จากสงครามป้ายสีเป็นน้ำมันตัวร้าย ถึงซูเปอร์ฟู้ด Health Oil หากสงครามยังไม่สิ้น แต่แล้ว...
แต่แล้ว… คุณดอกเตอร์คาริน มิเชลส์ ศาสตราจารย์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็ออกมาเขย่าวงการคนรักน้ำมันมะพร้าวด้วยวลีเผ็ดร้อนว่า น้ำมันมะพร้าวเป็น “Pure Poison” “เป็นอาหารเลวสุดอย่างหนึ่งที่คนสามารถกิน” ในการบรรยาย หัวข้อ “Coconut oil and other nutritional errors” ของเธอที่เยอรมนี ซึ่งมีผู้ชมในยูทูปแล้วกว่าล้านวิว ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ทันทีจากชุมชนมะพร้าวแห่งเอเชียแปซิฟิค (APCC) ซึ่งขณะนั้นกำลังประชุมสัมมนาอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยเรียกร้องให้คุณมิเชลล์ออกมาขอโทษเกษตรกรผู้ผลิตมะพร้าวที่ได้รับผลกระทบจากความเห็นอันไม่จริงนี้ หลังจากนั้น กระทรวงเกษตรของอินเดียซึ่งผลิตมะพร้าวมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ได้เขียนจดหมายประท้วงไปยังมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอีกด้วย ในประเทศไทยเอง บรรยากาศเฉยเมยยังปกคลุมหน่วยราชการและวงวิชาการที่เกี่ยวข้อง จะมีก็แต่คุณปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ปากกระบอกเสียงสำคัญของคนรักน้ำมันมะพร้าว ออกมาแจงรายละเอียดผลการวิจัยล่าสุดในวารสาร British Medical Journal ว่า น้ำมันมะพร้าวช่วยลด LDL และเพิ่ม HDL ดีกับการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าน้ำมันมะกอกด้วยซ้ำ พร้อมกับทิ้งท้ายว่า “นี่เป็นสงครามของไขมันระหว่างน้ำมันมะพร้าวอิ่มตัวของเอเชียแปซิฟิค กับน้ำมันไม่อิ่มตัวของตะวันตกและอเมริกา”
อันที่จริง คุณคาริน มิเชลล์ ไม่ได้เป็นคนแรกที่พูดต่อต้านน้ำมันมะพร้าว ในฐานะซูเปอร์ฟู้ดที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในสังคมตะวันตก ก่อนหน้ามีนักวิชาการและหน่วยงานหลายแห่ง รวมทั้ง AMA และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ออกมาแถลงทำนองเดียวกันอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ไม่ได้ใช้วาจารุนแรงเหมือนคุณมิเชลล์ หากดูตามข้อเท็จจริงจะพบว่า ในหมู่นักวิชาการและแพทย์มีทั้งฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนน้ำมันมะพร้าว หากในหมู่ประชาชนชาวอเมริกันทั่วไป CNN อ้างว่า การสำรวจล่าสุดพบร้อยละ 72 เชื่อว่าน้ำมันมะพร้าวเป็นอาหารดีกับสุขภาพ ครับ เรื่องนี้คงทำให้นักวิชาการที่คัดค้านน้ำมันมะพร้าวเกิดความอึดอัดคับข้องใจพอสมควร เพราะแทนที่จะเชื่อนักวิชาการกระแสหลัก กลับไปหลงตามเซเลบและเล่ห์กลการตลาดของธุรกิจสินค้าสุขภาพและเวลเนส เป็นวิกฤตศรัทธาต่อคำแนะนำของวิชาการกระแสหลัก ที่ล้มเหลวตลอดมาในการลดอัตราตายโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ ด้วย Dietary Guideline ที่พุ่งเป้าที่ไขมันอิ่มตัว
ทว่า เรื่องควรกินอะไร ไม่ควรกินอะไร มิใช่ปัญหาทางวิชาการเท่านั้น ยังมีผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง นี่เองเป็นเหตุผลที่คุณปานเทพบอกว่าเรื่องน้ำมะพร้าวเป็นสงครามผลประโยชน์ของตะวันตกและอเมริกา ที่กระทำกับเอเชียแปซิฟิก จริงเท็จอย่างไรต้องดูประวัติการคลี่คลายของอุตสาหกรรมน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันพืชว่า มีผลประโยชน์ของใครเข้ามาเกี่ยวข้อง
มะพร้าวยุคล่าอาณานิคม
จำเดิมผู้คนในดินแดนมะพร้าว ไม่ว่าจะเป็น เอเชียและแปซิฟิก อเมริกากลางและใต้ ตลอดจนแอฟริกา ล้วนกินมะพร้าว ใช้ประโยชน์จากมะพร้าวตามวิถีพอเพียง ยังไม่มีสวนมะพร้าวขนาดใหญ่ มะพร้าวยังมิใช่พืชเศรษฐกิจ ต่อเมื่อมาคบค้าหรือตกเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดินิยมตะวันตก จึงเกิดการทำสวนมะพร้าวขนาดใหญ่เพื่อทำเนื้อมะพร้าวตากแห้ง ป้อนโรงงานหีบน้ำมันมะพร้าวในตะวันตก เพื่อใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม เริ่มด้วยเป็นน้ำมันหล่อลื่นเครื่องจักร ตามมาด้วยใช้ผลิตสบู่ ทำให้อุตสาหกรรมผลิตสบู่ขยายตัวอย่างมาก ขายดีเพราะน้ำมันมะพร้าวช่วยให้สบู่มีฟองมาก เหมาะกับน้ำกระด้างสมัยนั้น ต่อมาในปลายศตวรรษที่ 19 จึงเริ่มใช้น้ำมันมะพร้าวในการปรุงอาหารแทนไขมันสัตว์ ที่มักหายากในฤดูหนาว อย่าง fish and chip ซึ่งเป็นสตรีตฟู้ดราคาถูกสำหรับคนงาน ก็เกิดขึ้นเพราะใช้น้ำมันมะพร้าวราคาถูกนี่เอง ต่อมาเริ่มนิยมใช้ในการทำเบเกอรีและขนมอบต่างๆ รวมทั้งใช้แทน cocao butter ทำขนมลูกกวาด ของหวานจำพวกแช่แข็ง หรือ semi-solid ตลอดจนโรยมะพร้าวขูดอบแห้งบนเค้กและขนมอบ ถึงทศวรรษ 1940s น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันทำอาหารหลักที่ชาวตะวันตกใช้ ประมาณ 40% ของมาร์การีนในอเมริกาผลิตจากน้ำมันมะพร้าว
ผลพวงจากตลาดความต้องการน้ำมันมะพร้าวและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ทำให้เกิดการทำสวนมะพร้าวขนาดใหญ่ในประเทศอาณานิคม โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา ในกรณีศรีลังกา อังกฤษขยาย coconut plantation จาก 250,000 เอเคอร์ในปี 1860 เป็น 650,000 และ 1 ล้านเอเคอร์ในปี 1903 และ 1926 ตามลำดับ ในฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นอาณานิคมเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1898 สวนมะพร้าวขนาดใหญ่ซึ่งบริษัทชาวอเมริกันเป็นเจ้าของ เพิ่มจาก 406,000 เป็น 1.166 ล้านเอเคอร์ ระหว่างปี 1910 – 1926 ผลพวงจากการเป็นแหล่งวัตถุดิบมะพร้าวแห้งป้อนอุตสาหกรรมในตะวันตก ยังเห็นได้ในปัจจุบันที่ศรีลังกาและฟิลิปปินส์เป็น 2 ใน 5 ประเทศที่ผลิตมะพร้าวมากสุดในโลก (อีก 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย อินเดีย และบราซิล)
มะพร้าวตกต่ำ
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันมะพร้าวในตะวันตก ราคาถีบตัวสูงขึ้นอย่างมาก แม้ปัญหาจะคลี่คลายหลังสงคราม หากภาวะขาดแคลนกลับเป็นแรงกระตุ้นให้การทำไร่ถั่วเหลืองและอุตสาหกรรมน้ำมันถั่วเหลืองขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันน้ำมันปิโตรเลียมเริ่มถูกนำมาใช้ทดแทนน้ำมันมะพร้าวในการทำสบู่และอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกจากนั้น น้ำมันปาล์มซึ่งเป็นน้ำมันประเทศเขตร้อนเหมือนกัน รวมทั้งน้ำมันข้าวโพด ก็เข้ามาแข่งขันเพิ่มเติมอีก สภาพเช่นนี้ทำให้ตลาดมะพร้าวตากแห้งและน้ำมันมะพร้าวดิบในอเมริกาและยุโรปหดตัวลง ราคามะพร้าวตากแห้งตกลงอย่างช้าๆระหว่างทศวรรษ 1950s และรวดเร็วขึ้นจากทศวรรษ 1960s-1970s เป็นต้นไป ส่งผลให้การทำสวนมะพร้าวในประเทศเขตร้อนซบเซาลงอย่างมาก ผู้ผลิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรเจ้าของสวนรายย่อยประสบภาวะขาดทุน ไม่คุ้มทำมะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ หลายรายเปลี่ยนจากสวนมะพร้าวไปทำอย่างอื่น
ภาวะตลาดมะพร้าวแห้งและน้ำมันดิบที่หดตัวลง มิได้เนื่องมาจากการแข่งขันอย่างปกติธรรมดา หากในทศวรรษ 1970s เป็นต้นมา ในอเมริกาและยุโรปเกิดกระแสกล่าวโทษโคเลสเตอรอลและกรดไขมันอิ่มตัว นำโดยแพทย์ นักโภชนาการและสื่อสารมวลชน ว่าเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจอันเป็นสาเหตุการตายหลักของชาวตะวันตก ขณะเดียวกันก็ว่าน้ำมันพืชกรดไขมันไม่อิ่ม โดยเฉพาะ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก และน้ำมันคาโนลา (ซึ่งเป็นน้ำมันตะวันตก) เป็นน้ำมันดีกับโรคหัวใจ กระแสความตื่นกลัวไขมันอิ่มตัวนี้กลายเป็นศาสตราวุธ ให้ขบวนการใส่ร้ายน้ำมันจากประเทศเขตร้อน (tropical oils) คือ น้ำมันมะพร้าว (ส่วนใหญ่จากฟิลิปปินส์) น้ำมันปาล์ม (ส่วนใหญ่จากมาเลเซีย) และน้ำมันมัสตาร์ด (ส่วนใหญ่จากอินเดีย) ว่าเป็นเสมือน ‘ยาพิษ’ เพราะเป็นน้ำมันไขมันอิ่มตัวสูง กล่าวกันว่าสมาคมถั่วเหลืองแห่งอเมริกา (American Soybean Association หรือ ASA) เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของขบวนการทำลายความน่าเชื่อถือของน้ำมันพืชเขตร้อนในทศวรรษ 1980s
น่าเศร้าที่โรคตื่นกลัวโคเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัว มิได้จำกัดอยู่ในตะวันตกเท่านั้น หากยังแพร่ไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้ในประเทศผู้ผลิตน้ำมันมะพร้าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย ดินแดนมะพร้าวสำคัญแห่งหนึ่ง คนไทยก็ถอยห่างจากน้ำมันมะพร้าวไปมาก ทั้งที่เคยใช้เป็นน้ำมันทอดและทำขนมมาก่อน ส่วนน้ำมันหมูก็ถูกแทนที่ส่วนใหญ่โดยน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์ม แม้ในประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันมะพร้าวอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย การใช้น้ำมันมะพร้าวก็ลดลงมาก เพราะประชาชนหันไปใช้น้ำมันปาล์มที่ราคาถูกกว่า
ในภาพรวมเมื่อถึงต้นทศวรรษ 2000s สัดส่วนน้ำมันมะพร้าวในน้ำมันพืชกินได้ทั้งโลก จึงมีน้อยเพียง 2% ใกล้เคียงกับน้ำมันมะกอก น้ำมันพืชที่ใช้มากที่สุดในโลกกลายเป็นน้ำมันปาล์ม (33%) น้ำมันถั่วเหลือง (28%) น้ำมันเมล็ดเรพซีด(น้ำมันคาโนลา) และน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน ตามลำดับ เหตุผลสำคัญเพราะน้ำมันปาล์มราคาถูกกว่าเพื่อน พึงสังเกตว่าน้ำมันถั่วเหลือง เรพซีด และเมล็ดดอกทานตะวันผลิตมากเป็นหลักในอเมริกาเหนือและยุโรป หากมองในเชิงผลผระโยชน์การค้าระหว่างประเทศ น้ำมันปาล์มจึงถูกตะวันตกต่อต้านหนักไม่แพ้น้ำมันมะพร้าว ทั้งด้วยข้อหาเป็นน้ำมันอิ่มตัวและทำลายสิ่งแวดล้อม
มะพร้าวเฟื่องฟู คือ ซูเปอร์ฟู้ด
น้ำมันมะพร้าว ไม่ทำให้โคเลสเตอรอลสูง ไม่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ อย่างที่แพทย์และวงการสาธารณสุขกล่าวอ้าง อันที่จริง การที่กรดไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ในน้ำมันมะพร้าว เป็นกรดไขมันห่วงโซ่ยาวปานกลางและสั้น ซึ่งแตกต่างจากไขมันสัตว์ที่เป็นกรดไขมันอิ่มตัวห่วงโซ่ยาว จึงเกิดประโยชน์กับร่างกายแทนที่จะเป็นโทษนั้น เป็นเรื่องรู้กันในหมู่นักวิจัยไขมันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950s แล้ว แต่แพทย์และสาธารณสุขกระแสหลักไม่รู้ ไม่รับฟัง ทว่า ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000s เป็นต้นมา นักวิชาการและสาธารณชนในตะวันตกหันมาสนใจประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวต่อสุขภาพและความงามมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกระแสให้คุณค่ากับอาหารและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และข้อกังวลต่อพิษไขมันทรานส์จากน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันพืชอื่นที่ผ่านกระบวนการไฮโดรจีเนชัน (hydrogenation) อีกส่วนหนึ่งมาจากข้อกังขาต่อทฤษฎีไขมันอิ่มตัว เพราะผลการวิจัยในระยะหลังพบว่า ไขมันอิ่มตัวไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างที่เคยเชื่อกัน นอกจากนั้น น้ำมันพืชอันเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน แทนที่จะดีกับโรคหลอดเลือดอย่างที่เคยเชื่อกัน กลับทำให้เสี่ยงเป็นโรคเสียเอง
ท่ามกลางวิกฤตศรัทธาต่อความรู้ทางโภชนาการและแนวกินลดไขมันอิ่มตัวนี่เอง ที่คุณค่าน้ำมันมะพร้าวและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว สามารถฟื้นตัวขึ้นใหม่ในตะวันตก โดยเฉพาะเมื่อสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย และเซเลบดังทางสุขภาพ เช่น Guyneth Paltrow และ Kourtney Kardashian ออกมาพูดจาเชียร์น้ำมันมะพร้าวแบบสุดๆ ประกอบกับแนวกินใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม คือ Paleo Diet และโดยเฉพาะ Ketogenic Diet ก็เสนอให้กินเนยและน้ำมันมะพร้าวเป็นหลัก ทั้งหมดประกอบกันทำให้มะพร้าวและน้ำมันมะพร้าวกลายเป็นซูเปอร์ฟู้ดตั้งแต่ปี 2004-2005 เป็นต้นมา ดังตัวอย่างในสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2010-2014 ยอดนำเข้าน้ำมะพร้าวเพิ่มจาก 37,941 เป็น 288,537 ตัน เพิ่มเฉลี่ยปีละกว่า 130% และยังปรากฏว่าร้อยละ 32 ของยอดนี้เป็นน้ำมะพร้าวจากประเทศไทย ในส่วนของน้ำมันมะพร้าว ปรากฏว่าที่ได้รับความนิยมกลายเป็นน้ำมันมะพร้าวเวอร์จิน ไม่ใช่น้ำมันมะพร้าวดิบหรือเนื้อมะพร้าวแห้งอย่างที่เคยเป็น ระหว่างปี 2004 ถึง 2015 จากที่เคยส่งออก virgin coconut oil ได้น้อยนิด ฟิลิปปินส์สามารถเพิ่มปริมาณส่งออกได้มากถึง 35,000 เมตริกตันต่อปี
การขยายตัวอย่างมากของตลาดน้ำมันมะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าวในตะวันตก ทำให้สวนมะพร้าวและธุรกิจมะพร้าวขยายตัวในประเทศผู้ผลิตมะพร้าวในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เกิดการรวมตัวของ 18 ประเทศ ซึ่งผลิตและส่งออกมะพร้าวราว 90% ของโลก เป็น Asian and Pacific Coconut Community (APCC หรือ Cocommunity) เพื่อส่งเสริมและประสานความร่วมมือในอุตสาหกรรมมะพร้าวระหว่างสมาชิกประเทศ พูดง่ายๆ ว่าเป็นการรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจการค้ามะพร้าวระหว่างประเทศ
สงครามน้ำมันมะพร้าววันนี้ แตกต่างจากอดีตที่อุตสาหกรรมมะพร้าวและน้ำมันมะพร้าวของตะวันออก ถูกบ่อนทำลายอย่างตั้งตัวไม่ทัน หากน้ำมันมะพร้าวเอเชียจะฟื้นคืนชีพและแข็งแรงต่อไปได้ เราๆ ผู้บริโภคควรตระหนักว่าเรื่องธุรกิจน้ำมันปรุงอาหารมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องมาก ไม่อาจยอมให้วิชาการ โดยเฉพาะจากตะวันตก เข้ามาชี้นำชี้ขาดโดยถ่ายเดียว ตลอดมาในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เราได้ประจักษ์ว่าข้อสรุปวิชาการเกี่ยวกับอาหาร โภชนาการ และสุขภาพ เป็นความรู้ที่ไม่นิ่ง เปลี่ยนแปลงบ่อย แถมยังมีข้อกังขาในความเป็นกลางทางวิชาการอีกต่างหาก
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos