล่งกำเนิดสำนักพิมพ์ชั้นนำของญี่ปุ่น ที่กำลังผลักดันให้กลายเป็นเมืองแห่งแกงกะหรี่
ผู้เขียนซึ่งขณะนี้เรียนอยู่เมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น (เกียวโต) มีโอกาสเข้าไปทำธุระในเมืองหลวงใหม่ (โตเกียว) 1 วัน ก็เลยถือโอกาสเดินเล่นในเมืองใหม่นี้อีก ‘สั้น ๆ’ สัก 5 วัน
ย่านหนึ่งที่ได้มีโอกาสไปเดินเล่นในทริปนี้ ก็คือย่าน Jimbocho ย่านหนังสือเก่าที่มีประวัติศาสตร์กว่า 100 ปี เป็นย่านที่ให้กำเนิดและเป็นที่ตั้งสำนักพิมพ์ชั้นนำของญี่ปุ่น เช่น Shueisha เจ้าของ Shonen Jump และมีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่หลายแห่ง
ที่สำคัญ ในปัจจุบันยังเป็นย่านที่มีร้านหนังสือเก่ายังคงเปิดอยู่ร่วม 130 ร้าน ปะปนทั้งร้านเก่าแก่และร้านใหม่ แต่ละร้านก็จะมีหนังสือเฉพาะทางกันไป แน่นอนว่า คนต่างชาติตาใส ๆ ที่อยู่ญี่ปุ่นได้ไม่ถึงปีอ่านหนังสือภาษาญี่ปุ่นไม่ไหว ก็ได้แต่เดินดูเอาฟีลเอาไวบ์ กับเดินดูภาพ เดินดูหนังสือภาษาอังกฤษกันไป
หนังสือร้านต่างๆ ในย่าน Jimbocho
พอเดินได้สักพัก ท้องก็เริ่มร้อง แม้จะเป็นช่วงเวลาเที่ยง แต่ด้วยอากาศที่เริ่มเย็นลงในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฟ้าครึ้มๆ เลยทำให้อยากกินอะไรอุ่นๆ ร้อนๆ ซึ่งสิ่งที่เตะตาบ่อยๆ ตลอดการเดินคือร้านแกงกะหรี่ เพราะมีร้านเยอะจนผิดสังเกต
ร้านที่สะดุดตาระหว่างเดินเลือกร้านอาหารคือร้าน TAKEUCHI ทั้งที่ตั้งอยู่ในซอยเล็กๆ แต่คนกลับคนรอคิวอยู่เยอะ ทำให้เราเลือกเดินเข้าซอยไปดูโหวงเฮ้งของร้าน เมื่ออ่านเมนูและได้กลิ่นก็ทนไม่ไหว เป็นอันต้องต่อคิวกันไป
หน้าร้าน TAKEUCHI
ระหว่างนั่งเก้าอี้สำหรับรอคิวหน้าร้าน ด้วยความขี้สงสัย จึงเริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับย่านนี้และย่าน Kanda ซึ่งมี Jimbocho เป็นส่วนหนึ่งในย่าน รวมถึงย่านดังอย่าง Akihabara และย่าน Ochanomizu ที่ขายเครื่องดนตรีด้วย
พบว่าย่าน Kanda โดยเฉพาะย่าน Jimbocho กำลังถูกผลักดันโดยชุมชนให้เป็น ‘เมืองแห่งแกงกะหรี่’ จากการที่มีร้านแกงกะหรี่และคาเฟ่ที่ขายแกงกะหรี่ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะสไตล์ตะวันตก อินเดีย จีน ไทย ฯลฯ ร่วม 300 ร้าน โดยในปี 2011 ก็ได้เริ่มจัดการแข่งขัน Kanda Curry Grand Prix หนึ่งในการแข่งขันแกงกะหรี่ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นทุกปี
เว็บไซต์โปรโมตการท่องเที่ยวของเมือง Chiyoda ซึ่งเป็นที่ตั้งของย่าน เล่าเหตุผลว่าทำไมแกงกะหรี่จึงป๊อปในย่านนี้ ว่ากันว่า ก็เพราะแกงกะหรี่กินง่ายด้วยมือเดียว เลยทำให้สามารถอ่านหนังสือไปกินไปได้ อันที่จริงหากใครเคยเข้าไปในมังงะคาเฟ่ที่มีทั่วญี่ปุ่น ก็จะพบว่าร้านมักจะมีแกงกะหรี่บุฟเฟ่ต์ให้ตักกินกินฟรีรวมอยู่ในราคาค่าเข้าร้านแล้ว
ประตูหน้าร้าน แปะเมนูหลักและโปสเตอร์ เช่น โปสเตอร์แข่งกันแกงกะหรี่ และโปสเตอร์อีเวนต์ด้านวรรณกรรม
เวลาผ่านไปครึ่งชั่วโมง คุณป้าที่เหมือนเป็นภรรยาเจ้าของร้านก็มารับออเดอร์ก่อนเข้าร้าน เมนูของร้านจะมี 3 เมนูหลัก ได้แก่ แกงกะหรี่แฮมเบิร์กเนื้อ ซึ่งเบสจากสต็อกเนื้อ มีรสเผ็ดจัดจ้าน (ระบุเป็นภาษาญี่ปุ่นเลยว่า เผ็ดมากกก), แกงกะหรี่ทะเล ใส่ครีม เนย กุ้ง ปลาหมึก หอยเชลล์ ฯลฯ มีรสเผ็ดอ่อนลงมา และแกงกะหรี่สไตล์คีม่า รวมถึงก็จะมีท็อปปิ้งให้เลือกสรรกันไป ทั้งชีส เครื่องทะเล โยเกิร์ต ผัก ฯลฯ
เราได้กินแกงกะหรี่แฮมเบอร์เนื้อ (950 เยน) เพราะเป็นเมนูที่เหลือให้สั่ง 2 เซ็ตพอดี แต่ตัวอื่นหมดแล้ว จากการที่ได้นั่งอยู่เคาเตอร์ จึงได้เห็นเชฟซึ่งวุ่นกับการทำแกงกะหรี่ แม้รู้สึกว่าจะต้องรอนานนิดนึง แต่จะเห็นได้เลยว่า ‘ไม่ได้ทำช้า’ แค่ ‘มีเรื่องต้องทำเยอะ’ ต่างหาก
ภายในร้าน
ผลที่ได้จึงเป็นแกงกะหรี่ที่จัดจานให้มีสีสันจัดจ้านด้วยผักชนิดต่างๆ จากที่ดูรูปในอินเตอร์เน็ตของคนอื่นๆ องค์ประกอบก็จะแตกต่างกันไปตามวัน วันนี้องค์ประกอบมีทั้งปานีปูรี, ถั่วอบ Tomato Paste, ฟักทอง, มัน, กะหล่ำดอก, บีทรูท, แครอท, เลม่อน ฯลฯ เสริฟพร้อมกับซุปแกงกะหรี่ที่ก็มีถั่ว และวางแป้งคล้าย ๆ ปานีปูรีมาด้านบน และข้าวหุงแซฟฟรอนกับบ๊วยดอง
แกงกะหรี่แฮมเบิร์ก (950 เยน)
แกงกะหรี่ที่นี่เป็นสไตล์ที่ได้รับอิทธิพลผ่านตะวันตก (หรือก็คือ ‘แกงกะหรี่ญี่ปุ่น’ ที่เราคุ้นเคย) สำหรับเราที่เป็นคนไทยกินเผ็ด ก็ถือว่ารสจัดจ้าน คนไม่กินเผ็ดอาจกินยาก รสเค็มนำพร้อมอูมามิ บอดี้แน่นจากสต็อกเนื้อแบบชัดเจน มาพร้อมกับความจัดจ้านของเครื่องเทศหลากชนิด ตามหลังมาติดๆ ด้วยรสเปรี้ยวอมหวานอ่อนของมะเขือเทศ
นอกจากนี้ รู้สึกได้เลยว่าเครื่องเทศถูก ‘ปลุกให้ตื่น’ ด้วยน้ำมันมาแล้ว จึงรับรสอันหลากหลายและซับซ้อนของเครื่องเทศได้ชัดเจน แต่ก็ไม่ใช่รสที่ล้ำลึกหรือเข้าใจยาก ส่วนตัวรู้สึกว่า เป็นรสที่ยิ่งกินยิ่งอร่อย กินแล้วอยากตักเข้าปากเรื่อยๆ
ส่วนแฮมเบิร์ก ขอเรียกว่าเป็นสไตล์โฮมมี่ แต่เสิร์ฟแบบหนาๆ เพื่อให้เห็นภาพ ขอเปรียบเทียบกับร้านแฮมเบิร์กเฉพาะที่ราคาสูงขึ้นมาหน่อย แฮมเบิร์กประเภทนี้มักจะเป็นเนื้อวัวล้วน หรือผสมวัตถุดิบอื่นน้อยมาก โดยเนื้ออาจจะบดหยาบขึ้นมานิดนึง และเล่นกับสัดส่วนมันและเนื้อเป็นหลัก
แต่แฮมเบิร์กที่ TAKEUCHI จะเป็นเนื้อบดผสมหมูบดเนียนๆ พร้อมใส่ไข่ แป้งสาลีนิดๆ เกล็ดขนมปัง เป็นสไตล์แฮมเบิร์กที่คุ้นเคย แต่ให้มาชิ้นหนา คาดว่าเมื่อจี่แฮมเบิร์กบนกระทะให้ได้สีแล้ว น่าจะเอาไปตุ๋นในซอสเดมิกลาซ เมื่อจัดเสิร์ฟจะนำมาวางบนกระทะ Cast Iron เล็กๆ เข้าเตาอบ และราดแกงกะหรี่ภายหลัง
ด้านในเนื้อแฮมเบิร์ก
รสชาติของแฮมเบิร์กออกแนวกลมๆ ไม่เค็มหรือหวานโดด เมื่อกินกับแกงกะหรี่ที่รสจัดกับข้าวที่หุงออกมาเม็ดร่วนสวยเข้ากันอย่างลงตัว ผักที่ให้มาเป็นสวนก็ไม่ได้แค่ใส่ๆ มาเท่านั้น แต่สามารถกินไปพร้อมกับแกงกะหรี่ได้เข้ากัน หรือกินผักตัดไปด้วยทำให้ไม่เลี่ยน (แต่ผู้เขียนติดนิสัยกินผักให้หมดก่อน เพราะต้องกินอะไรจากที่ไม่ชอบที่สุดไปชอบที่สุด และแน่นอนที่ไม่ชอบที่สุดคือ ผัก…)
หลังกลับที่พัก ก็มีเวลาได้มาลองดูว่า ร้าน TAKEUCHI เคยไปแข่งหรือชนะอะไรกับเขาไหม? พบว่าในการแข่งของย่าน Kanda ในปี 2024 แม้ร้านนี้จะไม่ชนะ แต่ ‘แกงกะหรี่ทะเล’ ได้รับรางวัลพิเศษ ‘神田カレーマイスター賞’ (Kanda Curry Meister Awards) ซึ่งเป็นรางวัลที่ถูกเลือกโดยเหล่า Meister ประมาณ 5,000 คน โดยเป็นคนที่กินแกงกะหรี่ในลิสต์ของย่านนี้มาแล้วทั้งหมดหรือถึงเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงได้รับรางวัลพิเศษจากคณะกรรมการการแข่งขันอีกด้วย
ได้รางวัลมหาชนและรางวัลจากกรรมการขนาดนี้ ทำให้รู้สึกอยากกลับไปลองกินอีกสักรอบ
ใครที่เป็นนักอ่าน โดยเฉพาะแฟนนักเขียนชาวญี่ปุ่น ก็อยากเชิญชวนมาย่าน Jimbocho ซึ่งมักเป็นทั้งฉากในหนังสือหลายเล่ม (นิยายบางเล่มก็มีแปลไทยแล้ว) หรือเป็นย่านที่นักเขียนหลายคนเคยใช้ชีวิตประจำวันอยู่จริง หรือหากใครไปญี่ปุ่นบ่อยแล้ว อยากเปลี่ยนฟีลจากย่านหลักๆ ก็อยากเชิญชวนมาลองกินแกงกะหรี่ในย่านแห่งนักอ่านกันได้
เรื่องและภาพโดย: ศุภณัฐ อเนกนำวงศ์
มนุษย์ที่รักเมืองใหญ่ แต่จับพลัดจับผลูมาศึกษาด้านการเมือง ณ เมืองหลวงเก่าสโลว์ไลฟ์, ญี่ปุ่น
Contributor
Tags:
Recommended Articles
Recommended Videos