เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

กินดีอยู่ดีตามหลักอายุรเวทอินเดีย

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

รู้จักหลักการกินตามสมดุลของธาตุ ที่จะทำให้คุณสุขภาพดีขึ้น

คำว่า อายุรเวท (आयुर्वेद – Ayurveda) มาจากศัพท์ 2 คำ คือ ayu ที่แปลว่าชีวิต และ veda ที่แปลว่าความรู้ คำว่าอายุรเวทจึงหมายถึงศาสตร์แห่งชีวิตค่ะ

 

 

 

 

ศาสตร์อายุรเวทเป็นศาสตร์ที่ปรากฎในคัมภีร์พระเวทรอง ซึ่งเป็นคัมภีร์อินเดียโบราณที่มีอายุมากกว่าสองพันปี โดยโครงสร้างแล้ว คัมภีร์อายุรเวทนับเป็นเป็นตำราแพทย์ศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกฉบับหนึ่งเลยทีเดียวค่ะ เนื้อหาโดยรวมคือแนวคิดว่าด้วยวิถีปฏิบัติเพื่อสร้างสมดุลย์ให้กับชีวิต ซึ่งครอบคลุมไปถึง การหายใจ การเคลื่อนไหว (โยคะ) ความคิดความอ่าน และแน่นอนว่าเรื่องอาหารการกินด้วยเช่นกัน

 

 

 

 

ธาตุทั้ง 5 อย่างอายุรเวท

 

 

 

 

ความเชื่อเรื่องธาตุเป็นพื้นฐานการคิดอย่างแพทย์ศาสตร์ตะวันออกหลายแขนงค่ะ เช่นลูกหลานคนจีนที่เติบโตมากับยาจีนและหมอแมะอาจคุ้นหูกับคำว่า ‘ธาตุทั้ง 5’ (ดิน น้ำ ไฟ ไม้ ทอง) และคนไทยหลายคนก็น่าจะคุ้นหูกับวลี ‘ดิน น้ำ ลม ไฟ’ เพราะเป็นความเชื่อเรื่อง ‘ธาตุทั้ง 4’ ตามหลักแพทย์แผนไทยนั่นเอง

 

 

 

 

คำว่าธาตุทั้ง 4 นี่แหละค่ะที่น่าสนใจมาก เพราะมันเป็นองค์ความรู้ที่การแพทย์แผนได้อิทธิพลมาจากหลักอายุรเวทอินเดีย จึงใกล้เคียงกันมากทีเดียว

 

 

 

 

คำว่า ‘สมดุลย์ชีวิต’ ตามหลักอายุรเวท หมายถึงสมดุลย์ของธาตุค่ะ โดยแนวคิดอย่างอายุรเวทเชื่อว่าจักรวาล ธรรมชาติ รวมถึงร่างกายของมนุษย์ ประกอบขึ้นจากธาตุทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศธาตุ (ช่องว่าง)

 

 

 

 

 

 

 

ตรีโทษ พลังงาน 3 แบบที่ขับเคลื่อนชีวิต

 

 

 

 

ธาตุทั้ง 5 คือส่วนประกอบพื้นฐานของร่างกายและจิตใจมนุษย์ก็จริง แต่สิ่งที่ทำให้ชีวิตมนุษย์ดำรงอยู่ได้คือพลังงานพื้นฐาน 3 ส่วนซึ่งเกิดจากการรวมกันของธาตุ หลักอายุรเวทเรียกพลังงาน 3 ส่วนนี้ว่าตรีโทษค่ะ

 

 

 

 

ตรีโทษ (Tri Dosha) ประกอบไปด้วย

 

 

 

 

วาตะ
วาตะประกอบขึ้นด้วยอากาศธาตุและลม (ลมในร่างกาย) ดังนั้นจึงหมายถึงพลังงานของการเคลื่อนไหวต่างๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจ การยืดหดของกล้ามเนื้อ (การขยับ) การบีบตัวของกล้ามเนื้อ (การเต้นของหัวใจและการบีบตัวของลำไส้)

 

 

 

 

ปิตะ
ปิตะคือธาตุไฟ (หรือบางตำราระบุว่าประกอบด้วยธาตุไฟและธาตุน้ำ) จึงหมายถึงอุณหภูมิร่างกายและระบบการเผาผลาญ การย่อยอาหาร และการดูดซึมอาหาร

 

 

 

 

กผะ
กผะประกอบด้วยธาตุดินและธาตุน้ำ (น้ำในร่างกาย) จึงหมายถึงโครงสร้างหลักอย่างกระดูก กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ เส้นเอน และของเหลวซึ่งทำหน้าที่ประสานธาตุต่างๆ ในร่างกาย

 

 

 

 

ตรีโทษหรือพลังงานทั้ง 3 ส่วนนี้จะทำงานสอดประสานกันในร่างกายของเรา เมื่อสภาวะใดสภาวะหนึ่งขาดสมดุลย์ไปก็จะทำให้เกิดความเจ็บป่วย จึงต้องปรับอาหารการกิน การหายใจ การเคลื่อนไหว และวิถีชีวิตทุกๆ ด้านเพื่อให้ร่างกายกลับมาสมดุลย์ตามปกตินั่นเองค่ะ

 

 

 

 

คน 3 แบบและอาหารการกินอย่างอายุรเวท

 

 

 

 

ตรีโทษในร่างกายคนแต่ละคนมีสัดส่วนที่ต่างกันไป ทำให้คนเรามีร่างกายและบุคลิกที่ต่างกัน รวมถึงทำให้คนเรามีอาการเจ็บป่วยพื้นฐานที่ต่างกัน จึงต้องปรับอาหารการกินและการใช้ชีวิตให้ต่างกันไปด้วย ผู้ที่ศึกษาหลักอายุรเวทอินเดียมักแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่มคร่าวๆ ตามพลังงานหลัก ดังนี้ค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

คนที่หนักไปทางวาตะ (ลมและอากาศธาตุ)

 

 

 

 

มักเป็นคนที่มีรูปร่างเล็ก ผอมบาง ไม่ชอบอยู่นิ่ง คิดเร็วทำเร็วเปรียบได้กับพลังของสายลม มักมีปัญหาเรื่องการย่อย โดยเฉพาะการย่อยเนื้อสัตว์ จึงมักมีอาการท้องผูก ท้องอืด นอนไม่หลับอยู่เสมอ จึงควรกินผักและสมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยย่อยอาหาร ขับลม มีรสเผ็ดเล็กน้อย ซึ่งจะเป็นผักสมุนไพรที่มีรสเผ็ดอย่าง พริก ขิง ขมิ้นชัน กระชาย กานพลู และผักใบที่มีกลิ่นหอม เช่น สะระแหน่ โหระพา ผักชี ผักไผ่ รวมถึงควรเลือกอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ผลไม้เนื้อนิ่ม ฉ่ำน้ำ อาหารที่ปรุงโดยการต้ม นึง ลดผักดิบ เนื้อสัตว์ และอาหารย่อยยากทั้งหลายก็จะช่วยให้ระบบการย่อยอาหารมีปัญหาน้อยลง

 

 

 

 

นอกจากนี้แล้วคนกลุ่มวาตะยังมักผิวแห้ง ตาแห้ง หนาวง่าย จึงควรเพิ่มอาหารจำพวกผักหัวอย่าง เผือก มัน รวมถึงข้าว ถั่ว และธัญพืชอย่างงาด้วย เพราะจะช่วยให้ความชุ่มชื้นและให้พลังงานกับร่างกายได้อย่างดีเยี่ยม

 

 

 

 

กิจกรรมที่ควรเพิ่ม คือการออกกำลังกายที่เน้นความสมดุลย์ของการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง เช่น โยคะ พิลาทิส หรือการเดินชันในความเร็วที่พอเหมาะ

 

 

 

 

 

 

 

คนที่หนักไปทางปิตะ (ไฟ) มักจะขี้ร้อน ขี้หงุดหงิด เหงื่ออกมาก กินจุ หิวบ่อย แต่มีรูปร่างสันทัด ไม่ผอมไม่อ้วน เพราะมีระบบการย่อยและการเผาผลาญที่ดี ข้อเสียของคนที่หนักไปทางปิตะคือมักมีปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูง เป็นผื่นแสบร้อน ท้องเสียบ่อย เป็นแผลตามทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นแผลร้อนใน แผลในปลาก และแผลในกระเพาะหรือลำไส้ เพราะระบบย่อยอาหารทำงานมาก

 

 

 

 

คนกลุ่มนี้จึงเหมาะกับกินอาหารที่เย็นอย่างใบผักสีเขียวและผักสีขาว ควรเน้นแป้งไม่ขัดสีมากกว่าแป้งขาว และควรกินอาหารสด (อาหารที่ผ่านความร้อนน้อย ปรุงน้อย รวมถึงผักสดต่างๆ) รวมถึงควรลดอาหารที่มีไขมันสูง มีน้ำมันมาก ปรุงรสจัด ใส่เครื่องเทศมาก รวมถึงควรลดกาแฟและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย

 

 

 

 

กิจกรรมที่ควรเพิ่ม คือกิจกรรมที่ช่วยให้สงบและมีสมาธิ เช่น การฝึกลมหายใจ การว่ายน้ำ

 

 

 

 

 

 

 

คนที่หนักไปทางกผะ (ดินและน้ำ) มักจะเป็นคนใจเย็นเหมือนน้ำและมั่นคงเหมือนผืนดิน ผิวดี ผมหนา เคลื่อนไหวช้า ง่วงบ่อย รูปร่างท้วม น้ำหนักขึ้นง่ายเพราะระบบการย่อยอาหารทำงานได้ช้ากว่าคนกลุ่มอื่น จึงควรเพิ่มอาหารรสเผ็ดร้อนอย่างเครื่องเทศ พริก พริกไทย ขิง ข่า ขมิ้น เพื่อเสริมการทำงานของระบบเผาผลาญ ควรเน้นโปรตีนที่มีไข่มันต่ำอย่างเนื้อปลา ไข่ขาว นมถั่วเหลือง ถั่วลูกไก่ ควรเพิ่มผักที่มีเส้นใยมาก เช่น ผักใบผักยอด และผลไม้ที่ไม่หวานมากอย่างแอปเปิล แพร์ เบอร์รีต่างๆ เพื่อให้อยู่ท้องและลดความหิวระหว่างมื้อ จะทำให้ควบคุมน้ำหนักได้ง่ายขึ้น

 

 

 

 

อาหารที่คนกลุ่มนี้ควรเลี่ยงคืออาหารไขมันสูง น้ำตาลสูง แป้งมาก โดยเฉพาะของหวานและน้ำหวานต่างๆ นอกจากนี้ยังควรลดอาหารจำพวกผักหัว ถั่วต้น เนื้อแดง และผลไม้ที่มีรสหวานจัดอย่างมะม่วง ลำไย ทุเรียน อินทผลัม ฯลฯ

 

 

 

 

กิจกรรมที่ควรเพิ่ม กิจกรรมกลางแจ้งหรือกิจกรรมที่มีการขยับตัวมาก การเดินป่า เดินระยะไกล วิ่ง เต้นแอโรบิค ออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง รวมถึงกีฬาที่ผสมผสานการเคลื่อนไหวหลายๆ แบบอย่างฟุตบอล บาสเก็ตบอล แบตมินตัน ปิงปอง (ทั้งนี้ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญควบคู่ไปด้วยเพื่อไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บนะคะ)

 

 

 

 

แต่กระนั้นก็มีหลักที่คนทุกคนควรปฏิบัติให้เป็นนิตย์ด้วย เช่น 
– ทำความสะอาดร่างกายก่อนมื้ออาหาร 
– ควรกินอาหารที่ปรุงรสไม่จัด แต่มีครบทั้ง 6 รสจากวัตถุดิบ คือ หวาน เปรี้ยว เค็ม เผ็ด ขม ฝาด อย่างสมดุล เหมาะกับร่างกายและจิตใจของแต่ละคน
– กิจอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ ในอุณภูมิที่อุ่นพอดี ไม่ร้อนและไม่เย็นเกินไป
– เลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารที่ผ่านการปรุงมากเกินไป
– นั่งกินอาหารในที่ที่สบายและสงบ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด (คำละ 32 ครั้ง) และควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างกินอาหารเพื่อให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดี
– จัดการอาหารมื้อเที่ยงให้เป็นมื้อที่ใหญ่ที่สุดของวัน เน้นพลังงานและสารอาหารที่ครบถ้วน เพื่อให้มีพลังงานตลอดทั้งบ่าย และไม่หิวก่อนมื้อเย็น
– หลังมื้ออาหาร ควรทำกิจกรรมที่ได้ขยับตัวเบาๆ เช่น เดิน 100 ก้าว เพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี
– กินมื้อเย็นแต่พอประมาณ ก่อนเวลานอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมงเพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาย่อยอาหาร จะทำให้หลับง่ายและหลับสนิททั้งคืน
– กินอาหารแค่ให้พออิ่ม (หายหิว) ไม่กินจนแน่นท้อง เพื่อให้ย่อยง่ายและรักษาน้ำหนักตัวได้
– ไม่กินจุกจิกระหว่างมื้ออาหาร
– จิบน้ำทีละน้อย แต่จิบตลอดทั้งวันให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ไม่ดื่มน้ำเย็น ไม่ดื่มน้ำครั้งละมากๆ และไม่ควรดื่มน้ำก่อนหรือหลังมื้ออาหารทันที

 

 

 

 

อายุรเวทเรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด

 

 

 

 

องค์ความรู้เรื่องอายุรเวทศาสตร์สืบทอดมานานนับพันปีจึงมีความละเอียดอ่อนมาก และแตกแขนงออกไปอย่างหลากหลาย เป็นต้นว่า บางตำราหรือบางสำนักอาจแบ่งกลุ่มคนโดยยึดตามวันเวลาที่เกิด หรือตามภูมิภาคที่เกิดก็ได้ แถมหลักในการเลือกกินอาหารสำหรับคนแต่ละกลุ่มก็อาจมีรายละเอียดหรือข้อปฏิบัติที่ต่างกันไปอีก

 

 

 

 

ฉันเป็นเพียงคนที่สนใจอาหารทางเลือกและการดูแลสุขภาพองค์รวมคนหนึ่งเท่านั้นค่ะ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรเวทแต่ประการใด ข้อมูลทั้งหมดทั้งมวลที่เล่าไว้ข้างต้นจึงเป็นเพียงหลักการคร่าวๆ กว้างๆ ไว้ให้ผู้อ่านทุกท่านได้ใช้เป็นแนวทางในการศึกษาเพิ่มเติม และไว้ลองสังเกตร่างกายจิตใจตัวเองเบื้องต้นนะคะ

 

 

 

 

โลกของอายุรเวทคงมีให้เรียนรู้ได้อย่างไม่สิ้นสุด ฉันเองก็กำลังพยายามเริ่มเรียนรู้ศาสตร์อายุรเวทผ่านห้องครัวเล็กๆ ของตัวเองอยู่ และถ้าคุณผู้อ่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ฉันคิดว่าคุณก็คงจะสนใจศาสตร์อายุรเวทไม่น้อยไปกว่าฉันด้วยเช่นกัน ขอเชิญมาเป็นเพื่อนเรียนรู้ในโลกอายุรเวทไปด้วยกันในบรรทัดนี้นะคะ

 

 

 

 

धन्यवाद 🙏

 

 

 

 

ข้อมูลจาก
Ayurvedic
10 Rules for an Ayurvedic Diet
The Ayurvedic Diet: 10 Basic Principles
What Is the Ayurvedic Diet? Benefits, Downsides, and More
What Is an Ayurvedic Diet? A Detailed Scientific Guide to Cooking and Eating According to Ayurveda

Share this content

Contributor

Tags:

อาหารสุขภาพ, อาหารอินเดีย, อาหารเป็นยา

Recommended Articles

Food Storyแพท พัทริกา นักเขียนและนักเดินทางผู้เชื่อว่าอาหารคือประตูสู่อินเดียที่ดีที่สุด
แพท พัทริกา นักเขียนและนักเดินทางผู้เชื่อว่าอาหารคือประตูสู่อินเดียที่ดีที่สุด

ว่าด้วยอาหารแขกกับสาวไทยหัวใจอินเดียเจ้าของเพจ 'ชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก'

 

Recommended Videos