ร้านไอศกรีมโฮมเมดหลากหลายรสชาติแปลกใหม่ที่มากับวัตถุดิบจริง
แม้จะอยู่ในโซนเยาวราช พื้นที่ที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ แต่ซ. เจริญกรุง 14 กลับเงียบสงบ เช่นเดียวกับ Jing Jing Ice–cream Bar and Café ร้านไอศกรีมโฮมเมดเล็กๆ ขนาด 1 คูหาที่ซ่อนตัวอยู่ในซอย ทว่าตัวร้านเองนั้นไม่ได้เงียบหงิมเหมือนบรรยากาศรอบด้าน เพราะท่ามกลางตึกแถวเก่าๆ สีซีดจาง มันช่วยไม่ได้เลยที่คุณจะต้องเตะตากับป้ายไฟนีออนตัวอักษรจีนสีแดงโดดเด่นที่หน้าร้าน พร้อมการตกแต่งในสไตล์จีนโมเดิร์นที่ยังไม่ต้องเปิดประตูเข้าไปหรอก แค่เดินผ่านก็ต้องมอง และเมื่อก้าวเข้าสู่ร้านเล็กๆ แห่งนี้ ไอศกรีมกว่า 20 รสที่เรียงรายรับแขกอยู่ในตู้ก็จะดึงดูดความสนใจจนอยู่หมัด
เราเลือกที่นั่งหน้าเคาน์เตอร์บาร์ชั้นล่าง มองการตกแต่งที่ปะปนไปทั้งลอฟต์และไชนีส ระหว่างที่ ปู-ชุตินาถ ทัศนานุพันธ์ เจ้าของร้านและผู้คิดค้นบวกลงมือทำไอศกรีมทุกรสในร้าน เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของร้านไอศกรีมโฮมเมดเล็กๆ ของเธอซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการชอบกินไอศกรีมและทำไอศกรีมกับเพื่อนไปขายตามที่ต่างๆ กระทั่งเพื่อนแยกตัวไปทำงานอื่น เธอจึงเปิดร้านที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านมากนัก
JingJing Ice-cream Bar and Café เปิดมากว่า 4 ปีแล้ว เป็นร้านที่ถูกพูดถึงตั้งแต่วันแรกๆ จนถึงวันนี้ เพราะไม่เพียงความตั้งใจในการทำไอศกรีมที่ให้รสชาติของวัตถุดิบ ‘จริง’ ให้สมกับชื่อร้าน ‘จิงจิง’ ภาษาจีนแต้จิ๋ว ที่แปลว่า ‘จริง’ ‘แท้’ ในภาษาไทย ไม่ปรุงแต่งด้วยสารสังเคราะห์ ไอศกรีมของเธอยังมาพร้อมรสชาติสุดโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ตั้งแต่เบาๆ อย่างไอศกรีมกล้วยไข่เชื่อม ไอศกรีมบัวลอยไข่หวาน ไอศกรีมฟักทองแกงบวด ไปจนถึงขั้นแอดวานซ์อย่างไอศกรีมข้าวต้ม ไอศกรีมส้มตำ ไอศกรีมซีฟู้ดมายองเนส ไอศกรีมคาโบนาร่า ไอศกรีมยาน้ำแก้ไอ และไอศกรีมกานาฉ่าย!
“ตอนที่เราเปิดร้าน เทรนด์คาเฟ่ยังไม่ค่อยมา ร้านไอศกรีมโฮมเมดก็ยังไม่เยอะ แล้วร้านเรามาอยู่ในที่ที่ค่อนข้างลึกลับ ก็เลยต้องมีการคิดค้นอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า” ปูเล่าถึงไอเดียเริ่มต้นในการทำไอศกรีมรสแปลกๆ ที่เป็นจุดขายของร้าน จากช่วงแรกที่จับคู่ไอศกรีมรสปกติกับท็อปปิ้งอย่างกล้วยไข่เชื่อมหรือฟักทองแกงบวดที่ดูเข้ากันได้ดี หลังๆ เธอเริ่มสนุกกับการแตกยอดไอเดียไปสู่ของกินรอบตัวและวัตถุดิบต่างๆ ที่คุ้นเคยแถวเยาวราช ด้วยเพราะอยากลองอะไรที่แปลกใหม่และเบื่อกับการทำไอศกรีมรสเดิมๆ
“เราเรียนทำไอศกรีมมา เรารู้เบสว่าไอศกรีมนมต้องใส่อะไรเท่าไหร่ ซอร์เบต์ต้องยังไง ซึ่งสามารถเอามาปรับเปลี่ยนต่อยอดเป็นรสชาติต่างๆ ได้หมด ขึ้นอยู่กับการทดลองว่าทำแล้วกินได้ไหม ต้องลดอะไรเพิ่มอะไรเพื่อให้อร่อยถูกปาก”
ความสนุกและท้าทายนี้นำมาซึ่งไอศกรีมรสชาติแปลกๆ หลายสิบรส ที่เกิดขึ้นจากความอยากรู้ของเธอเองว่าจะสามารถเอาของกินต่างๆ มาทำเป็นไอศกรีมได้หรือไม่
“สั่งชาบูมากิน น้ำจิ้มเขามาแบบเย็นๆ เราก็กินได้เลยไม่ต้องอุ่น เออ ถ้ามันกินเย็นได้ มันก็น่าจะเอามาทำไอศกรีมได้สิ” เธอว่า “หรือบางทีมองของรอบตัว ช่วงเทศกาลเจ เราก็ทำไอศกรีมเจ หรือเห็นวัตถุดิบแถวเยาวราชบ้านเรา ลองเอาส้มเช้งมาทำซิ ยาน้ำแก้ไอก็ดี ลองเอามาทำดู” ใช่ ฟังไม่ผิด เธอทำไอศกรีมรสยาน้ำแก้ไอจริงๆ!
รสชาติแปลกๆ และแตกต่างดึงดูดลูกค้าได้สมใจ เพราะไอศกรีมจิงจิงถูกพูดถึงกันปากต่อปากจนมีคนแวะเวียนมาลองรสชาติไอศกรีมที่ร้านเล็กๆ แห่งนี้แบบไม่ว่างเว้น ทั้งชาวไทยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างชาติ ชาวไต้หวันเขียนเรื่องราวของร้านลงในบล็อกส่วนตัว ทำให้ใครๆ ก็มาตามรอย ญี่ปุ่นใส่ร้านลงในไกด์บุ๊คเป็นคู่มือว่าควรต้องมากินให้ได้สักครั้ง
“เราไม่เน้นจัดหน้าตาอาหารหรือไอศกรีม แต่ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีเป็นหลัก ถ่ายรูปออกมาก็อาจจะดูธรรมดา” เธอหัวเราะ ก็จริงที่ไอศกรีมจิงจิงเสิร์ฟมาในแก้วไซซ์เล็กน่ารักแบบมาแต่ตัวไอศกรีมที่สกู๊ปขึ้นมาโดยไม่มีการประดับตกแต่งและไม่มีท็อปปิ้ง ยกเว้นบางรสที่มีการดีไซน์ตัวท็อปปิ้งหรือของกินคู่กัน แต่เรากลับมองว่ามันก็เป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของร้าน เรียกว่าถ้าเข้าไอจีหรือทวิตเตอร์แล้วเจอภาพแก้วไอศกรีมแบบนี้พร้อมไอศกรีมหน้าตาเพลนๆ แบบนี้ ก็แทบจะบอกได้เลยว่าเป็นจิงจิงแน่ๆ เช่นเดียวกับรสชาติที่แม้การมีรสชาติแปลกๆ ให้ลิ้มลองจะเป็นเรื่องชูโรง หากในความแปลกมีความกลมกล่อมถูกปาก เพราะผ่านการคิดและทดลองมาแล้วเป็นอย่างดีทุกรสชาติ ความเรียบง่ายแต่อัดแน่นด้วยคุณภาพทำให้ไอศกรีมของปูไม่ว่าจะเป็นรสชาติปกติทั่วไปอย่างกะทิ ชีสพาย มัทฉะ ไปจนถึงรสแปลกๆ ทั้งหลายล้วนเข้มข้นหนักแน่นในผัสสะ แต่มากับความหวานน้อย เพราะเน้นรสชาติวัตถุดิบ ‘จริง’ เป็นหลัก
สองชั่วโมงที่เรานั่งคุยกับปู เธอต้องขอตัวไปต้อนรับลูกค้าอยู่เรื่อยๆ ทั้งที่เป็นช่วงบ่ายของวันพุธ แต่เผลอแป๊บเดียว โต๊ะบนชั้นสองที่รับรองลูกค้าได้พอสมควรก็เต็มหมดทุกโต๊ะ เคาน์เตอร์บาร์ด้านล่างก็มีคนจับจอง เพราะการได้ดูปูและเพื่อนของเธอหยิบโน่นจับนี่ บางทีก็คว้ามะพร้าวทั้งลูกมาเฉาะกันสดๆ เพื่อทำเมนูกาแฟน้ำมะพร้าว บางครั้งก็ทำแพนเค้กกลิ่นหอมฉุย พร้อมเสียงพูดคุยของเธอกับเพื่อนที่มีทั้งแซวกัน โวยวาย หัวเราะ ถือเป็นสีสันและความเพลิดเพลินไม่แพ้การได้ละเลียดกินไอศกรีม ขนมหวาน และอาหารคาวง่ายๆ ที่ร้านมีบริการด้วย ซึ่งแน่นอนว่าจะคาว หวาน ไอศกรีม เธอก็เป็นผู้ลงมือทำเองทั้งหมดด้วยความตั้งใจเดียวกันคือทำของดีจากวัตถุดิบที่ดี
สี่ปีของจิงจิง นอกจากไอศกรีมรสชาติแปลกๆ ที่ละลานตาเต็มตู้ ยังมากับอาการภูมิแพ้ของเจ้าของร้านที่เกิดจากการที่ร่างกายเจอความเย็นของตู้ไอศกรีมกับอากาศในร้านสลับกันตลอดเวลา ถือเป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อทำในสิ่งที่ชอบ แต่เธอก็ยังสนุกและมีความสุขเสมอโดยเฉพาะเมื่อลูกค้าจะเดินออกจากร้านแล้วบอกว่า “ไอศกรีมอร่อยมากค่ะ” ฉะนั้น ถ้าได้แวะเวียนไปที่ร้าน ก่อนกลับอย่าลืมบอกเธอว่า “ไอศกรีมอร่อย” ซึ่งเราเชื่อว่าไม่ต้องบิลด์กัน เพราะทีมงานของเราขณะกินก็พูดกับถ้วยไอศกรีมว่า “อร่อยยย” ไม่รู้กี่รอบ ลองพูดตรงๆ กับคนทำบ้างก็น่าจะเป็นกำลังใจให้เธอไม่น้อยทีเดียว
อ้อ จิงจิงยังมีเมนูพิเศษทุกเดือนให้ได้คอยลุ้นและคอยชิมว่าเดือนต่อไปจะมีอะไรให้ลอง อย่างเดือนที่เรามานี้เป็นไอศกรีมบัวลอยไข่หวาน ที่แทบจะกลายเป็นซิกเนเจอร์ของร้านเพราะวนกลับมาทำใหม่หลายรอบ ส่วนเดือนธันวาคมจะเป็นอะไรนั้น รอติดตามใน FB ของร้านได้เลย
KRUA.CO recommend
กะทิอัฟโฟกาโต้ (120 บาท)
ไอศกรีมกะทิเนื้อแน่นหนึบขาวเนียนสุดเข้มข้นเหมือนเอาหัวกะทิผสมนมแช่ตู้เย็น เสิร์ฟมาพร้อมเอสเปรสโซ่เข้มไม่แพ้กัน บรรจงเทกาแฟลงบนไอศกรีมแล้วตักเข้าปาก รสหวานของกะทิผสานความขมของเอสเปรสโซช็อทรวมร่างกลายเป็นความลงตัวสุดๆ
ไอศกรีมชีสพายกับซอสบลูเบอร์รี่ (90 บาท)
ไอศกรีมชีสพายที่มีชีสเนื้อหนึบรสเค็มๆ มันๆ สอดแทรกให้ได้เคี้ยวตัดรสหวาน ท็อปด้วยซอสบลูเบอร์รี่รสหวานอมเปรี้ยวพร้อมผลบลูเบอร์รี่ (จะเปลี่ยนเป็นซอสสตรอว์เบอร์รี่หรือคาราเมลก็ได้) กินยามบ่ายแสนสดชื่น เป็นเมนูฮอตฮิตตลอดกาลของสาวๆ
เอสเพรสโซ่ น้ำมะพร้าว (100 บาท)
เพื่อความ ‘จริง’ สมคอนเส็ปต์ เมนูนี้จึงมีการเฉาะมะพร้าวกันสดๆ ให้เห็นว่าสดจริง ก่อนจะเทน้ำมะพร้าวสดลงไปค่อนแก้วแล้วตามด้วยเอสเพรสโซ่เข้มๆ คนให้เข้ากันแล้วดื่ม ได้รสขมผสมหวานนิดๆ อมเปรี้ยวน้อยๆ ของน้ำมะพร้าว ง่วงแค่ไหนก็ตื่น
แพนเค้กกล้วยคาราเมล (120 บาท)
แพนเค้กทำสดใหม่กลิ่นหอมฟุ้งเนื้อนุ่มนิ่ม ท็อปด้วยกล้วยหอมสุกฉ่ำ ราดซอสคาราเมลหวานๆ หอมๆ เป็นจานที่ผสมผสานรสเค็มนิด หวานน้อย หวานมาก (จากกล้วยสุก) ได้อย่างมีมิติ ยิ่งกินยิ่งเพลิน
JingJing Ice–cream Bar and Café
พิกัด: ซ. เจริญกรุง 14
เปิด-ปิด: 09:30 – 17:30 น. (หยุดวันอังคาร)
โทร: 096 642 6241
FB: JingJing Ice-cream Bar and Café
IG: jingjingicecreambarandcafe
บทความเพิ่มเติม
Contributor
Tags:
Recommended Articles
Recommended Videos