ดอกงิ้ว ต้นงิ้ว กับความเชื่อและอาหารของคนล้านนา
“จ้าตเจื๊อต้นงิ้ว ฮู้ว่ามีหนาม แต่ดอกมันงาม อ้ายตึงจะขึ้น” หนึ่งในกำบะเก่าเล่าอู้ของคนเมือง (คนล้านนา) ที่เล่าถึงความผูกพันและมุมมองที่มีต่อความงามของดอกงิ้ว
ดอกงิ้วที่ว่านี้ไม่ใช่ดอกงิ้วหนามยาวเป็นคืบอย่างที่เห็นตามจิตรกรรมฝาผนังในวัด แต่เป็นดอกงิ้วแดงหรือดอกงิ้วบ้านธรรมดาๆ ที่จะอวดดอกสีแดงสดในช่วงปลายฤดูหนาว เข้าฤดูร้อน ดอกงิ้วบ้านแสดงตัวแค่ปีละหน บานอยู่ชั่วเดือนก็ร่วงหมด แต่ ณ ขณะที่ดอกสีแดงบ้านสะพรั่งต้นงิ้วจะละใบทั้งหมด ทำให้เห็นดอกงามๆ แต้มฟ้าชัดเจน
ส่วนคำบะเก่าที่ว่าจะฝ่าดงหนามขึ้นไปเด็ดดอกงิ้วนั้น แน่นอนว่าย่อมเกี่ยวข้องกับศีลข้อ 3 ที่ว่าด้วยการผิดลูกผิดเมียผู้อื่นอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อมีเรื่องของความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวด้วย ต้นงิ้วงามก็กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความผิดบาปและการลงโทษไปเสีย เด็กๆ รุ่นหลังจึงไม่ใครจะอยากสุงสิงกับต้นงิ้วมากนึก แม้ดอกงิ้วจะงามขนาดไหนก็ตาม
ผิดกับคนรุ่นป้ออุ้ยแม่อุ้ย (ปู่ยาตายาย) ที่เห็นประโยชน์และความอร่อยของงิ้ว ประโยชน์อย่างแรกคือฝักงิ้ว เมื่อดอกสีแดงสวยนั้นร่วงหล่น เกสรที่ถูกผสมก็จะพัฒนาจนกลายเป็นฝักรูปกระสวย ขนาดยาว 6-8 นิ้ว ด้านในฝักจะมีใยสีขาวสะอาด เมื่อแกะออกมาตากให้แห้ง ตีให้ฟูแล้วก็ใช้เป็นนุ่นยัดหมอน ยัดที่นอน เส้นใยธรรมชาติแบบนี้ว่ากันว่าหนุนนอนสบายแถมยังทานทนดีนัก
แต่กว่าต้นงิ้วจะออกดอก ติดฝักให้ใช้งานได้ ก็เมื่อมีอายุย่างเข้า 5 ปี ต้นสูงชะลูดเสียดฟ้า ฝักงิ้วเมื่อแก่จัดก็จะแห้งและแตกออก ใยสีขาวด้านในจะลอยฟุ้งไปทั่ว นำมาใช้งานไม่ได้ ฝักงิ้วที่แก่กำลังดีจึงควรเก็บคาต้นเท่านั้น และไม่ต้องเดาเลย หนามแหลมๆ นั้นไม่เป็นมิตรกับการปีนขึ้นไปแน่ นักเก็บฝักงิ้วจึงต้องใช้ ‘ทอย’ หรือลิ่มไม้ตอกขึ้นไปเป็นฐานให้เหยียบปีน เพื่อสอยเอาฝักงิ้วงามๆ มาใช้
ข้อพึงระวังที่นักเก็บงิ้วรู้กันดีก็คืองิ้วเป็นไม้เนื้ออ่อน กิ่งบางๆ จึงเปราะและหักง่าย หากเผลอเหยียบพลาด ไม้เนื้ออ่อนๆ นั้นก็อาจหักจนทำให้ต้องเจ็บเนื้อเจ็บตัวกันมานักต่อนัก เหตุนี้เองคนเก็บฝักงิ้วจึงเหลือน้อยลงๆ จนแทบหาไม่พบแล้วในพ.ศ. นี้
คุณูปการอีกข้อหนึ่งของต้นงิ้วก็เกิดจากการเป็นไม้เนื้ออ่อนอีกเช่นกัน งิ้วเป็นไม้เนื้ออ่อนจึงโตเร็ว แถมยังลำต้นยาวตรง เป็นลักษณะที่พอเหมาะพอดีกับการใช้ทำโลงศพ เพราะจัดการง่าย ไม่ต้องใช้ฝีไม้ฝีมือมากอย่างไม้เนื้อแข็ง ดังนั้นแม้จะออกดอกงามสะพรั่งทุกปี แต่ในอดีตก็ถือกันว่าไม่ควรปลูกต้นงิ้วไว้ใกล้บ้าน เพราะเป็นอัปมงคล หรือเป็นการแช่งชักคนในบ้านว่าให้ตายวันตายพรุ่ง แต่หากวิเคราะห์กันดูดีๆ แล้ว น่าจะเป็นเพราะต้นงิ้วหักโค่นง่ายแถมยังมีหนามแหลม หากมีลมพายุมาก็อาจเป็นอันตรายกับคนในบ้านเสียมากกว่า
ในอดีตที่บ้านเรือนโหรงเหรง หมู่บ้านอยู่เกาะกันเป็นกระจุกๆ ต้นงิ้วจึงพอมีที่ทางให้ขึ้นตามพื้นที่ที่อยู่นอกเขตพักอาศัยอย่างหัวไร่ปลายนาทั้งหลาย งิ้วจึงไม่ใช้ต้นไม้หายากแปลกตา แต่เมื่อบ้านเรือนขยายตัว พื้นที่ชุมชนมีมากขึ้น ต้นงิ้วก็ถูกล้มเพื่อความปลอดภัยและเพื่อให้ใช้พื้นที่ได้ทุกตารางเมตร นานวันเข้างิ้วก็กลายเป็นพันธุ์ไม้ที่นานๆ จะได้พบสักทีหนึ่ง มาเมืองน่านครั้งนี้ พอได้เห็นดอกงิ้วบานสะพรั่งอยู่ริมน้ำน่านฉันจึงอดใจจะยกกล้องขึ้นมาเก็บภาพไว้ไม่ได้
ในจังหวัดอื่น งิ้วอาจเหลือเป็นหลักฐานอยู่ในชื่อหมู่บ้านหรือชื่อตำบลเท่านั้น บ้านหาดงิ้ว บ้านงิ้วงาม ก็มีงิ้วประดับอยู่เพียงแค่ชื่อ แต่กับจังหวัดน่านนั้นยังไม่ใช่ ต้นงิ้วยังพอมีให้เห็นเรียงรายขนาบข้างลำน้ำน่าน คนหนุ่มคนสาวที่ผ่านไปมาจึงยังคุ้นหูคุ้นตากับดอกงิ้วเป็นอย่างดี
ดอกงิ้วเป็นผลผลิตที่ไม่ต้องลำบากลำบนปีนขึ้นไปเก็บให้เสียแรง เมื่อได้เวลาดอกงิ้วก็จะร่วงลงมาตามอายุไข ชาวบ้านจะมาเก็บดอกงิ้วกันตั้งแต่เช้าตรู่ เด็ดกลีบดอกทิ้ง เด็ดอัปเรณูหรือ ‘ขี้ตา’ สีดำๆ ทิ้ง แล้วหิ้วกลับบ้านเฉพาะก้านเกสรตัวผู้ เด็ดแยกก้านเกสรออกเป็นช่อๆ แล้วนำไปตากสัก 4-5 แดดให้แห้งสนิท ก็จะได้ ‘ดอกงิ้ว’ เก็บไว้กินได้นานนับปี
คนเมืองใช้ดอกงิ้วในหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นแกงบอน แกงแค ขนมจีนน้ำเงี้ยว ก๋วยเตี๋ยวน้ำเงี้ยว โดยเฉพาะน้ำเงี้ยวข้นคลั่กหอมกลิ่นถั่วเน่าอย่างสูตรเชียงรายนั้นจะไม่มีดอกงิ้วไม่ได้เป็นอันขาด – ส่วนน้ำเงี้ยวใสแจ๋วอย่างคนเชียงใหม่มักไม่นิยมใส่ดอกงิ้ว เพราะหลายคนคิดว่าดอกงิ้วไม่ได้มีรสชาติอะไร ใส่ไปก็เติ้กต๊อง (เกะกะท้อง)
นอกจากตากแห้งไว้กินในครัวเรือนแล้ว เมื่อถึงฤดูดอกงิ้วบ้าน ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็มักใช้เวลาว่างๆ เก็บดอกงิ้วตากแห้งไว้ขาย มีทั้งวางขายตามตลาดสด และตระเวนขายส่งให้กับร้านขนมจีนทั่วจังหวัด ดอกงิ้วให้รสสัมผัสเคี้ยวเพลิน แต่ไม่มีรสชาติใดๆ เมื่อใส่ในแกงหรือในน้ำเงี้ยว หม้อโตๆ หม้อหนึ่งก็ใส่เพียงหยิบมือเท่านั้น ความต้องการซื้อดอกงิ้วจึงไม่ได้มีสูงมาก ชาวบ้านที่มาเก็บดอกงิ้วริมน้ำน่านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าปีนี้ดอกงิ้วราคาตก ทำไปก็ได้เงินไม่คุ้มเหนื่อย ป่างิ้วริมทางบางทีจึงปรากฏดอกงิ้วร่วงเกลื่อนพื้นดูน่าเสียดาย
ยังดีที่ปีหลังๆ ชาวบ้านเมืองจังเหนือเริ่มมีรายได้จากดอกงิ้วมากขึ้น เพราะเริ่มเกิดการการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ดอกงิ้วอย่างเป็นกิจลักษณะ เพื่อวางขายในตลาดออนไลน์ อย่างเช่นผลิตภัณฑ์งิ้วอบกรอบ จากแบรนด์เครื่องเสวย สินค้าจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำขนมและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร บ้านเมืองจังเหนือ ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ที่นำดอกงิ้วมาผ่านกระบวนการพิเศษกลายเป็นขนมกรุบกรอบเคี้ยวเพลินหลากหลายรสชาติ
ดอกงิ้วอบกรอบเป็นผลิตภัณฑ์เกิดใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนเมืองจังเหนือไม่น้อย เพราะลำพังคนในกลุ่มวิสาหกิจฯ เองไม่สามารถเก็บดอกงิ้วให้เพียงพอกับการสต๊อกขายได้ทั้งปี กลุ่มวิสาหกิจฯ จึงเปิดรับซื้อดอกงิ้วจากชาวบ้านตลอดฤดูกาล มีเงื่อนไขเพียงว่าดอกงิ้วจะต้องผ่านการตัดแต่งและตากแห้งตามมาตรฐานของกลุ่มฯ เท่านั้น
ดอกงิ้วมีแคลเซียมสูงถึง 429 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม (ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับนมที่มีแคลเซียมอยู่ประมาณ 123 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม) ดอกงิ้วอบกรอบจึงเป็นขนมที่เด็กกินได้ผู้ใหญ่กินดี แถมยังสร้างรายได้ให้กับชุมชน ในช่วงปีหลังๆ นอกจากริมฝั่งน้ำน่านแล้ว จึงเริ่มปรากฏต้นงิ้วที่ปลูกใหม่ไว้ตามหัวไร่ปลายนากลับมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกแซมในไร่ข้าวโพดหรือในสวนลำไย ส่วนหนึ่งออกดอกสะพรั่งพร้อมให้ผลผลิต อีกบางส่วนยืดเหยียดลำต้นสูงยาวเข้าคิวรอผลิดอกในอีกปีสองปีที่จะถึงนี้
ดอกงิ้วแดงร่วงหล่นเป็นสัญญาณว่าฤดูร้อนกำลังจะมาถึง ผู้เฒ่าแบกดอกงิ้วถุงเบ้อเร่อกลับบ้าน เตรียมตากแห้งไว้ทำน้ำเงี้ยวหม้อใหญ่ต้อนรับลูกหลานที่จะกลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงหยุดยาวเดือนเมษายน ต้นงิ้วริมน้ำน่านยังบานแต้มฟ้าฤดูหนาวให้สวยสด ปลายหนาวปีหน้าฉันคงกลับมาเยี่ยมเยือนเมืองน่านอีกหน ด้วยว่าดอกงิ้วริมทางนั้นงามจับใจนัก และหากจะได้กินแกงแคเหมาะๆ สักหม้อ ใส่ดอกงิ้วให้พอได้เคี้ยวเพลินปาก ก็คงจะเป็นโบนัสของการเดินทางที่ดีทีเดียว
ขอบคุณข้อมูลจาก
นางระยอง อภัยรุณ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำขนมและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
สั่งซื้อผลิตภัณฑ์งิ้วอบกรอบได้ที่ Facebook : เครื่องเสวย-น่าน
อ่านบทความเพิ่มเติม
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos