เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ต้องไปโดน! ของดีจาก 5 จังหวัดลับแล

Story by ชรินรัตน์ จริงจิตร

นึกถึงอาหารหรือของดีประจำถิ่นทีไรเป็นมีแต่จังหวัดใหญ่ๆ ดังๆ โผล่มาในความคิด แต่ประเทศไทยมีตั้ง 77 จังหวัด มันน่าน้อยใจแทนจังหวัดเล็กๆ จังหวัดที่เป็นแค่ทางผ่าน จะไม่มีอะไรอร่อยจนเป็นที่พูดถึงเชียวหรือ...หรือเราแค่ไม่รู้

จึงเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าเป็นไปได้หรือที่จังหวัดเหล่านี้จะไม่มีของดีเลื่องชื่อ สงสัยแล้วก็ต้องค้นสิคะ ปรากฏว่าเจอของดีซุกซ่อนอยู่ในหลายจังหวัดนอกสายตา ซึ่งขอเลือกมาฝากกัน 5 จังหวัด ทีนี้เวลาไปนราธิวาส สตูล อุทัยธานี ลำพูน ชัยภูมิ จะได้ไม่ต้องสงสัยว่า “มีอะไรอร่อยบ้างนะ” ตอบเลยว่ามี! มีทั้งของแปลก ของดี ของพื้นบ้านแบบหาที่ไหนไม่ได้

 

 

จังหวัดนราธิวาส

 

หนึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คำถามใหญ่กว่า “อะไรอร่อย” คือ “ไปได้เหรอ ไม่อันตรายเหรอ” ความจริงแล้วไปได้ แค่ต้องทำตามกฎระเบียบเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง และคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เคยพบมาล้วนน่ารัก อัธยาศัยดี มีน้ำใจอีกต่างหาก ของดีของเด่นของนราธิวาสคือปลากุเลาเค็ม เนื้อนุ่ม อร่อย และมีราคาแพงที่สุด มาถึงที่แล้วต้องซื้อกลับบ้านนะบอกเลย แต่ก่อนกลับให้แวะกิน ‘ละแซ’ หรือ ละซอ’ ก่อน เพราะเป็นอาหารที่มีแค่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เท่านั้น ละแซเป็นอาหารหลักของชาวมุสลิม มีเส้นรสสัมผัสคล้ายขนมจีนแต่รูปลักษณ์คล้ายเส้นใหญ่ ราดน้ำยาคล้ายๆ น้ำยาขนมจีน มีรสหวานผสมเผ็ดหน่อยๆ หอมด้วยกลิ่นขิงและข่า นิยมกินคู่กับผักสด เช่น กะหล่ำซอย แครอทซอย แตงกวาซอย แค่พูดก็อยากกินขึ้นมาเลย!

 

 

จังหวัดสตูล

 

ทุกคนรู้จักสตูลก็เพราะเกาะหลีเป๊ะ แต่นอกจากเกาะสวยๆ เรื่องอาหารการกิน สตูลก็มีดีไม่แพ้กัน รู้ไหมว่าต้นตำรับโรตีชาชัก เกิดมาจากที่ไหน คำตอบคือที่จังหวัดสตูลนี้เอง แล้วยังมีอาหารขึ้นชื่ออย่าง ‘แกงตอแมะ’ หรือ แกงตูมิห์” ซึ่งเป็นแกงแบบมุสลิม คือนำเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอมหลายอย่างมาผัดกับน้ำมันและใส่กะทิลงไป โดยนิยมใช้เนื้อปลามาทำแกง กลิ่นหอมของเครื่องเทศช่วยกลบกลิ่นคาวของปลาได้ แกงตอแมะไม่ได้ถูกปากคนไทยมุสลิมเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ชื่นชอบของขาวจีนในพื้นที่ ด้วยรสชาติที่ไม่เผ็ดเกินไปกับกลิ่นหอมๆ ของเครื่องเทศและสมุนไพร ยัง ยังไม่หมด! สตูลยังมีผลไม้ขึ้นชื่อที่อยู่คู่ชาวสตูลมาเลยก็ว่าได้ นั่นคือ ‘กระท้อน’ ไม่ได้รอกินสุกอย่างเดียว เพราะด้วยรสชาติเปรี้ยวอมหวาน เนื้อกรอบ ลูกกลมโต คนในพื้นที่เลยนิยมเอามาทำเมนูอาหาร อาทิ แกงคั่วกระท้อน

 

 

จังหวัดอุทัยธานี

 

นอกจากประเพณีตักบาตรเทโวที่ใครๆ รู้จักดี อุทัยเทวี เอ๊ย ธานี ก็ยังมีของดีงามอีกหลายอย่าง อาทิ ปลาแรด ที่มาจากลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง มีความโดดเด่นเรื่องเนื้อนุ่มและแน่น รสหวาน และไม่มีกลิ่นคาว จึงทำให้ปลาแรดอุทัยฯ เป็นที่นิยม จะนำไปทำปลาแรดทอดกระเทียม ปลาแรดนึ่งกับเครื่องสมุนไพร จิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสแซบๆ ก็อร่อยเด็ดทั้งนั้น ส้มโออุทัยฯ หรืออีกชื่อเรียกกันว่าส้มโอบ้านน้ำตก ก็โดนใจไม่แพ้กัน เพราะเป็นพันธุ์ขาวแตงกวาแท้ ที่มีความพิเศษตรงเนื้อกรอบ หวาน อร่อย จะกินเป็นผลไม้ก็ได้ หรือนำมาประกอบอาหารอย่างยำส้มโอกุ้งสดก็อร่อยล้ำ คำแรกรับรู้ได้ถึงความสดชื่น ปิดท้ายด้วย ขนมกงหนองแก’ ขนมหน้าตาคล้ายกงเกวียนทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งข้าวเหนียวคั่วแล้วนำมาเคี่ยวกับน้ำตาลปี๊บ กะทิ จนเหนียวข้นได้ที่ ใส่ถั่วเขียวบดละเอียดลงไปผสมให้เข้ากัน ก่อนจะปั้นแล้วนำไปทอด คนอุทัยฯ นิยมทำและกินกันในงานเทศกาลสำคัญๆ เช่น งานแต่งงาน งานสงกรานต์ เพราะมีความหมายแฝงถึงความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต

 

 

จังหวัดลำพูน

 

จิ๋วแต่แจ๋ว เพราะลำพูนเป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดของภาคเหนือ แต่อุดมด้วยเรื่องราวและประวัติเก่าแก่ยาวนาน ของดีของเด่นประจำจังหวัดคือผลไม้รสหวานฉ่ำนามว่าลำไย ย่างเท้าเข้าเขตจังหวัดจะเห็นผลิตภัณฑ์ลำไยแปรรูปมากมาย ลำไยอบแห้งไว้กินเล่นก็มี ไวน์ลำไยสำหรับสายปาร์ตี้ก็มา แต่ที่จัดว่าเด็ดคือการนำลำไยมาผสมกลมกลืนลงไปในเมนูอาหาร จานสำคัญที่ต้องจดคำว่าห้ามพลาดตัวใหญ่ๆ ไว้เลยเมื่อมาลำพูนคือ ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลำไย’ ที่ใส่ลำไยลงไปในน้ำซุปตุ๋นเนื้อหมูไว้ ทำให้ทั้งน้ำทั้งเนื้อมีรสหวานกลมกล่อมเป็นพิเศษ เด็ดมากบอกเลย!

 

 

จังหวัดชัยภูมิ

 

ล้อมรอบไปด้วยจังหวัดขวัญใจนักท่องเที่ยว อาทิ เพชรบูรณ์ ขอนแก่น นครราชสีมา จนคนลืมไปว่าชัยภูมิก็มีของดีเด่นน่ามาเยือน ทั้งแหล่งท่องเที่ยวอย่างมอหินขาว (สโตนเฮนจ์เมืองไทย) และทุ่งดอกกระเจียวสุดสวยช่วงหน้าหนาว รวมไปถึงของกินของฝากเลื่องชื่อ หม่ำชัยภูมิ หม่ำเนื้อและหม่ำหมูของที่นี่เลื่องลือ ถึงขั้นที่ใครมาแล้วไม่ซื้อถือว่ามาไม่ถึงชัยภูมิกันเลยทีเดียว แถมยังมีเรื่องราวเล่าขานว่าเป็นหม่ำตำนานรัก เกิดจากการที่นายพรานคนหนึ่งออกไปล่าสัตว์บนภู สมัยก่อนนั้นเดินทางลำบาก จะไปจะมาใช้เวลาเป็นเดือนๆ พรานเลยหาวิธีถนอมเนื้อสัตว์เพื่อนำกลับมาฝากลูกเมียที่บ้าน โดยนำเนื้อสัตว์ที่ล่าได้มาสับ คลุกกับตับ ข้าวเหนียว เกลือที่พกติดตัวมา แล้วยัดไว้ในกระเพาะหรือลำไส้ของสัตว์ เพื่อเก็บรักษาไม่ให้เนื้อเน่า กลับถึงบ้านเอาออกมาชิม ไม่เพียงไม่เสีย รสชาติยังอร่อย ออกเปรี้ยวนิดๆ ย่างกินกับข้าวเหนียวและน้ำจิ้มแจ่วก็เด็ด นำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย ง่ายๆ คือ ลองเอาหม่ำไปผัดข้าวแทนแหนม รับรองว่าอร่อยไปอีกแบบ หรือจะเอาไปผัดกับเส้นสปาเกตตีแทนไส้กรอก เติมพริกป่น พริกสับ ทำให้อาหารฝรั่งมีความฟิวชั่นได้อารมณ์แซบแบบบ้านเรา

Share this content

Contributor

Tags:

อาหารท้องถิ่น, อาหารโบราณ

Recommended Articles

Food Storyเข้าสวนขุดมันมาทำ ‘เหนียวหัวมัน’ มื้อเช้าบ้านๆ ในวันฝนพรำของชาวสงขลา
เข้าสวนขุดมันมาทำ ‘เหนียวหัวมัน’ มื้อเช้าบ้านๆ ในวันฝนพรำของชาวสงขลา

ชวนเข้าสวนเก็บมันมาทำอาหารว่างท้องถิ่นในวันฝนโปรย

 

Recommended Videos