เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ลอดช่องสิงคโปร์ สามแยกเจริญกรุง ลอดช่องสิงคโปร์เจ้าแรกของไทยอายุกว่า 80 ปี

Story by ศรีวิการ์ สันติสุข

ร้านต้นตำรับผู้ให้กำเนิดลอดช่องสิงคโปร์เมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว

ลอดช่องสิงคโปร์ สามแยกเจริญกรุง คือหนึ่งในร้านในตำนานที่ถือเป็นหมุดหมายสำหรับสายเสาะแสวงหาของกินอร่อยระดับอยู่คู่พระนครมาหลายสิบปี เพราะนี่คือ ‘ต้นตำรับ’ ผู้ให้กำเนิดคำว่า ‘ลอดช่องสิงคโปร์’ ขนมหวานเย็นหอมกะทิแสนอร่อยตั้งแต่เมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว

 

 

 

 

เริ่มต้นจากการที่เพื่อนอากงเริ่มขายมาก่อน เขาเป็นคนคิดสูตร เรียกว่าคิดค้นเลยก็ได้ เพราะเป็นคนคิดทำขนมชนิดนี้ขึ้นมาเป็นคนแรกต้า-สัญชัย จักรธีรังกูร ทายาทรุ่นที่ 4 ในปัจจุบันย้อนความหลังให้ฟัง “วันหนึ่งเขาจะเลิกขาย เลยเซ้งกิจการให้อากง ก็สัก 80 กว่าปีที่แล้วครับ จากอากง ก็เป็นรุ่นพ่อ แล้วก็มาถึงรุ่นผม รุ่นที่ 4 แล้ว”

 

 

 

 

ลอดช่องสิงคโปร์

 

 

 

 

ลอดช่องสิงคโปร์

 

 

 

 

ส่วนที่มาของชื่อลอดช่องสิงคโปร์นั้น ฉันได้ยินมา 2 แบบ บ้างว่าเพราะใช้แป้งสิงคโปร์ในการทำเส้นลอดช่อง จึงชื่อลอดช่องสิงคโปร์ กับอีกอย่างที่แพร่หลายกว่าคือด้วยความที่ลอดช่องสิงคโปร์เป็นหนึ่งในเมนูของร้าน ‘สิงคโปร์โภชนา’ ซึ่งตั้งอยู่หน้าโรงหนังสิงคโปร์ในสมัยโน้น เหล่าจิ๊กโก๋จิ๊กกี๋ที่มาดูหนังต่างก็แวะเวียนเข้ามาสั่ง ‘ลอดช่องหน้าโรงหนังสิงคโปร์’ กินกันจนกลายเป็นเทรนด์ กินไปกินมาเรียกไปเรียกมาคำว่า ‘หน้าโรงหนัง’ ก็หายไป เหลือเพียง ‘ลอดช่องสิงคโปร์’ มาจนถึงปัจจุบัน

 

 

 

 

ต้าไขข้อข้องใจให้ฟังชัดๆ ว่าเรื่องแป้งสิงคโปร์ก็ถูก เพราะสมัยก่อนนั้นเรียกแป้งมันสำปะหลังว่าแป้งสิงคโปร์ แต่ชื่อลอดช่องสิงคโปร์น่าจะมาจากสาเหตุหลังมากกว่า

 

 

 

 

“ทำเลที่ตั้งร้านมันเป็นเหมือนจุดเกิดเหตุ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรียกสิ่งนี้ว่าลอดช่องสิงคโปร์ เพราะจริงๆ แล้วมันก็คือขนมลอดช่องครับ แต่ขายในร้านชื่อร้านสิงคโปร์โภชนาที่ตั้งอยู่หน้าโรงหนังสิงคโปร์ คือชื่อร้านเองก็ตั้งตามโรงหนังในสมัยก่อน จนลูกค้าพูดกันติดปากว่ามากินลอดช่องหน้าโรงหนังสิงคโปร์ ไปๆ มาๆ ก็สั้นลงเหลือแค่มากินลอดช่องสิงคโปร์”

 

 

 

 

ลอดช่องสิงคโปร์

 

 

 

 

ลอดช่องสิงคโปร์

 

 

 

 

ลอดช่องสิงคโปร์

 

 

 

 

ความอร่อยของ ลอดช่องสิงคโปร์ (แก้วละ 35 บาท) เจ้าแรก ที่ใครๆ ติดใจและต้องเดินทางมากินก็คือลอดช่องเส้นยาวเหนียวนุ่มทำจากแป้งมันสำปะหลัง น้ำกะทิคั้นสดทุกวันให้กลิ่นหอมอวลนุ่มนวล รวมถึงน้ำเชื่อมจากน้ำตาลมะพร้าวที่ให้รสหวานนวลไม่หวานแหลมโดด เสริมด้วยขนุนหั่นเป็นเต๋าแช่ในน้ำเชื่อมให้เทกเจอร์กรุบกรอบยามเคี้ยว โปะด้วยน้ำแข็งไส บรรจุมาในแก้วที่เมื่อก่อนเป็นแก้วใสให้ฟีลดั้งเดิมเหมือนเมื่อกว่า 80 ปีก่อน กระทั่งช่วงโควิดจึงปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อลดการสัมผัสร่วม เมื่อจะกินก็เพียงบรรจงคนให้ทุกอย่างเข้ากันเป็นเนื้อเดียว กลายเป็นของหวานน้ำกะทิหอมเย็นหวานน้อยแสนชื่นใจ

 

 

 

 

“เรายังคงทำทุกอย่างกันเองทุกวัน เป็นแฮนด์เมดที่หลังร้าน อายุของขนมเลยจะสั้นหน่อยครับ เพราะไม่มีการใส่สารกันบูด อย่างตัวแป้งมันสำปะหลัง พออายุเกิน 1 วันเขาจะไม่หนึบ ไม่เหนียวนุ่มแล้ว น้ำกะทิด้วยความที่เราคั้นสดก็เสียง่าย” ต้าเล่า “ตัวสูตรเองก็เป็นสูตรดั้งเดิมเช่นกัน เพียงแต่มีการปรับสัดส่วนของวัตถุดิบให้สอดคล้องกับยุคสมัย อย่างเช่นมะพร้าวปัจจุบันคุณภาพไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนไม่ต้องใช้หัวกะทิเยอะก็ได้ความหอมแล้ว แต่ตอนนี้ต้องใช้หัวกะทิค่อนข้างเยอะจึงจะมีความหอมเท่าแต่ก่อน”

 

 

 

 

ลอดช่องสิงคโปร์

 

 

 

 

ลอดช่องสิงคโปร์

 

 

 

 

ด้วยปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดิน ทำให้สิงคโปร์โภชนาเพิ่งย้ายร้านจากที่เดิมขยับมาอีกประมาณ 70 เมตร เป็นร้านใหม่ในรูปแบบห้องเดียว 1 คูหา หน้าร้านมีป้ายชื่อ ลอดช่องสิงคโปร์ สามแยกเจริญกรุง พร้อมรูปแก้วลอดช่องสิงคโปร์ใหญ่บึ้มเป็นสัญลักษณ์ ร้านใหม่นี้ไม่มีอาหารขายแล้ว มีเพียงลอดช่องสิงคโปร์กับเมนูใหม่ที่ต่อยอดจากลอดช่องสิงคโปร์ ผลงานการครีเอทของต้าเอง นั่นคือ ลอดช่องสิงคโปร์ Parfait (99 บาท) ลอดช่องสิงคโปร์ดั้งเดิมมาพร้อมไอศกรีมกะทิ 2 ลูก ขนุน เยลลี่น้ำตาลมะพร้าว และวาฟเฟิลทองม้วน เป็นขนมหวานที่รวมร่างกับไอศกรีมกะทิหอมๆ มันๆ ที่น่าจะถูกใจคนรุ่นใหม่สายคาเฟ่

 

 

 

 

“ผมเป็นคนชอบกินไอศครีม กินมาเยอะ แล้วก็ไปเรียนทำไอศกรีมด้วย เพราะอยากรู้ว่ามันทำยังไง แล้วก็เอามาพัฒนาสูตรจากลอดช่องของที่ร้านขึ้นมาครับ”

 

 

 

 

ไอศกรีมกะทิจึงใช้กะทิตัวเดียวกับที่ใช้ในลอดช่อง ใช้ความหวานจากน้ำตาลมะพร้าวทั้งหมด เพื่อเสริมกลิ่นมะพร้าวเข้าไปในตัวไอศครีม มีการใส่เส้นลอดช่องและขนุนลงไปในเนื้อไอศกรีมแบบเดียวกับที่มีในลอดช่องสิงคโปร์ ส่วนน้ำเชื่อมน้ำตาลมะพร้าวก็แปรสภาพเป็นเยลลี่ เพิ่มเทกเจอร์กรุบกรอบด้วยวาฟเฟิลทองม้วนที่ให้ทั้งกลิ่นและรสเหมือนทองม้วน

 

 

 

 

“เน้นใช้ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวเยอะที่สุดครับ เพราะเป็นจุดเด่นของร้าน กะทิ มะพร้าวต่างๆ” ต้าอธิบาย “ถ้วยนี้จะมีทั้งตัวลอดช่องดั้งเดิม มีไอศครีมกะทิที่ทำจากมะพร้าว มีน้ำตาลมะพร้าวที่ทำเป็นเยลลี่ วาฟเฟิลทองม้วนก็ทำจากกะทิกับน้ำตาลเช่นกัน”

 

 

 

 

ลอดช่องสิงคโปร์

 

 

 

 

ลอดช่องสิงคโปร์

 

 

 

 

ต้ายังพาไปดูตู้ไอศกรีมขนาดย่อมบริเวณกลางร้าน (ไอศกรีม Premium Gelato 1 ลูกใหญ่ 75 บาท / 2 ลูกเล็ก 95 บาท) ที่บรรจุไอศกรีมหลากสีหลายรสชาติ มีทั้งรสชาติเบสิกอย่าง สตรอวเบอรี่ย์ ยูสุ กะทิ ช็อกโกแลต ชานมไต้หวัน หรืออย่างชาอู่หลง ที่ต่อยอดมาจากอีกหนึ่งหนึ่งซิกเนเจอร์ของร้าน นั่นคือชาอู่หลงเย็นที่ใครๆ ก็ติดใจในความหอม เมื่อนำมาทำเป็นไอศกรีมก็ต้องบอกว่าเก็บจุดเด่นมาครบมาก เพราะหอมฉุยขึ้นจมูกกับรสชาติหวานน้อยละมุนละไม

 

 

 

 

ไปจนถึงรสชาติแปลกๆ อย่าง คาร์โบนารา ที่นัวเนียนครีมมี่สุดๆ ทั้งเนื้อสัมผัสและรสชาติ และ ผัดไข่เค็ม ซึ่งคือไข่เค็มผัดน้ำพริกเผา รสเค็มปะแล่ม หวานน้อยๆ ผสานความเผ็ดจางปลายๆ

 

 

 

 

แต่ละวันจะมีการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนรสชาติกันไป และยังจะมีรสชาติแปลกใหม่ให้ได้ลิ้มลองกันอีกมาก เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เพิ่งจะวางขายก่อนเรามาเพียงไม่กี่วัน

 

 

 

 

แวะเวียนมาชิมความหอมหวานมันของลอดช่องสิงคโปร์เจ้าแรกอายุกว่า 80 ปี และไอศกรีมที่หยิบความเก่ามาต่อยอดให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ที่ร้านลอดช่องสิงคโปร์ สามแยกเจริญกรุง ทั้ง 2 สาขาคือสาขาหลักและ I’m Chinatown หรือจะสั่งออนไลน์ก็ได้ค่ะ

 

 

 

 

ลอดช่องสิงคโปร์ สามแยกเจริญกรุง

 

 

 

 

พิกัด: https://maps.app.goo.gl/X8bSXLXXdgDNCZ7y8?g_st=ic

 

 

 

 

เปิด-ปิด: 10.30-21.30 น. (ปิดวันพฤหัสบดี)

 

 

 

 

FB: ลอดช่องสิงคโปร์

Share this content

Contributor

Tags:

ขนมไทย, ลอดช่องสิงคโปร์

Recommended Articles

Food Story40 ปี ตำนานบัวลอยจิ๋ว 7 สี เมืองนนท์ คิวยาวเหยียด
40 ปี ตำนานบัวลอยจิ๋ว 7 สี เมืองนนท์ คิวยาวเหยียด

บัวลอยเม็ดน้อย 7 สีกับรถเข็น 1 คันที่อยู่คู่เมืองนนท์มากว่า 40 ปี

 

Recommended Videos