เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

วิทยา เลี้ยงรักษา กับป่ามะพร้าวและกองขยะจากเศษอาหาร

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

จับเข่าคุยกับลุงวิทยา เจ้าของสวนมะพร้าวไร้สารที่ขนขยะจากตลาดกลับไปทำปุ๋ย

ขาประจำตลาดกรีน ตลาดเพื่อสุขภาพในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลน่าจะคุ้นเคยกับภาพคุณลุงผิวเข้ม ผมสีดอกเลายาวประบ่า เฉาะมะพร้าวด้วยท่าทางชำนิชำนาญ รอบตัวเต็มไปด้วยเปลือกมะพร้าวสีเขียวสดกองเต็มพื้น และหากใครอยู่นานพอจนถึงตลาดวาย ก็จะเห็นคุณลุงคนเดียวกันนี้เดินเก็บขยะเปียกจากร้านอื่นๆ กลับบ้านด้วย

 

ลุงวิทย์–วิทยา เลี้ยงรักษา คือพ่อค้ามะพร้าวน้ำหอมคนที่เราพูดถึง มะพร้าวเฉาะใหม่ๆ เนื้อหนา น้ำเต็มลูกจนล้นเลอะเทอะทุกครั้งที่เจาะคือเอกลักษณ์ที่ซื้อใจลูกค้าได้ทั้งขาจรและขาประจำ ยิ่งได้เห็นต้นอ้อเขียวสดถูกนำมาใช้แทนหลอดยิ่งดึงดูดความสนใจเราได้มากขึ้นอีกเท่าตัว และเมื่อได้นั่งสนทนาอย่างละเอียด เราเห็นความน่าทึ่งของชาวสวนมะพร้าวจากอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐมคนนี้อีกมากจนต้องนำมาเล่าสู่กันฟัง

 

 

เห็นว่ามะพร้าวสวนลุงวิทยาแตกต่างจากมะพร้าวที่อื่น

 

ก็อาจจะต่าง เพราะมะพร้าวดั้งเดิมแต่ก่อนเนี่ย ตอนเนื้อบาง เนื้ออ่อน น้ำจะเปรี้ยว ถ้าเนื้อหนา น้ำถึงจะหวาน แต่เนื้อก็จะแข็ง พอสวนเราไม่มีสารเคมี ไม่มียา ไม่มีปุ๋ย เราก็ใช้เปลือกมะพร้าวที่เราไปปอกขายในตลาดหรือปอกเองในสวน เอากลับมากองไว้ที่โคนต้น ใช้ผักตบชวาจากท้องร่องสวน ใช้ขยะที่ขนกลับมาจากตลาด ก็ลองนึกถึงป่าแล้วกัน ในป่าไม่ต้องมีใครไปให้ปุ๋ยเขาก็ทิ้งใบไว้เป็นอาหารของเขาผมก็เลยคิดว่าเปลือกมะพร้าวเป็นปุ๋ยที่ดีที่สุดของต้นมะพร้าวของเรา ทำให้รสชาติมะพร้าวมันเด่นอย่างที่ทุกคนได้กิน

 

ดินที่เคยชินกับการต้องมีเคมี มีปุ๋ยไปหยอดให้เขากินตลอดเวลา พอเราหยุดปุ๊บ การเจริญเติบโตมันจะต่างไป กว่าดินจะกลับมามีชิวิต อย่างของผมเป็นไม้ยืนต้นนี่ใช้เวลาประมาณสามปีเลยนะ ต้องคอยให้อาหารเขา ผักตบชวาต้องหามาเลี้ยงตามท้องร่อง ต้องขนขยะมา ขนเปลือกเขียวมา แต่เท่าที่สังเกตตอนนี้พอดินสมบูรณ์แล้ว มันทำให้เนื้อมะพร้าวนุ่ม น้ำก็รสชาติกลมกล่อม คนที่ได้กินจะรู้ว่ามันแตกต่างจากมะพร้าวในท้องตลาดทั่วไป ลูกค้าหลายคนบอกว่ามะพร้าวสดของผมกลิ่นหอมหวานเหมือนมะพร้าวเผา เขาถึงยอมรับว่ามะพร้าวเราแตกต่างจากคนอื่น

 

 

แสดงว่ามะพร้าวในสวนดีขึ้นได้เพราะมีขยะ

 

ใช่ ขยะเปียกนะ ขยะพวกนี้เป็นประโยชน์ต่อต้นไม้ สวนผมต้องการขยะสดมากเท่าไรก็ได้ เพราะว่าต้นมะพร้าวหรือต้นไม้ในสวนไม่ว่าจะเป็นต้นหญ้าหรือต้นมะพร้าว มันใช้อินทรียวัตถุตลอดเวลาอยู่แล้ว การมีอินทรียวัตถุเยอะช่วยพัฒนาผลผลิตมะพร้าวของผม

 

แต่ไม่ค่อยมีใครทำหรอก มีหลายเจ้ามาดูเหมือนกัน แต่เห็นมีเจ้าเดียวที่จะทำให้ได้แบบนี้ ทำให้สวนรกๆ เหตุผลที่คนอื่นไม่กล้ามีกองขยะไว้ในสวน โดยเฉพาะในสวนมะพร้าวเพราะว่ามันจะมีด้วง แล้วด้วงก็จะขึ้นไปทำลายต้นมะพร้าว แต่ผมพยายามจะทำสวนให้เป็นป่ามากที่สุด เมื่อเราไม่ใช้สารเคมี พอมีด้วง มีหนอนด้วง มันก็จะมีงูมากิน ตัดวงจรของการที่ด้วงจะบินขึ้นไปทำลาย ถึงมันจะบินขึ้นไปบนต้น แล้วก็จะมีนก มีงูตามขึ้นไป เป็นวัฏจักร ครบในสวนของเรา

 

ถ้ายอมรับกันจริงๆ ทำแบบนี้เราจะลดต้นทุนไปได้เกือบทุกอย่าง เพราะปุ๋ยก็ไม่ต้องหา กาบมะพร้าวก็ปอกในสวน ยกมะพร้าวไปก็เบา เราไม่ต้องขนลูกเขียวไป บางทีเดี๋ยวนี้ขนลูกเขียวไปก็ไม่ได้เปลือกกลับมา เราก็พยายามปอก แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยทันหรอก (หัวเราะ) ปอกไปได้แค่ส่วนหนึ่ง เพื่อที่ว่าลูกค้าที่มาซื้อกลุ่มแรกๆ ก็จะได้กินมะพร้าวที่แช่น้ำแข็ง

 

เราไม่ได้คาดหวังว่าเราใช้ขยะ ใช้ผักตบชวา ใช้เปลือกมันแล้วผลผลิตดีขึ้น แรกเริ่มเลยแค่คาดว่าเราจะไม่ต้องไปซื้อปุ๋ยคอกมาใส่ เพราะใช้ตัวนี้แทน ส่วนการที่มะพร้าวรสชาติดีขึ้นเป็นผลพลอยได้

 

 

เอาขยะกลับมาทำเป็นปุ๋ย ต้องจัดการอย่างไรบ้าง

 

อย่างแรกก็คือขยะของเรา เปลือกเขียวที่เราปอก ก็ไม่ทิ้ง เอากลับมาด้วย อีกอย่างคือผมจะเอากระป๋องไปให้ร้านค้าไว้เลย สำหรับขยะเปียกพวกเศษอาหารเท่านั้น ผมจะไม่เอาถุงดำกลับมา เวลาเรานึกถึงขยะ เมื่อก่อนเราต้องนึกถึงถุงดำก่อน บางคนมีกระป๋องแล้ว ก็เอาถุงดำมารองกระป๋องเพื่อใส่เศษอาหารเศษน้ำอยู่ดี ตกลงเราก็เอาขยะมาใส่ขยะ มันก็เลยมีขยะไม่จบไม่สิ้น

 

ตอนนี้ผมจะให้เอาขยะเปียกมาใส่กระป๋อง ขยะแห้งอื่นๆ ให้เขาใส่แยกเองต่างหาก แล้วขอให้มันโปร่งใส อยู่ในที่ซึ่งทุกคนเห็นง่ายหน่อย เท่าที่สังเกตในตลาดจะมีขยะอยู่สองแบบนี้แหละ ไม่ได้จัดการยากอะไรมากมาย เศษอาหารมีน้ำตาล มันจะทำให้เปลือกมะพร้าว เศษพืชอะไรที่ผมเอามากองไว้ที่โคนต้นย่อยสลายไว กลายเป็นอาหารให้รากมะพร้าวที่เขาชอนไชขึ้นมาบนผิวดิน โดยที่เราไม่ต้องใช้ปุ๋ยอื่นๆ เลย

 

พอขนขยะกลับมาใช้ที่สวน เลยต้องใส่ใจเรื่องขยะมากขึ้น

 

เวลาผมขนขยะกลับมา ถ้ามีพลาสติกเราก็ต้องแยกพลาสติกอีก หรือถ้ามีขยะทั่วๆ ไป มันก็ปนกันไปหมด ถ้าไปอยู่ในตลาดที่เขาแยกเขาก็ต้องนั่งแยกขยะ แต่ถ้าเป็นแค่ขยะเปียกอย่างเดียวเลยก็ไม่ต้องแยก มันง่ายต่อทั้งเราทั้งลูกค้า

 

ตอนแรกเราใช้หลอดพลาสติกแหละ พอขนเปลือกขนขยะที่ลูกค้าทิ้งมา หลอดพลาสติกที่หลงอยู่เนี่ย มันสีเขียว สีแดง เรากลับเข้ามาสวนทีไรมันก็ยังอยู่ พอเราเอาหลอดต้นอ้อมาใช้แทนหลอดพลาสติก หลอดกระดาษมันเป็นธรรมชาติพอเราวางไว้ คนก็สนใจ เดินมาถาม

 

 

ต้นอ้อนี่ผมคิดจะเอามาทำหลอดตั้งนานแล้ว เพราะว่าเราเห็นอยู่ประจำ แต่เหตุผลที่ไม่กล้าเอามาทำตั้งแต่ทีแรกน่ะ ผมคิดว่ามันไม่น่าจะสะอาด คนจะถามเอาว่ามันใช้ได้เหรอ มันสะอาดหรือเปล่า แต่พอเราเอามาขายในตลาดกรีน การรณรงค์ให้คนเลิกใช้ขยะพลาสติก เลิกใช้หลอด เลิกใช้แก้ว เริ่มมา คนก็เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น

 

ผมเอาหลอดต้นอ้อไป ก็คือเอาต้นอ้อสดๆ ไปนั่งตัดทำเป็นหลอด บางทีคนไม่ได้สนใจมะพร้าวหรอก แต่พอเห็นต้นอ้อก็มาถาม นี่คือต้นไผ่ใช่ไหม ถ้าไม่ใช่แล้วมันต้นอะไร เดี๋ยวนี้คนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะนะ เขามาสนใจหลอดต้นอ้อ ก็ได้กินมะพร้าว เราก็ได้อธิบายไป ต้นอ้อก็เป็นผู้ช่วยขายมะพร้าวของผมอีกหนึ่งคน (หัวเราะ)

 

 

มะพร้าวของเราก็เลยกลายเป็นมะพร้าวปลอดขยะไปด้วย

 

เมื่อก่อนเราเคยชินกับการที่ลูกค้าต้องการอะไร เราจะสรรหาให้หมด ซื้อมะพร้าวลูกหนึ่งมีทั้งทิชชู มีทั้งถุงใส่ มีหลอดให้ แต่ตอนนี้เราปลอดเลย เพราะหลอดเราก็ไม่ใช้พลาสติกอยู่แล้ว ช้อนก็เอาช้อนที่เรากินข้าวนี่แหละ ช้อนสเตนเลส เอาไปให้ลูกค้าใช้ ให้เอามาคืนแล้วก็ล้างหมุนเวียนใช้ หรือเวลาเราปอกมะพร้าว เปลือกมันคือช้อนของลูกมะพร้าว บางคนใช้ฝาที่เรากระเทาะจนเห็นน้ำเอาไปตักเป็นช้อน ถุงพลาสติกเราก็งด ไม่ให้ลูกค้าเลย

 

 

แล้วมีลูกค้าบ่นบ้างไหม

 

ลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจนะ น้อยคนที่พอเราไม่ให้ถุงก็จะไม่ซื้อ เพราะผมไปแต่ตลาดกรีน ตลาดรักษ์โลกด้วย ลูกค้ารุ่นนี้ก็เริ่มเข้าใจ ส่วนใหญ่จะพกถุงมาเองแล้ว ถ้าไม่พกก็ไปวนรถมาแล้วกัน ผมยกขึ้นรถให้ คือถ้าเราช่วยกันในตลาดก็จะลดปริมาณการใช้พลาสติกไปได้เยอะ บางทีแยกขยะกันดีๆ ในตลาดที่ไม่ใช้พลาสติก มีขยะที่ต้องทิ้งแค่ครึ่งกระป๋องเอง

 

มะพร้าวเปลี่ยนแล้ว คนขายมะพร้าวก็เปลี่ยนตาม

 

ผมเองก็ไม่ค่อยใช้พลาสติก มันค่อยๆ ปรับตัวไปเรื่อย ถ้าเราปฏิเสธจนชินแล้ว พอเราซื้ออะไรสักอย่างแล้วเขาใส่ถุงพลาสติกมา มันจะกลายเป็นภาระแล้วว่าเราจะเอากลับไปใช้ซ้ำยังไงดี ใช้เมื่อไร ถ้าเราไม่มีเลยมันก็ปลดภาระเรา

 

เหมือนเมื่อก่อนเราผลักภาระไปให้คนอื่นเนอะ โยนทิ้งไปในถังขยะ แล้วแต่จะไปไหนก็ไม่รู้ ซึ่งทุกคนเห็นว่าใครๆ ก็ทำอย่างนี้ มีอะไรก็มาใส่ถังขยะแต่ไม่รู้ว่าขยะไปทางไหนต่อ ตอนนี้อยู่กับขยะเยอะ เห็นแล้วว่าการไม่สร้างขยะน่าจะดีที่สุด หมายถึงว่าไม่ใช้ถุงพลาสติก ใช้ถุงผ้าหรือใช้ปิ่นโตแทนกล่องโฟม น่าจะดีที่สุด

 

 

จากที่ผ่านมา พอเราจัดการขยะอย่างเป็นระบบมากขึ้น มันส่งผลอะไรกับใครบ้าง

 

อย่างหนึ่งที่ผมเห็นคือสวนเราดีขึ้น แข็งแรง มีคุณภาพ มะพร้าวออกผลผลิตต่อเนื่อง ต้นมะพร้าวนี่ธรรมดามันจะทิ้งลูกช่วงเดือนเมษายนพร้อมๆ กันเกือบทุกต้น แต่ว่าตอนนี้ ต้นนี้ผลผลิตหมดก่อน เขาพักต้น พอเขามีแรงเขาจะออกใหม่ ผลผลิตมันจะทยอยหมุนเวียนกัน แล้วถ้าเรามีอาหารคือขยะมาคอยบำรุงเขา ให้ดินดี ดินสมบูรณ์ เขาก็แข็งแรงขึ้น

 

ที่ตั้งใจว่าจะลดค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยเรื่องยาก็น่าจะเป็นจริงนะ อย่างน้อยมะพร้าวของผมก็พิสูจน์จากคนที่ได้กินน้ำมะพร้าว เนื้อมะพร้าวแล้วว่า มันเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งลดต้นทุนจนเหลือแต่แรงงานเราคนเดียว แถมเราก็บอกลูกค้าได้ว่า นอกจากอร่อยแล้ว ปลอดสารเคมีแล้ว คุณยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมจากการที่สวนเราเป็นสวนซึ่งเน้นเรื่องการลด ละ ขยะ ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น แบบนี้ถ้าเป็นโรงงานเขาก็อาจจะมีสิทธิพิเศษได้ลดภาษีด้วยเนอะ (หัวเราะ)

 

 

สำหรับผม เราจะเปลี่ยนขยะให้เป็นศูนย์ แต่ของผมน่าจะบวก เพราะผมเปลี่ยนขยะมาเป็นปัจจัยการผลิตในสวนของผม เศษอาหารกับเปลือกมะพร้าว ผมจะกำจัดขยะตรงนี้โดยการเปลี่ยนจากขยะมาเป็นอาหารของต้นมะพร้าว เอาขยะเปียกมาเป็นมะพร้าวซึ่งอร่อย แลกกลับคืนมาในรูปแบบของตรงข้าม ขยะที่เน่าเหม็นก็เปลี่ยนมาเป็นความหอมหวาน ในมุมมองของผม ขยะเป็นสิ่งสำคัญของผมแบบนี้

 

 

Share this content

Contributor

Tags:

คุยกับผู้ผลิต, อาหารออร์แกนิก

Recommended Articles

Food StoryKintaam ร้านไอศกรีมแซนด์วิชที่ทั้งคนทำและคนกินสนุกได้ ‘ตามอัธยาศัย’
Kintaam ร้านไอศกรีมแซนด์วิชที่ทั้งคนทำและคนกินสนุกได้ ‘ตามอัธยาศัย’

สองสาวจากเชียงใหม่กับไอเดียดีๆ ต่อยอดสิ่งที่รักสู่ร้านไอศกรีมแซนด์วิชสุดฮอต