เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

5 หนังที่ดูจบแล้วอยากกลับไปกินข้าวบ้าน

Story by นคร โพธิ์ไพโรจน์

สำหรับหนังแถบเอเชีย บางทีสายสัมพันธ์ของครอบครัวก็ถูกเล่าโดยง่ายผ่านการกินข้าวร่วมกัน นี่อาจเป็นจุดร่วมทางวัฒนธรรมของผู้คนในภูมิภาคนี้ที่ให้ค่ากับการกินข้าวพร้อมครอบครัว

การนำเสนอภาพความเป็นครอบครัว หากเป็นหนังฝรั่ง คงหนีไม่พ้นบรรยากาศงานคริสต์มาส เพราะโดยวิถีชีวิตของชาวตะวันตกแล้ว นี่อาจเป็นช่วงเวลาเดียวที่รวมญาติได้ครบที่สุด แต่หากเป็นหนังแถบเอเชีย บางทีสายสัมพันธ์ของครอบครัวก็ถูกเล่าโดยง่ายผ่านการกินข้าวร่วมกัน ไม่ว่ามันจะแน่นแฟ้นหรือห่างเหิน ก็ถ่ายทอดได้โดยตัวมันเอง นี่อาจเป็นจุดร่วมทางวัฒนธรรมของผู้คนในภูมิภาคนี้ที่ให้ค่ากับการกินข้าวพร้อมครอบครัว การเผชิญหน้าของทุกคนจะสื่อสารออกมาเองว่าครอบครัวนั้นกำลังอยู่ในสถานการณ์อย่างไร

 

ท่ามกลางหนังเอเชียนับร้อยนับพันเรื่องที่ใช้การกินข้าวสื่อสารถึงสถาบันครอบครัว ก็ยังมีหนังอีกจำนวนไม่น้อยที่ใส่ใจไปจนถึงกระบวนการทำอาหาร เพราะสำหรับอาหารเอเชียนั้น หลายเมนูก็มีกระบวนการที่ซับซ้อน จนนับได้ว่าการเตรียมอาหารก็คืองานใหญ่ของบ้าน แต่เหนือสิ่งอื่นใด ต้องยอมรับว่ามันสะท้อนให้เห็นได้ทันทีว่าอาหารประจำของแต่ละบ้าน มีเคล็ดลับการปรุงที่แตกต่างกันไป และนี่ก็เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ให้ข้อมูลของครอบครัวในหนังทางหนึ่ง

 

 

Eat Drink Man Woman เป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่เรานึกถึงทันที เมื่อต้องหาตัวอย่างมาสนับสนุนความคิดดังกล่าว นี่คือผลงานของหลี่อัน ที่ออกฉายเมื่อปี 1994 เล่าเรื่องของครอบครัวชาวไต้หวันที่มีพ่อเป็นเชฟใหญ่ในร้านอาหารสุดหรู ผู้มักจะเตรียมอาหารเหลาชั้นดีเพื่อรับรองลูกสาวทั้งสามในเย็นวันอาทิตย์ และเมื่อถึงวันที่ความสามารถในการทำอาหารของพ่อถดถอยไปพร้อมกับสุขภาพ ก็ต้องเป็นหนึ่งในพวกเธอนี่เองที่ต้องเข้ามาประคับประคอง แต่จะเป็นใครเล่าในเมื่อชีวิตของพวกเธอกำลังเดินหน้าไปได้สวยในทางของตัวเอง

 

นี่คือหนังที่พิถีพิถันในการถ่ายทอดขั้นตอนการเตรียมอาหาร โดยเฉพาะเทคนิคการทำแต่ละเมนูที่รุ่มรวยรายละเอียดจนสามารถจับจ้องบางกระบวนการที่บางคนอาจเพิ่งเคยเห็น เช่น การใช้ปากเป่าเข้าไปในตัวเป็ดเพื่อทำเป็ดปักกิ่ง มันไม่เพียงแสดงให้เห็นความละเอียดของการทำอาหาร แต่คนดูยังรับรู้ได้โดยพลันว่าพ่อใส่ใจกับทุกเมนูแค่ไหน เพื่อต้อนรับลูกสาวสุดที่รัก อาหารสำหรับหนังเรื่องนี้จึงเป็นตัวละครสำคัญในการยืนยันสายสัมพันธ์ในครอบครัวที่จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงในท้ายที่สุด

 

 

ใน Shoplifters หนังญี่ปุ่นของ ฮิโรคาสุ โคเระเอดะ ที่คว้ารางวัลปาล์มทองมาได้ เป็นหนังที่ท้าทายนิยามคำว่าครอบครัวในอุดมคติ โดยพูดถึงครอบครัวหนึ่งที่อยู่กันอย่างชื่นมื่น ถ้อยทีถ้อยอาศัย รักใคร่กลมเกลียว ทว่าพวกเขาไม่ได้สืบทอดกันโดยตรงทางสายเลือด และยังก่อคดีท่วมท้นจนต้องอยู่กันอย่างหลบซ่อน เป็นครอบครัวอันตรายตามมาตรฐานสังคม

 

หนึ่งในวิธีที่โคเระเอดะใช้เพื่อถ่ายทอดสภาพความเป็นอยู่อันอบอุ่นของครอบครัวอาชญากรนี้ คือการกิน พวกเขามีช่วงเวลาที่มารวมตัวกินข้าวกันพร้อมหน้าเป็นกิจวัตร และยังมีการเตรียมอาหาร (จากวัตถุดิบที่ขโมยมาเป็นส่วนใหญ่) อันเต็มไปด้วยรายละเอียด ปฏิเสธไม่ได้ว่าฉากเหล่านี้ที่กระจายตัวอยู่ทั้งเรื่อง ทำให้เห็นความแน่นแฟ้นของพวกเขา จนคนดูคล้อยตามได้ไม่ยากว่านี่แหละคือครอบครัวในฝัน และการกินข้าวพร้อมหน้าเช่นนี้เองใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างแรงสะเทือนเมื่อหนังโยนคำถามใส่ผู้ชมในที่สุด

 

 

What’s Your Dinner Mom ผลงานของ มิตซึฮิโตะ ชิระฮะ เล่าเรื่องของ ทาเอะ และโย ลูกครึ่งญี่ปุ่น-ไต้หวัน ที่เดินทางกลับบ้านในวันที่เสียแม่ไปอย่างไม่มีวันกลับ พวกเธอได้พบกับสูตรอาหารไต้หวันของแม่ อันเป็นสมบัติชิ้นเดียวที่ทำให้สองพี่น้องได้รำลึกถึงสถานะของตัวเอง สะท้อนผ่านอาหารที่แม่ทำให้พวกเธอไปกินนอกบ้าน เช่น คากิกับบ๊ะจ่าง อันแตกต่างกับอาหารที่เพื่อนญี่ปุ่นกินกันส่วนใหญ่ และหนทางเดียวที่จะทำให้พวกเธอได้รู้สึกกลับไปใกล้ชิดกับแม่อีกครั้งคือการหยิบสูตรอาหารนั้นมาทำตาม พร้อมเรียนรู้ชีวิตแม่ไปด้วย

 

ไม่บ่อยนักที่หนังญี่ปุ่นจะเล่าเรื่องอาหารนอกประเทศตัวเอง และสิ่งที่อาหารไต้หวันประจำครอบครัวของบ้านนี้พาคนดูไปซึมซับ นอกจากเรื่องราวชวนประทับใจของคุณแม่แล้ว ยังเดินทางไปสู่การชำระประวัติศาสตร์ความขัดแย้งส่วนลึกที่เกิดขึ้นระหว่างญี่ปุ่นกับไต้หวัน โดยในอดีตไต้หวันเคยอยู่ในการปกครองของญี่ปุ่น อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการโอนถ่ายทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ ที่ยังเหลือร่องรอยอยู่บ้างในเกาะโอกินาว่าของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมการกินใกล้เคียงกับไต้หวันเนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และพื้นฐานของผู้คนสืบทอดมาจากไต้หวันเสียเป็นส่วนใหญ่

 

 

หากเทศกาลรวมญาติของไทยคือสงกรานต์ สำหรับคนจีนก็ต้องเป็นตรุษจีน มันคือหมุดหมายสำคัญของ Us and Them ผลงานการกำกับเรื่องแรกของนักแสดงสาวชาวไต้หวัน เรเน่ หลิว ที่เล่าเรื่องบาดหัวใจของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ซึ่งก่อตัวขึ้นตั้งแต่ตรุษจีนปี 2007 นับจากนั้นมาสิบปี ทั้งคู่พัฒนาความสัมพันธ์จากคนแปลกหน้ามาเป็นคนรักและกลับไปเป็นคนแปลกหน้าต่อกันอีกครั้ง ด้วยความที่หนังเลือกตรุษจีนเป็นหมุดหมายทางความสัมพันธ์ของทั้งคู่ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแตะประเด็นทางครอบครัว

 

โต๊ะอาหารประจำครอบครัวช่วงตรุษจีนมักเนืองแน่นไปด้วยญาติสนิทมิตรสหาย และพ่อของพระเอกคือคนที่ลุกขึ้นมาทำอาหารสูตรประจำบ้านด้วยตัวเองเสมอเพื่อต้อนรับสมาชิก รสชาติจากผลผลิตอันใส่ใจของคุณพ่อนั้นเย้ายวนให้บ้านหลังนี้เป็นที่นัดหมายของตระกูล ทำให้การกินข้าวร่วมกันเป็นเวลาแห่งการอัพเดตชีวิตของแต่ละคนในช่วงปีที่ผ่านมา การที่หนังกินเวลายาวนานสิบปีทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในบรรยากาศบนโต๊ะอาหารช่วงตรุษจีนอย่างชัดเจน เมื่อความเงียบเหงาค่อยๆ คืบคลานเข้ามาอย่างมีนัยยะสำคัญตามวิถีชีวิตและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปของจีนแผ่นดินใหญ่

 

 

บุญส่ง นาคภู่ เป็นคนทำหนังอิสระไทยผู้กลับบ้านวังพิกุล จังหวัดสุโขทัย อยู่เสมอ เพื่อทำหนังชำแหละสภาพสังคมในบ้านเกิดของตนเอง ใน ฉากและชีวิต ผลงานปี 2018 ของเขา ก็คือการเล่า 10 เรื่องสั้นที่เกิดขึ้นภายในหมู่บ้าน หนึ่งในนั้นคือห้วงขณะของชายคนหนึ่ง (รับบทโดยบุญส่งเอง) ที่พาลูกชาย (รับบทโดยลูกชายบุญส่งเอง) กลับไปหาแม่ผู้แก่เฒ่าจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ (รับบทโดยแม่ของบุญส่งเอง) เรื่องราวในส่วนนี้ตามติดการทำผัดมะเขือของบุญส่ง ผ่านการกำกับของแม่ พร้อมพร่ำสอนเจ้าลูกชายให้เรียนรู้ขั้นตอนเหล่านั้นอย่างละเอียด ด้วยความคาดหวังว่านี่คือการถ่ายทอดทักษะการเอาตัวรอดผ่านสูตรอาหารของแม่ไปสู่ลูกชาย

 

สิ่งที่สัมผัสได้ในทันที นี่คืองานส่วนตัวที่บุญส่งอุทิศให้แม่และบ้านเกิดด้วยการนำเสนอกระบวนการทำผัดมะเขืออย่างละเอียดตั้งแต่สับหมู เตรียมมะเขือ จุดเตา จนกระทั่งลงกระทะ และจบด้วยการนั่งกินข้าวของสองพ่อลูก เป็นการทำอาหารพื้นบ้านอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือพ่อลูกนั่งทำกับข้าวบนพื้นบ้านโดยแท้จริงตามแบบฉบับครัวไทย มีแม่เฝ้ามองจากที่นอนซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก ส่วนหนึ่งมันคือการบันทึกช่วงเวลาแห่งการอยู่ร่วมกันของครอบครัวบุญส่งในช่วงท้ายของชีวิตแม่ อีกมุมหนึ่งมันได้ถ่ายทอดการเป็นอยู่ของคนชายขอบในสภาพที่ไร้การปรุงแต่ง ภายใต้เรื่องเล่าที่เปรียบเสมือนโฮมวิดีโอบันทึกการทำกับข้าว กลับซ่อนความจริงอันน่าเจ็บปวดของคนนอกที่ไร้การเหลียวแลจากส่วนกลางมาโดยตลอด

 

จาก Eat Drink Man Woman ที่ไต้หวัน มาสู่ ‘ฉากและชีวิต’ ที่สุโขทัย นับเป็นส่วนน้อยของเรื่องเล่าจากก้นครัว อันมีปัจจัยแวดล้อมทั้งสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดความแตกต่างหลากหลาย เป็นเครื่องยืนยันได้อีกทางหนึ่งว่าเมนูประจำบ้านนั้นมีอิทธิพลต่อเรื่องเล่ามากกว่าภาพสะท้อนแห่งความคิดถึงแค่เพียงอย่างเดียว

Share this content

Contributor

Tags:

อาหารกับภาพยนตร์

Recommended Articles

Food StoryWilly Wonka กับชีวิตที่หวานปนขมเหมือนรสช็อกโกแลต
Willy Wonka กับชีวิตที่หวานปนขมเหมือนรสช็อกโกแลต

ร่วมเดินทางตามหาต้นกำเนิดและเปิดสูตรลับช็อกโกแลตวองก้า