เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ซาลาเปาโบราณ ขนมในความทรงจำของชาวเบตง

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

ขนมปังโฮมเมดสารพัดไส้ รสชาติที่แสนคิดถึง

เบตงเป็นเมืองหลายวัฒนธรรม จึงมีอาหารที่รุ่มรวยอย่างคาดไม่ถึง ในเช้าวันหนึ่งที่เรากำลังเพลิดเพลินกับหมี่แกงร้านพี่ดาว (ซึ่งอุตส่าห์มีน้ำเงี้ยวบรรจุไว้ในเมนูด้วย) พี่ดาวเจ้าของร้านที่ทราบว่าเราเดินทางกันมาจากกรุงเทพฯ เพื่อตะลุยกินโดยเฉพาะ ก็ได้หยิบขนมปังหน้าตาไม่คุ้นมาให้เราได้ลองชิม

 

 

 

 

“ชิมดูค่ะ คนที่นี่เรียกซาลาเปาสังขยา มีขายมานานแล้ว ของกินคนเบตงโดยเฉพาะ” – พี่ดาวบอกอย่างนั้น

 

 

 

 

 

 

 

แม้พี่ดาวและทุกคนในร้านจะยืนยันว่ามันคือซาลาเปาโบราณ แต่เราทั้งดู ทั้งดม ทั้งกินแล้วก็ยังขอนั่งยันนอนยันว่ามันคือขนมปังชัดๆ พิสูจน์ซาลาเปาหมดไปแล้วหนึ่งชิ้นเราก็ยังไม่หายคาใจ จนกระทั่ง…

 

 

 

 

“ไปดูโรงผลิตได้นะคะ อยู่ใกล้ๆ เดินไปได้เลย”

 

 

 

 

โดยไม่รอให้พี่ดาวพูดซ้ำหลายรอบ เรารีบจัดการหมี่แกงตรงหน้า เก็บของ จ่ายเงิน แล้วลุกออกไปตามหาโรงซาลาเปาในตำนานทันที

 

 

 

 

 

 

 

ร้านขนมปังไม่มีชื่อ

 

 

 

 

เดินมาตามทางที่ร้านพี่ดาวหมี่แกงบอกไว้ ผ่านสตรีทอาร์ตรูปน้องแมวและน้องกบมาได้ไม่กี่ก้าวก็เจอกับโรงอบขนมปังเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ตรงเนินถนน ซึ่งคุณลุงเจ้าของร้านยืนยันอย่างหนักแน่นแต่ใจดีว่าไม่สะดวกให้เข้าไปถ่ายวิธีทำในร้าน เพราะยังมีขนมที่รอคิวอบอยู่ทั้งวัน ทว่ายินดีให้เราซักถามอยู่นอกธรณีประตู แถมยังยกขนมอบเสร็จใหม่ๆ ออกมาให้ดูหลายต่อหลายถาด

 

 

 

 

ซาลาเปาสังขยาหรือซาลาเปาโบราณในความทรงจำของชาวเบตง คือขนมปังที่ใช้ยีสต์และพักให้ขึ้นฟูทั่วๆ ไปนี่แหละค่ะ ตัวเนื้อขนมปังออกจะแห้งกว่าความคุ้นเคยของคนทั่วไปเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อมันอบมาสดๆ ใหม่ๆ อะไรๆ ก็เลยดูเหมือนจะถูกมองข้ามได้อย่างง่ายดายไปหมด

 

 

 

 

 

 

 

ความพิเศษของซาลาเปาโบราณแบบนี้อยู่ที่ตัวไส้ ซึ่งมีทั้งไส้สังขยาโบราณ หรือสังขยาไข่ที่กวนจนแห้ง สีส้มแดงคล้ายกับ Kaya ของทางมาเลเซียหรือสิงคโปร์ มีไส้มะพร้าวที่คล้ายกับมะพร้าวกระฉีกคั่วให้ติดแห้งหน่อยๆ มีไส้ถั่วแดง มีไส้งาดำ และมีแบบ ‘หน้าน้ำตาล’ หรือแบบไม่มีไส้ด้วย

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากแบบขนมปังแล้วยังมีขนมที่คล้ายกับกะหรี่ปั๊บตัวแบนๆ ใหญ่ๆ ขนาดราวฝ่ามือ ด้านในเป็นไส้สังขยาแบบเดียวกับซาลาเปา แต่จะแห้งและเข้มข้นกว่า ซึ่งเป็นตัวที่เราถูกปากมากที่สุดเท่าที่ได้ชิมแบบอบใหม่ในวันนั้น

 

 

 

 

 

 

 

“ชื่อร้านเหรอ ไม่มีหรอก…” คุณลุงตอบคำถามเราด้วยเสียงหัวเราะขณะที่กำลังสาละวนกับการยกถาดขนมปังไปๆ มาๆ ในร้าน

 

 

 

 

เราพยายามเสิร์ชกูเกิ้ล เปิดแมพ เพื่อหาชื่อร้านลุงให้เจอ แต่ก็อย่างที่คุณลุงว่า โรงอบขนมปังเล็กๆ ของลุงไม่ปรากฎชื่อเสียงเรียงนามอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตเลยแม้แต่น้อย จะมีบ้างก็แต่ร้านเบเกอรีโบราณที่ขายขนมคล้ายๆ กันกับของคุณลุงอยู่ 2-3 อย่าง

 

 

 

 

ขนมที่คุ้นเคยของคนเบตง

 

 

 

 

โรงอบขนมไม่มีชื่อแห่งนี้ดำเนินการโดยคนเพียง 2-3 คน จึงวิ่งวุ่นอบขนมกันแทบจะตลอดทั้งวัน เดี๋ยวไส้โน้น เดี๋ยวไส้นี้ไม่มีพัก จนเรานึกสงสัยว่าขนมปังที่ออกจากโรงอบแห่งนี้เดินทางไปวางขายอยู่ที่ไหนบ้าง

 

 

 

 

“ก็ร้านขายของนั่นแหละ ร้านขายขนมอะไรที่เคยกินเขาก็มาซื้อไปขายต่อ แล้วก็มีคนมาสั่งบ้างเหมือนกันแต่ก็ไม่ได้ไปไหนไกล มากสุดก็หาดใหญ่ กรุงเทพนานๆ มีทีเพราะขนมเราไม่ได้ใส่สารกันบูด มันเสียง่าย สองสามวันรสชาติก็เปลี่ยนแล้ว”

 

 

 

 

หากพูดกันตามความสัตย์จริง ทุกวันนี้ร้านเบเกอรี ร้านขนมอบเพิ่มขึ้นมาอย่างกับดอกเห็ด ขนมปังนุ่มๆ หอมๆ มีให้ซื้อได้ทั่วไปไม่เว้นแม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อ การที่ขนมปังใส่ไส้ธรรมดาๆ ยังมีที่ทางอยู่ในร้านของชำท้องถิ่นก็ย่อมแปลว่ามันมีความหมายบางอย่างกับคนในพื้นที่นี้

 

 

 

 

 

 

 

เราขอแบ่งซื้อขนมปังอบใหม่ๆ 3-4 ชิ้นไว้แบ่งกันกิน เพราะคุณลุงออกตัวไว้ตั้งแต่ต้นว่าขนมปังพวกนี้ส่วนใหญ่มีร้านค้ามาจองไว้หมดแล้ว พลางชี้บอกให้เราเดินไปซื้อจากร้านของชำใกล้ๆ แทน

 

 

 

 

“ผมขายตรงนี้ก็ 12 บาท ร้านก็น่าจะขาย 12 บาทเท่าผมเหมือนกัน”

 

 

 

 

เมื่อถึงร้านของชำเราก็เห็นซาลาเปาโบราณวางขายอยู่คู่กับขนมจากสายพานอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่างกันที่ว่าซาลาเปาโบราณของชาวเบตงอยู่ในถุงใสๆ ที่ไม่ได้มีการทำแบรนด์ ไม่ได้มีลวดลายใดๆ นอกจากสัญลักษณ์ที่บอกว่าไส้อะไรเป็นไส้อะไรเท่านั้น

 

 

 

 

 

 

 

“จริงๆ มีขายหลายเจ้านะ แต่เจ้าอื่นพอเปลี่ยนมือรสชาติก็เปลี่ยนไปเยอะ ให้ไส้น้อยลงก็มี ก็เลยกินแต่เจ้านี้ แกขายมานานนะ”

 

 

 

 

คำว่าขายมานานของพี่ร้านของชำคือนานกี่ปีเราก็ไม่ทราบรายละเอียด ยิ่งกับคุณลุงเจ้าของร้านยิ่งแล้วใหญ่ แม้ว่าจะยืนคุยกับเราเสียตั้งนานสองนาน หยิบขนมมาให้ชิมก็ตั้งหลายชิ้น แต่กลับไม่ยอมเล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟัง นอกเหนือจากว่าซาลาเปาของคุณลุงทำอย่างไรบ้าง แถมยังพูดเล่นว่ากลัวจะดังจนขายดิบขายดีแล้วจะเป็นปัญหาเอา เพราะลำพังแรงคนที่ทำกันอยู่ 2-3 คนทุกวันๆ ก็แทบจะไม่ได้นั่งพักกันอยู่แล้ว

 

 

 

 

 

 

 

“ชื่อผมเหรอ ไม่ต้องรู้หรอก (หัวเราะ)” ก่อนเราออกจากร้าน คุณลุงก็ยังพูดทีเล่นทีจริงไว้อย่างนั้น

 

 

 

 

แม้จะไม่รู้ทั้งชื่อร้านและชื่อคุณลุง แต่ถ้าใครได้ไปเยือนเบตง ลองแวะถามหา ‘ซาลาเปาโบราณ’ หรือ ‘ซาลาเปาสังขยา’ ดู เราเชื่อว่ารสชาติที่คุ้นเคยของคนเบตง จะช่วยให้ทุกคนตามเจอขนมหรือโรงอบไม่มีชื่อของคุณลุงได้โดยไม่ต้องง้อ Google Map เลยค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

ซาลาเปาโบราณ เบตง
โทร. 062-2142515, 073-245307, 096-1960459
พิกัด : ใกล้กับสตรีทอาร์ตรูปแมว (https://goo.gl/maps/9HND5GNwD4WJJ1nA8) เดินขึ้นไปทางเนิน

Share this content

Contributor

Tags:

ขนมปัง, ร้านอร่อยเบตง

Recommended Articles

Food StoryLondon Bagel Museum ร้านเบเกิลสุดป๊อปที่ต้องรอคิวเป็นชั่วโมง
London Bagel Museum ร้านเบเกิลสุดป๊อปที่ต้องรอคิวเป็นชั่วโมง

ร้านเบเกิลแสนอร่อยที่ชาวเกาหลีเครซี่มาก ต่อแถวหลายชั่วโมงก็ไม่หวั่น

 

Recommended Videos