เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

Are Pandemic Home Kitchens Gonna Stay?

Story by ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์

หลังโควิด-19 ล็อคดาวน์ คุณจะยังเข้าครัวทำอาหารกินเองหรือไม่ ขึ้นกับสัมมาทัศนะ ว่าด้วยเหตุของภาวะโรคระบาดใหญ่โควิด-19

โควิดล็อคดาวน์ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องอยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน รวมทั้งตกงาน ขาดรายได้ การอยู่บ้านติดต่อกันนานหลายวัน นานเป็นสัปดาห์ กระทั่งเป็นเดือน ขาดจากกิจกรรมและความสัมพันธ์ทางสังคมตามปกติที่คุ้นเคย อาจทำให้เกิดความเครียดหนัก เพราะนอกจากกลัวติดโรคแล้ว ยังเหงา เบื่อ และมีปัญหาการปรับตัวและกระทบกระทั่งกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ดังปรากฏตามรายงานในต่างประเทศว่า ในช่วงโควิดล็อคดาวน์ คนมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น อัตราการหย่าร้างสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับบ้านที่ชีวิตครอบครัวยังแข็งแรง ฐานะรายได้ไม่ถูกกระทบนัก การอยู่บ้านอาจกลายเป็นโอกาสทองในการพัฒนาตนและครอบครัว สร้างผลสะเทือนต่อสังคมได้มากอย่างเหลือเชื่อ ราว ‘ผีเสื้อขยับปีก สะเทือนถึงดวงดาว’ ก็ไม่ปาน

 

เรื่องดีที่อาจก่อผลสะเทือนต่อโลกหลัง Covid 19 Pandemic คือ ผู้คนเข้าครัวทำอาหารกินกันเองกันยกใหญ่

 

เรื่องนี้ผมไม่ได้มโนไปเองดอกนะ เพราะในช่วงโควิดล็อกดาวน์เนี่ย ซูเปอร์มาร์เก็ตขายดิบขายดีขึ้นมาก หลายแห่งลูกค้าแน่นขนัด ขาด social distancing จนหลายคนรวมทั้งผมต้องบอกว่า “ถอยดีกว่า” ตลาดสดเทศบาลส่วนใหญ่ก็ยังคึกคัก แม้ตอนนี้จะเพิ่งมาถูกกวดขันหนักเป็นพิเศษเรื่องสุขอนามัย ยกเว้นตลาดเอกชนและองค์กรบางแห่งที่เจ้าของที่สั่งปิด ด้วยเหตุผลนานาประการ ทั้งแบบฟังขึ้นและฟังไม่ขึ้น

 

 

บางคนอาจแย้งผมว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตคนแน่นเพราะเป็นสถานที่ประเภทเดียวที่ยังเปิดให้คนได้ออกจากบ้านไปแก้เบื่อ แต่ผมไม่เชื่อดอกครับว่าส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น เพราะอาหารการกินเป็นพื้นฐานของมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคม เป็นพื้นฐานของภาษาและพัฒนาการของอารยธรรม แทบจะพูดได้ว่า cooking อยู่ในดีเอนเอของเราชาว Homo Sapiens แม้ในโลกทุนนิยมโลกานุวัตรปัจจุบัน ผู้คนจำนวนมากจะถูกชวนเชื่อจนหันเหไปกินอาหารนอกบ้าน อาศัยอาหารอุตสาหกรรมกันมาก แต่ลึกๆ ในจิตใจ คนก็ยังโหยหาการทำอาหาร แม้ไม่ได้ทำเอง ได้ชมเชฟคนโปรดปรุงอาหารทางทีวีและยูทูบ ก็ยังดี มีความสุขเพลิดเพลินราวกับได้ทำเอง ดั่งเชฟผู้นั้นเป็น representation ของตนเองก็ไม่ปาน

 

ข้อดีของโควิดล็อคดาวน์ คือ ร้านอาหารนั่งกินทุกชนิดทุกระดับถูกสั่งปิด เท่ากับหยุดภาวะวิสัยภายนอก ให้คนหันมาพึ่งพลังอำนาจในตัวเอง สนองตอบเสียงเพรียกในตัวเอง นั่นคือ ลงมือปรุงอาหารเองให้สมาชิกครอบครัวได้กินกัน ดังจะเห็นได้ว่าในอินเทอร์เน็ตช่วงนี้ มีจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์สูตรอาหารและวิดีโอทำอาหารมากขึ้นอย่างน้อยเป็นกว่าเท่าตัว ในโซเชียลมีเดีย มีเพจและ live เกี่ยวกับอาหารง่ายๆ สะดวกทำกินเองที่บ้าน ทั้งนี้รวมทั้งไลฟ์ของเชฟน่านในเฟซบุ๊กเพจ kruo.co ทุกห้าโมงครึ่งเย็นวันอังคารและเสาร์

 

 

ในเงื่อนไขอย่างนี้ การทำอาหารจึงไม่ใช่ภาระ หากเป็นการงานอันเบิกบาน ทำอย่างมีฉันทะความยินดี ให้ได้อาหารที่เปี่ยมด้วยรสชาติ มีคุณภาพบำรุงร่างกายสมาชิกครอบครัวให้แข็งแรงเติบโต โดยทั่วไปเมื่อใส่ความยินดี ความใส่ใจและความรัก เข้าไปในกระบวนการทำอาหาร อาหารมักออกมาดี ยิ่งสมาชิกถูกใจในรสชาติ กินอร่อยจนหมดจาน จะยังความปีติกับทั้งคนกินและคนทำ กลายเป็นความทรงจำในรสมือและความรักของผู้นั้นไปอีกนานแสนนาน เมื่อคนปรุงและคนกินอาหารต่างมีความรู้สึกดีต่อกัน คุกกิ้งจึงช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว ในช่วงโควิดล็อคดาวน์ หากคุณเข้าครัวปรุงอาหาร และอาจชักชวนให้แฟนและลูกหลานร่วมด้วยช่วยทำ หรืออย่างน้อยมานั่งเป็นเพื่อน คุณจะพบว่าความสัมพันธ์ดีขึ้นอย่างน่าแปลกใจ ลดอาการเบื่อ เซ็ง เหวี่ยง ทะเลาะลงได้ทีเดียว

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงอยู่บ้านหยุดเชื้อโควิด หลายคนทำอาหารไม่เป็น จึงไม่เข้าครัว หากสั่งอาหาร take home หรือ delivery มากินที่บ้าน แม้บ้านที่ลงมือทำอาหารกินเอง บางมื้อบางโอกาสก็สั่งอาหารปรุงเสร็จส่งถึงบ้านด้วย ดังปรากฏว่าช่วงนี้ธุรกิจส่งอาหารเติบโตขึ้นมาก อย่างไรก็ตามมูลค่าอาหาร delivery ก็ยังเป็นสัดส่วนน้อยนิดของมูลค่าอาหารกินนอกบ้านทั้งหมดก่อนหน้าโควิดล็อคดาวน์

 

 

ตามความเป็นจริง ธุรกิจอาหารส่งถึงบ้านเป็นเพียงส่วนขยายของการกินนอกบ้านที่ร้านอาหารเท่านั้น อาหารส่งถึงบ้านจึงยังเป็นอาหารนอกบ้าน ที่แม้จะถูกใจ แต่ถูกสุขภาพน้อยกว่าอาหารทำเองที่บ้าน เพราะโดยทั่วไปงานวิจัยพบสอดคล้องกันว่า อาหารทำเองที่บ้านมีไขมัน น้ำตาลและเค็มน้อยกว่าอาหารนอกบ้าน อีกอย่างหนึ่ง ในภาวะเครียด หากสั่งอาหารส่งถึงบ้านมากิน ซึ่งง่ายและสะดวกสบาย เราโน้มเอียงจะกินอาหารมากเกิน หรืออย่างน้อยก็มากกว่ากรณีทำอาหารกินเอง คนกินอาหารนอกบ้านบ่อยๆ จึงมักอ้วนมากกว่าคนกินอาหารทำเองที่บ้าน

 

เพราะฉะนั้น ทำอาหารกินเองจึงดีกับสุขภาพมากกว่าอย่างแน่นอน แต่การเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นเพียงชั่วคราว เมื่อโควิด-19 หยุดระบาด ชีวิตเศรษฐกิจและสังคมกลับสู่โหมดเดิม การทำอาหารที่บ้านจะ กลับตกต่ำอย่างที่เคยเป็นหรือไม่? เรื่องนี้จะเป็นอย่างไรส่วนหนึ่งขึ้นกับมุมมองว่า อะไรคือสาเหตุการระบาดใหญ่ของโควิด-19?

 

หากมองผิวเผินเพียงไวรัสคือสาเหตุ การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ก็เป็นเพียง abnormality ชั่วคราว หลังโควิด-19 ผู้คนโน้มเอียงกลับมาบูชาลัทธิบริโภคนิยมเหมือนเดิม ระบบเศรษฐกิจมุ่งค้ากำไรในโหมดโลกานุวัตรเหมือนเดิม การเปลี่ยนแปลงแม้มีบ้างก็เพียงผิวเผิน เลือดเนื้อและจุดมุ่งหมายของผู้คน สังคม และระบบเศรษฐกิจการเมือง ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

 

ในทางตรงข้าม หากมองว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 มีสาเหตุมาจากการพัฒนาประเทศและพฤติกรรมมนุษย์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม รุกป่า กระทบธรรมชาติ ระบบนิเวศ แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและเชื้อโรคทั้งหลายที่ดำรงอยู่ร่วมกัน ซึ่งนับวันเป็นปัญหารุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังเกิดการระบาดของโรคทางเดินหายใจหรือไข้หวัดเนื่องจากไวรัสตระกูลโคโรนาถึง 3 ครั้งในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มจาก SARs ค.ศ. 2002-2003, H1N1 หรือไข้หวัดหมู ค.ศ. 2009 และ MERS หรือไข้หวัดอูฐ ค.ศ.2012 ภาวการณ์ระบาดใหญ่ครั้งใหม่ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นแน่ๆ

 

เมื่อเหตุแห่งทุกข์เป็นเรื่องใหญ่ เกี่ยวข้องกับทิศทางของสังคมอย่างนี้ แนวทางการดับทุกข์จึงต้องอาศัยความเข้าใจในเหตุและการเข้าร่วมของผู้คนโดยกว้างขวาง โดยข้อเขียนนี้เป็นเพียงข้อเสนอความคิดหนึ่งเท่านั้น

 

ไวรัสโคโรนา 3 ชนิดที่กล่าวข้างต้นเป็นเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจหรือไข้หวัดใหญ่ โดยคนติดจากสัตว์ก่อนระบาดจากคนสู่คน นักวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้าน Zoonosis หรือโรครับจากสัตว์ ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า pandemic ใหม่จะเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน และเสนอให้พัฒนาระบบความพร้อมเพื่อรับมือที่เรียกว่า Pandemic Preparedness ขึ้นในราวปี 2005-2006 หลายปีก่อนการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แต่เนื่องจากขาดการสนับสนุนและดำเนินการอย่างจริงจัง การรับมือกับไวรัสโคโรนาพันธุ์ใหม่โควิด-19 จึงไม่ทันการ อีกทั้งเจ้าไวรัสโคโรนาพันธุ์ใหม่นี้ยังระบาดอย่างรวดเร็วในเขตประชากรหนาแน่น ที่คนนิยมเดินทางติดต่อถึงกันทั่วโลก ภาวะวิสัยเอื้ออำนวยอย่างนี้บวกกับขาดระบบเตรียมพร้อมสกัดโรค การระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วของโควิด-19 จึงเกิดขึ้น

 

เมื่อการพัฒนาประเทศและพฤติกรรมมนุษย์ล่วงละเมิดธรรมชาติ ทำลายสิ่งแวดล้อมและสรรพสัตว์มาถึงขั้นนี้แล้ว การระบาดใหญ่ของโรคติดต่อ จึงจะเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน แม้พ้นโควิด-19 ไปแล้ว ก็จะยังมี pandemic ใหม่มาอีก!

 

ถ้าเป็นเช่นนั้น สังคม ชุมชน และครอบครัว ควรยึดถือการเตรียมรับมือกับโรคระบาดเป็นเป้าหมายสำคัญหรือไม่ อย่างไร?

 

โรคระบาดใหญ่มีมูลเหตุมาจากการพัฒนาและพฤติกรรมมนุษย์ฉันใด ปัญหาโลกร้อนและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ติดตามมา ก็เป็นฉันนั้น โลกร้อนมีสาเหตุมาจากก๊าซเรือนกระจก อันเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจ การขยายตัวของการเกษตรและอุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก และการขยายเมือง ใช่เพียงปฐมเหตุร่วมกันเท่านั้น สภาพปัญหาและพิษภัยของภาวะโรคระบาดใหญ่และสภาวะโลกร้อน ยังต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการวางแผนและจัดการปัญหา ทว่า น่าเสียดายที่ความร่วมมือระดับสากลในการต่อสู้กับปัญหาทั้งสอง ที่ผ่านมายังมีอุปสรรค

 

ในระดับประเทศและระดับโลก มาตรการรับมือและควบคุมโรคระบาดใหญ่และปัญหาโลกร้อน ควรเป็นอย่างไร จัดการอย่างไร เป็นเรื่องของรัฐบาลและหน่วยงานรับผิดชอบ แต่ที่ระดับครอบครัวและบุคคล สมควรเน้นเป็นพิเศษว่า ‘ต้องรับผิดชอบอย่างสำคัญด้วย’ เพราะจริงแล้วปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมมาจากการใช้ชีวิตของแต่ละคนด้วย ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่เป็นปัญหาของระบบใหญ่เท่านั้น หากสำแดงออกและดำรงอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนั้น ทุกคนทุกครอบครัวควรถามว่าตนจะรับผิดชอบรักษาสภาพแวดล้อมได้อย่างไร แม้เรื่องอาหารการกิน ก็ควรขบคิดหาคำตอบว่าจะ ‘กินเปลี่ยนโลก’ เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดก๊าซเรือนกระจก ลดอุบัติการณ์โรคระบาดได้อย่างไร?

 

 

กล่าวสำหรับการเตรียมรับมือโรคระบาดใหญ่ ผมคิดว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ควรนำมาใช้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หัวใจอยู่ที่ความสามารถในการพึ่งตนเองในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและลดอัตราระบาด ตลอดจนการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ

 

ที่สมควรเน้นเป็นพิเศษ คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงควรนำมาใช้ในระดับครัวเรือนด้วย นั่นหมายถึงครอบครัวมีขีดความสามารถพึ่งตนเองในการทำอาหารกินเองที่บ้าน และหากปลูกพืชผักผลไม้ด้วยจะยิ่งดี ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ครอบครัวเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคอาหาร ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาอารยธรรมมนุษย์ หากในภายหลังการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบมุ่งกำไรถ่ายเดียว ทำให้การผลิตอาหารถูกโอนย้ายจากครอบครัว สู่อุตสาหกรรมและธุรกิจร้านอาหาร ครอบครัวกลายเป็นผู้บริโภคอย่างเดียวมากขึ้น จนสูญเสียดุลการพึ่งตนเอง เศรษฐกิจพอเพียงระดับครอบครัวจึงหมายถึงการคืนดุลยภาพการผลิตและบริโภคอาหารให้ครอบครัว หน่วยพื้นฐานที่สุดของสังคม

 

การทำอาหารกินเอง ไม่เพียงแต่ทำให้ครอบครัวพึ่งตนเองได้ในยามภาวะวิกฤติโรคระบาดเท่านั้น แต่ยังทำให้คนเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาหารมาจากพืชและสัตว์อันเป็นสิ่งมีชีวิตในโลก (ซึ่งมีชีวิตเหมือนกัน) เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมโดยผ่านอาหารการกิน ครัวบ้านให้โอกาสเราสัมผัสพืชผักและเนื้อหนังมังสะของสัตว์ ได้สัมผัสกับผักแต่ละใบ ดอกแต่ละดอกว่ามันสดใหม่มีชีวิต หรือห่อเหี่ยวใกล้ตาย มีกลิ่นฉุนจากปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงหรือไม่ หากคุณชอบกินเนื้อสัตว์ คุณจะได้สัมผัสกับเนื้อสดๆ เลือดสดๆ และอาจจินตนาการถึงที่มาของมัน นั่นฟาร์มไก่ที่ไก่ถูกลวงให้กินอาหารตลอด 24 ชั่วโมงในที่แคบๆ นี่ฟาร์มหมูนั่นฟาร์มวัว ที่หมูกับวัวถูกอัดยาปฏิชีวนะและขุนจนอ้วนพีมีน้ำหนัก เพื่อขายเอากำไรงาม

 

เมื่อชีวิตกับชีวิตเผชิญหน้ากัน มันอาจทำให้คุณเกิดเมตตา อร่อยกับเนื้อสัตว์น้อยลง เห็นสัจธรรมความเกี่ยวโยงของอาหารที่คนเรากินกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างน้อยน่าจะทำให้คุณรู้สึกแคร์กับอาหาร ไม่ทิ้งขว้างสูญเปล่าเกิด food waste มากมายจนขยะจะล้นโลกอยู่แล้วทุกวันนี้

 

ที่สุดแล้ว การทำอาหารกินที่บ้านอาจเป็นจุดคานงัดสำคัญ ให้เราแต่ละคนแต่ละครอบครัวปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พึ่งตัวเองได้ อันจะช่วยลดปัญหาโลกร้อน และรับมือกับ Pandemic ใหม่ที่จะมาอีกอย่างแน่นอนในอนาคต

Share this content

Contributor

Tags:

Covid-19

Recommended Articles

Food Storyทำข้าวกล่องบริจาคยังไง ให้ถึงมือแบบไม่เหลือทิ้ง
ทำข้าวกล่องบริจาคยังไง ให้ถึงมือแบบไม่เหลือทิ้ง

จะทำข้าวกล่องต้องรู้ เลือกเมนูยังไง ปรุงแบบไหน บริจาคยังไงให้ไม่เหลือทิ้ง

 

Recommended Videos