เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

“เพราะบ้าจึงกล้าเปลี่ยน” จากใจวานิชย์ วันทวี ฟาร์มหมูอินทรีย์ ว.ทวีฟาร์ม

Story by สุริวัสสา กล่อมเดช

บุคคลที่ครั้งหนึ่งเคยสูญเสียจนเสียศูนย์ แต่กลับมายืนหยัดอย่างมั่นคงได้อีกครั้ง ด้วยสิ่งที่เขาเกลียดชังที่สุดอย่างปศุสัตว์อินทรีย์

เนื้อที่กว่า 34 ไร่ โอบล้อมด้วยทิวสนและขุนเขา พร้อมสายลมเย็นที่พัดมาทักทายเราทันทีที่ก้าวเท้าลงจากรถ ทำเอาคณะเราเคลิบเคลิ้มเผลอคิดว่าได้สิทธิ์ลาพักร้อนหลบหลีกฝุ่นพิษในเมืองกรุงมาตากอากาศท่ามกลางธรรมชาติไกลถึงขอนแก่น ทว่าเสียงทักทายพร้อมรอยยิ้มของชายหนุ่มร่างกำยำผิวสีกรำแดด คุณวานิชย์ วันทวี (ฟิว) เจ้าของ ว.ทวีฟาร์ม ทำให้เราหลุดจากภวังค์และนึกขึ้นได้ว่าเพราะสิ่งที่ชายผู้นี้ทำ ทำให้เราตั้งใจเดินทางไกลมาพบเขา ณ ฟาร์มหมูอินทรีย์แห่งนี้

 

คุณฟิวพาเราเดินชมฟาร์มหมู ที่ดูอย่างไรก็ไม่เหมือนฟาร์มหมูอย่างที่เราคุ้นชิน คอกคับแคบและรางอาหารถูกแทนที่ด้วยลานกว้างให้น้องหมูได้วิ่งเล่นอย่างเพลิดเพลิน แต่กว่าฟาร์มหมูอินทรีย์จะเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เราได้มาสัมผัสนี้ คุณฟิว อดีตหมอรักษาสัตว์ก็เคยทำงานคลุกคลีอยู่ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ขนาดใหญ่ และทำฟาร์มหมูของตัวเองในระบบเคมีมาก่อน เขาบอกกับเราว่า ‘เคมี’ คือสิ่งที่เขาถนัด ทว่าทางที่เคยเชื่อมั่นนี้กลับพาเขาไปสู่ทางตันจนถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย เมื่อฟาร์มต้องเผชิญกับโรคระบาดซ้ำซาก

 

แต่ก็เพราะทางตันและความบ้าขั้นสุดของเขานั่นแหละที่ช่วยยื้อยุดให้ฟาร์มที่เกือบล่มกลับมายืนหยัดอย่างมั่นคงอยู่ได้ทุกวันนี้ เมื่อสิ่งที่เขาเคยเกลียดอย่างปศุสัตว์อินทรีย์กลายเป็นกำเนิดใหม่ของ ว.ทวีฟาร์ม

 

“ตอนนั้นหมูติดโรคระบาด เราเรียนวิทยาศาสตร์มาก็พยายามหาวิธีทางวิทยาศาสตร์ หาวัคซีนหายาจากต่างประเทศก็ซื้อมาหมดแล้ว แต่โรคมันไม่หมด เกิดซ้ำเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าจะทำยังไง จะให้ไปทำอินทรีย์ก็ไม่ชอบ ไม่แม้แต่จะมองเลยแหละ…คิดไปต่างๆ นานา ฟาร์มก็จะล่ม เป็นครั้งแรกที่อ่อนแอที่สุดในชีวิต แค่เห็นกิ่งมะขามก็รู้สึกว่ากิ่งนี้มันเหมาะสมกับการผูกคอตายมากเลย เห็นหน้าต่างที่บ้านก็รู้สึกว่ามันเหมาะที่จะกระโดดฆ่าตัวตายมาก เห็นรถก็อยากฆ่าตัวตาย มันล่อแหลมไปหมด รู้เลยว่าคนจะฆ่าตัวตายมันเป็นยังไง แค่เสี้ยววินาทีของชีวิตจริงๆ”

 

ดึงตัวเองออกจากความรู้สึกนั้นได้อย่างไร

 

คิดได้เพราะคนใกล้ตัว ภรรยาผมนี่แหละเขาพูดจนเราคิดได้ว่า เออว่ะ… ถ้าเราฆ่าตัวตายคือเราเห็นแก่ตัวมากนะ ทำไมเราไม่สู้วะ มันคิดไม่ได้ปุบปับหรอกแต่ก็ค่อยๆ คิดได้ เริ่มจากเอาหมูที่มีไปเปิดตลาดขาย ลด แลก แจก แถม ก็ทำทุกอย่างให้ฟาร์มอยู่รอด ไม่เคยชำแหละหมูขายเองก็ต้องชำแหละขาย ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่วนหมูก็ยังเกิดโรคซ้ำเรื่อยๆ ไม่หมด ผมกับภรรยาก็เริ่มช่วยกันหาข้อมูลให้หลุดพ้นจากวงจรโรคระบาดที่เกิดซ้ำๆ ก็เริ่มศึกษาเกษตรอินทรีย์

 

 

ทั้งที่เชื่อในปศุสัตว์เคมีและปฏิเสธอินทรีย์มาตลอด แล้วทำไมถึงคิดว่าระบบอินทรีย์คือทางออก

 

ใช่ อินทรีย์เป็นอะไรที่ผมโคตรเกลียดเลยตอนเรียนมหา’ลัย ไม่ชอบเลย มันสกปรก ไม่สะอาดในความคิดผมนะ แต่พอคิดว่ามันอาจจะเป็นทางรอดของฟาร์มเราก็เลยเปลี่ยนมาทำอินทรีย์ เพราะเรารู้แล้วว่าที่ผ่านมาไม่ใช่วิธีจัดการที่แท้จริง เราแก้ปัญหาด้วยวัคซีน พอหายจากโรคนี้ก็เป็นโรคนี้ ตอนเปลี่ยนมาทำอินทรีย์ก็ไม่ได้มั่นใจหรอก แต่บอกตรงๆ ว่ามันไม่มีทางเลือก ไม่มีทางให้ก้าวเดิน โรคมันรุมเร้าหมูและต้นทุนสูงมากที่เราจะไปซื้อยามาอีก ไม่รู้จะทำยังไง ตอนนั้นไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ถอยหลังไม่ได้ก็ต้องเดินหน้าอย่างเดียว

 

เริ่มต้นก้าวอีกครั้งด้วยเกษตรอินทรีย์อย่างไร

 

หาข้อมูล ศึกษาจากพี่ที่อยู่ราชบุรีว่าการทำอินทรีย์มันไม่มีโรค ไม่ต้องใช้วัคซีนใช้ยา เลยลองดู การทำอินทรีย์คือเอาอาหารอินทรีย์มาให้หมูกิน หมูก็เป็นอินทรีย์แล้ว ก็ขายเป็นอินทรีย์ได้ บินไปหาอาจารย์ที่เชียงใหม่ ศึกษาเรื่องหมูหลุม บินไปเช้าเย็นกลับ ไม่อยากทิ้งฟาร์มแต่ก็อยากเรียนรู้ เพราะอ่านหนังสือแล้วมันยังไม่สุด ต่อให้เขียนดีขนาดไหนมันก็ยังไม่สุด ต้องไปดู พอไปแล้วก็ลองมาทำหมูหลุม มันทำให้เรารู้ความแตกต่างเป็นระดับชั้น เพราะเราลองทำมาหมดแล้ว ลองทำเรื่อยๆ ก่อนจะมาทำฟาร์มแบบ biodynamic

 

แสดงว่าปรับมาเป็นระบบอินทรีย์แล้วผลลัพธ์ดีขึ้นอย่างที่หวัง

 

ตอนนั้นเราขายหมูอินทรีย์ได้แล้ว กำลังจะไปทำโลโก้ฟาร์มออร์แกนิกเลยเสิร์ชหาแบบทำโลโก้เนี่ยแหละ แล้วไปเจอคำว่า ‘biodynamic’ เราก็เฮ้ย มันมีแบบนี้ด้วยเหรอ ศึกษาเลยครับว่ามันคืออะไร แล้วศึกษาอย่างเดียวทำไม เราก็ลองทำเลย มันไม่มีลำดับขั้นตอนในการศึกษาเลยนะ ลองไปเรื่อยๆ ทำไปค้นหาข้อมูลไป จนรู้ว่ามันเป็นระบบที่ธรรมชาติเกื้อกูลกันนะ ตอนนั้นไม่ได้หยุดอยู่กับที่เลย หาความรู้มาเติมตลอดจนรู้สึกมั่นใจ พัฒนาเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงจนสายพันธุ์หมูของเราแข็งแรงกับระบบนิเวศที่เป็นอยู่

 

 

ระบบไบโอไดนามิกคือระบบที่ ‘ธรรมชาติเกื้อกูลกัน’ อย่างไร

 

ไบโอไดนามิกจะปลูกพืชในแปลงแล้วปล่อยให้สัตว์เข้าไปกินพืช เสร็จแล้วเขาก็จะไถดินให้ พรวนดินให้ ถ่ายมูลใส่ปุ๋ยให้ พอใส่ปุ๋ยเสร็จปุ๊บ เราก็หว่านเมล็ดพันธุ์พืชที่เป็นอาหารสัตว์ลงไป แล้วเราก็ปิดแปลงนั้นไปเปิดแปลงใหม่ มันคือการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ สัตว์กับพืช สัตว์กับคน คนกับพืช เป็นระบบนิเวศอย่างกลมกลืนตอบแทนซึ่งกันและกัน คือปลูกตรงนี้ ให้สัตว์มากินตรงนี้ เขาก็ถ่ายใส่ปุ๋ยตรงนี้ ไม่ใช่ว่าเขามากินอย่างเดียวแต่เขาช่วยเราด้วย ทำให้ดินดี มีระบบจุลินทรีย์ มีพืชพันธุ์ใหม่ๆ มีแมลง ทุกอย่างประกอบสัมพันธ์กันหมด

 

ที่ผมรู้เพราะว่ากำลังจะกลายเป็นคนบ้า มันมีเส้นบางๆ ระหว่างคนกล้าและคนบ้านะ (หัวเราะ) ผมมานั่งคิดดูว่าเราน่าจะทำอะไรต่อไปจากอินทรีย์ได้ เราไม่มีระบบอื่นเลยเหรอ มันสุดแค่นี้เหรอ จนมาเจอไบโอไดนามิกนี่แหละ ในไทยก็มีคนพยายามทำระบบไบโอไดนามิกนะ แต่มันมีข้อจำกัด

 

ข้อจำกัดที่ว่าคืออะไร

 

อย่างผมทำฟาร์มหมู แต่ไม่สามารถเลี้ยงหมูอย่างเดียวได้ ผมต้องเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ต้องมีวัว แต่ผลิตภัณฑ์หลักของผมคือหมู เพราะว่าต้องตัดหญ้าให้หมู ไก่ต้องพรวนดินให้อยู่ในแปลงหมู เล้าหมู เป็ดกินแมลงกินหนอนให้ ระบบนิเวศกลมเกลียว แล้วจะมีนกเข้ามากินเห็บของวัว ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด เกื้อกูลกัน มันค่อนข้างยุ่งยากสำหรับเกษตรกรทั่วไป เราก็เข้าใจนะ

 

 

ที่บอกว่าเรารู้ทุกอย่างนี้เพราะเรากำลังจะกลายเป็นคนบ้า… ช่วยอธิบายความบ้าที่ว่าหน่อย

 

อย่างที่บอกตอนผมหันมาทำไบโอผมหักดิบเพราะความบ้าของตัวเองเลย คนจะทำได้ต้องหักดิบ ยอมสูญเสียก่อนเพื่อจะได้สิ่งที่ต้องการ แล้วผมเข้าป่าไปศึกษาระบบนิเวศจากของจริงที่มีอยู่แล้ว คือในป่านี่แหละ ไปดูว่าสัตว์ป่าอยู่อย่างไร แมลง ไส้เดือนอยู่อย่างไร ต้นไม้เป็นอย่างไร ไปนั่งเหมือนคนบ้าเลย ปิดตำราแล้วไปสังเกตศึกษาอยู่คนเดียว จากเดิมเป็นคนกลัวผีกลายเป็นไม่กลัวเลย พอรู้ว่ากระบวนการระบบนิเวศในป่าเป็นแบบไหนก็ลงมาทำ มันเหมือนการจำลองป่า แล้วก็ค้นคว้าข้อมูลจากต่างประเทศเพราะของไทยไม่มีคนทำด้วยเรื่องข้อจำกัดนั่นแหละ ก็ศึกษาหัวใจของไบโอไดนามิกมาแต่ copy มาทั้งหมดไม่ได้นะ ภูมิศาตร์มันต่างกัน จะเอาลูกพลับลูกสนให้หมูกินไม่ได้ ต้องใช้สิ่งที่เรามีในท้องถิ่น พอลงมือทำก็ดีขึ้นเรื่อยๆ สัตว์ป่วยน้อยลง อัตราการรอดตอนคลอดสูงขึ้น

 

หมูที่อยู่ในระบบนิเวศที่เกื้อกูลกันมันช่วยลดอัตราการติดโรคและการตายได้อย่างไร

 

ตอนเปลี่ยนมาไบโอไดนามิก เราหักดิบเลยนะ จากหมู 100 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 30 เปอร์เซ็นต์ หมูตายหมดเพราะไม่ใช้วัคซีน ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเลย เราใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่นเก็บจากภูเขามาผสมอาหาร เพื่อให้กระบวนการเมตาบอลิซึมในร่างกายดีขึ้น สัตว์ก็จะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เปอร์เซ็นต์หมูตายก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 5 เปอร์เซ็นต์ เราจะเอาอย่างเดียวไม่ได้ ก็ต้องคืนธรรมชาติไปบ้าง มองเป็นระบบนิเวศเขาตอบแทนเราได้เหมาะสมแล้ว

 

คนเข้ามาที่ฟาร์มก็ไม่ต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรค ถ้าเป็นระบบอุตสาหกรรมนี่คนจะเข้าฟาร์มได้ต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคก่อน ถ้าเขาบอกว่าสายพันธุ์หมูที่เลี้ยงอยู่เป็นหมูแข็งแรง แล้วเขาจะให้เราผ่านยาฆ่าเชื้อทำไม เราก็อาบน้ำกันอยู่ทุกวัน สรุปเราสกปรกเหรอ มันไม่ใช่ แสดงว่าสัตว์อ่อนแอแล้วแหละ คุณเลี้ยงให้เขาอ่อนแอ เจอเชื้อนิดๆ หน่อยๆ ก็ป่วย

 

 

สังเกตว่าไม่มีคอกหมูแคบๆ หรือรางอาหารยาวๆ เหมือนหมูอุตสาหกรรม

 

ใช่ครับ ไม่เป็นคอก เราปล่อยให้อยู่กันในแปลงใหญ่ อิสระร่าเริงแจ่มใส อยากวิ่งก็วิ่ง อยากนอนก็นอน มีบ่อโคลนให้เขาแช่ตัวคลายเครียด หมูเพิ่งเกิดก็ไม่แบ่งแยก ฝูงแม่และลูกตัวน้อยๆ อยู่ด้วยกันได้ แต่งานมันเยอะกว่าระบบอุตสาหกรรมอยู่แล้ว เพราะเราต้องตัดอาหารเอง เป็นอาหารธรรมชาติที่เราปลูกเองในฟาร์มสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปเรื่อย ช่วงนี้มีหญ้าเนเปียก็ไปตัดหญ้า ช่วงไหนมีกล้วยก็ให้กินกล้วย กินข้าวโพด แต่ถ้าหมูอุตสาหกรรมให้อาหารสำเร็จรูปในราง ฉีดน้ำ ฉีดยา จบ

 

 

 

ว่าแล้วพี่ฟิวก็พาเราเดินไปดูดงหญ้าเนเปียยอดใบสูงท่วมหัว ที่มีชายหนุ่มผู้ช่วยเพียงคนเดียวของฟาร์มกำลังตัดมัดเป็นฟ่อน นอกจากจะบ้ากล้าเปลี่ยนยังบ้าพลังกันทั้งคู่ เพราะการออกแรงเตรียมอาหารให้หมูกว่า 300 ตัวเช่นนี้ เป็นกิจวัตรที่ทำกันเพียงสองหนุ่ม เริ่มตั้งแต่ปลูกไปจนถึงตัดแบกหามขนขึ้นรถเตรียมนำไปให้น้องหมูได้เอร็ดอร่อยคู่กับกล้วยสุก เป็นอาหารหมูที่ดูเฮลธ์ตี้สุดๆ

 

ระหว่างอุตสาหกรรมกับไบโอไดนามิก ระยะเวลาการเลี้ยงกว่าหมูจะโตจนขายได้ต่างกันมากไหม

 

ต่าง ของเราใช้เวลา 8-14 เดือน แต่ถ้าอุตสาหกรรม 4 เดือนขายได้แล้ว เพราะเขาขุนด้วยหัวอาหาร อัดสารเคมี ดีใจได้เลยเรามีสารเคมีปะปนในเส้นเลือดมากมาย (หัวเราะ) 8-12 เดือนเลี้ยงธรรมชาตินี่ 90 กิโลเองนะ แต่ถ้า 4 เดือนอย่างอุตสาหกรรมคือ 120 กิโล มันเร่งโตขนาดไหน คิดดู

 

ความปลอดภัยต่างกันเห็นได้ชัด แล้วเรื่องรสชาติรสสัมผัสล่ะ

 

เนื้อสัมผัสแตกต่างเพราะการใช้อาหารจากพืช การได้เคลื่อนไหวทำให้หมูเนื้อแน่นคล้ายเนื้อวัว สีก็จะเข้มตามธรรมชาติ ตามอาหารการกินของเขา

 

เรื่องการตลาด มีวิธีสื่อสารกับลูกค้าอย่างไร คนน่าจะคุ้นเคยกับผักปลอดสารมากกว่าหมูปลอดภัย

 

แรกๆ เราไปสื่อสารมันก็ลำบาก เพราะคนไม่รู้จัก เราก็พยายามไปทุกที่ จุฬาฯ เชิญไป มหิดลเชิญไป เราไปหมดเพื่อจะไปอธิบายว่าทำได้จริงนะ แล้วลูกค้าก็เพิ่มขึ้น ทำไปเรื่อยๆ มีตลาดกรีนมาร์เก็ตเข้ามาก็ลองไปขายดู พอดีในตลาดไม่มีหมูออร์แกนิก นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นในการออกสู่ตลาด เป็นจุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนชีวิตเราเลย คนรู้จักเราเยอะขึ้น เริ่มเข้ามาเห็นความสำคัญ อย่างที่ตลาดสีเขียวก็มีลูกค้ารออยู่ ไม่ไปไม่ได้ บางคนก็สั่งมาทางไลน์ ตอนนี้สมาคมเชฟแห่งประเทศไทยก็เอาไปใช้กัน

 

 

ผลลัพธ์ภายนอกชัดเจนว่าดีขึ้น แล้วภายในอย่างกระบวนการความคิด ทัศนคติ เปลี่ยนไปด้วยไหม เพราะสิ่งที่เคยเกลียดกลับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรายืนหยัดอยู่ได้ทุกวันนี้

 

เปลี่ยนไปตลอดกาล ไม่ได้เปลี่ยนแค่การปฏิบัติตัว มันเปลี่ยนทัศนคติ การกิน การดำเนินชีวิตทุกสิ่งในตัวผม มุมมองชีวิตเปลี่ยน เกษตรอินทรีย์ทำให้เราใจเย็นขึ้น เดิมเป็นคนใจร้อนอยากได้อะไรไวๆ ธรรมชาติสอนเราให้รู้จักพอนะ อย่างมีเชฟมาติดต่อซื้อหมูเยอะๆ เรามีเท่าไรก็ขายเท่านั้น บอกเขาไปตรงๆ ว่ามีแค่นี้ ที่เหลือมันยังไม่ได้คุณภาพจะเอาไหมล่ะ? แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมหาให้เขาจนได้แหละครับ

 

เรารักธรรมชาติมากขึ้น เอาใจใส่ดูผลิตภัณฑ์เรา ไม่ใช่เอาแต่กายทำ ผมนั่งดูอะไรอย่างเดียวเป็นชั่วโมงๆ ก็มี เช่นนั่งดูหมูว่า เอ๊ะ ทำไมวันนี้หมูตัวนี้มันนอนแบบนี้วะ ทำไมมันเดินอย่างนี้ ทำไมมันไม่กิน กลายเป็นคนช่างสังเกตหาสาเหตุมาซัพพอร์ตตามความเป็นจริง

 

แล้วเมื่อก่อนผมพยายามให้แม่ผมเชื่อในสิ่งที่ผมทำให้ได้ จนทุกวันนี้แม่ก็ยังไม่เชื่อนะ ก็ไม่เป็นไร เพราะผมอยู่กับมันผมก็เลยรู้ว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนโลกใบนี้ได้ หรือเปลี่ยนความคิดใครได้แต่เราเปลี่ยนตัวเองได้ ผมเลยเข้าใจเกษตรกร อยู่ดีๆ จะให้เชื่อในกระบวนการที่ย้อนหลังกลับสู่ธรรมชาติมันก็ยาก อย่างบางทีผมปล่อยให้พืชท้องถิ่นเกิดขึ้นในที่ คนแถวนี้เขาก็ว่ามันรก แต่เรามองว่ามันเป็นระบบนิเวศ ระบบจุลินทรีย์ที่เขากำลังทำงานให้เราอยู่ ก็ต้องพิจารณาก่อนว่าควรตัดหรือเปล่า ถ้าไม่จำเป็นก็ตัด แต่ต้องดูให้ละเอียดนะ คำว่าจำเป็นคือต้องดูทุกด้าน ประโยชน์อย่างไร ด้านไหนบ้าง มันทำให้เราเป็นคนละเอียดขึ้น จิตใจอ่อนโยนกว่าเดิม

 

 

ธรรมชาติทำให้อัตตาเราลดลง

 

ลดลงเยอะ แต่ก่อนนี่ต้องให้ได้ดั่งใจ ถ้าไม่ได้ดั่งใจจะโกรธ เครียด แต่ตอนนี้เข้าใจถ้ามีบางเรื่องที่ไม่ได้ดั่งใจเรา บางทีมันมีโอกาสมีจังหวะของมัน นี่อาจเป็นบดทดสอบเราให้อดทน เตรียมความพร้อมเสมอ มีกระบวนการความคิดที่ซับซ้อนขึ้น มีการวางแผน ตอนนี้ รู้แล้วว่าความสุขของคนไม่ได้อยู่ที่เราต้องไปสวิสฯ เหรอถึงจะมีความสุข? เนเธอร์แลนด์เหรอ? ญี่ปุ่นเหรอ? ไม่เลย ความสุขอยู่กับเราทุกวัน ผมเพิ่งรู้จักความสุขของผมจริงๆ ว่ามันคือการที่ผมได้อยู่ที่ฟาร์ม ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำทุกวัน ได้ต้อนรับคนที่เข้ามา ได้ถ่ายทอดสิ่งที่เราทำ จริงๆ แล้วทั้งหมดไม่ใช่แค่ระบบการเลี้ยงหมูหรอก แต่มันเป็นปรัชญาชีวิต เป็นเส้นทางการดำเนินชีวิต สำหรับเรามันเป็นเส้นทางสู่ความสุขที่แท้จริง ธรรมชาติคืนความสุข

 

ส่งต่อแนวคิดนี้ให้กับเกษตรกรร่วมอาชีพบ้างไหม ถึงเราจะรู้ว่าเปลี่ยนความคิดคนเป็นเรื่องยากก็ตาม

 

ถ้ามีเกษตรกรมาขอความรู้เรา เรายินดีให้มากเลยนะ ผมอยากให้มีเกษตรกรทำแบบนี้เยอะๆ เพราะหากวันหนึ่งตลาดมันโตจนหมูเราไม่พอ เราก็มีหมูจากเกษตกรส่งต่อ จริงอยู่ที่เราเปลี่ยนใครไม่ได้แต่เราเปลี่ยนตัวเราให้เป็นแบบอย่างที่ดีได้ เพราะผมเชื่อว่าตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน และในอนาคตถ้าผมหาตลาดได้จำนวนหนึ่งที่สามารถกระจายให้เกษตรกรไปเลี้ยงแล้วมาป้อนได้ ผมก็จะทำ เพื่อให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราจะเอาอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องเป็นผู้ให้ด้วย แต่ไม่ใช่ว่ามีเงินล้านแล้วแจกนะ เป็นการให้ที่เขาได้ตลอดชีวิตคือให้อาชีพ มันก็ตกทอดเป็นมรดกสู่ลูกสู่หลานเขา นอกจากอาชีพเราก็ให้วิถีชีวิตเขาด้วยเพราะมันไม่ใช่แค่การเรียนรู้ระบบ มันคือเรียนรู้วิถีชีวิต ระบบนิเวศในธรรมชาติ เรียนรู้ว่าเราจะอยู่กับธรรมชาติอย่างไรให้ธรรมชาติดูแลเราและเราดูแลธรรมชาติได้

 

ทุกวันนี้ทุกอย่างกำลังหวนกลับสู่ธรรมชาติ ที่ผ่านมามันเร็ว แต่เร็วเพราะทำลาย ไม่ได้สร้าง สมมติอยากปลูกไร่จำนวนเยอะๆ เราก็แค่ตัดป่าไม้ออกก็มีพื้นที่ให้เราปลูกแล้ว ตอนตัดมันแป๊บเดียวเอง แต่จะปลูกคืนให้เหมือนเดิมต้องใช้เวลากี่ปีกว่าจะเหมือนเดิม ตอนทำลายแป๊บเดียวแต่ตอนสร้างมันนาน เวลา 2 ปีได้อุตสาหกรรม แต่จะเอาธรรมชาติกลับมาใช้เวลานับ 10 ปี ถึงจะผลิตอาหารที่ดีได้ อย่างผมก็ตั้ง 7 ปีผ่านมาแล้ว

 

 

ติดต่อ ว.ทวีฟาร์ม

 

โทร. 06-2919-5556, 08-1768-1732

 

Facebook: ว.ทวีฟาร์ม

 

Share this content

Contributor

Tags:

คุยกับผู้ผลิต, อาหารออร์แกนิก

Recommended Articles

Food StoryLemon Farm ธุรกิจที่เชื่อในมนตราของอาหาร คนทำชีวิตดี คนกินมีความสุข
Lemon Farm ธุรกิจที่เชื่อในมนตราของอาหาร คนทำชีวิตดี คนกินมีความสุข

หัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจคือโอบอุ้มความอยู่รอดของผู้ผลิตอาหาร และสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค