เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

บุกป่าโกงกาง ตามหา ‘เพรียง’ สัตว์สุดแปลก

Story by กฤติน ศรีบุตร

ล่องเรือตามหาเพรียงที่หมู่บ้านปากคลองน้ำเชี่ยว จังหวัดตราด ลองกินเพรียงสดและเมนูท้องถิ่นอร่อยจากเพรียง

แน่นอนว่าทุกคนคงคุ้นเคยกับอาหารทะเลอย่างกุ้ง หอย ปู ปลา ต่างๆ กันเป็นอย่างดี แต่ด้วยความรู้สึกเบื่ออาหารทะเลทั่วไปของผมทำให้อยากค้นหาอะไรใหม่ๆ คราวนี้จำเป็นต้องออกเดินทางอีกครั้งจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดตราดเพื่อค้นหาเมนูที่ไม่เหมือนใครครับ

 

 

 

 

ในที่สุดก็ได้มาถึงบ้านปากคลองน้ำเชี่ยว จ.ตราด การเดินทางครั้งนี้ใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมง อาจทำให้เหนื่อยล้าบ้าง แต่พอได้สัมผัสอากาศที่บริสุทธิ์ก็ทำให้ผมตื่นตัวขึ้นมาทันทีเลยละครับ จุดหมายครั้งนี้อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองไม่มาก หมู่บ้านก็ไม่ใหญ่มากแต่อยู่กันหลายครอบครัว คนที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านเป็นชาวประมงเสียส่วนใหญ่ หากสังเกตทุกบ้านจะมีเรือประมงเล็กจอดเทียบท่าอยู่ข้างบ้าน อาชีพหลักของที่นี่คืออาชีพประมงวางอวนหา ‘ปูดำ’ บอกเลยว่าปูที่นี่ตัวใหญ่มาก ราคาไม่แรงด้วยนะ แต่ แต่ แต่! ที่ผมมาวันนี้ไม่ได้จะมาหาปูดำ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นครับ ถ้าผมได้มาแล้ว การมาหาปูดำก็คงจะธรรมดาเกินไป การมาในครั้งนี้ผมมาเพื่อหา ‘เพรียง’

 

 

 

 

อันที่จริงในจังหวัดตราดยังมีอีกหนึ่งอาชีพที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักกันนั่นคืออาชีพหาเพรียง แค่ชื่อทุกคนก็คงคิดว่าแปลกแล้ว ยิ่งได้เห็นตัวเพรียงจะยิ่งแปลกตาไปอีก เพราะหน้าตาคล้ายไส้หมู สีขาว ตัวหยุ่นๆ (อย่าเพิ่งเลื่อนหนีนะ อยู่อ่านกับผมก่อน) ซึ่งก่อนมาผมได้ติดต่อ พี่กุยส้มจีน มีสุข พี่สาวสุดแกร่งแสนใจดีที่จะพาเราเข้าป่าโกงกาง ออกตามล่าหาเพรียงในครั้งนี้ครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

พี่กุยเดิมเป็นคนในพื้นที่แหลมหญ้าหมู่บ้านไร้ผืนดิน ภายหลังคนในหมู่บ้านเริ่มย้ายออกมาเพราะห่างไกลความเจริญ อีกทั้งแหลมหญ้านั้นถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ จึงจำต้องย้ายเข้ามาในหมู่บ้านปากคลองน้ำเชี่ยวซึ่งอยู่ห่างจากเดิมไม่ไกล ครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิก 7 คน ของพี่กุยนั้นมีอาชีพประมงปูด้วย แต่ตัวพี่กุยจะหาเพรียงเป็นหลักและได้ทำเป็นอาชีพมา 8-9 ปีแล้ว

 

 

 

 

“เป็นไงมาไงกินไรหรือยัง!! มาหาเพรียง กล้ากินกันใช่ไหม ต้องนั่งเรือเข้าไปหาในป่าโกงกางเลยนะ ไหวใช่ไหม”

 

 

 

 

พี่กุยทักทายด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสเมื่อได้เจอกันครั้งแรก

 

 

 

 

“ครับ” ผมตอบด้วยความมั่นใจ แต่สายตาของผมมันฟ้องว่าผมตื่นกลัว ฮาๆ

 

 

 

 

ท่าทางของพี่กุยดูรีบร้อนตลอดเวลา พลางพูดว่า “ต้องรีบนะ ถ้าน้ำลงเรือจะแล่นไม่ได้ มันจะติดเลน”

 

 

 

 

ไม่รอช้าครับผมจึงรีบจัดเสบียงต่างๆ ขึ้นไปยังบนเรือ เวลาออกไปหามีอุปกรณ์อยู่ 2 อย่าง คือขวานกับถังสำหรับใส่เพรียง ก่อนออกเรือก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม แต่งตัวให้มิดชิด เพราะในป่าชายเลนมีสัตว์หลากหลายชนิด เราควรที่จะระวังป้องกันอันตรายต่างๆ อีกอย่างต้องฉีดยากันยุงให้เรียบร้อย เพราะในป่าโกงกางนั้นยุงชุมมาก

 

 

 

 

 

 

 

 

เอาละ! พอทุกอย่างพร้อม เรือของเราก็เริ่มแล่นออกจากบ้านปากคลองน้ำเชี่ยวไปยังคลองบุกใหญ่ สายแม่น้ำนี้จะเป็นทางผ่านไปสู่ทะเลอ่าวไทย ระหว่างทางเรือแล่นผ่านหมู่บ้านเห็นเรือเล็กเรือน้อยสวนกันมา เรือที่ขับผ่านก็พูดคุยทักทายกันถามไถ่ว่าได้อะไรมาบ้าง บางคนก็ได้ปลา หอยนางรม หอยแครง ปูดำ สลับกันไป

 

 

 

 

บรรยากาศธรรมชาติที่นี่ร่มรื่นและสวยงามมากครับ รอบข้างเต็มไปด้วยป่าโกงกางอุดมสมบูรณ์ นั่งเรือไปเรื่อยๆ ผมได้เจอกับเหยี่ยวแดง สัตว์อนุรักษ์ประจำถิ่นกำลังออกล่าหาอาหาร นับว่าคุ้มค่ามากกับการเดินทางมาในครั้งนี้ ยิ่งได้พบเจอชาวประมงที่ทักทายกันตลอด ยิ่งทำให้รูสึกอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก

 

 

 

 

“อาชีพนี้พี่ทำมาเกือบ 20 ปีแล้ว พี่ก็ไม่คิดว่ามันจะกลายมาเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวพี่เหมือนกัน ได้เห็นหน้ามันครั้งแรกก็ตอนเด็กๆ แต่สมัยนั้นเราหาไว้กิน พ่อแม่เราเป็นชาวประมงก็สอนว่าหาอย่างไร สมัยนั้นเวลาเข้าไปหาก็จะเป็นช่วงเวลาที่เข้าป่าเก็บไม้ไปเผาเอามาทำถ่าน ไม้ไหนมีรูๆ ขาวๆ ก็จะรู้แล้วว่ามีเพรียง”

 

 

 

 

ถึงจะให้ชื่อว่าเพรียง แต่ที่จริงแล้วสัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์ตระกูลหอย 2 ฝา จำพวกเดียวกับหอยนางรม หอยแครง อาศัยอยู่ตามป่าชายเลน และยังเป็นตัวชี้วัดดัชนีความสมบูรณ์ของป่าชายเลน อยู่ได้ทั้งน้ำเค็มและน้ำกร่อย มีเปลือก 2 ฝาเล็กอยู่ที่ปลายลำตัวทอดยาวคล้ายไส้หมู สีขาวขุ่น ส่วนตรงปลายจะมีขายคล้ายครีบไว้เจาะไชไม้กินเป็นอาหาร พบเห็นหลักๆ อยู่ 2 ชนิด คือเพรียงไม้ และเพรียงกระแอม (ไม่นิยมกินเพราะกินแล้วจะทำให้รู้สึกคันคอและไอ) หน้าตาทั้งสองจะคล้ายกัน แตกต่างกันที่ความยาว ลายที่ตัวและผิวสัมผัส

 

 

 

 

 

 

 

 

เพรียงนั้นพบทั่วไปทั้ง 2 ฝั่งอ่าวไทย เช่น ตราด จันทบุรี และสงขลา พบมากในไม้โกงกาง และไม้ตะบูน อยู่ในไม้ที่ตายแล้ว และยังไม่ตาย สังเกตจากเนื้อไม้จะมีรูรีเล็กๆ มีท่อน้ำสีขาวคล้ายหินปูนโผล่มาเหนือรูเป็นทางน้ำเข้าออก แต่การหาเพรียงมีกฎหมายของกรมป่าไม้ว่าให้หาได้จากซากไม้ในป่าเท่านั้น ห้ามตัดจากต้นไม้ที่ยังไม่ตาย เพราะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ อาจทำให้ต้นไม้ต้นนั้นตายได้

 

 

 

 

หากอ่านมาถึงตอนนี้ เรือผมกำลังเลี้ยวเข้าสู่ป่าโกงกางใหญ่ เข้ามาในนี้จำเป็นต้องใช้การพายเรือเข้าไปแทน เพราะทางแคบและน้ำเริ่มตื้นลงแล้ว บรรยากาศในป่าเงียบสงบ วังเวง แถมยังมีเสียงของเหยี่ยวแดงที่ร้องเสียงคล้ายกับเสียงเด็กร้องไห้ดังก้องป่า ทำให้ขนของผมชี้ชันโดยทันที ไม่นานเราก็มาถึงจุดจอดเรือ จุดที่จอดมีเลนลึกสลับกับรากไม้แหลมทำให้เดินไม่ได้ ต้องอาศัยการปีนตามรากของต้นโกงกาง ก่อนลงจากเรือพี่กุยก็เตรียมขวานและถังใส่เพรียงอาวุธประจำกายติดตัว แล้วเข้าสู่ป่าโกงกาง การเข้าป่ารอบนี้ลำบากมากครับ ฝนเริ่มลงเม็ด มือและเท้ายังคงต้องปีนตามรากโกงกาง สายตาก็ต้องสอดส่องหาเพรียง จนทีมงานที่ไปด้วยกันถึงกับต้องยอมแพ้

 

 

 

 

 

 

 

 

“พี่เจอแล้ว ไม่ต้องเข้ามา มันลึก เดี๋ยวพี่เอาออกไปให้” ได้ยินแค่เสียงของพี่กุยที่ดังมาจากในป่า

 

 

 

 

ไม่นานพี่กุยก็กลับออกมาพร้อมกับไม้โกงกางที่ตายแล้ว ไม้มีลักษณะชุ่มน้ำ หากสังเกตใกล้ๆ จะเห็นวงกลมสีขาวๆ บอกได้ว่าในนี้มีเพรียงอยู่

 

 

 

 

 

 

 

 

ไม้ท่อนนี้น่าจะมีเพรียงประมาณกิโลนึงได้” พี่กุยเล่าพร้อมหยิบขวานและถังวางเตรียมพร้อมที่จะเปิดไม้เอาเพรียงออกมา เมื่อขวานสับลงเปิดหน้าไม้ ทำให้เห็นรอยที่เพรียงได้เจาะกิน ลักษณะคล้ายท่อเหมือนปลวกแทะ แต่มีขนาดใหญ่กว่า และพบเพรียงตัวยาวหลายสิบตัวในไม้ท่อนนี้ เวลานำตัวเพรียงออกมาต้องระวังมาก เพราะตัวยาวๆ ของเพรียงขาดง่าย

 

 

 

 

 

 

 

 

พี่กุยบอกว่าถ้าอยากจะให้ได้รสชาติของมันต้องกินเลย ความใจสู้ของผมก็เลยขอลอง ทันทีที่เพรียงเข้าปากความรู้สึกที่ไม่คุ้นชินทำให้อยากจะคายมันออกมา แต่ก็ทำใจสู้เคี้ยวและกลืนลงไป รสชาติเหมือนหอยนางรมเลยครับ แต่เพรียงรสชาติหวานกว่า มีกลิ่นไม้ รสสัมผัสที่นิ่ม และมีเศษไม้ อาจจะเพราะไม่ชินจึงทำให้รู้สึกแปลกๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

“ถ้าได้พริกเกลือ (ชื่อเรียกน้ำจิ้มพริกสดซีฟู้ดของชาวทะเลฝั่งตะวันออก) นะ บอกเลยว่าอร่อย” พี่กุยกล่าว

 

 

 

 

นอกจากจะกินสดๆ ได้ ยังเอาไปทำอาหารได้อีกหลากหลาย บางทีก็ยำ แกงคั่ว ต้มจื้อ (ต้มจืดแบบพื้นบ้านของชาวประมงที่นี่) ต้ม ยำ ทำแกง พี่กุยบอกว่าได้หมดเลย

 

 

 

 

 

 

 

 

มาถึงตรงนี้ผมคิดว่าทุกคนก็คงสงสัยแหละว่า รายได้จากการหาเพรียงต่อวันมันเท่าไร ลูกค้าเยอะไหม ตอบได้เลยว่าเยอะครับ ด้วยความที่ต้องเข้ามาหาด้วยความยากลำบากจึงทำให้มีราคาสูง หากขายให้พ่อค้าคนกลางก็อยู่ที่กิโลกรัมละ 800-1,000 บาท หากขายให้ผู้ซื้อเลยประมาณ 1,500-2,000 บาท ส่วนลูกค้ามีไม่ขาด มีคนมารับซื้อทุกวัน กลุ่มลูกค้าก็จะเป็นชาวบ้านที่กินอยู่แล้ว หรือบางทีก็มีร้านอาหารมาซื้อบ้างครับ ไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่า เจ้าเพรียงที่หน้าตาดูไม่น่ากินนี้จะมีคนกินด้วย อาจเป็นเพราะการตลาดจากคำโฆษณาปากต่อปากว่า ‘กินแล้วจะเพิ่มสมรรถนะทางร่างกายและทางเพศให้ปึ๋งปั๋ง’ ด้วยละ ผมว่าเป็นใครก็ซื้อครับ ฮาๆ เอาละ! ด้วยความเหนื่อยล้าและได้เพรียงตามที่เราต้องการแล้ว ก็ได้เวลาแล่นเรือกลับขึ้นฝั่ง นำเพรียงกลับมาทำอาหารกินครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เพรียงที่ได้มาจะนำมาทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า และเมนูที่เราจะกินวันนี้คือกินกับพริกเกลือ อีกหนึ่งเมนูจะเป็นเพรียงต้มจื้อ พี่กุยเตรียมปูเป็นของแถมให้อีกหนึ่งเมนู เพรียงสดที่กินกับพริกเกลือรสเด็ดของพี่กุยนั้นแซ่บอย่าบอกใครเลยครับ กินง่ายกว่าเดิมมาก ส่วนรสชาติของเมนูต้มจื้อนั้นเหมือนแกงจืด แต่รสชาติของตัวเพรียงที่สุกแล้วเหมือนหอย ผิวสัมผัสนิ่มกว่า ซดน้ำซุปคลุกกับข้าวเข้ากันดีมากๆ เอาจริงเมนูที่ทำจากเพรียงอร่อยไม่ใช่เล่นเลยครับ ถ้าไม่ติดเรื่องหน้าตา ผมคงจะติดใจมากกว่านี้ หลังจากกินเสร็จ ผมกล่าวขอบคุณที่วันนี้พี่กุยพาเข้าไปหาและรู้จักอาชีพหาเพรียง แถมยังเตรียมอาหารให้อีก หลังจากจบบทสนทนาพี่กุยก็เดินมาส่งที่รถ

 

 

 

 

 

 

 

 

“สนุกไหม รอบหน้ามาอีกเดี๋ยวพี่จะพาออกทะเล พาไปจับปู ถ้ามาก็โทร. มาหาพี่ได้เลยนะไม่ต้องเกรงใจ”

 

 

 

 

พี่กุยกล่าวอำลาด้วยรอยยิ้ม และสายตาที่บ่งบอกว่าเราคงมีโอกาสได้เจอกันอีก

Share this content

Contributor

Tags:

วัตถุดิบ, อาหารทะเล

Recommended Articles

Food Storyรู้หรือไม่? เมนไทโกะแห่งแดนอาทิตย์อุทัย แท้จริงแล้วมาจากเกาหลี
รู้หรือไม่? เมนไทโกะแห่งแดนอาทิตย์อุทัย แท้จริงแล้วมาจากเกาหลี

ไข่ปลาดองรสโอชะจากญี่ปุ่น เค็มๆ เผ็ดๆ รสอูมามิที่ไม่ควรพลาด

 

Recommended Videos