ว่าด้วยเรื่องกั้งชาว KRUA.CO คงรู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่เวลาหาเจ้ากั้งนี่นะบอกเลยครับว่าไม่ง่าย รู้ไหมว่าการหากั้ง ชาวประมงที่ตราดจะใช้วิธีการ ‘ถีบ’ หรือ ‘เหยียบ’ แต่เราจะถีบจะเหยียบอย่างไรให้ได้กั้งล่ะ? แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเจ้ากั้งอยู่ตรงส่วนไหนของทะเล วันนี้ผมจะพาทุกคนไปหาคำตอบกันครับ
ตอนนี้ผมยังคงอยู่ที่จังหวัดตราด คราวก่อนเราได้ตามล่าหาเพรียงที่บ้านปากคลองน้ำเชี่ยวกันแล้ว (บุกป่าโกงกาง ตามหา ‘เพรียง’ สัตว์สุดแปลก) ก่อนเดินทางมาผมได้หาข้อมูลคร่าวๆ เห็นว่ามีหมู่บ้านใกล้ๆ ขึ้นชื่อเรื่องกั้งในระดับที่ว่าเป็นกั้งดีที่สุดในน่านน้ำอ่าวไทย ตัวใหญ่ตัวโต ไปหาจับเองได้ พอได้ทราบชื่อเสียงเรียงนามกันแล้วจึงตัดสินใจได้ไม่ยากเลย
เมื่อภารกิจเสร็จสิ้นจากหมู่บ้านปากคลองน้ำเชี่ยวเราเลยย้ายสำมะโนครัวไปยัง ‘หมู่บ้านท่าระแนะ’ กันครับ
บ้านท่าระแนะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตำแหน่งของหมู่บ้านอยู่ติดทะเล อยู่ในอำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด เป็นพื้นที่ที่มีป่าชายเลนล้อมรอบ เส้นทางของสายน้ำจะเชื่อมกับแม่น้ำใหญ่ลงไปสู่ทะเล และเป็นแหล่งหากินของชาวบ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงมีอาชีพประมงเป็นหลัก
นอกจากกั้งที่ขึ้นชื่อแล้ว ยังมีหอยพอก หอยแครง ปูแป้น ปูดำ ปลาอีกหลากหลายชนิด เป็นผลจากความอุดมสมบูรณ์จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพอีกทั้งมีการอนุรักษ์เพื่อการมุ่งเน้นพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนา ความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชนอย่างยั่งยืน พาท่องเที่ยวเรียนรู้เชิงนิเวศ ด้วยความที่เป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ ขนาด 2,000 ไร่ อายุกว่า 100 ปี ต้นไม้แต่ละต้นมีขนาดใหญ่มากจนกลายเป็นอัศจรรย์ป่าชายเลน ถูกจัดให้เป็น 1 ใน สถานที่ท่องเที่ยว Unseen แห่งจังหวัดตราด
พอเราเข้ามาในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่สายชล ก็เข้ามาต้อนรับทันที ผู้ใหญ่สายชลเป็นผู้นำหมู่บ้านของที่นี่ครับ หากจะติดต่อเพื่อท่องเที่ยวติดต่อแกได้เลย (เดี๋ยวผมจะทิ้งช่องทางการติดต่อไว้ด้านล่างนะครับ)
“เป็นไงบ้างเที่ยวสนุกไหม มาถึงไวกันมากเลย จะได้ไปเหยียบกั้งกัน ผู้ใหญ่ขอฝากพวกเอ็งไว้กับน้าแป๊ะ พอดีวันนี้ติดธุระไม่ได้ลงเรือไปด้วย แต่ดีแล้วที่มาวันนี้น้ำกำลังลงพอดี”
น่าเสียดายครับที่ผู้ใหญ่สายชลไม่ได้ลงเรือไปด้วยกัน
แต่โชคดีมากเลยครับก่อนเดินทางผมทำการบ้านมาก่อน หากเพื่อนๆ จะเดินทางมาหากั้ง จำเป็นต้องเช็คปฎิทินน้ำก่อน วันที่ไปมีน้ำขึ้นหรือน้ำลงอย่างไร หากน้ำขึ้นก็อาจออกไปหากั้งได้ยาก ดีไม่ดีถึงขั้นเสียเที่ยวเสียเวลากันได้เลย
ฤดูกาลหากั้งที่นี่ จะเริ่มช่วงไตรมาสแรก-ไตรมาสที่สองของปี ช่วงที่พบเจอกั้งมากสุดจะเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม กั้งที่หาได้เป็นกั้งขาว ลักษณะตัวใหญ่กว่าที่อื่นเพราะเป็นกั้งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ เต็มไปด้วยอาหารดี เพียงพอและเหมาะสมกับสัตว์ทะเล
ครั้งนี้ต้องอาศัยเรือของน้าแป๊ะผู้อาสาพาไปเหยียบกั้งในวันนี้ครับ ฝีมือการขับเรือของน้าแป๊ะไม่ธรรมดาเลย บอกเลยว่าหากชอบความว่องไว ให้เรียกใช้บริการได้เลย นอกจากฝีมือการขับเรือของน้าแป้ะแล้ว ฝีมือการหากั้งของแกก็ไม่แพ้ใครเลยครับ
เราต้องเดินทางจากบ้านท่าระแนะไปยังพื้นที่ชื่อว่า ‘อ่าวตราด’ ลักษณะเป็นเวิ้งพื้นดินที่เมื่อน้ำลดจะโผล่ขึ้นมา หน้าดินมีลักษณะเลนปนทรายเป็นทำเลที่กั้งมักอาศัยอยู่ (หากนึกภาพไม่ออกให้นึกถึงดอนหอยหลอดจังหวัดสมุทรสงคราม) เหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องใช้เรือขนาดเล็กท้องแบน เหตุผลหลักๆ เพราะต้องออกเรือในช่วงเวลาที่น้ำเริ่มลง หากใช้เรือใหญ่ท้องเรือแหลม อาจทำให้ติดเลนได้ ส่วนอุปกรณ์ที่ต้องพกไปด้วยมีหมวกกันแดด ถุงมือตาข่ายกันกั้งต่อย (หากเพิ่มครีมกันแดดไปด้วยจะดีมากครับ) ไม่รอช้าน้าแป๊ะขับเรือเดินทางออกจากหมู่บ้านไปยังอ่าวตราด ในระหว่างการเดินทางเรามาทำความรู้จัก ‘กั้ง’ วัตถุดิบที่เราจะไปหาในวันนี้กันก่อน
กั้งที่เรารู้จักนั้นอาศัยบนโลกมาก่อนกุ้งเสียอีก จัดอยู่ในกลุ่ม ครัสเตเชียน (crustaceans) หรือสัตว์ทะเลมีเปลือกปล้อง เช่นเดียวกับกุ้งและปู อาศัยอยู่บริเวณหน้าดินทะเลที่เป็นโคลนหรือทราย อยู่ได้ตั้งแต่ระดับน้ำตื้นจนถึงน้ำลึกในระดับ 1,500 เมตรเลยทีเดียว
อีกหนึ่งจุดเด่น คือ มีดวงตาขนาดใหญ่ถึง 3 ดวง เพื่อใช้ในการล่าเหยื่อ ใช้สแกนมองภาพได้ดี และตาแต่ละดวง มองเห็นภาพได้ 3 ภาพ ทำให้มีสายตาดี รับค่าสีต่างๆ ได้มากกว่ามนุษย์เสียอีกด้วย กั้งมีฉายาว่าสัตว์ที่มีระบบ การมองเห็นภาพดีที่สุดในอาณาจักรสัตว์โลก
นอกจากสายตาดีแล้ว ยังมีอาวุธคล้ายมีดโกน และมีซี่ฟันแหลมคมเรียงกัน ใช้สำหรับฆ่าเหยื่อหรือป้องกันตัว ในส่วนนี้อันตรายมากครับ หากโดนมันดีดใส่ บอกเลยว่าอาจปวดหรือบาดมือเป็นแผลได้
เอาะ! ถึงบรรทัดนี้เรือของเราก็ได้แล่นมาถึงอ่าวตราดแล้วครับ จากนั้นน้าแป๊ะดับเครื่องยนต์เปลี่ยนมาเป็นพายแทน ผมจึงถามด้วยความสงสัยทำไมเราต้องดับเครื่องยนต์
“หากกั้งมันได้ยินเสียดังมันจะตกใจ จากนั้นมันจะหนี” ระหว่างตอบคำถามของผมตาของน้าแป๊ะก็มองหาทำเลในการจอดหากั้ง ได้ที่จอดเรือแล้ว นิ้วของน้าแป๊ะชี้ไปยังรูที่อยู่ใต้น้ำตื้นๆ ให้รู้ว่าเป็นที่อยู่อาศัยของกั้ง ลักษณะของรูที่ตัวกั้งซ่อนอยู่ รูจะกลมคล้ายปากแก้ว และต้องมีรู 2 รูใกล้กัน หากสังเกตรูจะเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ห่างกันไม่เกิน 2 ฟุตเป็นทางเข้า และออกของกั้งครับ
ไม่รีรอน้าแป๊ะก็กระโดดลงจากเรือ แล้วสอนวิธีการเหยียบกั้ง
“เวลาจะเหยียบกั้งนี่นะ เท้าหนึ่งต้องเหยียบไว้หนึ่งรูปิดทางออก ช่วงเวลาที่เท้าเหยียบลงไปกั้งมันจะตกใจรีบมาอีกรู เราจะเอามือล้วงสวนลงไป แล้วรีบจับมันออกมา” น้าแป๊ะเล่าพร้อมสาธิตด้วยการดึงกั้งออกมาได้จริงๆ ครับ ตัวใหญ่ ตัวโตมาก
เราได้ย้ายจุดหาเปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ และแล้วเราได้กั้งมาจำนวน 8 ตัว ใช้เวลาค่อนวัน ทำเอาเหนื่อยล้าจนแทบไม่มีแรงที่จะปีนขึ้นเรือ ไม่แปลกใจเลยว่ากั้งตัวใหญ่ๆ จะมีราคาสูง กว่าจะได้มาแต่ละตัวต้องใช้ความชำนาญมาก ทั้งที่เรามากับนักหากั้งอาชีพยังได้น้อยเลย
เอาล่ะ! ในเมื่อได้กั้งที่เราจะนำไปทำอาหารแล้ว เราจึงตัดสินใจแล่นเรือกลับทันที
หลังจากที่ล้างเนื้อล้างตัวเสร็จ ลุงมานะ ผู้ที่มีชื่อเสียงเรียงนามว่าเป็น ‘จุมโพ่’ (พ่อครัวที่มีหน้าที่ทำอาหารบนเรือ) ของหมู่บ้านท่าระแนะ ก็อาสาทำเมนูกั้งทอดกระเทียมพริกไทย ให้เรากินในวันนี้ครับ
การทำกั้งกระเทียมพริกไทยของลุงมานะ จะนำกั้งไปนึ่งให้สุกก่อน เพราะหากนำกั้งไปทอดเลยจะทำให้เนื้อของกั้งหายไป พอกั้งสุกก็นำออกมาตัดเอามุมแหลมๆ ออก
ลุงบอกว่า “ต้องตัดเปิดด้างข้างของกั้งเพราะเวลากินเราต้องใช้มือแกะเปลือกมันจะไปเข้าไปตำ (บาด) มือ”
ต่อมาก็โขลกกระเทียม พริกไทย เตรียมไว้ให้พร้อม จากนั้นตั้งน้ำมันบนกระทะไฟกลาง พอน้ำมันเริ่มร้อน นำกั้งที่เตรียมไว้ลงทอด ทอดจนกั้งมีลักษณะกรอบ จากนั้นใส่กระเทียมและพริกไทยที่โขลกไว้ กลิ่นนี่หอมฟุ้งไปทั่วเลยครับ จากนั้นลุงมานะปรุงรสด้วยน้ำมันหอย ซอสปรุงรส และน้ำตาล ผัดให้เข้ากัน ตักใส่จาน เตรียมข้าวสวยให้พร้อม
ด้วยความหิว ไม่นานทุกอย่างก็หมด ยังดีที่ผมยังพอจำรสชาติของตัวกั้งได้ กั้งทอดกระเทียมของลุงมานะแอบไหม้ไปนิด แต่เนื้อกั้งยังเด้ออยู่ ไม่เหมือนกั้งที่ได้มาจากตลาดเลยครับ ซื้อ 10 ตัวเหลือเนื้อให้กินอยู่ 3 ตัว ส่วนความสดของกั้งคือความหวาน ไม่คาว ยิ่งเป็นเมนูที่เข้ากับข้าวสวยด้วยบอกเลยว่าหยุดกินไม่ได้จริงๆ ทั้งอร่อยบวกความเหนื่อยล้าจนลืมนึกถึงความยากลำบากในการลงไปย่ำหากั้งในเลน ฮาๆ
ติดต่อเรือนำเที่ยวได้ที่ 081-161 6694 (ผู้ใหญ่สายชล สุเนตร)
อ่านบทความเพิ่มเติม
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos