food story
งาขี้ม้อน สุดยอดงาไทยที่มีโอเมกา 3 และ 6 เทียบเท่าปลาทะเลน้ำลึก
Story by ศรีวิการ์ สันติสุข
งาขี้ม้อนอุดมด้วยคุณประโยชน์พร้อมกลิ่นหอมมันเป็นเอกลักษณ์
ตามกาดคนเมืองช่วงหน้าหนาวมีงาขี้ม้อนขายเสมอ ละอ่อนคนเมืองจะได้กินขนมลำๆ จากงาขี้ม้อนก็เฉพาะหน้านี้เท่านั้น งาขี้ม้อนนั้นมีกลิ่นหอมมันเป็นเอกลักษณ์ คนเมืองใช้งาขี้ม้อนทำขนมหลายอย่าง เมื่อเกี่ยวข้าวเหนียวใหม่ได้ จะเอาข้าวเหนียวใหม่นึ่งสุกร้อนๆ คลุกกับงาขี้ม้อนตำละเอียด ได้เป็นข้าวหนุกงา บ้านใดตัดอ้อย เคี่ยวน้ำตาลอ้อยได้ก็เอามาผสมงาขี้ม้อนตำละเอียด ทาบนข้าวแป้ง (แป้งข้าวเหนียวขาวหรือข้าวเหนียวดำผสมน้ำ) ที่เพิ่งปิ้งจนสุก กลายเป็นข้าวปุก เวลาทำข้าวหลาม ข้าวต้มมัด ใส่งาขี้ม้อนไปด้วยก็เคี้ยวกรุบดี หรือคลุกกับน้ำตาลอ้อย น้ำผึ้ง ข้าวพอง ถั่วลิสง อัดเป็นแผ่น เคี้ยวกิ๋นลำ ชาวไทใหญ่เรียก ‘งาโย่ว’
งาขี้ม้อนมีชื่อเรียกหลายชื่อ บางคนเรียกสั้นๆ ว่า ‘งาม้อน’ ชาวกะเหรี่ยงในแม่ฮ่องสอนเรียก ‘นอ’ ชาวไทใหญ่เรียก ‘งามน’ บ้างเรียก ‘งาหอม’ เนื่องจากตอนสุกมีกลิ่นหอม หรือเรียก ‘งาแดง-ดำ’ เพราะมีสีน้ำตาลหม่นคล้ายกับสีดำแดงปนกัน รูปร่างหน้าตาของต้นงาขี้ม้อนคล้ายกับต้นกะเพราหรือโหระพา ต้นใดสมบูรณ์จะสูงเกือบท่วมหัว เมื่องาขี้ม้อนแก่เมล็ดด้านในจะเป็นสีน้ำตาล ต้นงาขี้ม้อนแก่จะถูกตัดกองไว้ ตากแดดให้แห้ง พอแห้งดีชาวบ้านจะใช้วิธีเขย่าให้เมล็ดงาขี้ม้อนหล่นลงบนผืนผ้าใบหรือผ้ายาง เขาว่าจะปล่อยให้เมล็ดงาแห้งไปกับต้น โดยไม่ตัดต้นมาตากแดดไว้ก่อนไม่ได้ เพราะจะทำให้เมล็ดร่วงลงดินหมด ถ้าร่วงลงดินไปหมดก็เป็นอันไม่ต้องได้กินกัน วิธีนำงาขี้ม้อนมาทำขนม พ่ออุ้ยแม่อุ้ยแนะนำกันมาว่า ให้ฝัดเอาเศษผงเศษฝุ่นออกก่อนเลือกเมล็ดดี ถ้ามีเศษอะไรปนมาเวลาคั่วจะมีกลิ่นเหม็นไหม้ กินบ่ลำ เสร็จก็ล้างน้ำหลายๆ ครั้งจนสะอาด แล้วสะเด็ดน้ำพอหมาด ค่อยคั่วในกระทะให้สุกหอม พอได้งาขี้ม้อนสุกก็เอามาทำขนมลำๆ ได้ละ
จริงๆ แล้วงาขี้ม้อนเป็นอาหารที่นิยมรับประทานกันในแถบเอเชียเมื่อนานมาแล้ว และทางภาคเหนือของประเทศไทย เช่นจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และพะเยา ก็มีการปลูกงาขี้ม้อนกันอย่างแพร่หลาย แต่ชื่อของงาขี้ม้อนเพิ่งมาเป็นที่รู้จักในหมู่คนรักสุขภาพเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะงาขี้ม้อนจัดเป็นสุดยอดงาของไทยที่มีคุณค่าทางโภชนาการเทียบเท่าปลาทะเลน้ำลึก โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรน่าน สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 เชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาวิจัยทำให้ทราบถึงคุณประโยชน์ของงาขี้ม้อนหลายข้อ
เป็นแหล่งรวมโอเมกา 3 และ 6
งาขี้ม้อนเป็นธัญพืชเพียงไม่กี่ชนิดบนโลกที่มีโอเมกา 3 และ 6 ในปริมาณที่ใกล้เคียงกับปลาทะเลน้ำลึก โดยมีปริมาณโอเมกา 3 มากถึงร้อยละ 56 และมีโอเมกา 6 ร้อยละ 23 ทั้งโอเมกา 3 และ 6 นี้มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาทและสมอง ช่วยบำรุงสมอง ทำให้สมองปลอดโปร่ง มีความจำที่ดี แล้วยังทำให้สารสื่อประสาททำงานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
อุดมด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส
งาโดยปกติมีแคลเซียมในปริมาณสูงอยู่แล้ว โดยเฉพาะงาขี้ม้อนที่มีทั้งแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูงในระดับที่เพียงพอต่อร่างกาย โดยในผู้ที่ต้องการแคลเซียม เช่นเด็กและผู้สูงอายุ อาจใช้วิธีผสมงาขี้ม้อนบดละเอียดลงไปในอาหารแต่ละมื้อ เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสไปใช้ซ่อมแซมกระดูกและฟัน ไม่ให้เปราะหรือแตกง่าย และยังช่วยลดความเสี่ยงโรคกระดูกอ่อนในเด็กและโรคกระดูกพรุนในวัยสูงอายุอีกด้วย
มีวิตามินบี
วิตามินบีในงาขี้ม้อนช่วยชะลอการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย ที่มักจะเกิดกับผู้สูงอายุ บำรุงสมองไม่ให้สมองเสื่อมและลดอาการไมเกรน ส่วนในผู้ที่ได้รับวิตามินบีไม่เพียงพอจะทำให้แก่เร็ว มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ เช่น เสี่ยงต่อการเป็นหมัน อีกทั้งยังมักป่วยเรื้อรังหรือป่วยบ่อย โดยโรคที่มักเกิดขึ้นกับผู้ที่ขาดวิตามินบีมีหลายโรคเช่น เหน็บชา ปากนกกระจอก งูสวัด
ช่วยยับยั้งมะเร็ง
งาขี้ม้อนเป็นธัญพืชที่อุดมไปด้วยสาร ‘เซซามอล’ โดยสารชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถยับยั้งการสร้างโปรตีน Cyclin D1 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดมะเร็ง สถาบันที่มีชื่อเสียงจากอเมริกาได้ออกมาการันตีว่า เซซามอนที่พบมากในพืชจำพวกงาสามารถลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งบางชนิดได้
ลดไขมันในเลือด
บางส่วนในหนังสือ ‘สมุนไพรลดไขมันในเลือด’ โดย เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก ได้หยิบยกการทดลองของการใช้งาขี้ม่อนในแต่ละประเทศ ทั้งในแถบเอเชียอย่างจีนและทางฝั่งของอเมริกาว่า งาขี้ม้อนมีคุณสมบัติลดไขมันในเส้นเลือดได้ดี โดยนำงาขี้ม้อนมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นยาแคปซูลเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูง พบว่าผู้ป่วยมีปริมาณไขมันลดลง น้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และยังช่วยเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ป่วยอีกด้วย
งาขี้ม้อนนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งขนมพื้นบ้านตามที่กล่าวไปด้านบน นำไปทำขนมต่างๆ อย่างข้าวหลาม คุกกี้ งาขี้ม้อนแผ่น นำเมล็ดงาขี้ม้อนไปสกัดเป็นชาไว้จิบ หรือจะสกัดเอาน้ำมันมาปรุงอาหารจำพวกเมนูสลัด ผัด หรือทอดก็ได้ แม้แต่จะกินงาขี้ม้อนดิบๆ ก็ได้ โดยกินเหมือนของกินเล่นได้เลย
Contributor
Tags:
Recommended Articles
Recommended Videos