เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

คนเลี้ยงผึ้ง ผึ้งเลี้ยงคน

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

เรื่องเล่าเบื้องหลังน้ำผึ้งลำไยหวานหอมจากคนรักผึ้ง

น้ำผึ้งให้รสหวานที่สุดในช่วงเดือน 5 ไทย ซึ่งตรงกับช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เพราะน้ำผึ้งในช่วงฤดูแล้งจะให้กลิ่นรสเข้มข้นหวานหอม ต่างจากน้ำผึ้งในฤดูอื่นที่มีปริมาณน้ำเจือปนอยู่มาก เมื่อเดือน 5 มาถึง เราจึงอดไม่ได้ที่จะเก็บกระเป๋าขึ้นเหนือมาดูชีวิตของ ‘คนเลี้ยงผึ้ง’ ที่เขาบอกว่า จริงๆ แล้วผึ้งต่างหากละที่เลี้ยงคน

 

 

 

 

 

 

 

 

อุตสาหกรรมผึ้งเลี้ยงในภาคเหนือมีอยู่หลายเจ้า หลายขนาด ทั้งการเลี้ยงกันเองในครัวเรือน ในสวน ไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ขายทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ อย่างเช่น ฟาร์มผึ้งพัฒนกิจ ที่มีปริมาณผึ้งเลี้ยงเกือบ 5,000 รังในปัจจุบัน

 

 

 

 

บัญชา นทีคีรีกาญจน์ ผู้ก่อตั้งฟาร์มผึ้งที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศแห่งนี้ เริ่มต้นจากการเป็นลูกจ้างดูแลผึ้งเมื่อราว 40 ปีก่อน ก่อนจะสะสมความชำนาญและความเข้าใจจนขยับขยายมาทำฟาร์มของตัวเองอย่างที่เห็นในทุกวันนี้

 

 

 

 

ท่ามกลางเสียงหึ่งๆ ของผึ้ง และลมร้อนแรกของปีกลางสวนลำไย เราจึงมีโอกาสได้เรียนรู้วิถีของคนและผึ้งที่อยู่ร่วมกันจนกลายเป็นอุตสาหกรรมรสหวานที่คนทั้งโลกต่างหลงรัก

 

 

 

 

 

 

 

 

ไม่ดุ น่ารัก และขยัน
นิยามของผึ้งในสายตาของคนเลี้ยงผึ้ง

 

 

 

 

ฉันเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ในชีวิตของเราทุกคนล้วนต้องเคยโดนผึ้งต่อยกันอย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง และพิษของผึ้งนั้นก็ร้ายกาจจนทำเอาจำฝังใจว่าได้ยินเสียงผึ้งบินหึ่งๆ เมื่อใดก็จงรีบเดินหนีไปให้ไกลที่สุดเมื่อนั้น

 

 

 

 

แต่คนเลี้ยงผึ้งอย่างคุณบัญชายืนยันว่าจริงๆ แล้วผึ้งเป็นสัตว์ที่เป็นมิตรกว่าที่เราคิด

 

 

 

 

“จริงๆ ผึ้งเป็นสัตว์ที่สะอาด ขยัน น่ารัก เป็นสัตว์ที่น่าอยู่ด้วยมากที่สุด ถ้าเราเข้าใจเขา เขาก็จะไม่ดุ เขาชอบให้เราไปดูแลเขา ถ้าเราดูแลถูกวิธี เขาก็จะอยากให้เราไปดูแล ผึ้ง 1 ลัง เราไม่ควรใช้เวลาดูแลเขาเกิน 10 นาที เพราะถ้าเกิน 10 นาทีแล้ว มันจะเริ่มดุ ถ้าตอนอากาศดี ผึ้งก็จะไม่ค่อยดุ แต่ถ้าเจอฝนตก หรือตอนอากาศเย็นๆ หน้าหนาว มันจะดุกว่า

 

 

 

 

“แล้วก็อย่าไปทำร้ายเขา ถ้าเราไม่ระวัง ทำตัวผึ้งตาย 1 ตัว มันจะมีกลิ่นขึ้นมา ถ้ามีกลิ่นขึ้นมา ตัวอื่นได้กลิ่น ก็จะคิดว่าจะมีศัตรูมาทำลายเขา เขาก็จะเริ่มดุทันที เพราะฉะนั้นเวลาเราดูแลผึ้งเราก็ต้องระวัง อย่าทำให้ผึ้งตาย”

 

 

 

 

 

 

 

 

ระหว่างที่เราพูดคุยกัน ผึ้งจอมขยันก็ยังบินหาน้ำหวานดอกลำไยกันให้ควั่ก เฉพาะสวนนี้เพียงสวนเดียวน่าจะมีผึ้งนับหมื่นตัว เมื่อเราเงียบเสียงจึงได้ยินเสียงผึ้งบินชัดเจน แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เห็นใครโดนผึ้งต่อยแม้แต่ตัวเดียว เพราะจริงๆ แล้วโดยธรรมชาติ ผึ้งไม่ได้ต้องการต่อยใครเลยแม้แต่น้อย เพราะเมื่อมันฝังเหล็กไนลงไปแล้วมันก็จะตายแทบจะทันที การต่อยของผึ้งจึงเป็นการสู้แบบหน่วยโจมตีพิเศษกามิกาเซ่ที่เลือกจะพลีชีพเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ของตัวเอง เรียกว่าหากไม่เข้าตาจนหรือไม่สุดวิสัยจริงๆ มันก็จะไม่ต่อยเราเป็นอันขาด

 

 

 

 

ยิ่งกับผึ้งเลี้ยงของฟาร์มนี้ที่เป็นผึ้งสายพันธุ์อิตาลีซึ่งคัดเลือกมาเป็นพิเศษ ก็จะยิ่งเป็นมิตรมากกว่าสายพันธุ์ท้องถิ่น แถมยังมีลักษณะพิเศษที่เหมาะกับงานอุตสาหกรรม นั่นก็คือการให้ผลผลิตมากกว่าผึ้งทั่วไป

 

 

 

 

 

 

 

 

ผึ้งเลี้ยงต่างจากผึ้งป่าตรงที่ว่า ผึ้งป่าจะมีลักษณะรังที่เป็นไปตามธรรมชาติ เกิดขึ้นตามการออกแบบของผึ้ง ในขณะที่ผึ้งเลี้ยงจะถูกดีไซน์มาแล้วให้อยู่ในลังไม้สีขาว แต่ละรังจะบรรจุไปด้วย ‘คอนผึ้ง’ หรือรังผึ้งกึ่งสำเร็จรูปที่มีขนาดพอเหมาะพอดี เป็นกรอบไม้สี่เหลี่ยมที่ด้านกว้างด้านหนึ่งมีขอบไม้ยื่นออกมาเล็กน้อยไว้เพื่อเกาะกับขอบลัง และเพื่ออำนวยความสะดวกในการจับ

 

 

 

 

 

 

 

 

ผึ้งเป็นสัตว์ที่เกิดมาพร้อมกับชนชั้นทางสังคม ผึ้งที่มีฐานันดรสูงที่สุดคือ นางพญาผึ้ง ผู้เป็นเสมือนหัวใจของรัง ด้วยว่า หนึ่ง มันมีฟีโรโมนหรือกลิ่นพิเศษที่ทำให้ผึ้งตัวอื่นๆ ยึดถือว่าที่นี่คือรังหรือบ้าน และสอง มันทำหน้าที่ออกไข่เพิ่มจำนวนประชากรผึ้ง

 

 

 

 

คนเลี้ยงผึ้งจึงต้องเพาะเลี้ยงนางพญาแยกต่างหากด้วยเทคนิคพิเศษ และใส่นางพญาลงในลังไม้ 1 ตัวต่อ 1 ลัง เพื่อกำหนดอาณาเขตว่านี่คือบ้านของผึ้ง ผึ้งแต่ละตัวก็จะจดจำกลิ่นของนางพญาเอาไว้ เมื่อบินออกไปหาน้ำหวานและเกสรไกลแสนไกลก็จะกลับมาได้ถูกบ้านไม่มีผิดเพี้ยน – อำนาจของนางพญามีสูงเพียงนั้น

 

 

 

 

ส่วนความขยันที่เรามักพูดกันว่าจงขยันให้เหมือนผึ้ง อันที่จริงต้องเจาะจงลงไปด้วยว่าเป็นผึ้งตัวเมียเท่านั้น เพราะผึ้งตัวเมียจะทำหน้าที่เป็น ผึ้งงาน ขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ในรังให้เป็นไปอย่างเหมาะสม

 

 

 

 

 

 

 

 

ผึ้งงานที่เพิ่งลืมตาดูโลกได้ไม่กี่วันจะมีหน้าที่คอยทำความสะอาดรังให้เอี่ยมอ่องอยู่เสมอ ถัดจากนั้นมันก็จะขยับมาทำหน้าจิปาถะต่างๆ อย่างการปรุงอาหารให้ตัวอ่อนกับนางพญา รวมถึงผลิตไขผึ้งมาสร้าง ซ่อมแซม และขยับขยายรังไปตามสมควร ส่วนผึ้งงานที่มีอายุแก่กล้า มีร่างกายที่พัฒนาสมบูรณ์แล้วก็จะทำหน้าที่สำคัญ คือการบินออกไปหาเสบียงมาให้ผึ้งทุกตัว

 

 

 

 

เสบียงที่ว่านี้ไม่ได้มีเพียงน้ำหวานสีเหลืองทองที่เราคุ้นเคยเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งที่เรียกว่า เกสรผึ้ง หรือละอองเรณูจากเกสรตัวผู้ของดอกไม้ที่ผึ้งค่อยๆ เก็บสะสมทีละเล็กทีละน้อยจนรวมกันเป็นก้อน อัดเก็บไว้ในรังผึ้ง เกสรจะถูกผึ้งงานเปลี่ยนให้เป็น นมผึ้ง กลายเป็นอาหารสำคัญที่ใช้เลี้ยงตัวอ่อนและนางพญา

 

 

 

 

ทั้งเกสรผึ้งและนมผึ้งจึงได้ชื่อว่าเป็น Super Food ของมนุษย์ด้วยเช่นกัน เพราะมันอัดแน่นไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายแข็งแรงกะปรี้กะเปร่า ช่วยปรับสมดุลร่างกาย ไปจนถึงการฟื้นฟูและบำรุงให้ผิวพรรณดูอ่อนเยาว์อยู่เสมอ ซึ่งก็ต้องขอบคุณบรรดาสาวๆ ผึ้งงานที่ผลิตอาหารเสริมชั้นเลิศเหล่านี้ออกมาให้มนุษย์ได้ขอใช้งานด้วยอีกคน

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนบรรดา ผึ้งตัวผู้ ที่เหลืออยู่นั้นไม่ได้มีหน้าที่อะไรนอกเหนือไปจากการผสมพันธุ์กับนางพญาเท่านั้น เพราะมันไม่ทำงานในรัง และไม่บินออกไปหาอาหาร ในยามที่สิ่งแวดล้อมไม่สมบูรณ์ อาหารมีอยู่จำกัด ผึ้งงานในรังก็จะช่วยกันขับไล่ผึ้งตัวผู้ออกไปให้พ้นรัง เพราะมันต้องการเก็บอาหารที่เหลืออยู่ไว้ให้กับนางพญา ตัวอ่อน และผึ้งตัวอื่นๆ ที่ช่วยกันออกแรงทำงานนั่นเอง

 

 

 

 

เมื่อได้มารู้จักนิสัยใจคอของผึ้งโดยละเอียดแล้ว ฉันเองก็นึกทึ่งในสังคมที่ซับซ้อน และขอซูฮกให้กับความเป็นระบบระเบียบของผึ้งไว้ในบรรทัดนี้

 

 

 

 

กว่าจะเป็นน้ำผึ้ง

 

 

 

 

เมื่อเลี้ยงผึ้ง ก็ต้องใช้ชีวิตอย่างผึ้ง ในที่นี้หมายถึงต้องมีแบบแผน ขยัน และใจกว้างให้ได้เท่ากับผึ้ง

 

 

 

 

ผึ้งเป็นสัตว์ที่มีแบบแผน คนเลี้ยงผึ้งจึงต้องวางแผนให้เก่งไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการเพิ่มและลดจำนวนผึ้งไปตามฤดูกาล ฟาร์มผึ้งพัฒนกิจจะเริ่มขยายพันธุ์ผึ้งให้มากที่สุดตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน เพื่อเตรียมผึ้งให้พร้อมสำหรับฤดูเก็บเกี่ยวสำคัญในช่วงเดือน 5 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ผึ้งจะให้ผลผลิตที่ดีที่สุดทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ เดือน 5 ไทยเป็นฤดูดอกลำไยบาน ผึ้งจะให้น้ำผึ้งที่หอมกลิ่นลำไย แถมยังเป็นฤดูที่น้ำผึ้งเข้มข้นที่สุดอีกด้วย

 

 

 

 

ลำไยในภาคเหนือจะเริ่มบานจากทิศใต้ไปยังทิศเหนือ คนเลี้ยงผึ้งที่ทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จึงต้องย้ายผึ้งไปตามเวลาและสถานที่ที่ดอกลำไยเริ่มบาน ช่วงมีนาคมอย่างนี้เราจึงเห็นลังไม้สีขาวๆ ซึ่งเป็นบ้านของผึ้งได้มากในแถบจังหวัดลำพูน และอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นอีกราว 20 วันก็จะมีการย้ายรังไปที่อำเภอพร้าว อำเภอเชียงดาว เรื่อยไปจนถึงบางอำเภอในจังหวัดเชียงรายเพื่อเก็บผลผลิตให้ได้มากที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

 

หลังจากลำไยเริ่มติดผลครบทุกพื้นที่ ลังไม้ก็จะถูกย้ายไปยังสวนลิ้นจี่เพื่อผลิตน้ำผึ้งลิ้นจี่ และย้ายไปในป่าเพื่อให้ได้น้ำผึ้งป่า น้ำผึ้งจากดอกไม้แต่ละแบบให้กลิ่นรสต่างกันอย่างมีเอกลักษณ์ แต่ที่คนนิยมกินกันมากที่สุดคือน้ำผึ้งลำไยรสหอมหวาน และมีสีเหลืองอำพันสวยงาม พอหมดฤดูเก็บเกี่ยวหลักประจำปีในช่วงเดือนพฤษภาคม การขยายพันธุ์ผึ้งก็จะชะลอลงเหลือราวครึ่งหนึ่งเท่านั้น ฟาร์มพัฒนกิจเองก็จะเก็บผึ้งไว้ราว 2,000 ลังเพื่อลดต้นทุนในการดูแลลง แล้วค่อยเริ่มขยายพันธุ์อีกครั้งในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป

 

 

 

 

นอกจากความเป็นระเบียบแบบแผนแล้ว นิสัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งของผึ้งคือความขยัน คนเลี้ยงผึ้งเองก็ต้องขยันไปด้วย โดยจะต้องตื่นแต่เช้าแล้วเริ่มกระบวนการเก็บน้ำผึ้งราว 6 โมงเช้า เริ่มจากการเปิดฝาลังไม้ซึ่งเป็นอาณาจักรของผึ้ง แล้วให้สโมกเกอร์ที่ผลิตมาเป็นพิเศษรมควันผึ้งเล็กน้อย ควันที่ใช้รมคือควันจากการเผาแกนเข้าวโพด จึงไม่ได้เป็นอันตรายแก่ผึ้งและไม่รบกวนคุณภาพผลผลิต เพราะจุดประสงค์ของการรมควันคือเพื่อให้ผึ้งดุน้อยลงเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน คนงานเก็บน้ำผึ้งก็จะต้องทำงานอย่างแข็งขัน เพราะการยุ่มย่ามกับผึ้งนานเกินไปก็อาจทำให้ผึ้งรู้สึกว่าเป็นอันตรายจนพาลดุเอาได้

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อรมควันแล้ว คอนผึ้งแต่ละคอนก็จะถูกยกขึ้นมาปัดเอาตัวผึ้งออก โดยจะต้องปัดลงตรงหน้าลัง ใกล้ ๆ กับแถบกระสอบพลาสติกที่ติดไว้เชื่อมระหว่างลังกับพื้นเพื่อเป็นทางด่วนให้ผึ้งสามารถเดินกลับเข้ารังได้สะดวก

 

 

 

 

คอนผึ้งที่พร้อมให้เก็บเกี่ยวผลผลิตจะมีน้ำผึ้งสีเหลืองทองบรรจุอยู่เต็มรัง บางช่องที่บรรจุน้ำผึ้งไว้เต็มอัตราผึ้งก็จะผลิตไขมาปิดไว้เป็นฝา คนเก็บน้ำผึ้งจะต้องใช้มีดเฉือนส่วนนั้นออก รวมถึงต้องตัดแต่งรังส่วนเกินออกมาแยกเก็บไว้ต่างหากสำหรับหลอมเป็นไขผึ้งหรือขี้ผึ้ง

 

 

 

 

 

 

 

 

ก่อนจะใส่คอนลงในเครื่องเหวี่ยง แล้วออกแรงหมุนเพื่อเหวี่ยงกับน้ำผึ้งออกมา ก่อนจะบรรจุ วัตถุดิบน้ำผึ้ง ลงในถังขนาด 200 ลิตร ปิดฝาให้สนิทเตรียมพร้อมลำเลียงส่งเข้าไลน์ผลิต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อเหวี่ยงเอาน้ำผึ้งออกแล้ว คอนผึ้งก็จะถูกส่งต่อมาให้คนที่ทำหน้าที่ตัดแต่งรังผึ้ง การตัดแต่งในที่นี้คือการตัดเอารังตัวอ่อนที่นูนขึ้นออก ตัวอ่อนที่นูนขึ้นมาคือตัวอ่อนเพศผู้ ซึ่งเป็นประชากรที่ยังไม่จำเป็น ในโมงยามที่อุตสาหกรรมต้องการผลผลิตสูงสุด ขั้นตอนการตัดแต่งจะเกิดขึ้นหลังเหวี่ยงน้ำผึ้งออกแล้วเท่านั้นเพื่อไม่ให้ตัวอ่อนผึ้งปนเปื้อนลงไปในน้ำผึ้งที่เราเก็บเกี่ยว

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อตัดแต่งแล้วก็ถึงเวลาของการจัดเก็บคอนคืนกลับลงไปในลังไม้ ก่อนจะเว้นระยะไป 8-10 วันให้ผึ้งได้หาอาหาร แล้วจึงวนกลับมาเก็บผลผลิตในสวนเดิมอีกครั้ง

 

 

 

 

กรรมวิธีทั้งหมดนี้จะต้องเริ่มขึ้นแต่เช้า เพื่อให้จบลงก่อนเวลาบ่ายสอง เป็นวิถีปฏิบัติเฉพาะตัวของฟาร์มพัฒนกิจ คุณบัญชาเล่าว่าที่ต้องเป็นเช่นนี้ก็เพื่อเหลือเวลาระหว่างบ่ายสองถึงหกโมงเย็นไว้ให้ผึ้งได้หาอาหารอีกครั้งก่อนจะหมดวัน ผึ้งจะได้ไม่ขาดแคลนอาหารจนเกินไป

 

 

 

 

ไม่เพียงแต่เวลาการเก็บเกี่ยวเท่านั้น ปริมาณน้ำผึ้งที่เก็บไปก็ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและคุณภาพผลผลิตจากผึ้งเช่นกัน คุณบัญชาถือคติว่าเมื่อผึ้งใจกว้างกับเรา เราก็ต้องใจกว้างกับผึ้ง ดังนั้นเมื่อเก็บผึ้งเราก็ไม่ควรจะโลภเก็บเอาไปทุกคอนในลัง

 

 

 

 

 

 

 

 

“เราพยายามรักษาคุณภาพให้ดีที่สุด เหมือนอย่างวันนี้เรามาเก็บน้ำผึ้ง ใน 1 ลัง จะมี 8 คอน ใช่ไหม เราจะให้มันเหลืออยู่ 1 คอน 1 คอนนี้เพื่อที่จะให้ผึ้งกินต่อไปของวันนี้ เป็นการรักษาผึ้งให้สมบูรณ์แข็งแรง น้ำผึ้งที่ได้มาครั้งต่อไปคุณภาพจะดีกว่า ความเข้มข้น กลิ่น ความสะอาดจะดีกว่า ถ้าเราเก็บออกมาทั้งหมดเลย ผึ้งเขาไม่มีอาหารกินอยู่ในรัง อายุเขาจะสั้นลงไป”

 

 

 

 

คนและผึ้งต้องเข้าใจกันและกันให้มากที่สุด เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข โดยที่ต่างคนต่างยังได้ผลประโยชน์จากกันและกัน

 

 

 

 

มาตรฐานอุตสาหกรรมผึ้งเลี้ยง

 

 

 

 

มาตรฐานข้อที่หนึ่งของคนเลี้ยงผึ้งก็คือจะต้องสูญเสียตัวผึ้งให้น้อยที่สุด เพราะฉะนั้นการเลี้ยงผึ้งแบบอุตสาหกรรมจึงแทบไม่มีการเก็บตัวอ่อนของผึ้งไปขาย กระทั่งว่ารังผึ้งก็ยังต้องขายให้น้อยที่สุด เพราะผึ้งใช้พลังงานและเวลาในการผลิตรังมากกว่าที่ใช้ผลิตน้ำผึ้งถึง 3 เท่า

 

 

 

 

 

 

 

 

มาตรฐานข้อที่สองคือมาตรฐานรวมกับชุมชน ผึ้งเป็นสัตว์ที่ให้ผลผลิตไปตามสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมก็ได้ประโยชน์จากผึ้ง การเลี้ยงผึ้งในสวนลำไยจึงเป็นธุรกิจที่ถือได้ว่า win-win กันทั้งสามฝ่าย คือผึ้งเองก็ได้อาหารที่สมบูรณ์ คนเลี้ยงผึ้งก็ได้น้ำผึ้งคุณภาพดี ส่วนเจ้าของสวนก็ได้ผึ้งไปเป็นพนักงานผสมเกสรแสนขยันที่ตอกบัตรเข้างานทุกวันตั้งแต่เช้ายันค่ำ

 

 

 

 

แม้จะฟังดูเป็นเรื่องดี แต่กาลครั้งหนึ่งในปีแรกๆ ที่อุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งยังไม่เฟื่องฟู คุณบัญชาก็เคยเจอปัญหาว่าเจ้าของสวนลำไยในบางพื้นที่ไม่ต้อนรับคนเลี้ยงผึ้ง เพราะเชื่อว่าผึ้งจะไปแย่งน้ำหวานจากลำไยในสวน ส่งผลให้ส่วนลำไยให้ผลผลิตน้อยลง ร้อนใจไปถึงเกษตรอำเภอและปลัดที่ต้องมาอธิบายว่าการมีผึ้งอยู่ในสวนลำไยนั้นเป็นเรื่องน่าขอบคุณเพียงใด

 

 

 

 

ต่อจากนั้นอีกไม่นาน อุตสาหกรรมผึ้งเลี้ยงก็เจอปัญหาใหม่อีก นั่นก็คือปัญหาน้ำผึ้งไม่ได้ปริมาณตามต้องการ เพราะชาวสวนลำไยเริ่มใช้สารกำจัดศัตรูพืชและยาฆ่าแมลงกันเยอะขึ้น ผึ้งเป็นสัตว์ที่บอบบางมาก ดังนั้นมันจึงได้รับผลกระทบโดยตรงถึงขนาดที่ว่าบางสวนบางครั้งผึ้งที่ฟาร์มนำไปติดตั้งตายไปกว่า 70%

 

 

 

 

เมื่อผึ้งและลำไยต้องพึ่งพากัน คุณบัญชาจึงได้ติดต่อไปยังกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อให้เกิดการสื่อสารกับชาวบ้านเจ้าของสวนลำไยว่า เมื่อดอกลำไยบานแล้วก็เป็นอันว่าควรเลิกใช้สารเคมี โดยเฉพาะสารที่ใช้กำจัดแมลงต่างๆ กระนั้นก็ยังต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปีกว่าเกษตรกรจะเข้าใจและเลิกใช้สารเคมีในฤดูเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งได้โดยสิ้นเชิง

 

 

 

 

 

 

 

 

มาตรฐานข้อสุดท้ายก็คือมาตรฐานต่อผู้บริโภค แม้ว่าน้ำผึ้งจะเป็นอาหารที่ถูกปรุงแต่งน้อยที่สุดก่อนถึงมือคนกิน แต่สำหรับฟาร์มพัฒนกิจแล้วยังต้องมีการตรวจมาตรฐานยิบย่อยอีกตลอดกระบวนการ เริ่มต้นจากการตรวจค่าความหวาน ตรวจค่ายาปฏิชีวนะที่อาจตกค้างเกินปริมาณจากการใช้ยารักษาผึ้ง สองข้อนี้เป็นเสาหลักที่ฟาร์มพัฒนกิจยึดเป็นหัวใจสำคัญ วัตถุดิบน้ำผึ้งที่จะได้เข้าสู่กระบวนการอื่นๆ ถัดไป จะต้องมีค่าความหวานและค่ายาปฏิชีวนะตามมาตรฐานเท่านั้น

 

 

 

 

กระบวนการอื่นๆ ที่ว่านั้นก็ได้แก่การอบระเหยเพื่อควบคุมความเข้มข้น การตรวจยีสต์ ตรวจรา เพื่อยืนยันมาตรฐานของการอบระเหย และการตรวจขั้นตอนสุดท้ายคือการตรวจค่าน้ำตาลรีดิวซ์เพื่อยืนยันว่านี่คือน้ำผึ้งแท้ 100% น้ำผึ้งที่ผ่านการตรวจทุกด่านโดยละเอียดแล้วก็จะถูกลำเลียงเข้าสู่ไลน์บรรจุลงหีบห่อ หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

คุณประกิตต์ โกสุรัตน์ ประธาน OTOP Trader จังหวัดเชียงใหม่ยังได้ให้ความเห็นว่า ระบบการผลิตฃของฟาร์มพัฒนกิจมีแบบแผนตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ว่าจะเป็นการขยายพันธุ์ การดูแล การเก็บผลผลิต ไปจนถึงโรงงานที่มีมาตรฐาน เป็นโมเดลสำคัญที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนควรรวมกันผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย เพื่อส่งเสริมการจ้างงานในชุมชน เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าท้องถิ่น และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนามาตรฐานชีวิตของคนในชุมชน น้ำผึ้งลำไยจึงไม่ได้มีดีแค่รสหวานเท่านั้น แต่ยังเป็นความหวังและเป็นวิถีชีวิตอันหอมหวานของคนท้องถิ่นอีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

เรื่องราวของผึ้งเลี้ยงคนและคนเลี้ยงผึ้งจบลงแต่เพียงเท่านี้ ก่อนความหอมหวานบรรจุขวดจะออกเดินทางไปหาผู้บริโภคทั่วประเทศอีกครั้ง หวังว่าการฟังเรื่องคนและผึ้งแบบนี้จะทำให้น้ำผึ้งช้อนต่อไปของคุณอร่อยขึ้นนะคะ

 

 

 

 

 

 

 

 

ฟาร์มผึ้งพัฒนกิจ Phatthanakit Bee Farm

 

 

 

 

Facebook https://www.facebook.com/PhatthanakitBeeFarm
สถานที่ 187 หมู่ 7 ต.หนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ 50140 (Google Map : https://g.page/Phatthanakit?share )
เวลาเปิด – ปิด 08:00-17:00 (ทุกวัน)
โทร. 053-422460 หรือ 085-8666948

 

 

 

 

 

 

 

 

Golden Bee Shop & Coffee

 

 

 

 

Facebook https://www.facebook.com/GoldenBeeShopChiangMai 
สถานที่ 76 ถนนราชวิถี ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200 (Google Map : https://g.page/GoldenBeeHoneyShop?share )
เวลาเปิด – ปิด 09:00-18:00 (ทุกวัน)
โทร. 095-2373480

 

 

 

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

 

 

 

 

 

 

 

 

Share this content

Contributor

Tags:

น้ำผึ้ง, วัตถุดิบ

Recommended Articles

Food Storyลายแทง 34 สุดยอดวัตถุดิบทั่วไทย ที่เราอยากให้คุณได้ลอง
ลายแทง 34 สุดยอดวัตถุดิบทั่วไทย ที่เราอยากให้คุณได้ลอง

รวมมิตรวัตถุดิบชั้นดีตั้งแต่เหนือจรดใต้ เพื่อให้คุณไม่พลาดของดีทั่วไทย

 

Recommended Videos