อาหารเช้าอุ่นๆ ร้อนๆ แบบคนตาก ทำกินเองได้แบบเครื่องแน่นๆ
การตื่นตั้งแต่เช้าตรู่กับข้าวต้มอุ่นๆ ร้อนๆ นั้นเป็นของคู่กัน เห็นด้วยไหมคะ ไม่ว่าเราจะไปเยือนพื้นที่ไหนของประเทศก็ย่อมจะหาข้าวต้มร้อนๆ กินได้ไม่ยากเย็น หากแต่ว่าข้าวต้มของแต่ละที่ก็จะมีลักษณะเฉพาะตัวตามรสนิยมและต้นทุนทางวัฒนธรรม
ที่เมืองตากก็เช่นกันค่ะ จังหวัดตากมีพรมแดนติดกับจังหวัดอื่นถึง 9 จังหวัด และมีพื้นที่บางส่วนติดกับประเทศเมียนมา ความหลากหลายเรื่องอาหารการกินของจังหวัดตากจึงลุ่มลึกไม่แพ้พื้นที่อื่นๆ อย่างเช่น ‘ข้าวต้มเหลือง’ หรือ ‘ข้าวต้มผงกะหรี่’ ข้าวต้มเฉพาะตัวที่หากินได้เฉพาะในจังหวัดตากเท่านั้น
ข้าวต้มเหลืองคือข้าวต้มธรรมดา แต่มีเครื่องเป็นหมูสับผัดผงกะหรี่หอมๆ มีเครื่องกรอบซึ่งมักประกอบไปด้วยหอมเจียวและเกี๊ยวทอด (บางร้านมีกากหมูเพิ่มด้วยก็จะยิ่งอร่อย) และมีผักชีฝรั่งซอยกับพริกไทยขาวป่นไว้โรยหน้าบนสุดเพื่อเพิ่มความหอมชวนน้ำลายสอ เสิร์ฟร้อนๆ ในเช้าที่อากาศหนาว ใครล่ะจะไม่หลงรัก
ฉันไม่เคยเห็นข้าวต้มตำรับนี้ที่ไหนมาก่อน ทั้งการใช้ผงกะหรี่และเครื่องกรอบ ข้าวต้มเหลืองเมืองตากจึงเป็นข้าวต้มที่น่าประทับใจและไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงหากได้ไปเยือนเมืองตากสักหน ขีดเส้นใต้ว่าควรจะไปกินตอนเช้าตรู่จนถึงสาย -ไม่เกินเที่ยงวัน บางร้านต้มข้าวมาหม้อเดียวเท่าเดิมทุกวัน ขายหมดตอนไหนก็ยกของกลับตอนนั้น กระทั้งโต๊ะเก้าอี้ที่วางขายก็ยังยกเก็บเสียเรี่ยมจนไม่เหลือเค้าความเป็นร้านข้าวต้ม ใครตื่นสายหน่อยมีหวังได้อดกินของอร่อย และที่น่าประทับใจเป็นพิเศษไม่แพ้รสชาติ ก็คือราคาซึ่งมักอยู่ที่10-30 บาทเท่านั้น
นอกจากความอร่อยแล้ว ประวัติศาสตร์ของข้าวต้มเหลืองนั้นแทบไม่มีบันทึกอะไรเอ่ยถึงเลย นอกจากปากคำของคนท้องถิ่นว่าเห็นเมนูนี้มาแล้วราว 2-3 รุ่น และเห็นได้บ่อยๆ ในพื้นที่อำเภอเมืองตากเป็นหลัก กระทั่งคนตากเองก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะคุ้นเคยกับข้าวต้มเหลือง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะตากได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้าง แต่มีประชากรไม่มาก อาหารการกินส่วนหนึ่งจึงเป็นเอกลักษณะเฉพาะถิ่นจริงๆ เพราะการแปลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาจไม่รวดเร็วและชัดเจนเท่ากับที่อื่น
อย่างหนึ่งที่พอจะเดาได้ก็คือ คนเมืองตากคุ้นเคยกับรสของผงกะหรี่อยู่เป็นทุนเดิม เนื่องจากใกล้ชิดกับเมียนมา และคงเปิดเป็นการจับเล็กผสมน้อยจนออกมาเป็นตำรับใหม่เฉพาะตัวอย่างข้าวต้มเหลือง ก่อนที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นและแพร่หลายกลายเป็นเมนูท้องถิ่น และถ้าเรากินเกี๋ยวทอดคู่กับก๋วยเตี๋ยวหรือเกาเหลากันอยู่แล้ว การกินเกี๊ยวทอดกรอบกับข้าวต้มบ้างก็คงไม่แปลก
ข้าวต้มเหลืองมีขายอยู่หลายร้านในอำเภอเมืองตาก แต่ถ้ายังไม่มีโปรแกรมไปเยือนเมืองตาก วันนี้ฉันมีสูตรข้าวต้มผงกะหรี่มาฝากค่ะ ทำกินเองอุ่นท้องอยู่ที่บ้านไปก่อน ไว้มีโอกาสไปเยือนเมืองตากวันไหนอย่าลืมไปชิมข้าวต้มเหลืองแบบออริจินัลด้วยนะคะ
ข้าวต้มเหลือง
(สำหรับ 3 คน)
วัตถุดิบและส่วนผสม
- น้ำ 6 ถ้วย
- ใบเตยมัดปม 1 มัด
- ข้าวหอมมะลิหุงสุก 2 ถ้วย
- เกลือสมุทร ¼ ช้อนชา
- ผักชีฝรั่งซอย เกี๊ยวทอดกรอบ หอมเจียว พริกไทยดำ สำหรับจัดเสิร์ฟ
ส่วนผสมหมูสับผัดผงกะหรี่
- น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
- กระเทียมสับ 2 ช้อนโต๊ะ
- หมูสับ 300 กรัม
- น้ำมันหอย 2 ช้อนโต๊ะ
- ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทรายขาว 1 ช้อนชา
- น้ำ ½ ถ้วย
- ผงกะหรี่ 2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
เราจะเริ่มด้วยการเตรียมข้าวก่อนค่ะ ตั้งหม้อน้ำใส่น้ำบนไฟกลาง ใส่ข้าวหอมมะลิหุงสุกลงไปแล้วปรุงรสด้วยเกลือแค่นิดหน่อย ต้มข้าวด้วยไฟกลางจนกว่าจะได้ข้าวต้มระดับที่ชอบ (อัตราส่วนระหว่างข้าวกับน้ำปรับได้ตามที่ต้องการนะคะ)
ระหว่างที่รอข้าวต้มอยู่ มาทำหมูผัดผงกะหรี่ต่อค่ะ ตั้งกระทะน้ำมันน้อยๆ บนไฟกลาง ใส่กระเทียมลงผัดจนหอม เสร็จแล้วใส่หมูสับลงไปผัดให้พอสุก แล้วใส่ผงกะหรี่ดาวเด่นของเมนูลงไปปรุงรสด้วยเครื่องปรุงตามชอบ
เสร็จแล้วปรุงด้วยเครื่องปรุง ชิมให้ได้รสที่ต้องการ ผัดต่อจนหมูสุกดี เท่านี้ก็ปิดไฟเตาแล้วเตรียมประกอบร่างข้าวต้มเหลืองได้เลยค่ะ
พ่อค้าแม่ค้าจะเตรียมข้าวต้มและเครื่องแยกไว้ เมื่อถึงเวลาเสิร์ฟก็ตักข้าวต้มร้อนๆ ใส่ถ้วย แล้วค่อยใส่เครื่องเคราลงไปให้ครบ ทั้งหมูสับผัดผงกะหรี่ ผักชีฝรั่งซอย เกี๊ยวทอดกรอบ และหอมเจียว ก่อนเสิร์ฟอย่าลืมโรยพริกไทยด้วยนิดหน่อย เท่านี้เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
ข้าวต้มเหลืองแบบคนเมืองตาก นอกจากจะอิ่มสบายท้องแล้ว ยังกินอร่อยด้วยเท็กซ์เจอร์ที่ซับซ้อน และช่วยให้เจริญอาหารด้วยกลิ่นผงกะหรี่กับผักชีฝรั่งหอมๆ เป็นรสชาติแปลกใหม่ที่เข้าใจไม่ยาก แถมอาจจะทำเอาติดใจได้ง่ายๆ เลยค่ะ
กินให้อร่อยนะคะ
อ่านบทความเพิ่มเติม
Contributor
Tags:
Recommended Articles
Recommended Videos