งานบุญขนมครกน้ำตาลทรายที่จัดมากว่าร้อยปี ในหนึ่งปีจะมีสักหนึ่งครั้ง
รุ่งสางวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 10 หรือปีนี้ตรงกับวันที่ 10 กันยายน เราตั้งใจมาเยือนงานบุญประเพณี ‘ตักบาตรขนมครก’ ที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ต.บางพรม จังหวัดสมุทรสงคราม ที่ใน 1 ปี จะจัดงานบุญนี้เพียง 1 ครั้ง เป็นงานบุญที่ชาวบ้านจะร่วมกันตักบาตรด้วยขนมครก และจัดต่อเนื่องมากว่า 100 ปี
ราวตี 5 กว่าๆ เรามาถึงวัดแก่นจันทร์เจริญ เดินเข้ามาเห็นเตาขนมครกเรียงรายเป็นแถวนับสิบมีคุณลุงคุณป้า คุณยายประจำเตาหยอดอยู่ราว 4-5 เตา เราเดินเข้าไปทักทายตามปะสาผู้มาเยือน
“มาจากไหนกันลูก”
“กรุงเทพฯ ค่ะ ตั้งใจมาเที่ยวชมงานตักบาตรขนมครก”
“เอ้าๆ งั้นหยอดเลย”
ไม่พูดพร่ำทำเพลง คุณยายยื่นกาใบเล็กที่ใส่แป้งขนมครกไว้ส่งให้ ราวกับว่าเราต้องมีสกิลฝึกหยอด ฝึกแคะขนมครกสมัยเป็นเด็กเล็กเล่นขายของกันมามั่ง หันมาอีกทีคุณลุงเตาข้างๆ ก็เรียกน้องในทีมครัวไปแคะขนมครกอีกเตาถัดไป เลยวางกล้อง วางมือถือไปยืนหยอดยืนแคะกันก่อน ทุกอย่างเกิดขึ้นไวสวนทางกับสติชาวเราที่ปกติตี 5 ยังนอนอยู่บนเตียง เลยหยอดแป้งล้นๆ เกินๆ กันไปมั่ง จนคุณยายต้องสอนวิชาขนมครกกันหน้าเตา
ตัวแป้งขนมครกต้องหยอดแต่พอดี มีพื้นที่ให้สุกฟูและเหลือไว้หยอดหน้ากะทิ ไม่อย่างนั้นขนมครกเราจะมีแต่แป้ง ไร้รสชาติหน้าขนม แม้แต่การแคะขนมครกที่ดูเหมือนง่าย พวกเราก็ทำเละคาช้อนแคะกันมาแล้ว เทคนิคการแคะคือใจเย็นๆ ดูให้มั่นใจว่าขนมสุกทั่วเซตตัวพร้อมให้แคะเป็นฝา ไม่อย่างนั้นจะได้แป้งเหลวๆ
งานบุญประเพณีที่คนในชุมชนสืบทอดมากว่า 100 ปี
คุณยายเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมงานตักบาตรขนมครกพ่อค้าแม่ขายที่เป็นคนขายขนมครกจะพายเรือกันมาที่ท่าน้ำท้ายวัดพร้อมชี้มือไปยังล่องดินน้ำแห้งเมือดจากอดีตที่เคยเป็นลำคลองสัญจรทางเรือของชุมชน ก็เปลี่ยนมาใช้ทางถนน เตาขนมครกที่อยู่ในเรือเลยยกมาทำบนบกอย่างทุกวันนี้
สอดคล้องกับข้อมูลที่เล่าต่อๆ กันมาว่า งานบุญตักบาตรขนมครกนี้เกิดขึ้นสมัยหลวงพ่อโห้ อดีตเจ้าอาวาสวัด (พ.ศ.2480-พ.ศ.2516) ท่านให้จัดขึ้น เพื่อสืบทอดประเพณีตักบาตรของชาวพุทธ และอุดหนุนชาวบ้านพ่อค้าแม่ขายให้มีรายได้ เพราะบางพรมมีมะพร้าวเยอะ จะได้ทำขนมครกมาขายกันทุกๆ ปี และกำหนดเอาวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 10 เป็นหมุดหมาย แทนที่จะเป็นวันเดียวกับสารทเดือนสิบของจังหวัดอื่นๆ ซึ่งตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ก่อนที่ชาวบ้านจะพูดคุยตกลงกันเลิกขาย และปรับเปลี่ยนเป็นชาวบ้านมาช่วยกันขนแป้ง ขนมะพร้าวมาร่วมงานบุญทำขนมครกหาเงินทำบุญเข้าวัดแทน
ส่วนเรื่องที่ว่าประเพณีตักบาตรขนมครกนี้ หลวงพ่อโห้ได้แรงบันดาลใจมาจากครั้งที่ท่านได้รับนิมนต์ไปในงานตักบาตรขนมเบื้องอันเป็นพระราชพิธีในวังหลวงที่สืบทอดกันมาจนถึงปลายรัชกาลที่ 5 หรือไม่นั้นก็เป็นเรื่องที่บอกเล่าต่อๆ กันมา เพียงแต่สิ่งที่เหล่าคุณยายชาวบางพรมวัย 70 กว่าขึ้นไปต่างยืนยันได้คือตั้งแต่เกิดมาก็เห็นประเพณีนี้แล้ว พ่อแม่จูงมาวัด จนวันนี้เป็นคนมานั่งแคะขนมครกเสียเอง มาทุกปีตั้งแต่เป็นสาวๆ หนุ่มๆ
เราพูดคุยกับเหล่าคุณลุง คุณป้า คุณยายและเทียววนแคะวนเทขนมครกกันสักครู่หนึ่งจนรู้ว่า แป้งขนมครกนี่เขาช่วยกันโม่จากเมล็ดข้าวอยู่ที่ใต้ถุนหอฉัน จึงขอวางมือหน้าเตาตรงไปที่ใต้ถุน ว่าจะไปดูเขาโม่แป้งสดซึ่งไม่ได้เห็นกันง่ายๆ
ขนมครกงานบุญ ใช่ใครจะปรุงแป้งก็ได้…
“โอ๊ย มาอะไรกันป่านนี้ลูก โม่เสร็จพอดี เขาโม่กันตั้งแต่ตี 2” ป้าติ๋ม ช่างทำแป้งขนมครกประจำงานบอกกับเราพลางยกหม้อแป้งหม้อสุดท้ายวางลง
“ปีหน้าเจอกันใหม่นะ” “มาเลยปีหน้าตี 2 ฮ่าๆ” ลุงเล็กกับลุงช่าง สองหนุ่มใหญ่ทีมโม่แป้งสมทบด้วยทันที
ป้าติ๋ม- อำไพ รัตนะภูวธาดา คือมือปรุงแป้งขนมครกประจำงาน ทุกคนในงานต่างบอกว่าถ้าขาดป้าติ๋มงานนี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ไม่มีใครปรุงแป้งขนมครกได้เก่งและคล่องแคล่วเท่าป้าติ๋ม ถึงจะมาไม่ทันดูเขาโม่แป้งแต่ป้าติ๋มก็เล่ากระบวนการทำแป้งขนมครกให้เราฟังโดยละอาด ขาดก็แต่อัตราส่วนถ้าอยากรู้เห็นทีจะต้องไปนั่งจดกันเอาเองตี 2 ปีหน้า
แป้งขนมครกโม่สด แป้งขนมครกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือข้าวสารโม่กับน้ำ อีกส่วนเป็นมะพร้าวกะทิขูดโม่ผสมกับข้าวหุงสุก แล้วนำทั้งสองส่วนมาผสมกัน ทำให้ได้แป้งขนมครกหนานุ่ม หอม กินแล้วได้เนื้อได้หนังอย่างขนมครกโบราณ แตกต่างจากขนมครกที่ใช้แป้งสำเร็จ สำหรับหน้าขนมใช้กะทิคั้นสดจากมะพร้าวดีที่หาได้ง่ายในระแวกบางพรมนี้มาปรุงรสด้วยเกลือให้ออกรสเค็มปะแล่มนิดหน่อย
ป้าติ๋มเองไม่ได้ร่ำเรียนการทำขนมครกมาจากไหน แต่เพราะเติบโตมากับคุณย่าที่เป็นช่างทำขนมหวาน จึงอาศัยลักจำทำตามคุณย่า พัฒนาจนได้แป้งขนมครกในงานบุญซึ่งต้องทำคราวละมากๆ ใส่หม้อใบใหญ่สุด หม้อแป้งทั้งหมดถูกยกจากใต้หอฉันมายังลานหลังเตาขนมครก
ป้าติ๋มส่งหม้อใบเล็กให้ช่วยถือพรางตักแบ่งแป้งผสมและกระจายแบ่งไปตามเตาขนมต่างๆ
หยอด แคะ ตามแต่ศรัทธา
ฉันชอบบรรยากาศงานบุญ เป็นบรรยากาศที่หาไม่ได้ที่ไหน เอาว่าแม้ไม่เคยมาร่วมงานบุญนี้ แต่ก็ไม่มีจังหวะให้เรายืนเก้ๆ กังๆ ยิ่งมาแต่เช้าตรู่ที่กำลังง่วน ทุกคนหยิบจับ ยัดหม้อ ยัดช้อนใส่มือให้เราผู้มาเยือนได้ลองทำโน่นทำนี่ หรือช่วยเหลือแบ่งเบางานโดยที่เราไม่ทันอ้าปากถาม หรือถ้าถามว่ามีอะไรให้ช่วยเมื่อไหร่ ทุกคนจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “มี” ป้าๆ บอกว่าอยากให้คนที่มางานได้มีส่วนร่วมกับประเพณี ได้ลองแคะ ลองหยอด ลองทำขนมครก สวยบ้างไม่สวยบ้างไม่ใช่ประเด็น การได้ร่วมช่วยกันนั่นละคือหัวใจของงานบุญ
ฟ้าสว่าง คนเริ่มทยอยมางาน จะตรงมาซื้อขนมครกที่จัดใส่กระทงวางไว้บนโต๊ะในราคาตามกำลังศรัทธาสิบ ยี่สิบบาท หรือแล้วแต่จะให้และนำไปถวายแด่พระสงฆ์ เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ชาวบ้านมาลงแรงช่วยกันทำขนมครก จะมอบให้กับวัด เสร็จจากทำบุญก็เดินชิมขนมครกได้ตามใจชอบ จะเลือกชิมขนมครกจากเตาไหน ก็ต่อคิวรอกินได้เลย ฟรี! กินกันจนอิ่ม จนหนำใจ ถ้าถามว่าร้านไหนอร่อยกว่าก็วัดกันที่ตอนเทแป้งกับหน้าได้บาลานซ์กันไหม ขนมครกสุกดีหรือเปล่าเพราะแป้งต่างมาจากหม้อเดียวกัน
ขนมครกบางพรมเป็นขนมครกแป้งนุ่ม รสชาติออกเค็มปะแล่ม ไม่หวาน สมัยก่อนกินกันเป็นของว่างเอาอิ่มมากกว่ากินเป็นของหวาน หลวงพ่อโห้เลยให้เติมน้ำตาลทรายไว้ข้างๆ คู่กัน อยากได้หวานกินเป็นขนมก็จิ้มน้ำตาลทราย ประเพณีนี้เลยมีชื่อเต็มๆ ว่า ‘ตักบาตรขนมครกน้ำตาลทราย’
ผู้คนทยอยเดินทางมาร่วมงานบุญจนล้นหลาม เวลานี้เตาขนมครกทุกเตาห้อมล้อมด้วยผู้คนรอชิมขนมครก ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง เช่น ราชบุรี อ่างทอง อยุทธยาก็มี คุณยายผวน ภู่ทอง คนบางพรม อายุ 80 กว่าเล่าให้ฟังว่า
“ยายไปแต่งงานอยู่อ่างทอง แล้วกลับมางานตักบาตรทุกปี ไม่เคยทิ้ง มาทีก็ได้เหมือนกลับบ้าน สมัยก่อนแม่ก็โม่แป้งทำขนมครก แคะขนมครกมาทำบุญกัน เห็นมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ยายเกิดมาก็เห็นมีแล้ว เมื่อก่อนก็มากับแม่ ตั้งแต่สมัยพระอาจารย์โห่ เจ้าอาวาสรุ่นแรก” สำหรับคนไกลบ้านอย่างยายผวน ประเพณีตักบาตรขนมครกเลยเป็นหมุดหมายงานบุญที่ทำให้ได้เจอญาติพี่น้อง ลูกหลานในทุกๆ ปี
เสียงตามสายบอกเล่าเรื่องราว ‘ตำนานขนมครก’ ความรักหนุ่มสาวชื่อว่าหนุ่มกะทิ กับสาวแป้ง แค่ชื่อพระนางก็เรียกรอยยิ้มให้กับเราและคนในงาน เป็นนิทานเรื่องเล่าสนุกๆ ที่ว่าด้วยความรักของหนุ่มสาวที่ถูกกีดกันจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมราวกับโรมิโอจูเลียต เป็นจุดเริ่มต้นของขนมครกที่ต้องประกบมาเป็นคู่ เพื่อระลึกถึงความรักนิรันดร์ของหนุ่มกะทิกับสาวแป้ง คราวนี้จะไม่แยกจากกันแล้วนะ
สีสันอีกอย่างที่สร้างรอยยิ้ม และเสียงเฮฮาคือการประชัน ‘แข่งขูดมะพร้าว’ ปลุกคนในงานที่เริ่มจะหนังตาอิ่มจากขนมครก ข้าวงานวัดที่ได้แม่ครัวมือฉมังมาอวดรสแกงมีทั้งแกงเขียวหวาน ต้มจืด และแกงกบรสเด็ด ให้ผู้มาร่วมงานได้ตักกินฟรี
ฉันมองไปรอบๆ งาน นอกจากเด็กน้อยโรงเรียนใกล้เคียงที่ใส่เสื้อสีสันสดใสต่อแถวมาเป็นขบวนที่คุณครูพามาร่วมงานบุญ ต้องยอมรับว่ามีแต่บรรดาผู้ใหญ่ ผู้สูงวัยที่มาร่วมงานตักบาตรขนมครก แม้แต่คนแคะขนมก็เป็นบรรดาคุณลุงคุณป้า คุณตาคุณยายที่มาร่วมงานกันตั้งแต่เป็นหนุ่มสาวจนขวบวัยผันเปลี่ยนไปก็ยังพูดเปรยๆ ว่า หมดรุ่นนี้แล้วไม่รู้จะมีเด็กๆ มาทำต่อหรือเปล่า
ความหวังน้อยๆ คงอยู่ที่น้องแต๊ง เด็กบางพรมอายุ 13 ปี ที่มาช่วยงานตักบาตรขนมครกเข้าปีที่ 3 น้องแต๊งเล่าให้ฟังว่า
“ปีแรกที่มาครูหาอาสามาช่วยงาน ผมก็มา พอมาแล้วรู้สึกชอบครับ รู้สึกดีที่ได้ทำอยากให้มีงานตักบาตรขนมครกไปเรื่อยๆ ปีหลังๆ ผมเลยมาเอง วันนี้ก็ให้เพื่อนมาส่งตั้งแต่ตี 2 มาช่วยทำขนมครกครับ ส่วนคุณยายอยู่บ้าน น่าจะมาร่วมงานตักบาตรตอน 8 โมงเช้า” ฉันอดทึ่งไม่ได้ที่เด็กวัยสิบกว่าจะอาสาตัวมาช่วยงานบุญเองโดยไม่มีผู้ใหญ่ในบ้านมาด้วย
ประเพณีตักบาตรขนมครกที่ชาวบ้านบางพรมช่วยกันสืบสานมากว่า 100 ปี จะมีคนสืบสานหรือไม่คงให้เป็นเรื่องของอนาคต ส่วนปีหน้าใครอย่างสัมผัสประสบการณ์ร่วมงานบุญตักบาตรขนมครก หนึ่งเดียวในประเทศไทย กางปฎิทินรอเลยค่ะ ขึ้น 8 ค่ำเดือน 10 แล้วพบกัน
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos